ต้นฉบับ Comrade S!ink


ผู้อ่านอาจเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า เราควรจะทำอย่างไรต่อหลังจากโซตัสตายแล้ว นอกจากการเฉลิมฉลองต่อความตายของสิ่งที่เป็นเหมือนฐานอำนาจการกดขี่ และ พรากชีวิตผู้คนไปบนความไร้เหตุผลอย่างระบบอาวุโสนิยม ความจำเป็นในการทำความเข้าใจเรื่องดังกล่าวก็ คือ “เด็กในวันนี้ คือ ผู้ใหญ่ในวันหน้า” เราต้องไม่ลืมว่าระบบอาวุโสนิยมนั้นฝังรากลึกในสังคมไทยมาแสนนาน แม้กระทั่งในระบบภาษา เช่น เราเรียกใครสักคนนึงด้วยคำว่า “พี่” หรือ “น้อง” นำหน้าตามด้วยชื่อบ่อยกว่าการเรียก “นาย” (Mister) “นางสาว” (Miss) แบบที่ชาวตะวันตกเรียกกันซึ่งทางฝั่งเขาดูจะให้ความสำคัญกับการแบ่งแยกเพศมากกว่าอายุ แม้กระทั่งสิ่งของ (Object) เองก็ยังต้องมีการแบ่งเพศในภาษาของชาวยุโรปตะวันตก

สลาวอย ชิเช็ค ชี้ให้เห็นถึงคำถามสำคัญในงานเขียนของเขาอยู่บ่อยครั้งว่า “นอกจากคำถามเรื่องจากปฏิวัติอย่างไรแล้ว คำถามที่สำคัญกว่า คือ หลังปฏิวัติได้แล้วเราจะทำอะไร” เหมือนที่ เลนิน เองก็เคยกล่าวไว้ว่าวันที่ยากที่สุด คือ “วันแรกหลังจากปฏิวัติได้สำเร็จแล้ว” เหมือนที่ นีทเช่ เองก็ตั้งคำถามในทำนองว่า “อะไรจะเกิดขึ้นต่อหลังความตายของพระเจ้า” 

ในปัจจุบันกระแสการ Anti-Sotus นั้นค่อนข้างจะเป็นฉันทามติในหมู่เยาวชนหัวก้าวหน้าพอสมควร จะเห็นได้จากการล่มสลายของ “ระบบโต๊ะ” ในธรรมศาสตร์ การล่มสลายของหลายชุมนุมชมรมในรั้วมหาลัย การประกาศกฎหมายปราบปรามการรับน้องโหดอย่างจริงจังในหลายๆ สถาบัน แม้ว่าในปัจจุบันจะยังมีสถาบันศึกษาที่ยังยึดมั่นในระบบโซตัสอยู่ แต่กระแสสังคมจะไม่มีทางหวนกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้อีก ในหมู่นักกิจกรรมและผู้คนในฝ่ายประชาธิปไตยก็มักจะใช้สรรพนาม “ผม-เรา กับ คุณ” แทนที่ “พี่-น้อง”

หากเราจะมองเรื่องนี้อย่างมาร์กซิสต์แล้ว เราย่อมต้องมองในกรอบของ “วัตถุนิยมประวัติศาสตร์-วิภาษวิธี” หรือก็ คือ ค่านิยม ความเชื่อ จารีต นั้นไม่ได้เกิดจากสุญญากาศ มันล้วนมีสภาพทางวัตถุของสิ่งที่ดูเป็นนามธรรม มันมีเงื่อนไขในการดำรงอยู่ของมัน และ ในทุกๆการดำรงอยู่ของสรรพสิ่งย่อมมีความขัดแย้งในตัวเอง นอกจากนี้จารีตที่สิงสถิตย์กับผู้คนมาแสนนานจนราวกับเป็น “จิตวิญญาณประชาชาติ” (Volkgeist) ย่อมหยั่งรากลงในระดับจิตใต้สำนึก (อุดมการณ์) จึงเป็นการยากที่จะบอกว่า “แค่ทำเหมือนมันไม่มีจริงเดี๋ยวมันก็หายไปเอง” ได้ 

เราจึงต้องมาทบทวนกันว่า “อะไรหายไปบ้างพร้อมกับความตายของอาวุโสนิยม ?” ซึ่งเป็นคำถามในตรรกะเดียวกันกับ “ปฏิวัติสำเร็จแล้วจะทำยังไงต่อ ?” เพื่อนำไปสู่ Synthesis ของกระบวนการวิภาษวิธี 

ในกรณีนี้
Thesis = Sotus
Anti-Thesis = Anti-Sotus
Synthesis = ?

ในส่วนของ “ข้อเสีย” ของระบบอาวุโสนิยมพวกเราในที่นี้ล้วนแต่ทราบกันเป็นอย่างดี คงไม่จำเป็นต้องแจกแจงมาก โดยคร่าวก็ คือ เป็นอิทธิพลของแนวคิดศักดินา ลำดับชั้น การเล่นเส้นสาย แน่นอนว่านำไปสู่การคอร์รัปชั่น การใช้อำนาจเผด็จการ (ของรุ่นพี่) การลิดรอนสิทธิ (ของรุ่นน้อง) การขวางกั้นเสรีภาพ ฯลฯ 

ซึ่งการมองแต่ในด้านที่เป็นข้อเสียนั้นไม่ใช่การมองแบบวิภาษวิธี และ เป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผลที่บางสิ่งที่มีเพียงโทษแต่ไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิงจะดำรงอยู่ได้อย่างยาวนาน เราควรมองว่ามันเป็นเครื่องมือทางสังคมแบบนึงที่ “ล้าสมัยแล้ว” แต่สมัยนึงมันย่อมมีประโยชน์เช่นเดียวกับเครื่องมือ (เทคโนโลยี) ทางวัตถุ

ประโยชน์ของระบบอาวุโสนิยม เท่าที่ผู้เขียนจะสังเกตได้ คือ
1. การชี้แนะแนวทางระหว่างผู้มีประสบการณ์มากกว่า แก่ผู้ที่มีน้อยกว่า (ประสบการณ์ในที่นี้ย่อมรวมถึง “ความรู้” ด้วย)
2. ความเมตตา เป็นมิตร เป็นห่วงเป็นใย ความช่วยเหลือเกื้อกูลที่รุ่นพี่มีต่อรุ่นน้อง
3. ความใจเย็น อดทน เข้าใจ ต่อสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควรของรุ่นน้อง 

ระบบอาวุโสนิยมจึงเป็นการผสมผสานของด้านดีและด้านเสียเหล่านี้ไว้ด้วยกัน ส่วนในมิติทางประวัติศาสตร์ของอาวุโสนิยม ก็มาจากครั้งดึกดำบรรพ์เรื่อยมาจนกระทั่งวันที่คนไทยสามารถอ่านออกเขียนได้ “ความรู้” ไม่ว่าจะในทางการใช้ชีวิต ประดิษฐ์ข้าวของเครื่องใช้ ทำอาหาร ทำยารักษาโรค หรือ การพัฒนาสุขภาพร่างกายจิตใจ ล้วนแต่ผูกขาดอยู่กับ “ผู้อาวุโส” ดังนั้นการเชื่อฟังผู้อาวุโสย่อมหมายถึงความรอดชีวิตทั้งในเชิงรูปธรรม และ นามธรรม 

แต่เทคโนโลยีที่เรียกว่า “อาวุโสนิยม” ถูก disrupted ด้วยสื่อสิงพิมพ์รวมไปถึงสื่อออนไลน์ทำให้ทรัพยากรความรู้ไม่ได้ถูกผูกขาดอยู่ที่ผู้อาวุโสอีกต่อไป ทำให้ความเสื่อมสลายของอาวุโสนิยมได้เริ่มต้นขึ้น พร้อมกับการเข้ามาของแนวคิดปัจเจกนิยม (Individualism) ก็เปรียบเสมือนการสาดน้ำเย็นใส่สังคมศักดินามุขปาฐะให้ตื่นขึ้นแต่ในขณะนี้ยังอยู่ในสภาวะช็อคจนรวมตัวไม่ติดกันอยู่ 

ทั้งนี้ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับ เรอเน่ เดสการ์ต ที่บอกว่า “เพราะฉันคิด ฉันจึงมีอยู่” หรือแนวคิดต่างๆ ที่มองว่าแก่นสารของความเป็นมนุษย์นั้นอยู่ที่ความรู้ ความคิด ความเข้าใจเท่านั้น หากแต่มนุษย์มีเลือดเนื้อและจิตใจ มีอีกหลายอย่างที่ “หนังสือ” ไม่สามารถเข้ามาแทนที่ความสัมพันธ์ต่อมนุษย์อีกคนได้ 

สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้และอนาคตอาจเป็นสังคมในอุดมคติของพวกเสรีนิยมปัจเจกนิยม ที่ผู้คนหมกมุ่นแต่เรื่องของตัวเอง รักษาระยะห่างต่อกันในความสัมพันธ์ วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างไร้เยื่อใย ความยากลำบากในการก่อรูปองค์กร, ขบวนการ หรือแม้แต่ชุมนุมชมรมในมหาลัย 

แต่สิ่งที่ไม่ได้นำไปสู่ความก้าวหน้าแก่สังคมแต่อย่างใด เพราะ “ปัจเจกอันมีเสรีภาพส่วนบุคคล” เหล่านี้ไม่สามารถจะรวมตัวกันเป็นกลุ่มที่มีอำนาจต่อรองต่อรัฐได้ เป็นได้เพียง “ปลาในบ่อ” ของพรรคการเมืองที่มีหน้าที่รอไปกาบัตรเลือกตั้ง ระหว่างรอก็คอยจับผิด ทะเลาะเบาะแว้งกันเองในเรื่องที่ไม่สำคัญ จนเป็นที่ขบขันของฝ่ายขวา

สิ่งนึงที่เห็นได้ชัดของการ “ขาดความเมตตา” ต่อคนที่มีความรู้น้อยกว่าก็ คือ ปฏิกิริยาของ “คนหัวก้าวหน้า” ที่มีต่อคนที่มีความรู้ทางการเมืองต่ำกว่าตนในโลกออนไลน์มักจะเป็นไปในท่าทีของการเหยียดหยามกึ่งสั่งสอนว่าคนพวกหลังเป็นพวก “ไร้การศึกษา” ดังนั้นจึงต้องโดน “เอ็ดดูเขต”  โดยท่าทีเหล่านี้แม้จะดูเหมือนหมายถึง “การศึกษาภาคบังคับ” แต่ในความเป็นจริงสถาบันการศึกษาภาคบังคับหากไม่ใช่สายมนุษย์ศาสตร์-สังคมศาสตร์ก็ไม่ได้มีการบรรจุเรื่องก้าวหน้าๆ ทางการเมืองไว้ในหลักสูตร

นัยของการเหยียดหยามดูแคลนเหล่านี้แท้จริงจึงหมายถึงการ “ไม่อ่านหนังสือ” 

ในเมื่อ “หนังสือ” หรือ “อินเทอร์เน็ต” เป็นสิ่งที่ไม่ได้ถูกปิดกั้นจากภาครัฐจึงมีความคาดหวังลึกๆ ว่าปัจเจกพึงอ่านหนังสือกันเอาเองได้ ในเมื่อฉันทำได้ คนอื่นก็ต้องทำได้เหมือนกัน! ซึ่งหากเรามองกลับไปในประวัติศาสตร์แล้วทางซีกโลกตะวันตกที่เรารับเอาวัฒนธรรมลิเบอรัลมา ก็ได้มีการประดิษฐ์แท่นพิมพ์ของ “โยฮันเนิส กูเทินแบร์ค” ทำให้การผลิตหนังสือแบบ Mass production เกิดขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 และต่อมาเมื่อมีการเกิดขึ้นของศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ ที่ไม่เห็นด้วยกับการผูกขาดอำนาจความศักดิ์สิทธิ์ของศาสนจักร (ซึ่งก็รวมถึงอำนาจในการ “ตีความ” พระคัมภีร์) ก็ได้เสนอหลักการอันเป็นมรดกตกทอดมายังแนวคิดเสรีนิยมทุกวันนี้ นั่นคือหลักการ “sola scriptura” ที่หมายถึง “เพียงพระคัมภีร์ก็เพียงพอ” ปัจเจกไม่จำเป็นต้องเข้าถึงพระเจ้าผ่านตัวกลางที่เป็นมนุษย์อันมีลำดับชั้น ไม่ว่าจะเป็น บิช็อป คาร์ดินัล โป๊ป ฯลฯ แต่สามารถเข้าถึงพระเจ้าได้โดยตรงผ่านการอ่านพระคัมภีร์ 

เมื่อเทคโนโลยีการผลิตเปลี่ยนโครงสร้างส่วนบนก็เปลี่ยนตาม พระคัมภีร์ไบเบิลจึงกลายเป็น “หนังสือที่ต้องมีทุกบ้าน” แนวคิดของการ “แยกห้องนอน” หรือ “พื้นที่ส่วนตัว” ก็เกิดตามมาเพื่อให้ปัจเจกมีที่เงียบๆ ไว้อ่านหนังสือ (ไบเบิล) จึงไม่แปลกใจที่คำด่าคนโง่ของชาวตะวันตกและชาวไทยหัวใจตะวันตก จะเป็นแนว “ไอ้พวกไร้การศึกษา” มากกว่า “ไอ้พวกพ่อแม่ไม่สั่งสอน” 

ในขณะที่ราชอาณาจักรไทยเราที่มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติในทางพฤตินัย ไม่ใช่ทุกบ้านจะมี “พระไตรปิฎก” และชาวพุทธน้อยคนนักที่จะเคยอ่านพระไตรปิฎก และน้อยลงไปอีกที่จะหาคนอ่านพระไตรปิฎกจบเล่ม ก็เป็นได้ว่าสาเหตุที่ผู้คนอ่านพระไตรปิฎกน้อยอาจเพราะมันยาว และ หนากว่าไบเบิลมาก แถมสำนวนภาษายังวกวน แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดวัฒนธรรมแบบ “อาจาริยวาท” หรือการถ่ายทอดความรู้แบบมุขปาฐะ (ปากต่อปาก) โดยชาวพุทธไทยนั้น “สนิท” กับพระเกจิอาจารย์ต่างๆ มากกว่าธรรมะจากพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฏก ช่วงก่อนมีอินเทอร์เน็ตยังมีคำกล่าวกันว่า “คนไทยอ่านหนังสือไม่เกินปีละ 8 บรรทัด” ซึ่งต่อให้มีอินเทอร์เน็ตซึ่งทำให้การอ่านง่ายขึ้นแล้ว แต่เพราะพวกเรา (อันหมายถึงผู้คนในซีกโลกใต้ด้วย) ไม่เคยชินกับวัฒนธรรมการอ่าน ก็ทำให้สกิลการจับประเด็น การอ่านแนววิพากษ์ การเรียบเรียง และ จัดระเบียบองค์ความรู้ไม่แข็งแรงพอจะรองรับข้อมูลที่ถาโถมเข้ามาอย่างกะทันหันจากโลกอินเทอร์เน็ต

ที่กล่าวมาผมไม่ได้จะดูถูกคนไทยว่าเป็นพวก “ไร้การศึกษา-ล้าหลัง” หรือ เสนอแบบพวกสลิ่มว่าต้อง “ต่อต้านอะไรก็ตามที่ไม่ไทย” หากแต่จะชี้ให้เห็นถึงปัญหาทางวัฒนธรรมที่อาจถูกลืมเลือน ในการไปสู่ Synthesis ก็อาจเป็นได้ทั้ง

  1. ทำอย่างไรให้คนไทยมีวัฒนธรรมการอ่านที่แข็งแรงแบบชาวตะวันตก
  2. ทำอย่างไรให้การถ่ายทอดความรู้แบบมุขปาฐะ หรือ ถ่ายทอดด้วยภาพ, เสียง มีประสิทธิภาพขึ้น
  3. ทำอย่างไรให้เกิดจิตสำนึกของผู้ใหญ่ (ไม่ใช่เพียงเรื่องอายุแต่หมายถึงการถือไว้ซึ่งอำนาจเหนือกว่าในทุกรูปแบบ) มีน้ำใจ, มีความเมตตา และ รู้สึกมี “ความรับผิดชอบ” ต่อผู้น้อย โดยไม่ทำให้ความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นการไปกดทับ-ขูดรีดผู้อื่น

ผมตั้งใจว่าบทความนี้จะไม่ใช่จุดสิ้นสุด หากแต่เป็นจุดเริ่มต้นของการนำทฤษฎีชาวตะวันตกมาปรับใช้กับสภาพทางวัตถุ – ประวัติศาสตร์ของประเทศไทยในการใช้สร้างเสริมขบวนการฝ่ายคอมมิวนิสต์ให้มีความเข้มแข็งสืบไป 

เพิ่มเติมจากผู้เขียน : 

ปล.1 ในบทความนี้ผู้เขียนใช้คำว่า “โซตัส” ในความหมายของ “ค่านิยมอาวุโสนิยม” อาจไม่กินความหมายครอบคลุมถึง “โซตัส” ในการรับน้องมหาลัยซึ่งไม่ใช่ระบบอาวุโสนิยมเดี่ยวๆแต่เป็นระบบอาวุโสนิยม + ความเป็นฟาสซิสต์ซึ่งจะเพิ่มเติมข้อเสียเรื่องการเกลียดชังความแตกต่าง การบังคับให้เชื่อง ความทารุณทางร่างกายและจิตใจ รุ่นพี่ถูกเสมอไม่ว่ากรณีใดๆ เข้ามาด้วย จึงเป็นคำถามสำคัญอีกอย่างที่ควรพิจารณาว่าระบบอาวุโสนิยมแบบไทยๆ กับ “ระบบโซตัส” ที่เป็นของนำเข้าจากนักเรียนโรงเรียนกินนอนประเทศอังกฤษนั้นมีความแตกต่างกันในรายละเอียดอย่างไร

ปล. 2 หากจะโฟกัสที่โซตัสในความหมายของการรับน้อง ก็จะเห็นฟังก์ชันอย่างนึงที่พ้นไปจากความเป็นอาวุโสนิยมเดี่ยวๆ คือ เป็นเครื่องมือที่สลายความคิดแบบปัจเจกนิยมทำให้เกิดความเป็นคอมมูนขึ้นได้จากเด็กปี 1 ที่ต้องเริ่มหาเพื่อนใหม่ในมหาลัยฯ การรับน้องโหดมีปฏิบัติการณ์ คือ “สร้างสถานการณ์ที่รู้สึกกดดัน,อันตรายขึ้นมาเพื่อให้ผ่านเหตุการณ์นั้นไปร่วมกัน” ซึ่งเรื่องนี้จะมีคำอธิบายแนวประสาทวิทยาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เมื่อสถานการร์แนว “ลำบากไปด้วยกัน” ได้หายไปแน่นอนว่ามีข้อดีในเรื่องการละเมิดสิทธิและใช้อำนาจกดขี่น้อยลง และ ผู้เขียนเองก็ไม่ประสงค์ให้รื้อฟื้นระบบล้าหลังนี้กลับมาใช้ แต่ก็ทำให้กระบวนการสร้างคอมมูนยากขึ้น คำถามสำคัญของเรื่องนี้ไม่ใช่การเลือกระหว่าง “คอมมูนแบบล้าหลัง” หรือ “ปัจเจกนิยมต่างคนต่างไป” แต่คือการสร้าง “คอมมูนที่ก้าวหน้า ที่ทุกคนล้วนมาร่วมกันแลกเปลี่ยนสร้างสรรค์โดยไม่กีดกันความแตกต่าง หรือ การใช้อำนาจเผด็จการ”  

เสรีภาพนั้นมาพร้อมกับความวิตกกังวล เพราะเราต้อง “เป็นผู้เลือกเอง” ซึ่งการละเลยมิติด้านลบของเสรีภาพปัจเจกบุคคลเคยมีให้เห็นในประวัติศาสตร์ของไวมาร์เยอรมัน ที่เมื่อสังคมถูกครอบงำด้วยปัจเจกนิยมและไม่สามารถสร้างคอมมูนที่ก้าวหน้าขึ้นมาได้ ผู้คน “ลิเบอรัลหัวก้าวหน้า” ที่กำลังหลงทางในขณะนั้นเลือกยอม “ทิ้งเสรีภาพของตัวเอง” เพื่อเข้าร่วมกับพรรคนาซี 

การละเลยความจำเป็นในการสร้างคอมมูนที่ก้าวหน้าจึงไม่ต่างอะไรกับการแผ้วถางทางสำหรับการกลับมาใหม่ของฟาสซิสต์ หรือ ระบบโซตัส ที่อันตรายยิ่งกว่าเดิม