จากการประท้วงหนัดหยุดงาน การเข้ายึดพื้นที่ และการปราบปรามอย่างรุนแรงที่ผ่านมาไม่นาน มหาวิทยาลัยกำลังกลายเป็นสนามรบ แล้วสิ่งนี้มีความหมายอย่างไรกับนักศึกษาและคนที่ทำงานอยู่ในนั้น?
*หมายเหตุผู้แปล: บทความนี้ใช้บริบทมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ แต่ผู้แปลเล็งเห็นว่ามหาวิทยาลัยที่ใดในโลกล้วนมีลักษณะคล้ายคลึงกันไม่มากก็น้อย*
ผมเริ่มต้นด้วยการเน้นย้ำให้เห็นว่า ทางเลือกที่จะอยู่ภายในหรือเป็นคนในมหาวิทยาลัยนั้นกำลังจะหายไป ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุการเป็นหนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การจ้างงานจากภายนอก หรือการงดเว้นไม่ให้มีการเกิดขึ้นของกิจกรรมทางการเมือง ล้วนทำให้เรากำลังเผชิญหน้ากับการถูกกีดกันออกจากมหาวิทยาลัยกันอีกครั้ง ในขณะเดียวกัน เราก็ต่อต้านมหาวิทยาลัยได้อย่างอยากลำบาก เพราะอย่างน้อยมหาวิทยาลัยในรูปแบบทุกวันนี้ กำลังต่อต้านพวกเรากลับมาหนักขึ้นเรื่อยๆ
เราพบว่ามหาวิทยาลัยในฐานะ ‘สถาบันการศึกษา’ ในอุดมคตินั้นมีความเป็นไปได้ที่น้อยลงทุกที กลายเป็นว่ามันทำตัวเป็นเจ้านายผู้กดขี่ เจ้าที่ดินผู้ฟุ่มเฟือย เจ้าหนี้ และผู้ก่อการปราบปรามอย่างรุนแรง รอยเลือดที่ทางเดินในมหาวิทยาลัยลอนดอน (UCL) เป็นสัญญะของการเปลี่ยนผ่านนี้ บทความชิ้นนี้จึงเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าสำหรับผู้ที่เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะในฐานะนักศึกษาหรือพนักงาน สิ่งนี้มีความหมายอะไรกับพวกเรา
การวิพากษ์ การฟื้นไข้ และการปรับโครงสร้างใหม่
ในทางประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมีหน้าที่เป็นสถาบันแบบฟิวดัลโดยพื้นฐาน มีลักษณะคล้ายกิลด์ (guild) มีการดำเนินการเพื่อคัดเลือกคนเข้ามาอย่างเข้มงวด และวางอยู่บนหลักการจัดการตนเองอย่างมีลำดับชั้น สิ่งที่ไม่ใช่เรื่องแปลก อย่างน้อยมหาวิทยาลัยสมัยก่อนก็เป็นสถาบันฟิวดัล และสถาบันยุคใหม่ๆ เช่น ซัสเซกส์ (ก่อตั้ง 1961) ก็เอาระบบโครงสร้างและธรรมเนียมแบบฟิวดัลมาใช้ด้วย (ลองไปดูชุดรับปริญญาที่มีเชือกกับหมวกที่น่าตลก)
มีคำวิพากษ์ต่อระบบชนชั้นนำนิยม (elitism) ของมหาวิทยาลัย ซึ่งยังคงถูกพูดถึงกันอยู่ในทุกวันนี้ ประมาณว่า วงวิชาการคือสถาบันที่คลั่งเรื่องความเป็นชนชั้นนำ เหล่านักวิชาการก็อยู่บนหอคอยงาช้าง ไม่เคยเสนออะไรที่เป็นประโยชน์ และนักศึกษาคือพวกที่จะจบไปเป็นเจ้าคนนายคนในอนาคต เผามหาวิทยาลัยทิ้งซะ
ข้อวิพากษ์นี้ยังพอมีน้ำหนักอยู่บ้างเมื่อย้อนไปในช่วงทศวรรษ 1960s พวกนักศึกษาผู้ก่อการประท้วงสามารถค้นพบได้ในเวลาไม่นานว่า ลึกๆ แล้วศาสตราจารย์มาร์กซิสต์ ‘นักปฏิวัติ’ ของพวกเขา เป็นพวกอนุรักษ์นิยมที่เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจสถาปนา (establishment) ธีโอดอร์ อดอร์โน (Theodor Adorno) มองว่าการเดินประท้วงเปิดหน้าอกของพวกนักศึกษาราดิคัล คือการเสื่อมถอยไปสู่ความป่าเถื่อน และเป็นการฟื้นฟูลัทธิฟาสซิสต์ (ซึ่งเป็นมุมมองที่โด่งดังพอควร) และเพื่อเป็นการต่อสู้กับ ‘ฟาสซิสต์’ เขาจึงเรียกตำรวจมารวบตัวนักศึกษาที่กำลังชุมนุมออกไปจากมหาวิทยาลัยเสียเลย เพราะว่าหน้าอกอันเปลือยเปล่านั้นเป็นฟาสซิสต์มากกว่าการปราบปรามของรัฐ ซึ่งถ้าคุณเป็นปัญญาชนผู้ยิ่งใหญ่ก็จะเข้าใจเรื่องนี้เอง
อย่างไรก็ตามข้อวิพากษ์จากยุค 1960s ที่มีต่อวงวิชาการชนชั้นนำนิยมนั้นไม่เข้ากันกับเวลาปัจจุบันแล้ว แต่มันถูกฟื้นไข้โดยระบบทุนนิยม เพื่อที่จะทำการปรับโครงสร้างใหม่ ดังที่มีผู้แสดงความเห็นไว้ในฟอรั่มดังนี้
carver เขียนว่า:
[บทวิพากษ์เพื่อต่อต้านชนชั้นนำ] ได้ขับเคลื่อนให้เกิดการดึงเอาลักษณะของมหาวิทยาลัยฟิวดัลในสมัยก่อนเข้ามาในระบบทุนนิยมอย่างเป็นขั้นตอน ตัวอย่างเช่นการโจมตีความเป็นอภิสิทธิ์ชนในการได้รับบำเหน็จบำนาญของพนักงานมหาวิทยาลัย การเพิ่มค่าธรรมเนียมและการสร้างหนี้ ยกให้การได้รับการศึกษาเป็นเรื่องของคนบางกลุ่มที่มีกำลังจ่าย การจ้างงานจากภายนอกอย่างไม่เป็นกิจลักษณะเพื่อลดค่าใช้จ่าย สนับสนุนการวิจัยน้อยลง ทำให้มันเป็นแค่เครื่องมือทางเหตุผลแบบหยาบๆ เนื้อหาในการเรียนก็ทำให้มันแยกออกเป็นส่วนๆ การยกหน้าที่ในการสอนไปให้พวกผู้ช่วยโดยจ่ายค่าจ้างในระดับต่ำ และอื่นๆ สิ่งที่เคยเป็นการศึกษาสำหรับชนชั้นนำก็กลายเป็นแค่การฝึก (training) สำหรับมวลชนจำนวนมาก
กราฟที่แสดงให้เห็นถึงจำนวนนักศึกษาที่เพิ่มขึ้นอย่างมากตั้งแต่ทศวรรษ 1950s
ไม่มีอดีตให้โหยหา ไม่มีอนาคตให้ตั้งความหวัง
การเพิ่มขึ้นอย่างมากของจำนวนนักศึกษามหาวิทยาลัยเกิดขึ้นจากการปรับโครงสร้างอย่างหนักหน่วง การจัดการตนเองอย่างมีลำดับชั้นในสังคมฟิวดัลได้ถูกแทนที่โดยวิถีแบบกลุ่มผู้บริหารบริษัท ซึ่งประกอบด้วยเหล่าผู้จัดการมืออาชีพ ความอิสระในการทำงานวิชาการถูกตัดทอนและแทนที่ด้วยระเบียบวิธีวิจัยที่เข้มงวด (REF หรือ Research Excellence Framework) เน้นการตีพิมพ์ผลงาน ค่าธรรมเนียมการศึกษาสูงขึ้นเพื่อเปลี่ยนนักศึกษาให้กลายเป็นลูกค้า หรือ ‘หน่วย’ ซึ่งเป็นคำเรียกที่หลุดออกมาจากปากของรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยซัสเซกส์ เสรีภาพในการศึกษาถูกตัดตอนออกไป กลายเป็นยุคของเสรีภาพแบบตลาดแทน
แต่การแก้ต่างให้กับ ‘การศึกษา’ ก็ยังมีปัญหา เพราะเราไม่เคยมียุคทองของการศึกษามาก่อน ในตอนที่มหาวิทยาลัยยังมีอิสระจากระเบียบแบบทุนนิยม มันก็เป็นสถาบันชนชั้นนำอย่างที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ในช่วงทศวรรษ 1950s และ 60s มีผู้ที่ได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยเพียง 4-8% เท่านั้นจากประชากรทั้งหมด การที่จะทำให้มวลชนจำนวนมากเข้าถึงการศึกษา ก็ต้องแลกมาด้วยเสรีภาพทางวิชาการ การเก็บค่าธรรมเนียม วังวนของการเป็นหนี้ การจ้างงานจากหน่วยงานเอกชนภายนอก ลดจำนวนพนักงานสายสนับสนุน การทำให้มหาวิทยาลัยกลายเป็นหน่วยย่อย และบริหารจัดการการเงินของตัวมันเอง รวมไปถึงการโอนถ่ายการเรียนการสอนให้กับอาจารย์พิเศษที่ค่าแรงต่ำและสัญญาระยะสั้น อันที่จริงสิ่งเหล่านี้สามารถอธิบายได้ด้วยหลักอุดมคติเชิงเศรษฐศาสตร์การเมือง คือการหลอกล่อให้นักศึกษาปริญญาเอกขายแรงงานของพวกเขาในราคาถูก เพื่อแลกมากับความมั่นคงในอาชีพวิชาการซึ่งกำลังหายไปอย่างรวดเร็ว
กล่าวอย่างรวบรัด มันก็คือการที่มหาวิทยาลัย ‘ถูกดึงเข้ามาอยู่ในระบบของทุนนิยม (real subsumption)’ การเพิ่มขึ้นของอัตรานักศึกษาต่อจำนวนประชากรจาก 4% มาเป็น 40% นั้นมีราคาที่ต้องจ่าย นั่นก็คือการที่สถาบันแบบฟิวดัลต้องแปรเปลี่ยนตัวเองมาเป็นนายทุน บทความหนึ่งใน London Review of Books ได้อธิบายกระบวนการนี้ไม่อย่างชัดเจน และกล่าวถึงบริบทของคราบเลือดที่ทางเดินของถนนมาเล็ทด้วย:
Oscar Webb เขียนว่า:
[ใน UCL] สำนักงานของพนักงานมหาวิทยาลัยที่สนับสนุนด้านวิชาการและการบริหารจัดการจะเปลี่ยนจาก ‘สภาพแวดล้อมแบบคุก’ ไปเป็น ‘สภาพแวดล้อมแบบรังสัตว์’ หรือกล่าวอีกอย่างคือ ผู้คนเหล่านั้นจะต้องแชร์พื้นที่ร่วมกันมากขึ้น (…) ในช่วงเวลาหนึ่ง พื้นที่ของนักวิชาการในมหาวิทยาลัยมีสัดส่วนถึง 21% ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งมีเป้าหมายที่จะถูกลดให้เหลือราวๆ 10% ในขณะที่พื้นที่สำนักงานในมหาวิทยาลัยลอนดอน ที่ควบคุมเรื่องอสังหาริมทรัพย์ การเงิน งานทะเบียน และงานทรัพยากรมนุษย์ จะถูกขยายจาก 5% เป็น 25% (…) เหล่าอาจารย์และนักศึกษาถูกบีบให้ต้องอยู่ในพื้นที่ที่น้อยลง และพื้นที่ว่างที่เกิดขึ้นก็จะถูกเติมเต็มไปด้วยโครงการเชิงพาณิชย์ต่างๆ จะมีร้านกาแฟเปิดใหม่อีก 10 ร้าน จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 6 ร้าน พวกที่วางแผนการเหล่านี้ไม่เคยละอายที่จะพูดถึง ‘โอกาสในการหาเงิน’ มหาวิทยาลัยสำหรับพวกเขาก็ไม่ต่างไปจากห้างสรรพสินค้า พื้นที่ใช้สอยจะเต็มไปด้วยร้านค้าตู้กระจก มาเล็ทเพลสจะกลายเป็นศูนย์การค้า มีการเชิญชวนพวกพ่อค้าให้มาเปิดร้านในพื้นที่ ‘ที่ไม่ค่อยมีการใช้งาน’ (…) พื้นที่ในส่วนของชั้นแรกจะเป็นศูนย์รวมของนักศึกษา รวมถึงร้านสตาร์บัค ส่วนสำนักงาน ห้องบรรยาย ห้องส่วนกลาง และพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กจะถูกรื้อทิ้งทั้งหมด
ในขณะเดียวกัน การจัดวางทางหน้าที่และชนชั้นของมหาวิทยาลัยก็ได้เปลี่ยนไปด้วย ดังที่ Carver ชี้ให้เห็นว่า มีเพียง 1.5% ของบัณฑิตจบใหม่ ที่สามารถหางานที่ต้องการวุฒิ ‘ระดับบัณฑิต’ ได้ และอาชีพหลายอาชีพที่อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าว อย่างเช่นพยาบาล ก็อยู่ห่างไกลจากงานประเภทการบริหารจัดการ หรืองานเทคนิคที่ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ (technocrat) แต่ประชากรประมาณ 1 ใน 3 ของสหราชอาณาจักรที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ล้วนมีใบปริญญาที่ได้จากมหาวิทยาลัย ดังที่ DSG เขียนไว้ในปี 2011 ว่า:
DSG
เราถูกทำให้ต้องจ่ายเงินเพื่อเรียนเอาวุฒิเพิ่ม โดยที่ไม่มีการรับรองใดๆ และมีโอกาสเพียงน้อยนิดที่จะทำให้เราได้เงินเดือนมากขึ้น ทุกวันนี้วุฒิการศึกษาจากมหาวิทยาลัยไม่ใช่สัญญะของการเป็นชนชั้นกลางอีกต่อไป มันเป็นวิถีของชนชั้นแรงงานที่จะทำให้พวกเขารู้สึกไม่แปลกแยกกับการทำงานในยุคหลังอุตสาหกรรม นี่เป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์ทางชนชั้นที่ถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบัน
มหาวิทยาลัยเริ่มที่จะแสดงตัวต่อเราในฐานะเจ้านายผู้กดขี่ เจ้าที่ดินหน้าเงิน เจ้าหนี้ และผู้กระทำการปราบปรามด้วยความรุนแรงมากขึ้นทุกที นี่เป็นบริบทที่อยู่ในข้อสงสัยของ Aaron Bastani
Aaron Bastani เขียนว่า:
…ในบรรดาเสียงโห่ร้องเหล่านั้น อาจเป็นของคนจำพวกที่เรียกได้ว่า อภิสิทธิ์ชนทางการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นพวกนักศึกษาหรือบัณฑิตจบใหม่ก็ตาม แต่พวกเขากำลังมีความรู้สึกร่วมกับเหล่าผู้ประท้วงในเดือนสิงหาคมมากกว่าสถาบันที่พวกเขาเล่าเรียนมา ซึ่งในทางประวัติศาสตร์ (อดีต) แล้วพวกเขามักจะยินยอมต่อสถาบันเหล่านั้นโดยไม่ปริปากอะไร
ในเมื่อไม่เคยมียุคทองทางการศึกษา การโหยหาอดีตจึงเป็นไปไม่ได้ และขณะเดียวกัน เราก็มองไม่เห็นอนาคตวันข้างหน้า ความขัดแย้งดังกล่าวนี้จึงทำให้ลักษณะมหาวิทยาลัยแบบนายทุนปรากฏเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ
“ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวคืออาวุธ ไม่ใช่คำพูด”
สโลแกนดังกล่าวสะท้อนก้องไปมาในช่วงเวลาที่ผ่านมา ผมคิดว่ามันช่วยให้เราได้รับรู้ถึงความเข้าใจสำคัญ 3 ประการที่มีต่อการต่อสู้ทางการศึกษา ประการแรกและเด่นชัดที่สุด มันเป็นการคำตอบพื้นๆ ที่จะทำให้ ‘การร่วมแรงร่วมใจกัน’ (solidarity) กลายมาเป็น ‘ความหวังอันสูงสุด’ ของฝ่ายซ้ายทั้งหลาย แทนที่ความซ้ำซากจำเจของการออกแถลงการณ์โดยที่ไม่ยอมลงมือทำอะไร สโลแกนดังกล่าวเป็นสิ่งที่ยืนยันว่า แค่เพียงคำพูดนั้นไม่เพียงพอ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันนั้นเป็นเรื่องของการลงมือทำ เหตุผลนี้เรียบง่ายแต่ก็มีความจำเป็น
ประการที่สอง การวางให้ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเป็นเหมือนกับอาวุธ คือการยืนยันว่าเรากำลังอยู่ในสงคราม ตัวอย่างเช่น ความสัมพันธ์ที่วางอยู่บนความเชื่อใจ และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การเคลื่อนไหวแบบกลุ่ม อีกทั้งมันยังเป็นการยับยั้งการตีความ ‘การต่อสู้’ ในแบบบ้าพลังหรืออาศัยความรุนแรง นี่คือการโต้กลับที่สำคัญต่อความพยายามของพวกเสรีนิยมที่จะอธิบายใหม่ว่าความขัดแย้งทางชนชั้น เป็นแค่เรื่องที่ต้อง ‘ดีเบท’ เพราะนี่ไม่ใช่การดีเบท มันคือชีวิต อาชีพการงาน ที่อยู่อาศัย และอนาคตของพวกเราที่แขวนอยู่บนเส้นด้าย เราไม่สามารถชนะด้วยเหตุผลที่เหนือกว่า แต่เป็นความแข็งแกร่งที่เหนือกว่า แนวคิดของเสรีนิยมที่ให้ค่ากับเหตุผลนั้นมีอิทธิพลอย่างมากในมหาวิทยาลัย ดังนั้นข้อนี้จึงสำคัญอย่างยิ่ง
ประการสุดท้าย ซึ่งไม่ชัดเจนที่สุด ก็คือการยืนยันว่าอาวุธของเราคือการร่วมแรงร่วมใจกันนั้น จะช่วยเน้นย้ำให้เห็นถึงความไม่สมมาตรอย่างสุดขั้วของขบวนการของเราเมื่อเทียบกับรัฐ มันอาจจะยังไม่ถึงเวลาอันควรที่จะพูดเช่นนี้ แต่ถ้าการกดปราบด้วยความรุนแรงต่อความขัดแย้งยังดำเนินไปเช่นนี้ หรือข้ามเส้นไปถึงการทำให้เลือดตกยางออก เมื่อถึงตอนนั้น ปัญหาของความรุนแรงและขบวนการติดอาวุธจะปรากฏออกมา ตัวอย่างในกรณีนี้ก็คือการปราบปรามขบวนการนักศึกษาในช่วงทศวรรษ 1960s ซึ่งทำให้เกิดกลุ่ม Angry Brigade, the Rote Armee Fraktion และ the Brigate Rosse ซึ่งเป็นกลุ่มมิลิแทนท์ (militant) ฝ่ายซ้าย
การยืนยันว่าความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันคืออาวุธของพวกเรานั้น ก็เพื่อเป็นการยับยั้งความคิดที่ว่าตอนนี้เราเจอกับทางตัน เพราะ 99 ใน 100 ครั้ง รัฐบาลได้เปรียบเราในด้านความพร้อมที่จะเผชิญหน้า ตั้งแต่การประท้วงไปจนถึงการต่อสู้ด้วยอาวุธ แต่ 99 ใน 100 ครั้ง เราก็ได้เปรียบในเรื่องปริมณฑลของชีวิตประจำวัน ความไม่สมมาตรอย่างสุดขั้วของแบบแผนทำให้เราเห็นวิธีการแบบนักสหการณ์นิยม (syndicalist) ที่ว่า: เราแข็งแกร่งเมื่อเราทำงานเชิงรากฐานอย่างมีน้ำอดน้ำทน ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยกับเพื่อร่วมงาน การทำให้พวกเขาปั่นป่วนใจ การให้ข้อมูลความรู้ และการจัดตั้ง กิจกรรมเหล่านี้ถูกห้ามปรามได้ยากกว่ามาก
งานเหล่านี้ล้วนเป็นงานที่ต้องทำใต้ดิน ไม่ให้ใครเห็น ไม่เป็นจุดสนใจ เหมือนกับตัวตุ่นที่ขุดอยู่ใต้พื้นดิน แต่เมื่อมันทะลุพื้นผิวออกมา มันก็ไม่สามารถถูกปราบปรามได้โดยง่าย ถ้าจะให้อุปมาก็คือ-เพราะว่ามันมีราก เราไม่ต้องใช้สมมติฐานสำหรับข้อถกเถียงนี้ก็ได้: เรามีตัวอย่างที่ชัดเจนในกรณีการรณรงค์ด้านการศึกษาอย่างเช่น 3Cosas ส่วนกลุ่ม IWGB (The Independent Workers’ Union of Great Britain หรือสหภาพแรงงานอิสระแห่งเกาะอังกฤษ) ก็ได้รับชัยชนะมาบางส่วนจากการนัดหยุดงานเป็นเวลา 2 วัน และประกาศว่าจะประท้วงอีก 3 วันเพื่อชัยชนะที่สมบูรณ์ ถ้าเหล่าแรงงานที่ได้รับค่าจ้างต่ำ ไม่มีความมั่นคง ไม่มีสัญญาระยะยาวเหล่านี้สามารถจัดการตนเองและได้รับชัยชนะจากการประท้วงหยุดงานได้ คนกลุ่มอื่นๆ ก็สามารถทำได้เช่นกัน
การปราบปรามด้วยความรุนแรงนั้นได้ผลก็เพราะว่าในขณะที่มันทำให้พวกเราโกรธเกรี้ยวกระหายความเปลี่ยนแปลง แต่ก็ยังทำให้พวกเราสิ้นพลังด้วย เรารู้อยู่แก่ใจว่าตำรวจเป็นพวกวายร้าย และรัฐจะใช้ความรุนแรงทางกายภาพกับคุณ คุณอาจจะถูกฟาดด้วยกระบอง หรืออาจจะกลัวจนไม่กล้าทำอะไร แต่เราเห็นชัดแล้วว่าการออกไปเผชิญหน้ากับพวกเขาบนท้องถนน อาจจะทำให้เราต้องเลือดตกยางออก นี่ไม่ได้หมายความว่าการประท้วงเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง แต่เราก็ต้องเอาความโกรธไปใช้กับการปั่นหัวพวกมัน และจัดตั้งขบวนการของเราที่แทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวัน ด้วยวิธีดังกล่าว เราก็สามารถสร้างขบวนการที่ไม่สมมาตรและมีข้อเรียกร้องเป็นของตัวเอง สร้างแรงผลักของตัวเอง และหยั่งรากลึกเพื่อเอาชีวิตรอดหรือแม้แต่การเตรียมพร้อมที่จะเผชิฐหน้ากับการปราบปรามด้วยความรุนแรงก็ตาม
ต้นฉบับนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่: Slaves Without Masters
เผยแพร่ซ้ำโดยคำอนุญาตจากผู้เขียน