โดย MULTITUDE


ในวันแรงงานสากล 1 พฤษภาคม หรือ International Workers’ Day ที่นิยมเรียกติดปากกันว่าวัน “May Day” เป็นวันที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน เป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองของ “ชนชั้นแรงงาน” อาจเรียกได้ว่ามันเป็นวันของพวกเราทุกๆ คนที่เป็นแรงงาน เราอาจจะเกิดคำถามขึ้นมาว่า “ฉันไม่ได้แบกอิฐแบกปูน ฉันทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ ฉันจะเป็นชนชั้นแรงงานได้ยังไง?”

ข้อเขียน “เราทุกคนคือชนชั้นแรงงาน” จึงเขียนบอกเล่าถึงประวัติศาสตร์การก่อกำเนิดของชนชั้นแรงงานในระบบทุนนิยมจากอดีตจนถึงการเป็นแรงงานร่วมสมัย และย้อนกลับไปถึงประวัติศาสตร์การเกิดขึ้นของวันแรงงานสากล พร้อมกับการต่อสู้ของขบวนการแรงงานในระดับนานาชาติจนถึงสถานการณ์ของขบวนการแรงงานไทยในปัจจุบัน เพื่อชี้ให้เห็นว่าทำไมเราทุกคนต้องเรียกตัวเองว่าเป็น “ชนชั้นแรงงาน” และทำไมเราจึงต้องออกไปร่วมเดินขบวนในวัน “May Day”

ประวัติศาสตร์ทั้งหมดที่ผ่านมาล้วนแต่เป็นประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ทางชนชั้น

สังคมมนุษย์เป็นสังคมที่มี “ชนชั้น” นับตั้งแต่ประวัติศาสตร์ของระบบทาส ระบบศักดินา จนถึงการเกิดขึ้นของระบบทุนนิยม ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม เป็นระบบเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการผลิตสินค้าหรือบริการเพื่อตอบสนองต่อตลาด โดยผลตอบแทนจากการผลิตนั้นคือสิ่งที่เรียกว่า “กำไร” รวมถึงความต้องการในการสะสมทุนให้มากขึ้นเรื่อยๆ ของนายทุน ระบบทุนนิยมเป็นระบบแห่งการแข่งขันเพื่อแสวงหาความมั่งคั่งหรือเลื่อนลำดับชั้นให้สูงขึ้นเรื่อยๆ หากจะนึกภาพให้ออกอย่างง่าย ๆ ขอให้เราทุกคนนึกถึงโครงสร้างแบบพีระมิดที่มนุษย์ทุกคนจะต้องตะเกียกตะกายปีนขึ้นไปยังจุดสูงสุด และถีบให้คนที่ปีนขึ้นมาทีหลังไม่สามารถขึ้นมาได้

อย่างไรก็ตาม ระบบทุนนิยมไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่เกิดขึ้นจากพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของมนุษย์ นับตั้งแต่สังคมเกษตรกรรมเกิดการล้อมรั้ว(enclosure) สร้างความเป็นเจ้าของในที่ดิน “ระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล” (private property) จึงถือกำเนิดขึ้นมา เมื่อที่ดินกลายเป็นสิ่งที่มีเจ้าของ ชนชั้นชาวนาในระบบเกษตรกรรมที่ทำนาหาเลี้ยงชีพ ก็กลายมาเป็นแรงงานของชนชั้นเจ้าที่ดิน ชาวนาต้องทำการผลิตเพื่อส่งผลผลิตให้กับเจ้าที่ดิน ระบบทุนนิยมยุคแรกจึงไม่ใช่ ”ทุนนิยมอุตสาหกรรม” (industrial capitalism) แต่เป็น “ทุนนิยมเกษตรกรรม” (agrarian capitalism) ซึ่งการแบ่งแยกชนชั้นออกเป็นชนชั้นไร้ปัจจัยการผลิตซึ่งก็คือชนชั้นแรงงานกับชนชั้นที่มีปัจจัยการผลิตคือชนชั้นเจ้าที่ดินและชนชั้นนายทุนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในเกษตรกรรม”1หน้า 27 เอกสารประมวลวิชา อุตสาหกรรมและแรงงาน (Industry and Labour)

แม้สังคมทุนนิยมจะเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ยุคเกษตรกรรม แต่เมื่อการปฏิวัติระบบอุตสาหกรรมมาถึง พร้อมๆ กับการก่อสร้างสถานที่ที่เรียกว่า ”โรงงาน” เพื่อทำการผลิตสินค้าไปขายในตลาดที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น ความเป็นสังคมชนชั้นในระบบทุนนิยมจึงมีความเข้มข้นสูงขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมทุนนิยมอุตสาหกรรม ได้เกิดการสร้างชนชั้นขึ้นมา 2 ชนชั้น ได้แก่ “ชนชั้นนายทุน” หรือผู้ที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต เช่น วัตถุดิบ เครื่องจักร สถานที่ และชนชั้นไร้ปัจจัยทางการผลิต แต่เป็นผู้ที่มีกำลังแรงงาน หรือที่เราเรียกกันว่า “ชนชั้นแรงงาน”

ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นนายทุนกับชนชั้นแรงงานในสังคมอุตสาหกรรม ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งและความไม่เท่าเทียมกัน ชนชั้นนายทุนจ่ายค่าจ้างหรือค่าแรงให้กับแรงงานในการผลิตสินค้าเพื่อสร้างผลกำไรให้กับนายทุน เพื่อที่นายทุนจะได้ “สะสมทุน” หรือสร้างความมั่งคั่งได้มากยิ่งขึ้น ในขณะที่คุณภาพชีวิตของแรงงานกลับต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบาก ทั้งการทำงานหนักหรือการทำงานเกินเวลา ค่าแรงที่ได้รับในระดับต่ำหรือไม่เพียงพอเหมาะสมกับการดำรงชีวิต อุบัติเหตุหรือความเสี่ยงจากการทำงาน หรือการถูกเอารัดเอาเปรียบอีกมากมาย เพื่อแลกกับค่าจ้างและการมีชีวิตรอด แต่สภาพการมีชีวิตเช่นนี้ ได้สร้างความไม่พอใจให้กับแรงงาน

เมื่อชนชั้นแรงงานรับรู้ถึงการถูกเอาเปรียบหรือที่เราเรียกกันว่า “การขูดรีด” (exploitation) จากระบบทุนนิยม และแรงงานได้เริ่มต้นตอบโต้ต่อสิ่งที่ตนเองถูกกระทำจากชนชั้นนายทุน กลุ่มแรงงานจึงรวมตัวกันเพื่อก่อตั้ง “สหภาพแรงงาน” เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการต่อสู้เรียกร้องคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของแรงงาน สหภาพแรงงานได้ทำการต่อสู้ด้วยวิธีการที่หลากหลาย ทั้งการนัดหยุดงาน การเดินขบวนประท้วง หรือการต่อต้านในชีวิตประจำวัน และรวมตัวกันเป็น “ขบวนการแรงงาน” ในเอกสารประมวลวิชา อุตสาหกรรมและแรงงาน ได้เขียนอธิบายถึงลักษณะของขบวนการแรงงานไว้ว่า

“โดยทั่วไป เป้าหมายของขบวนการแรงงานคือ การปกป้องความมั่นคงในการทำงานหรือเงื่อนไขการจ้างของแรงงานด้วยกัน ซึ่งอาจประกอบด้วยผลประโยชน์ระยะสั้น เช่น ปัญหาปากท้อง หรือชีวิตความเป็นอยู่ การต่อสู้ในเรื่องของกฎหมาย เช่น สวัสดิการ การศึกษา การเดินทาง ขนส่ง ชีวิตหลังวัยทำงาน และเป้าหมายที่ไกลที่สุดคือ การต่อสู้เพื่อสังคมที่ดี เช่น ประชาธิปไตยที่เอื้อชีวิตที่ดีแก่แรงงาน คัดค้านการเมืองที่ไม่เอื้อต่อประชาธิปไตย หรือแม้แต่การต่อสู้เพื่อสังคมนิยม เป็นต้น เช่น ในกลุ่มแรงงานที่ก้าวหน้ามากๆ หรือซ้ายจัดมากๆ อาจมีเป้าหมายไปสู่การโค่นล้มระบบทุนนิยมและความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น และผลักดันการเป็นคอมมิวนิสต์”2หน้า 47 เพิ่งอ้าง

การเกิดขึ้นของวันแรงงานสากล

การต่อสู้หลักๆ ของแรงงาน เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งในประวัติศาสตร์ แต่การต่อสู้ครั้งสำคัญที่ก่อให้เกิดเป็นวันแรงงานสากล คือ การนัดหยุดงานทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา เพื่อเรียกร้องให้มีการออกกฎหมายจำกัดชั่วโมงการทำงานไม่ให้เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน ในวันที่ 1 พฤษภาคม ปี 1886 จนเกิดเป็นเหตุการณ์นองเลือดจากการปราบปรามอย่างหนักโดยรัฐบาลที่ร่วมมือกับชนชั้นนายทุน เวลาต่อมาในที่ประชุมของตัวแทนพรรคคอมมิวนิสต์และสหภาพแรงงานทั่วโลกที่รู้จักกันในนาม “สากลที่สอง” (The Second International) ได้ลงมติให้มีการประกาศนัดหยุดงานของกรรมกรและออกมาเดินขบวนแสดงพลังของชนชั้นแรงงานทั่วโลกในวันที่ 1 พฤษภาคม เพื่อเป็นการเรียกร้องให้หลักการทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวันได้รับการนำไปปฏิบัติกับกรรมกรทั่วโลก3อะไรคือต้นกำเนิดของวันเมย์เดย์? ประชาไท https://prachatai.com/journal/2018/04/76657

ขณะเดียวกัน โรซา ลักเซมเบิร์ก นักปฏิวัติคนสำคัญในประวัติศาสตร์สังคมนิยม ได้เขียนงานสั้นๆ ที่มีชื่อว่า “อะไรคือต้นกำเนิดของวันเมย์เดย์?” (What Are the Origins of May Day) โรซาพาเราย้อนกลับไปสืบประวัติการก่อกำเนิดขึ้นของวันเมย์เดย์ ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ในปี 1886 โรซาได้เล่าว่า การรวมตัวกันเพื่อต่อสู้เรียกร้องเวลาในการทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมง เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกที่ออสเตรเลีย ในวันที่ 21 เมษายน ปี 1856 หลังจากนั้นขบวนการแรงงานได้รวมตัวกันมากขึ้นเรื่อย ๆ และจัดงานอีกครั้งในปีต่อๆ มา จนกลายเป็นที่มาของการนัดหยุดงานในสหรัฐฯ วันที่ 1 พฤษภาคม 1886 และกลายเป็นวัน May Day โรซาแสดงความคิดเห็นไว้ว่า

“จะว่าไปแล้ว, อะไรเล่าที่จะสามารถทำให้กรรมกรมีความกล้าหาญและศรัทธาในพลังของตนเองขึ้นมา ถ้าไม่ใช่การรวมพลกันหยุดงานซึ่งพวกเขาได้ตัดสินใจทำกันด้วยตนเอง? อะไรเล่าที่จะสามารถทำให้ผู้ที่เป็นทาสตลอดกาลในโรงงานและห้างร้านต่างๆมีความกล้าหาญขึ้นมา ถ้าไม่ใช่การชุมนุมกันของกองกำลังตนเอง? ด้วยเหตุนี้, แนวคิดที่ว่าด้วยการเฉลิมฉลองของกรรมาชีพจึงได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็ว และมันได้เริ่มแพร่กระจายจากออสเตรเลียไปยังประเทศอื่นๆ จนกระทั่งมันได้ยึดครองโลกทั้งใบของกรรมาชีพในที่สุด.”4เพิ่งอ้าง

ทุกๆ วันที่ 1 พฤษภาคม จึงเป็นวันที่แรงงานนัดรวมตัวกันเพื่อเฉลิมฉลองและต่อสู้เรียกร้องกับระบบทุนนิยม ขบวนการแรงงานกลายเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เข้มแข็ง จนส่งผลกระทบไปทั่วทั้งโลกในศตวรรษที่ 19-20 จวบจนศตวรรษที่ 21 ขบวนการแรงงานเป็นขบวนการที่ผูกโยงกับแนวคิดแบบสังคมนิยมที่เรียกร้องความเสมอภาคทางสังคมให้กับคนทุกคน หรือสร้างอำนาจให้กับชนชั้นแรงงานที่จะลุกขึ้นมากำหนดชีวิตของตนเอง จนไปถึงชนชั้นแรงงานได้กลายเป็นแนวหน้าของการปฏิวัติหรือมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ๆ หลายครั้งในประวัติศาสตร์ทั่วโลก

การเปลี่ยนแปลงของระบบทุนนิยมที่ส่งผลกระทบต่อขบวนการแรงงาน

แม้ขบวนการแรงงานจะมีความเข้มแข็ง เนื่องจากสภาพการทำงานในโรงงานที่ทุกข์ยากลำบาก ได้ก่อให้เกิดจิตสำนึกทางชนชั้นของแรงงานขึ้น จนรวมตัวกันกลายเป็นขบวนการแรงงานที่ทำการเคลื่อนไหวต่อต้านการขูดรีดของชนชั้นนายทุนและระบบทุนนิยม แต่ในปัจจุบัน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม (industrial capitalism) ที่มุ่งเน้นการใช้แรงงานร่างกายในการผลิตวัตถุ (material) โดยทำการผลิตในโรงงาน ไปสู่ระบบทุนนิยมหลังอุตสาหกรรม (post-industrial capitalism) ที่ผลิตสร้าง “อวัตถุ” (immaterial) ซึ่งหมายถึง การผลิตสร้างระบบภาษา สัญญะ ความหมาย อารมณ์ความรู้สึก และความรู้5หน้า 75 เอกสารประมวลวิชา อุตสาหกรรมและแรงงาน (industry and Labour) นอกโรงงานอุตสาหกรรมแบบเดิม

“ซึ่งในระบบทุนนิยมแบบนี้ แรงงานและรูปแบบของงานได้เปลี่ยนแปลงไป การผลิตวัฒนธรรมและระบบความหมายกลายเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น การผลิตและการคิด/สร้างสรรค์เป็นสิ่งเดียวกันมากขึ้นเรื่อยๆ และงานของแรงงานไม่ใช่การผลิตแค่รองเท้า หรือวัตถุอื่นๆ แต่แรงงานจำนวนหนึ่งเริ่มทำงานคล้ายกับศิลปิน เช่น งานบริการที่ผลิตสร้างความรู้สึก งานสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม งานเขียน งานโฆษณา งานที่สร้างความหมายให้กับตัวสินค้า เป็นต้น”6เพิ่งอ้าง

การผลิตอวัตถุ (immaterial) เป็นคำอธิบายที่ทำให้แนวคิดที่ว่า “เราทุกคนคือแรงงาน” ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ในระบบทุนนิยมหลังอุตสาหกรรม ไม่มีใครที่ไม่มีส่วนร่วมกับกระบวนการผลิตในระบบทุนนิยม การผลิตได้ย้ายจากโรงงานมาอยู่ในตัวเรา ตัวเรากลายเป็นทั้งกำลังแรงงาน สินค้า เครื่องจักร หรือเป็นปัจจัยการผลิตภายในตัวเอง ตัวเรากลายเป็นสิ่งที่สร้างมูลค่าให้กับระบบทุนนิยม ผ่านการใช้แรงงานที่อยู่นอกโรงงานอุตสาหกรรม การทำการผลิตไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมอีกต่อไป แต่กระทำได้ในทุกที่และทุกเวลา และกระทำการผ่านการมีชีวิตของเรา

ขณะเดียวกัน แรงงานอวัตถุ หรือจะเรียกว่า แรงงานฟรีแลนซ์ แรงงานสร้างสรรค์ แรงงานรับจ้างเป็นครั้งๆ ไป ฯลฯ ที่ไม่มีเวลาหรือสถานที่ในการทำงานที่แน่นอนตายตัว กลับต้องเผชิญหน้ากับสภาวะที่ไร้ความมั่นคงหรือความไร้เสถียรภาพ คล้ายกับคนตกงาน การเป็นแรงงานรูปแบบนี้ถูกแทนที่ด้วยความคิดแบบ “ผู้ประกอบการ” ที่จะต้องจัดการบริหารสิ่งต่างๆ ด้วยตัวของตัวเอง พร้อม ๆ กับการขยายตัวของลัทธิเสรีนิยมใหม่ ที่ทำลายรัฐสวัสดิการ ทำลายสหภาพแรงงาน ทำให้แรงงานหลงเหลือเพียงปัจเจกบุคคลที่จะต้องรับผิดชอบชีวิตของตนเองอยู่เพียงผู้เดียว

แรงงานทุกคนกำลังเผชิญหน้าอยู่บนโลกที่ไร้ซึ่งฐานใดๆ รองรับ เมื่อไม่มีการจ้างงาน เมื่อเราต้องตกงาน เมื่อเราถูกเบี้ยวหรือกดค่าแรง เมื่อเวลาในการทำงานกับเวลาในการใช้ชีวิตของเราไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เมื่อเราต้องจ่ายค่าเช่าหอพักหรือค่าเช่าบ้าน เมื่อเราต้องจ่ายหนี้เป็นจำนวนมาก เมื่อเราต้องจ่ายค่าน้ำค่าไฟค่าข้าวค่ากิน หรือบริโภคสิ่งที่จะทำให้เราหลุดออกจากโลกของการทำงานอันเหนื่อยล้า เพียงชั่วครู่ เพื่อตื่นไปทำงานอีกครั้ง แรงงานทุกคนกำลังเผชิญหน้ากับสังคมที่มุ่งสู่การแข่งขันกันอย่างบ้าคลั่งเพื่อมุ่งไปสู่โลกแห่งความสำเร็จ แรงงานที่พ่ายแพ้ให้กับการแข่งขันนี้ ต้องป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือเป็นเพียงไอ้ขี้แพ้ คล้ายกับว่าเราเกิดมาเพื่อทำงานแล้วตายไป คงไม่มีอนาคตที่สดใสของโลกใบนี้รอคอยเราอยู่อีกแล้ว

ขบวนการแรงงานสากลจนถึงขบวนการแรงงานไทยในปัจจุบัน

แม้สถานการณ์ของระบบทุนนิยมในปัจจุบัน อาจจะฟังดูเลวร้าย แต่ในขณะเดียวกัน หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต การต่อสู้ของขบวนการแรงงานในศตวรรษที่ 21 ยังคงเกิดขึ้นอยู่เสมอ ภายใต้ระบบทุนนิยมและลัทธิเสรีนิยมใหม่ที่แผ่ขยายไปทั่วโลก ได้เกิดการลุกขึ้นต่อต้านของขบวนการฝ่ายซ้ายมาโดยตลอด จนถึงปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์การประท้วงใหญ่ในฝรั่งเศสเกี่ยวกับการปฏิรูประบบบำนาญ กลุ่มฝ่ายซ้ายได้ออกมาเคลื่อนไหวกันเป็นจำนวนมาก, สหภาพแรงงานในอังกฤษนัดหยุดงานครั้งใหญ่ในรอบ 10 ปี เรียกร้องการขึ้นค่าแรง, คลื่นสีชมพู(Pink Tide) หรือกระแสสังคมนิยมในลาตินอเมริกา, ขบวนการนักศึกษาฝ่ายซ้ายและขบวนการอนาธิปไตยในอินโดนีเซีย, พรรคคอมมิวนิสต์ในอินเดีย ขบวนการนักศึกษาฝ่ายซ้ายใน JNU, กระแสสังคมนิยมและพรรคคอมมิวนิสต์ในเนปาลที่ต่อสู้กันมาอย่างยาวนาน ฯลฯ

ขบวนการแรงงานหรือขบวนการฝ่ายซ้ายในระดับโลก ได้เกิดการต่อสู้กันอย่างเข้มข้นกับระบอบทุนนิยม หากแต่ขบวนการแรงงานไทยกลับอยู่ในสภาวะอ่อนแอ เราอาจย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ได้ตั้งแต่การปราบปรามขบวนการฝ่ายซ้ายอย่างรุนแรง ในยุค 6 ตุลา 19 การล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือการที่สหภาพแรงงานไปจับมือกับฝ่ายขวาเพื่อทำรัฐประหารปี 49 การเคลื่อนไหวที่ถูกนำโดยองค์กรภาคประชาสังคมหรือขบวนการทางสังคมแบบใหม่ ที่ไม่พูดถึง “การเมืองชนชั้น” หรือวิพากษ์ระบบทุนนิยม จนทำให้ขบวนการทางการเมืองไทยร่วมสมัย กลายเป็นการเมืองของขบวนการแบบเสรีนิยม เป็นต้น

จากตัวเลขสถิติ ขบวนการแรงงานในประเทศไทยถือว่าเป็นขบวนการแรงงานที่มีขนาดเล็กมากในเชิงปริมาณเรามีผู้ใช้แรงงานเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในอัตราส่วนที่ถือได้ว่าต่ำสุดในโลกเลยทีเดียวคือมีแรงงานเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน 614,312 คน7ได้เวลาทบทวนนิยาม “ขบวนการแรงงาน” ในประเทศไทย https://prachatai.com/journal/2021/01/91115 สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความอ่อนแอของขบวนการแรงงานไทย กระทั่งสหภาพแรงงานยังมีจำนวนน้อยมาก อีกทั้งสหภาพแรงงานกลายเป็นองค์กรที่เรียกร้องเพียงปัญหาปากท้อง จนไม่นำไปสู่การกลายเป็น “สหภาพแรงงานที่เป็นขบวนการทางสังคม” (Social Movement Unionism) รวมไปถึงการไร้ซึ่งสิ่งที่เรียกว่า “ขบวนการฝ่ายซ้าย” เนื่องจากแนวคิดแบบสังคมนิยมยังไม่กลายเป็นแนวคิดกระแสหลักที่จะเข้าไปปะทะกับการต่อสู้ทางอุดมการณ์ของฝ่ายเสรีนิยมและอนุรักษ์นิยม

แต่ในปัจจุบันกระแสการเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานหรือกลุ่มที่มีแนวคิดฝ่ายซ้าย เริ่มค่อย ๆ กลับมาอีกครั้ง ทั้งการเกิดขึ้นของข้อเสนอ RT จวบจนการกลายเป็นกลุ่มก้อนต่างๆ หลังปี 63 ตั้งแต่สหภาพคนทำงาน, สหภาพแรงงานสร้างสรรค์, พรรคสังคมนิยมแรงงาน(SWT), TUMS, ดินแดง, Food Not Bombs CNX, สหภาพบาริสต้าเชียงใหม่, Multitude ฯลฯ การเกิดขึ้นของกลุ่มขบวนการแรงงานหรือกลุ่มฝ่ายซ้ายร่วมสมัยค่อย ๆ เกิดขึ้น ท่ามกลางกระแสสัจนิยมการเมืองไทยที่การเมืองไทยเป็นไปได้แค่การเมืองแบบเสรีนิยมและอนุรักษ์นิยม แนวคิดแบบสังคมนิยมเป็นคลื่นใต้น้ำที่กำลังขยายตัวขึ้นอย่างช้า ๆ จากปัญหาของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่เราทุกคนกำลังเผชิญ แนวคิดแบบสังคมนิยมจึงได้รับการกลับมาพูดถึงอีกครั้ง

ชนชั้นแรงงานกับการร่วมเดินขบวนในวัน May Day ปีนี้และต่อจากนี้

นับตั้งแต่ประวัติศาสตร์การเกิดขึ้นของ “ชนชั้น” ในระบบทุนนิยมเกษตรกรรมจนถึงการเกิดขึ้นของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมที่เอารัดเอาเปรียบชนชั้นผู้ไร้ปัจจัยการผลิตอย่างรุนแรง จนปะทุกลายเป็นขบวนการเคลื่อนไหวของชนชั้นแรงงานสู่การเกิดขึ้นของวันแรงงานสากลในประวัติศาสตร์ มาถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบทุนนิยมหลังอุตสาหกรรมและลัทธิเสรีนิยมใหม่ที่ทำลายความเข้มแข็งของขบวนการแรงงานลง แต่สภาพย่ำแย่ของโลกทุนนิยมไม่อาจสามารถหยุดยั้งการเคลื่อนไหวของแรงงานทั้งในระดับสากลและในสังคมไทยได้

วันที่ 1 พฤษภาคม หรือวัน May Day ปีนี้ จึงเป็นอีกวันหนึ่งที่กระแสการต่อสู้ของขบวนการแรงงานด้วยแนวคิดแบบสังคมนิยม ที่พูดความถึงเสมอภาค ความร่วมแรงร่วมใจ และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จะกลับมาอีกครั้ง การเมืองแบบรัฐสภาที่จะต้องมี “ตัวกลาง” ในการแก้ไขปัญหา อาจไม่ใช่วิธีการต่อสู้ทางการเมืองของขบวนการแรงงานเพียงวิธีการเดียว แต่การรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งสหภาพแรงงานที่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง การสร้างกลุ่มศึกษาสังคมนิยมเพื่อมองหาข้อถกเถียงหรือบทสนทนาสำหรับความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ทางการเมือง ทั้งการต่อสู้ในระดับชีวิตประจำวันที่พูดถึงปัญหาของระบบทุนนิยมที่เราทุกคนกำลังเผชิญอยู่ การประกาศถึงความปรารถนาที่เราจะมีชีวิตที่ดีขึ้นมากกว่านี้ ผ่านการรวมตัวกันของ “ชนชั้นแรงงาน” เป็นทางออกสำหรับขบวนการแรงงานในปัจจุบัน

พบกันวันที่ 1 พฤษภาคม ทั่วท้องถนนที่สร้างขึ้นจากน้ำมือของแรงงาน ทั้งในปีนี้ และในปีถัดไป และในทุกๆ ปี จนกว่าชนชั้นแรงงานจะกำหนดชะตากรรมของตนเองได้ การต่อสู้ของแรงงานจะเกิดขึ้นในทุกวัน ทุกเวลา ทุกวินาที และทุกสถานที่ เพราะเราไม่มีอะไรจะสูญเสียนอกจากโซ่ตรวน เพราะเราทุกคนคือชนชั้นแรงงาน


This article is written by Multitude (Radical Socialist Movement in CNX)
Follow the author at Facebook