เราอยู่ภายใต้ร่มเงาของรัฐ ในขณะที่ทุนนิยมเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่ปกครองชีวิตเราอยู่ ทุนนิยมก็ได้รับการอำนวยความสะดวกและไกล่เกลี่ยโดยรัฐ ทุกวันนี้ระบบทั้งสองต่างพึ่งพาอาศัยกันและกัน ลัทธิชาตินิยม (nationalism) ทำหน้าที่เป็นเชื้อเพลิงให้กับรัฐซึ่งเป็นชุมชนจินตภาพ (imagined community) ที่ซึ่งเราเชื่อมโยงถึงกันผ่านสายใยผูกพันธ์ภายในเส้นเขตพรมแดนที่แน่นอนของรัฐ ในหลาย ๆ ทาง เราทุกคนต่างถูกผูกมัดด้วยการคิดแบบรัฐนิยม (statist) ซึ่งทำให้เรามองไม่เห็นความลึกตื้นหนาบางของความเป็นจริง มองข้ามความเป็นจริง ความแตกต่าง และความสลับซับซ้อนของความสัมพันธ์ทางสังคมและทางเศรษฐกิจของพวกเราเอง
ทุกวันนี้ รัฐคือจุดรวมศูนย์ของพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ทั่วโลก กล่าวคือ ทุกที่ในโลกที่มีคนอาศัยอยู่ ถูกแบ่งออกและถูกจัดให้เป็นพื้นที่ของการบริหารจัดการโดยสิ่งที่เราเรียกว่ารัฐ รัฐออกกฎหมายและสร้างเขตแดนที่กฎหมายเหล่านั้นมีผลบังคับใช้ ทุกรัฐทั่วโลกเดินตามโครงสร้างนี้โดยมีระบบทุนนิยมกุมบังเหียนอยู่ด้านบน รัฐคือความสัมพันธ์ทางสังคม เช่นเดียวกับเงิน ถ้าไม่มีใครยอมรับ สิ่งเหล่านี้ก็จะไร้อำนาจ หรือก็คือ มันเป็นสิ่งที่ถูกจินตนาการขึ้นมาเอง
ทุกรัฐทั่วโลกมีลักษณะคล้ายกันอย่างมีนัยสำคัญ ตั้งแต่อิตาลีไปจนถึงเกาหลีเหนือ รัฐเหล่านี้มีผู้นำ เขตแดน ศาล ตำรวจ ฯลฯ ทุกคนในโลกใบนี้ล้วนอยู่ภายใต้อำนาจทางกฎหมายของรัฐไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ว่าจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม อำนาจนำดังกล่าวยิ่งใหญ่เสียจนการจินตนาการหรือการสร้างทางเลือกอื่นที่นอกเหนือไปจากรัฐทุนนิยมเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก ประวัติศาสตร์เต็มไปด้วยตัวอย่างที่ล้มเหลวของการทำลายรัฐนิยม อย่างไรก็ดี การจะทำลายแนวคิดนี้ได้เราจะต้องเข้าใจมันก่อน
ชาตินิยม
ลัทธิชาตินิยมคือนิยามของรัฐสมัยใหม่ ลัทธิชาตินิยมคือความเชื่อที่ว่า รัฐของคุณรักษาผลประโยชน์ของคุณในฐานะกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งภายในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์นั้น ๆ ส่วนรัฐกับขบวนการชาตินิยมจะนิยามคำว่า ‘ประชาชน’ อย่างไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับอุดมการณ์ของชนชั้นนำและผลประโยชน์ของพวกเขา ซึ่งมักจะกีดกันชนกลุ่มน้อยและชนชั้นแรงงานออกไป รัฐสร้างลัทธิชาตินิยมขึ้นมาและรักษาเอาไว้อย่างมั่นคงและเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่การผลิตแบบทุนนิยม ด้วยเหตุนี้ ผลประโยชน์แบบชาตินิยมก็มักจะเข้ามาแทรกแซงและบดบังผลประโยชน์ทางชนชั้น กล่าวคือ แค่เพราะคุณเกิดในพื้นที่เดียวกันกับคนอื่น ไม่ได้หมายความว่าคุณปรารถนาหรือต้องการในสิ่งเดียวกันกับคนอื่น
จิตสำนึกชาตินิยม
ฉันเป็นคนไทย ฉันมาจากประเทศไทย ฉันเลยมีผลประโยชน์ร่วมกันกับคนไทยคนอื่น ๆ โดยไม่เกี่ยวว่าคนอื่นจะอยู่ในชนชั้นไหน แนวคิดแบบนี้ถูกค้ำจุนไว้โดยสถาบันของรัฐ ระบบการศึกษา เพลงชาติและสัญลักษณ์เกี่ยวกับชาติ และสิ่งอื่น ๆ อีกมากมาย
จิตสำนึกทางชนชั้น
ฉันเป็นชนชั้นแรงงาน ฉันเลยมีผลประโยชน์ร่วมกันกับชนชั้นแรงงานคนอื่น ๆ โดยไม่เกี่ยวว่าคนอื่นจะมีสัญชาติอะไร สิ่งนี้เห็นได้จากการที่ชนชั้นแรงงานเผชิญกับการขูดรีดร่วมกันและสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อรับมือกับการขูดรีดนั้น
ลัทธิชาตินิยมปลดแอก
แม้ว่าลัทธิชาตินิยมจะบดบังผลประโยชน์ทางชนชั้นได้ แต่บางครั้งลัทธิชาตินิยมก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปลดปล่อยของขบวนการสังคมนิยมมากมายในซีกโลกใต้ เช่น ในเวียดนาม ลาว และคิวบา สิ่งเหล่านี้วางอยู่บนสิทธิของบรรดาคนที่ถูกกดขี่ในการกำหนดชะตากรรมและกำหนดเส้นทางการพัฒนาของตนเอง เพื่อให้กลายมาเป็นผู้กำหนดชะตาประเทศของตนเองสู้กับเจ้าอาณานิคม แนวคิดนี้สามารถอ้างอิงจากทฤษฎีต่อต้านอาณานิคมได้ ซึ่งก็คือ ชาติทั้งชาติอาจถูกกดขี่อยู่ ทำนองเดียวกันกับชนชั้นแรงงานที่ถูกกดขี่
ตัวอย่างเช่น เวียดนามตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสเพื่อที่ฝรั่งเศสจะขูดรีดกำไรจากเวียดนามได้ ความสัมพันธ์นี้อาจตีความได้ว่าเป็นขั้วตรงข้ามระหว่างกระฎุมพีกับกรรมาชีพ ประชาชนคนเวียดนามเป็นชาติกรรมาชีพ ฝรั่งเศสเป็นชาติเจ้าอาณานิคมกระฎุมพี เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ การปลดปล่อยในแบบชาตินิยมของเวียดนามจากฝรั่งเศสจึงถูกมองว่าเป็นการต่อสู้ทางชนชั้นและการต่อสู้แบบชาตินิยมในเวลาเดียวกัน เป็นการเปลี่ยนเจ้าของรัฐ (ownership of the state) จากที่อยู่ในมือของเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสไปสู่มือของชาตินิยมเวียดนาม
บทบาทของรัฐทุนนิยม
ตั้งแต่โบราณกาล รัฐเป็นแนวทางของเหล่าอภิสิทธิ์ชนไม่ว่าจะในสังคมใดในการรีดเค้นส่วนเกินจากประชากรที่เป็นผู้ผลิต โดยทั่วไปแล้วหมายถึงระบบศักดินาและสังคมทาส ในขณะที่ระบบทุนนิยมพัฒนาขึ้นในยุโรป รัฐก็ปรับตัวรับใช้ระบบทุนนิยมเพื่อรักษาความสัมพันธ์ของตัวมันเอง สิ่งนี่ลุล่วงไปได้ก็ด้วยการเก็บภาษีเพื่อนำมาผลิตซ้ำคนงานซึ่งต่อมาก็สร้างมูลค่าส่วนเกินต่อไปอีกเรื่อย ๆ
กลไกของรัฐ
เด็กทารกชนชั้นแรงงานเกิดมา→
รัฐอำนวยความสะดวกแก่พัฒนาการของเด็กทารกคนนั้น ให้กลายมาเป็นคนงาน โดยจัดสรรการศึกษา การดูแลสุขภาพ และความปลอดภัย →
เด็กทารกเติบโตมาเป็นคนงานคนใหม่ เริ่มทำงานสร้างมูลค่าส่วนเกิน (กำไร) ให้กับชนชั้นนายทุน →
กำไรของนายทุนถูกรัฐหักภาษีไปบางส่วน →
รัฐสามารถอำนวยการพัฒนาเด็กทารกคนใหม่ ๆ ให้กลายมาเป็นคนงานต่อไปได้
การจำกัดควบคุม
รัฐแต่ละรัฐใช้แนวทางที่ต่างกันในการอำนวยความสะดวกให้กับระบบทุนนิยมอย่างดีที่สุด รัฐบางรัฐตัดสินใจที่จะจัดสรรการรักษาพยาบาล การศึกษา และที่อยู่อาศัยฟรีให้คนงาน เพื่อให้พวกเขาทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อรีดเค้นผลกำไรให้กับชนชั้นนายทุนให้ได้มากที่สุด ในขณะเดียวกัน รัฐอื่น ๆ ไม่ได้จัดสรรสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ให้คนงาน ทำให้ชนชั้นแรงงานต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล การศึกษา หรือที่อยู่อาศัยเอง ทำให้เกิดช่องทางอื่น ๆ เอาไว้รีดเค้นความมั่งคั่งให้กับชนชั้นนายทุน รัฐทำหน้าที่อำนวยสิ่งพื้นฐานอื่น ๆ เช่น ทำถนนที่ใช้งานได้ ตรวจสอบว่าอาหารสะอาดปราศจากสารพิษและกฎหมายถูกนำไปปฏิบัติใช้อย่างเคร่งครัด
หน้าที่หลักของรัฐภายใต้ระบบทุนนิยมคือการการันตีว่า การรีดเค้นความมั่งคั่งจะดำเนินไปได้อย่างราบรื่น แม้ในขณะที่รัฐดูเหมือนจะช่วยเหลือชนชั้นแรงงานก็ตาม เราต้องวิพากษ์แรงจูงใจในระดับโครงสร้างของรัฐอย่างรอบคอบว่าจริง ๆ แล้วรัฐรับใช้ผลประโยชน์ของใครอยู่ จริง ๆ แล้วรัฐรับใช้ผลประโยชน์ของชนชั้นแรงงานหรือชนชั้นนายทุน?
เราจะต่อสู้กับรัฐทุนนิยมอย่างไร
มีสังคมนิยมอยู่หลายสำนัก แต่ละสำนักต่างก็มีวิธีการมุ่งสู่รัฐที่ไม่เหมือนกัน ทั้งโดยผ่านการปฏิรูป การปฏิวัติ หรือการทำลายรัฐไปเลย นักสังคมนิยมบางคนเชื่อว่า พวกเขาสามารถเปลี่ยนแปลงรัฐผ่านการเลือกตั้งได้ เปลี่ยนแปลงลักษณะของรัฐโดยวิถีประชาธิปไตยและโดยสันติ เปลี่ยนเป็นรัฐสังคมนิยมอย่างค่อยเป็นค่อยไป นักสังคมนิยมคนอื่น ๆ มองเห็นข้อจำกัดของแนวทางดังกล่าวและสนับสนุนให้มีการทำลายหรือรื้อถอนรัฐทุนนิยมทิ้งเสีย และแทนที่ด้วยรัฐในรูปแบบที่บริหารโดยคนงาน และยังมีผู้ที่ต่อต้านรัฐอย่างสิ้นเชิงและเรียกร้องให้มีสังคมนิยมที่ปราศจากรัฐอย่างสิ้นเชิง โดยใช้โครงสร้างและสถาบันทางสังคมแบบอื่นปกครองแทน
ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงหรือโค่นล้มรัฐทุนนิยมมักจะหนีไม่พ้นโครงสร้างที่กดขี่แบบอื่น ๆ รัฐที่มีคนงานเป็นเจ้าของ (Worker-owned state) ได้ผลิตซ้ำสภาพการทำงานประจำวันของกรรมาชีพที่ไม่ได้ต่างจากเดิมเท่าไรนัก นอกจากนั้น ยังมีการให้ความชอบธรรมแก่การจำกัดเสรีภาพในการพูดและการปราบปรามการคบค้าสมาคมอย่างเสรีในนามของการปกป้องการปฏิวัติ
เช่นเดียวกับระบบทุนนิยม เรากำลังถูกผูกมัดด้วยการคิดแบบทุนนิยม-รัฐนิยม (capitalist-statist thinking) การจินตนาการและการใช้ทางเลือกแบบอื่นนอกจากจะเป็นการหลบเลี่ยงทางเดินเก่า ๆ แล้ว ยังต้องพึ่งพาการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในจิตสำนึกของผู้คนอีกด้วย การปฏิวัติที่มากกว่าการปกครอง โดยเป็นการปฏิวัติในจิตสำนึกด้วยนั้น อย่างที่มันแนบเกี่ยวสัมพันธ์กับรัฐ จะเป็นโครงการที่กินเวลาชั่วอายุคนโดยเราอาจจะไม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในชั่วชีวิตของเรา เช่นเดียวกับคอมมิวนิสต์ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 การโค่นล้มรัฐทุนนิยมนั้นเป็นเส้นขอบฟ้าที่ดำรงอยู่เรื่อยไป เอื้อมถึงมันได้ตลอด แต่อาจไม่มีวันคว้ามาได้