ต้นฉบับ: Feminism as Anarchism – Lynne Farrow
ผู้แปล: สหายเห็ดนางฟ้า สหายผู้ได้มา สหายคอมบ์เบรกเกอร์ สหายเข็มหมุด
บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1974 (พ.ศ. 2517) น่าแปลกที่ผ่านมาเกือบ 50 ปีแล้ว หลายประเด็นในบทความนี้ยังคงทันสมัยอยู่ ทุกวันนี้เราได้เห็นโฉมหน้าค่าตาและได้ยินเสียงของกลุ่มผู้ถูกกดขี่หลากหลายมากขึ้นมาก คนดำในบริบทในบทความ อาจหมายถึงคนชาติพันธุ์ คนพม่า แรงงาน เพศหลากหลาย คนในสลัม คนไร้บ้าน ผู้พิการ เควียร์ หรือเด็กในบ้านเรา *ในวันนี้* “ผู้หญิง” ในบทความก็คือกลุ่มคนที่กำหนดว่าตนเองเป็นผู้หญิง ไม่ว่าจะมีเพศกำเนิดอะไร เราได้เห็นการต่อสู้ในระดับประเทศ หลายประเภท ระดับโลกมากขึ้น ซึ่งต่างจากในบทความ งานชิ้นนี้อาจต้องอ่านโดยคำนึงถึงระยะเวลาที่ผ่านไปหลายปี ครุ่นคิดถึงความเหมือนและความต่างของมัน นอกจากเข้าใจการกดขี่ขนานใหญ่แล้ว เราได้ตรวจสอบการกดขี่ทางเพศในขบวนการบ้างไหม? เราได้ฟังกันอย่างหลากหลายและใส่ใจอย่างเพียงพอรึเปล่า? หรือไม่ว่าในขบวนการไหน บางเพศ บางรูปแบบการเคลื่อนไหว ก็ยังเป็นใหญ่และเบียดขับการเคลื่อนไหวอื่นด้วยเหตุผลของการต่อสู้อยู่ดี …
I.
แนวทางขบวนการเฟมินิสต์ปฏิบัติในสิ่งที่อนาคิสต์ป่าวประกาศ บางคนถึงขั้นกล่าวว่า เฟมินิสต์คือขบวนการที่มีลมหายใจสุดท้ายที่สามารถขานเรียกตนเองว่ากำลังปฏิบัติการแบบอนาคิสต์ได้ หนึ่งเพราะผู้หญิงทุ่มเททำงานให้กับโครงการบางอย่างเป็นการเฉพาะ เช่น คลินิกทำแท้ง หรือศูนย์เด็กเล็ก และสอง แม้จะดูไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ส่วนใหญ่แล้วพวกเธอไม่ยอมวุ่นอยู่กับการต่อสู้ทางการเมืองที่แบ่งขั้วซ้าย-ขวา และปฏิรูป-ปฏิวัติ
อย่างไรก็ตาม ความใส่ใจของพวกเธอต่อโครงการเหล่านี้และกิจกรรมที่ดูไม่การเมืองของผู้หญิงกลับกลายเป็นภัยคุกคามต่อฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย และประวัติศาสตร์ของเฟมินิสต์ก็กล่าวถึงการที่ข้อเรียกร้องของพวกเธอถูกมองข้าม ถูกใช้ทั้งในกระบวนการกฎหมายจากกลุ่มการเมือง และในทางทฤษฎีจากฝ่ายซ้าย การถูกใช้และถูกกลืนนี้ทำให้เราละเลยที่จะตั้งคำถามสถานการณ์ของเฟมินิสต์ และตั้งคำถามว่าอะไรคือยุทธศาสตร์สำคัญในการเปลี่ยนแปลง
ไฟแห่งการปลดแอกสตรีปะทุขึ้นครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1840s ท่ามกลางการรณรงค์เลิกทาสของฝ่ายเสรีนิยมที่ร้อนระอุ กลุ่มผู้หญิงฝีปากกล้าในขบวนการควาเกอร์ (Quaker) ออกปราศัยต่อต้านระบบถือครองทาสทางตอนใต้ และตระหนักว่าสิทธิขั้นพื้นฐานที่พวกเธอเรียกร้องเพื่อคนผิวดำ ก็คือสิทธิที่ผู้หญิงไม่เคยได้รับเช่นกัน เมื่อนั้น ลูซี สโตน (Lucy Stone) และ ลูเครเทีย มอตต์ (Lucretia Mott) สองนักรณรงค์เลิกทาสผู้กล้าหาญได้สอดแทรกหยิบยกแนวคิดเฟมินิสต์บางประการมาประกาศกร้าวท้ายบทปราศัย สร้างความกระอักกระอ่วนใจแก่ชาวเสรีนิยมผู้ร่วมขบวนการไม่น้อย อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้หญิงเหล่านั้นก็ไม่ได้เป็นภัยต่อขบวนการ ตราบใดที่พวกเธอเจียมตน และตระหนักถึงข้อเรียกร้องที่สำคัญและ “จริงจัง” กว่าข้อเรียกร้องอื่นในขบวนการ
ต่อมา ในปี 1842 การประชุมต่อต้านระบบทาสสากล (World Anti-Slavery Convention) ถูกจัดขึ้นในลอนดอน ผู้หญิงอเมริกันพร้อมกับนักรณรงค์เลิกทาสคนอื่นๆ อุตส่าห์ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเข้าร่วม เพียงเพื่อจะพบว่าไม่เพียงแต่ผู้หญิงจะถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าร่วมในขั้นตอนการพิจารณาต่างๆ แต่เลวร้ายกว่านั้น พวกเธอยังถูกกีดกันออกจากงานพบปะมวลชน ลูเครเทีย มอตต์ และ อลิซาเบธ เคดี้ แสตนตัน (Elizabeth Cady Stanton) จึงแสดงความไม่พอใจต่อความหน้าไหว้หลังหลอกของการประชุมต่อต้านระบบทาสที่ชาวเสรีนิยมจัดขึ้น ที่ปฏิเสธการมีส่วนร่วมของผู้หญิง จนพวกเธอถอนตัวกลับไปยังอเมริกา และจัดตั้งขบวนการเพื่อการปลดแอกผู้หญิงในเวลาต่อมา
การประชุมสิทธิของผู้หญิงครั้งแรกจึงถูกจัดขึ้นในปี 1848 ณ เซเนคา ฟอลส์ นครรัฐนิวยอร์ค (Seneca Falls, New York) ที่การประชาสัมพันธ์เพียงสามวันในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นก็ดึงดูดผู้หญิงจำนวนมากมาเข้าร่วมจนท่วมโบสถ์ที่จัดประชุม ในช่วงท้ายของการประชุมสัญจร พวกเขาได้ร่าง คำประกาศว่าด้วยหลักคิดและสิทธิสตรี (Declaration of Rights and Sentiment) ที่ดัดแปลงมาจาก คำประกาศอิสรภาพ ที่มุ่งเรียกร้องต่อผู้ชายมากกว่าพระเจ้าจอร์จแห่งเกาะอังกฤษเสียอีก หลังจากการประชุมครั้งนั้นที่ถูกเรียกขานอย่างเป็นทางการว่าเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการสิทธิของผู้หญิงในสหรัฐอเมริกา ขบวนการเฟมินิสต์เรียกร้องต่อสู้เรื่องกฎหมายกรรมสิทธิ์ผู้หญิง และความไม่เท่าเทียมอื่นๆ ขึ้นมาในเวลาไม่นาน
เฟมินิสต์อเมริกันเริ่มได้รับการสนับสนุนทีละเล็กละน้อย จนทำให้ฝ่ายเสรีนิยมหวั่นวิตกว่าผู้หญิงเหล่านี้จะทุ่มเทแรงกายแรงใจไปกับประเด็นของผู้หญิงมากกว่าประเด็นหลักของตนในเวลานี้อย่างการเลิกทาส พวกเขาเน้นย้ำว่า เหนือสิ่งอื่นใด นี่คือ “ช่วงเวลาสำคัญของนิโกร (the negroes’ hour)” และผู้หญิงไม่ควรนึกถึงแต่ความต้องการของตัวเองในช่วงเวลาสำคัญแบบนี้ เมื่อสงครามกลางเมืองใกล้เข้ามา วิวาทะดังกล่าวเปลี่ยนจากการต่อรองอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย สู่การสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองบนความเดือดดาล เช่น “ทำไมผู้หญิงเหล่านี้ถึงไม่สละตนเพื่อการต่อสู้ของคนในประเทศ แต่กลับอุทิศตนให้แก่แนวคิดเฟมินิสต์ในเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้” ดังนั้น ตามหลักความถูกต้องของขบวนแล้ว เฟมินิสต์ทุกคนในอเมริกาจึงควรวางจิตสำนึกเฟมินิสต์ของตนลงก่อน และสนับสนุนความต้องการของขบวนการเสรีนิยมในขณะนั้น เพื่อเป็นหลักประกันว่าเมื่อสงครามกลางเมืองจบลงและคนผิวดำได้รับสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ผู้หญิงจะได้รับสิทธิเหล่านั้นด้วย
ณ ตอนนั้น ซูซาน บี แอนโทนี (Susan B. Anthony) นักรณรงค์เลิกทาสผู้เด็ดเดี่ยว คือเฟมินิสต์เพียงคนเดียวที่ปฏิเสธการให้ความร่วมมือกับหลักการของกลุ่มเสรีนิยม เธอยังคงขับเคลื่อนเรื่องสิทธิของผู้หญิงอย่างเปิดเผย แม้ว่าผู้สนับสนุนของเธอจะลดลง และย้ายค่ายไปสนับสนุนกับนักรณรงค์ต่อต้านการเลิกทาสคนอื่นก็ตาม เธอเชื่อมั่นว่า การต่อสู้ทั้งสองสามารถดำเนินไปพร้อมกันได้ และหากละทิ้งการต่อสู้ของผู้หญิงไป หลังสงครามข้อเรียกร้องของผู้หญิงก็จะถูกลืม ซึ่งสิ่งที่เธอทำนายไว้ก็เป็นจริง เมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 14 ว่าด้วยสิทธิพลเมือง (14th Amendment) ถูกเสนอเรื่องขึ้นสภาครองเกรซ สิทธิของผู้หญิงไม่เพียงแต่ไม่ถูกกล่าวถึงแล้ว แต่ยังถูกกีดกันด้วย จึงเป็นครั้งแรกที่คำว่า “ชาย” ถูกเขียนในรัฐธรรมนูญอย่างกระจ่างแจ้งว่า คำดังกล่าวสื่อถึง “เพศชาย” เท่านั้น
การทำลายล้างการวางรากฐานความเท่าเทียมทางเพศครั้งใหญ่นี้ยังขัดขวางการเสนอกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวกับผู้หญิงที่ตามมา จนกระทั่งเกือบร้อยปีต่อมา ในปี 1913 เมื่อกลุ่มผู้หญิงบริติชจัดตั้งกองกำลังที่วางระเบิด และเผาอาคารสถานที่ อลิซ พอล (Alice Paul) หญิงชาวอเมริกันจากกลุ่มควาเกอร์ผู้กระตือรือร้น เดินทางมาศึกษา ณ เกาะอังกฤษ แต่มาร่วมหัวจมท้ายกับกลุ่มแพนเคิร์สตส์ (Pankhursts) ชื่อกระฉ่อน เธอกลับไปยังสหรัฐอเมริกาพร้อมกับความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะคืนชีพขบวนการเรียกร้องสิทธิการเลือกตั้งของผู้หญิงอีกครั้ง ไม่นานหลังจากนั้น เธอจึงชักชวนสมาพันธ์สิทธิการเลือกตั้งสตรีแห่งชาติ (National Woman’s Suffrage Association) ที่หยุดเคลื่อนไหวไป ให้กลับมารณรงค์เรียกร้องสิทธิการเลือกตั้งของผู้หญิงในวอชิงตันอีกครั้ง
ในเวลาอันสั้น ความฉลาดปราดเปรื่องในการจัดตั้งและการวางกลยุทธของ อลิซ พอล ทำให้เธอสามารถสร้างขบวนการที่รวมการต่อสู้หลากหลายรูปแบบเข้าด้วยกัน การต่อสู้ที่เห็นผลที่สุดคือการนำป้ายประท้วงประณามจุดยืนอำนาจนิยมของประธานาธิบดีวิลสันที่ต่อต้านสิทธิการเลือกตั้งของผู้หญิงในขณะที่เขากำลังอภิปรายเรื่องประชาธิปไตยออกอากาศ สงครามโลกครั้งที่หนึ่งใกล้เข้ามา แล้วขบวนการเฟมินิสต์ก็กำลังจะถูกละเลยอีกครั้ง
กลุ่มผู้รักสันติภาพ (pacifist) หรือขบวนการต่อต้านสงครามประกาศกับผู้หญิงให้วางข้อเรียกร้องของตนลงก่อนชั่วคราวและเข้าร่วมการเรียกร้องสันติภาพ ในขณะเดียวกัน ผู้สนับสนุนสงครามซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศก็ถากถางผู้หญิงว่าละทิ้งประเทศในยามวิกฤต นี่จึงเป็นอีกครั้งที่ผู้หญิงนับพันถูกบังคับให้ละทิ้งขบวนการเฟมินิสต์และไปช่วยเหลือกลุ่มการเมืองของตน ทว่า ยังมีผู้หญิงกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งอย่าง พรรคสตรีแห่งชาติ (National Woman’s Party) ที่ยังคงเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิการเลือกตั้งตลอดมา
II.
ไม่ง่ายเลยที่จะบอกว่าฝ่ายไหน ซ้ายหรือขวา ที่เป็นผู้บดบังความพยายามต่างๆ ของเฟมินิสต์ เมื่อมองดูประวัติศาสตร์แล้วเราจะพบว่า วิธีการของทั้งสองฝ่ายนั้นไม่ต่างกัน ทั้งความมั่นใจอย่างออกหน้าออกตาที่จะให้ความสำคัญกับ “การต่อสู้ที่ใหญ่กว่า” จนนำไปสู่การบอกปัดประเด็นเฟมินิสต์ว่าเป็นประเด็นอื่นไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากวิเคราะห์ว่าขบวนการฝ่ายซ้ายที่มีคนดำและมาร์กซิสต์เป็นใหญ่ได้บีบผู้หญิงเข้าไปในแผนการก็เมื่อเป็นผลพลอยได้ของอะไรสักอย่าง เช่น เมื่อชนะการต่อสู้ที่สำคัญแล้ว ผู้หญิงถึงค่อยแยกตัวออกไปสู้ ผู้หญิงต้องรอก่อน ผู้หญิงต้องช่วยเหลือการต่อสู้ขบวนการใหญ่เสียก่อน!
เรามักเห็นในบทกวีของหญิงคนดำอย่างชัดเจน ว่าการก่อสร้างอีโก้หรือความทะนงตนของชายคนดำเป็นไปตามรูปแบบในขนบ — ด้วยการดูถูกตัวเองเสียก่อน — ประเด็นนี้ได้ยินกันมาครั้งแล้วครั้งเล่า บอกกล่าวความทุกข์ทรมานอันแสนน่าภูมิใจของหญิงคนดำในกำมือของชายคนดำ ผู้ที่อ่อนแอเมื่ออยู่กับเจ้านายคนขาว เขาจึงต้องการผู้หญิงเพื่อให้ตัวเองรู้สึกเหนือกว่า และเธอเองก็ทำตัวตามเช่นนั้น — ความทุกข์ทรมานของเธอมีส่วนกับการต่อสู้ของ (ชาย) คนดำโดยตรงและเธอมองว่าเป็นการเสียสละที่มีเกียรติ (เหมือนที่ เจอร์เมน เกรียร์ (Germaine Greer) เสนอไว้ว่า ในเมื่อผู้หญิงไม่มีอำนาจที่จะข่มขู่ พวกเธอไม่สามารถถูกลดทอนอำนาจได้ ฉะนั้นแล้วจึงไม่มีใครมองว่าการไม่มีอำนาจของผู้หญิงเป็นเรื่องแปลกอะไร ถือเป็นเรื่องธรรมชาติด้วยซ้ำ ไม่มีใครหรอกที่จะนอนเฉยๆ แล้วให้ผู้หญิงเตะขึ้นมา) ในขณะที่ภาวะไร้อำนาจของชายคนดำนั้นก็เป็นแค่เรื่องชั่วคราว เนื่องจากพวกเขาเป็นผู้ชายและยังสามารถที่จะเข้าถึงอำนาจของชายคนขาวได้ สิ่งที่เขาต้องการก็แค่ผู้หญิงสักคนให้ครอบงำในแบบเดียวกันกับที่คนขาวได้ครอบงำเขา เมื่อนั้นเขาก็จะได้ความสูงส่งของเขาคืนมา คนดำได้ต่อต้านความเป็นใหญ่ของคนขาวด้วยการตระหนักถึงความงามของคนดำ แต่พวกเขาไม่เคยท้าทายรูปแบบครอบครัวคนขาว ไม่เคยท้าทายความน่าปรารถนาของรูปแบบครอบครัวชายเป็นใหญ่ ฉะนั้นแล้วพวกเขาก็ยังคงเชิดชูความเป็นใหญ่ของผู้ชายอยู่ดี
มาร์กซิสต์เฟมินิสต์ชื่อว่าจูเลียต มิตเชล (Juliet Mitchell) ได้ยกตัวอย่างใน Woman’s Estate ว่ารูปแบบความคิดของการเข้าใจความความเดือดร้อนจริงๆ ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น กลุ่มเฟมินิสต์ ว่าไม่เกี่ยวข้องหรือเป็นแค่อาการอย่างหนึ่งของการต่อสู้ที่ใหญ่กว่า ที่ทุกกลุ่มก็เป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มนามธรรมหรืออุดมการณ์นั้น คงเดากันได้อยู่แล้วว่า หากมีความขัดแย้งในทางทฤษฎีเกิดขึ้น มิตเชลจะร้องหา “ภาพกว้าง” แนวคิดเชิงนามธรรมที่จะขยายตัวเองให้ตอบโจทย์ข้อขัดแย้ง เมื่อกลุ่มที่มีกังวลร่วมกัน เช่น นักเรียน ผู้หญิง คนดำ โฮโมเซ็กชวล ได้ร่างสิ่งที่ตัวเองต้องการจากฐานสถานการณ์ของพวกเขา มิตเชลก็กล่าวหาว่าพวกนั้นมองการณ์ “สั้น” เกินไปจนไม่เห็นว่าความต้องการนั้นเป็นผลพลอยได้ สิ่งที่พวกเขาต้องเข้าใจคือ “แนวคิดนิยมทุกสิ่ง” (โททอลลิสม์ – totalism) หรือการทำความเข้าใจเพื่อหยุดทุกการทำความเข้าใจ (ผู้แปล: โททอลลิสม์ในที่นี่คือแนวคิดทางปรัชญาที่ครอบคลุมประเด็นทุกประเด็น “A philosophy, ideology or belief system that is total in its scope, one that covers everything.”)
สำนึกทางการเมืองขั้นสุดของชนชั้นที่ถูกขูดรีดหรือกลุ่มที่ถูกกดขี่ไม่สามารถกำเนิดมาจากตัวเองได้ แต่มาจากการรับรู้ถึงความสัมพันธ์ที่มีระหว่างกัน (interrelationship) (และการครอบงำของโครงสร้าง) ของทุกชนชั้นในสังคม … ไม่ได้หมายความว่าให้ทำความเข้าใจทันทีว่ากลุ่มอื่นและชนชั้นอื่นถูกกดขี่และขูดรีดอย่างไร แต่หมายความว่า การเรียกการโจมตีทุนนิยมแบบ “พวกนิยมทุกสิ่ง” สามารถทำให้ความสมานฉันท์ระหว่างแต่ละกลุ่มที่โดนกดขี่ที่ขำเป็นอย่างยิ่งสามารถเป็นจริงขึ้นมาได้
มิตเชลอาจถูกกล่าวหาว่ามีแนวคิดจักวรรดินิยมทางความคิดได้แบบง่ายๆ เมื่อมองว่าคำว่า “นิยมทุกสิ่ง” ที่เธอใช้ควบรวมคำย่อยต่างๆ และทำให้คำเหล่านั้นตกเป็นประเด็นรองไป ภายใต้อำนาจของแนวคิดมาร์กซิสต์ตั้งต้นของเธอ ในมุมของมิตเชลแล้ว แต่ละกลุ่มที่ตอบสนองในแบบของตัวเองต้องเรียนรู้ที่จะเห็นหนทางและเสียสละ แนวคิดของเธอที่ว่าพวกเขาต้องล้มเลิกความกังวลของตัวเองเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมเป็นนามธรรมที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของกลุ่มประโยชน์ใดๆ เลย เนื่องจากว่ามันใหญ่ไปเสียจนไม่สามารถตอบโจทย์ประโยชน์หรือความกังวลอันหลากหลายได้เลย
กว่าจะเข้าใจอย่างนี้ได้ก็ต้องเข้าใจที่ทางของกลุ่มนิยมทุกสิ่งเสียก่อน แต่มันยังต้องคำนึงถึงหลากหลายสิ่งกว่านี้ หรือไม่เช่นนั้นก็ติดหล่มอยู่ในแนวคิดลัทธิคลั่งไคล้แบบคนดำ (Black chauvinism) ซึ่งเหมือนเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของเศรษฐกิจนิยมแบบชนชั้นแรงงาน (working class economism) และไม่ได้มองเห็นอะไร นอกจากจมูกหักๆ ของตัวเอง
แนวคิดของมิตเชลด้อยค่าปัจเจกนิยมในทุกรูปแบบไป ไม่ต่างกันกับในประวัติศาสตร์ ที่กลุ่มจัดตั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาได้ช่วงชิงผู้หญิงจากการทำงานเพื่อประโยชน์หรือความกังวลของพวกเธอ ผู้หญิงได้ถูกขอให้เป็น “ทำเพื่อทุกสิ่ง” ในแบบเดียวกันที่ประชาชนถูกขอให้ต้อง “รักชาติรักแผ่นดิน” เราถูกขอให้เปลี่ยนจากรูปแบบการใช้อำนาจอย่างหนึ่งไปเป็นอีกอย่างหนึ่งเท่านั้น เราถูกขอให้ทำตัวตาม เมต้า-อนาไลซิส (การศึกษาแบบรวมผล meta-analysis) ที่เต็มไปด้วยชนชั้น แม้จะพยายามกี่ครั้งก็ตามแต่ เราก็ไม่สามารถเห็นได้แม้แต่นิดเดียวว่าการทำเช่นนั้นจะเกี่ยวอะไรกับความทุกข์ทรมานของเราในตอนนี้ สิ่งที่ดีงามสำหรับทุกคนก็ควรจะดีงามสำหรับหนึ่งคนด้วย
เพราะผีของความนิยมทุกสิ่งยังคงหลอกหลอนเราอยู่ เราจึงต้องออกมาทำให้เห็นว่าประโยชน์หรือความกังวลของเรามันจริงแท้อย่างไร ด้วยเหตุผลกลใดบ้าง ทั้งการที่เราต้องหยุดทำเพื่อประเด็นการต่อสู้ และถูกลากเข้าไปในสายใยที่พยายามแย่งชิงความสนใจของเราไป เพราะมัวแต่ต้องอธิบายและปกป้องแนวคิดของเรา เราคุ้นชินไปเสียว่าประโยชน์ของกลุ่มนั้นสำคัญกว่า และเป็นเรื่องง่ายกว่าเรื่องของอีกคนหนึ่ง จนเราติดกับการทำให้ตัวเองเป็นเหตุเป็นผล (self-rationalization) จนไม่ยอมสงสัยว่าการขัดขากันไปมาระหว่างกลุ่มมันมีคุณค่าอะไรตั้งแต่แรกหรือไม่
ไม่ใช่แค่วิธีการแบบ “นิยมทุกสิ่ง” พยายามรวมทุกอย่างเข้าด้วยกันหรือจัดว่าประเด็นการต่อสู้ไหนควรมาก่อน มันยังเสนอว่าเมื่อธรรมชาติของปัญหาคือการครอบคลุมทุกประเด็น แล้วทางแก้ปัญหาก็คงเป็นเช่นนั้นด้วย จนนำมาสู่สถานการณ์ที่ผู้หญิงถูกหลอกมาเสมอ — แม้กลุ่มอาจยังทำงานต่อไปได้ ภายใต้ภาพลวงว่า “เจอสิ่งนี้ด้วยกัน” เป็นเวลานาน ซึ่งปกติแล้วก็ยาวนานเท่าที่ยังคงคุยกันเรื่องทฤษฎี เหมือนกับสัญญาที่ให้กับเฟมินิสต์ก่อนสงครามกลางเมือง แต่เมื่อถึงเวลาต้องทำอะไรสักอย่างในสถานการณ์ที่คิดไว้อย่างหลวมๆ แล้ว ก็ไม่สามารถค้นหาและทำลายศัตรูที่นิยมทุกประเด็นไปได้ง่ายๆ ทางออกก็คือต้องเลือกว่าจะทำอะไรและทำเพื่อใคร ฉะนั้นแล้ว ประเด็นการต่อสู้ที่ดูจะบังคับคนอื่นได้มากที่สุดก็ถูกให้ความสำคัญที่สุด และเรื่องอื่นก็ได้รับความสำคัญรองลงไป หากไม่เป็นเช่นนี้ก็คงเป็นทางแก้แบบนิยมทุกประเด็นจนกระจัดกระจาย ขับเคลื่อนพลังไปแต่ไม่ได้ช่วยเหลือใครเลย ผู้หญิงเองเสียทั้งขึ้นทั้งล่อง เมื่อต้องต่อสู้กับการกดขี่ทางเพศและถูกมองในบริบทการต่อสู้ที่ใหญ่กว่า
ถ้าการต่อสู้ของเฟมินิสต์ไม่เป็นอื่นและเป็นรองจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองรูปแบบอื่นแล้ว เราจะสามารถเน้นย้ำการต่อสู้ของเฟมินิสต์ได้อย่างไร?
III.
ผู้หญิงส่วนใหญ่ยังคงต้องอาศัยหรือทำงานกับผู้ชายในชีวิตอย่างน้อยเป็นบางเวลา พวกเธอจึงต้องมีวิธีการรับมือกับปัญหาที่ปกติเราเรียกว่า “ผู้กดขี่” อย่างเฉพาะตัวและแตกต่างจากคนอื่นๆ เพราะโดยทั่วไปแล้วผู้หญิงยังคงมีผลประโยชน์จากการรักษาความสัมพันธ์กับผู้ชายไม่ว่าจะด้วยเหตุผลส่วนตัวหรือเหตุผลด้านอาชีพ ปัญหาจึงไม่สามารถถูกลดทอนว่าเป็นที่ผู้ชายหรือแก้ไขที่ผู้ชายเท่านั้น ประการแรก การนำเอาพวกเธอออกมาจากสถานการณ์เช่นนั้นย่อมเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ขัดต่อผลประโยชน์ของเธออย่างแน่นอน ประการที่สอง การมุ่งเน้นไปที่แหล่งที่มาของปัญหาไม่จำเป็นต้องเป็นปัญหาเองเสมอไป คงผิดพลาดหากจะมองความขัดแย้งว่าเป็นความผิดของคนบางกลุ่ม แทนที่จะมองถึงพฤติกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างพวกเขา
สิ่งที่ตามมาก็คือ เพื่อที่จะรักษาความสัมพันธ์กับผู้ชาย ผู้หญิงเลยจำเป็นต้องคำนึงถึงสภาพความเป็นอยู่ของตัวเองอย่างแตกต่างโดยสิ้นเชิง ในรูปแบบที่มีพื้นฐานความคิดแบบตามสถานการณ์ นั่นจึงทำให้พลังของเฟมินิสต์มักจะมุ่งเน้นที่ตัวปัญหามากกว่าที่คน (หรือการต่อสู้) เป็นศูนย์กลาง สิ่งสำคัญจะไม่ใช่การแบ่งเขาแบ่งเราแบบที่มีผู้กดขี่ตามความเชื่อปรัมปราที่ต่างคนต่างปะทะกันเพียงเพื่อช่วงชิงสิทธิพิเศษบางอย่าง แต่เป็นการหลีกเลี่ยงการปะทะกัน ตัวอย่างเช่น ถ้ามีสถานการณ์ที่ต้องคอยแข่งขันกันระหว่างเพศอยู่แล้ว การเรียนคาราเต้จะยิ่งส่งเสริมการสะสมอาวุธของทั้งสองฝ่ายมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นเงื่อนไขในการต่อสู้เช่นนี้จึงไม่ได้เปลี่ยนดุลอำนาจของทั้งสองฝ่าย
ขบวนการเฟมินิสต์แบบสถานการณ์นิยม (situationism) คือการมองว่าการวิเคราะห์ทางสังคมอย่างละเอียดและกลุ่มแบบลามาร์กซ์ (la Marx) นั้นเกินเหตุ เพราะหลายการเปลี่ยนแปลงมีรากฐานมาจากสถานการณ์ที่เกิดปัญหาขึ้น ถ้าไม่เช่นนั้น การเปลี่ยนแปลงก็จะแปลกแยกจากผู้คน เวลา และสถานที่ วิธีการนี้มักถูกมองว่าไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากเราไม่เคารพการแก้ปัญหาแบบตัวต่อตัว หรือเรารู้สึกตะขิดตะขวงใจ หรือไม่ก็ทั้งสองอย่าง
เรามักมองว่าข้อกังวลเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กน้อย อย่างกับว่าข้อกังวลเหล่านี้ไม่สามารถถูกเชื่อมโยงเข้ากับความสนใจในวงกว้างได้ในทันที หรือหากข้อกังวลเหล่านั้นไม่สามารถถูกทำให้เป็นเรื่องสากล เช่น การเป็น “อาการป่วยของสภาวการณ์บางอย่างที่ใหญ่กว่า” การพูดถึง “ชายเป็นใหญ่” นั้นไร้ผลพอ ๆ กับการพูดคุยเรื่อง “ทุนนิยม” โดยที่เราลดค่าให้มันเป็นแค่คำนิยาม เรากำลังใช้ความมีประสิทธิภาพ แยกตัวเองออกมาจากปัญหาและสิ่งที่จำเป็น เพื่อจะโต้ตอบกับผู้อื่นในทันที การพูดเกินจริงทางทฤษฎีเช่นนี้ทำให้เกิดภาพลวงตาการตอบสนองต่อสถานการณ์คับขัน โดยที่ตัวคนนั้นไม่เคยทำความเข้าใจการมีส่วนร่วมของตนเองในนั้น
เดิมทีเฟมินิสต์ถูกกล่าวหาว่าไม่มีทฤษฎีที่ครอบคลุม มีแต่ความเข้าใจเล็กๆ น้อยๆ สิ่งนี้สร้างความขบขันในหน้าสื่อได้เป็นอย่างมาก เพราะว่าไม่มีการเชื่อมโยงทางทฤษฎีในวงกว้างระหว่างสิ่งต่างๆ เช่น ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วโดยใช้ชื่อสามี สถานรับเลี้ยงเด็กที่ไม่เพียงพอ การใช้คำว่า ‘เด็กหญิง’ อยู่ตลอดเวลากับผู้หญิง หรือการที่ผู้หญิงต้องการทำงานบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับผู้ชาย แทนที่จะมองว่าความหลากหลายนี้เป็นจุดแข็งมันกลับถูกมองว่าเป็นจุดอ่อน แล้วก็เป็นไปตามคาด มาร์กซิสต์เฟมินิสต์สองสามคนก็ลุกมาแก้ต่างในเหตุการณ์นี้ และทำให้เฟมินิสต์ได้รับความเคารพในทางทฤษฎีขึ้นมา โดยเน้นไปที่ปัญหาของผู้หญิงเกี่ยวกับ “อุดมการณ์ของการสืบพันธุ์” และแนวคิดที่คลุมเครืออื่นๆ
ตามที่เคยเป็นมา เฟมินิสต์มักจะพยายามหาทางออกเฉพาะกิจที่เหมาะสมกับความต้องการในขณะนั้น กล่าวคือ เน้นไปที่การแก้ไขในครอบครัวหรือกลุ่มเพื่อน อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีความพยายามอย่างหน้าด้านๆ ถูกกฎหมายและได้รับการเผยแพร่อย่างดี (รวมทั้งในทางทฤษฎีด้วย) เพื่อที่จะนำการปลดปล่อยผู้หญิงมาสู่สเกลใหญ่
ตัวอย่างเช่น เมื่อเร็วๆ นี้ ฉันและเพื่อนคนอื่นๆ ได้มีส่วนร่วมในการจัดการประชุมเฟมินิสต์ว่าด้วยการหย่าร้าง เราได้รู้จักเหล่าวิทยากรที่จะมาอธิบายวิธีการดำเนินการหย่าร้างและทนายความที่จะให้คำแนะนำทางกฎหมายฟรีแก่ผู้หญิงที่ต้องการ มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้ออื่นๆ ที่ผู้ที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจเกี่ยวกับการหย่าร้าง ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้หญิงจำนวนมากในชุมชนที่อาจไม่ได้คิดว่าตนเองเชื่อในความคิดเฟมินิสต์ที่น่างงงวยนี้ด้วยซ้ำเพราะว่าตัวหัวข้อมีปัญหาเป็นศูนย์กลาง ทุกคนร่วมแลกเปลี่ยนคำแนะนำ เบอร์โทร ชื่อทนายความกันอย่างกระตือรือร้น ผู้หญิงบางคนร้องไห้ในเวิร์กช็อปเพราะรู้สึกท่วมท้นที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้หญิงที่ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันคนอื่นๆ
การประชุมดำเนินไปอย่างราบรื่นขณะวิทยากรจากองค์การสตรีแห่งชาติได้นำเสนอจุดยืนอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการหย่าร้างและแผนการขององค์การในอนาคต ในนั้นมีข้อเสนอว่าคู่รักควรจะผ่านการทดสอบก่อนที่จะแต่งงานกันได้ คนที่มีคุณสมบัติผ่านเท่านั้นที่จะสามารถเข้าร่วมในข้อตกลงทางกฎหมายนี้ได้ เป็นไปได้ว่า ผู้ที่ไม่ผ่านการทดสอบที่สร้างขึ้นโดยผู้ออกกฎก็จะถอดใจไปเอง จึงอาจป้องกันการหย่าร้างในอนาคตได้
นอกเหนือจากความเชื่อที่ผิดอย่างโต้งๆ ว่ากฎที่เพิ่มขึ้นมานี้จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่กฎหมายเดิมสร้างขึ้นไว้ และดังนั้นจึงจะช่วยผู้คนให้รอดพ้นจากตัวของตัวเอง ข้อเสนอขององค์การสตรีแห่งชาติ (National Organization for Women) เป็นตัวอย่างของความพยายามในการปลดปล่อยผู้หญิงด้วยวิธีการแบบเสาหินจากเบื้องบน ซึ่งคล้ายกับความทะเยอทะยานของมาร์กซิสต์บรันคา มากัส (Branka Magas) ในการ “ฉกฉวยวัฒนธรรม” เพราะว่าแรงกระตุ้นในการบีบบังคับผู้คนด้วยกฎหมายของประเทศมีความคล้ายกับแรงกระตุ้นในการสร้างการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนดุลอำนาจ การเปลี่ยนแปลงขนาดมโหฬารแต่ละประเภทย่อมมีเหตุผลมารองรับอำนาจนิยมอันเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของมันอยู่ ยิ่งไปกว่านั้น แต่ละฝ่ายต่างโต้เถียงว่าสิ่งที่ดีสำหรับทุกคนจริงๆ ดีสำหรับแค่คนหนึ่งคนด้วย ดังนั้นวิธีการใด ๆ ก็สามารถนำมาใช้เพื่อขับเคลื่อนความทะเยอทะยานในการปฏิวัติ ในรูปแบบขององค์กรได้ทั้งนั้น
ข้อเสนอระดับมหภาพที่มีเป็นครั้งคราวเหล่านี้ทำให้ผู้คนเชื่อไปว่าขบวนการปลดปล่อยผู้หญิงที่ไม่ใช่พวกเน้นสถานการณ์มีอยู่จริง คนเชื่อว่ามีกองทัพของจริงกำลังโห่เรียกร้องการปฏิรูปประเทศอยู่พร้อมเพรียงกัน สื่อต่างประโคมให้มันดูชุลมุน แต่ไม่มีการเคลื่อนไหวเฟมินิสต์ตามหลักการเช่นนั้นอยู่หรอก นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิผู้หญิงยังคงง่วนอยู่กับการทำงานในโครงการฐานชุมชนภายในครอบครัว หมู่บ้าน และที่ทำงาน เพื่อสร้างภาพลักษณ์หรือตัวตนให้แก่ตนเอง ยิ่งไปกว่านี้ การให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์หรือหลักการของการเคลื่อนไหวเพียงแบบเดียวอาจก่อให้เกิดผลเสีย และทำให้ผู้หญิงเปรียบเทียบชีวิตของพวกเธอกับภาพลักษณ์นั้นอยู่ตลอดเวลา เช่นการเฝ้าจับผิดวิธีใช้ชีวิตและการทำงานของตัวเองเพื่อดูว่าสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวหรือไม่
ในขณะเดียวกัน “การเคลื่อนไหว” ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่มีความเหนียวแน่นและไม่มีแผนการ ถูกเผงเลย นั่นแหละคือจุดประสงค์ จุดแข็งของการเคลื่อนไหวนี้คือความหลากหลายที่ถูกฟูมฟักปฏิบัติกันมา เฟมินิสต์จึงไม่มีผู้นำด้วยเหตุผลนั้น มันไม่มีสิ่งใดให้เรานำ เราไม่ได้วางแผนเพื่อจะปฏิวัติ เหล่าผู้หญิงกำลังทำในสิ่งที่ตัวเองทำได้ในสถานที่ที่ทำได้ พวกเราไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพราะพวกผู้หญิงไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นชนชั้นหนึ่งที่ต้องดิ้นรนต่อสู้กับอีกชนชั้นหนึ่ง เราไม่ได้จินตนาการถึงกองทัพปลดปล่อยผู้หญิงที่ระดมกำลังต่อต้านการกดขี่ของผู้ชาย การมีน้ำหนึ่งใจเดียวกันโดยตัวมันเองเป็นสิ่งที่ก่อสร้างรัฐบาลขึ้นมาและการใช้วิธีการพวกนี้ก็เป็นเพียงการหนุนมุมมองแบ่งเขาแบ่งเราที่เป็นปรปักษ์กันในชนชั้นทางเพศเท่านั้น การนิยามตัวเองว่าเป็นหนึ่งเดียวกับคนที่กำลังต่อสู้คนอื่นๆ ด้วยท่าทีที่หวาดระแวงได้แต่เพียงกระตุ้นให้เกิดการปะทะกันอันโหดร้ายและทำให้ต้องแข่งขันต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น การเน้นย้ำความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอาจนำไปสู่การตระหนักรู้ตนเองและสิ่งที่เรากำลังทำจนมันเป็นอุปนิสัย ดังนั้นจึงเป็นการตอกย้ำความแตกต่างของแต่ละคนและทำให้เกิดความขัดแย้ง ก่อนที่เราจะเริ่มทุ่มเทตัวเองกับการแก้ปัญหาเรื่องการกีดกันทางเพศในทางปฏิบัติเสียอีก
IV.
อย่างไรก็ตาม องค์การสตรีแห่งชาติระบุว่า การเรียกร้องสิทธิผู้หญิงนั้นเริ่มขึ้นจากในบ้าน และมักไม่ไปไกลเกินกว่าระดับชุมชน
เหล่าหมอตำแยและแม่มดต่างก็ฝึกวิธีการใช้สมุนไพรและศิลปะในด้านการรักษาซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญและโดดเด่นในธรรมเนียมประเพณีแบบปัจเจกนิยมของเรา เหล่าสตรีในครอบครัวได้ส่งผ่านข้อมูลต่างๆ อาทิ วิธีตรวจการตั้งครรภ์ วิธีป้องกันการตั้งครรภ์ วิธีรักษาการติดเชื้อ วิธีห้ามเลือด วิธีป้องกันตะคริว และวิธีบรรเทาอาการปวดต่างๆ นอกจากนั้น เหล่าผู้หญิงยังได้ช่วยเหลือดูแลเด็กๆ และมิตรสหาย โดยไม่ได้เน้นย้ำหลักการเชิงนโยบายของมัน อย่างเงียบเชียบจนบางครั้งก็น่าพิศวง ซึ่งประสิทธิภาพในการทำสิ่งต่างๆ ของพวกเธอทำให้เกิดความหวาดหวั่น ความหวาดกลัว และอาจถูกหัวเราะเยาะเย้ย แต่พวกเธอก็ไม่ได้หยุดเพื่อชี้แจงหรือทำให้สิ่งที่กำลังทำอยู่ลึกลับเข้าไปอีก พวกเธอเพียงแค่ทำมันไปเท่านั้น คำอธิบายอะไรเกี่ยวกับวิธีการผดุงครรภ์ที่ยังคงน่าพิศวงอยู่ ผู้หญิงได้ส่งต่อวิธีเหล่านั้นมาเรื่อยๆ จากแม่สู่ลูกสาว และถูกด้อยค่าไว้เป็นเพียงแค่ ‘เรื่องเล่าของหญิงชรา’
คลื่นการต่อสู้ของขบวนการเฟมินิสต์ในปัจจุบันยังคงรักษาธรรมเนียมแบบปัจเจกนิยมนี้ไว้ โดยมีปัญหาด้านสุขภาพของเหล่าผู้หญิงปรากฏเป็นข้อกังวลหลักที่สำคัญ โดยมีโครงการเล็กๆ ผุดขึ้นทั่วประเทศซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองความต้องการต่างๆ ในท้องถิ่น อาทิ ในด้านการทำแท้งที่เหมาะสม การคุมกำเนิด ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ และการรักษาทางการแพทย์ทั่วไป ก่อนหน้านี้เหล่าผู้หญิงมีสิ่งอำนวยความสะดวกจำกัดไม่เพียงพอ หรือต้องพึ่งพาแพทย์แบบ Paternalism (ผู้แปล: แพทย์มีบทบาทเป็นเหมือนผู้ปกครองของผู้ป่วย ผู้ป่วยมีหน้าที่เพียงให้ความร่วมมือ และทำตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ว่าแพทย์จะสั่งอะไรก็ตาม) ซึ่งผู้หญิงกลุ่มใหม่ได้ค้นพบว่า ตนเองสามารถตรวจสุขภาพโดยทั่วไป และให้บริการหลายอย่างที่สามารถทำได้อย่างปลอดภัยซึ่งเสียค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อยหรือไม่เสียเงินเลยด้วยตัวของผู้หญิงเอง
นี่เป็นแค่ตัวอย่างของกลุ่มผู้หญิงเพียงหนึ่งกลุ่มที่ทำงานแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ในศูนย์ผู้หญิงในท้องถิ่นของเรา โดยให้บริการต่างๆ เช่น การให้บริการทำแท้งและให้ข้อมูลแก่ชุมชนในทุกๆ วัน ตามความต้องการที่เกิดขึ้น ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมองว่าหน้าที่ของพวกเธอคื การแก้ไขปัญหาต่างๆ ในชุมชน ประเมินความต้องการของเหล่าสตรี และใช้วิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ แน่นอนว่ามีหลายสิ่งที่เราเรียนรู้ว่า เราสามารถทำได้เองและก็มีสิ่งที่เราต้องขอความช่วยเหลือ ชุดทดสอบการตั้งครรภ์นั้นสามารถทำได้ง่ายและแจกจ่ายฟรีโดยอาสาสมัครที่ศูนย์ ส่วนการทำแท้งจะถูกส่งต่อไปยังแพทย์ที่เชี่ยวชาญโดยคิดค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ รายชื่อคลินิกรักษาโรคที่ติดต่อผ่านทางเพศสัมพันธ์ที่ถูกที่สุดและดีที่สุดถูกบันทึกและแจกจ่ายด้วยใบปลิว ขอบเขตและจุดมุ่งหมายของโครงการต่างๆ พวกเธอทั้งหมดนั้นถูกกำหนดโดยความต้องการของประชาชนในบริเวณนั้น พวกเธอยังได้ร่วมมือกับกลุ่มอื่น ๆ แลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันอย่างกระตือรือร้น แต่ยังไม่มีความตั้งใจจะขยายกลุ่มออกไป เพราะมีหลายสิ่งที่ต้องทำมากมาย ในการวิเคราะห์หรือสร้างนโยบาย ไม่มีแม้แต่เวลาที่จะหยุด และสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นเลย
แล้วจากตรงนี้ เราควรจะไปทางไหนกันต่อดี?
แล้วจากตรงนี้ เราควรจะไปทางไหนกันต่อดี? เหล่าเฟมินิสต์มักเพิกเฉยคำถามว่า ‘เพราะเหตุใดและทำไม?’ อยู่เสมอ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในทางทฤษฎีของเหล่าผู้ชาย การเมืองเรื่องเพศของเคท มิลเลต์ (Kate Millet) ถูกนักวิจารณ์ต่างๆ โจมตีอย่างรุนแรง เนื่องจากเรื่องราวในหนังสือทั้งหมดไม่ได้อธิบายในทางทฤษฎีว่า เพราะเหตุใดการกีดกันทางเพศจึงเกิดขึ้น การไม่สนใจอธิบายในทางทฤษฎีของผู้หญิงถูกตีความว่าเป็นข้อบกพร่องอย่างยิ่ง แน่นอนว่าในทำนองเดียวกันนี้ ความคลางแคลงในตรรกะการให้เหตุผล และถูกหลอกให้เชื่ออย่างผิดๆว่า เมื่อเห็นแล้วก็จะรู้เอง (the Known in the situation) พวกเราเหล่าผู้หญิงไม่สามารถ ‘ถกเถียงได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล’ เราถูกบอกกล่าวมาเช่นนั้น และมันอาจจะจริง เพราะเราหลีกเลี่ยงการโต้เถียงทางวาจาแบบนี้ แต่ความจริงคือ ผู้หญิงไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเกมอย่างแท้จริง ความรู้และการถกเถียง นั้นสัมพันธ์กับเหล่าผู้หญิงราวกับเป็นสิ่งที่แตกต่างจากความสนใจของพวกเธออย่างชัดเจน จนแทบไม่มีการปิดบังความไม่เคารพของผู้หญิงต่อ ต่องานศิลปะประเทืองปัญญานี้เลย ในความเป็นจริง เหล่าผู้หญิงดูเหมือนจะถือว่าความเชื่อของผู้ชายในแนวทางเหล่านี้ว่าเป็นรูปแบบหนึ่งในความเชื่อเรื่องโชคลาง เพราะไม่มีความเชื่อมโยงระหว่างศาสตร์เหล่านี้กับการค้ำจุนรักษาชีวิตอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้หญิงกังวล
โดยพื้นฐานแล้ว อาชีพของเหล่าผู้หญิงนั้นมุ่งเน้นแนวทางเพื่อการอยู่รอด การเก็บรวบรวมทรัพยากร การให้อาหาร จัดการเครื่องนุ่มห่ม และดูแลที่พักอาศัยของเด็กๆ และการตอบสนองต่อความจำเป็นต่างๆ ในชีวิตประจำวัน การใช้ชีวิตของผู้หญิงมีความจำเป็นต้องนำพลังงานไปใช้กับว่า ‘จะทำเช่นไร’ ที่มีรากฐานมาจากความรับผิดชอบในทางปฏิบัติต่างๆ ส่วนการสังเกตและประเมินกิจวัตรต่างๆ ในชีวิตประจำวันนั้นเปรียบได้กับงานของคนที่ไม่ค่อยได้ทำอะไร และมีความรับผิดชอบน้อยกว่าดังเช่น ผู้ชาย ในทำนองเดียวกันกับมุกตลกเก่าๆ เรื่องหนึ่งได้ชี้ให้เห็นถึงการหลงผิดในการให้ความสำคัญกับสิ่งที่ผู้ชายลงทุนกับงานของเขา : หัวหน้าครอบครัว (ผู้ชาย) ประกาศต่อเพื่อน ๆ ของเขาว่า “ฉันได้ตัดสินใจครั้งใหญ่ภายในครอบครัวแล้วไม่ว่า จีน (คอมมิวนิสต์) ควรได้รับการยอมรับต่อสหประชาชาติ ส่วนภรรยาของฉันก็จะเป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องเล็กๆ เช่น ถ้าเราต้องการรถคันใหม่ แล้วลูกๆ ควรไปโรงเรียนไหน”
เนื่องจากผู้หญิงไม่มีความต้องการคิดข้อสมมติฐานทางทฤษฎีและความหมายโดยนัย ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องใช้ศิลปะการครอบงำทางวาจา พวกเธอจึงไม่ถูกล่อลวงเข้าสู่กลไกอันซับซ้อนของมันได้อย่างง่ายดาย แทนที่จะเป็นเช่นนั้น แม้กระทั่งเด็กสาวที่กำลังประเมินโชคชะตาของตนเอง ก็เลือกที่จะไม่ไว้วางใจทฤษฎี ในสถานการณ์ใดๆ โดยอัตโนมัติ (เช่น Lucy ในเรื่อง Peanuts fame) และอาศัยไหวพริบและสัญชาตญาณขณะนั้นในการแก้ปัญหาทางปฏิบัติอย่างเร่งด่วน ผู้หญิงจะเคลือบแคลงในตรรกะการใช้เหตุผลและพิธีกรรมต่างๆ ของมัน เช่นเดียวกับที่คนจนต่างเคลือบแคลงใจในกฎหมายอันซับซ้อนของพวกเรา ซ่อนเงื่อนในปริศนา สถาบันตรรกะและสถาบันกฎหมายก็ทำงานขัดผลประโยชน์ของพวกเขา
ส่วนสิ่งที่ต้องการก็คือ การดูแลความจำเป็นเชิงปฏิบัติต่างๆ ในฐานะผู้หญิง ซึ่งถูกลดทอนคุณค่าอย่างมากและอย่างต่อเนื่องจนแทบไม่มีสิ่งใดที่เราทำถือว่ามีความสำคัญเลย เมื่อการสนทนาของเราเข้าเรื่องผู้คนและปัญหาต่างๆ มันจะถูกด้อยค่าว่าเป็นการนินทาซุบซิบ ในด้านการทำงานของเรา เนื่องจากเป็นงานที่จำเป็นต้องทำซ้ำๆ และมักจะทำที่บ้านเป็นหลัก จึงไม่ถือว่ามันเป็นงาน เมื่อเราขอความช่วยเหลือ มันเรียกว่าการเซ้าซี้จู้จี้ เมื่อเราไม่โต้เถียงอย่างมีเหตุผล ก็เป็นที่มาของเรื่องบันเทิงครั้งใหญ่ และไม่เคยมีใครถามเราว่า เราต้องการไล่ตามภาพจินตนาการของการแข่งขันดังกล่าวตั้งแต่แรกหรือไม่
พวกเราต้องเรียนรู้ที่จะมองข้อบกพร่องของเราให้เป็นข้อได้เปรียบ ปัญหาพุ่งชนปัญหา ตัวต่อตัวให้เป็นแนวทางในการดำรงชีวิตซึ่งมีรากฐานมาจากสถานการณ์ของแต่ละปัจเจกบุคคล เราต้องเรียนรู้ที่จะให้คุณค่า มากกว่าใช้วิธีแบบเดิมในการรับ “รู้” และเรียนรู้ใช้ประสาทสัมผัสอย่างชาญฉลาดแทน เราต้องตอบสนองต่อสถานการณ์อย่างรวดเร็ว เราจึงจะพบตัวเองเราเอง
เฟมินิสต์หมายถึง การค้นหาข้อตกลงใหม่ๆ เพื่อจัดการกับสถานการณ์ดั้งเดิม ไม่ใช่การใช้ข้อตกลงดั้งเดิม เพื่อจัดการกับสิ่งที่เรียกว่า ขบวนการเคลื่อนไหวครั้งใหม่ มันเป็นความผิดพลาดของเราที่โต้เถียงว่าการต่อสู้ของเรามันสมควรหรือไม่ จนมันหมายความว่าเราต้องการเข้าร่วม มันชี้ให้เห็นว่า มีการแข่งขันเกิดขึ้นแล้วเรายินยอมเข้าร่วม และต่อมาจะมีผู้ชนะที่เป็นผู้ครอบงำและผู้แพ้ที่ถูกครอบงำ
การถกเถียงเพื่อการเรียกร้องของเฟมินิสต์ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการร้องทุกข์ ดังชนชั้นที่ไร้ซึ่งอำนาจเรียกร้องขออำนาจ หรือองค์กรประชาสัมพันธ์ (PR) ที่พยายามขายอะไรบางอย่างให้กับผู้ที่มีแนวโน้มจะซื้อ เฟมินิสต์หมายถึง การปฏิเสธข้อกำหนดต่างๆ ทั้งหมดที่เราถูกเสนอให้ได้รับความชอบธรรมในฐานะขบวนการทางสังคมอันน่านับถือ และกำหนดความต้องการที่แท้จริงของเราใหม่เมื่อเราค้นพบมัน ดังนั้นเมื่อการที่เราไม่สนใจในความก้าวร้าว ถูกเรียกว่า ‘ความเฉยเมย’ และการที่เราหลีกเลี่ยงการจัดตั้งอย่างเป็นระบบ ถูกเรียกว่า ‘ความไร้เดียงสา’ พวกเราต้องเห็นดีเห็นงามไปกับคำพูดเหล่านั้นอย่างเต็มที่ มิฉะนั้นแล้ว จะทำสิ่งต่างๆ ให้เสร็จสิ้นไปได้อย่างไรล่ะ?