English Language please click here
แปลเป็นภาษาไทยโดย Kunlanat Jirawong-aram
บรรณาธิการโดย Editorial Team
ดีโยน ณ มานดารูน แอคติวิสท์และนักเขียนของดินแดง หนึ่งในอาสาสมัครกลุ่มคนดูแลกันเองที่กรุงเทพ กลุ่มนี้เป็นอาสามาสมัครที่จัดตั้งขึ้นในลักษณะความสัมพันธ์แบบแนวราบ (horizontally organized) ประกอบด้วยสมาชิกประมาณ 20 คน รวมตัวกันหลังจากรัฐบาลไทยสั่งล็อกดาวน์ครั้งที่ 2 เพื่อให้การช่วยเหลือฉุกเฉิน เช่น หยูกยาและของกินของใช้ ให้กับแคมป์คนงานในกรุงเทพฯ ซึ่งถูกปิดตามคำสั่งล่าสุด
บทสัมภาษณ์อาสากลุ่มคนดูแลกันเอง: แคมป์แรงงาน
ก่อนหน้าสถานการณ์โควิด แคมป์คนงานเป็นอย่างไรบ้าง เขาเจอปัญหาอะไรบ้างก่อนระบาด
แคมป์คนงานเป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราวที่บริษัทสร้างให้แรงงานก่อสร้างอาศัยอยู่ใกล้ๆ ไซต์งานก่อสร้างหรือไม่ก็อยู่ในนั้นเลย ปกติแล้วจะมีคนประมาณ 70-100 คน แต่บางที่ก็สูงถึง 700 คน ที่อยู่พวกนี้คุณภาพต่ำมาก ส่วนใหญ่ก็เป็นผนังหลังคาสังกะสี ไม่ก็เป็นแค่เต็นท์ผ้าใบที่มีคนนอนกันเต็มพื้น บางที่มีคุณภาพสูงขึ้นมาหน่อย เป็นพวกบ้านประกอบบ้างถ้าโชคดี คนงานส่วนมากก็อาศัยอยู่กับครอบครัว ภายในแคมป์จึงมีเด็กอยู่หลายคนเลย วิถีชีวิตก็… พอเสร็จงานที่หนึ่งก็ไปอยู่อีกแคมป์ต่อ ได้ค่าแรงน้อยแล้วก็ส่งเงินกลับบ้าน แต่ตอนนี้ถูกห้ามไม่ให้ทำงานก็ไม่ได้ค่าแรงเลย
ส่วนใหญ่แล้วเป็นคนงานต่างชาติรึเปล่า
ส่วนมากแล้วเป็นคนจากพม่า กัมพูชา ลาว คนไทยก็มีเยอะประมาณ 60% แรงงานต่างชาติบางคนก็ถูกกฎหมาย บางคนก็ผิดกฎหมาย คนที่ไม่ถูกกฎหมายก็ไม่ได้รับความช่วยเหลืออะไรจากรัฐเลย แม้ว่าจะติดเชื้อโควิด ป่วย หรือบาดเจ็บอย่างรุนแรง
ตามกฎหมายแล้วพวกเขาเป็นลูกจ้างชั่วคราวไหม มีสัญญาจ้างงานรึเปล่า
ก็ขึ้นอยู่กับว่าเคสไหน ก็ปนๆ กันไป บางคนก็เป็นบางคนก็ไม่เป็น ปกติแล้วขึ้นอยู่กับว่าบริษัทนั้นเป็นบริษัทใหญ่รึเปล่า แน่นอนว่าบริษัทพวกนี้ทำผิดกฎหมายแรงงาน ตำรวจแค่ทำเป็นมองไม่เห็น เพราะคิดว่าไม่ได้เป็นปัญหาของตัวเอง พอโควิดระลอกนี้มา ตำรวจก็พยายามไม่ยุ่งเลย
ตอนล็อกดาวน์รอบแรก คนงานในแคมป์ได้รับผลกระทบไหม
ไม่นะครับ ปีที่แล้วเขาก็สามารถทำงานได้ เพิ่งมาได้รับผลกระทบตอนปิดแคมป์ครั้งนี้แหละ ประมาณหนึ่งเดือนที่แล้ว
ล็อกดาวน์ครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งก่อนยังไงหรือครับ เกิดอะไรขึ้น
ครั้งนี้จำนวนผู้เชื้อโควิดสูงกว่าครั้งก่อนๆ มาก รัฐบาลเลยตัดสินใจปิดแคมป์คนงานและขังพวกเขาอยู่ด้านใน เพราะคิดว่าถ้าปล่อยให้คนงานเหล่านี้กลับบ้านก็ต้องเอาเชื้อไปติดจังหวัดอื่นๆ ด้วย แต่ตอนนี้ก็ชัดแล้วว่ามาตรการนี้ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดก็พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั่วประเทศ
ในแคมป์มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดสูงไหม
3 อาทิตย์ก่อน ตอนแรกไม่ค่อยมีเคสในแคมป์ แต่ตอนนี้หลายแคมป์ก็มีรายงานมาว่าติดเชื้อหนักแล้ว ซึ่งรัฐบาลก็ไม่ทำอะไรเลย เรามีทีมหมออาสาสมัครช่วยดูแลอาการ แต่คนก็กำลังตายอยู่ในแคมป์ คนไร้บ้านก็ตายอยู่ตามท้องถนนเหมือนกัน
เข้าร่วมกลุ่มดูแลกันเองได้ไง ในกลุ่มทำงานกันอย่างไร
ตอนเริ่มล็อกดาวน์ เราเปิดรับบริจาคจากเพื่อนกันเองและซื้อของไปให้บางแคมป์ ทีนี้ก็เห็นว่าคนอื่นทำแบบนี้เหมือนกัน เลยรวมตัวคนที่คิดเหมือนกัน เพื่อนของเพื่อนผม Neeraj Kim ก็เริ่มรวมตัวเพื่อนๆ ในเครือข่ายของเขาและเราก็มีสมาชิกมากขึ้นเรื่อยๆ ตอนนั้นพอเห็นจำนวนแคมป์ก็รู้สึกตกใจเลย นี่มันเพิ่งผ่านมาประมาณสามอาทิตย์เอง ตอนแรกเราต้องดูก่อนว่าแต่ละแคมป์ตั้งอยู่ตรงไหนเพราะไม่มีฐานข้อมูลของหน่วยงานรัฐ เราเลยหาอาสาสมัครรวบรวมข้อมูลตรงนี้ให้ รวมเป็นสเปรดชีต ว่าแคมป์อยู่ที่ไหนบ้าง มีคนกี่คน ใครที่เราสามารถติดต่อได้บ้าง เขาต้องการอะไร ฯลฯ
ตอนนี้ฐานข้อมูลครอบคลุม 700 แคมป์และมีข้อมูลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เราเปิด OpenChat ในไลน์ คนอื่นจะได้ช่วยประสานงานกันได้ เรามีทีมแมทช์ผู้บริจาคกับแคมป์ที่ต้องการของกินของใช้ด่วน เราให้ข้อมูลติดต่อแคมป์กับผู้บริจาค เขาจะได้ช่วยเหลือโดยตรงเลย ถ้าด่วนมากๆ เราก็มีคนของเราคอยส่งของจากบ้านไปที่แคมป์ เรามีหมออาสาที่คอยสั่งยาให้แคมป์ ตอนนี้เหมือนเป็นแก๊งค้ายาเลย ต้องมาแพ็คยาให้พร้อมสำหรับแคมป์ต่างๆ ที่ต้องการ
ที่เห็นๆ ก็คือความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของผู้บริจาคในแชทไลน์ บางคนมีแค่ข้าว คนอื่นมีไข่ เขาก็รวมกันให้แคมป์เองโดยที่ทีมไม่ได้ไปบอก มันเหมือนเป็นความพยายามช่วยเหลือกันเอง (mutual aid) เราเปิดทางสื่อสารระหว่างคนที่ไม่ได้ทำไปเพื่อตัวเอง เห็นอย่างนี้ก็น่าดีใจมาก เราเน้นเสมอว่าที่เราทำอยู่ไม่ใช่การกุศล เราก็บอกคนที่บริจาคอย่างนั้นเหมือนกัน หลักๆ ที่เราอยากสื่อคือคนเท่ากัน พยายามทำให้คนเห็นสำนึกทางชนชั้นโดยที่ไม่ต้องบอกว่าเป็นฝ่ายซ้ายอย่างเปิดเผย
มีกลุ่มอื่นคอยช่วยเหลือเหมือนกันมั้ย
มีกลุ่มอื่นที่คอยช่วยเหลือกันเองเหมือนกัน แต่เราเป็นกลุ่มแรกและกลุ่มเดียวที่เน้นเรื่องคนงานที่ติดอยู่ในแคมป์
แล้วแบ่งของที่มีกันยังไงบ้าง
เราใช้เกณฑ์ความเร่งด่วนแบ่งแคมป์ ตามระบบสีจราจร เขียวก็คือโอเค อยู่ได้ มีของกินจากนายจ้างหรือไม่ก็หน่วยงานรัฐเกือบทุกวัน ซึ่งเคสพวกนี้ไม่ค่อยมี สีส้มคือเคสที่ได้อาหารจากบริษัทบ้าง อาจจะสักหนึ่งครั้งในสองอาทิตย์ ส่วนสีแดงคือแคมป์ที่อาหารกำลังจะหมดหรือโควิดกำลังระบาด แล้วบริษัทไม่ได้ช่วยเหลือ สิ่งที่เราทำได้ก็คือการเอายาสามัญประจำบ้านไปให้ เช่น พาราเซตามอล หรือของให้เด็ก เช่น นมผง และผ้าอ้อม รวมทั้งให้คำแนะนำทางการแพทย์
แสดงว่ารัฐบาลก็ช่วยเหลือบ้าง
หน่วยงานรัฐหลายหน่วยงานก็ช่วย แต่ที่ช่วยมาก็ไม่พอ รัฐมีอาหารให้แค่แรงงานต่างชาติเพราะเขามีโควต้าให้ เป็นอาหารปรุงเสร็จแล้ว หนึ่งมื้อต่อวัน คนในแคมป์ก็พยายามแบ่งๆ กัน แต่มันก็ยังไม่พอ
ที่พูดว่าปิดแคมป์ นี่คือไม่มีใครเข้าออกได้ใช่มั้ย
ใช่ครับ หน้าประตูแคมป์ก็มีทหารหรือไม่ก็ตำรวจเฝ้าด้วยซ้ำ
แล้วทางการทำไงบ้างกับการช่วยเหลือจากกลุ่ม
จริงๆ แล้วคนที่แจ้งเคสเข้ามาบางครั้งก็มาจากทหารที่เฝ้าพื้นที่ตรงนั้น พวกเขาไม่ได้รับคำสั่งมาให้แจ้งหรอก แต่เป็นทหารชั้นผู้น้อยที่ต้องการจะช่วยเพราะกองทัพไม่ได้ทำอะไรเลย ส่วนใหญ่แล้วทหารก็ไม่ได้ให้ความร่วมมือขนาดนั้น บางครั้งเวลาเราออกไปเก็บข้อมูลก็ถูกปฏิเสธ ไม่ให้ข้อมูลเลย คอยขัดขวางการช่วยเหลือจากเราตลอด
แล้วคิดมั้ยว่ารัฐอยากให้คนงานเหล่านี้ตาย
เราคิดจริงๆ ว่ารัฐไม่ได้มีความสามารถ ไม่ได้มีเจตนาร้ายหรอก ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถแยกได้ก็ตาม คิดว่าเวลารัฐขัดขาเรา มันคือเรื่องคำสั่งต่อกันมาเป็นทอดๆ มากกว่าอย่างอื่น กองทัพมักมองประชาชนเป็นศัตรู ถ้ามองในเชิงโครงสร้างก็คงเรียกได้แหละว่ามีเจตนาร้าย
แล้วข้างในแคมป์เป็นอย่างไรบ้าง
มีแคมป์หนึ่งที่เขาแยกคนงานที่ติดโควิดออก คนที่ติดโควิดต้องนอนบนพื้นด้านนอก มีผ้าใบกันแดดกันฝน แต่พอฝนตกตอนกลางคืนน้ำก็ท่วมพื้น ก็ไม่มีแม้แต่ที่จะนอน ที่พวกเราทำได้คือเอาฟูกลมไปให้ แล้วก็พวกของกินของใช้ พวกเขาก็ขอบคุณ สื่อก็เห็น รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานก็มาแล้วเอาหน้าเสียยกใหญ่ ทำเหมือนว่าได้ช่วยเหลือ ส่วนอีกแคมป์หนึ่งที่เราไป อาหารก็กำลังจะหมดแล้ว เลยเอาข้าวเข้าไปให้ เขาก็ขอบคุณ ถึงกับขนาดไหว้เลย
พอเป็นแรงงานต่างชาติ เขาก็ไม่ค่อยคาดหวังการช่วยเหลือจากรัฐมากนัก โดยเฉพาะคนที่เป็นแรงงานผิดกฎหมาย แต่สำหรับคนไทยล่ะ เขาช็อกมั้ยที่รัฐทำแย่ๆ กับเขาแบบนี
พูดไม่ได้หรอกว่าเขาช็อก กระทรวงแรงงานไม่ได้ทำตัวดีอะไรอยู่แล้ว ทุกคนรู้กันดีว่าหวังอะไรไม่ได้จากกระทรวง พอแคมป์ถูกปิดก็คงคิดกันแล้วว่าไม่ได้อะไรหรอกแม้แต่ความช่วยเหลือจากกระทรวงอื่นก็ตาม ขนาดกระทรวงสาธารณสุขก็ไม่โผล่มาเลย
สิ่งที่ต้องการตอนนี้คืออะไร
เราไม่รับบริจาค ถ้าทำได้เราก็คอยเชื่อมคนบริจาคให้กับคนในแคมป์ เขาจะได้เอาของไปวางด้านหน้าและคนงานก็มาเอาได้ แต่เรามีที่เก็บของจำเป็นพื้นฐานไว้ ตอนนี้เราต้องการยาหลากหลายประเภท เรามียาสำหรับอาการโควิดขั้นต้นเท่านั้น ไม่ใช่ในเคสที่อาการรุนแรง ตอนนี้ก็พยายามหายามาเพิ่ม มียาพ่น (Budesonine) และยาบรรเทาอาการ Prednisolone มีเครื่องผลิตออกซิเจนด้วย แต่ไว้สำหรับเคสที่รุนแรงจริงๆ
คิดว่าเหตุการณ์นี้จะอยู่อีกนานเท่าไร ทางกลุ่มคิดว่าจะทำอย่างไรในระยะยาว
ก็หวังว่าจะไม่นานไปมากกว่านี้เท่าไรนะครับ เราก็พยายามกดดันรัฐให้ทำอะไรสักอย่าง มีทีมงานเฉพาะสำหรับเรื่องนี้เลย ก็ไม่รู้เหมือนกันในระยะยาวจะเป็นไง ตอนนี้ก็ทำเท่าที่ทำได้
ก่อนโควิด คนงานก็อยู่ในสภาพที่แย่มากอยู่แล้ว มีแผนจะทำกลุ่มนี้ต่อมั้ยหลังเหตุการณ์นี้
ก็ยังไม่แน่ใจเท่าไร กลุ่มก็สามารถคุยกันเรื่องจุดประสงค์ใหม่ได้ เรามีข้อมูลและคนรู้จักในแคมป์ แต่ตอนนี้เป็นการช่วยเหลือเร่งด่วนให้คนยังมีชีวิตอยู่ต่อได้ในแต่ละวันก่อนละกัน