แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ “Je ne suis pas marxiste” – Michael Heinrich
ผู้แปล: สหายคำผาน
ไมเคิล ไฮน์ริช กล่าวว่า มาร์กซ์ไม่ได้พยายามสร้าง “ลัทธิมาร์กซ์” ขึ้นมาในฐานะสิ่งที่มุ่งนิยามตัวเองว่าเป็น “ความจริง” แต่มาร์กซ์ปรารถนาจะทำลายความจริงทั้งปวงลงต่างหาก
คนที่ไปเยี่ยมหลุมศพของคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) ณ สุสานไฮเกท (Highgate Cemetery) ในลอนดอน (London) จะเห็นแท่นอันใหญ่ซึ่งมีรูปปั้นครึ่งตัวขนาดมหึมาของมาร์กซ์อยู่ข้างบน คนที่ไปยืนอยู่ตรงนั้นก็จะต้องเงยหน้าขึ้นมามองเขา ใต้รูปปั้นสลักเป็นอักษรสีทองว่า “คนงานจากทุกหนแห่งจงรวมตัวกัน” (“Workers of all lands unite”) และด้านล่างสลักว่า “Karl Marx” ซึ่งเป็นตัวอักษรสีทองเช่นกัน ด้านล่างเป็นศิลาฤกษ์ขนาดเล็กอยู่ในแท่น สลักเป็นชื่อของคนที่ถูกฝังไว้ที่นี่โดยเป็นอักษรเรียบง่ายที่ไม่ใช่สีทอง ข้าง ๆ คาร์ล มาร์กซ์ ก็คือ เจนนี่ (Jenny) ภรรยาของเขา แฮร์รี ลองเกต (Harry Longuet) หลานชาย และ เอลานอร์ (Eleanor) ลูกสาว รวมไปถึง เฮลีน ดีมุธ (Helene Demuth) ซึ่งเป็นผู้นำครอบครัวของมาร์กซ์มาหลายทศวรรษ
มาร์กซ์เลือกแผ่นศิลาฤกษ์รูปทรงเรียบง่ายด้วยตัวเองหลังจากที่ภรรยาของเขาถึงแก่กรรม เขาไม่ใช่คนประเจิดประเจ้อ เขาพูดออกมาเลยว่าอยากให้จัดงานศพเขาแบบเงียบ ๆ โดยให้มีคนเข้าร่วมนิดเดียวพอ มีคนมางานศพเขาแค่สิบเอ็ดคนเท่านั้น ฟรีดริช เองเกลส์ (Friedrich Engels) สามารถเข้าไปขัดขวางแผนการของพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันที่พยายามจะสร้างอนุสาวรีย์ให้กับมาร์กซ์ตรงสุสาน เขาเขียนจดหมายถึง ออกุส บีเบิล (August Bebel) ว่า ครอบครัวของมาร์กซ์ไม่เห็นด้วยกับการสร้างอนุสาวรีย์ให้เขา เพราะสำหรับครอบครัวของมาร์กซ์แล้ว ศิลาฤกษ์ขนาดเล็ก “จะถูกลดทอน/ดูหมิ่น/ไม่ให้เกียรติ หากถูกแทนที่ด้วยอนุสาวรีย์” (MECW 47, p. 17)
ประมาณ 70 ปีต่อมา ทุกคนก็จากไปและไม่เหลือใครที่จะมาปกป้องหลุมศพของมาร์กซ์อีก อนุสาวรีย์ปัจจุบันถูกสั่งให้สร้างขึ้นโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งบริเตนใหญ่และเปิดโชว์ในปี ค.ศ. 1956 อนุสาวรีย์คงจะมีขนาดใหญ่กว่านี้ถ้าไม่มีกฎเข้ามาจำกัด เหล่านักมาร์กซิสต์แสดงตัวว่าต่อต้านเจตจำนงของมาร์กซ์อย่างชัดเจน
“ข้าพเจ้าไม่ใช่มาร์กซิสต์” (“Je ne suis pas marxiste”) มาร์กซ์กล่าวกับ พอล ลาฟาร์ก (Paul Lafargue) ลูกเขยของเขาด้วยท่าทีหนหวยเมื่อลูกเขยเล่าถึงการเคลื่อนไหวของเหล่า “มาร์กซิสต์ฝรั่งเศส” เองเกลส์เองได้เผยแพร่ข้อความนี้ออกไปหลายครั้ง รวมทั้งในจดหมายที่ส่งถึงหนังสือพิมพ์ ซึ่งแน่นอนว่าเพื่อให้สาธารณชนได้อ่านกัน ระยะห่างระหว่างมาร์กซ์กับมาร์กซิสต์ยังปรากฏอยู่ในข้อคิดเห็นอื่น ๆ อีกด้วย ตอนมาร์กซ์อาศัยอยู่ในฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. 1882 เขาเขียนถึงเองเกลส์ว่า “พวก ‘มาร์กซิสต์’ และ พวก ‘ต่อต้านมาร์กซิสต์’ […] ในสภาสังคมนิยมของพวกเขาที่โรอาน (Roanne) และแซงต์เอเตียน (St-Étienne) ได้กระทำความฉิบหายวายป่วงเพื่อให้ข้าพเจ้าอยู่ในฝรั่งเศสอย่างไม่เป็นสุข.” (MECW 46, p. 339)
มาร์กซ์ไม่ได้ปรารถนาที่จะสร้าง “ลัทธิมาร์กซ์” ขึ้นมาไม่ว่าจะกรณีใด ๆ และไม่ใช่แค่นั้นด้วย ในตอนที่ อดอร์ฟ แวกเนอร์ (Adolph Wagner) นักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมันคนแรกที่วิพากษ์วิจารณ์ทฤษฎีของมาร์กซ์ในงานของเขา เขียนเกี่ยวกับ “ระบบสังคมนิยม” ของมาร์กซ์ลงไปในงานของเขา มาร์กซ์ได้อ่านและตะขิดตะขวงใจเป็นอย่างมากจึงบันทึกลงสมุดโน้ตสั้น ๆ ว่า เขา “ไม่เคยสร้างระบบสังคมนิยม” (MECW 24, p. 533) ขึ้นมาแต่อย่างใด มาร์กซ์ไม่เคยคิดที่จะสถาปนา “ระบบ” หรือ “ลัทธิ” อะไรเลย ไม่มีถ้อยแถลงอันไหนของมาร์กซ์ที่บ่งบอกเลยว่า เขาพยายามสถาปนาตัวเองเป็นบิดา “ลัทธิ” มาร์กซ์ถือว่าตัวเองเป็นบุรุษของ “พรรค” (ซึ่งเขาไม่ได้หมายถึงองค์กรใดเป็นการเฉพาะ แต่หมายถึงกลุ่มพลังทั้งหมดที่กำลังต่อสู้กับระบบทุนนิยมและต่อสู้เพื่อการปลดปล่อยทางสังคม) และมาร์กซ์ถือว่าตัวเองเป็นบุรุษแห่งวิทยาศาสตร์ เขาถือว่างานเขียนเรื่อง “ทุน” (‘capital’) เป็น “ขีปนาวุธมหันตภัยร้ายแรงที่สุดที่ยังไม่เคยถูกขว้างใส่หัวกระฎุมพี (รวมไปถึงเจ้าที่ดินด้วย)” (MECW 42, p. 358) เขาถือว่างานชิ้นนี้เป็นหนึ่งใน “ความพยายามที่จะปฏิวัติวิทยาศาสตร์ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์” (MECW 41, p. 436) มาร์กซ์เป็นคนเน้นความสำคัญของ “วิทยาศาสตร์” เอง ในคำนำของ ‘ทุน’ เล่มแรกเขาเขียนไว้ว่า “ข้าพเจ้ายินดีรับฟังทุกความคิดเห็นที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์” (MECW 35, p. 11) สิ่งที่มาร์กซ์เขียนเอาไว้ไม่ได้เป็นแค่วาทศิลป์ปากเปล่า มาร์กซ์รู้ดีว่า การยืนยันทางวิทยาศาสตร์ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงและผิดพลาดได้ “De omnibus dubitandum” – “ทุกอย่างต้องถูกตั้งคำถาม” เขาเขียนข้อความดังกล่าวเป็นคำตอบต่อคำถามเรื่องคติประจำชีวิตในแบบสอบถามที่ลูกสาวเอามาให้เขา งานต้นฉบับของเขาจำนวนมากที่ไม่ได้ถูกตีพิมพ์ออกมา และงานฉบับปรับปรุงแก้ไขที่ตีพิมพ์ไปบ้างแล้วส่วนหนึ่ง เป็นสิ่งที่ยืนยันว่า เขาไม่ได้ยกงานของเขาให้อยู่ในสถานะที่ตั้งคำถามไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ในประวัติศาสตร์ของลัทธิมาร์กซ์ การทำเช่นนี้กลับเป็นไปอีกแบบหนึ่ง
ตามประวัติศาสตร์แล้ว การที่ผลงานของเองเกลส์ในช่วงหลัง ๆ ได้รับความนิยมขึ้นมา โดยเฉพาะงานเขียนเกี่ยวกับ ‘การต่อต้านดูริง’ (Anti-Dühring) เป็นจุดเปลี่ยนที่นำไปสู่การสร้าง “ลัทธิมาร์กซ์” ขึ้นมา แต่การทำให้เองเกลส์กลายเป็น “ผู้ประดิษฐ์คิดค้น” ลัทธิมาร์กซ์ก็เหมือนเป็นการมองด้านเดียว เหมือนที่สำนักพิมพ์ Propyläen ทำตอนพวกเขาแปลชื่อชีวประวัติของเองเกลส์ ซึ่งเขียนขึ้นโดยทริสแทรม ฮันต์ (Tristram Hunt) เป็นภาษาเยอรมันว่า “บุรุษผู้คิดค้นมาร์กซิสม์” (“The Man who Invented Marxism”) ซึ่งต้นฉบับภาษาอังกฤษมีชื่อที่ตรงกว่านั้น นั่นก็คือ “คอมมิวนิสต์ในเสื้อฟร็อกโค้ท” (“The Frock-Coated Communist”) และในทศวรรษที่ 1870 นี่เองที่แรงกดดันทั้งจากบีเบิล กับลีคเนค (Liebknecht) ผลักให้เองเกลส์ต้องเผชิญกับแนวคิดของอาจารย์มหาวิทยาลัยชาวเยอรมัน อาเกน ดูริง (Eugen Dühring) ซึ่งนับวันเขาผู้นี้ยิ่งมีผู้สนับสนุนแนวคิดสังคมประชาธิปไตยเยอรมันของเขามากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อดูริงอ้างว่าได้รวบรวม “ระบบ” ใหม่ขึ้นมา ซึ่งมีทั้งความละเอียดและครอบคลุมไม่ว่าจะเป็น ปรัชญา ประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ เองเกลส์จึงต้องติดตามเขาในทุก ๆ ด้านที่ว่ามา ในขณะเดียวกัน เองเกลส์ก็เน้นย้ำในอารภัมบท (preface) ว่า งานเขียนของเขา “ไม่ว่าจะด้วยวิธีหรือด้วยการตีความแบบใดก็ตาม ไม่สามารถมุ่งเสนอระบบอื่นแทน “ระบบ” ของดูริงได้ (MECW 25, p. 6) ทว่าคำใบ้นี้ก็ไม่ได้มีผลอะไรเลย เมื่อพิจารณาตามประวัติศาสตร์แล้ว การต่อต้านดูริงกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ก่อให้เกิด “ระบบ” ขึ้นมา ซึ่งระบบที่ว่านี้ได้กลายมามีชื่อเสียงภายใต้ชื่อ “มาร์กซิสม์” ตัวแทนสำคัญคนแรกคือ คาร์ล เคาท์สกี้ (Karl Kautsky) ส่วนเลนิน (Lenin) เองก็ตามรอยระบบที่ว่านี้โดยไม่วิพากษ์วิจารณ์อะไรเลยจวบจนสงครามโลกครั้งที่ 1
เองเกลส์ยังคงล้อเลียน “ความจริงสุดท้ายและสูงสุด” (MECW 25 p. 28) ที่ดูริงอ้างถึง ตอนนี้คำกล่าวอ้างดังกล่าว รวมไปถึงการมโนถึงอำนาจอันไร้ขีดจำกัดทั้งหลายแหล่ที่มีรากฐานมาจากคำกล่าวอ้างนี้ ต่างถูกบรรดานักมาร์กซิสต์สร้างขึ้นอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า : “หลักคำสอนของมาร์กซิสม์มีอำนาจควบคุมทุกอย่างเพราะมันคือความจริง” ความแข็งทื่อทางความคิดเช่นนี้ถูกใส่ลงไปในแนวคิดมาร์กซิสม์สังคมประชาธิปไตยก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และยังดำเนินต่อไปในลัทธิมาร์กซิสม์-เลนินนิสม์ ซึ่งกลายมาเป็นหลักคำสอนที่ได้รับการยอมรับในสหภาพโซเวียตหลังจากที่เลนินถึงแก่กรรม
ข้าพเจ้าอยากกล่าวให้ชัดว่า ข้าพเจ้าไม่ได้มุ่งหวังที่จะลดทอนความสำเร็จด้านการวิเคราะห์และด้านการเมืองของเคาท์สกี้ เลนิน หรือนักมาร์กซิสต์คนอื่น ๆ ถ้าเราอยากประเมินความสำเร็จเหล่านี้ เราก็ต้องประเมินเป็นกรณี ๆ ไป ข้าพเจ้ากำลังพูดถึงการลดทอนความคิดเชิงปรัชญาจำนวนมากที่ถูกยกว่าเป็น “ลัทธิมาร์กซ์” การยำรวมแนวคิดวัตถุนิยมพื้น ๆ เข้ากับแนวคิดความก้าวหน้าแบบกระฎุมพีและแนวคิดเฮเกลเลียนแบบหยาบ ๆ ออกมาเป็น “วัตถุนิยมวิภาษวิธี” กับ “วัตถุนิยมประวัติศาสตร์” ซึ่งเป็นศัพท์ที่หายังไงก็ไม่เจอในงานของมาร์กซ์
ตอนนี้ เหล่านักมาร์กซิสต์แห่งยุคสมัยใหม่ผู้รู้แจ้งและไม่ยึดติดกับคัมภีร์ จะรีบออกตัวปฏิเสธทันทีว่า พวกเขาไม่ใช่ลัทธิบูชาตัวบุคคลและไม่ได้บูชามาร์กซิสต์แบบเก่าที่ยึดติดกับคัมภีร์ด้วย มีเพียงจุดยืนอันรู้แจ้งของพวกเขาเท่านั้นที่ควรถือว่าเป็น “มาร์กซิสม์” สิ่งไม่พึงประสงค์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นบรรดาแนวคิดประวัติศาสตร์แบบกำหนดนิยม (determinist conceptions of history) ไปจนถึงการลดความสำคัญของความสัมพันธ์ทางเพศให้เป็น “ความขัดแย้งที่สำคัญรองลงมาเป็นอันดับสอง” ไปจนถึงกูลัก (Gulag) ของสตาลิน ล้วนไม่เกี่ยวข้องกับมาร์กซิสม์ที่แท้จริง แต่ถึงกระนั้น ถ้าเราถามว่า แล้วอะไรคือมาร์กซิสม์ที่แท้จริง? ก็จะไม่มีเสียงตอบรับจากเลขหมายที่ท่านเรียก ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ และถ้าเราพยายามสร้าง “มาร์กซิสม์ที่แท้จริง” เราก็จะเจอกับความยุ่งยากลำบากใจ นั่นคือ ถ้าเราสอดแทรกเนื้อหาเข้าไปเยอะเกิน มันก็จะแข็งทื่อเกินไปและสุดท้ายก็จะขัดกับหลักการที่จะตามมา “Lysenkoism” เป็นตัวอย่างที่รู้จักกันดีของกรณีดังกล่าว แต่ถ้าเราปล่อยให้มันคลุมเครือหรืออยู่ในสถานะกว้าง ๆ เอาไว้ก่อน มันก็จะมีปัญหาตรงที่มาร์กซิสม์จะอยู่ในสถานะซ้ำซากจำเจ/เดิม ๆ/แข็งทื่อ เช่น การบอกว่า วัตถุเท่านั้นที่เป็นของจริง (everything real is material) ประวัติศาสตร์ขับเคลื่อนด้วยความขัดแย้ง ฯลฯ
นักมาร์กซิสต์บางคนมองว่า จอร์จ ลูคัส (Georg Lukács) เป็นคนที่หาทางลงให้กับปัญหาเหล่านี้ได้ ตามคำกล่าวของลูคัส แม้ว่าผลลัพธ์บางประการของทฤษฎีของมาร์กซ์จะถูกพิสูจน์ว่าผิด แต่ “วิธีการ” ของมาร์กซ์ก็ยังคงอยู่ นั่นก็คือ การยึดมั่นในวิธีการค้นคว้าแบบ “วิภาษวิธีวัตถุนิยม” (materialist dialectic) ควรเป็นแกนหลักของ “ลัทธิมาร์กซ์แบบออร์โธดอกซ์” (orthodox marxism) แม้แต่ในหมู่นักมาร์กซิสต์เองก็ยังเห็นไม่ตรงกันว่าแนวทางแบบวิภาษวิธีที่คนพูดถึงกันเยอะ ๆ คืออะไรกันแน่ และจริง ๆ มันไม่ได้ให้เราต้องยึดติดกับวิธีการถ้ามันนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่ถูกต้อง ข้าพเจ้าไม่ได้พยายามจะเสนอว่า มีแนวคิดวัตถุนิยมและวิภาษวิธีที่สมเหตุสมผลอยู่ ข้าพเจ้าแค่คลางใจว่า คนอาจจะยำรวมฐานคิดต่าง ๆ ของภววิทยาอันใดอันหนึ่งหรือวิธีการที่กว้างจนครอบคลุมทุกอย่างซึ่งมีที่มาจากแนวคิดเหล่านี้
ถ้าเราไม่สามารถกำหนดได้ว่าจริง ๆ แล้วอะไรคือลัทธิมาร์กซ์ เรายังคงใช้คำ ๆ นี้ในเชิงพรรณนา/บรรยาย อย่างเดียวก็ได้ (descriptive way) ดังนั้น นิยามของคำว่า “ลัทธิมาร์กซ์” ก็คือ “ลัทธิมาร์กซ์หมายรวมถึงปฏิบัติการในช่วง 150 ปีที่ผ่านที่อ้างอิงงานเขียนของคาร์ล มาร์กซ์ รวมไปถึงนักเขียนและนักเคลื่อนไหวที่อ้างอิงถึงมาร์กซ์ในเวลาต่อมา ทั้งในแง่ของภาพรวมและความต่อเนื่อง” เมื่อคุยไปคุยมาก็จะมีการพูดถึง “การปู้ยี่ปู้ยำลัทธิมาร์กซ์ด้วยน้ำมือของลัทธิสตาลิน (Stalinism) และลัทธิฟาสซิสต์” เท่าที่เห็นคือ ลัทธิสตาลินไม่ได้ถูกนับให้เป็นส่วนหนึ่งของลัทธิมาร์กซ์แม้จะมีการอ้างอิงถึง “งานเขียนของคาร์ล มาร์กซ์” อยู่ก็ตาม และนักมาร์กซิสต์ร่วมสมัยส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ติดใจเรื่องที่ลัทธิสตาลินเป็นส่วนหนึ่งของลัทธิมาร์กซ์ ซึ่งในหมู่คนเหล่านี้เองก็เป็นนักมาร์กซิสต์ที่เฉียบแหลม อย่างเช่น แอร์นส์ บล็อค (Ernst Bloch) ถ้าเราลบลัทธิสตาลินออกไปจากประวัติศาสตร์ลัทธิมาร์กซ์ เราจะก็ไม่ต่างอะไรจากสตาลิน ตรงที่เขาเองก็พยายามขีดฆ่าคนที่เขาเห็นว่าไม่ใช่ ‘มาร์กซิสต์’ ออกไปจากบันทึกประวัติศาสตร์และภาพถ่ายเก่า ๆ เช่นกัน
สำหรับนักมาร์กซิสต์ มันไม่ง่ายเลยที่จะบอกว่าจริง ๆ แล้ว “ลัทธิมาร์กซ์” คืออะไรกันแน่ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นความผิดของมาร์กซ์ด้วย เราต้องยอมรับก่อนว่า ตัวมาร์กซ์เองไม่ได้ทำให้มันง่ายสำหรับพวกเขาเท่าไรนัก งานของมาร์กซ์ไม่ได้มีแค่งานเขียนที่เขาตีพิมพ์ออกมาเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงต้นฉบับอีกจำนวนมากที่ไม่ถูกตีพิมพ์ออกมาในช่วงชีวิตของเขา งานเขียนเกี่ยวกับพื้นฐานทฤษฎีทั้งหมดที่มาร์กซ์พยายามสร้างสรรค์ออกมาก็ยังไม่เสร็จเรียบร้อยดี ต้นฉบับที่ไม่ได้ตีพิมพ์ออกมา เช่น “ต้นฉบับเศรษฐกิจและปรัชญา” (“Economic and Philosophical Manuscripts”) ของปี ค.ศ. 1844 หรือ the omnibus ของปี ค.ศ. 1845/46 ซึ่งกลายมาเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “อุดมการเยอรมัน” (“The German Ideology”) ก็ยังไม่เสร็จและยังกระจัดกระจายอยู่ งานเขียนที่ตีพิมพ์ออกมาหลายชิ้นก็มีทั้งบทสรุปของช่วงเวลาสั้น ๆ เช่น “แถลงการณ์คอมมิวนิสต์” ในปี ค.ศ. 1848 และมีทั้งที่เป็นส่วนหนึ่งของงานที่ยังเขียนไม่เสร็จ เช่น “ส่วนหนึ่งของการวิพากษ์เศรษฐกิจการเมือง” (“Contribution to the Critique of Political Economy”) (1859) เล่มแรก หรือ “ทุน” (“Capital.”) (1867/1872) เล่มแรก ในบทวิเคราะห์ทางการเมือง เช่น บรูแมร์ที่ 18 (“the 18th Brumaire”) (1852) หรือ “สงครามกลางเมืองในฝรั่งเศส” (“The Civil War in France”) (1871) มีการลงรายละเอียดเนื้อหาของแต่ละหัวข้ออย่างครอบคลุม แต่ทฤษฎีรัฐและการเมืองที่มาร์กซ์อยากเขียน กลับถูกเขียนออกมาแบบอ้อม ๆ ไม่ชัดเจนและไม่สมบูรณ์ มาร์กซ์จากไปทั้ง ๆ ที่ยังเขียนงานไม่เสร็จ ซึ่งไม่ใช่แค่ชิ้นเดียวแต่หลายชิ้นเลย จึงไม่แปลกที่การอภิปรายถึงงานเขียนเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นความลึกตื้นหนาบาง ความแตกต่าง รวมไปถึงความเกี่ยวข้องระหว่างงานแต่ละชิ้น ล้วนเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่ทำให้เกิดการถกเถียงมากมายมาจนถึงทุกวันนี้
นอกจากนี้ หลังจากที่มาร์กซ์เสียชีวิตลง มีการตีพิมพ์งานของเขาออกมาทีละนิดทีละหน่อยเท่านั้น (และยังคงถูกตีพิมพ์ออกมาอยู่จนทุกวันนี้) นักอ่านทุกรุ่นต้องเผชิญกับผลงานของมาร์กซ์ที่แตกต่างกันออกไป และในศตวรรษที่ 20 หลาย ๆ คนก็ได้ประกาศออกมาว่าจะได้รู้จักมาร์กซ์ตัวจริงแล้ว อย่างไรก็ตาม ผลงานที่ถูกตีพิมพ์ออกมาหลังจากที่เขาเสียชีวิตลงมักจะถูกแก้ไข/ปรับปรุง อย่างละเอียดโดยบรรณาธิการที่มีส่วนเกี่ยวข้องก่อนจะตีพิมพ์ โดยเฉพาะ ทุน เล่ม 2 และ 3 ที่เองเกลส์เป็นคนตีพิมพ์ รวมไปถึง “ต้นฉบับเศรษฐกิจและปรัชญา” และ “อุดมการเยอรมัน” ซึ่งตีพิมพ์ในทศวรรษที่ 1920 และ 1930 ส่วนงานเขียนของมาร์กซ์และเองเกลส์ได้รับการตีพิมพ์อย่างสมบูรณ์โดยปราศจากการแก้ไขใด ๆ เป็นครั้งแรกในเล่มที่สองของชุดงานเขียนที่มีชื่อว่า “Marx Engels Gesamtausgabe” (MEGA) ซึ่งตีพิมพ์ออกมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1975 และตอนนี้ก็มีอยู่เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ในสายธารแนวคิดมาร์กซิสม์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตำราของมาร์กซ์และเองเกลส์ก็ไม่ได้มีบทบาทอะไรขนาดนั้นอยู่ดี ตอนแรก ผู้คนชื่นชอบแนวคิดโดน ๆ ไม่กี่อย่าง เช่น “ประวัติศาสตร์ทั้งปวงคือประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ทางชนชั้น” (history always being a “history of class struggle”) หรือ “คอมมิวนิสม์คือการเคลื่อนไหวที่มุ่งทำลายสรรพสิ่งในปัจจุบันกาลลงอย่างจริงจัง” (communism as “the real movement that abolishes the present state of things”) ไม่ค่อยมีคนสนใจบริบทในตอนที่มาร์กซ์เขียนถ้อยแถลงเหล่านี้ขึ้นมา และถ้อยแถลงเหล่านี้อาจถูกนำมาดัดแปลงเพื่อพัฒนาทฤษฎีของเขาอย่างไรบ้างก็เป็นเรื่องที่ถูกมองข้าม ในสายตาของมาร์กซิสม์ มาร์กซ์ไม่ใช่คนที่น่าสนใจในฐานะ ‘นักคิดผู้หมั่นเรียนรู้และพัฒนาแนวคิดของตัวเองอย่างเสมอต้นเสมอปลาย’ แต่เขาเป็นบุคคลที่น่าสนใจในฐานะ ‘ผู้สถาปนาความจริงสูงสุด’ นั่นก็คือ “ลัทธิมาร์กซ์”
ในทำนองเดียวกัน นักมาร์กซิสต์สมัยใหม่ผู้รู้แจ้งหลายคนยังเว้นระยะห่างที่แน่นอนในการที่จะเข้าไปข้องเกี่ยวกับงานของมาร์กซ์ พวกเขาย้ำอยู่บ่อย ๆ ว่า ไม่ได้ต้องการที่จะ “ศึกษาภาษา (ของมาร์กซ์?-ผู้แปล) ในแง่ของบริบททางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม” (philology–ภาษาศาสตร์**) แต่ต้องการศึกษามาร์กซ์ในแง่มุมทางการเมือง/อย่างเป็นการเมือง อย่างไรก็ดี บ่อยครั้งการเว้นระยะห่างจากภาษาศาสตร์ หลัก ๆ ก็เพื่อบรรลุเป้าหมายที่จะคงไว้ซึ่งทฤษฎีของมาร์กซ์และลัทธิมาร์กซ์ในแบบฉบับของพวกเขาเอง ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีใครอ้างถึงแนวคิด praxis (ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นแก่นหลักของทฤษฎีของมาร์กซ์) ในงานเขียน Theses on Feuerbach โดยเชื่อมโยงและอ้างอิงต่อไปยังบริบทของการถกเถียงระหว่างฟอยเออร์บัค (Feuerbach) กับยุวเฮเกเลียน ซึ่งการอ้างอิงกลับไปยังต้นทาง (ที่ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่-ผู้แปล) เช่นนี้ทำให้ Theses on Feuerbach สูญเสียความสำคัญ/ความมั่นคงลงในฐานะเอกสารต้นทาง/พื้นฐาน หรือถ้าใครขยายความว่า จริง ๆ แล้วมาร์กซ์เริ่มวิเคราะห์ทุนนิยมหลังจากที่เขียนงาน “แถลงการณ์คอมมิวนิสต์” ออกมา หรือถ้าใครถึงขั้นปฏิเสธข้อความในแถลงการณ์ดังกล่าว ก็จะไม่มีใครอยากคุยต่อ เช่นเดียวกัน ถ้ามีคนบอกว่า ไม่ใช่ทุกข้อความใน “ทุน” ที่จะอยู่ในสถานะแน่นอนตายตัวจนเอามาถกเถียงแลกเปลี่ยนกันไม่ได้ หรือถ้ามีคนบอกแนว ๆ ว่า มีข้อบ่งชี้ว่า ในปี ค.ศ. 1870 มาร์กซ์อาจวิเคราะห์ลงลึกมากขึ้นในเรื่องของ “กฎแนวโน้มของอัตรากำไรที่จะลดลง” (law of the tendency of the rate of profit to fall) ซึ่งเขาร่างขึ้นในต้นฉบับของทุนเล่มที่สามในปี ค.ศ. 1864/65 คนที่บอกแนว ๆ นี้จะโดนตอกกลับมาว่า “ให้ความสำคัญกับมิติทางภาษามากไป”
ขอย้ำชัด ๆ อีกครั้ง การบอกว่า “การวิพากษ์ทุนนิยมจะไม่หายไปพร้อม ๆ กับการศึกษามิติด้านภาษา” เป็นอะไรที่ได้ยินจนเบื่อ ในทางกลับกันเอง การบอกว่า “ถ้าใครอยากศึกษาแนวคิดของมาร์กซ์ ต้องใช้ทฤษฎีเหล่านั้นด้วยสายตาวิพากษ์และไม่ศึกษาตำราแค่เพียงเผิน ๆ ” ก็ซ้ำซากจำเจไม่แพ้กัน แต่ก็ใช่ การใช้ทฤษฎีของเขาโดยไม่วิพากษ์วิจารณ์อะไรเลยนี่แหละที่เกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ
ประเด็นสุดท้าย ในหมู่นักสังคมศาสตร์สายวิพากษ์ โดยเฉพาะในสมาคมวิจัยสังคมเชิงวิพากษ์ (Assoziation für kritische Gesellschaftsforschung/AkG) [สมาคมวิจัยสังคมเชิงวิพากษ์ – บันทึกของผู้แปล (ต้นฉบับ)] มีบุคคลนามว่า มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) ซึ่งเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในระดับหนึ่ง มีการอ้างอิงถึงการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจกับความรู้ของเขาอย่างล้นหลาม อย่างไรก็ตาม ภายในหมู่มาร์กซิสต์เอง แม้แต่คนที่มีความเป็นสมัยใหม่ไม่ยึดติดคัมภีร์ ก็ยังตะขิดตะขวงใจที่จะมองว่าลัทธิมาร์กซ์เป็นแค่ปมปัญหาความรู้-อำนาจ (power-knowledge complex) และในงานประชุมที่จัดขึ้นโดย AkG ไม่มีการถกเถียงหารือเกี่ยวกับลัทธิมาร์กซ์ในฐานะเครื่องมือที่ใช้ในการครอบงำเลย
มีการอภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับลัทธิมาร์กซ์ใน GDR อยู่บ้าง แต่ไม่ได้มีเพียงแค่ลัทธิสตาลินกับประวัติศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์อำนาจนิยมเท่านั้นที่เข้าข่ายหัวเรื่องนี้ ซึ่งประวัติศาสตร์ของลัทธิมาร์กซ์เป็นประวัติศาสตร์ของการกีดกันและการครอบงำเสมอมา นอกจากนั้นเอง ในกลุ่มฝ่ายซ้ายและงานสัมมนาของมหาวิทยาลัยในฝั่งตะวันตก สิ่งที่หลาย ๆ คนยึดถือว่าเป็น “ลัทธิมาร์กซ์ที่แท้จริง” ยังทำให้เกิดการแบ่งแยกมากมายระหว่างสิ่งที่ถือว่า “ยังเป็นมาร์กซิสต์อยู่” กับสิ่งที่ “ไม่เป็นมาร์กซิสต์อีกต่อไป” และทำให้เกิดการแบ่งแยกว่าจะนับรวมหรือกีดกันสิ่งใดออกไปจากวาทกรรม (discourses) และปฏิบัติการทางสังคม (social practices)
ถึงแม้บางคนอยากจะคิดแบบนั้น อำนาจระดับย่อยมันก็ไม่ได้หยุดอยู่ที่จุดกำเนิดของลัทธิมาร์กซ์ (ตะวันตก) บางคนหวนนึกถึง “ฤดูร้อนแสนสั้นของมาร์กซิสม์เชิงวิชาการ” (Elmar Altvater) ที่ปรากฏอยู่ในมหาวิทยาลัยเยอรมันตะวันตกช่วงทศวรรษที่ 1970 ผลผลิตในช่วงดังกล่าวส่วนมากเป็นสิ่งที่มโนกันขึ้นมาเอง ซึ่งก็มีรากฐานมาจากผลพวงทางวาทกรรมของอำนาจ การที่ใครสักคนหนึ่งจะสาธิตว่าเขาล้ำก็คือ ไม่ว่าเขาจะพูดในหัวเรื่องอะไรอยู่ อย่างน้อยต้องพูดถึง “ความขัดแย้งระหว่างมูลค่าการใช้กับมูลค่าการแลกเปลี่ยน” แบบผ่าน ๆ อย่างไรก็ดี บทวิเคราะห์ทฤษฎีของมาร์กซ์และผลงานอื่น ๆ ที่ต่อยอดมาจากทฤษฎีของมาร์กซ์ในยุคนั้น มีหลายชิ้นที่ควรค่าแก่การอ่าน แต่ก็มีหลายชิ้นที่ไม่เม้คเซ้นส์เช่นกัน
จะอย่างไรก็ตามที มาร์กซ์ไม่เคยแสวงหาความจริงสูงสุด (final certainties) เขาอยากจะทำลายความจริงทั้งปวง (certainties) ลงมากกว่า และเขาแสวงหาวิธีการที่ว่านี้ผ่านการวิพากษ์อย่างขุดรากถอนโคน ทั้งนี้ก็เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับการคิดและการกระทำใหม่ ๆ ซึ่งผลลัพธ์ที่ถูกต้องจะเป็นอย่างไรนั้นก็ไม่ได้ชัดเจนสมบูรณ์
ตรงกันข้ามกับ “ลัทธิมาร์กซ์” ที่มุ่งหาความแน่นอนตายตัว มุ่งหาความจริงสูงสุด ซึ่งเป็นสิ่งที่มาร์กซ์ปฏิเสธมาโดยตลอด มาร์กซ์ผู้เฉียบแหลมและยังไม่เสร็จภารกิจผู้นี้นี่เองที่มุ่งวิพากษ์วิจารณ์สรรพสิ่งที่ดำรงอยู่และจุดประกายให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แนวคิดหรือการวิเคราะห์ของเขามีอะไรบ้างที่เป็นประโยชน์ มีอะไรบ้างที่จะใช้เปลี่ยนแปลงโลกได้ มีอะไรบ้างที่ใช้ไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ล้วนไม่ตายตัวหรือเป็นจริงในทุกเวลา เราจะต้องถกเถียงหารือและประเมินสถานการณ์ใหม่อยู่เสมอ : “De omnibus dubitandum” – “ทุกอย่างต้องถูกตั้งคำถาม”
- โครงการทางการเมืองที่ริเริ่มโดยนักชีววิทยาโซเวียตนามว่า โทรฟิม ลีเซนโก (Trofim Lysenko) เป็นโครงการที่ปฏิเสธพันธุศาสตร์ (genetics) และเกษตรกรรมแบบวิทยาศาสตร์ในกลางศตวรรษที่ 20 เป็นแนวคิดที่ปฏิเสธการคัดสรรโดยธรรมชาติ (natural selection) และมุ่งไปในแนวทฤษฎีของลามาร์ค (Lamarckism) ที่เชื่อว่า สิ่งมีชิวิตสามารถ ส่งต่อ/ถ่ายทอด ลักษณะทางกายภาพไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานได้ —- และมุ่งขยายเทคนิคการกระตุ้นให้พืชออกดอกโดยใช้ความเย็น (vernalization) รวมไปถึงการทาบกิ่ง/ต่อกิ่งพืช (grafting)
- GDR ย่อมาจาก “German Democratic Republic” หรือ “เยอรมนีตะวันออก” ซึ่งมีชื่ออย่างทางการว่า “สาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี”
**หมายเหตุผู้แปล : ผู้แปล แปลคำว่า “marxism” เป็น “ลัทธิมาร์กซ์” และในบางจุดของบทความก็แปลเป็นคำทับศัพท์ไปเลยว่า “มาร์กซิสม์” ในส่วนของคำว่า “marxist” ผู้แปล แปลเป็นภาษาไทยว่า “มาร์กซิสต์” กับ “นักมาร์กซิสต์” //ดังนั้นในบทความจะมีทั้งคำว่า “ลัทธิมาร์กซ์” กับ “มาร์กซิสม์” ซึ่งแปลมาจากคำเดียวกัน นั่นก็คือคำว่า “marxism” และ “มาร์กซิสต์” กับ “นักมาร์กซิสต์” สลับกันไปมา โดยแปลมาจากคำเดียวกันนั่นก็คือ “marxist” **