ต้นฉบับ Chuang
เผยแพร่ก่อนหน้านี้ใน Black Book Assembly No.3
มันเป็นแบบนี้มานานแล้วที่เวลาจะพูดอะไรกันเรื่อง “เศรษฐกิจ” ทั้งคนพูดและคนฟังและคนที่ฟังคนพูดและคนฟังต่ออีกที ต้องทำความคุ้นเคยเข้าใจกับประเทศจีนในระดับหนึ่ง ยิ่งสองสามปีที่ผ่านมายิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้เข้าไปใหญ่ คงจะไม่เป็นการพูดอะไรเกินจริงไปมากนักถ้าจะบอกว่าในปัจจุบันวันนี้แทบไม่มีบทสนทนาทางการเมืองใดดำเนินไปได้โดยปราศจากความรู้สึกที่ว่า “กูจำเป็นต้องออกความเห็น” ต่อสิ่งที่กลุ่มเราเรียกว่า “ปัญหาที่เรียกว่าประเทศจีน” – ซึ่งไอ้ “ปัญหา” นี้ จริงๆ มันคือชุดคำถามเกี่ยวกับลักษณะจำเพาะของรัฐจีนปัจจุบัน, เกี่ยวกับการดิ้นรนทางสังคมที่มีอยู่จริงในประเทศดังกล่าว, เกี่ยวกับอนาคตของเศรษฐกิจจีน, เกี่ยวกับอำนาจนำของมะกันแลนด์ที่เค้าว่ากันว่ามันอยู่ในช่วงขาลง, เกี่ยวกับบทบาทการลงทุนของจีนในประเทศยากจน, เกี่ยวกับผลกระทบของสิ่งทั้งหมดที่กล่าวมาต่อธรรมชาติแวดล้อม, และอื่นๆ ปรากฏการณ์นี้ปรากฏให้เห็นชัดที่สุดในโลกของสื่อต่างๆ ที่มีแนวคิดแบบนิยายคลิ๊กเบตประเภท อนาคตจะร้ายภายใต้เงื้อมมือจีน (dark sinofuturism) แนวหนึ่งเข้าไปสิงเป็นผีจับหัวเรียบร้อยโรงเรียนจีน ในโลกที่ว่านี้ชุดคำอุปมาเชิงเหยียดตะวันออกต่างๆ ในวาทะกรรม “ภัยร้ายผิวเหลือง” ถูกเอามาจัดรูปแบบใหม่ให้กลายเป็นนิยายอภินิหาร เป็นเรื่องราวของรัฐผู้มีพลาณุภาพเบ็ดเสร็จดุจองค์พระเป็นจ้าว เป็นรัฐผู้ประสงค์จะกุมโลกทั้งใบให้เป็นอาณานิคมโดยใช้พลังรัฐอุตสาหกิจกับกำลังจากประชากรมหาศาลที่ถูกล้างสมองจนกลวงโบ๋นิยมชาติกันหมดทุกคน นิยายแนวนี้น่าจะเคยผ่านหูผ่านตาทั่นผู้อ่านมาบ้างแล้ว
แก่นแท้ของนิยายอภินิหารพวกนี้จริงๆ คือความหวาดวิตกที่หากรรมของมันไม่เจอในชีวิตประจำวันของประเทศอย่างสหรัฐมะกันแลนด์ที่ชนชั้นปกครองรวมกลุ่มกันอยู่บนจุดสูงสุดของห่วงโซ่อำนาจจักรวรรดิทุนนิยม โดยประเทศเหล่านี้มีการปกครองด้วยอำนาจตำรวจที่ครอบงำเป็นวงกว้าง มีความเชื่อชาตินิยมสายพันธุ์ร้ายแรงและแพร่เร็วเป็นโรคห่าคอยหนุนหลังให้เป็นจริงยิ่งกว่าประเทศในนิยาย รัฐอำนาจตำรวจที่มีอยู่จริง*1นี้มันมีลักษณะอำนาจ “เบ็ดเสร็จ”ครบทุกข้อที่สื่อชอบประโคมขี้ให้จีนรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว เช่น ระบบ “โซเชี่ยวเครดิต” ที่บังคับใช้อย่างทั่วถึงและเป็นระบบที่โน้มเอียงไว้ใช้ลงโทษเฉพาะคนจน (โดยการเอาประวัติอาชญากรรมมาผูกกับการพิจารณาคะแนนเครดิต*2), กลไกอำนาจราชทัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก, และความสามารถที่ถ้าจะพูดให้ถูกควรเรียกว่าความกระตือรือร้น*3ในการกระทำวิสามัญฆาตกรรมประชาชนได้ ซึ่งเกิดขึ้นแทบจะทุกวันโดยเฉพาะกับคนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่นกัน ตามหัวเมืองที่ถูกลดระดับหรือถอนอุตสาหกรรมออก การลุกฮือประท้วงของมวลชนถูกปราบปรามอย่างหนักด้วยกำลังตำรวจที่ติดอาวุธและวางกำลังระดับเดียวกับกำลังทหาร การกดขี่ภายในนี้เกิดขึ้นในขณะเดียวกับที่กองทัพจริงๆ ของสหรัฐมะกันผู้กุมกำลังจักรวรรดิที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ส่งกองเรือรบไปลาดตระเวนทั่วทุกมหาสมุทร, ใช้ฐานทัพที่กระจายอยู่นับไม่ถ้วนคุมทุกทวีปบนโลก, บนโลกยังไม่พอ จากนอกโลกแม่งยังใช้ดาวเทียมนำขีปนาวุธสอดส่องชาวบ้านชาวช่อง, แถมยังชอบประสานงานกับหน่วยงานกลาโหมและหน่วยงานราชการลับในสังกัดเดียวกัน ให้ก่อการรัฐประหารรัฐบาลที่เป็นปฏิปักษ์กับมันอยู่เป็นประจำ (ถ้ามันตัดสินใจไม่ส่งทหารไปบุกยึดเองอะนะ)
แต่ข่าวฉาวชวนเชื่อไม่ใช่แหล่งข้อมูลลวงเกี่ยวกับจีนแหล่งเดียว เพราะในที่สุดแล้วมันเป็นเรื่องธรรมดาของคนที่ไร้ประโยชน์ทางการเมืองที่จะหยิบเอาตัวอย่างจากสังคมแดนไกลโพ้นมาป้ายสีดำให้กลายเป็นดิสโทเปียใต้อำนาจเบ็ดเสร็จ (เพื่อเปรียบเทียบให้ชีวิตของตัวเองดูดี) หรือเชิดชูบูชาให้มันเป็นยูโทเปียดุจสวงสวรรค์ (เพื่อให้มีความหวังว่ายังมี “ฝ่ายดี” อยู่ในโลกอันเลวร้ายนี้) สำหรับประเทศจีนกระบวนการนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ชาวยุโรปและลูกหลานเหลนในอาณานิคมของพวกมันมองกลุ่มการเมืองต่างๆ ในแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเป็นแบบนี้มาตั้งแต่ยุคมาร์โค โปโลแล้ว1 บางคนสะท้อนความกลัวของตัวเองไปลงกับจีนบางคนก็เป็นความหวัง คนที่กลัวจีนและมองมันเป็นจักรวรรดิทมิฬมีอำนาจเบ็ดเสร็จโดยทั่วไปจะมีทัศนคติคลั่งชาติตัวเองต่อชาติอื่นในโลกและชอบใช้คำอุปมาเชิงเหยียดตะวันออกชัดเจน แต่อีกพวกที่ฝากความหวังทั้งหมดไว้กับประเทศจีนก็ไม่ได้ดีกว่าเท่าไหร่นัก ถึงแม้ว่าผิวเผินจะดูเป็นอนุรักษ์นิยมน้อยกว่าแต่คนเหล่านี้สร้างภาพจีนที่เรซซิสท์บิดเบี้ยวขึ้นมาเพื่อบูชาอยู่ห่างๆ ใช้องค์ประกอบผิวเผินของวัฒนธรรมจีนและภาพปลาดๆของจีนที่ปากบอกว่าตัวเองเป็น “สังคมนิยม” เป็นเครื่องรางของขลังปลอมๆ ในการต่อสู้ทางการเมืองจริงๆ ในสมรภูมิท้องถิ่นของตน2 มันจึงตลกร้ายดีที่วิมานบนอากาศนี้ถูกเสียงที่คนเหล่านี้ต้องการโปรโมตนำไปใช้จริง นั่นก็คือเสียงของผู้บริหารจัดการและนักทฤษฎีการเมืองชาวจีนผู้มีส่วนร่วมในหนึ่งในโปรเจคการสร้างชาติที่สำคัญที่สุดในโลก ผลที่เกิดขึ้นในภาพรวมจากทั้งสองวาทะกรรมคือมันสร้างภาพลวงตามาบดบังขอบฟ้าของโลกไม่ให้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ที่กำลังมาถึงจากไกลๆ
ในทางตรงกันข้าม การทลายภาพมายาเหล่านี้เป็นเป้าหมายของ Chuang*5 ตั้งแต่ริเริ่มก่อตั้ง เราพยายามประเมินประเทศจีนตามที่มันเป็นอยู่จริงๆ และพยายามถ่ายทอดสุ้มเสียงของผู้คนจำนวนมากที่กำลังร่วมสมรภูมิการดิ้นรนทางสังคมในประเทศนี้ เราทำไปก็เพื่อรับมือกับอนาคตที่อาจจะกำลังมาถึงและเพื่อมีส่วนร่วมในการจุดไฟคอมมูนิสซึ่มให้ลามทุ่งไปทั่วโลกอีกครั้ง แน่นอนว่าการมีส่วนร่วมนี้มันหมายถึงการต้องทำงานกับแนวคิดทฤษฎีและประวัติศาสตร์อันซับซ้อน แต่แก่นสารของโปรเจ็คมิใช่การผลิตทฤษฎีคอมมูนิสท์ออกมา เราคิดเพียงว่ามันเป็นขั้นตอนสำคัญในการสร้างความสมัครสมานระหว่างมิตรสหายนานาชาติ เพราะในที่สุดแล้วคอมมูนิสซึ่มเป็นการเมืองปฏิบัติ มันไม่สามารถถูกลดทอนลงเหลือเป็นเพียงความศรัทธาหัวเดียวกระเทียมลีบหรือเพียงอรรถกถาม๊ากซิสโดยไม่เป็นการบีบรัดจนสูญเสียอำนาจที่หล่อเลี้ยงมันไว้ได้ พูดง่ายๆ ก็คือการจะให้ความคิดทฤษฎีคอมมูนิสท์ยังคงความเป็นคอมมูนิสท์อยู่ มันต้องไม่ถูกขังอยู่ในกรงทองของวิชาการ เราต้องฉีกมันออกมาจากหน้ากระดาษแล้วสุมมันลงบนกองไฟให้แผดเผาเป็นหนึ่งเดียวกับเนื้อหนังของโลกใบนี้ เป้าหมายของเราไม่ใช่การสร้างอารามหลวงให้ทฤษฎีเข้าไปสิงสถิตแต่เป็นการสร้างอำนาจที่แท้จริง
ตั้งแต่ไหนแต่ไรคอมมูนิสซึ่มเป็นโปรเจ็คระดับนานาชาติที่ออกแบบมาให้ขยายครอบคลุมเกินกรอบเส้นเขตแดนที่แบ่งแยกเราทุกคน มันเป็นการเมืองของประชาชน มิใช่เขตปกครองของนักทฤษฎีอีหลีท ทฤษฎีใดจะมีน้ำหนักมีผลกระทบได้ มันจะต้องถูกแปลถ่ายทอดมาให้เป็นภาษาคนพูดและประดับด้วยโฆษณาที่ดึงดูดคนให้เข้าถึงง่าย ต่อให้พูดเนื้อหาถูกต้องยังไงถ้าไม่มีคนฟังมันก็ไม่สำคัญ นักทฤษฎีทุกคนต้องมีความรับผิดชอบในฐานะครู ในฐานะผู้แปลและผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ ในกรณีของกลุ่มเรานี้ การที่ประเทศจีนเริ่มมีบทบาทเป็นจุดสนใจในบทสนทนาการเมืองแม้แต่ในระดับชาวบ้านร้านตลาดคุยกันมันหมายความว่าเวลาได้มาถึงแล้วที่เราจะต้องช่วยผลิตบทสรุปมุมมองของคอมมูนิสท์ที่มีต่อประเทศจีนให้คนฟังเข้าใจง่าย หยิบไปใช้หรือนำไปถ่ายทอดต่อได้สะด๊วกสะดวก
ด้วยประการชะนี เราจึงขอเปิดตัวซีรี่ยส์บล็อกตอบคำถามที่คนชอบถามบ่อยๆ เกี่ยวกับประเทศจีน คนที่มีความรู้เรื่องประเทศจีนในระดับหนึ่งน่าจะเคยถูกถามคำถามประเภทนี้อยู่บ่อยๆ ในอดีตคำถามเหล่านี้มักจะถูกจำกัดอยู่ในพื้นที่ทางวิชาการหรือในฉากการเมือง และถึงแม้ว่าคำถามที่เรานำมาพรีเส้นท์ในบล็อกจำนวนหนึ่งยังพบได้ง่ายในพื้นที่พิเศษดังกล่าว แต่เราก็เริ่มได้ยินคำถามเหล่านี้มากขึ้นในสื่อมวลชนหรือในการปฏิสัมพันธ์ในชีวิตประจำวัน คำตอบที่เราจะให้ก็จะไม่ใช่คำตอบสำหรับ “ฝ่ายซ้าย” แต่จะเป็นคำตอบที่ตั้งใจตอบให้เอาไปใช้ได้ทั่วไปมีให้ทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษ โดยคำตอบส่วนมากเราจะเขียนด้วยกันเป็นกลุ่ม แต่บางคำถามมันก็จะไปเกี่ยวข้องกับประสบการณ์จริงของสมาชิกกลุ่มเราที่เป็นคนจีน ในกรณีเหล่านี้เราก็จะแยกคำตอบออกมาให้เป็นเสียงของแต่ละคนโดยให้มิตรสหายชาวจีนคนอื่นมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น นอกจากซีรี่ยส์คำถามเกี่ยวกับประเทศจีน เราจะมีเอ็นทรี่พิเศษ “คำถามเกี่ยวกับ Chuang” เพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับกลุ่มคอเล็กถีบของเราออกมาด้วย
พอเปิดตัวซีรี่ยส์เราจะออกคอนเท้นท์ประมาณสองสัปดาห์ต่อครั้งเป็นเวลาสองสามเดือน หลังจากนั้นเราจะปล่อยให้ซีรี่ยส์นี้มีชีวิตของมันเองเป็นปลายเปิดไม่มีกำหนดจบ มีคำถามเข้ามาเราก็จะมีคอนเท้นท์ออกเรื่อยๆ คำตอบทั้งหมดเราจะรวบรวมไว้บนหน้า FAQ ของเว็บไซท์กลุ่มเรา เมื่อเวลาผ่านไปเราหวังว่าเราจะสามารถทำให้ประเด็นคำถามและคำตอบเหล่านี้เข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้นไปอีกเพื่อการนำไปปรับใช้เป็นเนื้อหาสำหรับสื่อรูปแบบอื่นๆ โดยเราสนับสนุนให้ทุกคนนำเนื้อหาเหล่านี้ไปใช้ได้อย่างอิสระตามจิตจำนงของโปรเจ็คนี้ หากใครทำคอนเท้นท์ออกมาโดยได้ใช้ประโยชน์จากซีรี่ยส์ FAQ ของเรา จะเป็นการดีถ้าแจ้งให้เราทราบทางอีเมว (chuangcn@riseup.net) เราจะได้แปะลิ้งค์คอนเท้นท์ของทั่นไว้ ณ ที่นี้และช่วยโปรโมตบนโซเชี่ยวมีเดี่ยให้อีกแรง
1 อันที่จริงสิ่งที่เรียกว่า “จีน” ในแนวคิดสมัยใหม่มันเกิดขึ้นในตะวันตกก่อนที่มันจะเกิดขึ้นในภูมิภาคนั้นซะอีก ทั่นผู้อ่านที่สนใจเชิญอ่านบทความนี้ https://www.boundary2.org/2015/07/born-in-translation-china-in-the-making-of-zhongguo/
2 ปรากฏการณ์นี้มิได้เพิ่งเคยเกิดขึ้นเหมือนกัน ว่ากันตามจริงมันแพร่หลายที่สุดในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 และเห็นได้ชัดที่สุดในการพัฒนาแนวคิดที่กลายมาเป็น “เหมาอิสซึ่ม” ปรากฏการณ์นี้มีประวัติศาสตร์มากมายทั่วโลก ถ้าอยากเห็นภาพคร่าวๆ ลองอ่านบทความนี้ดังต่อไปนี้ประกอบกับแหล่งข้อมูลอื่นตามบรรณานุกรมท้ายบท https://madeinchinajournal.com/2021/10/20/of-rose-coloured-glasses-old-and-new/*4
เชิงอรรถผู้แปล (translator’s notes)
*1 ในฉบับภาษาอังกฤษ วลีนี้คือ actually-existing police state เป็นการเล่นคำกับวลีติดปากที่คนใช้เรียกรัฐสังคมนิยมที่เคยมีอยู่จริงในประวัติศาสตร์หรือ actually existing socialism
*2 ซึ่งในสหรัฐมะกันองค์กรที่ประเมินคะแนนนี้สามารถนำข้อมูลไปขายให้บริษัทหรือองค์กรอื่นๆ เพื่อพิจารณาการให้กู้เงิน, การให้ซื้อประกัน, การเช่าซื้อที่อยู่อาศัย, หรือการให้สินเชื่อ เป็นต้น
*3 ความสามารถทำได้ (ability) ที่มีมิติของความกระตือรือร้นเข้ามาเกี่ยวข้องนี้มีความหมายในตัวมันสองแง่มุม คือ กระทำได้ทางรูปธรรมเพราะตำรวจผูกขาดอำนาจรูปธรรมคืออาวุธยุทธโทปกรณ์ (ตำรวจสหรัฐมะกันแค่สองเมือง ก็รวมงบประมาณต่อปีได้เกินงบประมาณกองทัพไทยเสียอีก) และกระทำได้ทาง “ศีลธรรม” เพราะได้รับอนุญาตจากวัฒนธรรมขององค์กรทางกฎหมายที่ในตัวมันเองไม่มีเนื้อหาทางกฎหมาย
*4 The thai translator disagrees with Chuang’s implicit description of the “Maoist” genealogy. Historically speaking, there is neither theoretical nor practical nor even political continuity between the REAL socio-political forces inspired by Mao in the 1950s onward and today’s China fetishists whose “practice” has no political content. The analogy is formal at best, cynical at worst. Indeed, even the linked article by Fabio Lanza, himself by no means a practicing Maoist, paints a more nuanced picture than suggested by Chuang’s footnote here. For a comprehensive history of the development of Maoism, its theory and practice, see J. Moufawad-Paul’s Critique of Maoist Reason and the study guide Marxism-Leninism-Maoism Basic Course written by the Communist Party of India (Maoist). For a Maoist analysis of today’s China see the 2017 study by the Central Committee of CPI (Maoist) titled China: A Modern Social-Imperialist Power. Other articles of interest can be found on Bannedthough.net [https://www.bannedthought.net/China/index.htm].
*4 ผู้แปลภาษาไทยขอแสดงความไม่เห็นด้วยกับการอธิบายการสืบสายความคิด “เหมาอิสซึ่ม” เป็นนัยๆ ของ Chuang ถ้าให้ว่ากันตามประวัติศาสตร์ กลุ่มสังคมการเมืองที่มีอำนาจจริงๆ และได้รับแรงบันดาลใจจากเหมาในช่วงยุคปี 1950s เป็นต้นมากับกลุ่มคนบูชาประเทศจีนในปัจจุบันที่ “การปฏิบัติ” ของพวกมันไม่มีเนื้อหาทางการเมือง สองกลุ่มนี้ไม่มีจุดเชื่อมโยงต่อเนื่องหากันไม่ว่าจะทั้งทางทฤษฎี ทางการปฏิบัติ หรือแม้แต่ทางการเมืองก็ตาม การอุปมานโดย Chuang อย่างดีที่สุดเป็นการอุปมานเชิงรูปแบบว่ามีคนต่างชาติชอบแนวคิดของจีนเหมือนกันทั้งในอดีตและปัจจุบัน อย่างแย่ที่สุดมันเป็นการดูแคลนเนื้อหาการปฏิวัติโลกในช่วงศตวรรษที่ 20 แม้แต่บทความของฟาบิโอ้ ลันซ่า (ซึ่งลันซ่าเองไม่ใช่คนที่ปฏิบัติการเมืองตามแนวคิดเหมาอิสท์) ที่ Chuang ลิ้งค์ไว้ในเชิงอรรถยังพูดเรื่องนี้โดยมีแง่มุมหลายมิติกว่าคำสรุปของ Chuang สำหรับทั่นผู้อ่านที่สนใจประวัติศาสตร์ของแนวคิดเหมาอิสซึ่ม ลองไปอ่าน Critique of Maoist Reason ของ เจ มูฟาหวาด-พอล และ คอร์สมากซิสซึ่ม-เลนินนิสซึ่ม-เหมาอิสซึ่มเบื้องต้น เขียนโดยพรรคคอมมูนิสท์อินเดีย (เหมาอิสท์) ส่วนใครอยากรู้ว่าเหมาอิสท์เค้ามองประเทศจีนปัจจุบันกันยังไง ไปอ่าน จีน: อำนาจสังคมนิยมจักรวรรดิสมัยใหม่ เป็นบทวิเคราะห์โดย คณก.กลาง พคอ.(เหมาอิสท์) ในปี 2017 บทความน่าสนใจอื่นๆ สามารถหาอ่านได้ที่ Bannedthough.net [https://www.bannedthought.net/China/index.htm]
*5 Chuang 闯 ภาษาไทยแปลว่า พุ่งทะลุกรอบออกมา สังเกตว่าเป็นรูปตัวอักษรคำว่า “ม้า” วิ่งทะลุผ่านคำว่า “ประตู”ออกมา