ผู้เขียน Pathompong Kwangtong

เกริ่น

เนื่องด้วยสภาพการเมืองไทยในขณะนี้ (2020) อยู่ในช่วงวิกฤตประชาธิปไตยและการเถลิงอำนาจเถื่อนของชนชั้นปกครอง  podcast #Analysand ของเราจึงได้ชวนสหายจูเนียร์มาพูดคุยเรื่องภาวะอำนาจคู่ (Dual Power) ในรัสเซีย ซึ่งเป็นคำเรียกสถานการณ์ทางการเมืองอันมีลักษณะเฉพาะในรัสเซียที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ถึงตุลาคม 1917 และจบลงด้วยการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพเดือนตุลาคมอันรุ่งโรจน์แล้วสถาปนาสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตขึ้น (USSR: 1917-1991)  โดยในช่วงเวลานั้น มีองค์กรที่มีอำนาจทางการเมืองกึ่งๆ คานกันอยู่ 2 องค์กรคือสภาโซเวียตและคณะกรรมาธิการบริหารของโซเวียต (Soviet Executive Committee) กับรัฐบาลชั่วคราว (Provisional Government) ที่บริหารสาธารณรัฐรัสเซียในช่วงนั้น

การปฏิวัติเดือนตุลาคม 1917 ในรัสเซียเป็นกระบวนการทางประชาธิปไตยที่ต่อเนื่องยาวนาน การชี้ชัดจุดเริ่มต้นจุดใดจุดหนึ่งในประวัติศาสตร์นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้  เป้าหมายของบทความนี้จึงต้องการเกริ่นนำอย่างย่นย่อที่สุด เพื่อให้ผู้อ่านและผู้ฟังได้เข้าใจสถานการณ์ ความคิด และปฏิบัติการที่รายล้อมสิ่งที่เรียกว่า Dual Power เพื่อให้การศึกษาทำความเข้าใจและถอดบทเรียนไปใช้ได้ง่ายยิ่งขึ้น ทั้งนี้จะเขียนในรูปแบบแนะนำตัวละคร สถานที่ และลำดับเวลาตามระบบปฏิทินสมัยเก่าที่รัสเซียใช้กันในสมัยนั้น เพื่อให้ผู้อ่านฟัง podcast ได้อย่างราบรื่นมากยิ่งขึ้น

สถานที่สำคัญ

เปโตรกราด (Petrograd) หรือชื่อปัจจุบันคือ เซ็นต์ ปีเตอร์สเบิร์ก (Saint Petersburg)

เมืองหลวงศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร และการศึกษาที่สำคัญโดยเฉพาะยุคปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 ของจักรวรรดิรัสเซีย  สภาพเมืองขณะนั้นเต็มไปด้วยโรงงานอุตสาหกรรม ค่ายทหาร สถานศึกษา และพระราชวัง  เหตุการณ์สำคัญต่างๆ ของการปฏิวัติรัสเซียตั้งแต่ 1905 ถึง 1917 เกิดขึ้น ณ เมืองนี้

เหตุที่เมืองนี้เปลี่ยนชื่อบ่อย เป็นเพราะเหตุผลทางการเมือง แรกเริ่มก่อตั้งใช้ชื่อว่า เซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์ก เพื่อเป็นเกียรติแก่ซาร์ปีเตอร์มหาราช แล้วเปลี่ยนเป็นชื่อเปโตรกราดเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่รัสเซียอยู่ฝั่งตรงข้ามเยอรมัน เพราะชนชั้นปกครองของจักรวรรดิรัสเซีย ต้องการลบอิทธิพลของภาษาเยอรมันลงเนื่องจากชื่อเมืองมีความเป็นเยอรมันเกินไป ส่วนภายหลังจากที่เลนินเสียชีวิต เมืองนี้ก็ถูกเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็นเลนินกราด และสุดท้ายหลัง USSR ชื่อเมืองก็ถูกเปลี่ยนกลับไปเป็นเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์กเช่นเดิมจนถึงปัจจุบัน

มอสโคว (Moscow)

อดีตเมืองหลวงของราชอาณาจักรรัสเซียสมัยก่อน และเป็นเมืองหลวงของสหพันธรัฐรัสเซียในปัจจุบัน (2020) มีความสำคัญทางการเมืองใกล้เคียงกับเปโตรกราด แต่น้อยกว่าพอสมควร

ตัวละครสำคัญ

เลนิน (V.I. Lenin: 1870 – 1924)

ผู้นำอย่างไม่เป็นทางการของพรรคสังคมประชาธิปไตยแรงงานรัสเซียในส่วนที่แยกออกมาเป็นพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks) ชีวิตการปฏิวัติส่วนใหญ่ลี้ภัยอยู่ภายนอกรัสเซีย

ทร็อส์ตกี้ (Leon Trotsky: 1879 – 1940)

ผู้นำของสภาโซเวียตแห่งเปโตรกราดและคณะกรรมาธิการทหารปฏิวัติของสภาโซเวียตในเดือนตุลาคม 1917

สโตลิปิน (Pyotr Stolypin: 1906 – 1911)

นายกรัฐมนตรีของรัสเซียตั้งแต่ปี 1906 จนถึง 1911 มีบทบาทเบื้องหลังคำประกาศใช้อำนาจของซาร์ในสมัยรัฐธรรมนูญด้วยเหตุผลว่าซาร์มีอำนาจจากพระเจ้า จึงทำอะไรก็ได้

คาเรนสกี้ (Alexander Kerensky: 1881 – 1970)

ตัวแทนของพรรคสังคมนิยมปฏิวัติในรัฐบาลชั่วคราว อันเป็นพรรค ‘ฝ่ายซ้าย’ พรรคเดียวในรัฐบาลชั่วคราวขณะนั้น

คอร์นิลอฟ (Lavr Kornilov: 1870 – 1918)

ผู้นำทางการทหารฝ่ายปฏิปักษ์ปฏิวัติ ผู้พยายามนำทัพเข้ามารัฐประหารในเดือนสิงหาคม 1917 แต่พ่ายแพ้อย่างหมดรูปต่อขบวนการแรงงาน

ซาร์นิโคลัสที่ 2 (Nicholas II: 1868 – 1918)

กษัตริย์คนสุดท้ายของราชวงค์โรมานอฟ มีชีวิตในรัสเซียช่วงก่อนเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบสังคมนิยม

พรรคสังคมประชาธิปไตยแรงงานรัสเซีย (Russian Social Democratic Labour Party: RSDLP)

พรรคที่มีแนวอุดมการณ์ทางการเมืองตามลัทธิมาร์กซ์ ประชุมสมัชชาพรรคครั้งแรกเมื่อ 1898 มีวิวัฒนาการตามช่วงเวลาของการต่อสู้ แตกออกเป็นพรรคบอลเชวิคกับแมนเชวิค (Mensheviks) ในการประชุมสมัชชาครั้งที่สองเมื่อปี 1902 ซึ่งแปลว่าเสียงส่วนมากกับเสียงส่วนน้อยตามลำดับ ทั้งนี้การแตกพรรคไม่เคยเป็นไปอย่างเป็นทางการ เพียงแต่ในภาคปฏิบัติแนวทางการทำงานของบอลเชวิคเข้ากับรูปแบบการต่อสู้ของนักปฏิวัติในขบวนการแรงงานมากกว่า จนมีอิทธิพลต่อขบวนการแรงงานหัวก้าวหน้ามาก

พรรคสังคมนิยมปฏิวัติ (Socialist Revolutionary Party: SR)

พรรคที่สืบทอดแนวทางประชานิยม  (Narodniks) มีฐานเสียงเป็นกลุ่มชาวนา อุดมการณ์ไม่ได้รุนแรงก้าวหน้าตามชื่อ แตกออกเป็นทั้งฝ่าย ‘ซ้าย’ และ ‘ขวา’ แต่ยังอยู่ในพรรคเดียวกันตลอดมา มีอิทธิพลในสภาโซเวียตโดยเฉพาะนอกเปโตรกราดร่วมกับแมนเชวิค

ลำดับเหตุการณ์สำคัญ

1905

มีขบวนการเรียกร้องการปฏิรูปจากซาร์ในช่วงเดือนมกราคมโดยขบวนการแรงงานเพื่อปรับปรุงสภาพการทำงานและเรียกร้องรัฐสภา แต่เกิดมีการสังหารประชาชนโดยทหารของซาร์ ทำให้เกิดความปั่นป่วนระลอกแรกในสังคม มีการจัดตั้งสภาโซเวียตผู้แทนกรรมกรขึ้น (โซเวียตในภาษารัสเซียแปลว่าสภา) และขบวนการเคลื่อนไหวของชนชั้นแรงงานเข้มแข็งมาก จนซาร์ต้องยอมให้รัฐธรรมนูญและเกิดการปกครองแบบประนีประนอมในเวลาต่อมา เกิดองค์กรทางการเมืองอย่าง สภาดูม่า (Duma) ที่เป็นรัฐสภาของซาร์อันมีการเลือกตั้งโดยมีสัดส่วนระหว่างชนชั้นต่างๆ อย่างไม่เป็นธรรม และสภาโซเวียตรุ่นแรกก็หมดอำนาจไป

ทั้งนี้หลังจากการปฏิวัติ 1905 พรรคบอลเชวิคสามารถขึ้นมาดำเนินกิจกรรมทางการเมืองบนดินได้บางส่วน มีการรับสมาชิกใหม่เข้ามาเป็นจำนวนมาก ขบวนการประชาธิปไตยแรงงานเบ่งบาน

กระนั้นขบวนการของฝ่ายนายทุนและศักดินาก็กระชับพื้นที่การแสดงออกของกลุ่มแรงงาน มีการจับกุมและคุกคามฝ่ายซ้ายมากขึ้นเรื่อยๆ ตามเวลา และความพอใจของชนชั้นปกครอง

1914

เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งสร้างความตกใจแก่เลนินและทร็อส์ตกี้เป็นอย่างมาก ขบวนการเคลื่อนไหวของแรงงานระหว่างประเทศหยุดชะงักอย่างเป็นทางการหลังจากที่พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยของเยอรมันนีประกาศสนับสนุนสงครามเพื่อประเทศของตัวเอง  กรรมกรและชาวนาทั่วทั้งยุโรปถูกเกณฑ์เข้าทำหน้าที่รบเพื่อ ‘ประเทศ’ ตัวเอง  ความบัดซบทั้งหลายจากสงครามจึงเพิ่มความตึงเครียดให้กับขบวนการแรงงานมากขึ้น ทั้งภาวะขาดแคลนอาหาร เครื่องนุ่งห่ม การสูญเสียชีวิตและสภาพจิตใจ เป็นต้น

รัฐบาลของซาร์ใช้ข้ออ้างภาวะสงครามเพิ่มความโหดร้ายทารุณต่อขบวนการแรงงานและชาวนามากขึ้นไปอีก กระนั้นกระแสต่อต้านก็ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากขบวนการต่อสู้ของแรงงานและการต่อต้านจากทหารที่ไปรบในสงคราม

1917

กุมภาพันธ์ – มีนาคม

เกิดการเดินขบวนเริ่มต้นจากกรรมกรหญิงและลุกลามบานปลายจนหยุดไม่อยู่ทำให้ซาร์นิโคลัสที่ 2 ต้องสละราชสมบัติ แต่ไม่มีใครกล้ารับตำแหน่งต่อ และเกิดการปล่อยตัวนักโทษการเมืองจำนวนมาก ประชาชนต้องการสันติภาพ ขนมปัง และที่ดิน แผ่นป้ายสโลแกนของบอลเชวิคถูกชูขึ้นตามท้องถนนมากมาย เกิดการก่อตั้งสภาโซเวียตขึ้นมาอีกครั้ง และเกิดฝ่ายบริหารของสภาโซเวียตที่เสียงส่วนใหญ่เป็นพรรคแมนเชวิคและพรรคสังคมนิยมปฏิวัติขึ้นมา กระนั้นด้วยความประนีประนอม ฝ่ายบริหารของสภาโซเวียตได้โอนอำนาจการปกครองของตนไปให้รัฐบาลชั่วคราวที่ประกอบขึ้นจากพรรคฝ่ายขวาและกลางของพวกนายทุนเกือบทั้งหมด มีเพียงคาเรนสกี้คนเดียวที่ได้ชื่อว่ามาจากพรรคฝ่ายซ้าย

กระนั้นรัฐบาลชั่วคราวก็ไม่ได้มีอำนาจที่แท้จริง เนื่องจากชนชั้นกรรมาชีพใช้อำนาจผ่านสภาโซเวียต ซึ่งเป็นทั้งสภาทางตรงและมีตัวแทนเป็นปากเสียงให้พวกเขา จึงเกิดสภาวะที่รัฐบาลชั่วคราวไม่อาจปกครองได้อย่างแท้จริง ต้องอาศัยอำนาจรับรองจากสภาโซเวียตอยู่เสมอ กระนั้นสภาโซเวียตผู้แทนกรรมกร ชาวนา และทหาร ก็มีความล้าหลังต่อมวลชนและประนีประนอมเป็นหลัก

สภาพปฏิบัติการจริงในขณะนั้น กรรมกรและทหารจึงเป็นฝ่ายที่ก้าวหน้ามากที่สุด เช่นกระบวนการลดเวลาทำงานให้เหลือ 8 ชั่วโมง ก็เป็นไปได้ทันทีจากการที่แรงงานพร้อมใจกันเลิกงานเมื่อตนทำงานครบ 8 ชั่วโมงแล้ว (เหมือนดังเช่นที่ขบวนการนักเรียนเลวใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียนเองเลย) หรือนัดหยุดงานกันเอง เมื่อภาคปฏิบัติเกิดขึ้นสภาโซเวียตก็ต้องรับรองการกระทำนั้นในเวลาต่อมา และรัฐบาลก็ไม่มีอำนาจหยุดเรื่องเหล่านี้

เมษายน – กรกฎาคม

เลนินเดินทางเข้ารัสเซีย เรียกร้องให้ขบวนการแรงงานนำพาสังคมไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยขั้นสุด เรียกร้องให้สุดท้ายแล้วอำนาจต้องเป็นของสภาโซเวียต เพราะระบบอำนาจคู่เช่นนี้ไม่อาจดำรงอยู่ได้ถาวร แต่กระนั้นก็เน้นย้ำให้ระวังการซ้ำรอยเหตุการณ์ปารีสคอมมูน (1871) ที่เมืองก้าวหน้าถูกล้อมด้วยขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติของชนชั้นนำ อันทำให้เกิดความล่มสลายในเวลาต่อมา

ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่พรรคบอลเชวิคแตกกันอย่างมากมายมหาศาล แกนนำพรรคอย่างเป็นทางการไม่ชอบเลนินเป็นอย่างมาก ถึงขั้นประณามบทความของเลนินที่ตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ประจำพรรค (ขณะนั้นสตาลินซึ่งเป็นบรรณาธิการก็ร่วมแจมด้วย) หลายคนบอกว่าเลนินเป็นพวกอนาธิปัตย์ ซึ่งเป็นคำด่าอย่างร้ายแรงที่สุดในฝ่ายซ้ายสมัยนั้น (เพราะสื่อถึงความเป็นไปไม่ได้และเพ้อฝัน)

ทั้งนี้ขบวนการฝ่ายขวาก็จำต้องประนีประนอมด้วยเช่นกัน คาเรนสกี้ถูกนำออกสื่อและอยู่แนวหน้าของรัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อลดกระแสของฝ่ายซ้าย มีการจัดตั้งขบวนการยึดอำนาจขึ้นมา พร้อมกับประกาศว่าเลนินและพรรคบอลเชวิคเป็นข้าศึกฝั่งเยอรมันนี จนทำให้เลนินต้องหลบหนีลงไปใต้ดินและพรรคบอลเชวิคก็ต้องกลับไปทำงานใต้ดินอย่างเต็มตัวอีกครั้งในช่วงท้ายนี้

สิงหาคม – กันยายน

เกิดความพยายามรัฐประหารจากฝ่ายขวาเพื่อยุติระบบอำนาจคู่ขึ้นโดยคอร์นีลอฟ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะขบวนการแรงงานมีการจัดตั้งอย่างเป็นระบบ เกิดการทำลายขบวนการในทุกวิถีทาง ทั้งจากพนักงานการรถไฟสับรางรถไฟไม่ให้กองกำลังเข้าเมืองได้ พนักงานโทรเลขไม่ส่งโทรเลขสื่อสารให้ฝ่ายปฏิปักษ์ปฏิวัติ เป็นต้น และเริ่มเข้าสู่ขาลงของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติ

ตุลาคม

ระบบอำนาจคู่สิ้นสุดลงจากการที่พรรคบอลเชวิคและสภาโซเวียตผู้แทนกรรมกร ชาวนา และทหาร จัดตั้งคณะกรรมาธิการทหารเพื่อการปฏิวัติ (Military Revolutionary Committee) แล้วขับไล่รัฐบาลชั่วคราวไปเพื่อนำอำนาจเข้าสู่สภาโซเวียตอย่างแท้จริง และตั้งสภาผู้แทนประชาชน (Council of People’s Commissars: Sovnarkom) ขึ้นแล้วเปลี่ยนรัสเซียให้กลายเป็นสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตในเวลาต่อมา

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

  • บทความจากเว็บไซต์กลุ่มนักเรียนไทยโพ้นทะเลเรื่อง ‘Land of compromise: สถาบันซาร์รัสเซียกับความพยายามเปลี่ยน(ไม่)ผ่านสู่ประชาธิปไตย’: thaistudentsoverseas.wordpress.com/2020/11…narchy/
  • บทสัมภาษณ์ใน YouTube ของกลุ่มนักเรียนไทยโพ้นทะเล ‘โพ้นทะเลเสวนา ตอนที่ ๒ – “สถาบันซาร์รัสเซียกับความพยายามเปลี่ยน(ไม่)ผ่านสู่ประชาธิปไตย”‘: youtu.be/YzI_s_PIbLs
  • วีดีโอเรื่อง From February to July: Revolution, dual power, and reaction ของ In Defence of Marxism: https://youtu.be/JBWyaAhatds

Podcast: Analysand EP – 006 Dual Power [TH]