เรื่อง Djibo Sobukwe
คุณูปการอันโดดเด่นและสร้างสรรค์ของอาเม็ด ตูเร่ ต่อปรัชญาการต่อสู้ทางชนชั้น
อุดมการณ์แบบตูเร่ (Touréism) คือการผสมผสานหลาย ๆ แง่มุมของระเบียบวิธีแบบมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ ให้เข้ากับค่านิยมและศาสนาตามธรรมเนียมของแอฟริกา
“ไม่มีส่วนใดในชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรมของผู้คน ที่ทุนนิยมและลัทธิจักรวรรดินิยมไม่พยายามเข้าไปครอบงำ ทำให้กลายเป็นสินค้า และฉ้อฉล”
อาเม็ด เซคู ตูเร่ (Ahmed Sékou Touré) เป็นนักสังคมนิยม นักต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยม และผู้นำนักปฏิวัติในประเทศกินี การจัดการอย่างมีระบบแบบแผนและการเคลื่อนไหวของเขาเป็นปัจจัยชี้ขาดของการปฏิวัติสังคมนิยมในประเทศดังกล่าว และเขาได้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของกินีตั้งแต่ปี ค.ศ. 1958 ถึง ค.ศ. 1984 ตอนที่ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gaulle) เสนอให้กินีเข้าร่วมกับพันธมิตรฝรั่งเศส-แอฟริกา ตูเร่ก็บอกเขาว่า กินีอยากรักษาศักดิ์ศรีของตนให้อยู่ในอิสรภาพมากกว่าการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรจักรวรรดินิยมใหม่ เขากล่าวว่า “ในส่วนของเรานั้น มีความจำเป็นอย่างแรกที่จะขาดไปไม่ได้เลย นั่นก็คือ ความจำเป็นในศักดิ์ศรีของเรา ในตอนนี้ ไม่มีศักดิ์ศรีใดที่ปราศจากเสรีภาพ… เราต้องการเสรีภาพในความยากจนมากกว่าความร่ำรวยในความเป็นทาส”
มีตัวอย่างงานของตูเร่อีกมากมายในการเคลื่อนไหวทางการเมืองแนวฏิวัติแอฟริกาอื่น ๆ เช่น ในกานาและคองโก อย่างไรก็ดี จุดประสงค์ของบทความชิ้นนี้คือการเน้นความสำคัญของงานอันไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของเขา นั่นก็คือ งานเชิงทฤษฎี ในฐานะนักคิดสังคมนิยมแนวปฏิวัติที่โดดเด่นของแอฟริกาและซีกโลกใต้ เขาได้วางอุดมการณ์แห่งการปฏิวัติไว้ในบริบทของวัฒนธรรมและศาสนาอย่างลงตัว การผนวกรวมจินตภาพทางศาสนาเข้ากับหลักการสังคมนิยมอย่างมีเอกลักษณ์และแหลมคมของตูเร่ ซึ่งรวมไปถึงวัตถุนิยมประวัติศาสตร์วิภาษวิธีกับการต่อสู้ทางชนชั้น เป็นตัวอย่างหนึ่งจากหลาย ๆ ตัวอย่าง การผสานรวมแนวคิดดังกล่าวไม่เพียงทำให้เขาเป็นนักสังคมนิยมปฏิวัติเท่านั้น แต่ยังเป็นนักทฤษฎีและนักปฏิบัติของเทววิทยาแห่งการปลดปล่อยอีกด้วย
ธรรมชาติสองอย่างของมนุษย์: ประชาชน (The People) และผู้ต่อต้านประชาชน (the Anti-People)
สำหรับตูเร่ การต่อสู้ทางชนชั้นมีรากฐานมาจากแนวคิด ประชาชน (the People) ปะทะ ผู้ต่อต้านประชาชน (the Anti-People) ซึ่งเขากล่าวว่าเป็นธรรมชาติสองแบบของมนุษย์
เขาอธิบายแนวคิดดังกล่าวออกมาได้อย่างเห็นภาพดังนี้:
“สังคมคือการดำรงอยู่ของธรรมชาติสองแบบในชีวิต ธรรมชาติสองแบบที่เคลื่อนย้ายไปมาในความคิด การกระทำ พฤติกรรม และในทางเลือกของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม หรือวัฒนธรรม กล่าวอีกอย่างก็คือ มีธรรมชาติมนุษย์อยู่สองแบบในบรรดามวลมนุษย์และในคนแต่ละกลุ่ม เรามีประชาชนและผู้ต่อต้านประชาชน ซึ่งเป็นการต่อสู้ขับเคี่ยวกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุดระหว่างคนทั้งสองกลุ่ม นั่นคือการต่อสู้ทางชนชั้น”
กล่าวอย่างง่าย ๆ ก็คือ ประชาชนกำลังต่อสู้ทางชนชั้นอยู่เสมอไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ควาเม ตูเร่ (Kwame Toure) ผู้เป็นลูกบุญธรรมของตูเร่ เคยกล่าวว่า ลัทธิจักรวรรดินิยมพยายามทำให้เราคิดอย่างผิดศีลธรรมด้วยตรรกะที่แข็งทื่อ ดังนั้นการต่อสู้ทางศีลธรรมเพื่อนำทางการสร้างแอฟริกาขึ้นมาใหม่จึงมีความสำคัญ การต่อสู้ทางศีลธรรม การต่อสู้ระหว่างค่านิยมต่าง ๆ เป็นแนวแรกของการต่อสู้ เพราะมันเป็นส่วนประกอบพื้นฐานของการต่อสู้ทางอุดมการณ์ในทุก ๆ สังคม ไม่มีส่วนใดในชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรมของผู้คน ที่ระบบทุนนิยมและจักรวรรดินิยมไม่พยายามเข้าไปครอบงำ ทำให้กลายเป็นสินค้า และฉ้อฉล การครอบงำดังกล่าวทำให้การขูดรีดทางเศรษฐกิจดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง และสถาบันทางศาสนาหรือจิตวิญญาณของพวกเราเองก็ไม่รอดพ้นจากการครอบงำดังกล่าวเช่นกัน
เมื่อเข้าใจธรรมชาติทางจิตวิญญาณของผู้คน ทุนนิยมก็ให้ความสนใจเป็นพิเศษกับการทำลายธรรมชาติทางจิตวิญญาณโดยอัดฉีดเงื่อนไขทางจิตวิทยาเพื่อทำให้เกิดอาการอัมพาตทางวัฒนธรรม ดังนั้นศาสนาก็ไม่ต่างแง่มุมอื่น ๆ ของวัฒนธรรม นั่นคือนำมาใช้ในการปฏิวัติหรือการโต้กลับการปฏิวัติได้พร้อม ๆ กัน มวลชนมักเรียกหาศาสนาในฐานะแนวทางทางศีลธรรมเพื่อต่อสู้กับความชั่วร้ายในทางจิตวิญญาณ อย่างไรก็ดี เพื่อที่จะชนะการต่อสู้ทางศีลธรรมกับชนชั้นกระฎุมพีและไม่เป็นเพียงวัตถุเชื่อง ๆ ของประวัติศาสตร์ การต่อสู้ทางชนชั้นนี้จะต้องดำเนินต่อไปในระดับที่สูงขึ้นและมีความตระหนักรู้ตัวมากขึ้น ซึ่งผสานรวมปริมณฑลทางจิตวิญญาณเข้ากับกับปริมณฑลทางการเมือง ทางวัฒนธรรม และทางเศรษฐกิจของชีวิต ตามอุดมการณ์แล้ว ตูเร่และ PDG (พรรคประชาธิปไตยแห่งกิวนี-แอฟริกา / Parti démocratique de Guinée – ผู้แปล) เสนออย่างชัดเจนว่า “การต่อสู้ทางชนชั้นมีหลายแง่มุม เกิดขึ้นทั่วโลก และทุกครั้งทุกคราว ผลประโยชน์ทางชนชั้นเป็นสิ่งที่มาก่อนและสำคัญที่สุด”
ลักษณะเชิงศิลป์ของทฤษฎีดังกล่าวคือการที่มันผสมผสานทฤษฎีการเมือง จริยธรรม และศาสนาที่ปฏิวัติเข้าด้วยกัน และด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ผู้คนมีความตระหนักรู้มากขึ้นถึงการต่อสู้ทางชนชั้นอันถาวรที่อยู่ภายในตัวของพวกเราทุกคน จึงเป็นการกล่าวถึงศัตรูที่อยู่ภายในด้วย ดังที่ตูเร่น่าจะกล่าวไว้ การต่อสู้นี้ไม่ได้ปรากฏออกมาแค่ในระดับคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมเท่านั้น แต่จะต้องรวมถึงการต่อสู้ในระดับจิตวิญญาณ นั่นคือ การต่อสู้ระหว่างความดีกับความชั่วด้วย ความเข้าใจในการต่อสู้ทางชนชั้นอย่างถ่องแท้นี้หมายความว่า การต่อสู้ดังกล่าวปรากฏออกมาในการกดขี่ทุกรูปแบบ จึงมีพื้นที่ให้กับการวิเคราะห์แบบตัดข้าม (intersectional analysis) ที่รวมถึงเชื้อชาติ เพศสภาพ และการกดขี่รูปแบบอื่น ๆ เนื่องจากทั้งหมดมีตัวส่วนของการต่อสู้ระหว่างความดีกับความชั่ว
การต่อสู้ทางชนชั้นอันแรงกล้า
คนแอฟริกันเป็นคนที่มีจิตวิญญาณ ด้วยเหตุนี้ ศาสนาและความเป็นจิตวิญญาณจึงมีบทบาทสำคัญในวิถีชีวิต กินีซึ่งประกอบไปด้วยมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ (มุสลิม 85%, คริสเตียน 8%, ความเชื่อแบบดั้งเดิม 7%) ก็เป็นประเทศหนึ่งที่เป็นเช่นนั้น ภูมิหลังนี้มีความสำคัญเนื่องจากมันเป็นภววิทยาแง่มุมหนึ่งของตูเร่และเป็นการเคลื่อนไหวของเขาซึ่งมีรากฐานมาจากความเชื่อที่ว่า พระเจ้าดำรงอยู่ และจักรวาลเป็นผลงานของพระเจ้าผู้รู้แจ้ง ผู้สถิตอยู่ทุกหนทุกแห่ง ผู้ไม่ปรากฏกายให้เห็น และผู้เป็นอมตะนิรันดร์
ในหนังสือ Revolution and Religion เล่มที่ 26 ตูเร่อธิบายว่า แม้ว่าการปฏิวัติกินีจะปฏิเสธแนวคิดวัตถุนิยมปรัชญา ซึ่งเป็นแนวคิดที่ปฏิเสธการมีอยู่ของพระเจ้าและบทบาทสำคัญของความคิดจิตใจ แต่การปฏิวัติดังกล่าวก็น้อมนำแนวคิดวัตถุนิยมประวัติศาสตร์วิภาษวิธีมาเป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์พื้นฐานในการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์และโลก นักมาร์กซิสต์ผู้ยึดติดคัมภีร์บางคนอาจมองว่า นี่คือความขัดแย้งที่ไม่อาจยอมรับได้ในทฤษฎีการปฏิวัติ แต่สำหรับตัวตูเร่เองแล้ว มันก็สมเหตุสมผลทั้งหมด และตามที่ผู้ยึดถือทุก ๆ คนเข้าใจ การต่อสู้ระหว่างความดีและความชั่ว คือการแสดงออกทางจิตวิญญาณของการต่อสู้ทางชนชั้น
ตูเร่กล่าวว่า การต่อสู้ระหว่างความดีกับความชั่วเป็นการต่อสู้อันถาวรท่ามกลางมนุษย์ฉันใด การต่อสู้ทางชนชั้นก็ย่อมเป็นการต่อสู้อันถาวรระหว่างมนุษย์ฉันนั้น โดยเป็นการต่อสู้ที่มีหลายรูปแบบและแตกต่างกันไปในเรื่องของความเข้มข้นและการแสดงออก เราอาจพึงระลึกไว้ว่า อัลมามี ตูเร่ (Almamy Touré) ปู่ทวดของตูเร่ เป็นวีรบุรุษผู้น่าจดจำ ผู้ต่อต้านลัทธิล่าอาณานิคมของฝรั่งเศสในปลายศตวรรษที่สิบเก้า เขาใช้ศาสนาอิสลามเป็นผนึกกำลังในการต่อสู้กับฝรั่งเศส ในขณะเดียวกัน การตระหนักว่า กินีเป็นรัฐโลกวิสัย (secular state) ก็เป็นสิ่งสำคัญดังที่ตูเร่ได้อธิบายไว้ว่า การกระทำของประชากรทั้งหมดที่นำไปสู่การก่อตั้งรัฐเป็นผลมาจากการรับรู้ทางการเมืองของเขา ไม่ได้เป็นผลมาจากหลักคำสอนทางศาสนา และเพราะพวกเขา… “ต้องการให้โลกวิสัยเป็นหลักประกันอิสรภาพในการรู้ผิดชอบชั่วดีของพลเมืองกินีหรือชาวต่างชาติทุกคน”
เผยแผ่การปฏิวัติไปรอบ ๆ ตัวคุณ ฝึกฝนตัวเอง และถ้าคุณเป็นคาทอลิกและยังคงเป็นต่อไป คุณก็จะเป็นคาทอลิกของการปฏิวัติที่ดีที่สุด ถ้าคุณเป็นมุสลิม และยังคงเป็นต่อไป คุณจะเป็นมุสลิมผู้เป็นต้นแบบของการปฏิวัติ หากคุณเป็นแอนิมิสต์ (ผู้ที่นับถือลัทธิผี-ผู้แปล) คุณจะเป็นแอนิมิสต์ผู้ซื่อตรงที่สุดในการปฏิวัติ ไม่ว่าคุณจะเลือกเส้นทางทางจิตวิญญาณแบบไหน ตราบใดที่มันไม่ใช่ปัญหาของโลกข้างหน้าหน้าอีกต่อไป แต่เป็นโลกที่จับต้องได้ของการต่อสู้อันถาวรนี้ คุณต้องรู้ว่า ความประพฤติและพฤติกรรมของคุณจะต้องถูกจัดระเบียบโดยการปฏิวัติ
ศักยภาพในการปรับตัว
การผนวกปรัชญาศาสนาเข้ากับหลักการสังคมนิยมของตูเร่ สามารถปรับให้เข้ากับความเชื่อทางศาสนาอื่น ๆ ได้ โดยผสานเข้ากับหลักการสังคมนิยมในแบบที่คล้าย ๆ กัน คำจำกัดความของการต่อสู้ทางชนชั้นซึ่งมีความเฉพาะตัวของเขาแสดงให้เห็นว่า การต่อสู้ทางชนเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ท่ามกลางมนุษย์ตลอดเวลา และเป็นสิ่งที่เริ่มขึ้นในฐานะการต่อสู้ทางจิตวิญญาณภายในระหว่างความดีกับความชั่ว เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในกระทั่งสังคมไร้ชนชั้น แนวคิดนี้ควรถูกขยับขยายให้ครอบคลุมถึงการวิเคราะห์แบบตัดข้าม ซึ่งไม่ได้นับรวมแค่การกดขี่ทางชนชั้น เชื้อชาติ และเพศสภาพเท่านั้น แต่รวมไปถึงการกดขี่กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ระบบชนชั้นวรรณะ และการกดขี่แบบอื่น ๆ ด้วย เช่น การกดขี่คนผิวเผือกที่ยังคงมีอยู่ในแอฟริกา อาวุธทางอุดมการณ์เหล่านี้สามารถปรับใช้กับทุกวัฒนธรรมได้ไม่ว่าในสังคมใด