Written by Rawipon Leemingsawat
Edited by Madalyn Berneri

ท่ามกลางผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ชนชั้นแรงงานจำนวนมหาศาลต้องเผชิญกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจ เป็นความจริงที่ไวรัสไม่เลือกชนชั้นในการแพร่ระบาด แต่โครงสร้างสังคมกลับเลือกผู้ที่ต้องทนทุกข์จากความชะงักงันของระบบเศรษฐกิจ ชนชั้นแรงงานต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งการช่วยเหลือจากรัฐ มันเป็นการต่อสู้ที่เดิมพันด้วยชีวิตเพื่อประกันว่าในเช้าของวันพรุ่งนี้พวกเขาจะมีลมหายใจไปทำงาน หลายคนใช้ชีวิตของตนเป็นเครื่องมือในการเรียกร้องต่อรัฐราวกับว่ามีเพียงชีวิตเท่านั้นที่พอจะทำให้เสียงของพวกเขาดังขึ้นบ้าง แต่ทางกลับกัน ฟากฝั่งของชนชั้นนายทุน รัฐเป็นฝ่ายกุลีกุจอรีดเค้นเซลล์สมองทุกส่วนเพื่อคิดหาหนทางอุ้มพยุงนายทุนให้อยู่รอดปลอดภัยท่ามกลางวิกฤติในครั้งนี้

            ในห้วงเหตุการณ์ดังกล่าว เกิดการต่อสู้ขึ้นในแทบทุกส่วนของสังคมไม่เว้นแม้แต่สถาบันที่เรียกว่ามหาวิทยาลัย เมื่อประจักษ์ต่อผลกระทบอันหนักหน่วงทางเศรษฐกิจที่เกิดแก่ผู้ปกครอง บรรดานักศึกษาจำนวนหนึ่งก็เริ่มรณรงค์เพื่อเรียกร้องมาตรการช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการลดค่าธรรมเนียมการศึกษา คืนค่าเทอม ทุนการศึกษา การผ่อนผัน ฯลฯ

            ไม่ว่าการต่อสู้ของนักศึกษาจะประสบผลสำเร็จมากน้อยหรือล้มเหลวไม่เป็นท่า แต่การต่อสู้เหล่านี้เป็นเสมือนประกายไฟ เมื่อนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ เห็นผองเพื่อนลุกขึ้นมาสู้ พวกเขาก็ริเริ่มกระบวนการต่อสู้ของตัวเองบ้าง การต่อสู้ในที่หนึ่งจุดประกายให้เกิดการต่อสู้ในอีกที่หนึ่ง วงจรของการต่อสู้ถูกจุดขึ้นด้วยเชื้อเพลิงและยุทธวิธีที่แตกต่างกันออกไป

            เปลวไฟหลากสีหลายรูปแบบของการต่อสู้ในครั้งนี้ได้มอบบทเรียนจำนวนหนึ่งแก่พวกเรา มันเป็นทั้งบทเรียนที่ทำหน้าที่ปอกเปลือกสถานะอันวิเศษของมหาวิทยาลัยให้ล่อนจ้อน เป็นแสงเพลิงสาดส่องที่ปลุกเร้าความฝันและปลอบโยนบรรเทาความหนาวเย็นท่ามกลางลมพายุของวิกฤติ

            การต่อสู้ของนักศึกษาในหลายมหาวิทยาลัยต้องเผชิญหน้ากับแรงต้าน โดยเฉพาะจากคณะผู้บริหาร แน่นอนว่าเหตุผลหนึ่งที่คณะผู้บริหารออกมาต้านอย่างแข็งขัน คือการต่อสู้ครั้งนี้มุ่งเป้าไปยังคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยซึ่งกุมอำนาจตัดสินใจอยู่โดยตรง แต่อีกด้านที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือแรงต้านที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าจุดยืนของคณะผู้บริหารกับนักศึกษามีจุดยืนที่อยู่ตรงข้ามกัน และในหลายครั้งจุดยืนดังกล่าวก็ไม่อาจประนีประนอมกันได้ ผู้บริหารมองทุกสิ่งจากจุดยืนของผลกำไรขาดทุนหรือเหตุผลเชิงเศรษฐกิจ ราวกับมีเสียงเพรียกคอยกระซิบบอกพวกเขาว่าต้องทำให้มหาวิทยาลัยสะสมทุนมากยิ่งๆ ขึ้นไป ซึ่งเห็นได้จากท่าทีการช่วยเหลือนักศึกษาของคณะผู้บริหารที่ให้ความสนใจกับความอยู่รอดของมหาวิทยาลัยในเชิงเศรษฐกิจมากกว่าความเป็นไปของนักศึกษา รวมทั้งความพยายามที่จะช่วยเหลือนักศึกษาในรูปแบบของการออกเงินกู้ จากจุดยืนเช่นนี้ของผู้บริหาร มหาวิทยาลัยเป็นธุรกิจแบบหนึ่งที่พวกเขามีหน้าที่บริหารให้ได้มาซึ่งกำไร มหาวิทยาลัยถูกประเมินจากมูลค่าในการแลกเปลี่ยน ส่วนนักศึกษานั้นต่อสู้บนฐานที่มองว่ามหาวิทยาลัยคือสถานที่ของการเรียนรู้ การใช้ชีวิต และสังคม นักศึกษาไม่อาจขาดมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยไม่อาจขาดนักศึกษา เมื่อผู้คนที่เป็นส่วนสำคัญถึงคราวต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์วิกฤติ มหาวิทยาลัยก็สมควรเข้าช่วยเหลือ มหาวิทยาลัยในสายตาของนักศึกษาถูกประเมินจากมูลค่าการใช้งาน ไม่ใช่เรื่องกำไรขาดทุน นี่คือจุดยืนหลักที่เป็นความขัดแย้งของทั้งสองฝ่าย

            ความขัดแย้งดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า คณะผู้บริหารมิได้เป็นและมิอาจเป็นตัวกลางผู้ไกล่เกลี่ยได้ พวกเขาไม่ใช่พระผู้ช่วยซึ่งลงมาขจัดเพลิงที่กำลังเผาผลาญชีวิตนักศึกษา มิอาจเป็นผู้ปกครองที่เมตตารักใคร่นักศึกษาดุจลูกหลาน เนื่องจากพวกเขาคือผลจากความขัดแย้งอันมิอาจประนีประนอมได้ของจุดยืนที่แตกต่างกัน ผู้บริหารทำหน้าที่ปกป้องจุดยืนที่มองว่ามหาวิทยาลัยคือส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมอันมิอาจสะดุดหรือหยุดยั้งได้ มีแต่ต้องก้าวหน้า ต้องผลิตให้มากขึ้น ต้องมีกำไรมากขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด พวกเขาคือส่วนหนึ่งของตรรกะความคิดแบบทุนนิยมที่ครอบงำมหาวิทยาลัยอยู่

            นอกจากนี้ บรรดาแรงต้าน ความเฉื่อยชา และความล่าช้าที่ผู้บริหารมีต่อข้อเรียกร้องของนักศึกษายังแสดงให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยคือสถานที่ของความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบไม่เท่าเทียมที่ฉาบเคลือบไว้ด้วยโวหารของประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วม จริงอยู่ที่มหาวิทยาลัยมีองค์กรที่มาจากกระบวนการเลือกตั้งของนักศึกษา แต่ก็เป็นความจริงอีกเช่นกันว่าองค์กรเหล่านั้นมิได้ถือครองตำแหน่งที่มีอำนาจในการตัดสินใจความเป็นไปของมหาวิทยาลัย การคงอยู่และดับไปของทั้งมหาวิทยาลัย (และองค์กรเหล่านั้น) ขึ้นอยู่กับคณะผู้บริหาร ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขามิได้มีส่วนต้องรับผิดรับชอบใดๆ ต่อนักศึกษา ผู้บริหารอยู่ในตำแหน่งของอำนาจที่จะเลือกรับฟังใครและจะไม่รับฟังใคร แม้แต่ในมาตรฐานของประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่มีข้อจำกัดมหาศาล สิ่งเหล่านี้ไม่ควรนับว่าเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยเลย เราอาจเว้นที่ว่างไว้ให้กับการขบคิดว่ารูปแบบการมีส่วนร่วมในการบริหารมหาวิทยาลัยควรจะมีหน้าตาเช่นไร แต่สิ่งที่ชัดเจนในตอนนี้คือต้องไม่ใช่รูปแบบที่ผู้บริหารเป็นใหญ่ และไม่ต้องรับฟังเสียงจากผู้อื่นอย่างที่เป็นอยู่เช่นนี้แน่

            แน่นอนว่าจุดประสงค์เบื้องต้นที่สุดของการเรียกร้องมาตรการช่วยเหลือต่างๆ โดยเฉพาะการลดค่าธรรมเนียมการศึกษา คือความต้องการมาตรการเพื่อช่วยค้ำจุนชีวิตของนักศึกษาให้พอผ่านพ้นช่วงวิกฤติครั้งนี้ไปได้ อย่างไรก็ตาม บทเรียนที่พวกเราได้รับจากการต่อสู้ไม่ได้มีเพียงแค่นี้ สิ่งนี้ไม่ใช่นัยความสำคัญทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการต่อสู้ในครั้งนี้ การมุ่งเป้าไปยังค่าธรรมเนียมการศึกษาได้ฉายให้เห็นอีกด้านของรายจ่ายสำหรับนักศึกษาส่วนนี้ บรรดาค่าธรรมเนียมการศึกษาที่มหาวิทยาลัยจัดเก็บนอกจากจะเป็นรายได้ส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย ค่าธรรมเนียมการศึกษายังเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดระเบียบความสัมพันธ์ที่นักศึกษามีต่อมหาวิทยาลัยอีกด้วย ไม่ต่างอะไรกับความสัมพันธ์ของแรงงานกับค่าแรงเลย ค่าธรรมเนียมการศึกษาได้ทำให้นักศึกษากลายเป็น “ลูกค้า” ของมหาวิทยาลัย นักศึกษาไม่ใช่เจ้าของร่วมของมหาวิทยาลัย หากเป็นแค่เพียงผู้เข้ามาใช้งานที่จ่ายเงินมาแล้วจากไป จริงอยู่ว่าในพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนสมบูรณ์ สถานะของลูกค้าและผู้ขายต่างเท่าเทียมกัน การแลกเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อทั้งสองฝ่ายเห็นต้องกัน สถาพเช่นนี้คือยูโทเปียอันสมบูรณ์พร้อมของความเท่าเทียม แต่นั่นก็แค่ภาพฝันอันแสนหวาน ในบริบทของมหาวิทยาลัย ไม่ใช่นักศึกษาทุกคนจะสามารถบอกได้ว่า “ฉันไม่พอใจสถาบันของพวกคุณ ดังนั้นลาก่อน” ใช่แล้ว ไม่ใช่ทุกคนจะมีทางเลือกมากขนาดนั้นในโลกที่โครงสร้างอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกำลังทำให้คำว่าเสรีภาพกลายเป็นดั่งคำพูดที่เป็นจริงเพียงครึ่ง ในโลกที่ใบประกาศและชื่อชั้นของสถาบันเป็นสิ่งสำคัญ และเมื่อพิจารณาเรื่องราวหลังจากนั้น ครั้นเมื่อเด็กคนหนึ่งตกลงใจเข้ามาเรียนด้วยความสมัครใจ ภายหลังการกลายเป็นนักศึกษา พวกเขาก็ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบที่ผู้ขายมีเหนือพวกเขา “คุณต้องเคารพกฎกติการการอยู่ร่วมกัน (ที่ถูกกำหนดจากผู้มีอำนาจ)” นี่หรือคือความสัมพันธ์อันเท่าเทียมของลูกค้า เปล่าเลย นักศึกษาเป็นลูกค้าที่มีความสัมพันธ์ทางอำนาจไม่เท่าเทียมกับมหาวิทยาลัยอย่างชัดเจน นักศึกษาเป็นเพียงผู้รับบริการ เป็นเพียงลูกค้าผู้ที่อาจออกเสียงบ่นได้พอประมาณ เป็นเพียงลูกค้าที่ทำได้แค่เสียดสีประชดประชันให้ผู้บริหารได้พอแสบคันเล็กน้อยก็เพียงเท่านั้น

            ดังนั้นในแง่นี้ การต่อสู้เรื่องค่าธรรมเนียมการศึกษากำลังแสดงให้เห็นถึงนัยของการต่อสู้เรื่องความสัมพันธ์ทางอำนาจ การต่อสู้ดังกล่าวมิใช่แค่เพื่อค่าธรรมเนียมที่ถูกลง หากแต่กำลังแสดงให้เห็นถึงความไม่พอใจต่อโครงสร้างอำนาจที่ไม่เท่าเทียม บรรดานักศึกษากำลังดำเนินการรื้อถอนโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจในมหาวิทยาลัยเสียใหม่ ประติมากรรมทางอำนาจแสนอัปลักษณ์กำลังถูกถอน ดังที่เห็นได้จากการยืนยันว่ามหาวิทยาลัยต้องช่วยเหลือนักศึกษาผู้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย ยืนยันว่ามหาวิทยาลัยไม่ควรคิดคำนึงการบริหารจัดการในแง่ผลกำไรขาดทุน ผ่านการต่อสู้เรื่องค่าธรรมเนียมการศึกษา นักศึกษากำลังถมทางขึ้นไปท้าทายบรรดาผู้ซึ่งนั่งอยู่บนยอดสูงของโครงสร้างอำนาจ เครื่องมือที่ครั้งหนึ่งเคยสถาปนาความเหนือกว่าของผู้บริหารกำลังกลายเป็นช่องทางในการจู่โจมเพื่อท้าทายสถานะนำของพวกเขา ค่าธรรมเนียมการศึกษากำลังกลายเป็นสนามของการต่อสู้เพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางอำนาจชุดใหม่ การต่อสู้เหล่านี้กำลังมอบความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับผู้คน มันคือความเป็นได้ในการปฏิเสธสัจพจน์ที่ว่าโลกนี้ต้องดำรงอยู่บนตรรกะทางเศรษฐกิจเท่านั้น เพียงแต่ความเป็นไปได้เหล่านี้จะเกิดขึ้นและเป็นจริงได้ก็ด้วยการลุกขึ้นต่อสู้ให้ได้มา มิใช่การรอพระมาโปรดหรืออ้อนวอนร้องขอความกรุณาแต่อย่างใด

นักศึกษาทั้งหลาย โปรดขุ่นเคืองให้มาก พอใจให้น้อย จงเชื่อฟังแต่น้อย และต่อต้านให้มาก !!!