บทความโดย: Djibo Sobukwe
Image: Lázaro Abreu Padrón
เมื่อพิจารณาถึงความสนใจที่สื่อสาธารณชนมีต่อองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ก็ควรค่าที่จะเตือนใจผู้คนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อันนองเลือดที่นาโต้ได้ก่อไว้ในแอฟริกา นาโต้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1949 (2492) หลังสงครามโลกครั้งที่สองในช่วงที่ประเทศในแอฟริกายังอยู่ภายใต้ลัทธิล่าอาณานิคม ตามจริงแล้ว ผู้บุกเบิกก่อตั้งนาโต้ส่วนใหญ่เป็นอดีตเจ้าอาณานิคมตัวใหญ่ที่เคยเข้ายึดครองแอฟริกา เช่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส โปรตุเกส เบลเยียม และอิตาลี เดิมทีแล้ว องค์กรนี้ถูกก่อตั้งขึ้นโดยสหรัฐอเมริกาเพื่อเป็น “เกราะกำบังหมู่” ต้านทานสหภาพโซเวียต โดยกำหนดกฎเกณฑ์ไว้ว่า ถ้ามีการโจมตีต่อประเทศใดประเทศหนึ่ง (ในนาโต้-ผู้แปล) จะถือว่าเป็นการโจมตีต่อประเทศนาโต้ทั้งหมด และจะต้องมีการโต้กลับแบบรวมหมู่
เนื่องจากนาโต้ก่อตั้งขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อกำราบสหภาพโซเวียตและหยุดยั้งการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ อาจกล่าวได้ว่า ภายหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ. 1991 (2534) จะไม่มีความจำเป็นต้องมีนาโต้อีกต่อไป อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นาโต้ก็ได้ขยายจากเดิมที่มีอยู่สิบสองประเทศไปเป็นสามสิบประเทศในปัจจุบัน สมาชิกส่วนใหญ่เป็นประเทศในยุโรปตะวันออก ซึ่งเดิมทีเป็นอดีตสาธารณรัฐโซเวียต ทุกวันนี้ นาโต้ได้กลายมาเป็นแกนใหญ่ในวงล้อของกลุ่มอุตสาหกรรมทางการทหารที่ควบคุมโดยจักรวรรดิอเมริกา โดยมีจุดมุ่งหมายในการครอบงำแบบเต็มรูปแบบและขับเคลื่อนโดยความกระหายอันรุนแรงของทุนบรรษัท
อาณานิคมแอฟริกาในฐานะฐานทัพของนาโต้
วอลเตอร์ ร็อดนีย์ (Walter Rodney) บรรยายไว้อย่างเห็นภาพถึงรากฐานแรกเริ่มของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศใต้อาณานิคมในแอฟริกากับนาโต้ ซึ่งยังคงดำเนินอยู่จวบจนทุกวันนี้ ความว่า
“แน่นอนว่า ในช่วงทศวรรษที่ 1950 (2493) เมื่อชาวแอฟริกันส่วนใหญ่ยังอยู่ใต้อาณานิคม พวกเขาไม่มีอำนาจใด ๆ เลยในการใช้สอยที่ดินของพวกเขาเองเพื่อจุดประสงค์ทางการทหาร แอฟริกาเหนือเกือบทั้งหมดกลายมาเป็นพื้นที่ปฏิบัติการของนาโต้ โดยมีฐานมุ่งเป้าไปยังสหภาพโซเวียต ที่นั่นสงครามนิวเคลียร์เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ โดยที่ชาวแอฟริกันไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเลย จริง ๆ แล้ว มหาอำนาจเจ้าอาณานิคมจัดการประชุมทางการทหารขึ้นในเมืองต่าง ๆ ของแอฟริกา เช่น ดาการ์และไนโรบีเมื่อต้นทศวรรษที่ 1950 (2493) โดยเชิญเจ้าอาณานิคมผิวขาวของแอฟริกาใต้และโรดีเซีย รวมไปถึงรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมด้วย หลายครั้งที่ผ่านมา หลักฐานชี้ให้เห็นว่า แอฟริกาถูกใช้ประโยชน์เป็นเสาค้ำยันให้กับระบบทุนนิยมทั้งในด้านเศรษฐกิจและด้านการทหาร และด้วยเหตุนี้ก็เป็นการบังคับให้แอฟริกามีส่วนร่วมในการกดขี่ขูดรีดตัวเองด้วย (1)
กวาเม อึนกรูมา (Kwame Nkrumah) ประธานาธิบดีนักสังคมนิยมแห่งกานาเคยเตือนไว้แล้วในหนังสือ Challenge of the Congo ซึ่งเขาเขียนขึ้นปี ค.ศ. 1967 (2510) ว่า มีฐานทัพอากาศอย่างน้อย 17 แห่ง ฐานทัพเรือในต่างประเทศ 9 แห่ง ฐานที่ตั้งจรวด 3 แห่ง และเขตทดสอบอาวุธปรมาณูที่ดำเนินการโดยนาโต้ในแอฟริกาเหนือ รวมไปถึงปฏิบัติการทางทหารในแอฟริกาถึง 12 ประเทศ นี่ยังไม่นับการขูดรีดวัตถุดิบในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นในเหมืองแร่ในคองโก แองโกลา แอฟริกาใต้ และโรดีเซีย (2) อึนกรูมาเรียกร้องให้มีการตอบโต้อย่างเร่งด่วนต่อความท้าทายของนาโต้ในยุทธศาสตร์ที่เขาร่างไว้ใน Handbook of Revolutionary Warfare ซึ่งรวมไปถึงการเรียกร้องให้มีผู้บัญชาการทหารสูงสุดและกองทัพปฏิวัติประชาชนชาวแอฟริกา (ผนึกกำลังกัน) ทั้งหมด (AAPRA) (3)
ยุทธศาสตร์การล่าอาณานิคมใหม่ของนาโต้
ลัทธิจักรวรรดินิยมใช้กลยุทธ์แบ่งแยกและปกครอง (divide and rule) มาโดยตลอด เพื่อให้นาโต้เป็นที่ยอมรับในแอฟริกา มหาอำนาจเจ้าอาณานิคมรู้ว่า พวกเขาต้องโน้มน้าวใจและเกณฑ์ชนชั้นอาณานิคมใหม่ที่เป็นชนพื้นเมืองชาวแอฟริกันผู้ซึ่งจะมาทำงานให้กับพวกเขา การแบ่งแยกดังกล่าวปรากฏออกมาในการเคลื่อนไหวปลดปล่อยชาติระหว่างผู้ที่ผูกมิตรกับกองกำลังจักรวรรดินิยมกับผู้ที่ต้องการการปฏิวัติปลดปล่อยชาติออกจากการล่าอาณานิคมอย่างจริงจัง อึนกรูมาอธิบายไว้ใน Neo-colonialism และ The Last Stage of Imperialism ถึงวิธีการอันหลากหลายที่ลัทธิล่าอาณานิคมใหม่นำมาใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นวิธีการในด้านเศรษฐกิจ การเมือง ศาสนา อุดมการณ์ และวัฒนธรรม ในการจะทำเช่นนี้ได้ นาโต้ก็ทำงานอย่างใกล้ชิดกับกลไกภาคส่วนอื่น ๆ ของลัทธิจักรวรรดินิยมด้วย เช่น ซีไอเอ (CIA) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำรัฐประหารต่อต้านรัฐบาลของอึนกรูมาและการสังหารปาทริซ ลูมุมบา (Patrice Lumumba) ผู้ซึ่งเป็นประธานาธิบดีนักสังคมนิยมคองโก
แอฟริกาใต้คงจะเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของสำนักงานนาโต้ ตั้งแต่เริ่มก็เห็นได้ชัดว่า แอฟริกาใต้นั้นอยู่ข้างมหาอำนาจตะวันตก/นาโต้ ซึ่งต่อต้านสหภาพโซเวียต เพราะแอฟริกาใต้โดยเนื้อแท้แล้วก็คือลูกอาณานิคมของบริเตน และดังนั้นจึงเป็นตัวแทนของนาโต้ด้วย อีกทั้งยังถูกปกครองเป็นรัฐแบ่งแยกสีผิว (apartheid state) โดยชนกลุ่มน้อยผิวขาว ในปี ค.ศ. 1955 (2498) แอฟริกาใต้และสหราชอาณาจักรได้จัดทำข้อตกลงไซมอนส์ทาวน์ (Simonstown agreements) ซึ่งจัดให้มีการเฝ้าระวังทางเรือและ “ป้องกันทวีปแอฟริกาทั้งหมด” ประเทศสมาชิกนาโต้และอิสราเอลยังจัดสรรเทคโนโลยีที่จำเป็นให้แก่แอฟริกาใต้เพื่อพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งพวกเขาทำเช่นนั้นมาแล้วเมื่อปี ค.ศ. 1979 (2522)
สถานการณ์เมื่อไม่นานมานี้
บทบาทของสหรัฐฯ/นาโต้ ในการล้างบางลิเบีย (แอฟริกาเหนือ) ในปี ค.ศ 2011 (2554) เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเพราะเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า จักรวรรดินิยมอเมริกาไม่ยอมรับประเทศใด ๆ ที่ตัดสินใจเป็นอิสระอยู่นอกเหนือขอบเขตอิทธิพลของนาโต้ กองกำลังนาโต้ที่นำโดยสหรัฐฯ ได้เริ่มปฏิบัติการทิ้งระเบิดซึ่งคร่าชีวิตพลเรือนไปหลายพันคนในลิเบีย และสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินและโครงสร้างพื้นฐานมูลค่ากว่าหมื่นล้าน โจมตีลิเบียจนกลายเป็นซากปรักหักพังและทำลายหลายชีวิตของชาวลิเบียนับชั่วอายุคน นี่เป็นตัวอย่างที่สำคัญเช่นกัน เนื่องจากการโจมตีเกิดขึ้นตั้งแต่ 20 ปีที่แล้วตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต กระนั้นเอง นาโต้ก็ยังคงทำการโจมตีทางการทหารจนถึงทุกวันนี้ในสถานที่ห่างไกลนอกเหนืออาณัติตัวเอง
นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 อเมริกาได้ก่อสงครามอันดุเดือดที่ไตร่ตรองไว้แล้วล่วงหน้าไปทั่วโลก ทั้งโดยตรงและโดยตัวแทน คร่าชีวิตผู้คนไปหลายล้านในเอเชียตะวันออกและเอเชียกลาง แอฟริกาเหนือและส่วนอื่น ๆ ของแอฟริกา ตะวันออกกลาง ยุโรป รวมไปถึงในอเมริกากลางและอเมริกาใต้
นาโต้และอัฟริคอม (NATO & AFRICOM)
AFRICOM คือตัวตนในชีวิตจริงของนาโต้ ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2007 (2550) เป็นแผนกบัญชาการกองทัพอเมริกันสำหรับแอฟริกา มีไว้รักษาความสัมพันธ์ทางการทูตและยุทธศาสตร์อันใกล้ชิดกับแทบทุกประเทศในแอฟริกาทุกวันนี้
นาโต้และ AFRICOM ยังคงปฏิบัติการต่อไปภายใต้ฉากหน้า “การฝึกอบรม” และความช่วยเหลือรักษาสันติภาพ “ด้านมนุษยธรรม” ความรุนแรงของการก่อการร้ายญิฮาดในทวีปนี้เพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่ที่นาโต้ได้รุกรานลิเบียจนทำให้พลเรือนบาดเจ็บล้มตาย อีกทั้งยังก่อให้เกิดความไม่มั่นคง ซึ่งตะวันตกใช้ตรงนี้เป็นข้ออ้างและสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองสามารถอยู่ต่อไปได้ ตั้งแต่มีการก่อตั้ง AFRICOM ขึ้นมา มีการทำรัฐประหารมากขึ้นโดยทหารที่ผ่านการฝึกอบรม AFRICOM
เป็นไปตามที่อึนกรูมา ร็อดนีย์ และคนอื่น ๆ ได้เตือนเอาไว้เมื่อทศวรรษ และ 1970 (2513) นาโต้ยังคงอยู่ต่อไปในรูปของ AFRICOM ซึ่งส่งเสริมการก่อสงคราม ความไม่มั่นคง และการปล้นสะดมของทุนนิยมในแอฟริกา ตัวอย่างเช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) ยังถูกปล้นสะดมอย่างต่อเนื่องในวัตถุดิบยุทธปัจจัย เช่น โคบอลต์ แทนทาลัม โครเมียม โคลแทน ยูเรเนียม ฯลฯ แร่ธาตุเหล่านี้มีความสำคัญในทางยุทธศาสตร์ไม่เฉพาะกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แต่ยังรวมถึงเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนกลุ่มอุตสาหกรรมทางการทหารด้วย AFRICOM ยังคงพึ่งอาณานิคมใหม่ในแอฟริกาให้เป็นตัวแทนต่อสู้ใน DRC และในทั่วทั้งแอฟริกาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในนามตัวเอง ในส่วนของจีนที่กำลังผงาดขึ้นมา ด้านสหรัฐฯ/นาโต้ ก็พยายามทำให้ตัวเองมีอำนาจแบบเต็มรูปแบบซึ่งมุ่งขวางกั้นจีนหรือประเทศอื่น ๆ ออกจากการแข่งขันแย่งชิงการควบคุมทุนโลก