บทความความคิดเห็น (Opinion Article) ต้นฉบับภาษาอังกฤษโดย ขอบฟ้าดำ (Kobfah Dum) Original English version
แปลเป็นไทยโดย กุลณัฐ จิระวงศ์อร่าม และ ทัชชภร ศุภรัตน์ภิญโญ


เมื่อพรรคก้าวไกลได้คะแนนโหวตเยอะที่สุดในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มันถือเป็นหายนะทางการเมืองของชนชั้น (class-based) ในประเทศไทย การเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้สิ่งที่นายทุนอีลีตทั้งหลายฝันเป็นจริงขึ้นมา มันผลักประเทศไทยออกจากการเมืองของชนชั้นที่มีมาตลอด 20-30 ปีให้ไกลกว่าเดิม แล้วเดินหน้าไปสู่การเมืองแบบสุนทรียภาพ (aesthetics) จนได้

ในที่สุด ประเทศไทยก็มีพรรคการเมืองที่มีเกียรติ มากพอสำหรับคนชั้นกลาง และเป็นพรรคที่สามารถเอาชนะเสื้อแดงลงได้

การแบ่งระหว่าง “บ้านนอก” กับเมืองนั้นยังคงเป็นความขัดแย้งหลักๆ ของไทย ถึงแม้มันจะดูน่าเหนื่อยหน่ายที่จะโต้แย้งสิ่งนี้ต่อไป ปัญหาขั้นแรกสุดในประเด็นนี้คือ คนที่ก่อนหน้านี้เคยเป็นคนบ้านนอกได้ย้ายเข้าเมืองเพื่อทำงาน หลายคนทำงานในเมืองเป็นสิบปีโดยไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งกับมันอย่างแท้จริง หลายคนในนั้นยังคงฝันว่าจะได้กลับบ้านเกิดและจะได้ใช้ชีวิตอย่างมีเกียรติ ด้วยแกนหลักของมัน ประเด็นนี้จึงเป็น (และควรเป็น) ปัญหาทางชนชั้น ที่ว่าใครจะสามารถขายแรงงานอะไรได้ที่ไหน? ภายใต้เงื่อนไขอะไร?

แม้จะมีข้อบกพร่องทั้งหลายของพรรค เพื่อไทยยังคงเสนอทางเลือกอื่นให้ได้ นอกจากความจริงที่เผชิญกันอยู่ตอนนี้ จริงๆ แล้วพรรครอยัลลิสต์ที่มีทหารสนับสนุนเองก็ยังรู้แกวการแบ่งเมือง/บ้านนอกเสียด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะพลังประชารัฐหรือพรรคภูมิใจไทย หลายๆ นโยบายของพรรคแนวนี้ก็เห็นชัดว่าพวกเขาเข้าใจการแบ่งนี้ ถึงแม้ว่า — จะไม่ได้ลงมือทำอะไรเพื่อจัดการมันจริงๆ ก็ตาม แต่พรรคก้าวไกลกลับวินิจฉัยความขัดแย้งหลักในประเทศแตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง สำหรับก้าวไกลแล้ว พวกไดโนเสาร์ที่คอยควบคุมกองทัพ รัฐบาล และการผูกขาดต่างหากที่เป็นประเด็น แม้จะเป็นเช่นนั้น ประเด็นนี้ก็ลึกซึ้งได้เท่าที่การวิพากษ์วิจารณ์จะพาเราไปเท่านั้น

สำหรับพรรคก้าวไกล ประเด็นเรื่องบ้านนอกกับเมือง คนจนกับคนรวยไม่ใช่ประเด็นการต่อสู้เดี่ยวๆ ประเด็นเชิงโครงสร้างที่กัดกินและเป็นฐานของการแบ่งชนชั้น ถูกมองว่าเป็นแค่เพราะ ความโลภ การโกงกิน และการบริหารแบบผิดที่ผิดทางเท่านั้น ซึ่งถือเป็นการพากษ์วิจารณ์ที่ไม่มีสำนึกทางชนชั้นโดยสิ้นเชิง

ไม่ต่างกับพรรคอื่นๆ คนพรรคก้าวไกลมีกลุ่มประชากรสองแบบ คนที่ลงคะแนนให้พรรคและคนที่สนับสนุนพรรคทางการเงิน สำหรับคนกลุ่มแรก เราจะเห็นได้ว่ามีจำนวนคนชั้นกลางที่มีความเป็นเมือง (urbanized) เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมองในทางเศรษฐกิจและสังคมก็แทบจะไม่ต่างกับคนที่เป็นกลุ่มคะแนนเสียงให้ประชาธิปัตย์* ในยุค 2000 (พ.ศ. 2533-2543) หากมองตามบริบทเวลาแล้ว พรรคนี้แค่ขาดรอยัลลิสม์ไปก็เท่านั้น

คนที่ลงคะแนนให้พรรคก้าวไกลเห็นตัวเองเป็นประชากรกลุ่มใหม่ ได้รับการศึกษา ตื่นรู้ตาสว่าง รู้ดีมากพอที่จะ ไม่หลงกล พรรคอื่นๆ ซึ่งดูเป็นมุมมองที่คล้ายๆ กันกับพรรคประชาธิปัตย์ หากใครอยู่ทันสมัยพรรคยังโดดเด่น

แน่นอนว่า โหวตเตอร์พรรคก้าวไกลก็จะค้านหัวชนฝาว่า พวกเขาไม่มีอะไรเหมือนประชาธิปัตย์เลยสักนิดเดียว แต่ศิลปะการพูด/วาทศิลป์พื้นฐานของคำวิพากษ์วิจารณ์ต่างต่างนานาที่พรรคใช้ก็คล้ายคลึงกันกับสมัยเสื้อเหลืองยุคแรกมาก พวกเขาเกลียดการโกงกิน การบริหารแบบผิดที่ผิดทาง แล้วยังเกลียดการที่นักการเมืองโกหก “หลอกลวง” คนจนให้ลงคะแนนเสียงให้พวกเขา ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยหรือพรรคที่มีทหารสนับสนุน ทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคประชาธิปัตย์เก่าต่างก็เกลียดทักษิณและดูถูกฐานเสียงซื่อๆ พูดจาในท่าทีที่เหนือกว่า ว่าฐานเสียงพวกนี้ “ถูกหลอกใช้”

[*ประชาธิปัตย์ — พรรคประชาธิปัตย์ — พรรคเสื้อเหลืองที่เป็นผู้มีส่วนในการสังหารหมู่คนเสื้อแดง]

พรรคก้าวไกลได้คะแนนเสียงจากทั้งซ้ายและขวา* (ทั้งคนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยและพรรคทหาร) พรรคก้าวไกลเสนอทางเลือกใสสะอาดและหน้าตาของคนรุ่นใหม่ให้ประเทศไทย รวมถึงหนทางแก้แค้น เสนอว่าคุณคือคนลงคะแนนเสียงที่มีการศึกษา มีความรู้ และเป็นปัญญาชนหรือรู้มากพอ คุณเบื่อหน่ายกองทัพ นักการเมืองยุคเก่า และอีลีตส่วนใหญ่เต็มที
(ผู้แปล: ซ้ายขวาตรงนี้สำหรับบริบทการเมืองไทย ซึ่งมีแค่ซ้ายกว่าและขวากว่าเท่านั้น)

สมาชิกพรรคก้าวไกลไม่ใช่ชนชั้นแรงงานที่ยากจน ถึงแม้ว่าคุณภาพชีวิตของคนชั้นกลางจะค่อยๆ ตกต่ำลงเรื่อยๆ หลังยุคทักษิณ ความเป็นจริงก็คือ มันยังมีการแบ่งแยกระหว่างเมือง/บ้านนอกอยู่ แยกคนจน/คนรวยอยู่ คนที่เข้ามหาวิทยาลัยและคนที่ไม่ได้เข้ามหาวิทยาลัยอยู่ คนที่มีอันจะกินและคนที่ไม่มีอันจะกินอยู่ ก่อนหน้านี้พรรคประชาธิปัตย์คอยรับใช้คนชั้นกลางในเมือง ในพื้นที่กึ่งเมือง หรือรับใช้คนที่เข้าใจว่าตัวเองเป็นเจ้าของโหวตที่มีความรู้และเป็นปัญญาชนอยู่

แต่ถึงกระนั้น ความคดโกงของประชาธิปัตย์และการที่พรรคยึดติดอยู่กับรอยัลลิสม์ทำให้ฐานเสียงของพรรคหายไปจนหมด พรรคล้มเหลว ไม่สามารถปราบเสื้อแดงและทักษิณลงได้ในสนามการเลือกตั้ง กลับต้องขอให้ชายชาติทหารผู้กล้าแกร่งจากกองทัพเข้ามา ตั้งพรรคที่โอบรับคำพูดคำจารุนแรงแบบชาตินิยม แม้ว่าพรรคพวกนี้จะไม่ได้ดู มีอารยะ มากพอที่จะตอบโจทย์รสนิยมพิถีพิถันของคนเมืองก็ตาม

คนชั้นกลางและคนที่มีความหวังอยากจะเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนี้จึงต้องการพรรคใหม่ รอยัลลิสม์ผู้อุทิศตนได้ย้ายไปพรรคที่มีทหารสนับสนุนเสียแล้ว นักวิชาการปัญญาชนที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยตะวันตกเหนื่อยหน่ายกับบรรยากาศน่าอึดอัดของการศึกษาไทยภายใต้เผด็จการทหาร พวกเขาร่วมกับเอ็นจีโอทุนตะวันตกและองค์กรแรงงานอภิสิทธิ์ชน (labour-aristocratic organisations) ร่วมกันสร้างบ้านใหม่ในรูปแบบเสรีนิยมแบบยุโรป (European-style liberalism)

ก้าวไกลและพันธมิตรอ้าแขนต้อนรับคนชั้นกลางที่มีความเป็นชาตินิยมน้อยกว่า เสนอแนวคิดทุนนิยมแบบสะอาดสะอ้านขึ้น แนวคิดที่ให้สัญญาว่าการเมืองจะมีเกียรติมากขึ้น แนวคิดที่ในที่สุดแล้วก็ไม่ได้ท้าทายการกระจายความมั่งคั่งในประเทศนี้ แค่ทำให้โหวตเตอร์รู้สึกดีกับมันมากขึ้นเท่านั้น

ในความเป็นจริงแล้ว พรรคก้าวไกลไม่ได้เสนออะไรไปมากกว่าสุนทรียภาพของพรรคเล็กน้อย หากจะเข้าใจประเด็นนี้ เราต้องดูอีกหนึ่งกลุ่มประชากรของพรรคคือผู้สนับสนุนทางการเงิน หัวหน้าพรรคก่อนหน้านี้ทั้งสองคนต่างก็เป็นนายทุนกึ่งอีลีต นายทุนที่เกิดมาบนกองเงินกองทอง ได้รับการศึกษาจากต่างประเทศ เป็นเจ้าของธุรกิจใหญ่ ล้มสหภาพ เอาเปรียบคนเป็นพันๆ คน แต่ก็ไม่ใช่อีลีตชั้นสูงขนาดนั้น การที่พรรคต่อว่าทุนผูกขาดแทบไม่ได้เป็นอะไรไปมากกว่าการวางตัวเพื่อให้ได้เสียงโหวตและสร้างพื้นที่ให้ชนชั้นย่อยของตัวเองในตลาด

นายทุนพวกนี้หนุ่มกว่า หิวกระหายกว่า มีเสน่ห์กว่า บริสุทธิ์กว่า และมีเกียรติมากกว่า ดูภายนอกไม่เหมือนพวกไดโนเสาร์อีลีตรุ่นก่อน แต่นายทุนพวกนี้ก็ยังคงใช้ชีวิตอยู่กับคนชั้นเดียวกัน ถือผลประโยชน์ในคนชั้นเดียวกันกับบรรพบุรุษพรรคประชาธิปัตย์ การเดินทางครั้งแรกของพรรคก้าวไกลคือ “พรรคอนาคตใหม่” ซึ่งถูกยุบพรรคในปี 2562 สาเหตุที่โดนยุบไม่ใช่เพราะพรรคเป็นภัยคุกคามต่อโครงสร้างของสังคมไทย แต่การยุบนี้ถือเป็นคำขู่ไม่ให้อีลีตกลุ่มนี้ขึ้นมาแทนที่ชนชั้นนำเดิมในขณะนั้น

ไม่แปลกที่คำวิจารณ์ส่วนใหญ่ของพรรคก้าวไกลด้านบนจะสาดไปทางพรรคเพื่อไทย และเสียงเหล่านั้นก็อาจจะพูดถูก เพราะพรรคเพื่อไทยก็บริหารโดยชนชั้นนายทุน หรือแม้กระทั่งในการเลือกตั้งครั้งนี้เอง พรรคเพื่อไทยก็ไม่สามารถสลัดตัวเองจากพรรคทหารได้ 

อย่างไรก็ตามความแตกต่างที่สำคัญระหว่างทั้งสองพรรคคือ สมาชิกระดับล่างของพรรคเพื่อไทย รวมถึงโหวตเตอร์ที่ภักดีต่อพรรคล้วนมีสำนึกทางชนชั้นไม่มากก็น้อยและได้เปลี่ยนพลวัตของผู้นำของพรรคไปอย่างมีนัยสำคัญ อัจฉริยภาพของทักษิณคือการจุดประกายคนจนในชนบท แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ ทักษิณตอบโจทย์คนจนในชนบท การเมืองที่กินได้เป็นสิ่งที่ชนะใจคนจน คนเสื้อแดงเข้าใจเรื่องชนชั้นและการเมืองที่กินได้ ทั้งยังพร้อมเอาผิดกับผู้แทนถ้าทำตามที่บอกไว้ไม่ได้ ข้อตกลงที่มีมาอย่างยาวนานของพรรคเพื่อไทยและพรรคก่อนหน้า (ที่ถูกยุบไป) ต่อชาวบ้านสามารถกล่าวโดยสรุปตามที่ทักษิณพูดได้ว่า: “ใช่ ผมเป็นอีลีต ผมรู้ว่าระบบทำงานอย่างไร  เลือกผมแล้วผมจะทำงานให้คุณ” และสำหรับหลายล้านคน แม้ทักษิณจะผิดพลาด ติดคดี และมีปัญหาคอรัปชั่น ทักษิณก็ทำตามที่รับปากไว้ได้ คนเสื้อแดงไม่ใช่ควายแดงโง่เขลาอย่างที่คนชั้นกลางสร้างภาพให้เป็น คนเสื้อแดงรู้ว่าพรรคโกง รู้ว่าพรรคนี้รับใช้อีลีต แต่ก็รู้ว่าพรรคนี้รับใช้คนเสื้อแดงเช่นกัน

ทั้งสองพรรคแสวงหาสภาพสังคมที่ดีขึ้น พรรคก้าวไกลมองภาพว่าเป็นรัฐสวัสดิการรวมศูนย์แบบยุโรป และก็ต้องให้เครดิตพรรคที่ได้จัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้น (แม้สหภาพจะมีอำนาจเพียงน้อยนิดก็ตาม) สหภาพแรงงานนี้ถือเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงที่สุดที่พรรคเคยพูดถึงเกี่ยวกับนโยบายชนชั้น พรรคก้าวไกลพูดราวกับว่าพรรคเพื่อไทย (และพรรคก่อนหน้าที่ถูกยุบไป) ยังไม่ได้สร้างรัฐสวัสดิการขึ้น ทั้งที่ในช่วงปี 40 พรรคเพื่อไทยได้ดำเนินการโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมที่ตอบสนองต่อท้องถิ่น ตัวอย่างที่ดีที่สุดของความสำเร็จคือ ระบบสาธารณสุขโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท อย่างไรก็ตามในยุครัฐบาลทหารที่ผ่านมา ระบบสาธารณสุขได้รับทุนไม่เพียงพอจนถึงจุดที่คนชั้นกลางยอมไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนมากกว่าที่จะทนรับสภาพความไม่ศิวิไลซ์ของโรงพยาบาลรัฐ โหวตเตอร์ของพรรคก้าวไกลไม่น่าจะเคยมีประสบการณ์ต้องใช้สวัสดิการสังคมในลักษณะนี้ อาจเป็นเพราะโหวตเตอร์กลุ่มนี้กระจุกอยุ่ในเมืองและเกิดไม่ทันระบบสาธารณสุขในสมัยที่มีทุนเกื้อหนุนเพียงพอ หรือไม่โหวตเตอร์พรรคก้าวไกลก็มีฐานะ (ดี) จนไม่ต้องใช้สวัสดิการดังกล่าว

โหวตเตอร์พรรคเพื่อไทยสนับสนุนพรรคไม่ใช่เพราะเป็นชาวนาที่โง่เขลาและถูกทักษิณจูงจมูก แต่เพราะโหวตเตอร์พรรคเพื่อไทยรู้ว่าพรรคจะตอบโจทย์ปัญหาชนชั้นของพวกเขาอย่างที่เคยทำสำเร็จมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน นโยบายการกระจายอำนาจของพรรคเพื่อไทยเอื้อให้มีเงินทุนไปถึงองค์กรท้องถิ่น สาธารณสุข ภาคศึกษา ภาคการจ้างงาน และโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งยังสร้างความเป็นปึกแผ่นของแต่ละชนชั้นในพื้นที่จริง ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่พรรคเพื่อไทยนำเสนอนั้นห่างไกลจากคำว่าสังคมนิยม แต่มันคือการเปลี่ยนแปลงการวางแนวเศรษฐกิจ รูปแบบของการกระจายความมั่งคั่งและอำนาจ และการกระจายอำนาจจากกรุงเทพฯ รวมถึงเขตเมืองอื่น ๆ ทั้งในด้านอำนาจและแหล่งทุนสู่จังหวัดรอบนอก พรรคก้าวไกลวาดฝันถึงรูปแบบทุนนิยมยุโรปสมัยใหม่ที่ “บริสุทธิ์ขึ้น” โดยพื้นฐานแล้วแนวการกระจายความมั่งคั่งยังคงเดิม แต่จะเปลี่ยนไปอย่าง “น่ามอง” ขึ้นเท่านั้น จากซีอีโอแก่หน้าตาอัปลักษณ์จอมโกงสู่ชายหนุ่มรูปงามที่ “เล่นตามกฎ”– เป็นเรื่องปกติที่มหาเศรษฐีจะเอารัดเอาเปรียบผู้คนตราบใดที่เขาเล่นตามกฎ ดังเช่น ผู้นำพรรคก้าวไกล บทความนี้มิได้เขียนขึ้นเพื่อยกยอพรรคเพื่อไทยและทักษิณอย่างสุดหัวใจ ที่จริงผู้เขียนมองนโยบายของทักษิณอย่างมีวิจารณญาณแล้ว อย่างไรก็ตาม สภาพเปลือกสังคมและการเมืองประเทศไทยในตอนนี้เป็นเรื่องที่น่าอึดอัดใจนัก

ในที่สุด พรรคก้าวไกล พรรคการเมืองรุ่นใหม่ของคนชั้นกลางทำสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ใฝ่ฝันแต่ไม่เคยเป็นจริงได้สำเร็จ คือ เอาชนะพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้ง ตอนนี้พรรคเพื่อไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เพื่อไทยมีสองทางเลือกคือ ต้องปฏิรูปและแซงหน้าพรรคก้าวไกลโดยเบนไปทางสังคมนิยมเพื่อสลัดผีชื่อทักษิณและต้องปรับปรุงนโยบายสังคมให้ตรงกับคุณค่าที่คนรุ่นใหม่ยึดถือ หรือต้องสูญพันธุ์ไปเหมือนคู่แข่งเก่าอย่างประชาธิปัตย์ ในวงจรการเลือกตั้งสลับรัฐประหารซึ่งฉุดรั้งประเทศไทยมาเกือบศตวรรษนี้ พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งและได้รับความไว้วางใจมาให้บริหารประเทศแทนพรรคเพื่อไทย แม้ว่าในชัยชนะครั้งนี้จะไม่มีลุงป้าเสื้อแดงจากต่างจังหวัดที่ต่อสู้และสละชีวิตอย่างกล้าหาญมานับหลายต่อหลายปีก็ตาม

สิ่งที่เราได้เห็นในชัยชนะของพรรคก้าวไกลคือการที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งปฏิเสธถึงความสำคัญของชนชั้นในสังคม ในขณะที่พรรคเพื่อไทยเสนอนโยบายปากท้องย่อยยากซึ่งคนชั้นกลางเลือกจะมองข้าม  ส่วนพรรคก้าวไกลเสนอนโยบายที่ไม่มีสาระอะไรมากไปกว่าอุดมการณ์อันโอหังฉบับย่อยง่ายให้ประชาชน