“Tell me who your enemy is, and I will tell you who you are.”

การอุบัติขึ้นของเทคโนโลยี Social media ,สภาวะแปลกแยก,ทุนนิยมความรับรู้ (Cognitive capitalism) , การวางผังเมืองอันไร้ความรับผิดชอบ และ การปรากฏตัวของโรค Covid-19 เป็นปัจจัยหลัก ๆ ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันนั้น “ใช้ชีวิต” อยู่ในโลกออนไลน์มากเสียยิ่งกว่าโลกออฟไลน์ (ผมไม่อยากใช้คำว่า “โลกเสมือน/โลกจริง” เพราะมันจริงกันคนละแบบ) เรื่องนี้เป็นความจริงที่พวกเราก็รับรู้ได้จากตัวเอง และ ผู้คนรอบข้าง

ตามแนวคิดแบบวัตถุนิยมแล้ว เราปฏิเสธไม่ได้ว่า “ความสัมพันธ์ทางการผลิต” (หรือ โลกทางวัตถุ) เป็นสิ่งกำหนด “โครงสร้างส่วนบน” อันประกอบไปด้วย ไลฟ์สไตล์,แนวคิด,วัฒนธรรม,ค่านิยม,ศิลปะ รวมไปถึงวิธีการ “จัดตั้ง” อีกด้วย ดังนั้นจึงเป็นภารกิจสำคัญของฝ่ายซ้ายในปัจจุบันที่จะต้องวิเคราะห์สภาพทางวัตถุของพวกเราเพื่อนำไปเป็นฐานคิดให้กับวิธีการจัดตั้งองค์กร อันจะนำไปสู่การปฏิวัติในท้ายที่สุด เราไม่สามารถที่จะลอก “พระคัมภีร์ How to จัดตั้ง” จากสหายรุ่นก่อนๆ แล้วเอามาปฏิบัติในบริบทของยุคสมัยเรา แล้วคาดหวังว่าจะได้ผลสำเร็จ เราต้องเรียนรู้อดีต แต่ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นสะพานไปสู่อนาคต

ซึ่งในเรื่องของการจัดตั้ง เลนิน เคยกล่าวไว้ใจความว่า คือ การ “รวบรวมเอาความขัดแย้งที่มีอยู่ในสังคม ให้มุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน (การปฏิวัติ)” ขยายความก็ คือ เราในฐานะที่เป็นฝ่ายซ้าย เรามีหน้าที่ชี้ให้ผู้คนเห็นว่า “ปัญหา” ที่พวกเขากำลังเจอในชีวิตนั้น มันมีรากมาจากเรื่องของเศรษฐกิจการเมือง,เรื่องเชิงระบบ ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องแก้ปัญหาอย่างถึงราก (Radical) และ ในเมื่อไม่ใช่แค่เราคนเดียว ที่เป็นผู้ทนทุกข์กับระบบและโครงสร้างที่ขูดรีด เอาเปรียบพวกเรา เราจึงจำเป็นต้องร่วมมือกัน และ เพราะระบบดังกล่าวมันไม่ได้คงอยู่ได้เพราะ “ความผิดพลาด”( เช่น ความโง่ของผู้นำ)  หากแต่มันเป็นความจงใจของฝั่ง “ผู้กดขี่” ที่ออกแบบระบบมาสลับซับซ้อน เราจึงจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ และ ยุทธิวิธี ในการต่อสู้ ไม่ใช่ต่างคนต่างสู้ในแบบของตัวเอง

ในห้วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ความขัดแย้งทางการเมืองไทยเราได้ปะทุออกมาบนท้องถนน รวมไปถึงกระแสที่ถาโถมในโลกออนไลน์ ที่คนหนุ่มสาวหันมาสนใจพูดคุยประเด็นการเมืองมากขึ้น แต่.. ที่ใดมีอำนาจ ที่นั่นย่อมมีการต่อต้าน ที่ใดมีพลังการกระทำ (Action) ที่นั่นย่อมมีพลังของปฏิกิริยา (Reaction) สิ่งที่เกิดขึ้น คือ การกลับมาของแนวคิดแบบล้าหลัง ในรูปแบบของ “เหล้าเก่าในขวดใหม่” ไม่ว่าจะเป็น การเหยียดเพศ,การเหยียดกรรมาชีพ,การดูถูกคนต่างจังหวัด,การเชิดชูบูชาศักดินา (แต่รอบนี้เป็นศักดินาในเครื่องแบบนักธุรกิจ), การเชิดชูระบบทุนนิยม, การบูชาชนชั้นนำ (แต่เปลี่ยนเป็นชนชั้นนำจากประเทศจักรวรรดินิยม), พวกอนุรักษ์นิยมทางเศรษฐกิจ, การบูชาความโอ้อวดและเห็นแก่ตัว ฯลฯ

แน่นอนว่าเมื่อพวกเราได้เห็นการกลับมาของซากเดนเหล่านี้ ปฏิกิริยาโต้ตอบแรกที่เราจะพึงมี (ในโลกออนไลน์) คือ การเข้าไปเถียงเข้าไปด่าอย่างถึงที่สุด ด้วยความไม่พอใจ รวมไปถึงเป็นการระบายแค้นที่สะสมในใจจากการถูกระบบดังกล่าวกดทับและขูดรีด

ทั้งนี้เพราะว่าพวกเรา คือ มนุษย์ ที่มีเลือดเนื้อ,จิตใจ และ ความรู้สึก พวกเราไม่ใช่สมองในโหลแก้วที่มีไว้บรรจุตรรกะหลักการเพียงเท่านั้น และ ถ้าหากพวกเราไร้ซึ่งอารมณ์ ความรู้สึกแล้ว บรรดาตรรกะ หลักการ ความถูกต้อง ต่าง ๆ ย่อมไม่นำไปสู่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงอะไร หากแต่จะเป็นเพียงการ “ท่องจำ” ทุนทางสังคม เพื่อนำไปใช้โม้ในวงเหล้า หรือ เพื่อนำไปเหยียดหยามคนที่รู้น้อยกว่าตัวเอง ..

เราไม่อาจต่อสู้เพื่อความเป็นมนุษย์ได้ ถ้าหากเราเองยังละทิ้งความเป็นมนุษย์ของตัวเอง

ความโกรธ และ ความแค้น เป็นพลังงานของศักยภาพแบบหนึ่ง ซึ่งมันสามารถถูกวางแนวให้พุ่งไปทำลายล้าง หรือ สร้างสรรค์ได้ ด้วยเหตุนี้ ทำให้มีฝ่ายประชาธิปไตยหลายคนที่ต้องทุกข์ทรมานกับโรคทางสุขภาพจิต ในขณะที่มีอีกหลายคนเช่นกัน ที่ร่วมมือกันสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และ หยัดยืนในเส้นทางของการต่อสู้ได้อย่างมั่นคง

โดยเฉพาะในยุคสมัยปัจจุบัน ที่มีข้อมูลจำนวนมหาศาลถูกยัดเข้าในสมองของมนุษย์เราในทุกๆวัน สภาพจิตใจของฝ่ายประชาธิปไตยที่ยังไม่ได้เรียนรู้ที่จะวางแนวทางไหลของพลังงาน หรือ เคยรู้แต่หลงลืมไป จึงเหมือน คนที่ถูกกรอกอาหารเข้าปากทุกวัน แต่ถูกมัดติดกับเก้าอี้ ไม่ให้ได้วิ่งออกไปทำกิจกรรมเพื่อเผาผลาญ และ แปรเปลี่ยนพลังงานนั้นได้

การวางแนวทางไหลของพลังงาน คือ หนึ่งในยุทธิวิธี ในการต่อสู้ของพวกเรา เราจะทำยังไงให้พลังงานที่เราได้รับมานั้น 1.ไม่สะสมจนเป็นพิษแก่เรา 2. สามารถไหลไปสร้างสรรค์สิ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีขึ้นได้

ข้อสำคัญประการหนึ่ง ของการวางยุทธวิธีดังกล่าว คือ การระบายอารมณ์ย่อมไม่เท่ากับ “การสร้างสรรค์” และ “การปฏิวัติ”เสมอไป เช่น ถ้าหากเราถูกใครสักคนบูลลี่ และ เราโกรธเขามาก เลยกลับบ้านมาต่อยกำแพง จริงอยู่ที่เราได้ระบายอารมณ์นั้นออกไป แต่ผลที่ได้ คือ เขาคนนั้นก็อาจบูลลี่เราต่อไป และ เราก็เจ็บมือ

ทีนี้เมื่อเรามาพิจารณาในเรื่องของการดีเบตทกับพวก “เหล้าเก่าในขวดใหม่” (หรือ แม้แต่พวก “เหล้าเก่าในขวดเก่า” อย่างสลิ่ม)ที่กำลังระบาดเป็นแรงปฏิกิริยาในโลกออนไลน์  เราคาดหวังอะไรจากการดีเบตทกับคนเหล่านี้ ? ถ้าหากพวกเราลองเดาดู ก็อาจจะเป็น

1.ได้ระบายอารมณ์โกรธแค้น

2.ได้แลกเปลี่ยนความรู้กับคนเห็นต่าง และ อัพสกิลการดีเบตท

3.ได้ทำการ “จัดตั้ง” ให้คนเหล่านั้นหันมาเป็นฝ่ายซ้าย

ผมเองจะไม่ตัดสินว่าการกระทำแบบไหนเป็นสิ่งดี หรือ เลว เพียงแค่อยากให้ผู้อ่านตัดสินใจกระทำบางอย่าง ผ่านการพิจารณามาก่อนแล้ว

ซึ่งถ้าเป็นไปเพื่อข้อ

  1. ได้ระบายอารมณ์แค้น

ผมว่าก็ไม่เสียหาย แต่แค่เราต้องตระหนักไว้ว่า คนเหล่านี้ไม่ใช่ “ศัตรู” ที่แท้จริงของพวกเรา หากแต่เป็นเพียงสามัญชนที่กำลังเข้าใจผิด การได้ชัยชนะเหนือคนเหล่านี้ ไม่ได้ทำให้รัฐ และ ทุน สั่นคลอนเท่าใดนัก เหมือนกับการแก้ปัญหาปลวกกินบ้าน ด้วยการไล่ตีปลวกทีละตัวมากกว่า

  1. ได้แลกเปลี่ยนความรู้กับคนเห็นต่าง และ ฝึกสกิลดีเบตท

ถ้าเราตระหนักเช่นนั้น เราก็ควร “เลือก” คนที่จะดีเบทกับเราสักหน่อยว่า เขาคนนั้นมีการใช้ตรรกะที่สมเหตุสมผลหรือไม่   (แม้ว่าเขาจะคิดไม่เหมือนเรา) และ เขาอยากมาแลกเปลี่ยนความรู้กับเราจริง ๆ หรือ เขาแค่เป็นเกรียนอินเทอร์เน็ตคนนึง ที่อยากปั่นประสาทคนเอามันส์เฉยๆ

Ps.ถ้าหากสหายได้เจอกับคนเห็นต่างที่รู้จักใช้ตรรกะ เหตุผล แล้วได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกันเยอะ ๆ ก็ถือว่าเป็นโชคดีมาก ๆ เพราะเราเองก็ไม่ควรจำกัดวงคุยแค่กับคนที่เห็นด้วยกับเรา แต่ส่วนใหญ่ผมต้องพูดตรงๆว่าคนแบบนี้ หายาก

  1. ได้ทำการ “จัดตั้ง” ให้คนเหล่านั้นหันมาเป็นฝ่ายซ้าย

ลองถามตัวเองดูว่า ที่เรามาเป็นฝ่ายซ้ายเพราะเราดีเบตทแพ้ รึเปล่า ? และ ที่ผ่านมามีคนแพ้ดีเบตทของเรากี่คนที่ตอนนี้กลายเป็นฝ่ายซ้าย ?  ถ้าคำตอบ คือ ไม่ .. เราก็ไม่ควรคาดหวังผลลัพธ์ดังกล่าว จากวิธีการแบบนี้

และ ที่สำคัญ การ “จัดตั้ง” ให้ใครสักคนเป็น “สหาย” เราต้องสร้างความเป็นเพื่อนกับคนที่เป็นสหายเหล่านั้นด้วย ไม่ใช่แค่การนัดกันมาทำงานเป็นโปรเจคๆ แล้วต่างคนต่างแยกย้าย ถ้าเช่นนั้น อุดมการณ์และความตั้งใจก็จะค่อย ๆ เลือนไปตามกาลเวลา และ สายธารแห่งข้อมูลมหาศาลที่ผ่านตามนุษย์เราในทุกเมื่อเชื่อวัน..

อย่าปล่อยให้อัลกอริทึมหลอกว่าเราเป็นแค่ “สมองในโหลแก้ว” ได้สำเร็จ

ผมว่าเป็นเรื่องตลกร้ายอันเป็นผลมาจาก สภาวะแปลกแยก (Alienation) อย่างมาก ถ้าหากเราพบว่าในวันๆ นึง เรามีปฏิสัมพันธ์ด้านการคุย (?)การเมืองกับ “เกรียนอินเทอร์เน็ต” มากเสียยิ่งกว่าการคุยกับฝ่ายซ้ายด้วยกัน จริงๆ แล้วเราแค่เหงาเพราะไม่มีคนคุยเรื่อง “การเมือง” ด้วยกันกับเราในชีวิตประจำวันรึเปล่า ? จนเราต้องมาเสียเวลากับคนเหล่านี้เพื่อคลายเหงา ..

ดังนั้น สำหรับผมแล้ว “ การดีเบตทบนอินเทอร์เน็ต จึงไม่ใช่คำตอบสำหรับการจัดตั้ง” มันเป็นคำตอบของความเหงา มันเป็นคำตอบของการระบายอารมณ์ มันเป็นคำตอบของการตอบสนองแบบเฉียบพลันต่อคนเห็นต่าง หากแต่มันไม่ได้ทำให้ทั้ง “เขา” หรือ “เรา” ซ้ายขึ้น ไม่ได้ทำให้สหายของพวกเรามีความรู้ ความเข้าใจ หรือ แรงบันดาลใจมากขึ้น มันไม่ได้ทำให้สังคมก้าวหน้าขึ้น ..ต่อให้วันพรุ่งนี้ คนในกลุ่มสภาโรดิเซีย หรือ แมนมินิสต์ กลายเป็นซ้ายขึ้นมาพร้อมกัน คนเหล่านั้นก็เป็นแค่เกรียนออนไลน์ ที่ใช้ชีวิตอยู่ในห้องใต้ดินของผู้ปกครอง (living in parents basement) ที่แม้แต่การนัดกินเหล้ากับเพื่อนในชีวิตจริงให้ได้เกิน 3 คน ยังเป็นเรื่องยาก นับประสาอะไรกับการมาเป็นฝ่ายซ้าย ที่ require ภาคปฏิบัติ .. มันคุ้มค่าแค่ไหนที่เราจะเสียเวลากับคน “คุณภาพ” เหล่านี้

แทนที่จะเอาเวลาไปทำกลุ่มศึกษา, คุยแลกเปลี่ยนความรู้กับสหาย, อ่านหนังสือ หรือ ฟังพอดแคสต์, เขียนบทความ หรือ บทกวี

ซึ่งถ้าหากสหายลองคิดดูดี ๆ เผลอ ๆ การเอาเวลาไปดูหนังตลกไร้สาระ ยังมีประโยชน์กว่าเพราะเรายังได้ “ความบันเทิง” ในขณะที่การมาคร่ำเคร่งเอาจริงเอาจังกับคนเหล่านี้ สาระก็ไม่มี บันเทิงก็ไม่ได้

ผมในฐานะคนที่เคยเอาจริงเอาจังกับการดีเบตท ไม่ว่าจะเกรียนลิเบอรัล,เกรียนคอนเซอร์เวทีฟ,ศาสนิกชนงมงาย,มนุษย์ลุงป้าชาวสลิ่ม,คลาสิคลิเบอรัล,นีโอลิเบอรัล ฯลฯ แล้วต่อมาก็ได้ตาสว่างว่ามันเป็นการกระทำที่ ไม่ได้ผิดศีลธรรมอะไร แต่ก็ไม่ได้สร้างประโยชน์ จึงอยากมาบอกสหายวัยรุ่น ที่มีความเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาหน่อยนึง ว่าให้ค่อยๆ ช่วยกันเตือนเพื่อน ๆ ว่าให้คิดทบทวนในวิถีเหล่านี้ดู

เวลาของสหายทุกคนมีจำกัด อย่างน้อยถ้าไม่ได้ใช้ไปเพื่อการปฏิวัติ ก็เสียมันให้กับการพักผ่อน & พัฒนาตัวเอง

ดีกว่าเสียให้กับคนที่ไม่คู่ควร

ด้วยความเคารพและปรารถนาดีจาก

“Comrade Sinkin” 22/4/2022