ผู้เขียน Sarid Siriteerathomrong
บรรณาธิการ Peam Pooyongyut
เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการประท้วงชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารจากคนหลายกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มนักเรียน นักศึกษาซึ่งเป็นหัวหอกสำคัญของคนรุ่นใหม่เพื่อปลดปล่อยประเทศไทยสู่ระบอบประชาธิปไตย การต่อสู้ที่ถูกจุดประกายโดยกลุ่มคนเหล่านี้เป็นเชื้อไฟอย่างดีที่ลุกลามไปสู่คนเจเนอเรชั่นอื่นๆ ให้ลุกขึ้นมาสู้เคียงข้างพวกเขาในโครงการการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ครั้งนี้ โดยข้อเรียกร้องหลักของการต่อสู้ครั้งนี้มีสามประการหลักคือ 1).รัฐบาลเผด็จการชุดปัจจุบัน ต้องยุบสภา 2).เรียกร้องให้ หยุดคุกคามประชาชน และ 3).ต้องทำการ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย อีกทั้งยังมีข้อเรียกร้องระหว่างบรรทัดในอีกหลายประเด็นย่อยที่สำคัญ จะเห็นได้ว่าข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม มิได้ มีข้อใดที่ละเมิดกฎหมายหรือละเมิดสิ่งที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้สามารถกระทำได้
กระนั้นก็ตาม หากท่านได้ติดตามข่าวไม่ว่าจะด้วยช่องทางใดท่านคงจะเห็นความพยายามในการคุกคามแกนนำ ผู้ปราศรัย หรือผู้ใดก็ตามที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมต่อต้านจากรัฐบาลเผด็จการทหารด้วยข้อเรียกร้องข้างต้น ซึ่งผู้เขียนขอประณามการกระทำเหล่านี้ แต่ยังมีกลุ่มบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งที่ข้าพเจ้าจะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยคือ กลุ่มผู้บริหารมหาวิทยาลัย นักการเมือง ผู้หลักผู้ใหญ่ที่น่าเคารพ ทั้งหลาย ถึงแม้ว่าท่านๆ เหล่านี้จะออกปากบอกว่าสนับสนุนการชุมนุมและข้อเรียกร้องของนักศึกษา แต่การกระทำนั้นกลับตรงกันข้าม ผู้เขียนจึงอยากจะขอกล่าวถึงกรณีสำคัญดังต่อไปนี้
หนึ่ง ผู้เขียนอยากจะยกกรณีของมหาวิทยาลัยและผู้บริหารมหาวิทยาลัยรวมไปถึงอาจารย์ทั้งหลาย ที่ภายหลังจากมีการชุมนุมใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ได้มีบุคคลในตำแหน่งรองอธิการบดีออกประกาศส่วนตัวเพื่อขอโทษต่อสาธารณะด้วยสาเหตุว่า มีนักศึกษาที่ชุมนุมปราศรัยเกินขอบเขตของกฎหมายซึ่งอาจจะสร้างความขุ่นเคืองใจต่อคนทั่วไป ภายหลังจากนั้นก็มีประกาศจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างเป็นทางการ ออกมาขอโทษในทำนองเดียวกับอาจารย์คนก่อนหน้า ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีนักการเมืองฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลอีกจำนวนหนึ่งที่ออกหน้า ปราม นักศึกษาในนามของ ความห่วงใยและประสบการณ์ที่ตนมีมาก่อน ผู้เขียนรู้สึกเสียใจและผิดหวังอย่างยิ่งต่อผู้บริหารและมหาวิทยาลัยรวมไปถึงพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่มักนำเอาภาพลักษณ์ของ ‘การเป็นผู้รักในประชาธิปไตย’ มาอธิบายตนเองอยู่เสมอ มิพักต้องไปพูดถึงความกลับกลอกปลิ้นปล้อน เอาตัวรอดในกรณีที่ผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตกปากรับคำกับนิสิตของตนว่ายินดีที่จะให้จัดชุมนุมภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยได้ แต่เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้าจะมีการชุมนุม ผู้บริหารจุฬาฯ กลับออกประกาศว่าไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อจัดชุมนุม โดยให้เหตุผลว่าเป็นห่วงนิสิตจุฬาฯและประชาคมจุฬาฯ ทั้งในแง่สวัสดิภาพและความปลอดภัย แต่ในทางกลับกันเมื่อปี 53จุฬาฯ กลับยินดีที่จะให้ม็อบ กปปส. ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยเพื่อชุมนุม ถึงขั้นออกหนังสือมวลมหาจุฬาชนเพื่อรำลึกถึงการชุมนุม
สอง ผู้เขียนจะขอยกกรณีของคณะๆ หนึ่งที่พร่ำสอนการเมืองในมหาวิทยาลัย และเป็นคณะที่ผู้เขียนจบการศึกษามา โดยกรณีนี้มีนักศึกษาผู้รักประชาธิปไตยจำนวนหนึ่งต้องการแขวนป้ายที่ตึกของคณะเพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องหลักสามประการ แต่นักศึกษาเหล่านั้นกลับต้อง ขออนุญาต กับทางคณะก่อนตามระเบียบของการขอใช้พื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่สิ่งที่ไม่สามารถเข้าใจและไม่อาจยอมรับได้ก็คือ ทางคณะตั้ง “เงื่อนไข” กับนักศึกษาไว้ 4 ข้อ เงื่อนไขข้อ 1-3 ดูจะไม่มีปัญหาอะไร แต่เงื่อนไขข้อ 4 ที่ทางคณะตั้งไว้คือ ‘หากเกิดประเด็นหรือปัญหาใดเกิดขึ้น ทางนักศึกษาจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบด้วยตนเอง’ เงื่อนไขข้อนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะออกมาจากคณะที่ซึ่งคอยพร่ำสอนการเมืองให้บัณฑิตหลายต่อหลายรุ่น ผู้เขียนขอประณามการกระทำนี้ของทางคณะอย่างหัวชนฝา
จากสองกรณีข้างต้น นอกจากการประณามแล้ว ผู้เขียนอยากจะขอโต้แย้งและพูดข้อเสนอจากความคิดเห็นของผู้เขียน
กรณีที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยและนักการเมืองที่อ้างตนว่าเป็นผู้รักประชาธิปไตยออกประกาศลอยแพและห้ามปรามนักศึกษา ผู้เขียนอยากจะโต้แย้งการกระทำดังกล่าวด้วยเหตุผลดังนี้ การที่คนในตำแหน่งรองอธิการบดีหรือตำแหน่งผู้บริหารของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยประกาศขอโทษในสิ่งที่นักศึกษาทำลงไป ในแง่หนึ่งมันยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญเผด็จการที่ชอบกล่าวอ้างว่าผ่านการเห็นชอบจากคนส่วนใหญ่ ทั้งที่ในความเป็นจริงรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไร้ซึ่งความชอบธรรมใดๆ เพราะว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างโดยเผด็จการและถูกเห็นชอบโดย ส.ว. ที่เป็นกลุ่มบุคคลเพียงหยิบมือที่พวกเขาเลือกมาให้เป็นขี้ข้าตน แต่กลับมาอ้างว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นชอบต่อรัฐธรรมนูญนี้ ในอีกแง่หนึ่ง การออกมาขอโทษเช่นนี้มันไปทำลายความชอบธรรมและลดทอนข้อเสนอของการชุมนุม การขอโทษแทนนักศึกษาทำให้การใช้สิทธิของนักศึกษากลายเป็นเพียงการกระทำที่ผิดกฎหมายรวมถึงกฎหมู่ (ของคนบางกลุ่ม) ข้อเรียกร้องต่างๆ ของผู้ชุมนุม ไม่มี ข้อไหนเลยที่จะก้าวล่วงหรือเกินขอบเขตของกฎหมายและรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้และเป็น สิทธิ ที่พึงกระทำได้ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย สิ่งที่คณาจารย์ นักการเมืองและผู้บริหารมหาวิทยาลัยพึงกระทำก็คือ ต้องยืนยันในสิทธิ ดังกล่าวของนักศึกษาด้วยการออกมาปกป้องพวกเขา โอบอุ้มพวกเขา สนับสนุนพวกเขาและถึงที่สุดแล้วคือเข้าร่วมกับพวกเขา มิใช่การผลักไสและตัดช่องน้อยแต่พอตัว
ส่วนในกรณีที่สอง การตั้งเงื่อนไขของคณะที่สอนการเมืองต่อการขออนุญาตติดป้ายสนับสนุนข้อเรียกร้องของนักศึกษา กรณีนี้ทำให้เกิดวิวาทะหนึ่งขึ้นมาคือ “ทางคณะเคารพเสรีภาพในการพูดของผู้จัดโดยทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ให้บริการเรื่องสถานที่เท่านั้น มิได้มีพันธะในการรับผิดชอบใดๆ ต่อตัวผู้จัดหากเกิดปัญหาขึ้น” หากมองตามตรรกะที่แข็งทื่อแบบที่ข้อเสนอนี้กล่าวมา มันก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว เพราะคณะเป็นเพียงผู้เอื้ออำนวยสถานที่เท่านั้น ไม่ได้มีพันธะรับผิดชอบใดๆ การแสดงออกถึงเสรีภาพของปัจเจกสามารถทำได้ แต่ปัจเจกนั้นต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนกระทำไป ผู้เขียนอยากจะขอโต้แย้งว่า การมองเช่นนี้สุดโต่งและวางอยู่บนการอธิบายความสัมพันธ์แบบตลาด ตรรกะตลาดเช่นนี้ได้ลดทอน/ละเลยบทบาทด้านอื่นๆ ของมหาวิทยาลัยให้เหลือเพียงความสัมพันธ์แบบผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ทั้งที่จริงแล้วสถานศึกษาควรจะต้องเป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การบ่มเพาะอุดมการณ์ ความคิดสร้างสรรค์มิใช่สถานที่แห่งการบังคับกดขี่และง่ายต่อการคุกคามจากอำนาจนอกสถานศึกษา คณาจารย์และสถานศึกษามีพันธะที่จะต้องปกป้องหน่อเนื้อเชื้อไขของประชาธิปไตยมิใช่หรือ? สถานศึกษาต้องปกป้องการเป็นพื้นที่แห่งการตั้งคำถามและการแสดงออกมิใช่หรือ? การเปิดทางให้อำนาจเถื่อนคุกคามถึงในสถานศึกษาจึงก่อให้เกิดคำถามว่า สถานศึกษาแห่งนั้นมีไว้ทำไม? โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคณะที่พร่ำสอนเรื่องประชาธิปไตยให้กับนักศึกษาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
สุดท้ายนี้ผู้เขียนจะขอยกข้อความตอนหนึ่งจากหนังสือ การศึกษาของผู้ถูกกดขี่ (Pedagogy of The Oppressed) ของ เปาโล เฟรเร เพื่อเป็นการเตือนสติและชักชวนให้ท่านทั้งหลายได้ขบคิดกับสถานการณ์ปัจจุบันของขบวนการนักเรียนนักศึกษา และเพื่อเรียกร้องให้ท่านที่ยังแคลงใจได้เข้าร่วมกับการเรียกร้องครั้งนี้
“เมื่อมีการสถาปนาความสัมพันธ์ของการกดขี่ขึ้น ความรุนแรงก็เริ่มต้นขึ้นเรียบร้อยแล้ว ไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติว่า ความรุนแรงถูกริเริ่มโดยผู้ที่ถูกกดขี่ก่อนเลย ผู้ถูกกดขี่จะเป็นต้นเหตุของความรุนแรงได้อย่างไรกัน ในเมื่อพวกเขาเองก็เป็นผลของความรุนแรงนั้น จะเป็นไปได้อย่างไรที่พวกเขาจะให้การสนับสนุนสิ่งที่ทำให้พวกเขาต้องตกอยู่ในสถานะผู้ถูกกดขี่? จะไม่มีทางมีสิ่งที่เรียกว่าผู้ถูกกดขี่ หากไม่มีสถานการณ์ความรุนแรงที่ทำให้พวกเขายอมจำนนเกิดขึ้นก่อนหน้า
ความรุนแรงเริ่มต้นโดยคนที่กดขี่ คนที่เอารัดเอาเปรียบ และคนที่มองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของคนอื่น ไม่ใช่คนที่ถูกกดขี่ คนที่ถูกเอาเปรียบ หรือคนที่ถูกมองข้ามความเป็นมนุษย์ ความเกลียดชังไม่ได้ถูกทำให้เกิดขึ้นโดยคนที่ไม่เป็นที่รัก แต่จากคนที่ไม่สามารถรักได้เพราะพวกเขาไม่เคยรักใครเลยนอกจากตัวเอง ความหวาดกลัวไม่ได้เกิดขึ้นโดยคนที่ไร้ทางสู้ ซึ่งตกอยู่ใต้อำนาจของความหวาดกลัว แต่จากคนหัวรุนแรงที่มีอำนาจสร้างสถานการณ์ การปกครองแบบเผด็จการไม่ได้เกิดขึ้นโดยผู้ที่ถูกปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการ แต่จากพวกที่นิยมและสนับสนุนเผด็จการ ความไร้มนุษยธรรมไม่ได้ถูกทำให้เกิดขึ้นโดยผู้ที่ความเป็นมนุษย์ของพวกเขาถูกปฏิเสธ แต่จากคนที่ปฏิเสธความเป็นมนุษย์ของคนอื่น”
ศักดินาจงพินาศ ประชาราษร์จงเจริญ