สิ่งที่เรียกกันว่า “ประวัติศาสตร์โลก” นั้นก็คือการสรุปเอาความรู้กลุ่มหนึ่งมาจัดระบบรวมเข้าเป็นพื้นที่ ก่อรูปเป็นระบบความรู้ที่เชื่อมต่อกัน พูดแบบนักประวัติศาสตร์แล้ว พวกเราล้วนรู้ดีว่าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติดำเนินมายาวนานหาจุดต้นไม่พบจุดปลายไม่เจอ หากนำเอาทุกเรื่องเขียนลงไปย่อมมิอาจทำได้ เท่ากับว่า เขียนส่วนหนึ่ง ย่อมทิ้งส่วนอื่น กอปรรวมกันเป็นระบบที่ยอมรับ จึงเรียกได้ว่าเป็นการเขียน “ประวัติศาสตร์” ผมเคยเขียนบทความหนึ่ง ชื่อว่า《เรื่องราวที่ “เกิดขึ้นแล้ว” เขียนลงไปจึงจะถือเป็น “ประวัติศาสตร์”——ว่าด้วยความหมายของประวัติศาสตร์》การนำเอา “สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว” กับ “ประวัติศาสตร์” มาเทียบกันให้เห็น เป็นสิ่งที่หลายคนไม่เคยได้ทำความเข้าใจอย่างจริงจัง “สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว” คือเรื่องราวที่ได้เกิดขึ้น ส่วน “ประวัติศาสตร์” คือสิ่งที่เขียนขึ้นมา คือกระบวนการที่นักประวัติศาสตร์ลงมือเขียนขึ้นมาเพื่อให้คนได้อ่าน เมื่อทำความเข้าใจตรงจุดนี้ ก็จะสามารถเข้าใจได้ว่าทำไมคนจึงคุ้นเคยกับ “ประวัติศาสตร์โลก” ว่ามีแต่ประเทศตะวันตกไม่กี่ประเทศ และโลกส่วนอื่นๆ เหมือนไม่ได้ดำรงอยู่ หรือไม่ก็ไม่สำคัญ พูดอย่างง่าย ระบบความรู้ประวัติศาสตร์โลกคือสิ่งสร้างของชาวตะวันตก ชาวตะวันตกตัดต่อสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วที่สำคัญกับพวกเขาขึ้นมา แล้วก่อรูปเป็น “ประวัติศาสตร์โลก” ระบบความรู้แบบตะวันตกนี้ได้ดำรงอยู่มาร่วมสองสามร้อยปีแล้ว อีกทั้งในช่วงไม่กี่ร้อยปีมานี้กระแสความเข้มแข็งของตะวันตกก็แผ่ซ่านไปทั่วโลก ทำให้ประวัติศาสตร์โลก “ถูกต้องชอบธรรม”(正统)
ลักษณะสำคัญของระบบตะวันตกก็คือ “ความคิดตะวันตกเป็นศูนย์กลาง”(西方中心论) แสดงออกมาในเนื้อหาที่จัดวางให้ประวัติศาสตร์ตะวันตกเป็นเส้นเรื่องหลัก แล้วเอาประวัติศาสตร์โลกแปะเข้าไปในการดำเนินเรื่องฝั่งตะวันตก ในฐานะที่ตะวันตกเป็นตัวแทนของโลกทั้งใบ จากจุดนี้ยิ่งทำให้เข้าใจได้มากขึ้นว่า ทำไมเมื่อพูดถึง “ประวัติศาสตร์โลก” แล้ว สิ่งที่เรานึกขึ้นได้ก็จะเป็นมหาอำนาจตะวันตกไม่กี่ประเทศ สิ่งที่ควรเน้นย้ำคือ เราได้วิพากษ์ “ความคิดตะวันตกเป็นศูนย์กลาง” มายาวนานแล้ว ไม่ใช่แค่หลังจากการสถาปนาจีนใหม่เท่านั้น ก่อนหน้าก็มีหลายคนวิพากษ์มันมาก่อน ทว่า การวิพากษ์ก็หยุดอยู่แค่ขั้นของความคิดเห็น น้อยคนนักที่จะนำเอาข้อเท็จจริง มาพัฒนาประวัติศาสตร์โลกจริงๆ ขึ้นมา ยิ่งมีน้อยคนนักที่จะพยายามเอาระบบอื่นเข้ามาแทนที่ระบบความรู้แบบตะวันตก กระนั้น การศึกษาประวัติศาสตร์คือศาสตร์ที่ตั้งอยู่บนการพิสูจน์ด้วยข้อเท็จจริง หากไม่ได้นำเอาข้อเท็จจริงมาพูดแล้ว ก็คงไม่อาจวิพากษ์ “ความคิดตะวันตกเป็นศูนย์กลาง” ได้แน่
อะไรคือ “ความคิดตะวันตกเป็นศูนย์กลาง”? ลักษณะพิเศษของมันคือการเอาอารยธรรมตะวันตกมาพูดให้เป็นอารยธรรมที่ถูกต้องเหมาะสม(正确)เพียงหนึ่งเดียว อารยธรรมอื่นๆ ไม่ว่าจะผ่านไปแล้ว หรือกำลังเริ่มต้นก็ล้วนไม่ถูกต้องเหมาะสม ดังนั้น จึงมักถูกทำให้ล่มสลาย ว่าตาม Hegel แล้ว อรุณแรกแห่งอารยธรรมเรืองรุ่งขึ้นมาจากฝั่งตะวันออก หลังจากนั้นจึงเคลื่อนตัวไปตะวันตก ถึงยุโรปตะวันตกก็แผ่ซ่านเปล่งประกาย เฉิดฉายไปทั่วพิภพ ณ ที่แห่งอื่นบนโลกใบนี้ หากไม่หยุดนิ่งชงักงัน ก็ล่มสลายดิ่งสู่ความดำมืด ส่วนยุโรปนั้นจะก้าวไปไม่หยุดยั้ง นำพาอนาคตมาสู่มนุษยชาติ นี่ก็คือแก่นและแหล่งที่มาของ “ความคิดตะวันตกเป็นศูนย์กลาง” ตั้งแต่นั้นมา รากฐานทฤษฎีประวัติศาสตร์ตะวันตก ก็อนุมานเอาจากแนวคิดนี้ ทั้งยังแผ่ไปทั่วโลก ตามความแข็งแกร่งของตะวันตกทั่วผืนแผ่นดิน
ฉากหลังการปรากฏตัวขึ้นของ “ความคิดตะวันตกเป็นศูนย์กลาง” ก็คือการพุ่งทะยานของตะวันตก ตั้งแต่ยุคสมัยล่องเรือในมหาสมุทรแห่งศตวรรษที่ 15,16 เริ่มต้นขึ้น ตะวันตกก็พึ่งพาการบังคับเปิดปากอ่าวให้กับระบบการค้าขายข้ามมหาสมุทรและการพัฒนาผ่านการแผ่ขยายอาณานิคม พาตัวเองให้ออกจากภาวะความล้าหลังในยุคกลาง เชิดหน้าชูตาขึ้นมา อีกทั้งยังพึ่งพาการปฏิวัติอุตสาหกรรมและพลังอำนาจจากการแข่งขันรอบโลกภายใต้โลกาภิวัตน์เมื่อศตวรรษที่ 18,19 แผ่ขยายอำนาจตะวันตกไปทั่วโลก จนถึงปลายศตวรรษที่ 19 จรดต้นศตวรรษที่ 20 ก็อาจกล่าวได้ว่า ทั่วโลกตกอยู่ภายใต้การควบคุมแล้ว ณ ฉากหลังเช่นนี้ ชาวตะวันตกก็เริ่มเชื่อว่าอารยธรรมตะวันตกคือสิ่งถูกต้องเหมาะสมเพียงหนึ่งเดียว ตะวันตกจะนำทางมนุษยชาติไปตลอดกาล เพื่อการพิสูจน์ทฤษฎีนี้ ตะวันตกจึงเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นมาให้ตะวันตกเป็นศูนย์กลางของประวัติศาสตร์ ตะวันตกจึงสร้างระบบความรู้ประวัติศาสตร์ขึ้นมา โชคร้ายก็คือ ไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมา ตำแหน่งแห่งที่ของตะวันตกเข้มแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย ระบบความรู้ที่ว่านี้จึงถูกทำให้เป็น “ประวัติศาสตร์ทางการ”(正史) ภายหลังจากสงครามฝิ่น เนื่องจากความล้าหลังและความไม่เข้าใจโลกของจีน จึงทำให้ระบบความรู้เหล่านี้กลายมาเป็น “ประวัติศาสตร์โลก” ที่อยู่ในหัวของชาวจีน
ว่าตามระบบนี้แล้ว อารยธรรมตะวันตกทุกช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ ล้วนอยู่กลางเวทีแสดง ส่องแสงฉาดฉายทั้งสิ้น เป็นต้นว่า เมื่อคราวอารยธรรมเกิดขึ้น ยุโรปได้รับการพูดถึงว่าเป็นแหล่งกำเนิดตัวละครเอกมากมาย หนุ่มสวยสาวหล่อก่อสร้างอารยธรรมยุโรปขึ้น โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่ว่า:อารยธรรมยุโรปเกิดขึ้นมาจากฝากชายฝั่งตะวันออก(ที่คนยุโรปเรียกว่า”ตะวันออก”) ดังนั้นอารยธรรมยุโรปก็เป็นเพียงแค่อารยธรรมหนึ่งเท่านั้น ว่าด้วยประวัติศาสตร์ยุคโบราณ รัฐโรมันถูกวาดภาพให้เป็นอารยธรรมที่รุ่งเรืองที่สุดในโลกยุคคลาสสิก ระบบและวัฒนธรรมการปกครองการทหาร นำทางโลกไปสู่อนาคต โดยไม่ได้คำนึงถึงข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่ว่า:ณ พื้นที่แห่งอื่น ราชวงศ์ฮั่นอันยิ่งใหญ่ได้สร้างอารยธรรมที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง[1] เฉิดฉายเคียงคู่ไปกับโรมัน ณ ช่วงเวลาที่เรียกกันว่า “ยุคกลาง” หรือที่พวกเราเรียกกันว่าช่วงกลางของยุคโบราณ(中古时期) ความวุ่นวายในยุโรปถูกนำมาพูดกันว่านำไปสู่จุที่ระบบการแบ่งอำนาจระหว่างรัฐชาติ(国家)เหมือนดั่งปัจจุบันได้เกิดขึ้น และได้กลายเป็นรากฐานระบบการปกครองในปัจจุบัน ซึ่งก็ไม่ได้คำนึงถึงข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งเช่นกันว่า:เนื่องด้วยการดำรงอยู่ยาวนานไม่จบสิ้นของระบบศักดินาที่กระจัดกระจายแตกแยกไม่เป็นระบบ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงราวๆ คริสตศักราชที่ 1000 นั่นเอง ทำให้ช่วงนั้นยุโรปตะวันตกคือพื้นที่ที่ล้าหลังที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เทียบกับ “ตะวันออก”(ซึ่งรวมไบเซนไทนไว้ด้วย)แล้ว ถือว่าทั้งล้าหลังทั้งยากจน ยุโรปพึ่งผงาดขึ้นมาในช่วงยุคสมัยใหม่ใกล้ๆ นี่เอง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ยุโรปก็พัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ไล่ตามและก้าวข้ามโลก “ตะวันออก” ไป แต่ข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่ยุโรปไม่อยากให้พูดถึงมากที่สุดก็คือ ท่ามกลางเหตุผลหลายประการที่ยุโรปขึ้นมาเป็นผู้นำโลกนั้น มีเหตุผลสำคัญประการหนึ่งคือการลอกเอา “สมบูรณาญาสิทธิฯ”[2] จากฝั่งตะวันออกไปใช้ และหล่อหลอมรัฐชาติใหม่ที่มีอำนาจอธิปไตยรวมศูนย์ขึ้นมา ใช้เป็นเครื่องมือในการแตกหักกับสถานการณ์ศักดินาที่แตกแยกไม่เป็นระบบ แล้วก้าวย่างไปบนทางมหาอำนาจ ช่วงเวลาสองสามร้อยปีให้หลังที่ตะวันตกเริ่มก้าวนำไป ในลักษณะที่ไม่อาจหยุดยั้งได้ โลกทั้งใบก็ตกอยู่ภายใต้พื้นที่ยึดครองหรือควบคุมโดยตะวันตก แล้วระบบการเขียนตำราประวัติศาสตร์โลกโดยมีตะวันตกเป็นศูนย์กลางก็ปรากฏขึ้น และแผ่ขยายไปทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ณ ช่วงเวลานั้น โลกก็เริ่มเกิดการพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ก็คลี่คลายตัวออกมา กลุ่มประเทศอื่นที่ครั้งหนึ่งเคยถูกตะวันตกยึดครองตีเอาได้ก็ฟื้นคืนขึ้นมา กลับขึ้นสู่เวทีโลกอีกครั้ง ยุคสมัยแห่งความเท่าเทียมทางอารยธรรมได้มาถึง จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่สองจบสิ้นลง มาจนถึงทุกวันนี้ ทิศทางเช่นนี้ไม่อาจหวนคืนได้อีกแล้ว ด้วยเหตุเช่นนี้เอง จึงเกิดสิ่งที่ทุกวันนี้เราเรียกว่า “สถานการณ์ใหญ่ที่ร้อยปีก็ไม่เคยได้เห็น” จริงๆ แล้วไม่ได้หยุดอยู่แค่หนึ่งร้อยปี แต่เป็นการขยับเปลี่ยนครั้งใหญ่ที่มีขนาดเป็นโลกทั้งใบเต็มๆ จาก “ตะวันตกแกร่งตะวันออกอ่อน” เปลี่ยนเข้าสู่ความเท่าเทียมทางอารยธรรมและการพัฒนาร่วมกัน
จากที่กล่าวไปทั้งหมด ประวัติศาสตร์โลกที่แท้จริงก็เต็มใบขึ้นมา ระบบความรู้ประวัติศาสตร์โลกที่พูดถึงตะวันตกเป็นศูนย์กลาง คือระบบที่พูดด้านเดียว(片面的) คือระบบที่หยิบจับคัดเลือกหรือกระทั่งบิดเบือน ดังนั้น การละทิ้ง “ความคิดตะวันตกเป็นศูนย์กลาง” แล้วก่อสร้างสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม สร้างระบบความรู้ประวัติศาสตร์ที่แม่นยำ คือหน้าที่แห่งยุคสมัย
『ระบบความรู้ประวัติศาสตร์โลกแบบใหม่ ต้องใช้ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เข้าพูด』
จะสร้างระบบความรู้ประวัติศาสตร์โลกใหม่ได้อย่างไร? ตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา ผมและนักวิชาการหลายท่านในภาควิชาประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยปักกิ่ง อีกทั้งคุณหยูวฺเพ่ยจากสถาบันวิทยาศาสตร์สังคมแห่งประเทศจีนก็พยายามลงมือค้นคว้ากรอบคิดแบบใหม่ ค้นหาระบบความรู้ประวัติศาสตร์โลกแบบใหม่ ผ่านการถกเถียงกันหลายครั้ง พวกเราก็ตกลงกันว่าการวิจัยประวัติศาสตร์แบบใหม่ควรจะมีเป้าหมายหลายประการ ดังนี้:หนึ่งคือต้องเอาความคิดของมาร์กซ์ว่าด้วย “การก่อรูปของประวัติศาสตร์”(世界历史形成)มาเป็นเส้นหลักทางทฤษฎี และกระบวนการพัฒนาของการคลี่คลายตัวทางประวัติศาสตร์มนุษยชาติ สองคือกระบวนการประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของมนุษยชาติหลายพันปีได้พิสูจน์ว่า:พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติมีสองแนวด้วยกัน กล่าวคือแนวนอนด้านหนึ่ง และแนวตั้งอีกหนึ่งด้าน สองด้านนี้ทำงานประสานกัน ก่อรูปขึ้นเป็นประวัติศาสตร์โลกเต็มใบ สามคือโยน “ความคิดตะวันตกเป็นศูนย์กลาง” ทิ้งเสีย แล้วฟื้นฟูอารยธรรม ประเทศ และชนชาติต่างๆ ในโลก และนำรูปร่างประวัติศาสตร์แรกเริ่มมาพัฒนา ฟื้นฟูตำแหน่งแห่งที่ให้เท่าเทียมกันระหว่างอารยธรรม ประเทศ และชนชาติที่ไม่เหมือนกัน สี่คือละทิ้งความคิดผิดๆ ที่ว่า “ประวัติศาสตร์โลกคือประวัติศาสตร์ของมหาอำนาจตะวันตกไม่กี่ประเทศ” แล้วแสดงให้เห็นว่าประวัติศาสตร์โลกคือข้อเท็จจริงพื้นฐานของประวัติศาสตร์มนุษยชาติร่วมกัน ภายใต้เรื่องเล่าในช่วงเวลาอันยาวนานของประวัติศาสตร์ที่คลี่คลายมาหลายพันปี โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้น ทำให้เข้าใจเรื่องราวที่กำลังเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 ได้
ในกระบวนการเขียนงาน พวกเราพยายามอธิบายจำแนกเป็นสี่ประการ:ประการแรก โลกมีหลายขั้ว มีลักษณะแก่นทางอารยธรรมของมนุษยที่หลากหลาย ประวัติศาสตร์โลกเองได้พิสูจน์แล้วว่าประวัติศาสตร์มีลักษณะหลายขั้ว ดังนั้นการนำเอาอารยธรรมตะวันตกมาเป็นตัวแบบ เอามาใช้อธิบายว่าเป็นสิ่งถูกต้องเหมาะสมหนึ่งเดียวนั้น เป็นการขัดต่อความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์อย่างยิ่ง ประการถัดมา ประวัติศาสตร์คือการพัฒนา การพัฒนารวมทั้งการพัฒนาแนวนอนและการพัฒนาแนวตั้ง การพัฒนาแนวนอนหมายถึงอารยธรรมของมนุษย์เริ่มจากแตกกระจายไปสู่การรวมตัว สุดท้ายก่อรูปเป็นองค์ประกอบที่มีชะตากรรมร่วมกันของมนุษย์ชาติ การพัฒนาแนวตั้งหมายถึงสังคมมนุษย์เริ่มจากต่ำมุ่งไปสู่สูง ทั้งมาตรฐานพลังการผลิต มาตรฐานทางเทคโนโลยี รูปการณ์ทางสังคม เป็นต้น ล้วนเกิดจากต่ำก้าวไปสู่สูง ถัดมา โลกเป็นทั้งสิ่งที่มีลักษณะร่วมกัน(共性)และมีเอกลักษณ์ในตัว(个性)ลักษณะร่วมกันแสดงออกผ่านการดำรงอยู่ของทั้งทิศทางแนวนอนและแนวตั้ง แต่ละประเทศ แต่ละท้องถิ่น แต่ละเชื้อชาติล้วนอยู่ภายใต้ผลจากสองทิศทางนี้ ส่วนเอกลักษณ์ในตัวมาจากการประสานเปลี่ยนแปลงของทิศทางแนวนอนกับแนวตั้ง จึงปรากฏเป็นความหลากหลายผลิบานขึ้นมาในประวัติศาสตร์โลก ประการสุดท้าย การพัฒนาของประวัติศาสตร์คือความไม่สมดุล สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประวัติศาสตร์โลกที่เกิดขึ้นไม่กี่พันปีนี้:จากการประกอบเข้ากันระหว่างสถานการณ์ขนาดเล็กในแต่ละที่กับการผสมผสานกันอย่างค่อยเป็นค่อยไปของอารยธรรมยุคแรกเริ่ม ไปถึงความสมดุลระหว่างตะวันออกตะวันตกในช่วงยุคคลาสสิก แล้วต่อด้วยตะวันออกแกร่งตะวันตกอ่อนในช่วงกลางของยุคโบราณ และในสมัยใหม่เป็นต้นมาที่ตะวันตกแกร่งตะวันออกอ่อนแล้วตะวันตกก็ครอบครองใต้ฟ้าทั่วปฐพีเป็นหนึ่งเดียว ทุกวันนี้ พวกเราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นอีกครา เกิดการพัฒนาในทุกด้านของประเทศกำลังพัฒนา ความได้เปรียบของตะวันตกกำลังหดหายไป การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่คือเนื้อหาหลักของตำราประวัติศาสตร์โลก ณ จุดนี้จึงไม่อาจเขียน “ประวัติศาสตร์โลก” ออกมาได้อย่างชัดเจนอีกแล้ว สิ่งเหล่านี้คือความคิดก้าวแรกที่ปรากฏออกมาเป็น《เค้าโครงประวัติศาสตร์โลกใหม่(新世界是刚要)》(สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยปักกิ่ง,ฉบับปี 2023)
《เค้าโครงประวัติศาสตร์โลกใหม่》เกิดขึ้นเพื่อก่อร่างสร้างกรอบระบบความรู้ใหม่ของประวัติศาสตร์โลก ทั้งนั้น กรอบที่ว่านี้กับระบบความรู้แบบเก่าก็ต่างกันอย่างสิ้นเชิง กรอบนี้ไม่เหมือนกับระบบคิดแบบ Ranke ในศตวรรษที่ 19 และไม่เหมือนกับระบบ “ประวัติศาสตร์โลกทั้งใบ”(全球史)ที่ออกมาในตะวันตกเมื่อศตวรรษที่ 20 และระบบที่ออกมาจากโซเวียตด้วย ระบบแบบโซเวียตพยายามวาดภาพประวัติศาสตร์ของ “โลกทั้งใบ”(全世界) ทว่าเขียนออกมาเป็นประวัติศาสตร์โลกที่มีลักษณะกองสุมรวมกัน(堆积式) กล่าวคือการเอาประวัติศาสตร์มากมายหลากหลายประเทศมากองรวมกันก่อตัวเป็น “โลก” อีกทั้งโลกใบดังกล่าวยังไร้ระบบระเบียบ แต่ละที่ล้วนเป็นอิสระและไม่เชื่อมต่อกัน หนำซ้ำ ระบบของโซเวียตยังเน้นย้ำลักษณะความเป็นสากล(普遍性)ของประวัติศาสตร์มากเกินไป ทั้งยังปฏิเสธลักษณะความหลากหลาย(多样性) นำเอาทิศทางแนวตั้งมาใช้อย่างเป็นกลไก(机械化)และเบ็ดเสร็จสมบูรณ์(绝对化) ขณะเดียวกันก็ไม่สำเหนียกถึงการดำรงอยู่ของทิศทางแนวนอนเลย ในระบบของตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นระบบคิดแบบ Ranke หรือระบบคิดประวัติศาสตร์โลกทั้งใบก็ตาม ล้วนแล้วแต่มองไม่เห็นถึงการดำรงอยู่ของสองทิศทางดังกล่าว อันที่จริงก็คือไม่ยอมรับว่าประวัติศาสตร์มีเรื่องที่เป็นลักษณะอันหลีกเลี่ยงไม่ได้(必然性)แต่ยอมรับเพียงแค่เรื่องที่มีลักษณะที่อาจเกิดขึ้นได้(或然性)เท่านั้น สุดท้ายจึงพาเอาลักษณะที่มีความเต็มใบของโลก(世界的整体性)พังทลายลง หนังสือเล่มนี้ของพวกเรานำเอาทิศทางสองอย่างนี้มาเป็นเส้นหลักสองกระแสในประวัติศาสตร์ การประสานเกี่ยวกันและผลักดันไปของเส้นทางสองทิศนี้แหละที่สานก่อขึ้นรูป “ประวัติศาสตร์โลก” ขึ้นมา
ในการวิจัยประวัติศาสตร์ 《เค้าโครงประวัติศาสตร์โลกใหม่》ใช้วิธีการพิสูจน์หลักฐานทางประวัติศาสตร์มาอภิปรายปัญหา ไม่ได้ใช้ตรรกะหรือการคาดการณ์ทางทฤษฎีล้วนๆ เข้ามาพิสูจน์ ประวัติศาสตร์นิพนธ์ก็คือประวัติศาสตร์นิพนธ์ ระบบความรู้แบบใหม่ต้องใช้ความรู้เข้ามาพูดเอง และความรู้เหล่านั้นย่อมต้องเป็นความรู้ประวัติศาสตร์ และเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ด้วย พวกเราเชื่อว่า เราได้ออกเดินก้าวเล็กๆ ไม่กี่ก้าว บนเส้นทางการสร้างระบบความรู้ประวัติศาสตร์โลกแบบใหม่ขึ้น ทว่าเรายังเชื่อ ว่าวันนี้ยังมีอีกหลายคนที่ออกเดินไปบนเส้นทางเส้นนี้
เชิงอรรถโดยผู้แปล
.
[1] ในที่นี้ น่าจะหมายถึงว่า ราชวงศ์ฮั่นมีความรุ่งเรืองด้านวัฒนธรรมเป็นหลัก ไม่ได้เป็นความรุ่งเรืองด้านการทหาร
.
[2] ในที่นี้ ถ้าแปลตรงตัวก็คือระบบอัตานิยม โดยพิจารณาจากบริบทแล้ว น่าจะพูดถึงระบบการตัดสินใจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดรวมศูนย์ และสร้างระบบบริหารรัฐกิจขึ้นมา สอดคล้องกับที่ David Graeber & David Wengrow พูดไว้ในหนังสือ《The Dawn of Everything》ที่ว่า statecraft (การบริหารรัฐกิจ) เป็นนวัตกรรมในจีน และยุโรป โดยเฉพาะฝรั่งเศสคัดลอกไปใช้เช่นกัน มีหลักฐานว่านักวิชาการในฝรั่งเศสพูดและให้ความเห็นว่า statecraft ในจีนเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และควรศึกษาจากจีน ก่อนที่ฝรั่งเศสจะกลายเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในกาลต่อมา