ในวันนี้ สถาบันต่างๆ เช่น ศาล รัฐธรรมนูญ กฎหมาย และประชาธิปไตยได้สวมรอยแทนที่ระบอบกฎศักดิ์สิทธิ์ว่าด้วยพระเจ้าและกษัตริย์เสียแล้ว ความเชื่อในหลักนิติธรรม (rule of law) พบได้ในทุกแง่มุมทางการเมืองทั้งในฟากฝั่งประชาธิปไตยและเผด็จการ ความเชื่อนี้มีอยู่อย่างดาษดื่นเสียจนหลักการอย่าง “ประชาธิปไตย” (เมื่อไม่มีคำว่ามวลชน) ก็กลายเป็นความเชื่อที่ศักดิ์และสิทธิ์จนไร้มลทินมัวหมองพ้นไปจากโลกที่เราอยู่
ปีนี้เราได้เห็นประชาชนหลายล้านชีวิตเข้าร่วมพิธีลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง จากที่เราเคยเข้าวัดกราบไหว้ให้พระเมตตา กลายเป็นผู้คนวันนี้ตบเท้าเข้าคูหาภาวนาต่อฟ้าดินและวอนขอความช่วยเหลือจากนักการเมืองแทน อย่างไรก็ตามประชาธิปไตยไม่เคยแม้แต่จะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่เป็นระบอบที่ประกอบสร้างจากสถาบันศาล กฎหมาย และกระบวนการต่างๆ ที่มนุษย์เราปั้นแต่งขึ้น กล่าวได้ว่าประชาธิปไตยเป็นกฎเกณฑ์ที่ขับเคลื่อนโดยระบบราชการ (bureaucracy) นั่นเอง
ในวันวานผู้ไร้ศรัทธาในพระเป็นเจ้าอ้างว่าระบบราชการถือเป็นอำนาจสูงสุด คนพวกนี้เองลำพอง ทั้งยังดูแคลนศักยภาพมนุษย์ เมื่อครั้งผู้ไร้ศรัทธาเริ่มประดิษฐ์มีดโกนอาบน้ำผึ้งนี้ขึ้น “คาฟคา” นักเขียนชาวยิวก็จับไต๋ของพวกเขาได้ตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และจนถึงวันนี้สิ่งที่คาฟคาวิเคราะห์ไว้ก็ยังไม่ล้าสมัย แถมยังใช้อ่านการเมืองไทยในปัจจุบันได้อย่างไร้รอยต่อ ราวกับเป็นโหรราชสำนักเจ้าของคำนายแห่งกับดักศรัทธาในสถาบันเหล่านี้
ปราสาท และ คดีความ (The Castle & The Trial)
“ปราสาท” โดย คาฟคา เล่าเรื่องของช่างรังวัดดินที่ต้องเดินทางเยือนเมืองชนบทเพื่อทำงานซึ่งได้รับมอบหมายมา เขาเป็นตัวละครหลักของเรื่องและเป็นข้าราชการที่ให้ใจเต็ม 100% กับงาน แต่จะเริ่มงานนี้ได้ตัวเอกก็ต้องกัดฟันสู้กับระบบราชการในท้องถิ่น
เนื่องจากเป็นคนเป๊ะทุกกระเบียด เขายืนกรานที่จะปฏิบัติตามระเบียบราชการอย่างเคร่งครัด ตั้งแต่หน้าแรกยันหน้าสุดท้าย ผู้อ่านจะรู้แจ้งว่าตัวเอกได้วิ่งชนกับกำแพงที่เรียกว่า “ความไร้สมรรถภาพ” ของระบบราชการซ้ำแล้วซ้ำเล่า กำแพงดังกล่าวยังรวมไปถึงกระบวนการที่ยืดย้วยและงานเอกสารกองโต นอกจากจะเป็น “คนนอก” แล้ว เขายิ่งรู้สึกแปลกแยก ซ้ำยังต้องหัวเสีย หวาดระแวง และโดดเดี่ยวจากประสบการณ์ทำงานกับระบบนี้
ในฉากหนึ่ง ตัวเอกเห็นข้าราชการในเมืองขนเอกสารออกมาจากด้านหลังสำนักงานเพื่อไปเผาทิ้ง แต่กระนั้นเขายังคงวิ่งวนในเขาวงกตของระบบราชการอย่างเปล่าประโยชน์ด้วยจิตใจมุ่งมั่นจะขอ (อนุญาต) ทำงานแลกเงินแม้ดูจะไร้ซึ่งหนทาง
และในนวนิยายอีกเล่มหนึ่งของคาฟคาเรื่อง “คดีความ” ตัวละครหลักถูกเรียกตัวไปขึ้นศาลในข้อหาก่ออาชญากรรมนิรนามที่เขาไม่รู้ว่าตัวเองก่อขึ้น นวนิยายเรื่องนี้เล่าเรื่องการดิ้นรนของตัวเอกและการเผชิญหน้ากับกฎที่มองไม่เห็น รวมถึงศาลที่ไม่สามารถแตะต้องได้
ในขณะที่เขากระเสือกกระสนเพื่อจะพยายามหาว่าตนถูกกล่าวหาว่าเป็นอาชญากรข้อหาอะไร และจะอุทธรณ์ได้อย่างไร ตัวเอกก็ได้ชนเข้ากับกำแพงระบบราชการอีกครั้ง ในขณะสู้คดีเขาก็ต้องดิ้นรนเพื่อทำงานประจำในธนาคารต่อไปอีก ระหว่างที่ตัวเอกพยายามรับมือกับศาล ข้าราชการที่เขาพบนั้นมีอำนาจแต่กลับไร้ความสามารถ ข้าราชการเหล่านี้ถูกตรึงจากระบบที่ตนต้องดูแล แต่ละคนต่างมีหน้าที่รับผิดชอบสางปมปัญหาที่ไร้ทางแก้ ข้าราชการจึงไม่ต่างนักบวชในสมัยโบราณผู้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างประชาชนกับพระเจ้า หรือในบริบทนี้เป็นคนกลางระหว่างประชาชนกับรัฐ ปุถุชนเข้าไปหาคนกลางเพื่อขอความช่วยเหลือได้ แต่แน่นอนว่าอำนาจของคนกลางนั้นแสนจำกัด
ในตอนท้ายของเรื่อง “คดีความ” ไม่มีแม้แต่การพิจารณาคดีความเกิดขึ้น ตอนจบผู้อ่านเพียงรู้ว่าตัวละครหลักถูกนำตัวไปประหารชีวิตโดยไม่มีเหตุผลระบุว่าทำไม ฉากจบนี้คล้ายกับฉากในเรื่อง “ปราสาท” ที่ตัวเอกเห็นเอกสารราชการถูกเผาทิ้ง คาฟคาเสียชีวิตก่อนที่จะเขียนเรื่อง “ปราสาท” จบ ผู้อ่านไม่มีทางเลือกอื่นแต่ต้องจินตนาการถึงชะตากรรมของช่างรังวัดที่ดินเอง
ในหนังสือทั้งสองเรื่อง แม้ตัวละครหลักจะถูกข่มเหงโดยระบบราชการ แต่ก็ทั้งคู่ยังยึดถือและเคารพต่อระบบดังกล่าว ตัวเอกล้วนเชื่อว่าระบบเหล่านี้แม้จะไม่สมบูรณ์ แต่ท้ายที่สุดแล้วกลับตอบสนองวัตถุประสงค์ที่จำเป็นของการปกครองบ้านเมืองได้
สองเรื่องนี้ไม่ใช่ตำราว่าด้วยระบบราชการ แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความแปลกแยกและความเปล่าประโยชน์ของบุคคลระดับปัจเจกเมื่อต้องเผชิญกับสถาบันศักดิ์สิทธิ์ของมนุษย์ยุคใหม่ ผู้อ่านจะพบเจอกับตัวละครที่มีพฤติกรรมประหลาด ฉากนอกสถานแสนพิษดารที่แทรกเข้ามากลางเรื่อง โครงเรื่องรองที่ลักลั่นเหล่านี้เชื่อมโยงกับระบบราชการอยู่เสมอ เราเห็นได้ชัดเจนว่าตอนจบของเรื่องมีเพียงสองทางคือให้สังคมจะล่มสลายเมื่อมีตัวละครหลัก หรือไม่ก็ต้องเป็นตัวละครหลักที่ต้องพังทลายและเสียสติไปเอง ไม่ว่าจะออกหัวหรือก้อยนี่เป็นวิธีเขียนของคาฟคาในการพรรณนาถึงความแปลกแยก ความโดดเดี่ยว ความเหงา และความลักลั่นที่เราต้องใช้ชีวิตร่วมกับสถาบันเหล่านี้
นับตั้งแต่เราสังหารเทพเจ้าอันสูงส่งไป ปัจเจกบุคคลนั้นก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องศรัทธาในสถาบันเหล่านี้แทน ในปัจจุบันศาลและกฎหมายแบบเดียวกันนี้พบได้ทั้งในระบอบประชาธิปไตยและเผด็จการ ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการ ประชาชนเชื่อมั่นในสถาบันของชาติที่ปกครองผู้คน ไม่แตกต่างจากระบอบประชาธิปไตยที่เราเองก็เชื่อมั่นในพิธีกรรมการเลือกตั้งทุกๆ สามสี่ปี
คาฟคา มาร์กซ์ และการเมืองมวลชน
แม้ว่าคาฟคาจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับระบบราชการ แต่เขาตระหนักดีว่าสิ่งที่บรรยายเป็นอาการของโรคมากกว่าเป็นโรคเสียเอง เช่นเดียวกับการติดเชื้อในปอดที่ก่อให้เกิดอาการไอ และการไอก่อให้เกิดอาการเจ็บคอ ในทำนองเดียวกันระบบการปกครองของเราได้ก่อให้เกิดระบบราชการ และระบบราชการก่อให้เกิดความแปลกแยกของปัจเจกในที่สุด
แน่นอนว่า มาร์กซ์เขียนเรื่องความแปลกแยกในบริบทของแรงงาน ยุคนั้นคนงานในโรงงานประกอบส่วนต้องขัดโลหะหรือเจาะรูไม้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในขณะที่ผลิตภัณฑ์เคลื่อนตัวไปตามสายพาน คนงานเหล่านี้ไม่เคยสร้างหรือประดิษฐ์บางสิ่งบางอย่างออกมาอย่างแท้จริง พวกเขาถูกแยกให้เป็นหน่วยปัจเจกเล็กๆ และถูกกันออกจากสิ่งที่ตนได้ลงแรงทำไป พวกเขาจะไม่ได้ออกแบบสินค้า กำหนดราคา หรือเป็นผู้ขาย ดังนั้นกำไรใดๆ จากการผลิตจะตกเป็นของเจ้าของโรงงาน สุดท้ายแล้วคนงานถูกกันออกจากสิ่งที่ตนสร้างขึ้นด้วยน้ำพักน้ำแรงตัวเอง นั่นหมายความว่าคนงานเหล่านี้ “ถูกทำให้แปลกแยกจากแรงงานของตนเอง”
ในขณะเดียวกัน คาฟคา ซึ่งเป็นนักสังคมนิยมเองได้ใช้นวนิยายเล่าเรื่องความแปลกแยก ของปัจเจกจากสถาบันการปกครองอย่างอ้อมๆ หากอ่านคาฟคาและประกอบกับบริบทชีวิตผู้คนในปัจจุบัน ผู้อ่านจะเห็นว่าประชาชนถูกแบ่งให้เป็นปัจเจกหน่วยเล็กๆ และแยกออกจากรัฐและสถาบันที่ปกครองตนเองอย่างไรบ้าง ทุกวันนี้เราจะเห็นว่าประชาชนแทบไม่มีโอกาสได้เปลี่ยนแปลงสถาบันเหล่านี้เลย แม้แต่ในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา เราทำได้เพียงลงคะแนนเสียงของตนเองในกล่องคะแนนเล็กจิ๋วให้กลุ่มผู้สมัครจำนวนหยิบมือเท่านั้น
งานเขียนของคาฟคาได้รับอิทธิพลจากลัทธิมาร์กซิสม์อย่างชัดเจน ตัวละครหลักทั้งสองเป็นบุคคลที่ต่อพุ่งชนกำแพงปราสาทของอำนาจระบบราชการ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไร้ประโยชน์ของลัทธิปัจเจกชนเมื่อต้องเผชิญกับสถาบันขนาดใหญ่ แน่นอนว่าทางออกฉบับสังคมนิยมคือการเมืองแบบขบวนการมวลชน การรวมตัวกันของประชาชนจำนวนมากจะเป็นพลังท้าทายอำนาจของสถาบัน ไม่ว่าจะเป็นรัฐ ระบบทุนนิยม หรือแม้แต่สถานที่ทำงานในท้องถิ่นของตน
แต่นั่นไม่ได้รวมถึงการประท้วงเชิงสัญลักษณ์บนท้องถนน ทางออกคือการสร้างอำนาจที่แท้จริงให้ประชาชน ต้องเป็นอำนาจที่จะตอบโต้ระบบราชการจอมกดขี่ และต้องเป็นอำนาจที่สามารถบังคับให้สถาบันยอมจำนนต่อประชาชน ขบวนการทางการเมืองของมวลชนซึ่งพึ่งพิงการรวมตัวจัดตั้งบนท้องถนน (นอกรัฐสภา) ถือเป็นกลไกแท้จริงเพียงหนทางเดียวสำหรับประชาชนในการท้าทายระบบรัฐสภา และเป็นกลไกเดียวที่จะทำลายกำแพง “ปราสาท” ของระบบราชการได้
การจัดกระบวนการรูปแบบนี้ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่เฉพาะฝ่ายซ้ายเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติแล้วถือเป็นหนทางเดียวที่ประชาชนมีเพื่อต่อต้านกองกำลังแสนโลภของทั้งทุนและรัฐทุนนิยม เราในฐานะชนชั้นกรรมาชีพเริ่มแปลกแยกจากทั้งแรงงานและระบบการปกครองของเรามากขึ้นเรื่อยๆ ใครก็ตามที่เคยไปจุดบริการกรมการขนส่งทางบกเพื่อทำใบขับขี่จะได้รู้ซึ้งถึงกำแพงปราสาทของราชการ กฎระเบียบ การตรวจสอบกระดาษทุกแผ่นที่เรายื่น และพิธีเผาเอกสารลับที่ต้องเกิดขึ้นทุกคืนทั่วประเทศในทุกหน่วยงานของรัฐ
แน่นอนว่าไม่มีใครในหน่วยงานภาครัฐในประเทศใดจะมองว่านี่เป็นระบบที่ดีหรือมีประสิทธิภาพ แต่ระบบนี้ได้แพร่กระจายไปทั่วแถมยังพ่วงแถมมากับคอรัปชั่นทุกหนแห่ง สุดท้ายแล้วดูเหมือนว่าประชาชนแบบเราไม่สามารถต่อกรกับลุกลามของระบบนี้ได้เลย
ปราสาท นามว่า ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ
ปราสาทของคาฟคาไม่ใช่ปราสาท แต่เป็นอาคารเก่าแก่ขนาดใหญ่บนยอดเขาซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์ราชการบริหารเมืองเบื้องล่าง ตัวปราสาทไม่จำเป็นต้องมีกำแพงหินจริงๆ หรือกองกำลังติดอาวุธ กำแพงนั้นเป็นกระบวนการของระบบราชการที่ยืนหยัดแข็งแรงด้วยความศรัทธาชาวเมืองมืดบอดที่ปฏิบัติตามกฎของปราสาท
ในศตวรรษที่ 21 ระบบเมืองสมัยใหม่ลุกลามไปทั่วประเทศไทย ปราสาทแห่งจักรวรรดิ์ของศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะทำหน้าที่ปกครองเมืองส่วนภูมิภาคในจังหวัดต่างๆ ประตูสู่ราชวังแห่งเอกสารได้รับการคุ้มกันโดยพนักงานต้อนรับที่ไม่สนใจจะบริการ ทั้งมัวจิบกาแฟเย็นของอเมซอนในทุกเช้า ข้าราชการได้สร้างระบบเดียวกันซึ่งขวางกั้นไม่ให้เกษตรกรเป็นเจ้าของที่ดินของตน ทั้งยังกีดกันเกษตรกรจากการขึ้นสู่ตำแหน่งในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย
เจ้าหน้าที่เหล่านี้ก็เหมือนกับข้าราชการในนิยายคาฟคา คนพวกนี้ไม่มีอำนาจที่แท้จริง คุณจะโกรธพวกเขาก็ไม่ได้ คุณทำได้แค่หงุดหงิดกับระบบที่แฝงตัวอยู่เบื้องหลังพวกเขาเท่านั้น ว่าง่ายๆ คือประเทศไทยดำเนินการตามกระบวนการราชการแบบเดียวกับปราสาทของคาฟคา ด้วยศรัทธาของผู้คนในกระบวนการราชการแล้ว ไม่ว่าเจ้าหน้าที่จะดูถูกเหยียดหยามระบบอย่างไร พวกเขาเองก็เป็นส่วนที่ทำให้ระบบราชการเติบโตและลุกลาม
นี่คือสิ่งที่เราหมายถึงเมื่อเราวิพากษ์วิจารณ์การเลือกตั้งที่ไม่มีการเมืองมวลชนในสมการ ครั้งแล้วครั้งเล่าที่ประชาชนผู้เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงถูกลวงด้วยคำมั่นสัญญา เราถูกหลอกว่าการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นวิธีการเปลี่ยนแปลงโดยไม่ต้องอาศัยขบวนการมวลชน แท้จริงแล้วการลงคะแนนเสียงในคูหาเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของปราสาทเท่านั้น คะแนนเสียงของเราอาจจะเปลี่ยนฉากหน้าของผิวกำแพงปราสาท แต่ก็ไม่สามารถทลายกำแพงลงมาได้ ความเชื่ออื่นใดมีแต่จะทำให้หินของกำแพงของปราสาทแข็งแกร่งขึ้น
พระเจ้าในวันวาน
ในช่วงบั้นปลายชีวิตของคาฟคา เขาเริ่มสนใจนิทานพื้นบ้านและลัทธิไสยศาสตร์ของชาวยิวในชนบทมากขึ้น ในฐานะคนเมืองการศึกษาสูง คาฟคาอิจฉาวิถีชีวิตที่มีจิตวิญญาณนำพาของชาวบ้าน คนเหล่านี้รวยไม่ใช่ทางสินทรัพย์ แต่รวยในความเชื่อและขนบซึ่งแต่งแต้มให้ชีวิตชาวบ้านมีสีสันและเป้าหมายในแบบที่ชีวิตแสนจืดชืดของคาฟคาและข้าราชการเมืองผู้ไร้ศร้ทธาในพระเจ้าไม่มี แน่นอนว่าคาฟคาทำใจเชื่อในสิ่งที่เขาถือว่าเป็นไสยล้าสมัยไม่ได้ อย่างไรก็ตามคาฟคาปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบเหล่านี้ กล่าวคือ ศาสนาและระบบราชการ หรือผลจากการทำนายและผลจากการแสดงเจตจำนงค์นั้นเหมือนกันราวกับแฝดคนละฝา
เมื่อเราฝากฝังปัญหาของเราให้กับพระเจ้าหรือนักการเมือง หมายความว่าเราเองยอมให้ตัวเองถูกแปลกแยกจนกลายเป็นปัจเจกหน่วยเล็กๆ และพร้อมละทิ้งความหวังในการเคลื่อนไหวมวลชนร่วมกันไปด้วย
ในฐานะประชาชนที่ปฏิบัตตามหน้าที่ตนเอง วันนี้ปลายนิ้วที่พิมพ์บนโทรศัพท์ว่า “วันนี้ไปเลือกตั้งมาแหละ” และกดทวีต ก็ไม่ต่างจากมือไม้ที่ไหว้อ้อนวอนต่อพระเจ้าในวันวานเท่าไรนัก เพราะสุดท้ายอำนาจสู่ “กลิ่นความเจริญ” หรือจะเป็น “กลิ่นของหายนะ” ไม่ได้อยู่ในมือประชาชนแต่อยู่ในมือของพระเป็นเจ้าในระบบราชการต่างหาก