ทบทวนยุทธวิธีของการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบศักดินาในห้วงเวลาปัจจุบัน 

เรื่อง K.Kabot

ในห้วงของวิกฤตการณ์ทางการเมืองไทยในขณะนี้ ผมคิดว่าคงไม่มีใครที่ไม่เคยได้ยิน “ 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ “ ที่เสนอขึ้นโดยความต้องการของมวลชนผ่าน “กลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม” เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2563 แม้ยังไม่มีข้อเสนอใดที่ถูกนำไปรับฟังและปรับใช้เลย ก็ไม่ได้หมายความว่า ข้อเสนอเหล่านี้รวมไปถึงการต่อสู้ที่ผ่านมาจะไม่มีคุณค่าหรือความหมายใด ๆ

ขั้นต้น ผมอยากจะชวนคิดถึงความแตกต่างของการ “ปฏิรูป” และการ “ปฏิวัติ” ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร

การปฏิรูป หมายถึง การปรับเปลี่ยนในรายละเอียดปลีกย่อยของสิ่งที่เราต้องการจะเปลี่ยนแปลง เปรียบเสมือนมีเครื่องจักรชิ้นหนึ่งที่ทำงานขัดข้องเพราะมีน็อตบางตัวหลุด ไฟฟ้าลัดวงจร น้ำมันเครื่องหมด ฯลฯ แต่ในภาพรวม “เครื่องจักร” ดังกล่าวยังสร้างคุณมากกว่าโทษ และราคาของการแก้ไขปรับปรุงยังมีความสมเหตุสมผล สิ่งที่พวกเราต้องทำก็คือ หาช่างมาซ่อมแซมเพื่อให้เครื่องจักรนั้นทำงานต่อไปได้ และสร้างคุณประโยชน์ให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้องดังที่เคยเป็นมา

การปฏิวัติ หมายถึง การ “ยกเครื่อง” เปลี่ยนเครื่องจักรและระบบกลไกการทำงานทั้งหมดเสียใหม่ แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่คิดและทำได้ยากกว่าการ “ปฏิรูป” แต่เหตุจำเป็นที่ต้องทำการเปลี่ยนทั้งระบบ ก็เนื่องมาจากการที่เครื่องจักรชิ้นดังกล่าว “สร้างโทษมากกว่าคุณประโยชน์” มีราคาของการซ่อมแซ่มมากเกินไป หรือในหลายกรณี เครื่องจักรนั้น (ถูก) ปฏิเสธที่จะให้มีการซ่อมแซมใด ๆ เกิดขึ้น เนื่องมาจากความชำรุดของเครื่องจักรนั้น สร้างผลประโยชน์ให้กับผู้มีอำนาจไม่กี่คน แม้จะกำลังสร้างโทษมหาศาลให้กับคนส่วนใหญ่ก็ตาม

จะเห็นได้ว่าการที่เราจะเลือก “ปฏิรูป” หรือ “ปฏิวัติ” นั้นขึ้นอยู่กับ “ความจำเป็น” มากกว่าจะเป็นความ “ยาก-ง่าย” มนุษย์เรา เช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆบนโลกใบนี้ มีสัญชาตญาณของการ “เลือกสิ่งที่สร้างความเจ็บปวดน้อยกว่า” ให้แก่ตนเองและคนที่เรารักอยู่เสมอ แต่สิ่งที่ทำให้เราต่างจากสัตว์ก็คือ สัตว์ทำได้แค่เลี่ยงความเจ็บปวดบนฐานคิดของ “สถานการณ์เฉพาะหน้า” ในทางกลับกัน มนุษย์มีความสามารถที่จะคำนึงและคาดคะเนถึงความเจ็บปวด-เสียหาย-ล้าหลัง อันพึงเกิดขึ้นได้ในอนาคต รวมไปถึงความเจ็บปวดซึ่งจะเกิดขึ้นกับมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ

การปฏิวัติหมายถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งจะมีผู้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทั้งในด้านดีและด้านเสียอย่างมากแน่นอน จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงการปะทะ ต่อสู้ได้ ไม่ว่าจะในทางรูปธรรมหรือนามธรรม ในทางทฤษฎีหรือในทางปฏิบัติ .. และเมื่อมีการ “ต่อสู้” สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยในการกุมชัยชนะก็คือ “ยุทธวิธี” อันหมายถึง การวางแผนในการชิงชัยในสนามการต่อสู้ที่ใกล้จะเกิดขึ้น หรือกำลังเกิดขึ้นอยู่ และ “ยุทธศาสตร์” ซึ่งหมายถึง “เป้าหมายใหญ่” ซึ่งจะถูกนำมานิยาม “ชัยชนะ” ในท้ายที่สุด

ในห้วงเวลาของการต่อสู้ก็ดี รวมไปถึงสงครามก็ดี หลักการพื้นฐานคือ “ศัตรูของศัตรู คือ มิตร” และเราจะจำแนกมิตรหรือศัตรูได้จาก “ยุทธศาสตร์” ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของการต่อสู้ว่ามีเป้าหมายเดียวกันหรือไม่  .. ในห้วงเวลาของการเสื่อมสลายของอำนาจนำ (Hegemony) ของชนชั้นปกครองไทยอันประกอบไปด้วยขุนศึก ศักดินา และนายทุนเสรี ที่ทำให้เกิดเป็นความขัดแย้งทางการเมืองแบบรูปธรรมขึ้น ก็ได้มีความปรารถนาจากหลายฝ่ายที่มีต่อทิศทางการเปลี่ยนแปลงของสถาบันกษัตริย์ โดยจะขอแบ่งเป็น 3 กลุ่มทางความคิดใหญ่ๆ อันได้แก่ 

  1. ฝั่งอนุรักษ์นิยม-กษัตริย์นิยม : มีความต้องการให้กษัตริย์เปลี่ยนแปลงใน “กรอบศีลธรรมแบบศักดินา” นั่นคือ ต้องการให้censorcensorมีพฤติกรรมส่วนตัวที่ดีขึ้น มั่นคงในทศพิธราชธรรม สร้างภาพลักษณ์อันทรงเกียรติน่าเชิดชูบูชา ให้ได้เหมือนกษัตริย์องค์ที่แล้ว หรือไม่ก็กษัตริย์จากประเทศโลกที่ 1 ท่านอื่นๆ
  1. ฝั่งเสรีนิยม-ทุนนิยม : มีความต้องการคล้ายกับฝั่งอนุรักษ์นิยม เพียงแต่มักมองไม่ค่อยเห็นมิติทางความเชื่อมโยงของสถาบันกษัตริย์ไทยที่มีต่อ “ทุน” และ “นายทุน” ใหญ่ ๆ ของประเทศว่ามีความช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างไร และอาจไม่ทราบถึง “ที่มา” ของ “อำนาจนำ” ของcensorcensorว่าเป็นสิ่งที่ได้ความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการกำราบปราบปรามขบวนการคอมมิวนิสต์ที่กำลังเข้มแข็งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในบริบทยุคสงครามเย็น .. ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า พวกเสรีนิยมบางกลุ่มกับอนุรักษ์นิยมบางส่วน มีอุดมคติต่อสถาบันกษัตริย์ร่วมกันว่า อยากให้สถาบันกษัตริย์คงอยู่ใน “เชิงสัญลักษณ์” เหมือนกับ กษัตริย์อังกฤษ ญี่ปุ่น ฯลฯ แต่ความแตกต่างก็คือ ฝั่งกษัตริย์นิยมสุดขั้วต้องการเพิ่มพระราชอำนาจและบ่อยทำลายระบบประชาธิปไตย ในขณะที่ฝั่งเสรีนิยมต้องการจำกัดอำนาจสถาบันกษัตริย์ และแบ่งดุลอำนาจให้แก่ประชาธิปไตยเสรี-ทุนนิยม มากกว่า และจุดร่วมกันที่ชัดเจนที่สุดของทั้ง 2 ฝั่งที่กล่าวมานั้น คือ การใช้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี การโอนกิจการของรัฐไปให้เอกชน (privatization) การตัดสิทธิสวัสดิการต่างๆที่เคยมีให้ประชาชน และการคงสภาพของนายทุนยักษ์ใหญ่ หากเป็นฝั่งอนุรักษ์ฯก็จะเชิดชูเขาในฐานะที่เป็น “นายทุนผู้จงรักภักดี” ในฝั่งของเสรีนิยมก็จะเชิดชูเขา (นายทุนใหญ่) ในฐานะของ “นักธุรกิจมากฝีมือ” และปล่อยให้ทุนกับนายทุนทำการกดขี่ประชาชนต่อไป หรือไม่ก็คลอดนโยบายที่ดูเหมือนรัฐสวัสดิการอ่อน ๆ ออกมาแข่งขันกันในสนามเลือกตั้งเพื่อความฮือฮา..เท่าที่จะไม่กระทบต่อความพอใจของเหล่านายทุน
  2. ฝั่งสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์ : มีความต้องการการ”ปฏิวัติ” นั่นคือ ยกเลิกระบบเผด็จการโดยคนส่วนน้อย ไม่ว่าจะมาในเครื่องแบบชุดสูทนักธุรกิจ เครื่องแบบทหาร หรือเครื่องทรงทองอร่าม จักร ๆ วงศ์ ๆ และยึดอำนาจคืนสู่ประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศที่เป็นเจ้าของอำนาจอย่างแท้จริง ซึ่งก็รวมไปถึงการยกเลิกกลไกทางการปราบปราม ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร ศาล คุก ฯลฯ รวมไปถึงกลไกทางอุดมการณ์ เช่น วัด โรงเรียน ฯลฯ ที่กำลังทำหน้าที่ผลิตซ้ำรูปแบบการปกครองเดิมโดยคนส่วนน้อย และ “ทดแทน” ด้วยองค์กรทางสังคมแบบใหม่ที่ถูกวางแผนอยู่บนฐานของผลประโยชน์คนส่วนมาก และแน่นอนว่า ต้องมาจากการตัดสินใจผ่านวิถีประชาธิปไตยในชุมชน

ซึ่งเราก็ต้องยอมรับว่า แม้ในโลกออนไลน์กระแสการปฏิรูปและปฏิวัติสถาบันกษัตริย์นั้นจะอยู่ในกระแสสูงยิ่ง แต่ระบบอัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียก็มีแนวโน้มที่จะทำให้เราอยู่ใน “ห้องเสียงสะท้อน” (Echo Chamber) นั่นคือ เรามักจะเห็นโพสต์ ข้อความ ของคนที่ถูกจัดให้อยู่ใน “กลุ่มเป้าหมาย/กลุ่มตลาด” แบบเดียวกับเรา เช่นเดียวกับที่ “ข่าว” ในฟีดของแอพ Line จะเต็มไปด้วยสำนักข่าวและเนื้อหาสุดสลิ่ม เนื่องมาจากคน Gen X – Gen Boomer มักสิงสถิตอ่านข่าวจากฟีดของแอพ Line มากที่สุดนั่นเอง

ดังนั้นถ้าหากเราประมวลประเด็นที่ได้เสนอไว้ข้างต้น เราก็จะสามารถทำความเข้าใจข้อเสนอของกลุ่ม “ธรรมศาสตร์และการชุมนุม” รวมไปถึงกลุ่มแนวร่วมอื่น ๆ ได้ว่าอยู่บนพื้นฐานของ “ยุทธวิธี” กล่าวคือ แม้ใจเราจะอยากเสนอการ “ปฏิวัติ” ในตอนนี้ แต่นอก Echo Chamber ของพวกเรา กระแสของการปฏิวัติยังไม่ได้สูงขนาดนั้น และอาจทำให้เสียมวลชนที่ยังไม่ได้ปลดแอกจากมายาคติของกษัตริย์และทุนนิยม เนื่องจากถูกมองว่าเป็นข้อเสนอที่ “รุนแรงเกินไป” (ถึงอย่างนั้น ลำพังแค่การเสนอ “ปฏิรูป” ก็ยังมีเสรีนิยมและอนุรักษ์นิยมหลายท่านวิจารณ์ว่าเป็นเรื่อง “รุนแรง และ สุดโต่ง” เกินไป)

และถ้าเรามาพิจารณาในแต่ละ 10 ข้อเสนอของกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม ก็จะเห็นได้ว่า มีการ “วางกับดัก” อันบ่งชี้ไปในแนวทางของการปฏิวัติ เช่น

  1. ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมถึงเปิดให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ได้ และนิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ทุกคน

– ในข้อนี้ หากถูกปฏิบัติใช้ จะทำให้ประชาชนสามารถนำ “เรื่องความลับ-เรื่องต้องห้าม” ที่censorใช้อำนาจเหนือกฏหมายซุกซ่อนเอาไว้ ออกมาเปิดเผยและพูดคุยกันได้ในที่สาธารณะ ซึ่งจะนำมาสู่ความเสื่อมของอำนาจนำสถาบันcensor แต่ถ้าถูกปฏิเสธ ประชาชนก็จะเกิดความสงสัยว่าถูกปฏิเสธเพราะเหตุใด และมีความลับอะไรที่ซ่อนอยู่ใต้กฎหมายหมิ่นฯ

  1. ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 และให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง และทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่เป็นของส่วนตัวของกษัตริย์อย่างชัดเจน

– ข้อนี้เป็นการดึงความสนใจของภาคประชาชนให้มาอยู่กับการใช้อำนาจเหนือกฎหมายแย่งยึดเอาสมบัติชาติรวมไปถึงปัจจัยการผลิตของประชาชนหลายภาคส่วนมาเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของcensorและสืบเนื่องให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของcensorกับ “ทุนนิยม” (เช่นเดียวกับข้อ 4 และ 6 ที่จะเผยถึงความสัมพันธ์ของcensorกับ “เส้นสาย” และระบบอุปภัมภ์ที่มีต่อนายทุนทั้งไทยและต่างชาติ)

  1. ยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์แต่เพียงด้านเดียวจนเกินงามทั้งหมด
  2. สืบหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าราษฎรที่วิพากษ์วิจารณ์หรือมีความเกี่ยวข้องใด ๆ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

ข้อ 8 และ 9 เป็นการดึงความสนใจและความสงสัยที่มีต่อ “ความชอบธรรม” ของcensorอย่างชัดเจน ถ้าหากไม่ได้ต้องการปกปิดความผิดหรือต้องการสร้างอำนาจบาตรใหญ่ครอบงำประชาชน ทำไมจึงต้องมีการประชาสัมพันธ์และการปลูกฝังให้เชิดชูcensorแต่เพียงด้านเดียว? และหากไม่เคยมีเรื่องการ “สังหารเข่นฆ่าราษฎร” ที่ปรากฏในข้อ 9 มีเหตุผลใดที่ต้องปฏิเสธข้อเรียกร้องนี้ ?

  1. ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก

ในข้อ 10 จะเห็นได้ชัดเจนที่สุดว่า แท้จริงแล้วคำว่า “censorทรงอยู่เหนือการเมือง” มิได้หมายความว่าcensorไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่เป็นผู้ “สร้างความชอบธรรม” ผ่านการลงพระปรมาภิไธย หรืออาจเป็นผู้บงการให้เกิดการ “รัฐประหาร” ในประเทศไทยเสียด้วยซ้ำ

จริงอยู่ที่ในตอนนี้กระแสของการชุมนุมอาจแผ่วลงไป หรือยังไม่มีข้อเสนอใดถูกนำมาปรับใช้ หากแต่การต่อสู้นี้ แม้จะเริ่มขึ้นตั้งนานแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในขั้นของการเริ่มต้น หาใช่ขั้นของศึกสุดท้ายที่พ่ายแพ้ไม่ เพราะอำนาจแท้จริงของสถาบันcensorไม่ได้อยู่ที่การครอบครองกองทัพหรืออาวุธปืน หากแต่อยู่ที่ “ความศักด์สิทธิ์และความชอบธรรม”

ถ้าเราประเมินอย่างง่าย ๆ จากจำนวนผู้คนที่ “นั่ง” ในโรงหนังยามเพลงสรรเสริญบรรเลงขึ้นมา .. บรรยากาศการพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นของสถาบันกษัตริย์ที่เราเจอในชีวิตประจำวัน ทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ .. จะเห็นได้ว่าหากเทียบกับ 7 ปีที่แล้ว หรือ 10-20 ปีที่แล้ว ..จำนวนผู้คนที่ตื่นรู้และร่วมเป็นประจักษ์พยานต่อการเสื่อมสลายของอำนาจนำอันเป็นอาวุธที่น่าหวั่นเกรงสุดของสถาบันกษัตริย์แล้ว

 .. ผมไม่คิดว่าตอนนี้พวกเราอยู่ในสภาพของ “ผู้แพ้”