เรื่อง Jodi Dean
แปล กุลณัฐ จิระวงศ์อร่าม
บรรณาธิการ นิรนาม
ต้นฉบับ [Liberation School] Alexandra Kollontai (pt. 1): The struggle for proletarian feminism and for women in the party


อเล็กซานดรา คอลอนไท นักปฏิวัติคอมมิวนิสต์ชาวรัสเซียมีชีวิตอยู่ในปี 1872 ถึง 1952 เธอเป็นนักพูด นักเขียน และนักกิจกรรมตัวยงในกระบวนการเคลื่อนไหวแรงงานหญิงสังคมนิยมในรัสเซียและยุโรปตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 คอลอนไทเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้เป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรีด้วยตำแหน่งในกระทรวงสวัสดิการแรงงานในรัฐบาลแรกของบอลเชวิคหลังการปฏิวัติเดือนตุลาคม เธอตั้ง “แผนกสตรี” (Zhenotdel) ของรัฐบาลใหม่และเป็นผู้หญิงคนแรกๆ ที่มีตำแหน่งทางการทูต แต่สิ่งที่น่าตื่นเต้นกว่าความรับผิดชอบเหล่านี้คืองานและงานเขียนเพื่อการปฏิวัติของเธอที่ไม่ได้สนใจแค่ความเท่าเทียมทางเพศและสังคมนิยม แต่ยังสนใจบทบาททั่วไปของความรักและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการต่อสู้ การสำรวจเรื่องนี้อาจช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์และทำให้กลยุทธ์การเมืองของเราทุกวันนี้แหลมคมขึ้นได้

คอลอนไทเป็นมาร์กซิสต์ที่มุ่งมั่นจัดตั้งแรงงานหญิง เธอเถียงว่าการกดขี่ผู้หญิงนั้นฝังรากอยู่ในเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ คือ “การผลิตและการผลิตซ้ำของชีวิตในขณะนี้” ตามคำของเฟรดริก เองเกล[1] เงื่อนไขเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการที่การผลิตชีวิตคนและการผลิตซ้ำปัจจัยในการดำรงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย เครื่องมือ และอื่นๆ ถูกกักเก็บและจัดสรร ที่ทางของผู้หญิงในทางเศรษฐกิจ อันรวมถึงการแบ่งงานในบ้านตามเพศ เป็นตัวกำหนดที่ทางของผู้หญิงในสังคม ผลคือการปลดแอกผู้หญิงขึ้นอยู่กับการถอนรากถอนโคนทุนนิยม สังคมชนชั้นและการเอาเปรียบ และการจัดสรรการผลิตและชีวิตใหม่ของคอมมิวนิสต์

ถึงแม้ว่านี่จะเป็นทฤษฎีเมื่อร้อยปีมาแล้ว แต่การเน้นย้ำสภาพวัตถุ สภาพเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ของการผลิตและการผลิตซ้ำยังเป็นจุดสำคัญในการต่อสู้ของแรงงานหญิง บ่อยครั้งที่เฟมินิสต์ร่วมสมัยบางคนละเลยมิติทางเศรษฐกิจ แล้วมุ่งเป้าไปท่ีทัศนคติ ภาษา ภาพ และความรู้สึกส่วนตัวโดยไม่ได้สำรวจภูมิหลังทางเศรษฐกิจของพวกเธอเอง เราให้ความสนใจปัจเจก ความรู้สึก ความสะดวกสบาย ความชอบและความปรารถนามากเกินไปราวกับว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ผลกระทบจากสังคมโดยรวม ในทางตรงกันข้าม คอลอนไทสอนเราว่ามิติที่ใกล้ชิดลึกซึ้งที่สุดกับชีวิตของเราคือส่วนรวมต่างหาก

สามแกนหลักในงานและชีวิตของคอลอนไทแสดงให้เห็นความเชื่อมโยงกับการจัดตั้งร่วมสมัย การต่อสู้ ประวัติศาสตร์ และความรัก เธอสำรวจมิติการต่อสู้ในบทความชิ้นนี้ คอลอนไทสนใจที่ทางของผู้หญิงในเศรษฐกิจ ความสนใจนี้ทำให้เกิดมุมมองอันทรงพลังและซับซ้อนต่อการปลดแอกแรงงานหญิง ความรู้ทางประวัติศาสตร์ของเธอก่อให้เกิดความเข้าใจแจ่มแจ้ง(ต่อ)การเปลี่ยนแปลงในครอบครัว ส่วนที่สองเป็นเรื่องความโหยหาคอมมิวนิสต์(ม์)ของเธอ– (ซึ่งรวมไปถึง)งานรูปธรรมในการสร้างเผด็จการกรรมาชีพ (ที่)ทำให้เธอมองว่าความสัมพันธ์ลึกซึ้งไม่สามารถแยกออกจากความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน การจัดตั้งความรักเป็นส่วนหนึ่งของการจัดตั้งการผลิต ส่วนหนึ่งของการสร้างพื้นที่และการสนับสนุนที่จำเป็นสำหรับงานที่เติมเต็มและเน้นการทำงานร่วมกัน

การต่อสู้เพื่อเฟมินิสต์กรรมาชีพ

คอลอนไทเรียกร้องอย่างบ้าคลั่งให้แรงงานหญิง อัตชีวประวัติของเธอเขียนว่าเธอใส่ “ทั้งหัวใจและจิตวิญญาณ” ในการต่อสู้เพื่อ “กำจัดความเป็นทาสของแรงงานหญิง”[2] นี่หมายถึงการโน้มน้าวให้แรงงานหญิงเข้าร่วมสังคมนิยมและต่อสู้เพื่อสิทธิที่เท่าเทียมเพื่อปลดแอกผู้หญิง คอลอนไทร่วมต่อในสู้ศึกสองด้าน ทั้งต่อต้านเฟมินิสต์กระฎุมพีและต่อสู้ให้พรรคสังคมนิยมสนใจแรงงานหญิงไปด้วยในเวลาเดียวกัน

คอลอนไทไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นเฟมินิสต์ เธอมองว่าคำว่า “เฟมินิสต์” เป็นการเมืองของชนชั้นกระฎุมพีและของผู้หญิงบางชนชั้นเท่านั้น การเคลื่อนไหวเฟมินิสต์เป็นการเมืองของผู้หญิงชั้นกระฎุมพีที่ดูจะท้าทายโครงสร้างพื้นฐานของสังคมไม่สำเร็จ พวกเธอยอมรับโครงสร้างนั้นและต้องการเลื่อนขั้นขึ้นไปในโครงสร้างเดิม คอลอนไทเขียนว่า

เฟมินิสต์มองหาความเท่าเทียมในกรอบชนชั้นทางสังคมที่มีอยู่แล้ว ไม่ได้โจมตีโครงสร้างพื้นฐานของสังคมเลยสักทาง ต่อสู้เพื่ออภิสิทธิ์ เพื่อตัวเองโดยไม่ได้ท้าทายอภิสิทธิ์และสิทธิพิเศษที่มีอยู่[3]

แทนที่ผู้หญิงจะรวมตัวกันโดยมีเพศเป็นฐาน ชนชั้นกลับแบ่งผู้หญิงออกจากกัน การต่อสู้ระหว่างชนชั้นแบ่งแยกผู้หญิงแบบเดียวกับที่แบ่งแยกผู้ชาย ความเป็นเอกภาพเรื่องเพศ “ไม่เกิดขึ้นและไม่สามารถจะเกิดขึ้น” แม้ว่าเฟมินิสต์กระฎุมพีจะพูดถึงผู้หญิงทุกคนหรือผู้หญิงเช่นนั้น แต่กลับตั้งคำถามการปลดแอกผู้หญิงจากที่ทางเฉพาะของชนชั้นพวกตน ด้วยความปรารถนาบางอย่างต่อเรื่องการศึกษา ทรัพย์สิน สิทธิการออกเสียงเลือกตั้ง และการเข้าถึงอาชีพ

คอลอนไทสาธยายว่าเฟมินิสต์ก่อตัวเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองกลางศตวรรษที่ 19 ท่ามกลางบริบทการพัฒนาของทุนนิยม เมื่อทุนนิยมกลายเป็นรูปแบบการผลิตหลัก ที่ทางของชนชั้นกลาง กระฎุมพีตัวเล็กตัวน้อย เริ่มไม่เสถียรและเสี่ยงมากขึ้น ในขณะที่หญิงชนชั้นแรงงานถูกดูดกลืนเข้าไปในโรงงานแล้ว (เหตุผลหลักคือพวกเธอได้ค่าแรงน้อยกว่าผู้ชาย) ผู้หญิงกระฎุมพีเริ่มต้องการรายได้และงานที่มีความหมาย พวกเธอร้องเรียกสิทธิในการเข้ามหาวิทยาลัยและประกอบอาชีพหลากหลายกว่าเดิม การที่หญิงกระฎุมพีต่อสู้กับผู้ชายที่ปฏิเสธไม่ให้พวกเธอเข้าถึงอะไรบางอย่างคือสิ่งที่ถูกเรียกว่า “ขบวนการเฟมินิสต์” ที่ต้องการสิทธิพิเศษแบบเดียวกันกับผู้ชายในชนชั้นของพวกเธอ เฟมินิสต์เหล่านี้ปฏิบัติต่อผู้ชายในฐานะศัตรูและพยายามใส่ผู้หญิงทุกคนเข้าไปในการต่อสู้เพื่อสิทธิที่เท่าเทียม โดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานของสังคมชนชั้น

โดยพื้นฐานแล้ว หญิงชนชั้นกรรมาชีพสนใจในเรื่องที่แตกต่างจากนั้น เป็นความสนใจที่พ้องกันกับผู้ชายชนชั้นกรรมาชีพ “พวกเธอเห็นผู้ชายเป็นสหาย” ในฐานะคนที่ถูกกดขี่ใต้สภาพทางสังคมเดียวกัน คนที่ถูกล่ามโซ่ตรวนภายใต้การเอาเปรียบและการครอบงำของทุนนิยม[4] คอลอนไทเข้าถึงใจหญิงชนชั้นแรงงานที่ถูกโยนเข้าไปในกำลังแรงงานของทุนนิยมมากกว่า 60 ล้านคนในยุโรปและในสหรัฐอเมริกาก่อนที่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งจะแผ่ขยาย “ก่อนอื่นเลย แรงงานหญิงก็คือสมาชิกหนึ่งในชนชั้นแรงงาน” เธอกล่าว[5] ขบวนการเฟมินิสต์ไม่ได้ทำอะไรให้เธอ เธอไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการเป็นพันธมิตรกับเฟมินิสต์กระฎุมพี คอลอนไทอธิบายจุดนี้อย่างเห็นได้ชัดในประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของแรงงานหญิงในรัสเซียของเธอ แรงงานหญิงมีข้อเรียกร้องที่เกิดจากเงื่อนไขอันเฉพาะเจาะจง พวกเธอต้องการวันทำงานน้อยลง ค่าแรงมากขึ้น ได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรมในโรงงาน และให้มีตำรวจตรวจตราน้อยลง[6] เฟมินิสต์กระฎุมพีไม่ได้สนใจเรื่องนี้เลย

คอลอนไทยังเห็นข้อกังวลของแรงงานในบ้าน ตลอดปีแรกของการปฏิวัติรัสเซีย (ปี 1905) คนซักรีด คนทำกับข้าว และคนใช้ประท้วงและปฏิบัติการตามท้องถนน เรียกร้องให้นายจ้างปฏิบัติต่อพวกเธออย่างสุภาพ ทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน มีค่าแรงขั้นต่ำ และมีพื้นที่อยู่อาศัยแยกกัน เฟมินิสต์กระฎุมพีจัดตั้งพันธมิตรเพื่อความเท่าเทียมของผู้หญิงและพยายามติดต่อแรงงานในบ้านและเรียกหารือกัน คนใช้จำนวนมากมาร่วมแต่ก็ถอดใจไปด้วยคำว่า “พันธมิตรร่วมระหว่างนายจ้างหญิงและลูกจ้างในบ้าน”[7] (ความสนใจของคอลอนไทในงานบ้านก็เป็นไปในทางเดียวกันกับงานของคอมมิวนิสต์หญิงผิวสี เช่น คลอเดีย โจนส์, ลูอิส ทอมป์สัน แพทเทอร์สัน, เอสเทอร์ คูเปอร์ แจ็คสัน และอลิส ชิลดริส ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 พวกเธอเน้นความสำคัญของการจัดตั้งแรงงานในบ้านเหมือนกัน)

แรงงานหญิงมีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติปี 1905 คอลอนไทอธิบายเหตุการณ์อาทิตย์ทมิฬ (Bloody Sunday) ว่า “เหยื่อส่วนใหญ่ของวันนั้นคือแรงงานหญิง เด็กสาว ภรรยาที่ทำงาน”[8] ผู้หญิงส่งต่อสโลแกนของการนัดหยุดงานทุกโรงงานและเป็นกลุ่มแรกๆ ที่เดินออกไป คอลอนไทเน้นความกล้าหาญและการตัดสินชีวิตตัวเองของหญิงกรรมาชีพตลอดการปฏิวัติปี 1905

ช่วงเดือนตุลาคม ผู้หญิงเหน็ดเหนื่อยจากงานและความเป็นอยู่อันทารุณหิวโหย พวกเธอออกจากโรงงาน และเพื่ออุดมการณ์ร่วมกัน ก็ได้ทิ้งขนมปังก้อนสุดท้ายไม่เหลือไว้ให้ลูกของพวกเธออย่างกล้าหาญ แรงงานหญิงซื้อใจสหายชายของพวกเธอด้วยถ้อยคำกินใจง่ายๆ และเสนอว่าพวกเขาก็ควรออกจากงานเหมือนกัน พวกเธอยึดถือจิตวิญญาณเหล่านั้นยามประท้วง สุมไฟให้กับคนที่ลังเล แรงงานหญิงต่อสู้อย่างไม่รู้จักเหนื่อย ประท้วงอย่างกล้าหาญ เสียสละตัวเองเพื่ออุดมการณ์ร่วม ยิ่งพวกเธอเคลื่อนไหวมากเท่าไร กระบวนการความคิดตื่นรู้ก็ยิ่งรวดเร็วขึ้นเท่านั้น แรงงานหญิงมองดูโลกรอบตัวพวกเธอ มองเห็นความอยุติธรรมที่ก่อร่างจากระบบทุนนิยม เธอรับรู้ความขมขื่น ความทุกย์ยากและความโศกเศร้าอย่างเจ็บปวดและรุนแรงมากขึ้น[9]

เฟมินิสต์นักวิจารณ์บางคนหาว่าคอลอนไทไม่ได้วิจารณ์ความเป็นชาย (masculinity) และโน้มรับมุมมองแรงงานอย่างผู้ชาย[10] ซึ่งนับว่าไม่ถูกต้อง เพราะมันนำเรื่องเพศมาบดบังเรื่องชนชั้น ลดความแข็งแกร่งและความกล้าหาญของแรงงานหญิง นี่เป็นคำวิจารณ์ที่ใช้มุมมองสองขั้วเรื่องเพศ (binary gender) ระบายสีทับอำนาจและการตัดสินชีวิตตัวเองของสหายกรรมาชีพในการต่อสู้ทางการเมืองฝั่งเดียวกัน คอลอนไทสรรเสริญการต่อสู้ที่นำมาซึ่งความกล้าหาญ ความอดทน การอุทิศตน และการปลุกสำนึกทางการเมืองในกรรมาชีพทุกเพศ

ส่วนหญิงชาวไร่ในชนบทก็เป็นส่วนปฏิวัติปี 1905 อย่างลึกซึ้ง ในเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า “การต่อต้านจากกระโปรงซับใน” (petticoat rebellions)

ด้วยความโกรธและความกล้าหาญอันน่าทึ่งสำหรับผู้หญิง หญิงชาวไร่โจมตีศูนย์บัญชาการทหารและตำรวจที่กองกำลังตั้งอยู่ มุ่งหน้าหาสหายของพวกเธอและพาพวกเขากลับบ้าน หญิงชาวไร่ติดอาวุธคราด เสียม และไม้กวาดไล่กองกำลังออกไปจากหมู่บ้าน การประท้วงนี้ปกป้องผลประโยชน์ของชาวไร่และ ‘ผู้หญิง’ อย่างใกล้ชิดโดยไม่มีเหตุที่จะแบ่งแยกเรื่องนี้และจัดว่า ‘การต่อต้านจากกระโปรงซับใน’ เป็นส่วนหนึ่งของ “การเคลื่อนไหวเฟมินิสต์[11]

หากจะอธิบายการกระทำที่โกรธเกรี้ยวของหญิงชาวไร่ว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้หญิงเป็นอันดับแรกก็คงเป็นการเบี่ยงเบนบริบททางชนชั้น ถึงแม้ว่าพวกเธอปฏิบัติการนี้ออกมาด้วยบริบทนี้ ทั้งนี้ การที่หญิงชาวไร่ต่อสู้บนเวทีการเมืองนำพวกเธอไปสู่ข้อเรียกร้องเพื่อความเท่าเทียมทางการเมือง อันเป็นผลจากสำนึกการต่อสู้เพื่อ “ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองของชาวไร่ทั้งหมด” ในที่นี้คือการยึดที่ดินและจบสภาพพันธะเกษตร

หากสรุปด้านแรกของการต่อสู้ของคอลอนไทในนามแรงงานหญิง เธอกล่าวว่าเป้าหมายของเฟมินิสต์กระฎุมพีคือความเท่าเทียมทางการเมืองภายในสังคมแบบชนชั้น ไม่ใช่การรื้อสังคมแบบนั้น หญิงชนชั้นแรงงานเข้าใจดีว่าตราบใดที่พวกเธอยังถูกบังคับให้ขายแรงงาน ตราบใดที่พวกเธอยัง “สวมแอกของทุนนิยม” พวกเธอก็จะไม่เป็นอิสระ การตัดสินใจของพวกเธอทั้งหมด ไม่ว่าจะแต่งงานหรือไม่ กับใคร จะมีลูกหรือไม่ จะดูแลอย่างไร ถูกจำกัดด้วยตลาด เช่นนี้ คอลอนไทจึงไม่ใช่เฟมินิสต์ เธอปฏิเสธความคิดที่ว่ามันมี “คำถามสากลของผู้หญิง” เพราะนั่นเป็น “การหลอกลวงตัวเองเพื่อความสบายใจแบบเฟมินิสต์” การปลดแอกผู้หญิงต้องการสังคมนิยม จุดจบของสังคมชนชั้น และการเอาเปรียบจากทุนนิยม

การต่อสู้เพื่อผู้หญิงและพรรค

แล้วอะไรคือด้านที่สองของการต่อสู้ของเธอล่ะ การต่อสู้เพื่อการรวมประเด็นของแรงงานเข้าไปในงานและพื้นที่สังคมนิยมของพรรคหรือ? ในอัตชีวประวัติของเธอ คอลอนไทกล่าวว่าการโน้มน้าวสมาชิกพรรคให้แก้ไขปัญหาที่แรงงานหญิงเผชิญเป็นเรื่องยาก แม้แต่หลังจากเห็นความกล้าหาญของแรงงานหญิงในการปฏิวัติปี 1905 แล้ว นักสังคมนิยมหลายคนก็ยังยึดโยงประเด็นของแรงงานหญิงกับเฟมินิสต์กระฎุมพี จุดนี้เริ่มเปลี่ยนไปเมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเริ่มต้น ด้วยทั้งสองฝั่งของพรรคสังคมประชาธิปไตยแห่งรัสเซีย (บอลเชวิคและเมนเชวิค) นำประเด็นของผู้หญิงมาปฏิบัติจริง อย่างไรก็ตาม คอลอนไทและผู้หญิงคนอื่นในพรรคยังต้องต่อสู้เพื่อให้พรรคสนใจในประเด็นผู้หญิงอยู่ดี ตามสายนักนิยมเลนินแบบคลาสสิคแล้ว พวกเธอก็ได้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ Rabotnitsa (“เวิร์คกิ้งวูแมน”)

ด้วยความที่เธอมองหาการขยายการมีส่วนร่วมระหว่างพรรคกับแรงงานหญิง คอลอนไทจึงยังคงเขียน บรรยาย และจัดตั้ง เธอเข้าร่วมการประท้วงของคนงานซักรีดหญิง เพื่อเรียกร้อง “ชุมชน” (municipalization) ของการซักรีด (การประท้วงคงอยู่หกสัปดาห์และไม่ประสบผลสำเร็จ) เธอกดดันสหภาพการค้าให้จ่ายค่าแรงที่เท่าเทียมต่อผู้หญิง เพื่อปกป้องความเป็นแม่ ตัวคอลอนไทเองก็มีส่วนพัฒนาจุดยืนของพรรคเพื่อหญิงชนชั้นกรรมาชีพอย่างแท้จริงผ่านการรับมือสถานการณ์น่าสิ้นหวังของประเทศในยุคสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ที่คุณภาพชีวิตลดลงอย่างมากด้วยข้าวของราคาแพงและสินค้าจำเป็นขาดตลาด สังคมเผชิญวิกฤตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในด้านการผลิตซ้ำทางสังคมจนพรรคไม่สามารถเพิกเฉยได้ หลังจากการปฏิวัติเดือนตุลาคมและตำแหน่งของเธอในกระทรวงสวัสดิการแรงงาน คอลอนไทได้ริเริ่มหลายอย่างเพื่อพัฒนาสภาพการผลิตซ้ำทางสังคม ทั้งมาตรการเกี่ยวกับทหารผ่านศึกพิการ การให้การศึกษาแก่หญิงสาว การปรับโครงสร้างศูนย์เด็กกำพร้าใหม่ให้เป็นโรงเลี้ยงเด็ก การเน้นระบบสาธารณสุขฟรี และอื่นๆ คอลอนไทภูมิใจงานสร้างรากฐานทางกฎหมายในสำนักงานกลางสวัสดิการแม่และเด็ก ( Central Office for Maternity and Infant Welfare) ที่สุด รวมถึงการวางแผนสถานดูแลก่อนคลอด (“pre-natal care palace”) การเลี้ยงเด็กสมัยใหม่ หรือการทำให้การดูแลแม่และเด็กเป็นเรื่องของประเทศ

คอลอนไทได้ร่างวิสัยทัศน์หญิงตั้งครรภ์ว่าเป็นที่ต้อนรับเข้าไปใน “บ้านหลังพิเศษที่มีสวนและดอกไม้”

บ้านจะถูกออกแบบอย่างดีจนคนที่เพิ่งคลอดลูกทุกคนจะสามารถอยู่ได้อย่างสะดวกสบาย มีความสุขและสุขภาพดี หมอในสังคม-ครอบครัวนี้จะคำนึงถึงการลดความเจ็บปวดจากการคลอดลูกด้วย ไม่ใช่แค่การรักษาสุขภาพของแม่และเด็กเท่านั้น วิทยาศาสตร์คือการสร้างความก้าวหน้าในวงการและช่วยเหลือหมอที่นี่ เมื่อเด็กแข็งแรงมากพอ แม่จะกลับไปสู่ชีวิตปกติและทำงานที่เธอทำอยู่ต่อเพื่อประโยชน์ของสังคม-ครอบครัวขนาดใหญ่ เธอไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องลูกของเธอ สังคมอยู่ตรงนั้นเพื่อช่วยเหลือเธอ เด็กจะเติบโตในสถานอนุบาล อาณาจักรของเด็กๆ ที่บริบาลและโรงเรียนภายใต้การดูแลของพยาบาลที่มีประสบการณ์ ภาระของความเป็นแม่ไม่ใช่เรื่องต้องแบกอีกต่อไป เหลือเพียงด้านที่น่าสนุกเท่านั้นที่คงอยู่ …[12]

งานของคอลอนไทในรัฐบาลใหม่ของโซเวียต ทั้งในกระทรวงสวัสดิการแรงงานและในแผนกสตรีในภายหลัง เกี่ยวข้องกับการทำให้ความเป็นแม่เป็นเรื่องของสังคม การดูแลเด็กทารกและเด็ก และแรงงานผลิตซ้ำ งานเขียนของเธอจินตนาการความสัมพันธ์รักของนักสังคมนิยมใหม่ ศีลธรรมใหม่ของสหายที่เสรีและเท่าเทียม แต่สงครามกลางเมือง วิกฤตทางเศรษฐกิจ และการต่อสู้ของขั้วการเมืองในพรรคทำให้เธอไม่ได้เห็นงานของเธอสำเร็จอย่างเต็มรูปแบบ

 


เพิ่มเติม: (ผู้แปล) คำว่า “ชุมชน” (municipalization) การซักรีด เป็นความพยายามหนึ่งของคอลอนไทที่จะ “แยกครัวออกจากการแต่งงาน” ทั้งจัดตั้งโรงเรียนอนุบาล โรงเลี้ยงเด็ก โรงอาหาร และโรงซักผ้าสาธารณะ และอื่นๆ เพื่อทำให้เรื่องส่วนตัวกลายเป็นเรื่องของสังคมและชุมชน (อ่านเพิ่มเติมที่ https://www.marxists.org/thai/archive/kollontai/women-family/index.htm)


[1] Frederick Engels, The Origin of the Family, Private Property and the State (Penguin Classics, 2010), 35.

[2] Alexandra Kollontai, The Autobiography of a Sexually Emancipated Woman, https://www.marxists.org/archive/kollonta/1926/autobiography.htm.

[3] Alexandra Kollontai, The Social Basis of the Woman Question, https://www.marxists.org/archive/kollonta/1909/social-basis.htm.

[4] เพิ่งอ้าง.

[5] เพิ่งอ้าง.

[6] Alexandra Kollontai, “History of the movement of women workers in Russia,” https://www.marxists.org/archive/kollonta/1919/history.htm.

[7] เพิ่งอ้าง.

[8] เพิ่งอ้าง.

[9] เพิ่งอ้าง.

[10] Alexandra Kollontai, Red Love, https://www.marxists.org/archive/kollonta/red-love/index.htm.

[11] Alexandra Kollontai, “History of the movement of women workers in Russia.”

[12] Alexandra Kollontai, “Working Woman and Mother,” https://www.marxists.org/archive/kollonta/1916/working-mother.htm