ปัญหาเรื่องทฤษฎีและการปฏิบัติเป็นปัญหาที่สำคัญมากในหมู่ฝ่ายซ้าย เพราะตรงข้ามกับฝ่ายขวา นักสังคมนิยมจะพยายามทำความเข้าใจสังคมก่อนที่จะลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลง กล่าวสั้น ๆ ก็คือ ทฤษฎีคือการต่อยอดความเข้าใจว่าสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเรามีพลวัตอย่างไร โดยเฉพาะในระดับสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ในทางกลับกัน การปฏิบัติคือการกระทำไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตามที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งรอบข้าง ซึ่งจะอิงมาจากทฤษฎีหรือไม่ก็ได้

นักสังคมนิยมทุกเฉดล้วนล้มเหลว ปรับตัว ประสบความสำเร็จ และล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าในความพยายามที่จะยกระดับการต่อสู้ทางชนชั้นและการปลดปล่อย ความสำเร็จและความล้มเหลวเหล่านี้เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับใครก็ตามที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ก้าวพ้นไปจากระบบทุนนิยม แต่การจะทำเช่นนั้นได้ เราต้องวิเคราะห์สภาวการณ์ปัจจุบันของเราเองรวมไปถึงความพยายามเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอดีต (ทฤษฎี) และปฏิบัติตามทฤษฎีนั้น (การปฏิบัติ) องค์ประกอบทั้งสองอย่างนี้เกี่ยวร้อยกันเป็นแกนหลักของการก้าวไปสู่สังคมนิยม โดยทั้งสองจะพัฒนากันและกันอย่างต่อเนื่อง

เศรษฐศาสตร์การเมืองและการวิเคราะห์ชนชั้น

ทฤษฎีสังคมนิยมพิจารณาเงื่อนไขทางวัตถุอย่างละเอียดก่อนที่จะระบุ ผู้กระทำการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ (historical agent of change) (คนที่จะนำการปฏิวัติ) ในบรรดาสังคมอุตสาหกรรมของซีกโลกเหนือ (Global North) ผู้กระทำการเปลี่ยนแปลงมักถือกันว่าเป็นกรรมาชีพในเมืองที่ทำงานในโรงงาน นักเขียนอย่างมาร์กซ์มองว่า พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่สามารถโค่นล้มระบบทุนนิยมและพวกกระฎุมพีลงได้ คำกล่าวนี้ค่อนข้างแม่นยำ เช่นในการปฏิวัติรัสเซียปี ค.ศ. 1917 อย่างไรก็ดี ในขณะที่การปฏิวัติเกิดขึ้นในซีกโลกใต้ (Global South) ซึ่งส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นสังคมเกษตรกรรม คอมมิวนิสต์ก็มักจะถือกันว่า ชาวนาเป็นผู้กระทำการเปลี่ยนแปลงหลัก ๆ ในการปลดปล่อย เช่นในการปฏิวัติจีนเมื่อปี ค.ศ. 1949

ในทั้งสองกรณี มีการวิเคราะห์และชี้ให้เห็นถึงทฤษฎีการปฏิวัติ จากนั้นจึงมีการลงมือจัดการบริหารและเดินหน้าปฏิวัติ ซึ่งก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จเสมอไป เช่นในกรณีของการปฏิวัติรัสเซียที่ล้มเหลวในปี ค.ศ. 1905 อย่างไรก็ตาม นักปฏิวัติได้เรียนรู้จากความผิดพลาดเหล่านั้นและพัฒนาต่อยอดกลยุทธ์ของพวกเขา ทฤษฏีนำไปสู่การปฏิบัติ ตามมาด้วยทฤษฏีใหม่ นำไปสู่การปฏิบัติใหม่อีกที เป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ

ในขณะที่นักสังคมนิยมทุกเฉดล้วนแล้วแต่มีจุดหมายเดียวกัน นั่นก็คือสังคมไร้ชนชั้น ทว่าหนทางไปสู่สังคมที่ว่านี้ก็เต็มไปด้วยความขัดแย้งและทางตัน จะต้องมีการวิเคราะห์บทบาทของรัฐ ชนชั้นกลาง ลัทธิชาตินิยม รวมไปถึงศาสนา เพื่อพัฒนาทฤษฎีเกี่ยวกับอุปสรรคที่เข้ามาขัดขวางจิตสำนึกการปฏิวัติ ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของสิ่งเหล่านี้ในการผลิตซ้ำระบบทุนนิยมและจักรวรรดินิยม และสำคัญที่สุดก็คือ ยุทธศาสตร์เชิงปฏิบัติที่จะนำพาชนชั้นแรงงานและชาวนาเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าว

ความเข้าใจทางทฤษฎีเกี่ยวกับระบบทุนนิยมและระบบอาณานิคม ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นผ่านการสังเกต การค้นคว้า และการประยุกต์ใช้ร่วมกัน ถูกนำมาใช้จัดตั้งคนงานหรือชาวนาให้กลายมาเป็นกองกำลังทางการเมือง นักจัดตั้งและพรรคการเมืองสังคมนิยมชี้ให้เห็นถึงความแปลกแยกทางการเมืองและทางเศรษฐกิจที่คนงานและชาวนาต่างประสบอยู่ ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างสหภาพแรงงานและสภาที่ต้านทานการขูดรีดผู้คนและยกระดับผลประโยชน์ของพวกเขา ในประเทศลูกอาณานิคม ขบวนการชาตินิยมกลายมาเป็นจุดสนใจ โดยการขบถของชาวนาไม่สามารถโค่นล้มระบบศักดินาได้ และระบอบกษัตริย์กับชนชั้นแรงงานยังเพิ่งเริ่มก่อรูปก่อร่างเท่านั้น

กลยุทธ์และพันธมิตร

กลยุทธ์ในการจัดการบริหารแบบสังคมนิยมจะต้องคำนึงถึงการตัดสินใจอันยากเย็นเมื่ออยู่ในภารกิจ เมื่ออยู่ในการประจันหน้าทางสังคมใด ๆ ก็ตาม ต้องสามารถประเมินได้อย่างชัดเจนว่าใครคือพันธมิตรและใครคือศัตรู รวมไปถึงจุดอ่อนและจุดแข็งของพวกเขา ทฤษฎีช่วยให้สามารถประเมินได้ทั้งเรื่องการทำความเข้าใจและไกล่เกลี่ยผลประโยชน์ของพันธมิตร และชี้ให้เห็นถึงผลประโยชน์ของศัตรูด้วย ในความขัดแย้งทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกลุ่มก้อนพลังของฝ่ายเรามีจำนวนน้อยกว่าหรือมีอำนาจทางสังคมน้อยกว่า การทำงานร่วมกับองค์กรแนวเสรีนิยม แนวสายกลาง หรือแม้แต่แนวอนุรักษ์นิยมก็จำเป็นต้องผ่านการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน การรวมพันธมิตรที่ไม่ได้ผ่านการคิดหน้าคิดหลังอาจทำลายการเคลื่อนไหวหรือแม้กระทั่งทำให้พวกเขาติดคุกและถูกสังหารได้ เห็นได้จากการลุกฮือของกรรมกรและชาวนาในอดีตที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น ในสมัยศักดินา การลุกฮือของชาวนาจะได้รับการสนับสนุนจากเจ้าที่ดินที่เป็นคู่แข่งซึ่งอยู่ในพื้นที่อื่น ทั้งหมดก็เพื่อผลประโยชน์ของเจ้าที่ดินเหล่านั้นมากกว่าตัวชาวนาเอง

ทุกวันนี้ นักจัดตั้งแรงงานจะต้องชั่งน้ำหนักพลังและความสามารถของคนงานในการเริ่มและรักษากระแสการหยุดงานประท้วงหรือการดำเนินการทางอุตสาหกรรมเพื่อต่อต้านการลวงให้ตกลงปลงใจกับอะไรพื้น ๆ ตัวอย่างเช่น ในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน บางครั้งคนงานจำนวนมากเต็มใจที่จะประนีประนอมกับนายจ้างของตน ในขณะที่นักจัดตั้งที่ใช้ทฤษฎีนำเป็นหลักจะมุ่งมั่นผลักดันการดำเนินการทางอุตสาหกรรมต่อไป ตรงนี้เองที่เราจะเจอหนึ่งในความขัดแย้งมากมายของทฤษฎีและการปฏิบัติ ทฤษฎีสังคมนิยมบอกเราว่าจะไม่มีการประนีประนอมกับชนชั้นกระฎุมพี ทว่านี่อาจขัดแย้งกับความเร่งด่วนในการบรรเทาความทุกข์ยากของชนชั้นกรรมาชีพ ในกรณีนี้ คนงานในโรงงานจะเต็มใจประนีประนอมกับนายจ้างกระฎุมพีเพื่อให้ได้กลับไปทำงานและมีรายได้ให้เร็วที่สุด แม้เราจะตีความตามทฤษฎีว่า คนงานมีศักยภาพที่ไม่ใช่แค่การเรียกร้องในสิ่งที่ดีกว่า แต่รวมไปถึงการยึดปัจจัยการผลิตทั้งหมดก็ตาม ท้ายที่สุดแล้ว ทฤษฎีและการปฏิบัติเป็นเรื่องของการรอมชอมทั้งสองสิ่งเข้าด้วยกัน นั่นก็คือ ศักยภาพทางทฤษฎีในการปลดปล่อยและความเป็นจริงในทางปฏิบัติของการจัดการการปลดปล่อยดังกล่าว

ลัทธิยึดคัมภีร์และการปรับใช้กับสภาพท้องถิ่น

แม้อุดมการณ์วัตถุนิยมจะมีพื้นฐานที่หยั่งรากมาอย่างดี ทว่าบางครั้งเราเองก็อาจจะยึดติดกับคำพูดของมาร์กซ์ เลนิน ทรอตสกี้ หรือนักเขียนคนอื่น ๆ มากไปเหมือนกับว่าพวกเขาเป็นศาสนา เหมือนกับสาวกของศาสนาที่มีคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ คำกล่าวจากเมื่อ 100 ปีที่แล้วอาจถูกนำมาสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำของปัจจุบัน ในกรณีของมาร์กซ์ สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักว่า เขาวิเคราะห์สภาพสังคมของอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนีเป็นหลัก การตีความของมาร์กซ์ไม่ว่าจะถูกหรือผิดก็ล้วนแต่เป็นบ่อเกิดของการต่อสู้และความแตกแยกมากมายในขบวนการสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ นักมาร์กซิสต์จำนวนมากในปัจจุบันยังคงต่อสู้ทางความคิดด้วยความที่ว่ามาร์กซ์ได้ทำพลาดเนื่องจากข้อมูลที่มีอยู่เพียงจำกัดหรือไม่ก็เป็นเพียงการวิเคราะห์ที่ผิดพลาด นอกจากนี้ ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบทุนนิยมของพวกเราก็ได้พัฒนาต่อยอดมาจากยุคสมัยของเขาด้วย และเราจะต้องพัฒนาทฤษฎีควบคู่ไปกับการปฏิบัติให้เหมาะสมกับบริบทเฉพาะของเรา

ชัยชนะของการปฏิวัติรัสเซียและการก่อตั้งสหภาพโซเวียตได้เปิดประตูไปสู่การแช่แข็งทฤษฎีและการปฏิบัติในรูปแบบใหม่ ๆ สหภาพโซเวียตภายใต้การนำของสตาลินได้เริ่มปรับเปลี่ยนทฤษฎีให้เข้ากับประสบการณ์การปฏิวัติและเข้ากับสังคมใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมา พรรคคอมมิวนิสต์หลายพรรคก็ดำเนินตามแนวทางโซเวียต ซึ่งส่งผลให้พวกเขาสูญเสียความนิยมในหมู่ผู้ถูกกดขี่เนื่องจากพวกเขาพยายามนำทฤษฎีและการปฏิบัติในบริบทของรัสเซียมาใช้กับพื้นที่ของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในซีกโลกใต้ (Global South) มีการถอดแบบไปใช้แบบเหมือนกันเป๊ะ ๆ บางครั้งก็แทบไม่ได้คำนึงถึงสภาพท้องถิ่นของตัวเอง เหมือนที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยนำลัทธิเหมาของจีนมาใช้ แม้กระทั่งหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายและคอมมิวนิสม์ในยุโรปล้มเหลว นักสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์จากซีกโลกเหนือทุกวันนี้ก็ยังคงวิเคราะห์และวางยุทธศาสตร์โดยไม่ได้ยึดโยงกับสภาพความเป็นจริงของซีกโลกใต้เลย

การนำทฤษฎีไปปฏิบัติ

ทุกวันนี้ หลาย ๆ สังคมดำรงอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านภายใต้บริบทระบบทุนนิยมโลกอันใหญ่ โดยในแต่ละพื้นที่ก็มีการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมกันและมีความขัดแย้งในท้องถิ่น บางแห่งมีทุนนิยมและระบอบกษัตริย์ไปพร้อม ๆ กัน บางแห่งมีความสัมพันธ์แบบกึ่งศักดินาในชนบทและมีทุนนิยมในเมือง ทั้งหมดนี้จะสื่อว่า ระบบทุนนิยมในแต่ละสังคมมีลักษณะเฉพาะของแต่ละสังคม ทฤษฎีที่พัฒนาขึ้นเพื่อต่อกรกับระบบก็ควรต้องมีลักษณะเฉพาะสำหรับแต่ละสังคมเช่นกัน แน่นอนว่าจะต้องพิจารณาลักษณะกว้าง ๆ บางอย่างอย่างเมื่อวิเคราะห์ระบบทุนนิยมซึ่งเป็นระบบโลกอันใหญ่ แต่ลักษณะเฉพาะของแต่ละท้องถิ่นก็สำคัญต่อการวางยุทธศาสตร์สังคมนิยมในแต่ละสังคมเช่นกัน

การพัฒนาทั้งทฤษฎีและการปฏิบัตินั้นจำเป็นอย่างมากสำหรับนักสังคมนิยมทุกเฉด แต่สิ่งสำคัญคือจะต้องตระหนักไว้ว่า ทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติต่างก็เป็นพื้นฐานของกันและกันเสมอ ทฤษฎีหรือการปฏิบัติ สิ่งใดจะมาก่อน ก็ขึ้นอยู่กับความเร่งด่วนของช่วงเวลาและความรู้สึกของมวลชนที่จะลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลง