Gabriel Ernst & Foxmean
คุณรู้สึกและใช้เสรีภาพในการพูดอย่างไรบ้าง?
เดือนพฤษภาคมปี้นี้ (2562) ธนาธรเขียนสเตตัสบนเพจเฟสบุ๊คว่า
“[…]ผมขอเรียกร้องให้ประชาชนทุกคน อย่ายอมแพ้ต่อความอยุติธรรม และขอให้ร่วมมือต่อสู้เพื่อความถูกต้อง เพื่ออิสรภาพของพวกเขา(นักกิจกรรม)และประชาชนไปด้วยกัน[…]”
เสรีภาพของประชาชนเป็นคำที่น่าสนใจ
คุณมีเสรีภาพแค่ไหนกัน? คุณมีเสรีภาพที่จะเดินทางไปกาญจนบุรีพรุ่งนี้ได้เลยไหม? แล้วคุณสามารถเดินทางออกนอกประเทศหรือซื้อรถคันใหม่ได้เลยหรือเปล่า? พูดในเชิงนามธรรมแล้ว ใช่ คุณมีเสรีภาพที่จะทำเช่นนั้น มันไม่มีกฏหมายใดมาห้ามไม่ให้คุณทำ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปได้ในทางเทคนิก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคุณสามารถทำมันได้?
คุณมีเงินมากพอที่จะซื้อรถคันใหม่หรือเปล่า? คุณสามารถหยุดงานเพื่อไปเที่ยวหรือเดินทางไปกาญจนบุรีไหม? โดยที่ไม่ทำให้คุณต้องตกงาน หรือถังแตกจนไม่สามารถจ่ายค่าเช่าและหาเลี้ยงชีพได้ อาจจะไม่ ผมรู้ว่าผมไม่สามารถทำได้ สิ่งเหล่านั้นมันอาจพอเป็นไปได้ แต่มันไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง
เสรีภาพมีอยู่ 2 ประเภทด้วยกัน กล่าวคือ เสรีภาพเชิงนามธรรม และ เสรีภาพในความเป็นจริง หากเราถือซะว่าเป้าหมายของนักการเมืองลิเบอรัลต้องการคือการเพิ่มเสรีภาพให้แก่คนทั่วไป ฉะนั้นแล้ว พวกเขาควรพุ่งเป้าไปที่การเพิ่มขึ้นของเสรีภาพในความเป็นจริงให้คนเหล่านั้นอย่างแน่นอน
ข้อโต้แย้งอาจดำเนินไปถึงการที่ปัจเจกชนต้องทำงานหนักเพื่อเพิ่มเสรีภาพในความเป็นจริงของพวกเขา พูดง่ายๆ เมื่อมีเงินมากก็หมายถึงเสรีภาพที่มากขึ้น และคุณควรทำงานหนักเพื่อให้ได้มันมา อย่างไรก็ตาม ข้อโต้แย้งนี้ดูจะไปไม่ได้กับประเทศไทย
จงสะสมเงินเพื่อเสรีภาพของคุณเถิด…
เรามาดูกันว่า หากคนงานในโรงงานต้องการเพิ่มเสรีภาพของพวกเขา สิ่งที่แน่นอนอันดับแรกก็คือพวกเขาต้องรวมตัวเป็นสหภาพกับเพื่อนร่วมงาน เพื่อสร้างระบบการช่วยเหลือพนักงาน และคนงานก็จะสามารถรวมตัวนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องค่าแรงและวันหยุดเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งจะนำไปสู่เสรีภาพในความเป็นจริงที่มากขึ้น สิ่งนี้เกือบจะแน่นอนแล้วว่าผิดกฏหมายในประเทศไทย การนัดหยุดงานเป็นสิ่งทีในทางปฏิบัติแล้วแทบจะไม่ถูกกฏหมายของไทยเลย
นอกจากนั้นแล้ว ธนาธรเองก็ปิดกั้นการร่วมตัวเป็นสหภาพทุกวิถีทางในครั้งที่เขาปิดโรงงานตัวเองในระยอง (ปลายปี พ.ศ. 2549) เมื่อคนงานของเขาพยายามจะรวมตัวกันเรียกร้องเงินโบนัสให้มากขึ้น และพรรคอนาคตใหม่เองก็ไปเน้นการสร้างรัฐสวัสดิการแบบตะวันตก แทนที่จะสนับสนุนเสรีภาพในการรวมตัวกันของคนงาน กระทั่งอดีตผู้นำสหภาพและสส.ของพรรคอนาคตใหม่ – วรรณวิภา ไม้สน หรือ มด – ก็ยังนิ่งเฉยกับประเด็นการรวมตัวของแรงงานนี้ หันไปพูดถึงเรื่องรัฐสวัสดิการแทน
วรรณวิภา ไม้สน
ประเด็นปัญหาสำหรับรัฐสวัสดิการแบบตะวันตกคือ ในอดีตที่ผ่านมา สวัสดิการที่ได้ไม่มีความแน่นอนและมุ่งเน้นการตรวจสอบปัจเจกบุคคล มากกว่าที่จะเป็นสวัสดิการถ้วนหน้า นี่คือผลลัพธ์ของรัฐสวัสดิการในสหราชอาณาจักร ที่ที่ผู้ได้รับสวัสดิการเมื่อตกงานจะถูกบังคับโดยรัฐบาลให้ทำงานกับธุรกิจเอกชนเพื่อที่จะได้รัฐสวัสดิการนั้น ทำให้ธุรกิจเอกชนได้แรงงานฟรีๆ ระบบนี้ทำประโยชน์ให้ธุรกิจเอกชนเท่านั้น และให้เสรีภาพแก่คนทั่วไปเพียงน้อยนิด
สิ่งใดเล่า ที่พวกเขากำลังให้
มโนทัศน์เรื่องเสรีภาพของลิเบอร์รัลไม่อาจมองข้ามเรื่องเชิงนามธรรมไปได้ พวกเขามักพูดถึงเสรีภาพในการพูดและแสดงออก สิ่งเหล่านี้แน่นอนว่าเป็นสิทธิที่สำคัญ หากแต่สิทธิเหล่านี้ไม่อาจใช้เพื่อเพิ่มเสรีภาพในความเป็นจริงได้แล้วไซร้ สิทธิเหล่านี้ก็ไม่มีประโยชน์ในการช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตและอิสรภาพแก่ผู้คนได้เลย
สิ่งที่ขาดหายไป ณ ที่นี้ ก็คือเสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นองค์กร ความสามารถที่ได้พูดถึงไปก่อนหน้านี้แล้ว นั่นก็คือความสามารถที่คนงานจะรวมตัวกันเป็นสหภาพ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในกลุ่ม นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่อย่างใด ความจงใจที่จะละเลยสิทธิเหล่านี้สามารถเห็นได้ทั่วไป ซ้ำแล้วซ้ำเล่าทั่วโลก ขณะที่รัฐบาลเสรีนิยมจงใจที่จะทำให้ประชาชนพอใจด้วยการให้เสรีภาพเชิงนามธรรมแก่พวกเขา ทำให้พวกเขาได้รู้สึกถึงเสรีภาพ โดยไม่ได้ประโยชน์ทางวัตถุที่เป็นจริงใดๆ
ความแปลกแยกและการเสียสติ
ในความเป็นจริงแล้ว รัฐบาลเสรีนิยมแสดงให้เห็นว่าพวกเขาสนใจที่จะให้เสรีภาพที่แท้จริงเพียงเล็กน้อย สิ่งที่พวกเขาเสนอให้ก็แค่ภาพฝันของมัน ลูกเล่นนี้ใช้การได้เพียงชัวครู่ แต่สุดท้ายมันก็เลือนหายไป ทิ้งให้ผู้คนรู้สึกเสียสติและแปลกแยกอยู่ภายใน ขณะที่ผู้นำของเขาเสนอความเป็นไปได้อันไม่มีที่สิ้นสุดนั้น มันกลับดูกลวงเปล่ามากขึ้น
กรณีที่ดีที่สุดของชาวลิเบอรัลไทย อนาคตเหล่านี้ยังคงอยู่ไกลออกไปสุดสายตา เว้นเสียแต่จะมีข้อเสนอที่จริงจังและถึงราก (radical) มากกว่านี้เข้ามาในการเมืองไทย ดังที่ธนาธรได้กล่าวไว้ว่า “[…]ผมขอเรียกร้องให้ประชาชนทุกคน อย่ายอมแพ้ต่อความอยุติธรรม และขอให้ร่วมมือต่อสู้เพื่อความถูกต้อง เพื่ออิสรภาพของพวกเขา(นักกิจกรรม)และประชาชนไปด้วยกัน[…]” คำพูดของธนาธรนั้นกลวงเปล่า ไม่จำเพาะเจาะจง รวมถึงยังเป็นรวมถึงยังเป็นนามธรรมพอๆ กันกับความตั้งใจของเขานั่นแหละ
ผมอยากใช้โอกาสนี้ในการเรียกร้องธนาธรและผู้คนที่อยู่ในฝ่ายประชาธิปไตย ให้ต่อสู้เพื่อเสรีภาพที่แท้จริง (ไม่ใช่นามธรรม) สำหรับประชาชนทุกคน ไม่ใช่เพียงแค่คนที่สามารถซื้อมันได้
ต้นฉบับนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่: Prachatai
เผยแพร่ซ้ำโดยคำอนุญาตจากผู้เขียน