ผู้เขียน Hein Htet Kyaw

ผู้แปล สหายคำผาน

มิน ลัต แยะก่าวหรือที่รู้จักในนาม “Min Latt Ye Khaung” นักภาษาศาสตร์ชาวพม่า เป็นหนึ่งในนักศึกษาชาวพม่าสามคนแรกที่ได้ไปศึกษาเล่าเรียนที่กรุงปราก (Prague) ในช่วงทศวรรษที่ 1950 เขาเป็นนักเคลื่อนไหวที่ทรงอิทธิพลและเป็นผู้นำนักศึกษาในช่วงปี ค.ศ. 1947-48

ในปี ค.ศ. 1947 มีการขอให้ผู้แทนจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งพม่าเข้าร่วมการประชุมสหภาพนักศึกษานานาชาติ (ISU) ประจำปี ค.ศ. 1947 ณ กรุงปราก ประเทศเชคโกสโลวาเกีย มิน ลัต แยะก่าว หนุ่มเยาวชนผู้มากความสามารถ รู้สึกตื่นเต้นดีใจที่จะได้เข้าร่วมการประชุม ทว่าเขาไม่ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนพรรค แต่กลับเป็นสมาชิกพรรคคนสำคัญอีกคนที่ได้รับเลือกจากผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์แห่งพม่าให้เป็นตัวแทนของพรรคในการประชุม หลังจากนั้นมิน ลัต แยะก่าว ก็ได้แยกตัวออกมาและเข้าร่วมการประชุมครั้งนั้นในฐานะตัวแทนอิสระของพม่า เขาอาศัยอยู่ในเชคโกสโลวาเกียต่อไปเพื่อทำงานด้านวิชาการหลังจากการประชุมเนื่องจากสงครามกลางเมืองในพม่าได้ปะทุขึ้นแล้ว ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจเรียนภาษา เขาก็สามารถสำเร็จการศึกษาได้ทั้งระดับปริญญาโทและปริญญาเอก 

วิทยานิพนธ์ของเขามีใจความสำคัญอยู่ที่การต้องมีขบวนการภาษาท้องถิ่นพม่า ซึ่งเข้าใจกันว่าได้รับแรงบันดาลใจจากการปฏิวัติวรรณกรรมและการเคลื่อนไหวภาษาท้องถิ่นของจีนที่นำโดยเฉิน ตู๋ซิ่ว (Chen Duxiu) และหู ซื่อ (Hu Shi) ในวันก่อนขบวนการ 4 พฤษภาคม (the May Fourth Movement) เช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวท้องถิ่นของจีน วิทยานิพนธ์เรื่อง “การทำให้พม่ามีความเป็นสมัยใหม่” (Modernization of Burma)ของเขาก่อให้เกิดความขัดแย้งมากมายระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายหัวก้าวหน้า มิน ลัต เริ่มสอนภาษาพม่าที่โรงเรียนภาษาปราก (Prague Language School) ในปี ค.ศ. 1955 นอกจากนั้น เขาก็เริ่มทำงานเป็นนักวิจัยที่สถาบันบูรพาทิศวิทยาศาสตร์แห่งเช็คโกสโลวาเกีย (Oriental Institute of the Czechoslovak Academy of Science) ในกรุงปราก และยังเป็นอาจารย์ประจำคณะปรัชญาของมหาวิทยาลัยชาร์ลส์อีกด้วย (Charles University’s Faculty of Philosophy)

มิน ลัต แยะก่าว ตัดสินใจเดินทางไปยังพรรคคอมมิวนิสต์แห่งพม่าสาขาประเทศจีนในปี ค.ศ. 1963 โดยในเวลานั้นเอง พรรคคอมมิวนิสต์แห่งพม่าถือได้ว่าเป็นเพียงพรรคตัวแทนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน โจว เอินไหล (Zhou Enlai) นายกรัฐมนตรีคนแรกของสาธารณรัฐประชาชนจีน ต้อนรับเขาเป็นการส่วนตัวที่สนามบิน เนื่องจากเป็นที่รู้กันว่า เขาสนับสนุนขบวนการภาษาท้องถิ่นพม่าและมีผลงานทางวิชาการ (MoeMaKa Vietnamese News & Media, 2017)

การเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการ

เมื่อนายพลเนวิน (General Ne Win) ผู้นำของพรรคโครงการสังคมนิยมแห่งพม่าและเผด็จการทหารของพม่า เดินทางมาเยือนเชโกสโลวาเกียในปี ค.ศ. 1966 มิน ลัตได้ส่งจดหมายไปหาเขา และขอให้นายพลเนวินเผยความจริงเกี่ยวกับพม่าให้โลกได้รับรู้ในจดหมาย (The Irrawaddy Magazine, 2019)

ฝ่ายซ้ายที่หาตัวจับยาก : สมาพันธรัฐประชาธิปไตยก่อนโรจาวา

วลี “สมาพันธรัฐประชาธิปไตย” ถูกนำมาใช้ครั้งแรกโดยอับดุลละฮ์ เออจาลัน (Abdullah Ocalan) หัวหน้าพรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน (Kurdistan Workers Party) แนวคิดสมาพันธรัฐประชาธิปไตยได้รับความนิยมในหมู่นักสังคมนิยมแนวอิสรนิยมและคอมมิวนิสต์แนวอิสรนิยม เนื่องจากเป็นระบบการบริหารจัดการตนเองแบบมีประชาธิปไตยที่มีลักษณะของสมาพันธ์ ตามหลักการของการปกครองตนเอง ประชาธิปไตยทางตรง นิเวศวิทยาการเมือง สตรีนิยม ความหลากหลายทางวัฒนธรรม การป้องกันตนเอง การปกครองตนเอง และองค์ประกอบของเศรษฐกิจแบบสหกรณ์

อย่างไรก็ตาม มิน ลัต แยะก่าว ได้นำเสนอแนวคิดที่คล้ายๆ กันในบทความชิ้นหนึ่งของเขาในช่วงทศวรรษ 1970 ทว่าเขาไม่ค่อยให้ความสนใจกับแนวคิดสตรีนิยมและสิ่งแวดล้อมเท่าใดนัก เขาเสนอว่า รัฐชาติพันธุ์ที่มุ่งหาการปกครองตนเองควรจัดตั้งรัฐเล็กๆ หลายรัฐของตนเองขึ้นมา ว่ากันตาม มิน ลัต แยะก่าว คนส่วนใหญ่ที่ได้อ่านบทความนี้ อ้างว่า มิน ลัต แยะก่าว เรียกร้องให้กองทัพพม่าและพรรคโครงการสังคมนิยมพม่าซึ่งอ้างว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่หรือก็คือกลุ่มชาติพันธุ์พม่า (Bamar) ล้มเลิกความหวังลมๆ แล้งๆ ของสหภาพปลอมที่ซึ่งอำนาจส่วนกลางที่เป็นระบบราชการกำลังปกครองอยู่ ตามบทความที่เขียนเกี่ยวกับเขา มิน ลัต แยะก่าว เรียกร้องให้มีการยุบสหภาพพม่าทั้งหมด

รัฐชาติพันธุ์ทั้งหมดจะแยกตัวออกจากสหภาพพม่าและก่อตั้งสาธารณรัฐอธิปไตยของตนเองภายใต้สมาพันธ์ดังที่มิน ลัต แยะก่าวเสนอ ต่อมาเขาแนะนำให้ก่อตั้งสมาพันธ์ที่ถูกต้องตามกฎหมายซึ่งรัฐชาติพันธุ์ต่างๆ สามารถเข้าร่วมได้ตามความยินยอม ด้วยความที่แม่น้ำอิรวดี (Irrawaddy) และธานรวิน (Thanlwin) ซึ่งเป็นแม่น้ำสองสายที่ทั้งกว้างและยาว ถูกนำมาใช้เพื่ออิงถึงภูมิศาสตร์ของพม่าทั้งหมด เขาจึงตั้งชื่อแนวคิดนี้ว่า “อิระ-ลวิน” (Irra-Lwin)

ตะขิ่น โซ (Thakin Soe) ผู้นำทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์ธงแดงแห่งพม่า (Red Flag Communist Party of Burma) กลุ่มขุดรากถอนโคนที่มีความเฉียบแหลมมากกว่า ได้แยกตัวออกมาจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งพม่า ผู้นำของกลุ่มนี้เองก็มีความคิดที่คล้ายคลึงกัน (Win, 2010) พรรคคอมมิวนิสต์ธงแดงแห่งพม่าสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนของหลายๆ รัฐชาติพันธุ์ และสนับสนุนอย่างชัดเจนให้แต่ละรัฐมีอำนาจในการกำหนดเส้นทางของตนเองได้ในช่วงสงครามกลางเมืองของพม่า อย่างไรก็ดี พรรคคอมมิวนิสต์แห่งพม่ายืนกรานว่า ไม่ควรมีการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์เพิ่มอีกเพราะเดิมก็มีอยู่แล้ว ในขณะเดียวกัน พรรคคอมมิวนิสต์ธงแดงแห่งพม่าก็สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ใหม่หลายๆ พรรคในรัฐชาติพันธุ์และประชาชนชาติพันธุ์ต่างๆ ทว่า ตะขิ่น โซ ก็ไม่สามารถวิเคราะห์รายละเอียดได้แม่นยำเท่ากับมิน ลัต แยะก่าว ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะตะขิ่น โซ เป็นปัญญาชนชาวบ้าน (organic intellectual) และนักปฏิวัติ ในขณะที่ มิน ลัต แยะก่าว เป็นนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวที่ได้รับการฝึกฝนมา

พรรคคอมมิวนิสต์แห่งพม่า

เห็นได้ชัดว่า แนวคิดอิสรนิยมใหม่ไม่ได้รับการต้อนรับจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งพม่า ซึ่งเป็นกลุ่มที่ก่อตั้งขึ้นภายใต้อิทธิพลของแนวคิดสตาลินนิสม์และรับเอาแนวคิดเหมาอิสม์เข้ามาในเวลาต่อมา ทั้งสองแนวคิดนี้มีรากฐานมาจากแนวคิดเผด็จการอำนาจนิยม แนวคิดเผด็จการอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จ แนวคิดทุนนิยมโดยรัฐ ชนชั้นรัฐการใหม่ (the bureaucratic new class) แนวคิดประชาธิปไตยรวมศูนย์ แนวคิดบูชาตัวบุคคล และแนวคิดชาตินิยม

ด้วยการเชื่อมโยงขบวนการปลดปล่อยชาติกับอุดมการณ์กระฎุมพี พรรคคอมมิวนิสต์แห่งพม่ารับเอาการเล่าเรื่องแบบสตาลินนิสม์มาใช้เมื่อพูดถึงประเด็นเรื่องชาติ ตรงข้ามกับสหพันธรัฐที่มีอำนาจในการกำหนดตนเองได้ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งพม่าสนับสนุนประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์แทน สำหรับประเด็นเรื่องชาตินั้น มิน ลัต แยะก่าวมีจุดยืนคล้ายๆ กับเลนิน อย่างไรก็ตาม จุดยืนชาตินิยมของมิน ลัต แยะก่าว นั้นเทียบเคียงได้กับแนวคิดที่เชื่อในการแบ่งเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย (tinyism) ของขบวนการอนาธิปไตยในศตวรรษที่ 21 ตามบทความหนึ่งในวารสาร Ayaytawpon เล่มที่ 1 ฉบับที่ 4 ของเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 2010 ซึ่งเป็นวารสารทางการของพรรคคอมมิวนิสต์ เขียนโดยสหายบาวิน Ba Win เขาระบุว่า มิน ลัต แยะก่าว อยากที่จะเป็นเลนินของพม่า ในบทความชิ้นดังกล่าว มิน ลัต แยะก่าว อ้างว่า เขาแตกต่างจากสมาชิก CPB คนอื่นๆ เนื่องจากเขาไม่ได้ถูกปลูกฝังจากมอสโกหรือปักกิ่ง นอกจากนี้ เขายังกล่าวอย่างภาคภูมิใจอีกว่า เขากำลังพัฒนาแนวคิดเลนินนิสม์และสามารถสร้างอุดมการณ์ของเขาเองโดยอิงจากประสบการณ์จากยุโรปตะวันออกที่ไม่เหมือนใคร

มิน ลัต แยะก่าว เป็นผู้อพยพในประเทศจีนตอนเขาพัฒนาแนวคิดอิรลวิน เขาสนับสนุนแนวคิดสมาพันธรัฐประชาธิปไตยของอิรลวินอย่างจริงจังในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรมจีน เขาตัดสินใจที่จะปกป้องประชาธิปไตยภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพราะในชีวิตของเขานั้น เขาต่อต้านชนชั้นข้าราชการที่ล้าหลังและมีความเป็นเผด็จการมาโดยตลอด เขาตีพิมพ์จุลสารและบทความ วิจารณ์หลิน เปียว สมาชิกผู้ทรงอิทธิพลของ “แก๊งสี่คน ผู้เป็นชนชั้นข้าราชการใหม่” มิน ลัต แยะก่าว ขยายบทบาทการวิจารณ์ของเขาต่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งพม่า (CPB) ที่เขาเป็นสมาชิก ให้รวมไปถึงการวิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์จีน เพื่อโจมตีชนชั้นข้าราชการใหม่อย่างต่อเนื่อง บะ เตงน์ ติน  (Ba Thein Tin) ประธานพรรคคอมมิวนิสต์แห่งพม่าเองก็ถูกวิจารณ์ในบทความที่มิน ลัต แยะก่าวเขียนขึ้นและเผยแพร่ นอกจากนี้ เขายังพิมพ์หนังสือเล่มเล็ก วิจารณ์นโยบายทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งพม่า

ในที่สุด จุดยืนของเขาทำให้ CPB ต้องเรียกตัวเขาไปที่ตั้งพรรคที่พม่า มิน ลัต แยะก่าว เยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ของพรรคหลังการปฏิวัติวัฒนธรรม ที่นั่น เขาได้เสนอแนวคิดอิรลวินอย่างเป็นทางการต่อบะ เตงน์ ติน  ผู้เป็นประธานพรรค ทว่าบะ เตงน์ ติน  กลับปฏิเสธแนวคิดดังกล่าว ซ้ำร้ายไปกว่านั้น มิน ลัต แยะก่าว ได้เสนอให้แนวคิดดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบะ เตงน์ ติน เองและขออนุญาตโปรโมตแนวคิดนี้ผ่านช่องทางเผยแพร่แนวคิดของพรรค

อย่างไรก็ตามประธานพรรคยังคงแข็งข้อปฏิเสธต่อไปและกลับเปิดฉากด่ามิน ลัต แยะก่าว อย่างเสียๆ หายๆ การอภิปรายระหว่างคอมมิวนิสต์ผู้เห็นต่างกับประธานฟาสซิสต์แดงกลายเป็นการประชันฝีปาก โดยทั้งสองฝ่ายต่างวิจารณ์กันอย่างเสียๆ หายๆ มิน ลัต แยะก่าว เปรียบเทียบประธานบะ เตงน์ ติน เป็น หลิว เส้าฉี (Liu Shaoqi), คาร์ล เคาท์สกี้ (Karl Kautsky), นีกีตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev) ซึ่งเป็นกลุ่มลัทธิแก้ (revisionism) มิน ลัต แยะก่าว จึงถูกสั่งให้ย้ายไปยังที่ๆ ไม่มีสมาชิกพรรคคนใดพูดภาษาจีน พม่า คะฉิ่น ฉานหรืออังกฤษ เนื่องจากมิน ลัต แยะก่าว ไม่สามารถพูดภาษากลุ่มชาติพันธุ์และภาษาถิ่นของภูมิภาคนั้นได้ เขาจึงกลายเป็นผู้เผยแผ่คำสอนที่ไร้ซึ่งอาวุธ เขาพยายามหนีออกจากพื้นที่ที่ CPB กักขังเขาไว้โดยไม่ยินยอม เขากลายมาเป็นเพื่อนกับเชลยศึกสงคราม 7 คนที่เคยทำงานในกองทัพพม่าและพยายามหลบหนีในปี ค.ศ. 1976-1977  โชคไม่ดีที่มีรายงานว่า เชลยศึกที่พยายามหลบหนีจำเป็นต้องสังหารทหาร CPB 3 นายและลูกสาวนายตำรวจ 1 คน ระหว่างการหลบหนี ด้วยเหตุนี้ผู้นำของ CPB ในท้องถิ่นจึงตัดสินใจจับพวกเขาอย่างถึงที่สุด ด้วยความที่มิน ลัต แยะก่าว เป็นนักเคลื่อนไหวและปัญญาชนที่มีสภาพร่างกายย่ำแย่ เมื่อเทียบกับคนอื่นแล้ว เขาจึงมีความเสี่ยงเมื่อพยายามหลบหนีมากกว่า สุดท้ายแล้ว CPB ก็สามารถจับตายผู้หลบหนีได้ทุกคนยกเว้นเขา ต่อมา CPB ท้องถิ่นสามารถจับเป็นเขาได้ ทว่าเขากลับถูกพรรคคอมมิวนิสต์พม่าที่เขาสังกัดยิงเสียชีวิตเสียเอง เนื่องด้วยเหตุการณ์เลวร้ายที่เขาเข้าไปพัวพัน ตามคำบอกเล่าของม่าวน์ ม่าวน์ โซ (Mg Mg Soe) อดีตคอมมิวนิสต์พรรค CPB มิน ลัต แยะก่าวจะถูกแค่ตัดสินจำคุกเพราะมีความเข้าใจทางการเมืองแตกต่างจากหัวหน้าพรรค ถ้าเขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับความพยายามหลบหนีที่คร่าชีวิตของทหาร CPB ไป 3 นาย รวมไปถึงชีวิตลูกสาวของเจ้าหน้าที่สถานีตำรวจ

ม่าวน์ ม่าวน์ โซ พยายามหาข้อแก้ตัวให้กับการฆาตกรรมโดยลากยาวเรื่องหลบหนี เพื่อที่จะปกป้อง CPB ทว่าการหาข้อแก้ตัวเช่นนี้ก็เผยให้เห็นความจริงที่ว่า CPB ยังคงตัดสินจำคุกผู้เห็นต่างทางการเมืองแม้กระทั่งหลังการปฏิวัติวัฒนธรรม 

ตรงนี้น่าสังเกตว่า CPB สังหารผู้เห็นต่างทางการเมืองที่เป็นสมาชิกพรรคไปหลายคนเพียงเพราะเห็นต่างจากผู้นำคนก่อนในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม ผู้รอดชีวิตบอกว่า ผู้เห็นต่างทางการเมืองทั้งหมดถูกฆาตกรรมโดยการทรมานเป็นเวลาหลายสัปดาห์ก่อนที่พวกเขาจะเสียชีวิตลงในที่สุด 

อย่างไรก็ดี ตัน โซ น่ายน์  (Than Soe Naing) ซึ่งเป็นผู้เห็นต่างทางการเมืองที่ถูกขับออกจาก CPB เมื่อ CPB ตัดสินใจยุบพรรคในปี ค.ศ. 1989-1990 นั้นบอกว่า มิน ลัต แยะก่าวถูกสังหารโดยที่สำนักงานใหญ่ของพรรคไม่รู้

โชคไม่ดีนักที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งพม่าจงใจทำลายหนังสือที่เขาเขียนบรรยายแนวคิดเหล่านี้ เขาเขียนเรียงความหลายชิ้นที่วิพากษ์วิจารณ์แก๊งสี่คนกับ CPB และบทความเหล่านั้นก็ถูกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งพม่ากลบทิ้งเช่นกัน อดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์สองสามคนอ้างว่าได้อ่านบทความบางส่วนและเลือกที่จะเผยแพร่สิ่งที่พวกเขาเข้าใจจากบทความของมิน ลัต แยะก่าว จึงเป็นเรื่องยากมากที่คนรุ่นต่อไปจะอ้างอิงงานเขียนต้นฉบับของเขา แล้วสะท้อนออกมาได้อย่างถูกต้อง

กล่าวโดยสรุปคือ มิน ลัต แยะก่าว เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกแนวคิดคอมมิวนิสต์อิสรนิยมในพม่า ที่ซึ่งฝ่ายซ้ายส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดเหมาอิสม์หรือไม่ก็สังคมประชาธิปไตย ด้วยการต่อต้านสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยรวมศูนย์และระบบราชการตามแบบมาร์กซิสม์-เลนินนิสม์และเหมาอิสม์ ตลอดจนรัฐบาลเผด็จการอำนาจนิยมของเขา

————-

ขอบคุณสหาย JFL ผู้ช่วยถอดเสียงภาษาจีน และสหายนิรนามสำหรับภาษาพม่า – บ.ก.