ผู้เขียน: ณัฐวุฒิ รังศรีรัมย์


เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้เขียนบทความเรื่องหนึ่งชื่อ คำถามของป้าข้างบ้าน ลงเผยแพร่ในเว็บไซต์ ดินแดง ซึ่งเป็นบทความที่พยายามทำความเข้าใจปรากฏการณ์ “ป้าข้างบ้าน” ที่พวกเราเข้าใจกันในแบบทุกวันนี้ 

บทความดังกล่าวมีข้อเสนอว่า การที่ “ป้าข้างบ้าน” ถามเรา เช่น “เรียนจบแล้ว ได้งานทำหรือยัง… ลูกป้าได้งานทำแล้วนะ” “ทำงานได้เงินเดือนเท่าไร… พอใช้เหรอ” “จะมีบ้าน มีรถ มีครอบครัว ตอนไหน…” และอีกมากมาย แท้จริงแล้วมันเป็นผลดีกับการผลิตซ้ำตัวเองของระบบทุนนิยม หรือเป็นหนึ่งในหลากหลายกระบวนการของทุนนิยมในการทำให้เป็นกรรมาชีพ (proletarianization) กล่าวคือ ในความเป็นจริงแล้ว “คำถามของป้าข้างบ้าน” มี “นัย” คือการคอย “ทวงถาม” “ย้ำเตือน” “กดดัน” “เร่งรัด” ผู้ที่ถูกถามให้เร่งรีบหางานทำ ในแง่นี้ พวกเราจึงต่างก็เป็น “ป้าข้างบ้าน” กันได้ทั้งนั้น เพราะแม้ว่าพวกเราจะไม่ได้พบเจอ “ป้าข้างบ้าน” ตัวเป็น ๆ แต่ในอีกด้านหนึ่งพวกเราก็ “ทวงถาม” “ย้ำเตือน” “กดดัน” “เร่งรัด” ตัวเองเพื่อเร่งเรียนให้จบและรีบหางานทำให้ได้เร็วที่สุดอยู่เสมอ เพื่อจะได้ประสบ “ความสำเร็จ” เป็นพวก “อายุน้อยร้อยล้าน” ฉะนั้น “คำถามของป้าข้างบ้าน” จึงเป็นปรากฏการณ์ที่มีความเชื่อมโยงกับระบบทุนนิยมอย่างปฏิเสธไม่ได้ (อย่างน้อย “คำถามของป้าข้างบ้าน” ก็ทำงานกระตุ้น “อุดมการณ์/สามัญสำนึกแบบทุนนิยม” ได้เป็นอย่างดี) ด้วยเหตุดังกล่าวผมจึงสรุปไว้ในตอนท้ายของบทความว่า “ที่เราเห็นว่าเป็น “คำถามของป้าข้างบ้าน” นั้น แท้จริงแล้วเป็น “คำถามของระบบทุนนิยม” ต่างหาก” [1]

พอบทความเผยแพร่ออกสู่สายตาสาธารณชน ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่จะมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่อข้อเสนอที่ปรากฏในบทความ ผู้ที่เห็นด้วยก็ชมชอบ ผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็วิพากษ์วิจารณ์ เอาเข้าจริงผมชอบให้คนอื่นวิพากษ์วิจารณ์งานของผมมากกว่าจะกล่าวชมโดยไม่มีข้อติด้วยซ้ำไป เพราะว่าข้อวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้นจะส่งผลย้อนกลับมาสู่การปรับปรุงแก้ไขในข้อผิดพลาดหรือทำให้ผมได้เห็นประเด็นใหม่ ๆ ที่สติปัญญาอันน้อยนิดของผมเดินทางไปไม่ถึง แต่นี้ก็เป็นเหตุผลที่ผมใช้กับนักวิพากษ์วิจารณ์งานที่มี “กึ๋น” ในความหมายถึง ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์งานกันด้วยเหตุด้วยผลเท่านั้น ไม่ใช่ไม่เห็นด้วยต่อข้อเสนอของงานชิ้นนั้นแล้วก็เอะอะกล่าวหาผู้เขียนว่า “ไปโดนกาวตัวไหนมา” หรือ “เมากัญชาหรือเปล่า” เพราะดูแล้วมันเป็นการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่มี “กึ๋น” (ซึ่งเอาเข้าจริงไม่ควรนับว่าเป็น “การแสดงความคิดเห็น” ด้วยซ้ำไป) แต่ก็เอาเถอะ แม้จะมีนักวิพากษ์วิจารณ์แบบไม่มี “กึ๋น” อยู่มาก แต่ก็มีนักวิพากษ์วิจารณ์ที่มี “กึ๋น” อยู่ไม่น้อยเช่นกัน ทว่าหากจะยกมาขยายความทั้งหมดก็คงจะเขียนหนังสือได้เป็นเล่มเลยทีเดียว ทั้งนี้ มีข้อวิจารณ์อยู่ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งควรจะนำมาพิจารณาทำความเข้าใจ เพื่อขยายประเด็นที่ผมอาจอธิบายหรือลงรายละเอียดไว้ไม่ชัดเจนมากพอจนทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนในสิ่งที่ผมต้องการจะเสนอ

เนื้อหาของข้อวิพากษ์เริ่มต้นจากการตั้งคำถามว่า “เกี่ยวอะไรกับทุนนิยม?” หลังจากนั้นก็สาธยายต่อว่า คำถามของป้าข้างบ้านมันมีได้ทุกยุคทุกสมัยนั้นแหละ และในประเทศที่เป็นทุนนิยมหนักกว่าไทยอย่างสหรัฐอเมริกาป้าข้างบ้านเขาก็ไม่ขี้เสือกแบบนี้ เพราะวัฒนธรรมของเขาเคารพความเป็นปัจเจกชนของบุคคล หรือกล่าวกันอีกแบบหนึ่งก็คือ ผู้วิจารณ์กำลังบอกว่ามันเป็นเพราะวัฒนธรรม “ขี้เสือก” ของบางสังคมหรือบางประเทศเท่านั้น หลังจากนั้นก็สรุปว่า “อย่าเอาความระยำส่วนตัวของคนไปยัดใส่ระบบเลย ทุกวันนี้หลายคนขี้ไม่ออกตดไม่ออกก็ด่าทุนนิยมไว้ก่อน เหมือนพวกสิ้นคิดสูตรสำเร็จแดกด่วนยังไงก็ไม่รู้” 

สิ่งที่ผู้วิจารณ์ดังกล่าวกำลังบอกคือ พวกที่ “ด่า” (วิจารณ์) ระบบทุนนิยมคือ “พวกสิ้นคิด” หรือถ้าจะย่นย่อให้แคบลงก็คือ พวกมาร์กซิสต์เป็นพวกที่สิ้นคิดนั่นเอง ที่ต้องเชื่อมโยงเข้าหาพวกมาร์กซิสต์เนื่องจาก หนึ่ง บทความ คำถามของป้าข้างบ้าน เขียนขึ้นบนมรรควิธีแบบมาร์กซิสต์ สอง พวกมาร์กซิสต์คือพวกที่วิพากษ์วิจารณ์ทุนนิยมอย่างถึงรากมากที่สุดและจำเป็นจะต้องวิพากษ์วิจารณ์มันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในฐานะที่เป็นหัวใจสำคัญประการหนึ่งของมรรควิธีของคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) ดังนั้น พวกมาร์กซิสต์จึงเป็นตัวอย่างรูปธรรมชัดเจนที่สุดที่สะท้อนถึง “คนขี้ไม่ออกตดไม่ออกก็ด่าทุนนิยมไว้ก่อน เหมือนพวกสิ้นคิดสูตรสำเร็จแดกด่วน” 

คำถามคือ ทำไมผู้วิเคราะห์ที่เชื่อมโยงปรากฏการณ์ทางสังคมเข้าหาระบบทุนนิยมเพื่อวิจารณ์มันถึงถูกกล่าวหาว่าเป็น “พวกสิ้นคิด” หรือกล่าวให้ถึงที่สุด ทำไมพวกมาร์กซิสต์เป็นพวกสิ้นคิด?

ผมคิดว่าประเด็นหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ ที่ผู้วิจารณ์ควรเข้าใจตั้งแต่เริ่มต้นคือ ทฤษฎีหรือวิธีคิดแบบมาร์กซิสต์มีรากฐานทางปรัชญาสังคมศาสตร์หรือญาณวิทยา (Epistemology) มาจากสำนักสัจนิยม (Realism) ที่แบ่งโลกความเป็นจริงออกได้หลายระดับ ตั้งแต่ระดับที่สังเกตได้ด้วยประสาทสัมผัส ที่เรียกว่า “ระดับพื้นผิว” ไปจนถึงระดับที่ไม่สามารถสังเกตได้แบบตรงไปตรงมา ที่เรียกว่า “ระดับโครงสร้างส่วนลึก” ที่มีผลในการกำหนดปรากฏการณ์ที่อยู่ในระดับพื้นผิวด้วย หรือที่ เดวิด ฮาร์วี (David Harvey) นักวิชาการมาร์กซิสต์ เรียกว่า “ความขัดแย้งระหว่างความจริง (reality) กับปรากฏการณ์ (appearance) ในโลกที่เราดำรงชีวิต” ซึ่งประเด็นนี้ มาร์กซ์ เคยกล่าวไว้ว่า “ถ้าหากว่าปรากฏการณ์ที่เราเห็นคือแก่นแท้ของปัญหา เราก็คงไม่ต้องมีการวิเคราะห์อะไร” หรือถ้าจะว่ากันอย่างตรงไปตรงมาก็คือ ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอย่างที่มันปรากฏให้เห็นชัดเจนอยู่แล้ว เราจะวิเคราะห์หาพระแสงอะไร สิ่งที่ มาร์กซ์ ต้องการจะบอกก็คือ มันมีปรากฏการณ์ที่อำพรางและบิดเบือนเพื่อปกปิดสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ รอบตัวเรา เช่นเดียวกับดวงอาทิตย์ที่ไม่ได้หมุนรอบโลกจริง ๆ อย่างที่ตาของเรามองเห็น ฉะนั้น เราต้องปลดม่านบังตาออก เพื่อจะได้มองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ ภายใต้ปรากฎการณ์ระดับพื้นผิวมากมายยุ่งเหยิงที่มักทำให้พิศวงงงงวย[2] โดย ฮาร์วี เสนอว่า “ทุนนิยมเปรียบเสมือน the gravity หรือแรงดึงดูดโลกที่ล่องหน แต่สัมผัสได้ตลอดเวลา คุณจะเห็นแรงโน้มถ่วงได้ต้องอาศัยทฤษฎี ต้องอาศัยหลักสมการทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นนามธรรมมากถึงจะเห็นแรงโน้มถ่วงได้ หนทางเดียวที่คุณจะเห็นการทำงานของทุนได้ คือต้องอาศัยแนวคิดแบบ “ภาพวาด” ที่เป็นอุดมการณ์นามธรรม เพื่อร่างภาพของทุนในหัว ไม่ใช่การมองทุนนิยมผ่าน “ภาพถ่าย” จริงก่อน”[3]

เช่นเดียวกัน เมื่อผู้วิจารณ์มองปรากฏการณ์ “ป้าข้างบ้าน” จาก “ภาพถ่ายจริง” หรือปรากฏการณ์ในระดับพื้นผิว ก็เลยทำให้มองเห็นแค่ภาพหญิงวัยกลางคนกำลังยืนอยู่ริมรั้วรัวถามเด็กวัยรุ่นที่เพิ่งเรียนจบมาหมาด ๆ ในเรื่องหน้าที่การงานในอนาคตหรือผลการเรียน จนละเลยไม่สนใจที่จะวิเคราะห์ปรากฏการณ์อย่างเป็นองค์รวม (totality) ต่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมันมีอะไรอยู่เบื้องหลังหรือความเป็นจริงของมันคืออะไรกันแน่ ส่งผลให้สรุปอย่างมักง่ายว่า “คำถามของป้าข้างบ้านมันมีได้ทุกยุคทุกสมัยนั้นแหละ” เอาเข้าจริง ผมไม่แน่ใจว่าผู้วิจารณ์ได้เข้าไปอ่านบทความผมสักนิดหรือไม่ หรือได้เข้าไปอ่านอยู่แต่ผีมันมาบังตาเอาตรงประเด็นนี้ เลยมองไม่เห็นว่าผมกล่าวไว้ในบทความชัดเจนมากว่าคำถามแบบป้าข้างบ้านมันมีอยู่ทุกยุคสมัย ดังข้อความว่า “…“คำถามของป้าข้างบ้าน” ก็เหมือนกับคำถามทั่วไปที่ “ผู้ใหญ่” ถาม “เด็ก” ด้วย “ความเอ็นดู” ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของ “มนุษยสัมพันธ์” (human relationships) หรือการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคม ในแง่นี้ “คำถามของป้าข้างบ้าน” ก็คงจะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการที่ “มนุษย์” เข้ามาอยู่รวมกันเป็นสังคม”[4]

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราอาจจะไม่สามารถปฏิเสธความจริงที่ว่าคำถามของป้าข้างบ้านมีปรากฎให้เห็นในทุกยุคทุกสมัยได้ก็จริง แต่สิ่งที่ต้องคิดคำนึงถึงด้วยก็คือ “นัย” “ประเด็น” และ “รูปประโยค” ของคำถามย่อมแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย (epoch) ของมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในแง่นี้คำถามของป้าข้างบ้านในยุคทาสหรือยุคศักดินาจึงไม่มีทางที่จะมี “นัย” ของคำถามว่า “คุณจะประสบความสำเร็จในชีวิตตอนไหน” เผลอ ๆ อาจจะไม่ต่างแค่ “นัย” แม้แต่ “รูปประโยค” ของคำถามก็อาจจะต่างกันแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินกับที่คนในยุคทุนนิยมพบเจอเลยก็ได้[5] นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผมจึงเลือกที่จะตั้งชื่อบทความว่า “คำถามของป้าข้างบ้าน” มากกว่าจะให้ชื่อว่า “ป้าข้างบ้าน” เฉย ๆ เพราะคำว่า “คำถาม” มันมีนัยทางประวัติศาสตร์หรือยุคสมัยตามหลักการวิเคราะห์แบบวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ (historical materialism) นั่นเอง ดังนั้น ปัญหาของผู้วิจารณ์จึงเป็นการละเลยและแยกความเป็นการเมือง (depoliticize) รวมถึงบริบททางประวัติศาสตร์หรือความเป็นประวัติศาสตร์ (de-historicize) ออกจากปรากฏการณ์ป้าข้างบ้านอย่างมีนัยสำคัญ

อนึ่ง แม้ผมจะอธิบายว่า “คำถามของป้าข้างบ้าน” มันมีอยู่ทุกยุคสมัย แต่ก็ต่างไปจากเหตุผลที่มักง่ายของผู้วิจารณ์ที่อาศัย “การมีอยู่ทุกยุคสมัย” ของคำถามของป้าข้างบ้านเพื่อมารองรับการกล่าวโทษไปที่ “ความระยำส่วนตัว” ภายใต้วัฒนธรรม “ขี้เสือก” ที่ไม่ได้มีกันทุกสังคม สิ่งที่ผู้วิจารณ์ไม่เข้าใจหรือละเลยไม่สนใจคือ ผมไม่ได้ลดทอน “ป้าข้างบ้าน” ให้มีความหมายเฉพาะป้าที่อยู่ข้างบ้านเพียงเท่านั้น แต่ผมยังหมายถึงตัวของเราเองด้วย เพราะพวกเราต่างก็เคยและกระทำแบบป้าข้างบ้านอยู่เรื่อย ๆ ตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นการ “ทวงถาม” “ย้ำเตือน” “กดดัน” “เร่งรัด” ตัวเองในเรื่อง “ความสำเร็จในชีวิต”[6] ซึ่งถ้าพิจารณาจากประเด็นนี้ ประเทศที่เป็นทุนนิยมหนักกว่าไทยอย่างสหรัฐฯ ก็คงหนีไม่พ้นที่จะพบเจอกับ “ป้าข้างบ้าน” ตามความหมายที่ผมอธิบายมา ดังนั้น ผมจึงพูดไว้ในบทความชัดเจนว่ามันเป็น “…“วาระระดับโลก” คือนอกจากจะพบเจอกันทั่วโลกแล้ว (ดังที่พบว่าในต่างประเทศเรียก “ป้าข้างบ้าน” ว่า “Karen” และ “Ken”) มันยังดำรงอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่เป็นเพียงกระแสขึ้น ๆ ลง ๆ ชั่วครั้งชั่วขณะ”[7] ในแง่นี้ มันจึงไม่ใช่เพียง “ความระยำส่วนตัว” ภายใต้วัฒนธรรม “ขี้เสือก” เฉพาะของสังคม (ไทย) ตามที่ผู้วิจารณ์ชี้

ทั้งนี้ หากปรากฏการณ์ “ป้าข้างบ้าน” คือวัฒนธรรม “ขี้เสือก” ที่เกิดขึ้นในบางสังคมเท่านั้นจริง ๆ สิ่งที่ผู้วิจารณ์ต้องเข้าใจคือ “ทุนนิยมมันไม่มีวัฒนธรรม” หรืออีกนัยหนึ่ง ทุนนิยมมันสามารถค้างแรมและจูบปากกันได้กับทุกวัฒนธรรมและอารยธรรมบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นพุทธ ขงจื้อ พราหมณ์-ฮินดู คริสต์ ตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก[8] หรือ “วัฒนธรรมขี้เสือก” ที่ผู้วิจารณ์ใช้อธิบายปรากฏการณ์ป้าข้างบ้านก็ด้วย 

ปรากฏการณ์ “ป้าข้างบ้าน” จึงสะท้อนว่าทุนนิยมได้เข้ามาดำเนินกิจการในระดับอุดมการณ์/สามัญสำนึกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หรืออีกนัยหนึ่ง ทุนได้เข้ามากดขี่ขูดรีดเอารัดเอาเปรียบถึงภายในโลกทัศน์ของผู้คนแล้วนั่นเอง ดังนั้น แม้ว่า “ป้าข้างบ้าน” จะถามไปด้วยนิสัยใจคอที่ขี้เสือกของตนจริง ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นและดำเนินไปอย่างเงียบ ๆ โดยที่ “ป้าข้างบ้าน” ไม่รู้ตัว ก็คือ การเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนระบบทุนนิยมให้มันสามารถผลิตซ้ำตัวเองต่อไปได้

จะเห็นว่าทุนนิยมไม่ได้กดขี่ขูดรีดพวกเราเฉพาะในพื้นที่ทำงานเท่านั้น แต่มันยังเอารัดเอาเปรียบพวกเราในทุกปริมณฑลของชีวิตประจำวันทั้งภายในและภายนอกด้วย เอาเข้าจริง ปรากฏการณ์ “ป้าข้างบ้าน” เป็นตัวอย่างที่ดีอันหนึ่งในการอธิบายการเกิดโรคซึมเศร้าที่เพิ่มมากขึ้นแบบก้าวกระโดดในยุคสมัยปัจจุบัน เพราะเมื่อเราครุ่นคิดกับ “ความสำเร็จในชีวิต” มาก ๆ เมื่อไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ก็มักจะกล่าวโทษตัวเอง สิ่งที่ตามมาคือปัญหาเรื่องสุขภาพจิต[9] ดังนั้น คงจะไม่เป็นการกล่าวเกินเลยไปนักหากจะบอกว่า ปรากฎการณ์ “ป้าข้างบ้าน” ไปกันได้ดีกับทุนนิยมยุคปลายหรือเสรีนิยมใหม่ที่มี “สัจนิยมแบบทุน” ทำงานในปริมณฑลทางอุดมการณ์

“สัจนิยมแบบทุน” (capitalist realism) อุบัติขึ้นหลังการสิ้นสุดของสงครามเย็น การล่มสลายของสหภาพโซเวียตที่ตามมาด้วยวาทกรรมของ ฟรานซิส ฟุกุยามะ (Francis Fukuyama) ที่ว่ามันคือ “จุดจบของประวัติศาสตร์” (The End of History) ซึ่งหมายความว่า มนุษยชาติได้เดินทางมาถึงจุดสูงสุดของพัฒนาการทางประวัติศาสตร์แล้ว ภายใต้ชัยชนะของระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบ “ทุนนิยมเสรีประชาธิปไตย” มนุษย์จะไม่ถกเถียงหรือต่อสู้กันในเรื่องนี้อีกต่อไป และจะไม่มีระบบเศรษฐกิจการเมืองใดผงาดขึ้นมาแทนที่ได้อีกแล้ว[10] อีกนัยหนึ่ง มันคือ “วาทกรรม” ที่สร้างขึ้นมาเพื่อบอกว่าไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกเหนือจากสิ่งที่เป็นอยู่นั่นคือ “ระบบทุนนิยม”

โลกสัจนิยมแบบทุนมาพร้อมกับความคิดที่ว่า “การเมืองเรื่องชนชั้น” ซึ่งเป็นกรอบคิดหรือหน่วยในการวิเคราะห์และเปลี่ยนแปลงสังคมไม่มีความสลักสำคัญ นั่นหมายความว่า “วิถีการผลิตแบบทุนนิยม” “ชนชั้นนายทุน” และ “ชนชั้นกรรมาชีพ” ไม่มีความสำคัญหรือความจำเป็นในหัวข้อถกเถียง ในการวิเคราะห์ทำความเข้าใจสังคม ในมโนสำนึกของผู้คนเพื่อใช้เปลี่ยนแปลงสังคมอีกต่อไป[11]

เมื่อการคิดหรือการอธิบายทุนนิยมในฐานะที่เป็นวิถีการผลิตแห่งยุคสมัยหรือเป็นระบบสังคมโดยรวมไม่มีความสำคัญ สิ่งที่สะท้อนออกมาอย่างหนึ่งก็คือคำถามที่ว่า “เกี่ยวอะไรกับทุนนิยม?” เมื่อมองว่าปรากฏการณ์ทางสังคมไม่เกี่ยวข้องกับระบบทุนนิยม (และชนชั้น) สิ่งที่ตามมาก็คือการกล่าวโทษว่าปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของปัจเจกหรือเรื่องส่วนตัว ดังข้อสรุปมักง่ายของผู้วิจารณ์ที่ว่า “อย่าเอาความระยำส่วนตัวของคนไปยัดใส่ระบบเลย ทุกวันนี้หลายคนขี้ไม่ออกตดไม่ออกก็ด่าทุนนิยมไว้ก่อน เหมือนพวกสิ้นคิดสูตรสำเร็จแดกด่วนยังไงก็ไม่รู้”

ในแง่ดังกล่าว การกล่าวหามาร์กซิสต์ว่าเป็น “พวกสิ้นคิด” ก็คือผลอันเนื่องมาจากวาทกรรมอันโด่งดังของ ฟุกุยามะ ซึ่งวาทกรรมดังกล่าวเป็นรากฐานสำคัญประการหนึ่งที่ส่งผลต่อการก่อตัวขึ้นมาของโลกสัจนิยมแบบทุนดังที่กล่าวมาข้างต้น ฉะนั้น การกล่าวหาพวกมาร์กซิสต์ว่าเป็น “พวกสิ้นคิด” หรือหากจะใช้ภาษาที่นิยมกันในโลกทวิตเตอร์ของทุกวันนี้ก็คือ “พวกเบียว” จึงเป็นภาพสะท้อนทางความคิดอย่างหนึ่งของโลกสัจนิยมแบบทุนได้เป็นอย่างดี   

นอกจากโลกสัจนิยมแบบทุนจะทำลายประเด็นเรื่อง “ชนชั้น” และ “ยุคสมัย” แล้ว มันยังทำลายหรือตัดวงจรการนึกคิด ความคาดหวัง และการลองผิดลองถูกเกี่ยวกับโครงการทางการเมืองแบบใหม่ที่เน้นการปลดปล่อยหรือปลดแอก เพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกใหม่ที่เลยพ้นไปจากโลกทุนนิยมอีกด้วย อีกนัยหนึ่งคือ สัจนิยมแบบทุนไม่ใช่เวลาของ “ความหวัง” แต่มันเป็นความมืดมัวและซึมเศร้าหมองหม่น (“ฝ่ายซ้ายอกหัก” น่าจะเป็นคำที่ให้ภาพได้ชัดเจนต่อประเด็นนี้)

ดังนั้น เมื่อสัจนิยมแบบทุนทำลายกรอบแนวคิดเรื่อง “ชนชั้น” และ “ระบบทุนนิยม” ให้ไม่มีความสำคัญ และโครงการทางการเมืองแบบใหม่ก็เป็นเรื่องที่ใครต่อใครก็คิดจินตนาการไม่ออก พวกที่มักตั้งคำถามว่า “เกี่ยวอะไรกับทุนนิยม?” และบอกว่า “อย่าเอาความระยำส่วนตัวของคนไปยัดใส่ระบบเลย” จึงเป็นพวกที่สะท้อนถึง “คนยุคสัจนิยมแบบทุน” ได้ดีที่สุด ฉะนั้น เมื่อคนพวกนี้อยู่ภายใต้อำนาจครอบงำของยุคสัจนิยมแบบทุนที่ไม่เห็นถึงความสลักสำคัญในการคิดอธิบายทุนนิยมในฐานะที่เป็นวิถีการผลิตแห่งยุคสมัยหรือเป็นระบบสังคมโดยรวม ก็ส่งผลให้ไม่สามารถมองเห็นอย่างถึงรากเป็นองค์รวมได้ว่าทุนนิยมมันทำงานอย่างไรและมันชั่วร้ายขนาดไหน หรือถึงแม้จะมองเห็นภัยของระบบทุนนิยมและทำการวิจารณ์มันจนเสียหายขนาดไหนก็ตาม คนพวกนี้ก็ไม่สามารถคิดจินตนาการหรือไม่มีข้อเสนอทางการเมืองที่ชัดเจนที่เลยพ้นไปจากเส้นขอบฟ้าแบบทุนนิยมได้เลย เพราะโลกทัศน์ของพวกเขากลายเป็น “ความมืดมัวและซึมเศร้าหมองหม่น” ไปแล้ว หรืออีกนัยหนึ่ง พวกเขาได้ยอมรับอย่างสุดจิตสุดใจไปแล้วว่า “ไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกเหนือจากสิ่งที่เป็นอยู่ นั่นคือ ระบบทุนนิยม… ประวัติศาสตร์ได้สิ้นสุดลงแล้ว” สิ่งที่คนพวกนี้คิดและแสดงออกมาได้ก็จะเป็นเพียงการสำเร็จความใคร่ทางศีลธรรมแบบเสรีนิยมผ่านการเรียกร้องให้ “ป้าข้างบ้าน” เลิกนิสัยสันดานขี้เสือกกับเรื่องของ “คนอื่น” (ปัจเจกบุคคล) ได้แล้วเท่านั้น ในขณะที่พวกมาร์กซิสต์วิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางสังคมผ่านมรรควิธีหรือวิธีวิทยาของมาร์กซ์ที่เรียกว่า “การวิพากษ์เศรษฐกิจการเมือง” (Critiques of Political Economy) จนทำให้มองเห็นความเป็นจริงอย่างทะลุปรุโปร่งที่ไม่ใช่เพียงแค่ปรากฏการณ์ในระดับพื้นผิว ซึ่งทำให้เห็นภัยของระบบทุนนิยมอย่างถึงราก อันนำมาสู่ข้อเสนอแบบถอนโคนอย่างการเสนอให้มนุษยชาติจินตนาการ (ปฏิวัติ) ถึงโลกใหม่ที่เลยพ้นไปจากโลกทุนนิยม 

จากประเด็นที่กล่าวมาสามารถสรุปได้ว่า “หากมนุษย์ปราศจากความฝันหรือจินตนาการเกี่ยวกับแดนนิรมิต [ในที่นี้หมายถึง “โลกที่พ้นไปจากทุนนิยม”] มนุษย์ย่อมจะปราศจากความหมายและกลายเป็นเพียงหุ่นยนต์ที่เพียงแต่ใช้ชีวิตและดำเนินชีวิตไปตามกฎที่ตายตัวของประวัติศาสตร์ที่ควบคุมโดยผู้มีอำนาจ หากมนุษย์จะมีเสรีภาพและหากมนุษย์จะปลดแอกออกจากการครอบงำของผู้มีอำนาจ พวกเขาก็ต้องทวงคืนชีวิตและความสามารถในการใฝ่ฝันคืนมา [การสร้างสรรค์/ ไม่สิ้นคิด] และนี่คือมโนทัศน์ว่าด้วยเวลาอนาคตและยูโทเปีย [แบบมาร์กซิสต์] ซึ่งเป็นเงื่อนไขพื้นฐานของการสร้างองค์ประธานและการเปลี่ยนแปลงสังคมที่มีเสรีภาพและความเสมอภาคมากขึ้น”[12]

ดังนั้น เมื่อ “คนยุคสัจนิยมแบบทุน” ซึ่งเป็นพวกที่มักตั้งคำถามว่า “เกี่ยวอะไรกับทุนนิยม?” ไม่สามารถคิดจินตนาการถึงโลกที่ดีกว่าโลกทุนนิยมได้ และหากการจินตนาการถึงโลกใหม่ที่ดีกว่าหมายถึงการใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่ถูกจำกัดด้วยโลกทัศน์สัจนิยมแบบทุนหรือวาทกรรม “จุดจบของประวัติศาสตร์” เพื่อไปให้พ้นทุนนิยมแล้วไซร้ ใครกันแน่ที่ควรจัดให้เป็นพวกสิ้นคิดสูตรสำเร็จแดกด่วน? 


เชิงอรรถ

[1] ณัฐวุฒิ รังศรีรัมย์, 2565, “คำถามของป้าข้างบ้าน,” ดินแดง, https://bit.ly/3toqNtU, (เข้าถึงเมื่อ 27 มกราคม 2566).

[2] เดวิด ฮาร์วี, 2562, ความขัดแย้งสิบเจ็ดประการกับจุดจบของระบบทุนนิยม, ภัควดี วีรภาสพงษ์ (ผู้แปล), กรุงเทพฯ: สวนเงินมีมา, 22-23.

[3] สรวิศ ชัยนาม กล่าวในงานเสวนา “อ่านมาร์กซ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เมื่อ 11 พฤษภาคม 2558 ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[4] ณัฐวุฒิ รังศรีรัมย์, 2565, “คำถามของป้าข้างบ้าน.”

[5] ประเด็นนี้คล้ายกับประเด็นเรื่อง “ปณิธานวันปีใหม่” ซึ่งผมเคยเปรียบเทียบความต่างของประเด็นดังกล่าวระหว่างยุคทาส – ศักดินากับยุคทุนนิยมไว้แล้ว โปรดดู ณัฐวุฒิ รังศรีรัมย์, 2565, “ปณิธานวันปีใหม่ในสมัยทุนนิยม,” The Isaan Record, https://bit.ly/3E3zOhH, (เข้าถึงเมื่อ 27 มกราคม 2566).

[6] ณัฐวุฒิ รังศรีรัมย์, 2565, “คำถามของป้าข้างบ้าน.”

[7] เรื่องเดียวกัน.

[8] สรวิศ ชัยนาม, 2563, “In Their Views กับ สรวิศ ชัยนาม (I): ทุนนิยม วัฒนธรรมมหาชน และความเป็นซ้ายของประชาธิปไตย,” DemocracyXInnovation, https://bit.ly/3A9sm2C, (เข้าถึงเมื่อ 27 มกราคม 2566).

[9] ดูงานที่อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างทุนนิยมกับโรคซึมเศร้าใน สรวิศ ชัยนาม, 2562, เมื่อโลกซึมเศร้า: Mark Fisher โลกสัจนิยมแบบทุน และลัดดาแลนด์, สุชานาฎ จารุไพบูลย์ (ผู้แปล), กรุงเทพฯ: Illuminations Edition.

[10] เรื่องเดียวกัน, 26.

[11] เรื่องเดียวกัน, 28-31.

[12] เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, 2565, FUTURE: ว่าด้วยเวลา ประวัติศาสตร์กับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในระบบทุนนิยมดิจิทัล, กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 174.