ผู้ขียน Anonymous
ผู้แปล Pathompong Kwangtong

ระหว่างที่พำนักอาศัยอยู่ ณ ประเทศไทยเป็นเวลาหลายปี ผมเผชิญกับสถานการณ์ที่จำเป็นต้องอธิบายเรื่องศาสนายูดาย (Judaism) อยู่บ่อยครั้ง  ทั้งผมและภรรยาที่ไม่ได้นับถือศาสนาใดๆ ด้วยกันทั้งคู่ ต่างเติบโตมาในครอบครัวชาวยิว  ไม่แปลกเลยที่ปกติแล้วเราจะเจอกับชาวไทยที่พูดกับเราว่า ‘โอ้คุณเป็นยิวหรอ อิสราเอลใช่ไหม เป็นประเทศที่ดีนะ…’ แล้วพวกเขาก็ต้องประหลาดใจที่เราพยายามจะอธิบายว่าเราไม่ชอบอิสราเอลและจุดยืนทุกสิ่งอย่างของประเทศนั้นอย่างไรบ้าง  ดังนั้น ผมคิดว่าข่าวสั้นประจำสัปดาห์ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเรื่องแรกนี้ ผมจะพาทุกท่านสำรวจปมปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ เพราะในประเทศไทยมีความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นนี้ผิดไปเยอะพอสมควร

ดินแดนที่ปัจจุบันเราเรียกว่าอิสราเอลนั้นเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูงมากมาโดยตลอดในประวัติศาสตร์  ที่แห่งนั้นมีวัดและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มากมายทั้งของศาสนา คริสต์ ยูดาย และอิสลาม สถานที่สำคัญทางศาสนาต่างๆ มีความสำคัญอย่างมากต่ออิทธิพลในดินแดนแห่งนั้น

ระหว่างยุคล่าอาณานิคม ดินแดนแห่งนั้น แรกเริ่มเดิมทีถูกบริหารจัดการเป็นเวลาหลายศตวรรษโดยจักรวรรดิอ็อตโตมัน (ปัจจุบันคือตุรกี) แล้วหลังจากนั้นก็ตกเป็นปาเลสไตน์ในอาณัติของจักรวรรดิอังกฤษในช่วงเวลาสั้นๆ  ในช่วงเวลาที่อังกฤษเข้าครอบครอง พื้นที่แห่งนั้นประกอบไปด้วยประชากรมุสลิมชาวอาหรับ 78% ชาวยิว 11% และชาวคริสต์ 10% โดยประมาณ

ระหว่างนั้น ชาวยิวส่วนใหญ่กระจัดกระจายไปทั่วยุโรป พวกเขาอยู่ร่วมกับชาวคริสต์ บางครั้งก็สุขสบายดี แต่หลายครั้งก็ไม่  ชาวยิวยุโรปเหล่านี้มีวัฒนธรรมและชาติพันธ์ุใกล้เคียงชาวยุโรปอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับชาวยิวตะวันออกกลางที่อยู่ในปาเลสไตน์

ภายหลังจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญของสงครามโลกครั้งที่สอง จากการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุชาวยิว โรมานี สลาฟ กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ผู้พิการ และฝ่ายซ้าย  องค์การสหประชาชาติที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่จึงได้มีมติว่าชาวยิวควรมีประเทศของตัวเอง

นี่เป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับมุสลิมชาวอาหรับซึ่งเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในดินแดนปาเลสไตน์ เพราะดินแดนของพวกเขาถูกเลือกให้เป็นที่สถาปนารัฐใหม่ของชาวยิว  เมื่อปี 1948 รัฐสมัยใหม่อย่างอิสราเอลก็ถูกสถาปนาขึ้น  องค์การสหประชาชาติประกาศว่าดินแดนแห่งนั้นควรแบ่งกันระหว่างสองรัฐอิสระ กล่าวคืออิสราเอลและปาเลสไตน์  อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้ก็ส่งผลให้เกิดการผลักชาวพื้นเมืองปาเลสไตน์ออกจากพื้นที่อย่างมากมายมหาศาล  เกิดสงครามระหว่างชาวอาหรับและชาวยิวจากยุโรปผู้แห่เข้าไปตั้งถิ่นฐานในดินแดนนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สหราชอาณาจักรที่กำลังถอนอำนาจจากดินแดนนั้น สนับสนุนชาวยิวที่มาตั้งถิ่นฐานและต้านชาวอาหรับ ชาวยิวชนะศึกแรกจากหลาย ๆ ศึกที่จะตามมา

พื้นที่ของปาเลสไตน์หดหายลงอย่างมหาศาลในขณะที่ฝั่งอิสราเอลกลับขยับขยายอย่างต่อเนื่องนานหลายปีเมื่อเทียบกับแผนที่ของสหประชาชาติแผ่นดั้งเดิม ซึ่งขีดเส้นเขตแดนระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ไว้อย่างชัดเจน  มีการเบียดขับประชาชนชาวปาเลสไตน์ออกจากพื้นที่มากมายมหาศาลอย่างต่อเนื่องไม่หยุดหย่อน จนเกิดเป็นชาวปาเลสไตน์พลัดถิ่นจำนวนมาก

ในขณะที่มีประชาชนชาวยิวจากหลากหลายชุมชนที่พร้อมจะอยู่ร่วมกับมุสลิมชาวอาหรับ ตัวรัฐเองกลับถูกยึดครองโดยพวกฝ่ายขวารุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ  พวกปฏิกิริยา ฝ่ายขวาชาตินิยมทั้งหลายยืนกรานสิทธิของพวกเขาในอำนาจเหนืออิสราเอลและปาเลสไตน์ เข้าติดอาวุธในประเทศ และยุยงปลุกปั่นความเกลียดชังระหว่างประชาชนสองฝั่ง

โครงการของอิสราเอลได้รับการสนับสนุนอย่างมหาศาลจากมหาอำนาจตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรซึ่งให้ความช่วยเหลือด้านการทหารและเศรษฐกิจแก่อิสราเอล  อิสราเอลเองซึ่งร่ำรวยมหาศาล ได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศโดยตลอด และส่วนใหญ่มาจากสหรัฐอเมริกา  นี่หมายความว่าชีวิตของพลเมืองอิสราเอลนั้นค่อนข้างสะดวกสบาย พวกเขาอาศัยในตึกรามบ้านช่องสมัยใหม่ มีถนนและสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ดี และรัฐบาลยังอุดหนุนสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลาย อีกทั้งระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า และการศึกษาระดับอุดมศึกษาในราคาถูกมาก ขณะที่ชีวิตของชาวปาเลสไตน์ต้องดิ้นรนอยู่ตลอดเวลา  พวกเขาทนทุกข์ทรมาณกับความขาดแคลนบริการสาธารณสุขอย่างหนัก สภาพเศรษฐกิจที่โหดร้าย ที่อยู่อาศัยไม่ได้มาตรฐาน และสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ผุพัง

ปัจจัยอีกอย่างที่ทำให้ชีวิตของชาวปาเลสไตน์หดหู่เกินทานทนก็คือการที่กองทัพอิสราเอลเข้ายึดครองหมู่บ้านและเมืองต่างๆ ของพวกเขาอย่างต่อเนื่อง  ปัจจุบันนี้ปาเลสไตน์ถูกแบ่งเป็นสองพื้นที่ คือเวสต์แบงค์ (West Bank) กับกาซ่า (Gaza)  ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเขตเวสต์แบงค์จำนวนมากต้องประสบพบเจอท่าทีข่มคู่คุกคามของกองทัพอิสราเอลอยู่เป็นประจำ  อิสราเอลสร้างเครือข่ายของกำแพงอันขยับขยายอย่างต่อเนื่อง แบ่งแยกชุมชนชาวปาเลสไตน์ให้อยู่ในพื้นที่เล็กลง เล็กลง เรื่อยๆ  ประตูกำแพงเหล่านี้มีทหารอิสราเอลติดอาวุธครบมือประจำการอยู่ ทหารเหล่านี้มองว่าตัวเองมีหน้าที่ต้องทำให้ชีวิตของชาวปาเลสไตน์อยู่ในสภาพทุกข์ทน และประตูกำแพงเหล่านี้แหละ ที่ชาวปาเลสไตน์หลายคนจำต้องผ่านเข้าออกเพื่อทำการเกษตร ไปโรงเรียน พบปะครอบครัว และไปโรงพยาบาล

โดยทั่วไปแล้วความรุนแรงเป็นสิ่งที่จะเกิดตามมา เรามักจะได้เห็นเด็กชาวปาเลสไตน์ขว้างหินและประทัดใส่ทหารอิสราเอล และแน่นอนว่ากองทัพอิสราเอลย่อมตอบโต้ความรุนแรงด้วยความรุนแรง  ความแตกต่างก็คือในขณะที่เด็กๆ ชาวปาเลสไตน์มีก้อนหิน ฝั่งอิสราเอลมีปืนไรเฟิล

ที่กล่าวไปข้างต้นคือสถานการณ์ในเวสต์แบงค์ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในกาซ่าแย่กว่านี้นัก  กาซ่าเป็นดินแดนขนาดเล็กเพียงแค่ 365 ตารางกิโลเมตร แต่กลับเป็นที่ซึ่งชาวปาเลสไตน์ราว 2 ล้านคนถูกขังไว้ภายในรั้วและกำแพงมากมาย  ไม่มีใครได้รับอนุญาตให้ผ่านเข้าออก จนผู้คนเรียกดินแดนแห่งนี้ว่าเป็นคุกที่ใหญ่ที่สุดในโลก  สภาพชีวิตในกาซ่าถือว่าเลวร้ายเหมือนนรก ความช่วยเหลือต่างๆ เข้าไปถึงคนท้องถิ่นที่แสนทุกข์ทนเพียงได้เล็กน้อย

โดยทั่วไปแล้วชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่นี่มีความก้าวหน้ารุนแรง (radical) ทางการเมืองมากกว่าในเวสต์แบงค์ กาซ่านี่แหละเป็นฐานที่มั่นของกองกำลังปลดแอกติดอาวุธอย่างฮะมาส (حماس)  ฮะมาสมีบทบาทในปฏิบัติการก่อการร้ายส่วนใหญ่ที่ต่อต้านอิสราเอล พวกเขาเคยใช้ยุทธิวิธีระเบิดพลีชีพหรือใช้อาวุธปืนยิงใส่เป็นหลัก แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้พวกเขาสามารถยิงจรวดทำมือขนาดเล็กข้ามกำแพงกาซ่าเข้าสู่พื้นที่ของอิสราเอลได้แล้ว  ฝั่งอิสราเอลตอบโต้สิ่งนี้อย่างหนักหน่วง  หากพวกเขาพบว่าใครเป็นสมาชิกฮะมาส เช่น หากใครเสียชีวิตจากระเบิดพลีชีพ กองทัพอิสราเอลก็จะบุกเข้าไปในกาซ่าแล้วทำลายบ้านของครอบครัวผู้นั้นทิ้ง  นอกจากนี้ยังมีการทิ้งระเบิดทางอากาศเป็นวงกว้างอยู่เป็นระยะ ระเบิดเหล่านี้ตกใส่โรงเรียน โรงพยาบาล และสถานที่ราชการเป็นประจำ

เป้าหมายของโครงการสร้างความหวาดกลัวที่นำโดยรัฐบาลอิสราเอลนี้คือการกดดันมุสลิมชาวอาหรับทุกคนให้ออกไปจากดินแดนปาเลสไตน์เข้าสู่ประเทศมุสลิมอาหรับเพื่อนบ้าน  กลุ่มชาตินิยมชาวอิสราเอลมักกล่าวว่า ‘ชาวปาเลสไตน์จะมีความสุขมากว่านี้อีกเยอะในจอร์แดนหรืออียิปต์ แล้วทำไมพวกเขาไม่ไปอยู่ที่นั่นเสียล่ะ?’

นี่ไม่ใช่ทางเลือกของชาวปาเลสไตน์จำนวนมากมายมหาศาลเป็นแน่  ปาเลสไตน์คือบ้านของพวกเขา และเป็นมาหลายศตวรรษ ในขณะที่สำหรับชาวอิสราเอลซึ่งส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากชาวยิวยุโรปนั้น อิสราเอลเป็นโครงการเพื่อบรรลุเป้าหมายชาตินิยมของพวกเขา  ข้อโต้แย้งที่พบได้บ่อยอีกข้อของชาวอิสราเอลก็คือ ‘ชาวอังกฤษมีประเทศของตัวเอง ชาวญี่ปุ่นมีประเทศของตัวเอง เราชาวยิวก็ควรได้มีประเทศของตัวเองเช่นกัน’ แน่นอนว่าข้อโต้แย้งนี้เป็นตรรกะวิบัติเช่นกัน  เนื่องจากมีกลุ่มผู้คนมากมายหลากหลายในโลกที่ต่างก็ไม่มีประเทศเป็นของตัวเอง แต่พวกเขาก็อยู่อย่างมีความสุขและปลอดภัย อันรวมไปถึงชาวยิวที่อยู่ในยุโรปและอเมริกาด้วย

ดังนั้นแล้ว เมื่อคุณนึกถึงอิสราเอลในครั้งถัดไป โปรดอย่าได้มองราวกับว่าเป็นประเทศเล็กๆ ที่เป็นมิตรและกล้าหาญซึ่งอยู่ท่ามกลางดินแดนอันแสนอันตรายดังที่สื่ออเมริกันพยายามสร้างภาพให้เป็นเช่นนั้น แต่โปรดมองมันดังที่มันเป็น นั่นคือโครงการตั้งถิ่นฐานอาณานิคมชาตินิยมที่มีสหรัฐอเมริกาและมหาอำนาจตะวันตกหนุนหลังอยู่โดยปราศจากเงื่อนไขนั่นเอง

 

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดดูเรื่องปาเลสไตน์ใน Electronic Intifada

https://electronicintifada.net/

 

หรือดูภาพยนตร์สารคดีจาก BBC เกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานของชาวอิสราเอลได้จากที่นี่: (ขออภัยที่ไม่มีซับไตเติ้ลภาษาไทยครับ)

Louis Theroux – Ultra Zionists from Ariadne Mirrorback on Vimeo.