เรื่อง1 ทักษภณ โฆษิตพิพัฒน์ (กลอง กบฏ)2
ภาพ TUMS
บรรณาธิการ Sarutanon Prabute
ปิยบุตร แสงกนกกุล ถือได้ว่ามีจุดยืนทางการเมืองแบบ Post-Marxism ตามแบบข้อเสนอของ เออร์เนสโต ลาคลาว (Ernesto Laclau) และ ชองตาล มูฟ (Chantel Mouffe) ซึ่งเขาเรียกว่า Post-Marxism เขาบอกว่า ที่ผ่านมาพวกมาร์กซิสต์อยากเปลี่ยนแปลงอะไรมักจะ ผลักไส(Exclude) ปัญหาของคนอื่นออกไป ชองตาล มูฟ เล่าว่า “ขบวนการเฟมินิสต์ กลุ่มความหลากหลายทางเพศ กลุ่มเรียกร้องประเด็นสิ่งแวดล้อม เวลากลุ่มคนเหล่านี้นำเสนอปัญหา พวกซ้ายดั้งเดิมจะบอกว่า ‘ถึงเรื่องนี้เป็นสำคัญแต่เชื่อเราเถอะ เราต้องเริ่มต้นที่กรรมกรแล้วปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพก่อน แล้วก็ Exclude คนอื่นออกไป’ ” มูฟ มองว่า เราไม่อาจอธิบายด้วยเส้นแบ่งอย่างเดิมได้แล้ว ให้แบ่งแบบใหม่ คือ คุณต้องไปรวมเอาความต้องการของสังคมจากคนทุกกลุ่มออกมาให้ได้
ผมเลยประยุกต์ทฤษฎีของ ลาคลาว กับ มูฟ มาใช้ คุณจะเชียร์พรรคการเมืองคนละพรรค ใส่เสื้อคนละสี เป็นเรื่องปกติในการเมืองแบบระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่ได้หมายความว่า คุยกันไม่ได้แล้วเปิดโอกาสให้ทหารเข้ามายึดอำนาจ ผมจึงเสนอให้ชี้ชวนดูความขัดแย้งชุดใหม่ที่ถูกต้อง คือ ทุกคน, คุณถอดสีเสื้อออกไปก่อนนะ คุณต้องการอะไรจากประเทศนี้ คุณทนเห็นอะไรในสังคมไทยไม่ไหวแล้ว ใน 14 ปี ที่ผ่านมา คุณมองเห็นอนาคตของลูกหลานไหม คุณมองเห็นเรื่องการศึกษาที่ดีมีคุณภาพไหม คุณมองเรื่องความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ไหม คุณต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีไหม ทุนผูกขาดรวบประเทศแบบนี้จะเอาหรือ ทฤษฎีซ้ายใหม่ของลาคลาวและมูฟ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากคาร์ล ชมิตต์ (Carl Schmitt) มาอีกที บอกว่า การเมืองเป็นเรื่องของขั้วตรงข้าม มีความขัดแย้งกันอยู่เสมอ แต่ความขัดแย้งในที่นี้ไม่ได้แบ่งครึ่งตามแนวดิ่ง (Vertical) แยกซ้าย-ขวา แบบเดิม แต่แบ่งแบบตัดขวางตามแนวนอน (Transversal) สิ่งสำคัญภายใต้การแบ่งแบบใหม่คือ คุณต้องนิยามให้ได้ว่าใครเป็น “เรา” และใครเป็น “เขา”
“เรา” ก็คือทุกคนที่ประสบปัญหาจากระเบียบโลกใหม่ ยากลำบากจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ ได้รับผลกระทบจากลัทธิเสรีนิยมใหม่ทางเศรษฐกิจ บางคนอาจจะชาตินิยมมาก บางคนอาจจะชาตินิยมน้อย คนทำงานการเมืองต้องไปคุยให้หมดทุกกลุ่ม ทุกคนคือ “ประชาชน” คือ “เรา” ซึ่งต้องร่วมกันต่อสู้กับ “เขา” – ชนชั้นนำจำนวนน้อยสังคม
มูฟบอกว่า นี่คือประชานิยมแบบซ้าย (Left Populist) ความต่างจากประชานิยมแบบขวา (Right Populist) คือ ผู้นำของประชานิยมแบบซายไม่ปลุกระดมเรื่องชาตินิยม แต่มีภารกิจสำคัญในการหลอมรวมผู้คนทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบจากระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ ไม่ว่าคุณจะเป็นแรงงานอพยพ ข้าราชการ นักศึกษา หรือ LGBT ก็ตาม ความท้าทายของแนวทางใหม่นี้ คือ จะหลอมรวมความต้องการที่แตกต่างหลากหลายจากคนทุกกลุ่มทุกประเภท อันเป็นผลพวงจากระบบโครงสร้างที่ผ่านมา มาเป็นความต้องการของสังคม (Social demand) ที่จะนำไปต่อสู้กับชนชั้นนำได้อย่างไร ศิลปะของผู้นำจึงอยู่ที่การสร้าง Chain of Equivalence หรือห่วงโซ่แห่งการเทียบเท่าเชื่อมโยง เพื่อสร้างความต้องการของทั้งสังคม แสวงหาความต้องการร่วมของ “เรา” เพื่อจะไปสู้กับ “เขา” หลอมรวมความต้องการของคนทั้งสังคมเหล่านี้มาชนกับชนชั้นนำซึ่งเป็นกลุ่มคน 1 % ที่ดูดซับเอาทรัพยากร อำนาจ และทุนของประเทศไว้อยู่กระจุกเดียว ส่วนคนที่เหลือไม่ว่าคุณจะชอบสีไหน เชียร์พรรคอะไร ต่างก็ต้องลำบากด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ในขณะที่ชนชั้นนำ 1 % นั้น ไม่ว่ารัฐบาลจะมาจากการเลือกตั้งหรือกองทัพ เขาก็อยู่ได้เหมือนเดิมตลอด ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ในทรรศนะของ อ.ปิยบุตร (ซึ่งดัดแปลงมาจากข้อเสนอของ Chantal mouffe) มีทรรศนะต่อสงครามและสันติภาพที่วางอยู่บน Democracy มากกว่าบน Liberalism เพราะปิยบุตรนิยามความเป็นเรา (A) ในความหมายที่เป็น คน 99% ที่ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบโลกใหม่แบบเสรีนิยม นิยาม “ศัตรู” ว่าเป็นคน 1 % ที่ดูดซับทรัพยากร อำนาจ เอาไว้แต่เพียงพวกเดียว
และปิยบุตร (เช่นเดียวกับ Mouffe และ Schmitt) ไม่เคยกล่าวเลยว่าเราควรจะทำอย่างไร กับ “เขา” ซึ่งในส่วนนี้ในสายตาของ Liberals อาจมองว่าเป็น “จุดอ่อน” ก็เป็นได้เพราะไม่ได้มีการกำหนด กฏเกณฑ์ กติกาสำหรับวิธีปฏิบัติต่อ ศัตรู (และแน่นอนว่าข้อเสนอของทั้ง 3 นั้น เสนอว่าทางออก คือ สงคราม (Conflict) ไม่ใช่ ฉันทามติร่วมของทุกคน (Consensus) ในขณะที่ฟากฝั่งของ Liberals จะต้องมี X (ศีลธรรม/ความยุติธรรม) ประกอบกับ A (ความเป็นเรา) จึงจะนำไปสู่ผล (Consensus) ได้ หรือ ต่อให้มีสงครามเกิดขึ้น สงครามเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น และ จะต้องมีศีลธรรมให้ได้มากที่สุด (เท่าที่จะเป็นไปได้) เช่น การจำเป็นต้องมีอนุสัญญาเจนีวา ที่วางมาตรฐานในการปฏิบัติต่อผู้เป็นเหยื่อของสงครามอย่างมีมนุษยธรรม
แต่กลับกันในทรรศนะของ Schmitt แล้ว “เรา” ไม่จำเป็นต้องสนใจ X (ศีลธรรม) ในการกระทำต่อ “เขา” ผลที่ออกมา คือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว,ยิปซี ฯลฯ การทรมานเชลยนักโทษต่าง ๆ ล้วนเป็นไปในนาม “สงครามที่ชอบธรรม” สำหรับ Schmitt แล้ว สงครามไม่ได้เป็นสิ่งที่จำเป็นและชอบธรรมเสมอไป หากแต่มีสงครามที่ไม่จำเป็น (สงครามอันหลีกเลี่ยงได้) และไม่ชอบธรรมอยู่นั่น คือ สงครามกลางเมือง (Civil war) ที่ Schmitt มองว่าสงครามกลางเมืองนั้นเป็นสิ่งไม่จำเป็นเพราะ มันคือสงครามที่ “เรา สู้กับ เรา กันเอง” (โดยความเป็นเราที่ว่านี่ คือ ความเป็นผู้มีเลือดอารยันเข่นฆ่ากันเอง)
เช่นเดียวกัน เมื่อ Mouffe นิยามความเป็น “เรา” ว่า คือ ผู้คนที่ประสบภัยจากระเบียบโลกใหม่และลัทธิเสรีนิยมใหม่ การที่ “เรา สู้กับ เรากันเอง” หรือก็คือ ประชาชนที่เป็นคน 99% ต้องมาต่อสู้กันเองด้วย เชื้อชาติ สีผิว เพศ ศาสนา หรือเหตุใดก็ตามเป็น “สงครามที่ไม่จำเป็น ไม่ชอบธรรม และ หลีกเลี่ยงได้) เป็นการต่อสู้ที่ผิด เพราะไม่ได้ต่อสู้กับ “ศัตรู” ที่แท้จริง และเช่นเดียวกับการต่อสู้ระหว่าง “เหลือง-แดง” ในประเทศไทย ซึ่ง “ต่างก็ต้องลำบากด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ในขณะที่ชนชั้นนำ 1 % นั้น ไม่ว่ารัฐบาลจะมาจากการเลือกตั้งหรือกองทัพ เขาก็อยู่ได้เหมือนเดิมตลอด ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง” ตามที่ อ.ปิยบุตรได้ว่าไว้ แนวคิดของ Schmitt มีที่มาจากคอนเซปเรื่อง Person เป็นผลรวมของ Legal และ Ethical ของมนุษย์ ในส่วนของ Legal เป็นฐานสำคัญของ Liberal อันนำไปสู่คอนเซป “การเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย” และความเป็นปัจเจกนิยม (รวมไปถึงความพหุนิยม) ซึ่ง Schmitt จะสนใจไปที่ด้าน Ethical โดยเขาอธิบายว่ามันเกิดขึ้นได้จากการ “สร้างศัตรูร่วมกัน” และในที่สุด ประชาธิปไตย (Democracy) ที่ปราศจากเสรีนิยม คือ State of war (เพราะถ้าไม่มีศัตรูที่ชัดเจน ก็จะไม่มีความเป็นเราที่ชัดเจนเช่นกัน) ความเป็นประชาธิปไตยอันเปลือยเปล่า แท้จริงแล้ว คือ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของมวลประชา ซึ่งในบริบทที่ Schmitt เสนอ ณ ตอนนั้นเขาเสนอว่า “เชื้อชาติ” เป็นสิ่งที่สามารถระบุ “ความเป็นเรา” ได้ง่ายที่สุด (ในยุคสมัยของเขา) และ มีศัตรูร่วมชาติ คือ “เชื้อชาติอื่น” Schmitt วิจารณ์หลักการเรื่อง “ความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย” อันเป็นหลักใหญ่ใจความของ Liberalism ว่าเป็นความเสมอภาคในนามธรรมที่กลวงเปล่า เพราะในความเป็นจริงแม้คนจนจะมีสิทธิฟ้องนายทุน แต่ถ้าฟ้องจริง ๆ ผลก็คือคนจนก็ตกงาน นอกจากนั้น ความเสมอภาคกันต่อหน้ากฏหมายไม่ได้ทำให้เกิดความเป็น “เรา” คนชนชั้นนายทุนกับกรรมาชีพก็ไม่ได้รู้สึกว่าพวกเขาเป็นพวกเดียวกัน เพราะเสมอหน้ากันในทางกฎหมาย ประชาธิปไตยของ Schmitt จึงคือความเป็นเนื้อเดียวกัน ความ “เท่ากัน” ในแง่การระบุตัวตน (identify) ว่าเรารู้สึกว่าเรา “เท่ากัน” เป็นพวกเดียวกัน ดังนั้นเขาจึงไม่เชื่อว่า Legal จะครอบ Ethical ได้ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมชาวอเมริกันในดินแดนแห่งเสรี โหวตเลือกประธานาธิบดี โดนัล ทรัมป์ ขึ้นมาเพราะเขาไม่ได้รู้สึก “อิน” กับเรื่อง PC และเรื่อง PC ก็ไม่ได้ทำให้เขารู้สึกว่าพวกเขาเป็นเนื้อเดียวกัน แต่สิ่งที่ทำให้ Mouffe ต่างจาก Schmitt คือ Mouffe คิดว่า พหุนิยม (Pluralism) กับ “ความเป็นเรา” มันสามารถไปด้วยกันได้ ในขณะที่ “ความเป็นเรา” ของ Schmitt คือ ความเป็นเลือดอารยัน (ซึ่งเป็นผลพวงจากฉันทามติของชาวเยอรมันในขณะนั้น) เท่านั้น นอกเหนือจากเลือดอารยัน คือ “ความเป็นเขา”
Mouffe เสนอว่าความเป็น “เรา” จะต้อง “บาง” มีความหลากหลาย และ Include คนจำนวนมากได้ ในขณะที่ “ความเป็นเขา” จะต้อง “หนา” (ชัด) วิธีคิดเรื่อง “ความเป็นเขา” จึงเป็นมรดกที่ Mouffe สืบทอดต่อมาจาก Schmitt (หรือก็คือ Schmitt เชื่อว่า “ความเป็นเรา” ถูกกำหนดโดยภายนอกอย่างเดียว แต่ Mouffe เชื่อว่าถูกกำหนดโดยภายในได้) ความเป็น “เรา” ในทรรศนะของ Mouffe เองก็มี X (ศีลธรรม) อยู่แต่เนื่องจากเขาเป็นนักคิดหลังยุค Post-Modern ซึ่งข้อคิดสำคัญที่ได้จากปรัชญาในยุคนั้น คือ วาทกรรมและการครอบงำ ยิ่งมีกฏเกณฑ์ทางศีลธรรมมากเท่าใด ก็ยิ่งมีความครอบงำมากเท่านั้น หากแต่ถ้าเราไม่เลือกใช้วาทกรรมใด ๆ เลย ก็ไม่สามารถก่อร่างสร้างกลุ่มทางการเมืองและนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เงื่อนไขในความเป็น “เรา” จึง มีแค่ 2 ข้อ คือ Equality(ความเสมอภาค) และ Freedom(เสรีภาพ) ซึ่งเปิดกว้างให้กับการตีความ “ประชาธิปไตย” ในอุดมคติของ อ.ปิยบุตร คือ ความเป็นเนื้อเดียวกันของประชาชน 99% ที่ทำสงครามต่อคน 1% และ ต่อระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ ซึ่งข้อจำกัดหรือปัญหาในทางทฤษฎีหากจะพึงมี คือ “แล้วเราจะทำอย่างไรกับศัตรู (คน 1%)” นั้น ในขณะที่ฟากฝั่ง Liberals มีสนธิสัญญาเจนีวาและสิทธิมนุษยชนเอาไว้ในการรองรับคำตอบ แต่ในฝั่งของ Democracy กลับไม่มี ซึ่งในส่วนนี้จะมองว่าเป็นข้อจำกัดก็ได้ หากแต่มันไม่ “ย้อนแย้ง” ในตัวเอง เนื่องจาก “ภาษาของสิทธิ” หรือหลักการทางนามธรรมต่าง ๆ เป็นชุดวาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้น และ อาจจะเป็นฉันทามติของผู้คน 99% หรือไม่ก็ได้ การที่นักคิดเหล่านี้จงใจละส่วนนี้ไว้ ก็เนื่องจากการที่พวกเขาไปกำหนดกฏเกณฑ์ว่า “ควรปฏิบัติต่อศัตรูอย่างไร” ก็จะเป็นการไป “คิดแทน” มวลชน ที่อยู่คนละบริบทกับพวกเขา ทั้งเวลาประสบการณ์และสถานที่ ควรปล่อยไว้ให้เป็นฉันทามติของมวลชน ณ ขณะนั้น จึงจะถูกต้องตามหลักการที่เสนอมาหรือถึงที่สุดถ้าหากมติมหาชน (99%) ออกมาว่าให้กระทำความรุนแรงต่อคน 1% ขึ้นมาจริง ๆ คำถามที่น่าคิดทบทวน คือ
ข้อที่ 1. “ความรุนแรง คือ อะไร ?” สภาพความเป็นอยู่ของผู้คนส่วนใหญ่ในโลกภายใต้ระบอบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ ที่ต้องทุกข์ทรมาน อยู่กับความยากจน หลายล้านคนขาดเครื่องอุปโภคบริโภค หลายล้านคนถูกใช้แรงงานจนเสียชีวิต หลายล้านคนถูกขูดรีดจนไม่มีเงินสำหรับค่ารักษาพยาบาล สิ่งเหล่านี้ไม่นับเป็นความรุนแรงหรือ ? แล้วทำไมความรุนแรงที่เกิดกับคนกว่า 99% กับมีค่าแค่เท่ากับหรือน้อยกว่าความรุนแรงที่จะเกิดกับคน 1% ?
ข้อที่ 2. “คน 1 % นั้นต้องเป็นคนประเภทใด ?” เนื่องจากฉันทามติที่มาจากคน 99% คือการล้มเลิกระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ ที่ให้คุณประโยชน์แค่กับคน 1 % และ เงื่อนไขในการเป็นคน 99% ก็มีเพียงแค่เชื่อในความ “เสมอภาค และ เสรีภาพ” ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่พื้นฐานมาก ๆ
ถ้าคนที่จะตั้งตัวเป็น “ศัตรู” กับคน 99% เพราะเขาต่อต้านความ เสมอภาค และ เสรีภาพ หรือต้องการรักษาไว้ซึ่งระบบที่ “กระทำความรุนแรง” และเอาเปรียบคนส่วนใหญ่ในสังคมเพื่อประโยชน์ของตัวเขาเอง ก็แปลว่าตัวเขาไม่ได้ปฏิเสธ “ความรุนแรง” ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว นอกเหนือไปกว่านั้น คือ “หลักการสิทธิมนุษยชน” ถูกประกอบสร้างขึ้นโดยกระฎุมพีกลุ่มหนึ่ง และ แพร่กระจายออกไปเป็น “ความจริง (Truth)” ภายใต้เงาของลัทธิทุนนิยมและจักรรดินิยมอเมริกา ทำไมชุดวาทกรรมนี้จะไม่สามารถถูกรื้อสร้างหรือปรับปรุงได้โดยน้ำมือของมนุษย์ยุคปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นคนส่วนใหญ่ 99% ? ทำไมเราต้องสยบยอมต่อชุดวาทกรรมที่ “มีส่วน” ในการกดขี่คน 99% หรือชุดวาทกรรมที่ทำให้ “ความรุนแรง” ที่เกิดกับคน 99% อันเป็นผลจากระบบที่ล้าสมัยเป็นเรื่อง “ธรรมชาติ” (เช่น ชุดวาทกรรม ปลาใหญ่กินปลาเล็ก,บุญทำกรรมแต่ง,โชคชะตาฟ้าลิขิต,กฎแห่งป่า,There is no alternative ของ Thatcher ฯลฯ)
ในส่วนของปํญหาและข้อจำกัดในภาคปฏิบัติ ปัญหาและข้อจำกัดในภาคปฏิบัติถือว่ามีมากมายกว่าในทางทฤษฎีมาก ๆ เพราะแนวคิดของ Mouffe จะต้องต่อสู้แย่งชิงมวลชนกับพวกประชานิยมฝ่ายขวา และ กลุ่มคนที่เห็นด้วยกับระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่
ในส่วนของการต่อสู้กับพวกประชานิยมฝ่ายขวานั้น มีความท้าทาย คือ พวกฝ่ายขวามีความชำนาญในการฝังรากแห่งความเชื่อและอุดมการณ์ลงในมวลชนของ พวกเขามีอาวุธที่ร้ายแรงมากอย่าง “พิธีกรรม” อยู่ ซึ่ง “พิธีกรรม” ดูจะเป็นสิ่งที่ในภาคปฏิบัติฝ่ายซ้ายและลิเบอรัล ไม่ใคร่ให้ความสำคัญนัก เนื่องจากมองว่าเป็นผลิตผลจากศาสนาที่ไร้เหตุผลและล้าหลัง แต่ในภาคปฏิบัติการแล้วมันได้ผลอย่างมากในระดับจิตใต้สำนึกของมนุษย์ การสามารถตอบตัวเองว่า “ฉันได้ทำสิ่งนี้ ฉันจึงเป็นคนดี และ รู้สึกดีกับตัวเอง” เป็นความสามารถที่ฝ่ายขวาจารีตมีเหนือฝ่ายซ้าย และ เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญว่าทำไมฝ่ายขวาส่วนใหญ่จึงมีสุขภาพจิตที่ดี และ มีความเหนียวแน่นสามัคคีสูง ในขณะที่ปัจจุบันโรคทางจิตแพร่ระบาดในหมู่คนรุ่นใหม่เสรีนิยมและฝ่ายซ้าย (แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคน)ซึ่งสุขภาพจิตที่ดี ซึ่งมาจากการสามารถรู้สึกดีกับตัวเองได้ เป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ฝ่ายซ้ายมีความเหนียวแน่นต่อกัน และ มีสุขภาพจิตที่ดี ฝ่ายซ้ายควรจะมี “พิธีกรรม” ซึ่งสร้างความรู้สึกที่ “ตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของมวลรวมขนาดใหญ่” เป็นความรู้สึกทางจิตวิญญาณถึงสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเอง ซึ่งเรื่องนี้ย่อมจะถูกต่อต้านจากคนที่ยังไม่ได้เข้าใจในระบบการทำงานของ “อุดมการณ์” และ จิตวิทยาการเมือง หรือ ยังไม่หลุดพ้นจากกับดักของ “Rationality”
เมื่อเนื้อแท้ของประชาธิปไตย คือ ความรู้สึกเป็นเนื้อเดียวกัน เป็นสำนึกของตัวตนในลักษณะรวมหมู่(Collectivism) แล้วไซร้ สำนึกแบบ “ปัจเจกนิยม” (Individualism) ที่ตั้งอยู่ด้านตรงข้ามของประชาธิปไตย แต่ถูกนำมาแอบแฝงโดยลัทธิเสรีนิยมก็จะต้องถูกท้าทายผ่าน “พิธีกรรม” ดังกล่าวเช่นเดียวกัน สำนึกแบบปัจเจกนิยม ยังเป็นเหรียญอีกด้านของ ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ ที่วางอยู่บนแนวคิด “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” และ American dream ซึ่งเป็นปัจเจกนิยมสุดขั้ว ที่ในที่สุด ตระหนักถึงตัวเองในฐานะที่เป็นปัจเจกแยกออกจากมนุษย์คนอื่น คำนึงเพียงการสะสมทุน และ มองมนุษย์คนอื่น ๆ เปรียบเสมือนวัตถุซึ่งเอาไว้ตักตวงผลประโยชน์ และ สร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำดังกล่าวผ่านขุดวาทกรรม “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก,กฎแห่งป่า,สัจนิยมแบบทุน ฯลฯ)
อุดมการณ์แบบปัจเจกนิยม,เสรีนิยมใหม่ เป็นอุดมการณ์ที่ถูกผลิตซ้ำ (ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ) จากสื่อของประเทศอเมริกา และ ประเทศที่นายทุนถืออำนาจสูงสุด (ครอบครองทรัพยากรและปัจจัยการผลิตสูงสุด) และได้เผยแพร่ออกไปทั่วโลกผ่านกระแสโลกาภิวัฒน์ และ เทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ ๆ ในปัจจุบัน ทำให้จิตสำนึกแบบ ปัจเจกนิยมสุดขั้ว นี้ฝังรากอยู่ใน “จิตใต้สำนึก” ของผู้คนทั่วโลกที่ได้รับสื่อนั้น (และแน่นอนว่าเมื่อมันเป็น “อุดมการณ์” ซึ่งทำงานในระดับจิตสำนึก ตัวผู้สมาทานอุดมการณ์ไม่จำเป็นต้องรู้สึกตัวว่าตัวเองเชื่อในอุดมการณ์แบบไหน แต่อุดมการณ์นั้นจะเป็นตัวสั่งเขาให้ประเมินสถานการณ์ใดว่าเป็น “ธรรมชาติ” หรือ “ไม่เป็นธรรมชาติ”
ดังนั้น Mouffe , ขบวนการฝ่ายซ้ายอื่น ๆ ทั่วโลก และ อ.ปิยบุตร ไม่เพียงแต่ต้องสู้กับแนวคิดแบบฝ่ายขวาจารีตเท่านั้น (Ethical แบบเก่าภายในประเทศ) แต่ต้องสู้กับความเชื่อใน “เศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่” “สำนึกแบบปัจเจกนิยมสุดขั้ว” ที่สร้างภาพฝันว่า “ใคร ๆ ก็ประสบความสำเร็จในชีวิตได้ หากพยายามมากพอ พวกที่พ่ายแพ้เป็นพวกไร้ความพยายาม หาใช่ความผิดของรัฐหรือระบบใดๆ แต่เป็น “กลไกตามธรรมชาติ “ และตอบแทนผู้ศรัทธาส่วนใหญ่ที่ไม่ได้สังกัดในชนชั้นนายทุน ด้วยการไม่มีงานทำ,รัฐที่ไร้รัฐสวัสดิการ,หนี้ที่ไม่มีวันใช้หมด และ การโทษตัวเองว่าไม่มี “ความพยายามหรือศักยภาพ” มากพอ จนนำไปสู่อาการทางจิตต่าง ๆ
แต่ปัญหาในภาคปฏิบัติดังกล่าวนี้ ก็อาจไม่ได้น่าสิ้นหวังขนาดนั้น เนื่องจาก Chain of Equivalent (ฉันทามติร่วม) ที่อ.ปิยบุตร จะต้องสร้างไม่ได้เรียกร้องถึงขนาดที่ผู้คนต้อง ละทิ้งจารีตประเพณี ความเชื่อ สีเสื้อ อัตลักษณ์ความหลากหลายต่าง ๆ ไป หากจุดร่วมที่ต้องมี คือ “ความสำนึกในฐานะที่ตัวเองเป็นคน 99% ซึ่งถูกระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ (ในบริบทไทยก็ต้องเพิ่ม ระบอบอุปถัมภ์และศักดินาเข้าไปด้วย)ก่อกรรมทำเข็ญ ก็เพียงพอสำหรับนิยามความเป็น “เรา” โดยในขบวนการแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้ จะยังรักษาความพหุนิยม เอาไว้ได้โดยไม่จำเป็นต้องบังคับให้ทุกคนต้องเหมือนกันหมด แบบที่เคยเกิดขึ้นกับการปกครองของ ฮิตเลอร์ หรือ สตาลิน
1 บทความนี้เป็นบทความที่เขียนส่งอาจารย์ในวิชา PO315 ปรัชญาสงครามและสันติภาพ
2 สมาชิกก่อตั้งกลุ่มมาร์กซิสต์ศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TUMS)