นักเขียน – Fem rest
เราเคยสงสัยกันหรือไม่ว่า ทำไมยิ่งเรียน เรายิ่งรู้สึกหลงทางและทุกข์ทรมานมากกว่าเดิม เราอาจรู้สึกว่าเราพยายามไม่พอ เก่งไม่พอ เมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนคนอื่น อย่าเพิ่งน้อยใจไป เพราะระบบการศึกษาไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนแต่แรก แต่มันเป็นระบบที่คล้ายโรงงานผลิตแรงงานออกไปรับใช้ตลาด และนายทุนต่างหาก
การขยายตัวของทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ในช่วง 1970s-ปัจจุบัน ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของทุกคนในหลาย ๆ ด้าน อธิบายให้ครอบคลุมที่สุด ตัวมันเองพยายามเปลี่ยนแปลงทุกกิจกรรมของมนุษย์ ให้เป็นไปตามมุมมองแบบทุนนิยม ตลาดเสรี การลงทุนและการเก็งกำไร ทุนมันครอบงำจิตใจมนุษย์นั่นแหละ มันพยายามลดบทบาทของรัฐให้ได้มากที่สุด เช่น แปรรูปรัฐวิสาหกิจ การจำกัดรัฐสวัสดิการ และเปิดโอกาสให้บริษัทของนายทุนเข้ามาทำกำไร และปล่อยทุกอย่างไปตามกลไกตลาด หรือพูดง่าย ๆ คือปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม และ การแข่งขันแบบ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา”
เสรีนิยมใหม่เปลี่ยนแปลงทุกอย่างให้กลายเป็นสินค้า มันเป็นเรื่องของกำไร และการศึกษาก็เช่นกัน
“คุณอยากเข้าโรงเรียนคุณภาพ โรงเรียนชั้นนำหรอ คุณต้องมีเงินก่อนนะ”
ทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ มันทำลายและตัดงบสวัสดิการที่ทุกคนควรได้รับ เอกชนเข้าไปหากินจากระบบการศึกษา แต่ไม่ใช่แค่เอกชน รัฐก็ด้วย ทั้งที่การศึกษาควรเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรเข้าถึงได้ ภาษีทุกคนก็จ่ายเหมือนกันหมด แต่ทำไมภาครัฐถึงไม่สนับสนุนอะไรพวกนี้เลยล่ะ การส่งลูกหลานเข้าเรียนเลยกลายเป็นภาระของผู้ปกครองและตัวนักเรียนเอง และมันยังเป็นเหมือนการซ้ำเติมแก่ครอบครัวยากจนอีกด้วย ว่าระบบนี้ไม่ได้รองรับพวกเขาเอาซะเลย
เราต่างทำหน้าที่ประชาชนอยู่เสมอ แต่รัฐกลับไม่ทำตามหน้าที่ของรัฐเลย เพรารัฐในระบบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่มีหน้าที่อยู่อย่างเดียว คือปกป้องทุนและระบบตลาด
เราปฏิเสธไม่ได้หรอกว่า การเรียนจบจนมีวุฒิสูง ๆ มันเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เรามีงานดี เงินเดือนเยอะ เป็นหนทางเดียวที่จะก้ามข้าวความจนในสังคมที่ต้องใช้เงินไปได้
การศึกษาภายใต้ระบบทุนนิยม มันเลยกลายเป็นการลงทุนอย่างหนึ่งเพื่อรับประกันความมั่นคงในอนาคต เราแทบจะไม่มองว่ามันเป็นกระบวนการพัฒนาศักยภาพ หรือแม้กระทั่งกระบวนการส่งเสริมการใช้ชีวิต
เราเชื่อว่า หลายคนเคยดูซีรีส์ Squid game มาแล้ว ซึ่งนั่นก็สะท้อนปัญหาเรื่องของการแข่งขันของระบบตลาด เพื่อเอาตัวรอดในโลกทุนนิยม มันสั่งสมความเห็นแก่ตัวของมนุษย์, คุณแทบจะมองทุกอย่างเป็นศัตรู, มันทำให้คุณไร้เยื่อใยใด ๆ แก่คนอื่น, แม้แต่คนที่ทำผิดพลาด ก็ไม่สมควรได้รับโอกาส, คุณต้องเหยียบหัวคนอื่นไปเพื่อให้ถึงจุดหมาย, คุณต้องกดดันตัวเองตลอดเวลา ต้องกังวลในทุกเรื่อง นี่มันนรกชัด ๆ
การศึกษาก็แบบเดียวกัน หากเรามองดี ๆ จะพบว่า การเรียน = การแข่งขัน มันเหมือนกับระบบตลาดเสรีแบบเป๊ะ ๆ เราต้องแข่งกันตลอดเวลา ทั้งกับตัวเอง และกับเพื่อนคนอื่น ๆ เพื่อไปให้ถึงจุดหมายของแต่ละคน จากกรณีที่ผ่านมา เราก็เห็นกันแล้วว่ามันทำให้นักเรียนไทยเห็นคนอื่นเป็นอะไร ทุกคนต่างต้องทำเพื่อความฝันของตัวเองและครอบครัว แต่ระบบการแข่งขันมันเป็นตัวปิดกั้นความฝันของมนุษย์ เพราะเมื่อมีผู้ชนะ ย่อมมีผู้แพ้เสมอ
ทุนนิยมทำให้คนเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตน มากกว่า ผลประโยชน์ร่วมกันซึ่งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคมขนานใหญ่ได้ นักเรียนเปรียบเสมือนแรงงานรูปแบบหนึ่งในโลกทุนนิยม เมื่อแรงงานกลายเป็นสินค้าในตลาดแรงงาน คนต้องแก่งแย่งแข่งขันกันเอง เพื่อให้ตนถูกจ้าง และใช่ นักเรียนก็ต้องแข่งขันกันเอง เพื่อให้สถาบันการศึกษารับเข้าเรียนเหมือนกัน
และจากการแข่งขันจะนำไปสู่สภาวะแปลกแยก (alienation) ซึ่งเป็นความรู้สึกที่พวกเรารู้สึกแปลกแยกจากสภาพต่าง ๆ ในสังคม เราอาจรู้สึกเป็น “พวกเรา/พวกเขา” เมื่อเวลาผ่านไป เราจะไม่มองเพื่อน หรือคนอื่น ๆ เป็นพันธมิตรสำคัญที่ประสบปัญหา หรือมี struggle แบบเดียวกัน แต่จะมองว่าเป็นคนอื่น “พวกเขา” เพราะกลัวว่าจะมาแย่งที่นั่งหรือลำดับของตนไป
เมื่อมีการแข่งขัน สิ่งที่จะตามมาคือ ความกดดัน วัฒนธรรมการเรียนแบบโต้รุ่งเป็นสิ่งที่เราเห็นได้ทั่วไป มันเป็นการกดดันกับตัวเองว่าเราจะต้องเก่ง ต้องขยันอยู่เสมอ คนส่วนมากมักเลือกจะทำการบ้าน อ่านหนังสือในยามกลางคืน เพราะเรารู้สึกว่ากลางคืนนั้นปลอดภัยและรู้สึกดีกว่า และเวลากลางวันของเรานั้น ถูกกลืนด้วยกิจกรรมอื่นไปแล้ว
วัฒนธรรมการเรียนหนักถูกผลิตซ้ำอยู่ตลอดเวลา ผ่านสถาบันสอนพิเศษ ติวเตอร์ “คนเรามีเวลาเท่ากัน อยู่ที่ใครจะเลือกทำอะไร” หรือ “ในขณะที่เราพัก คนอื่นก็ไปไกลแล้ว”
ทุนนิยมบีบคั้นให้เราต้องขยัน (Productive) อยู่ตลอดเวลา เด็กต้องใช้เวลาอย่างคุ้มค่า ใครขยันชนะ ใครเรียนมากชนะ สุดท้ายเราจะกลับมาถามตัวเองว่า “เราดีพอหรือยัง” “เก่งพอหรือยัง” มันเป็นการขูดรีดตัวเอง ผลที่ตามมาคือสภาพร่างกายและจิตใจที่แตกสลาย และรวมถึงโรคซึมเศร้า แต่ยังไงก็ตาม เสรีนิยมใหม่มันไม่สนหรอก แนวคิดแบบปัจเจกของมันจะทำให้คุณโทษตัวเองอยู่ดี มันละเลยปัจจัยด้านอื่นออกไป เช่น กิจกรรมในห้องเรียนไม่ได้ตื่นเต้น แต่เป็นเพียงแค่จดตามทฤษฎี การสั่งงานแบบไม่ลืมหูลืมตาของครูหลาย ๆ คน แม้กระทั่งเวลาใกล้สอบ เราคาดหวังให้เด็กได้คะแนนดี แต่เรากลับไม่ได้ให้เวลาเด็กเหล่านั้นในการเตรียมตัวเขาเองเลย
คนที่รู้สึกไม่ไหวต่อโลกปัจจุบัน ไม่ใช่คนขี้แพ้ เพราะการแข่งขันจะไม่มีความแฟร์เลย ตราบใดที่เราไม่ได้เริ่มมาจาก 0 ตั้งแต่แรกกันทุกคน บางคนเกิดมาในครอบครัวมีเงิน บางคนเกิดมาในครอบครัวยากจน บางคนอยู่ในเมือง บางคนอยู่ในชนบท บางคนมีเวลาว่าง บางคนต้องทำงาน ซึ่งแน่นอนว่าคนที่มีเงิน มีเวลาก็สามารถเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ความรู้ที่มากกว่า โรงเรียนชั้นนำคุณภาพได้มากกว่าคนไม่มีเงินเสมอ
(แต่อย่างไรก็ตาม ระบบการแข่งขันในไทยก็มีปัญหาอยู่มาก เพราะมันไม่ใช่การสอบเพื่อวัดความรู้ แต่มันกลายเป็นการอวดความรู้ของคนออกข้อสอบ การสอบเข้ามหาวิทยาลัย มักมีวิชาวัดความถนัดที่ไม่ได้สอนในโรงเรียน ทำให้นักเรียนต้องไปหาซื้อหนังสือมาอ่านเอง หรือไม่ก็ต้องไปติวกับสถาบันสอนพิเศษ ซึ่งนั่นก็เป็นการโยนภาระไปที่นักเรียนและครอบครัวอีก)
คุณคิดว่า เด็กนักเรียนที่มีอายุตั้งแต่ 10-20 ปีควรจะต้องมาจมปลักกับสภาพปัญหาทั้งเรื่องเรียนและการเงินแบบนี้หรือป่าว หลายคนต้องมานั่งเรียนเครียดและเตรียมตัวตั้งแต่ชั้นประถม ทำไมพวกเขาต้องมานั่งกดดันตัวเอง ต้องมานั่งเครียดกับเรื่องในอนาคต เด็กทุกคนควรจะได้มีความสุขตามวัยของเขาเอง เพราะวัยรุ่นมีเพียงครั้งเดียว
“เพราะทุนนิยมออกแบบการศึกษา การศึกษาเลยต้องกลับไปรับใช้ทุน”
รูปแบบการเรียนในปัจจุบันก็ไม่ต่างอะไรกับโรงงาน มันเป็นการผลิตแรงงานออกไปเพื่อรับใช้ทุนนิยม มันไม่ได้ดึงศักยภาพ และความหลากหลายของนักเรียนออกมาเลย นักเรียนหลายคนเรียนจะจบ ม.ปลาย แต่ยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร อยากเรียนอะไร เพราะการศึกษาไม่ได้เสนอตัวเลือกที่หลากหลาย มันทำแค่เชิดชูสิ่งที่เป็นอยู่ โดยมีแนวคิดแบบตลาดมากำหนดกรอบไว้ หลายครั้งที่เรากดดันตัวเอง พยายามแทบตายเพื่อให้ได้ไปสู่จุดหมาย สุดท้ายแล้วเมื่อเราเรียนจบ เราก็ต้องกลับไปทำงานรับใช้ระบบตลาด
เมื่อสถานศึกษากลายเป็นโรงงาน การศึกษาภายใต้สังคมทุนนิยม มันจึงกลายเป็นความแปลกแยกของนักเรียน โรงเรียนมักไม่ได้เปิดโอกาสและมีพื้นที่ที่นักเรียนจะแสดงความสร้างสรรค์ หรือแรงจูงใจออกมามากนัก นักเรียนบางส่วนมีความรู้สึกที่ว่า “เรียนไปจะได้จบ” ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับการทำงานอื่น ๆ ในโลกทุนนิยม ซึ่งก็มีสภาวะแปลกแยกแบบเดียวกัน
มีหลายครั้ง ที่บางโรงเรียน หรือมหาลัยอาจจะดูก้าวหน้า และเปิดกว้าง แต่ในทางปฏิบัติ มหาวิทยาลัยก็คล้ายกับโรงงานที่ผลิตนักศึกษาในรูปแบบที่ดูทันสมัยและตอบโจทย์กับผู้บริโภค หรือตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่แม้กระทั่งตัวนักศึกษาเองก็ยินดีที่จะอยู่ในระบบที่ขูดรีดนั้น
พูดง่าย ๆ คือ เด็กหลายคนต้องแบกความคาดหวังในการเรียนเพื่อที่จะจบออกไปให้มีงานทำ ในขณะเดียวกันโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเองก็ไม่ได้เปิดกว้างมากพอที่จะรองรับความหลากหลายของเด็ก แต่เลือกที่จะผลิตเด็กในรูปแบบเดียวกันซ้ำๆ เพื่อออกไปตอบโจทย์ตลาดแรงงานหรือโลกของทุนนิยม
ถ้าเราลองมองผ่านเลนส์ของโลกทุนนิยม จะเห็นได้ว่าสิ่งใดที่กำลังเกี่ยวและตัดตอนความมั่นใจในคุณค่าของตนออกไปเรื่อยๆ การที่โลกของทุนนิยมไม่ได้สร้างความหลากหลายที่แท้จริงไม่ได้แปลว่าตัวตนเรานั้นจะไร้คุณค่า หรือไม่ดี แต่เป็นเพราะโครงสร้างของระบบสังคมที่ผิดเพี้ยนจนไม่ได้มองเห็นถึงความหลากหลายนี้ต่างหาก
มันจะไม่ดีกว่านี้หรือ หากเราเปลี่ยนระบบให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้โดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและไม่ต้องแข่งขัน ใครอยากเรียนอะไร ต้องได้เรียน ระบบการศึกษาภายใต้ทุนนิยม มันเป็นการปิดกั้นการกำเนิดขึ้นของศิลปิน นักวิทยาศาสตร์ และคนมีความรู้ ความสามารถนับหมื่น นับแสนคนเพียงเพราะเขาพ่ายแพ้ในการแข่งขัน เพียงเพราะเขาไม่มีเงินพอ และมันจะดีกว่านี้หรือป่าว หากสังคมมีพื้นที่รองรับสำหรับทุก ๆ ความฝันที่ไม่ได้อยู่ในกรอบของทุน
ทำไมระบบที่มือใครยาวสาวได้สาวเอายังคงอยู่ มันอยู่มานาน ก็ไม่ได้แปลว่ามันจะไม่มีปัญหา ระบบที่ใครแข็งแกร่งคือผู้ชนะน่ะเหรอ ทั้งที่มันเป็นการปิดกั้นความฝันของผู้อื่นเนี่ยนะ?
อ.ษัษฐรัมย์ อาจารย์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยบอกไว้ว่า
“โลกนี้มีอะไรให้ทำอีกเยอะ มีความสุขในส่วนของเรา เท่าที่ทำได้ ความสุขมันไม่ได้เยอะอยู่แล้ว สำหรับคน 99% ไม่จำเป็นอย่าขูดรีดตัวเองเพิ่มเลย
อย่าคิดว่าเราทำงานเพื่อคนอื่นแล้วมันเป็นความชอบธรรมให้เราทำร้ายตัวเอง หรือทำงานหนักเกินไป ไม่ว่างานแบบไหนมนุษย์ก็มีสิทธิจะปล่อยผ่านได้
ขี้เกียจบ้าง เพราะคนขี้เกียจคือคนที่มีเวลาวางแผนสำหรับอนาคต ถ้าใครไม่อนุญาตให้เราขี้เกียจ ให้รวมตัวกันแล้วต่อรอง ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้า องค์กร หรือรัฐ การเที่ยวเล่น และขี้เกียจคือสิทธิพื้นฐานของทุกคน
ยิ่งขยันมีโอกาสทำเรื่องเดิมซ้ำ ๆ ที่อาจเครียดแล้วไม่ไปถึงไหน
เวลาอยู่ข้างเรา อย่าทำร้ายตัวเอง มีสิ่งดี ๆ นอกเหนือเรื่องงานเสมอ”
บทความต้นฉบับ “เราควรต่อต้านทุนนิยม 101” https://www.readawrite.com/a/c2ed1245294e5ba5906d8a28e8254232?r=my_page&page_no=2