ไม่ว่าคุณจะขับรถไปที่ไหนก็ตามในประเทศไทย คุณก็จะเห็นสิ่งเหล่านี้อย่างไม่รู้จบ นั่นก็คือ ธง จิตรกรรมภาพเหมือน จิตรกรรมฝาผนัง และรูปปั้นที่ยกย่องสรรเสริญและบังคับใช้อัตลักษณ์ไทย เช่นเดียวกัน ถ้าคุณเปิดโทรทัศน์หรือวิทยุ หรือเข้าไปในวัดใดก็ตาม คุณก็จะเห็นภาพของราชวงศ์ที่ประดับประดาไปด้วยดอกไม้ ซึ่งเชื่อมโยงชีวิตทางศาสนาและจิตวิญญาณของไทยเข้ากับสถาบันพระมหากษัตริย์และรัฐอย่างชัดเจน
เว็บไซต์รัฐบาลและเว็บไซต์ธุรกิจเอกชนในเดือนพฤษภาคมปี ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562) ล้วนเต็มไปด้วยป๊อปอัปฉลองวันราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัววชิราลงกรณ์ ขณะที่ในเดือนกรกฎาคม พวกเขาก็ทำแบบเดียวกันเพื่ออวยพรวันเกิดให้เขา ถ้าคุณกำลังมองหาอัตลักษณ์ใดก็ตามที่มาจากชาตินิยมทั่วทุกมุมโลก ประเทศไทยน่าจะเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ดี เพราะประเทศไทยเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นประเทศชาตินิยมที่เข้มข้นและเคร่งครัด
เช้าวันจันทร์นี้ ฉันเดินย่างกรายอยู่ในกรุงเทพฯ ก็เห็นคนจำนวนมากสวมเสื้อเหลืองกันเต็มไปหมด สีเหลืองเป็นสีประจำราชวงศ์ เอาไว้สวมใส่ในวันจันทร์ เนื่องจากทั้งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และพระราชโอรส พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประสูติในวันจันทร์ เพลงชาติจะเล่นตามลำโพงที่ติดตั้งอยู่ในพื้นที่สาธารณะวันละสองครั้ง เวลา 8 โมงเช้าและ 6 โมงเย็น ขณะที่ผู้สัญจรไปมาจะยืนนิ่งและนักวิ่งเหยาะ ๆ จะหยุดวิ่งเพื่อเป็นการทำความเคารพเพลงชาติทั้งสองครั้งทุกวัน เนื้อร้องท่อนแรกของเพลงดังขึ้นมา “ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย”
ปริมาณของความเป็นชาตินิยมรายวันที่เกิดขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อนมีไว้เพื่อจุดประสงค์เดียว นั่นคือ เพื่อบังคับใช้อัตลักษณ์ความเป็นไทยและเชื่อมโยงสิ่งนี้เข้ากับรัฐ เพื่อให้ความเป็นไทย (being Thai) เป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาติไทย อย่างไรก็ตาม แผนการใหญ่นี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย อันที่จริงแล้ว มันคือการโต้กลับและโจมตีโดยตรงต่อประวัติศาสตร์อันยาวนานของการต่อต้านรัฐที่เกิดขึ้นในเขตแดนของประเทศไทยเอง

ภาพนิ่ง จากรายการโทรทัศน์ประจำวันของนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา
“เราพยายามที่จะไม่เป็นคนไทย”
ไกลจากกรุงเทพฯ ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งลึกเข้าไปในภูเขาทางตอนเหนือ เธอนั่งอยู่กับเพื่อนและบอกฉันอย่างตรงไปตรงมาว่า “เราไม่ใช่คนไทย และเราก็พยายามที่จะไม่เป็นคนไทย บางครั้งฉันก็พบว่า ตัวเองกำลังคุยกับครอบครัวโดยใช้ภาษาไทย และฉันก็ครุ่นคิดขึ้นมาว่า ไม่ดีกว่า เราพยายามเป็นลีซูสิ” เพื่อนคนนี้เป็นสมาชิกของชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีชนกลุ่มน้อยเช่นนี้อยู่จำนวนมากในประเทศไทย ในกรณีนี้ก็คือชาวลีซู เราสามารถพบชาวลีซูอาศัยอยู่ทั่วเนินเขาทางตอนเหนือของประเทศไทย ลึกเข้าไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของพม่าและทางตอนใต้ของจีน พวกเขาเป็นคนไร้รัฐ (stateless) ที่มีภาษา วัฒนธรรม ศาสนา และแนวปฏิบัติเป็นของตนเอง ซึ่งแตกต่างจากรัฐชาติที่ล้อมรอบพวกเขาโดยสิ้นเชิง
ในหนังสือที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2009 (พ.ศ. 2552) ชื่อว่า ศิลปวิถีของการไม่ถูกปกครอง (The Art of Not Being Governed) ซึ่งเขียนโดยนักมานุษยวิทยานามว่า เจมส์ ซี. สกอตต์ (James C. Scott) เขาได้ชี้ให้เห็นว่า ความจริงแล้ว ชาวลีซูและชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ที่อยู่ในพื้นที่สูงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีวัฒนธรรมต่อต้านรัฐ พวกเขามีวัฒนธรรมและภาษาที่ลื่นไหล ไม่มีตัวอักษร และมีวิถีชีวิตแบบกึ่งเร่ร่อน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการตอบโต้เพื่อหลีกหนีจากรัฐที่ตั้งอยู่ในหุบเขาที่พยายามจะกดพวกเขาลงเป็นผู้อยู่ใต้อาณัติ สกอตต์เสนอว่า ทั้งชีวิตของพวกเขา พวกเขาได้พยายามอย่างมากที่จะทำให้ตัวเองเป็นประชากรที่ไม่มีใครสามารถเอาชนะได้ (ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม)
ถัดจากเราลงไปในถนน เข้าไปในหมู่บ้านมีสำนักงานรัฐบาลท้องถิ่นที่เพิ่งสร้างขึ้นเมื่อยี่สิบปีก่อนนี่เอง มันเป็นครั้งแรกที่มีการปกครองแบบทางการปรากฏขึ้นมาในชีวิตของคนท้องถิ่นในชุมชนนี้ เพื่อนของฉันบอกว่า “ตอนที่ฉันยังเป็นเด็ก เราไม่มีโรงพยาบาล ไม่มีโรงเรียน ไม่มีรัฐบาล”
ทุกวันนี้ สำนักงานถูกปกคลุมไปด้วยธงและภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สดุดีสถาบันกษัตริย์และรัฐชาติ คนที่ทำงานในสำนักงานก็ไม่ใช่คนในท้องถิ่น แต่เป็นคนไทยที่ถูกมอบหมายให้มาปกครองชาวลีซู เช่นเดียวกันกับครูในโรงเรียนรัฐบาลท้องถิ่น คนเหล่านี้เป็นข้าราชการไทยที่ได้รับมอบหมายให้มาสอนหลักสูตรประจำชาติ นอกจากนี้ยังมีความพยายามอย่างไม่ลดละที่จะสร้างวัดวาอารามแบบพุทธในพื้นที่ห่างไกลเหล่านี้ ซึ่งจะมาต่อเติมและในท้ายที่สุดจะมาแทนที่ความเชื่อทางจิตวิญญาณของคนในท้องถิ่นที่ยึดถือและปฏิบัติ
อำนาจอ่อนและอำนาจแข็ง
การขยับขยายตัว ของรัฐนี้เป็นแผนที่ชัดเจนและเปิดเผย เป็นแผนที่คิดขึ้นโดยรัฐบาลกลางในกรุงเทพฯ ซึ่งเดิมทีมาจากนโยบาย “การทำให้กลายเป็นไทย” (Thaification) ในศตวรรษที่ 20 โดยเป็นกระบวนการที่เริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1933 (พ.ศ. 2476) หลังจากที่ราชอาณาจักรสยามกลายมาเป็นราชอาณาจักรไทย โดยมีเผด็จการ ป. พิบูลสงคราม ให้การสนับสนุน นี่เป็นการยกเครื่องครั้งใหญ่ของชาตินิยมในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับปัจเจกบุคคล นโยบายเด่น ๆ ได้แก่ การบังคับใช้ภาษาไทยในระบบการศึกษาอย่างเข้มงวด เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชน และออกบัญญัติค่านิยมหลักสิบสองประการ (Twelve Core Values) ซึ่งเป็นแนวทางที่มีความเป็นชาตินิยมอย่างเข้มข้น เป็นหลักประพฤติปฏิบัติ วิถีชีวิต และจรรยาบรรณแบบ ‘ไทย’ ในอุดมคติ
นโยบายเหล่านี้สามารถพบได้ในระบบการศึกษาของไทยในปัจจุบัน ซึ่งหลักสูตรสังคมศึกษาวนเวียนอยู่กับความเป็นเลิศของไทย ประวัติศาสตร์แบบไร้พิษภัย และเน้นถึงความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างกวดขัน ทุก ๆ วันโรงเรียนไทยทุกแห่งจะมีพิธีชักธงขึ้นสู่ยอดเสา ซึ่งจะมีการร้องเพลงชาติและชักธง นอกจากนี้ หลักปฏิบัติทางศาสนาของไทยกระแสหลักยังถูกรวมเข้าไปในชีวิตประจำวันของโรงเรียนอย่างฝังรากลึก โดยพระสงฆ์มีบทบาทอย่างแข็งขันในกิจวัตรประจำวันของโรงเรียน
ในส่วนของทางตอนเหนือของประเทศ หนึ่งในอาวุธที่มีประสิทธิภาพที่สุดของรัฐก็คือโครงการในพระราชดำริ ซึ่งเดิมทีก่อตั้งขึ้นในปลายทศวรรษที่ 1960 โดยเป็นวิถีทางในการแทนที่ฝิ่นที่ปลูกบนเนินเขาโดยชนกลุ่มน้อยด้วยพืชผักและผลไม้ ในช่วงแรก โครงการได้รับทุนและการสนับสนุนจากสหประชาชาติ เช่นเดียวกับการปลูกพืชทดแทน ประโยชน์และผลพลอยได้คือเพื่อดึงชนกลุ่มน้อยเข้าหากิจกรรมของรัฐไทย เพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขาถูกดึงเข้าสู่การค้ายาเสพติดหรือเข้าร่วมการลุกฮือของคอมมิวนิสต์ซึ่งในขณะนั้นกำลังปะทุไปทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกเหนือไปจากแนวทางการใช้อำนาจอ่อนเช่นนี้ ยังมีความพยายามอื่น ๆ ในการเพิกถอนสิทธิของชนกลุ่มน้อยในช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งคนเวียดนามจำนวน 45,000 คนจากนครพนมกลับประเทศในปี ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) ซึ่งรัฐบาลกรุงเทพฯ ถึงกับสั่งห้ามการแต่งกายด้วยกางเกงสไตล์เวียดนามโทนสีดำ นอกจากนี้ยังมีแนวร่วมทหารต่อต้านการลุกฮือของคอมมิวนิสต์ในจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น น่าน เลย ซึ่งกลุ่มผู้ลุกฮือจำนวนมากได้รับการสนับสนุนและประกอบไปด้วยชาวเขาม้ง (Hmong mountain people) ลูกชายคนหนึ่งของอดีตทหารคอมมิวนิสต์ชาวม้งบอกฉันเมื่อตอนไปน่านว่า “เราแพ้สงคราม แต่เราก็ยังคงพยายามและทำสิ่งต่าง ๆ ในแบบของเราที่นี่”
อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ ส่วนที่ยังคงหลงเหลืออยู่ก็มีเพียงแค่สถานีของโครงการในพระราชดำริซึ่งพบได้ทั่วไปในเนินเขา โดยหลายแห่งใช้เป็นที่แวะพักสำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยที่มาจากเขตเมือง คล้าย ๆ กับสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อช่วยให้คนไทยภาคกลางคุ้นเคยกับแดนไกล ในเนินเขา ด่านชั้นนอกตอนนี้ในทางเทคนิคมีจุดประสงค์เพื่อการวิจัยและพัฒนาการเกษตร
ผลผลิตทางการเกษตรถูกขายให้กับบริษัทที่ดำเนินการโดยรัฐซึ่งจัดจำหน่ายไปทั่วราชอาณาจักร ดังนั้นไม่ว่าจะจงใจหรือไม่ก็ตาม สิ่งนี้ได้ทำให้ชาวบ้านต้องพึ่งพิงอยู่กับรัฐในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ด้วยวิธีการเหล่านี้ ด่านชั้นนอกจะทำหน้าที่เป็นแหล่งอำนาจอ่อนให้กับรัฐบาลกลางอย่างต่อเนื่อง เพื่อเอาอกเอาใจคนในพื้นที่และดึงพวกเขาเข้าหารัฐชาติ
การลุกฮือที่มีชีวิต
วัฒนธรรมแบบเดียวกับการต่อต้านรัฐที่ชนกลุ่มน้อยในภาคเหนือแสดงออกมานั้นสามารถพบได้ในที่ ๆ ห่างไกลจากเนินเขาทางเหนือเช่นกัน นั่นคือ ผู้อยู่อาศัยที่รับใช้ประเทศไทยมานานที่สุด คือชาวมานิคที่อาศัยอยู่ในทางตอนใต้สุดของประเทศนั่นเอง ชาวมานิคเป็นนักเก็บของป่าล่าสัตว์ผู้เร่ร่อน พวกเขามีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง และไม่มีตัวอักษรเช่นเดียวกับชาวลีซู
แต่แตกต่างจากชาวลีซูตรงที่ชาวมานิปฏิเสธทุกแง่มุมของความเป็นสมัยใหม่ (modernity) เพื่อดำรงชีวิตแบบที่มีความดั้งเดิมกว่ามาก แม้แต่ทุกวันนี้ พวกเขาก็อยู่ได้โดยไม่มีไฟฟ้า ที่อยู่อาศัยถาวร หรือสิ่งล่อตาล่อใจใด ๆ ของวิถีชีวิตสมัยใหม่ พวกเขาหาอาหารจากการล่าสัตว์โดยใช้ลูกดอกอาบยาพิษหรือไม่ก็หาอาหารกินในป่า ตอนฉันใช้เวลาอยู่กับชาวมานิคเมื่อสองปีที่แล้ว หนึ่งในชาวมานิคพูดกับฉันอย่างตรงไปตรงมาว่า “พวกเขา (รัฐบาลไทย) อยากให้เราลงหลักปักฐาน ปลูกอาหาร ไปโรงเรียนของพวกเขา และเป็นเหมือนพวกเขา เราไม่สามารถอยู่อย่างนั้นได้” นี่คือการต่อต้านรัฐขนานแท้ นี่คือการปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมในอารยธรรมใด ๆ ก็ตามที่ได้ตั้งรกรากอันมาพร้อมกับอำนาจซึ่งจะเข้ามาแทนที่การควบคุมของพวกเขาเอง

เด็ก ๆ ชาวมานิคยืนอยู่นอกบ้านค่าย บนเนินเขาของจังหวัดสตูล ประเทศไทย
แม้กระนั้น เหนือกระท่อมป่าชั่วคราวของชาวมานิคก็ปรากฏมีธงอยู่สองผืน ธงชาติไทยหนึ่งผืน และธงราชวงศ์ไทยอีกหนึ่งผืน ธงเหล่านี้ถูกติดตั้งโดยชาวมานิคเอง มีไว้เพื่อแสดงออกถึงความสุจริตใจต่อเจ้าของไร่และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติที่คุกคามพวกเขามานานหลายทศวรรษ
ไม่ไกลจากบ้านป่าบรรพบุรุษของชาวมานิคมีพื้นที่ที่เป็นที่พักพิงของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มกบฏติดอาวุธกลุ่มสุดท้ายของประเทศไทยที่ยังเหลือรอดอยู่ กลุ่มชาติพันธุ์อิสลามชาวมาเลย์ได้ต่อสู้กับรัฐบาลไทยในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ทางภาคใต้ตอนล่างตั้งแต่ราวปี ค.ศ. 2001 (พ.ศ. 2544) สาเหตุของความขัดแย้งนั้นเกี่ยวข้องกับรัฐบาลกลางที่บังคับใช้กฎหมายไทยกับประชากรที่ต้องการอยู่อาศัยภายใต้กฎหมายชารีอะห์ของอิสลาม (Islamic Sharia Law) ปัจจุบันมีทหารไทยจำนวนมากเข้ามาในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตัวเมืองปัตตานีซึ่งมีลักษณะและให้ความรู้สึกราวกับว่าเป็นการยึดครองทางทหาร คนในพื้นที่คนหนึ่งบอกฉันเมื่อปีที่แล้วว่า “เราไม่ได้มีปัญหากับคนไทย สิ่งที่เรามีปัญหาด้วยคือรัฐบาลไทย” แม้ว่าประชากรกลุ่มนี้ไม่ได้ต่อต้านรัฐอย่างตรงไปตรงมา แต่ประชากรกลุ่มนี้ก็ต่อต้านรัฐไทยอย่างแน่นอน เนื่องจากในอดีต ภูมิภาคนี้ส่วนใหญ่ถูกยื่นข้อเสนอให้มีรัฐบาลอิสระของท้องถิ่นได้ แต่ต้องแลกกับการต้องอยู่ภายในเขตแดนไทยอย่างเป็นทางการ

นักศึกษาชาวมลายูใน จ.ยะลา ภาคใต้ของประเทศไทย เครดิตภาพ: UDEY ISMAIL/CC
สภาพเงื่อนไขทางภูมิศาสตร์และชนชั้น
ในงานของเขา ที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้ เจมส์ ซี. สก็อตต์ยังชี้ให้เห็นว่า หากกล่าวในเชิงประวัติศาสตร์ ตามสภาพเงื่อนไขทางภูมิศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การสร้างรัฐไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก เนื่องจากในฤดูฝนประจำปี ผู้ปกครองจะไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศได้เป็นเวลาหลายเดือน ทำให้พื้นที่เหล่านี้กลายเป็นเขตแดนที่ไม่มีใครยึดครองได้ หลาย ๆ พื้นที่ห่างไกลของประเทศเหล่านี้อาศัยสถาบันการปกครองของตนเองในการปกครอง และมีอัตลักษณ์บนพื้นฐานวัฒธรรมของตนเอง ด้วยเหตุนี้ พื้นที่เหล่านั้นจึงยังคงอยู่นอกขอบเขตทางวัฒนธรรมและการเมืองของรัฐบาลแบบรวมศูนย์ จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้
นับแต่นั้นมา รัฐสามารถเคลื่อนตัวเข้ามา และมันก็ทำเช่นนั้นโดยการใช้กำลัง ดำเนินการใช้วิสัยทัศน์ของตนเองในการปกครอง ดูดซับกลุ่มต่าง ๆ เข้ามา และจัดหาอัตลักษณ์ทางเลือกแก่ปัจเจกบุคคลให้สัมพันธ์กับตัวรัฐ
ทว่า แทบจะทุกภูมิภาคในประเทศไทยเอง เราก็ยังสามารถเห็นหลักฐานที่บ่งชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ตามประวัติศาสตร์แล้ว รัฐไม่สามารถเอื้อมมือเข้ามาได้ทั้งหมด แม้แต่จังหวัดที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ก็ยังมีสำเนียงถิ่นหรือแม้แต่ภาษาที่มีความเฉพาะตัว ตัวอย่างเช่น คนชนบทจำนวนมากในหลายจังหวัด เช่น สุรินทร์ ซึ่งห่างไกลจากเนินเขาทางเหนือ และห่างจากกรุงเทพฯ 450 กิโลเมตรในพื้นที่ราบทางภาคตะวันออกของประเทศไทย พูดได้ถึง 4 ภาษา ได้แก่ เขมร ลาว สุรินทร์ และไทย นอกเหนือจากภาษาแล้ว ชาวสุรินทร์ยังมีหลักปฏิบัติทางศาสนาและจุดอ้างอิงทางวัฒนธรรมเป็นของตนเอง ซึ่งไม่พบในวัฒนธรรมไทยกระแสหลัก ชุมชนเหล่านี้อาศัยอยู่เพื่อเป็นเครื่องพิสูจน์ว่ามันมีประเทศไทยก่อนที่จะมีความเป็นไทย เป็นสถานที่ที่อุดมไปด้วยความหลากหลายและถูกผูกเรียงไว้ด้วยความแข็งแกร่งของชุมชนในด้านอัตลักษณ์และวิถีชีวิตท้องถิ่น
สุรินทร์เป็นส่วนหนึ่งของภาคอีสานที่กว้างขวางยิ่งกว่า นอกเหนือจากการเป็นชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยในลาวแล้ว ภูมิภาคนี้ยังเป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องความโกลาหลเมื่อเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองระดับชาติ ภูมิภาคนี้ยากจนกว่าและมีการพัฒนาน้อยกว่าส่วนอื่น ๆ ของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งมีทั้งการลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลในการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ที่ล้มเหลว ซึ่งดำเนินไปตลอดครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 อย่างไรก็ตาม อัตลักษณ์ลาวในท้องถิ่นถูกผนวกเข้ากับอัตลักษณ์ทางชนชั้นอย่างเข้มข้นเนื่องจากสภาพเงื่อนไขทางวัตถุที่ผู้คนที่นั่นได้ประสบ
ปัจจุบันภูมิภาคนี้ทำหน้าที่เสมือนเป็นฐานของ “คนเสื้อแดง” ซึ่งเป็นขบวนการทางการเมืองฝ่ายซ้ายแบบประชานิยมที่ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549) เพื่อตอบโต้การรัฐประหารขับไล่นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ขบวนการนี้เป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องความสามารถในการระดมชาวนาในชนบท คนเสื้อแดงประสบความสำเร็จในการยึดครองใจกลางกรุงเทพฯ หลายครั้ง ต่อสู้กับกลุ่ม “คนเสื้อเหลือง” ที่เป็นนักชาตินิยมต่อต้านการประท้วงตามท้องถนน แม้ว่าคนเสื้อแดงมักถูกกล่าวหาว่าต่อต้านสถาบันกษัตริย์ พวกเขาก็เหมือนขบถที่ลุกฮือในปัตตานีที่ไม่จำเป็นต้องต่อต้านรัฐ แต่ความฝักใฝ่ของพวกเขาก็บ่งชี้ถึงอุดมการณ์ที่ชัดเจนในการต่อต้าน ‘รัฐไทยดังที่มันดำรงอยู่ทุกวันนี้’ ซึ่งดังที่เราได้กล่าวถึงว่าเป็นรัฐไทยที่ฝักใฝ่ในลัทธิชาตินิยมซึ่งนำโดยกรุงเทพฯ
ผลลัพธ์ของลัทธิชาตินิยม
สภาวะเงื่อนไขเหล่านี้ ซึ่งมีอยู่ทั่วทั้งราชอาณาจักรช่วยอธิบายขอบเขต ความลึกตื้นหนาบาง และจุดประสงค์ของลัทธิชาตินิยมไทย ว่ามันเอื้อมไปถึงจุดไหนและบังคับใช้อย่างรุนแรงเพียงใด การมองลัทธิชาตินิยมอย่างไม่มีบริบทใดมารองรับคือการเห็นแค่ธงและภาพจิตรกรรมฝาผนังมากมายอย่างไม่จบไม่สิ้น แต่การที่จะเข้าใจมันอย่างถ่องแท้ เราต้องเข้าใจว่าทำไมธงถึงอยู่ที่นั่น ที่เป็นเช่นนั้นไม่ใช่เพราะวัฒนธรรมไทยมีแนวโน้มที่จะรักชาติ แต่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง หลายศตวรรษที่ผ่านมา วัฒนธรรมของประเทศไทยส่วนใหญ่ต่อต้านประเทศไทยเอง หรืออะไรก็ตามที่รัฐผู้ปกครองเป็นในขณะนั้น เช่น สิ่งที่มีมาก่อนประเทศไทยตามประวัติศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นอยุธยาหรือสุโขทัย
ลัทธิชาตินิยมในปัจจุบันมีจุดประสงค์เพื่อให้มีอัตลักษณ์ส่วนรวมแทนการมีอัตลักษณ์ของชุมชน การเมือง หรือตามชนชั้น ลัทธิชาตินิยมมุ่งหมายที่จะตัดข้ามเข้ามาแทนที่เงื่อนไขทางวัตถุหรือสภาพความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่น เพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งเดียวกันตามโครงการที่มุ่งเน้นอัตลักษณ์ตามรูปสัญญะทางวัฒนธรรมของชาติ เช่น ภาษาไทย ศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ ทหาร และธง ซึ่งทั้งหมดเชื่อมโยงกันและถูกบังคับใช้ผ่านการแสดงภาพความเป็นชาตินิยมอันฉูดฉาดและผ่านระบบการศึกษา สิ่งนี้ทำให้ชนชั้นปกครองสามารถวางกรอบตัวเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์เดียวกันกับชนชั้นแรงงานได้ ทำให้พวกเขาสามารถขัดขวางการต่อต้านใดก็ตามที่เน้นไปที่ความเชื่อต่อต้านรัฐหรือต่อต้านความเป็นไทย
แน่นอนว่า การต่อต้านเช่นนี้ยังคงดำรงอยู่ในรูปแบบต่าง ๆ ตั้งแต่ชาวลีซูทางตอนเหนือไปจนถึงชาวมานิทางใต้ ผู้คนในดินแดนนี้ใช้เวลาหลายศตวรรษ มากกว่าหนึ่งสหัสวรรษด้วยซ้ำ ในการหลีกเลี่ยงการถูกยึดครองทางวัฒนธรรมและการเมือง อย่างไรก็ตาม ด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ รัฐสามารถที่จะเอื้อมไปได้ไกลและลึกมากขึ้นกว่าเดิม รัฐสามารถเจาะทะลวงและเข้ายึดผู้คนและชุมชนที่เคยอยู่ไกลเกินเอื้อมมาตลอดได้แล้ว
บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกใน New Bloom Magazine
นี่เป็นการโพสต์ซ้ำโดยได้รับอนุญาตจากผู้เขียน