ผู้แปล สหายสวนสาธารณะ



เราทุกคนอาจเห็นตรงกันว่า รัฐสวัสดิการยกระดับความเป็นอยู่ของแรงงานให้ดียิ่งขึ้น แต่ก็มีคนไม่น้อยเช่นกันที่แย้งว่า สวัสดิการถูกใช้เป็นสินบนเพื่อเหนี่ยวรั้งแรงงานมิให้ก่อการปฏิวัติที่ใหญ่กว่านั้น หรือกล่าวอย่างง่ายก็คือ สวัสดิการไม่ใช่แนวคิดแบบคอมมิวนิสต์

ภายใต้โครงสร้างสังคมแบบทุนนิยม ชนชั้นกระฎุมพีจะขูดรีดชนชั้นแรงงานโดยการใช้แรงงานของพวกเขาเพื่อผลิต (ความมั่งคั่ง) ส่วนเกิน ชนชั้นนายทุนหวังจะขูดรีดความมั่งคั่งจากแรงงานของชนชั้นแรงงานให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ซึ่งนำไปสู่สภาพการทำงานที่ทารุณมากขึ้นและค่าแรงที่ต่ำลง อย่างไรก็ตาม นายทุนยังจำเป็นต้องดูแลแรงงานอยู่ในระดับหนึ่ง ซึ่งจะไม่ทำให้แรงงานนั้นตายไปก่อน และทำให้แรงงานมีทักษะและมีศักยภาพในการเลี้ยงดูแรงงานรุ่นถัดไป นับตั้งแต่ทุนนิยมสมัยใหม่ได้ถือกำเนิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐได้เข้ามารับหน้าที่ในการดูแลที่ว่านี้ โดยรัฐจะเป็นผู้มอบสวัสดิการสังคมให้แก่คนงาน ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล โรงเรียน เงินเกษียณอายุ สิทธิในการลาป่วย ฯลฯ

สวัสดิการในยุโรป

การประสานกันระหว่างรัฐ (state) กับทุน (capital) ในลักษณะที่ว่านี้เริ่มนำมาใช้ในยุโรปตะวันตกหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา เดิมทีประชาชนเป็นผู้ที่ต่อสู้ในเรื่องดังกล่าวผ่านทั้งการจัดตั้งสหภาพแรงงาน การประท้วงหยุดงาน และแนวทางแบบพรรคแรงงานในสภา (Parliamentray Labour Parties: PLP) แรงงานชาวยุโรปชอบอกชอบใจแนวคิดคอมมิวนิสม์อยู่เป็นเวลาหลายทศวรรษ และตั้งแต่การผงาดขึ้นมาของสหภาพโซเวียต คอมมิวนิสม์ก็ถูกนำเสนอว่าเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้จริงนอกเหนือไปจากทุนนิยม ด้วยเหตุนี้ แรงงานและพรรคสังคมนิยมในยุโรปตะวันตกจึงต้องเลือกว่าจะสนับสนุนรัฐสวัสดิการหรือจะปฏิวัติอย่างเต็มรูปแบบ การถกเถียงในเรื่องดังกล่าวจึงวางอยู่ในบริบทของการเลือกระหว่างการปฏิรูป (Reform) (ผ่านรัฐสภา/สวัสดิการ) กับการปฏิวัติ (Revolution)

กล่าวโดยพื้นฐานแล้ว ผู้ที่สนับสนุนรัฐสวัสดิการจะมีอยู่สองกลุ่ม

  1. กลุ่มนายทุน : คนกลุ่มนี้เชื่อว่า การมอบสวัสดิการให้แก่คนงานจะทำให้ทุนนิยมสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่นขึ้น ทั้งยังเชื่อว่า เมื่อชนชั้นกรรมาชีพนั้นสุขกายสบายใจแล้ว ทุนนิยมจะรุ่งโรจน์ นี่เป็นโมเดลที่ได้รับความนิยมในหมู่นักสังคมประชาธิปไตย (Social Democrats) อาทิ ในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย
  2. กลุ่มนักปฏิรูปสังคมนิยม : คนกลุ่มนี้เชื่อว่า เราสามารถปฏิรูปทุนนิยมให้กลายเป็นสังคมนิยมได้ อีกทั้งยังสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในสภาผ่านการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยรัฐสภา ด้วยการลงคะแนนเสียงให้พรรคสังคมนิยม และให้พวกเขานำรัฐสวัสดิการมายกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน ซึ่งโมเดลนี้จะเป็นที่นิยมในหมู่พรรคแรงงาน

 

ทั้งสองกลุ่มนี้ แม้จะมีปลายทางที่แตกต่างกันมาก แต่ที่ผ่านมาก็ร่วมมือร่วมใจกันต้านเหล่านักปฏิวัติสังคมนิยม นักปฏิวัติสังคมนิยมเชื่อว่า การปรองดองกับประชาธิปไตยแบบทุนนิยมนั้นสูญเปล่า เพราะรัฐทุนนิยมมีโครงสร้างส่วนบน (Superstructures) ที่มิอาจปฏิรูปได้เลยด้วยซ้ำ ฉะนั้น ระบบทุนนิยมจะต้องถูกล้มล้าง และถูกแทนที่ด้วยระบบที่แรงงานเป็นเจ้าของ หรือให้แรงงานเป็นผู้ครอบครองปัจจัยการผลิตนั่นเอง ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีรัฐสวัสดิการแต่อย่างใด กลุ่มนักปฏิวัติสังคมนิยมเชื่อว่า สวัสดิการสังคมภายใต้ระบบทุนนิยม คือการจ่ายสินบนให้คนงานยอมรับกฎเกณฑ์สูงสุดของระบอบทุนนิยม

ในศตวรรษที่ 21 เราได้เห็นการใช้แนวทางต่าง ๆ เหล่านี้ โดยเฉพาะในทวีปยุโรปซึ่งเป็นทวีปที่ทุนนิยมเติบโตที่สุด อาทิ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเยอรมนีตะวันตก เราจะเห็นพรรคแรงงานและพรรคอนุรักษนิยมผลัดกันขึ้นมีอำนาจ พรรคแรงงานอยู่ในอำนาจได้ไม่กี่ปี หลังจากนั้นก็จะถูกพรรคอนุรักษนิยมเข้ามาแทนที่และยกเลิกนโยบายการปฏิรูปก้าวหน้าทั้งหมด เกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการจัดตั้งพรรคการเมืองสังคมนิยมที่มีความสุดโต่งกว่าใครขึ้นมา ก็จะถูกพรรคสังคมประชาธิปไตยที่ใหญ่กว่าฮุบเข้าไปรวม ตัวอย่างเช่น พรรคแรงงานในสหราชอาณาจักร พรรคลาฟร็องซ์แองซูมิสในฝรั่งเศส (La France Insoumise) และพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี (Social Democratic Party of Germany, SPD) ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองจบลงใหม่ ๆ ยุโรปตะวันตกนั้นเต็มไปด้วยพรรคสังคมนิยมที่กำลังเบ่งบาน ซึ่งปัจจุบันนี้แทบไม่มี ขณะเดียวกัน กว่า 70 ปีที่ผ่านมา พรรคการเมืองในแถบสแกนดิเนเวียที่ออกตัวว่าเป็นสังคมนิยม ก็ไม่สามารถพัฒนารัฐของตนจากทุนนิยมไปสู่สังคมนิยมได้ พวกเขายังคงสืบสานโมเดลแบบทุนนิยมตามเดิม นี่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สังคมนิยมไม่เคยเป็นเป้าหมายสุดท้ายของพวกเขาเลยด้วยซ้ำ

การปฏิรูปที่ล้มเหลวมักจะเป็นดังนี้

พรรคสังคมนิยมสนับสนุนสังคมนิยมประชาธิปไตย

ผู้นำพรรคสังคมนิยมไปปรองดองกับ “พรรคกลาง-ซ้าย” เพื่อเป็นพันธมิตรกัน

พรรคสังคมนิยมถูกฮุบเข้าไปใน “พรรคกลาง-ซ้าย”

พรรคสังคมนิยมหน้าใหม่ก่อตั้งขึ้นและเข้าสู่วงจรนี้

นโยบายหลักของสวัสดิการสังคมอันเป็นรากฐานของการเคลื่อนไหวเหล่านี้ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เป็นเครื่องมือท้าทายทุนนิยมที่ด้อยประสิทธิภาพ มากไปกว่านั้น ตั้งแต่ที่สหภาพโซเวียตล่มสลายและเสรีนิยมใหม่ได้ผงาดขึ้นมา “พรรคห้วก้าวหน้า” หรือ “พรรคกลาง-ซ้าย” ในยุโรปก็ได้ละทิ้งสวัสดิการสังคมยิ่งกว่าเก่า จนกล่าวได้ว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา สวัสดิการนั้นไม่ต่างอะไรกับสินบนที่มอบให้แก่แรงงานเพื่อไม่ให้พวกเขาก่อการปฏิวัติสังคมนิยม

สวัสดิการในซีกโลกใต้ (Global South)

ขณะที่ระบบสวัสดิการในยุโรปนั้นค่อนข้างมั่นคง ทว่าในซีกโลกใต้นั้นกลับไม่เป็นเช่นนั้น ในยุโรปเอง แม้แต่ในประเทศที่มีรัฐบาลขวาจัด ก็มีสวัสดิการสังคมบางอย่างอยู่เสมอ เช่น การศึกษาขั้นพื้นฐานฟรี ขณะที่ในซีกโลกใต้นั้น เมื่อเทียบกับยุโรป สวัสดิการสังคมยังคงมีอยู่อย่างจำกัดกว่ามาก ด้วยเหตุนี้ ลักษณะของสวัสดิการในซีกโลกใต้จึงแตกต่างจากซีกโลกเหนือ (Global North) อย่างสิ้นเชิง

เพื่อที่จะทำความเข้าใจเรื่องข้างต้น เราจำเป็นต้องเข้าใจบทบาทของจักรวรรดินิยมร่วมสมัยและเศรษฐศาสตร์การเมือง ไปจนถึงพัฒนาการของรัฐชาติในซีกโลกใต้เสียก่อน

การสร้างรัฐชาติของประเทศในซีกโลกใต้ทั้งหมดนั้นล้วนเกิดขึ้นภายใต้อิทธิพลของการล่าอาณานิคมที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่แล้ว รวมถึงประเทศที่ไม่ได้ตกเป็นอาณานิคมโดยตรงอย่างประเทศไทยด้วย รัฐในซีกโลกใต้ทั้งหมดต้องปฏิบัติตามนิยามของคำว่า “รัฐ” ซึ่งสอดรับเข้ากับครรลองของบรรดาอดีตประเทศมหาอำนาจผู้ล่าอาณานิคม ลักษณะของรัฐโดยสังเขปก็คือ มีรัฐบาลรวมศูนย์ มีขอบเขตพรมแดนของรัฐที่ตายตัว และมีนิยามสถานภาพพลเมืองที่ชัดเจน อาจกล่าวได้ว่า รัฐเอกราชใหม่หลังยุคอาณานิคมนั้นได้ลอกเลียนโครงสร้างรัฐมาจากกลุ่มรัฐในซีกโลกเหนือ ซึ่งรวมถึงการนำรัฐสวัสดิการสังคมมาใช้ด้วยเช่นกัน ถึงตรงนี้เราคงพอจะเห็นแล้วว่ารูปแบบสวัสดิการของซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ต่างกันอย่างไรบ้าง

ตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น สวัสดิการในกลุ่มประเทศซีกโลกเหนือนั้นมีประชาชนเป็นคนต่อสู้เพื่อให้ได้มา ผ่านทั้งการจัดตั้งสหภาพแรงงาน การประท้วงหยุดงาน และการเคลื่อนไหวในสภาของเหล่าพรรคแรงงาน (PLP) ทั้งหลาย ขณะที่ในประเทศกลุ่มซีกโลกใต้นั้นเป็นรัฐบาลหลังอาณานิคมที่นำระบบสวัสดิการมาใช้ในรูปแบบอุปถัมภ์ ซึ่งหลายครั้งก็เป็นตามความต้องการของผู้บงการหน้าใหม่จากซีกโลกเหนือหลังยุคอาณานิคม สังเกตได้จากตัวอย่างความสัมพันธ์ของสหรัฐอเมริกากับไทยในช่วงสงครามเย็น โดยสรุปได้ว่า สวัสดิการในบางประเทศอย่างประเทศไทยนั้น เป็นการบังคับใช้แบบบนลงล่างเพื่อต่อต้านการผงาดขึ้นมาของคอมมิวนิสม์ ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีอิทธิพลและเป็นภัยในซีกโลกใต้มากกว่าซีกโลกเหนือ เมื่อพิจารณาข้างต้นแล้ว กลุ่มประเทศในซีกโลกใต้จึงยังขาดกลไกในการตรวจสอบว่า รัฐได้นำนโยบายสวัสดิการไปใช้อย่างเคร่งครัดหรือไม่ เพราะไม่มีแม้กระทั่งพรรคแรงงานและสหภาพแรงงานที่ทำงานเป็นชิ้นเป็นอันเลย

สวัสดิการในศตวรรษที่ 21

หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและการเคลื่อนไหวคอมมิวนิสต์ระดับสากลส่วนมาก กรรมาชีพในกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ทุกวันนี้จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการในการปลดแอกตนเอง คำถามคือ แล้วเราควรจะเลือกเส้นทางไหน จะปฏิรูปใช้สวัสดิการแบบยุโรปหรือปฏิวัติแบบถอนรากถอนโคนไปเลย? หากเรานับความล้มเหลวของสังคมนิยมเชิงปฏิรูปในยุโรปเป็นตัวอย่าง คำตอบก็ชัดเจนอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี เรายังต้องสร้างความสมดุลระหว่างการบรรเทาทุกข์ของเหล่าแรงงานกับความต้องการปลดแอกอย่างจริงจัง

อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ขัดขวางนโยบายสวัสดิการขนาดใหญ่ อาทิ สวัสดิการรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (Universal Basic Income, UBI) ก็คือตัวโครงสร้างเศรษฐกิจของซีกโลกใต้เองที่ถูกจำกัดโดยจักวรรดินิยมร่วมสมัย ซึ่งขับเคลื่อนด้วยการส่งออกวัตถุดิบเป็นหลัก โดยมีจักรวรรดินิยมร่วมสมัยคอยตรึงโครงสร้างนี้ไว้เสมอ ความมั่งคั่งในห่วงโซ่การส่งออกระดับโลกไหลไปสู่ซีกโลกเหนือ หมายความว่า ประเทศที่มีรายได้ต่ำกว่าจะส่งออกวัตถุดิบในปริมาณมากกว่าที่พวกเขาบริโภคเอง และด้วยความที่ว่า สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นสกุลเงินหลักของโลก ทำให้ประเทศที่ยากจนกว่าติดหล่มความสัมพันธ์เช่นนี้ พวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากส่งออกสินค้าใดก็ตามที่ทำกำไรได้สูงสุดเพื่อจะได้เงินสกุลดอลลาร์มา แล้วนำเงินไปซื้อของนำเข้าที่จำเป็นอย่างน้ำมันและยารักษาโรค ด้วยเหตุนี้ ความมั่งคั่งทั้งโลกจึงกองอยู่กับกลุ่มประเทศที่รวยที่สุด ซึ่งหมายความว่า กลุ่มประเทศร่ำรวยสามารถใช้นโยบายสวัสดิการได้มีประสิทธิภาพกว่า เช่น เงินเกษียณอายุที่กำหนดเกณฑ์อายุให้ต่ำลงได้ การรักษาพยาบาลฟรี การชดเชยเงินเมื่อลาป่วย ฯลฯ โดยเป็นเรื่องยากมากหากจะนำนโยบายดังกล่าวมาใช้กับประเทศอย่างประเทศไทยหรือเม็กซิโก เนื่องด้วยโครงสร้างห่วงโซ่การส่งออกที่กล่าวไปข้างต้น ทำให้ชนชั้นกรรมาชีพในประเทศเหล่านี้ไม่สามารถหยุดทำงานได้เหมือนอย่างในกลุ่มประเทศโลกเหนือ

กลับกันโดยสิ้นเชิง ประเทศที่อุดมไปด้วยน้ำมันอย่างนอร์เวย์และคูเวตนั้นสามารถจ่ายเงินทำโครงการสวัสดิการสังคมได้อย่างเต็มที่ เพราะประเทศเหล่านี้ไม่ได้พึ่งพาการขูดรีดกรรมาชีพในชาติของตนจนสุดอัตรา กล่าวอย่างง่ายก็คือ ที่แรงงานชาวนอร์เวย์สามารถมีรัฐสวัสดิการแบบสมบูรณ์และมีชีวิตสะดวกสบายอย่างทุกวันนี้ได้ก็เนื่องมาจากการขูดรีดแรงงานในซีกโลกใต้ทั้งสิ้น ภายใต้ระบบทุนนิยมโลก การที่คุณสามารถมีชีวิตที่สุขสบายได้ก็เพราะมีใครบางคนที่ทำงานให้คุณอยู่ ไม่ว่าจะในระดับท้องถิ่นหรือระดับโลกก็ตาม รัฐในซีกโลกใต้คงต้องมาเป็นนายเป็นบ่าวกันเองหากจะนำโครงการสวัสดิการสังคมมาใช้ตามอย่างนอร์เวย์และคูเวต สำหรับประเทศที่ปรารถนาจะนำสวัสดิการสังคมมาใช้ เช่น ประเทศไทย คงจำเป็นจะต้องหาวิธีปรับใช้นโยบายโดยไม่ขูดรีดแรงงานจากพม่าหรือกัมพูชาต่ออีกทอดหนึ่ง

นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมรัฐซีกโลกใต้ที่ดูแลเอาใจใส่แรงงานนั้นมีความใกล้เคียงกับรัฐสวัสดิการแบบยุโรปมากที่สุดเท่าที่เราเคยพบเห็นมา จึงเป็นรัฐที่ใช้ระบอบสังคมนิยมแทบทั้งสิ้น เช่น เวียดนาม คิวบา และเวเนซูเอลา ทว่าก็ตามเคย ไม่ว่ารัฐเหล่านี้จะมีนโยบายทะเยอทะยานเพียงใด รัฐสังคมนิยมเหล่านี้ก็ต้องรอมชอมกับสัจธรรมแห่งทุนนิยมโลกอยู่วันยังค่ำ ด้วยเพราะห่วงโซ่การส่งออกระดับโลกทำให้พวกเขาต้องนำเข้าสินค้าจำเป็นจากต่างประเทศอย่างยารักษาโรคและเครื่องจักรที่ทันสมัย ซึ่งจะกีดขวางนโยบายอุดมคติใด ๆ ของพวกเขาเอง แม้ว่ารัฐเหล่านี้จะต้องแลกระบอบสังคมนิยมมาด้วยการเข้าฟาดฟันกับจักรวรรดินิยมตะวันตกก็ตาม เห็นได้จากกรณีการปฏิวัติคิวบาและเวียดนาม

โดยสรุปแล้ว การปลดแอกแรงงานหมายความว่า แรงงานต้องเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต นี่คือคอมมิวนิสม์ และหากเราไตร่ตรองให้ดีก็จะพบว่า สวัสดิการไม่ใช่คอมมิวนิสต์หรือสังคมนิยมแม้แต่นิดเดียว สังคมนิยมคือการที่แรงงานนั้นมีอำนาจได้ด้วยตนเอง และพวกเขาสามารถเคลมความเป็นเจ้าของมูลค่าที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงซึ่งถูกขูดรีดกลับสู่ตัวเองได้อีกครั้ง ขณะที่สวัสดิการนั้นคือการที่รัฐมอบคุณภาพการชีวิตขั้นต้นให้แก่แรงงาน การมองชนชั้นแรงงานในทางการเมืองโดยมีฐานคิดที่แตกต่างกันเช่นนี้ เป็นรอยร้าวในหมู่ฝ่ายซ้ายมาตั้งแต่แรกเริ่ม ขณะที่บางคนมองว่า กระบวนการต่อสู้เพื่อสวัสดิการ คือบันไดขั้นสำคัญที่จะช่วยพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ (ค่าแรง ความปลอดภัยของที่อยู่อาศัย ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และอื่น ๆ) ให้ดีขึ้นต่อไปและอาจจะเป็นการพัฒนาไปสู่สังคมนิยมได้ แต่ก็ยังมีคนที่เห็นถึงอันตรายของสวัสดิการที่รัฐเป็นผู้มอบให้ ว่าจริงๆ แล้วเป็นเพียงการทำให้กรรมาชีพเงียบงันและสงบลงเท่านั้น