คุณบริโภคแรงงานที่มองไม่เห็นในขณะเดียวกันแรงงานที่คุณขายออกไป ก็มิอาจมองเห็นได้เช่นกัน พวกเราล้วนแปลกแยกจากสิ่งที่เราผลิตและสิ่งที่เราบริโภค จะเป็นไปได้บ้างไหม ที่เราจะมองทะลุม่านหมอกแห่งความยุ่งเหยิงไปเจอ ”แรงงาน” ที่ถูกซ่อนไว้ได้สักที

ความเป็น”ทางผ่าน” (Liminality)

พื้้นที่ๆมีความเป็นลิมินอล(Liminal) หรือ ลิมินอลสเปซนิยามได้ว่าเป็น “พื้นที่ว่างทางกายภาพระหว่างจุดหมายหนึ่งไปยังจุดหมายต่อไป” ตัวอย่างของพื้นที่เหล่านี้ได้แก่ โถงทางเดิน,สนามบินและถนน สถาปัตยกรรมแนวบรรษัทสมัยใหม่ (Modern corporate architecture) มักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีความลิมินอลสูงเพราะมันดูเรียบ,ขาดบุคลิก,มันไม่ใช่เป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่ง มันเป็นแค่ “ทางผ่าน” เท่านั้น มันขาดจิตวิญญาน ข้อวิจารณ์เหล่านี้มักถูกใช้กับ “ศิลปะแนวบรรษัทเมมฟิส” (corporate Memphis art style) มันคือเหล่าการออกแบบคาแรคเตอร์ผู้คนแบนๆ เรียบๆ จืดๆ ที่ปรากฏเกลื่อนกลาดในการตลาดของบรรษัทต่างๆ ผมจะขอย้ำอีกครั้งว่ามันไร้ซึ่งจิตวิญญาณ 

ที่กล่าวมาเป็นการวิจารณ์ในมุมมองแบบสุนทรียศาสตร์ถึงความเรียบเฉยจืดชืด ขาดปฏิสัมพันธ์ และดูห่างเหิน แต่เราก็สามารถนำแนวคิดนี้มาใช้มองผู้คนจริงๆ ในชีวิตประจำวันที่เราต่างประสบพบเจอ ซึ่งทำให้เราเห็นถึงความจริงอันน่าเจ็บปวด ความจริงที่ว่าผู้คนนับพันล้านคนที่ลงมือสร้างและช่วยกันพยุงโลกของเราไว้ พวกเขาล้วนแต่เป็น “มนุษย์ทางผ่าน” เป็นแรงงานที่มิอาจมองเห็นผู้ผลักกลจักรแห่งทุนให้หมุนต่อไป พวกเขา คือ 

เหล่าผู้คนที่ขนผักไปวางบนเชลฟ์ในห้างสรรพสินค้าตลอดค่ำคืน 

พนังงานโกดังที่ขนย้ายสินค้าตั้งแต่พลบค่ำยันย่ำรุ่ง

พนักงานท่าเรือและเหล่ากะลาสีที่เดินเรือบรรทุกสรรพสินค้าแสนมีค่าที่พวกเราสั่งซื้อมา

เหล่าคนงานในฟาร์มที่ต้องขมักเขม้นเค้นงานบนผืนแผ่นดินแสนไกลจากบ้านของพวกเขา

ผู้คนเหล่านี้เอง..

คือ “แรงงานทางผ่าน” เป็น “มนุษย์ทางผ่าน” ที่ค้ำยันเสาหลักแห่ง “สังคมทุนนิยมอันศิวิไลซ์” ให้หยัดยืนต่อไป มิาจมองเห็นได้ผ่านสายตาเมินเฉยของเหล่าผู้บริโภค 

แน่นอนว่าส่วนใหญ่ของแรงงานที่กล่าวมานี้ เป็นผลมาจากการขูดรีดของผู้คนในซีกโลกเหนือ ที่กระทำต่อผู้คนในซีกโลกใต้ ปฏิสัมพันธ์เดียวหากจะพึงมี ระหว่างแรงงานที่กำลังเก็บฟาง กับ คนที่กำลังกินสเต็กเนื้อจานโปรด คือ ตอนนักท่องเที่ยวจากประเทศเจ้าอาณานิคม ไปเที่ยวประเทศอดีตใต้อาณานิคมไกลปืนเที่ยง เขาอาจเผลอเหลือบมองแรงงานผู้น่าสงสารเหล่านั้นขณะกำลังแบ็คแพ็คกิ้ง หรือไม่ก็เขากำลังอ่านผลิกหน้าหนังสือ National geographic เขาอาจเปิดไปเจอศพของกะลาสีเรือโดนคลื่นซัดขึ้นมาเกยบนชายหาด

แต่ในซึกโลกใต้เราอาจเรียกได้ว่าแรงงานทางผ่านนั้นอยู่ในสภาวะ “กึ่งล่องหน” สำหรับชนชั้นบน ถือว่ามีปฏิสัมพันธ์บางอย่างระหว่างชนชั้นอยู่เหมือนกัน แม้ว่าจะถูกคั่นและคัดกรองผ่านรูปแบบของทุน เหล่าผู้ดีกรุงเทพขณะนั่งอยู่ในรถติดแอร์คันงาม ก็อาจมองเห็นสลัมในกรุงเทพแบบผ่านๆ ในชีวิตแต่ละวัน ทว่ามองเห็นจากระยะไกล

ใครกันที่ปลูกข้าวของผม

ใครกันที่ปลูกข้าวของผม

ใครกันที่ฆ่าไก่ให้ผมกิน

ใครกันเป็นคนถักทอเสื้อตัวนี้

ข้าวเป็นยังไงบ้าง ?

คุณกินไก่ของคุณหมดมั้ย ?

เสื้อผ้าใส่สบายรึเปล่า ?

แล้วพวกเขาเหล่านั้นชื่ออะไร ? พวกเขาเป็นยังไงบ้างวันนี้ ? พวกเขาสบายดีไหม ? พวกเขากำลังมีความรักรึเปล่า ? 

แล้วแม่กับยายของพวกเขาล่ะ ? เหล่าแรงงานการผลิตซ้ำ (1) ผู้ถูกซ่อนไว้ในใต้ถุนบ้าน ผู้ช่วยสร้างเหล่ามนุษย์ทางผ่านที่ผมรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณยิ่งนัก พวกเขา (เหล่าแรงงานการผลิตซ้ำ) เองก็มีส่วนร่วมในการผลิตไก่ในแกงที่ผมกิน,ข้าวในจาน,เสื้อที่ผมสวมใส่ ผู้คนรุ่นแล้วรุ่นเล่าผู้เป็นแรงงานล่องหน ถูกขูดรีดเอากำไร ถูกซ่อนไว้ในใต้ถุนบ้าน ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่บ้าน,ในโรงงาน หรือ ในคลังสินค้า 

ผมถูกสร้างขึ้นบนหลังของแรงงานเหล่านี้ เช่นเดียวกับคุณผู้อ่าน คุณเองก็เป็นมนุษย์ล่องหนเหมือนกัน 

(1) แรงงานแห่งผลิตซ้ำ (Reproductive labour) คือ แรงงานที่ทำงานในหน้าที่ๆ จำเป็นต่อระบบทุนนิยมแต่ไม่ถูกนับเป็นการผลิต เช่น การดูแลเด็ก,คนชรา,กวาดบ้านถูบ้าน,ทำอาหาร ฯลฯ (ผู้แปล)

เหล่าบรรพบุรุษล่องหน

เหล่าแรงงานล่องในตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามีส่วนร่วมต่อทุกแง่มุมของวัตถุ และ ภูมิปัญญา ของสรรพสิ่งในชีวิตเรา ไม่ว่าแรงงานนั้นจะได้รับค่าจ้างหรือไม่ ถนนในเมืองลอนดอนถูกปูโดยแรงงานล่องหนจากประเทศใต้อาณานิคม คูคลองและทางน้ำในประเทศไทยถูกขุดก่อโดยแรงงานไพร่ไร้ค่าจ้าง หม้อหุงข้าวที่ผมใช้ทำอาหารเที่ยง ถูกประดิษฐ์และพัฒนามากว่าศตวรรษโดยวิศวกรไฟฟ้าล่องหน ใครกันที่เดินแบกกระสอบข้าวผ่านถนนที่ถูกปูคูที่ถูกขุด ใครกันสอนพวกเขาใช้ช้อน สอนพวกเขาเดิน สอนพวกเขาพูด สอนให้อ่านเขียน สอนให้เข้าสังคมเป็น ?

โศกนาฏกรรมที่แท้จริง คงเป็นการที่แรงงานล่องหนส่วนใหญ่ ล้วนแต่ตรากตรำทำงานเพื่อผลิตซ้ำและพัฒนาระบบและเงื่อนไขที่จะกลับมาขูดรีดพวกเขาเองให้มากกว่าเดิม 

กว่า 117 พันล้านชีวิตตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เราจะหยั่งถึงบุญคุณทั้งหมดที่เขาให้เราได้หรือ ?

เช่นนั้นแล้ว ทำไมเราจะยังกล้าอ้างว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ เป็นของๆเรา

“นี่คือเสื้อยืดของฉัน นี่คือโทรศัพท์ของฉัน นี่คือบ้านของฉัน” 

ช่างไร้เหตุผล,คับแคบ และ หยามเหยีดเป็นอย่างยิ่ง

พวกเราล้วน คือ ความว่างเปล่าหากปราศจากแรงงานล่องหนของคนอื่น 

ใครกันที่ปลูกข้าวของผม

ใครกันที่ฆ่าไก่ให้ผมกิน 

ใครกันเป็นคนถักทอเสื้อตัวนี้ 

แล้วพวกเขาเหล่านั้นชื่ออะไร ? พวกเขาเป็นยังไงบ้างวันนี้ ? พวกเขาสบายดีไหม ? พวกเขากำลังมีความรักรึเปล่า ? 

ใช่อยู่ ที่คำถามนี้มันฟังดูบ้า แต่ศักยภาพในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายได้ ขึ้นอยู่กับการพัฒนาปฏิสัมพันธ์บางอย่างต่อมนุษย์ล่องหน พูดให้ชัดก็คือ “ระหว่างมนุษย์ล่องหนด้วยกัน” พัฒนาการตระหนักรู้ถึงการมีอยู่ของกันและกัน ตระหนักถึงการที่พวกเราถูกกดขี่ และ พวกเราถูกบังคับให้กดขี่กันเองอย่างไร 

คุณเคยไปที่คลังเก็บอาหารตามร้านสรรพสินค้าไหม ? มันเป็นประสบการณ์น่าขนลุก เป็นตัวอย่างของ “สภาวะทางผ่าน” ที่ชัดเจน ลังไม้สูงเท่าภูเขาทะมึนถูกหุ้มด้วยพลาสติกสองชั้น มีกระดาษ A4 แผ่นเล็กๆ ติดเพื่อรายละเอียดสินค้าไว้ ช่างดูห่างไกลจากอาหารบนชั้นวางในห้างที่ดูอุดมสมบูรณ์ เหล่าอาหารล่องหนพวกนี้กำลังรอการปรากฏตัว เช่นเดียวกับเหล่ามนุษย์ล่องหนที่มีสถานะคล้ายกับผีวิญญานรอผู้พบเห็น 

คุณเคยพูดคุยกับคนขับ Grab บ้างไหม ?

หรือพนักงานที่นำสินค้าจาก Shopee มาส่งให้คุณ ?

หรือคุณป้าที่ทำก๋วยเตี๋ยวตรงจุดแวะพักระหว่างนั่งรถบัสทางไกล ? 

ไม่นานมานี้พวกเราได้ร่วมประชุมวงฝ่ายซ้าย ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่มาจากกรุงเทพ หลังคุยกันไปได้สักพักบทสนทนาก็นำมาสู่อารมณ์น่ากำหมัดของคำถามที่ว่า “เราจะคุยกับพวกเขายังไง ?” บอกจากใจจริงเลยว่าพวกเราค่อนข้างตกใจ “อะไรกันวะ ? พวกคุณไม่เคยคุยกับพวกเขาเรอะ ?” พวกเราคิดในใจ แต่ยังมีเรื่องที่น่าตกใจกว่านั้น นั่นคือสำนึกอันพิลึกพิสดารว่า พวกเราจะต้องคุยกับพวกเขา มันเป็นบทบาทของเราที่จะไปช่วยให้พวกกรรมาชีพตาสว่างถึงที่มาของความทุกข์ทรมานในชีวิตของพวกเขา พวกเราไม่สามารถแค่ไปถามพวกเขาว่า “วันนี้เป็นไงบ้าง?” หรือ “ทำงานที่นี่มานานแค่ไหนแล้ว?” หรือ “คุณชอบการทำงานที่นี่ไหม?”   ไม่.. พวกเราจะต้อง สอนพวกเขาเกี่ยวกับมาร์กซิสต์

การปฏิสัมพันธ์เป็นกระบวนการที่มีการ “ให้และรับ”

มันเริ่มต้นด้วยพื้นฐานง่ายๆ : “คุณเป็นยังไงบ้าง ?”

แม้ว่าคุณอาจไม่ได้เจอคนๆ นี้อีกเลยก็ตาม

ใครกันที่ปลูกข้าวของผม 

ใครกันที่ฆ่าไก่ให้ผมกิน 

ใครกันเป็นคนถักทอเสื้อตัวนี้

แล้วพวกเขาเหล่านั้นชื่ออะไร ? พวกเขาเป็นยังไงบ้างวันนี้ ? พวกเขาสบายดีไหม ? พวกเขากำลังมีความรักรึเปล่า ? 

พวกเราอาจไม่ได้คำตอบของคำถามนี้ทั้งหมด แต่พวกเราสามารถเริ่มต้นได้ นี่คือโครงการสลายความล่องหน เพื่อจะโอบอุ้มผู้คนเหล่านั้น เพื่อโอบอุ้มพวกเราเอง ขึ้นมาจากความล่องหน ขึ้นไปสู่การปรากฏตัว การถูกมองเห็นได้ สิ่งสำคัญ คือ โครงการนี้ก็เหมือนโครงการร่วมมือกันทั้งหมด มันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อพวกเราทุกคนร่วมมือกัน 

อย่าหลงลืมแม้เพียงวูบเดียว ว่าคุณเองก็เป็นมนุษย์ทางผ่าน เป็นมนุษย์ล่องหน ทุ่มเทแรงงานของตนลงไปในความว่างเปล่า เป็นเพียงผู้โดยสารคนนึงในเบาะหลังแท็กซี่ เป็นแค่ลูกค้าคนหนึ่ง ในร้านอาหารที่แออัด เป็นแรงงานล่องหนขายแรงงานของตน คุณเองคือความว่างเปล่า วิธีเดียวที่คุณจะมีตัวตนในสายตาของคนอื่น วิธีที่จะออกจากสภาวะทางผ่านนั้น คือ เราต้องออกจากมันให้ได้ด้วยกัน