ผู้เขียน Gohar Ali Memon
ผู้แปล Pathompong Kwangtong
บรรณาธิการ Sarutanon Prabute
การกลับมาของขบวนการสตรีนิยมปากีสถานครั้งนี้ คุณ Memon ได้เขียนถึงองค์กรที่คนไม่ค่อยเห็นค่าซึ่งนำโดยผู้หญิงที่มีรากฐานมาจากชาวนา ไม่ใช่ชนชั้นกลางในเมือง

ปี 1979: นักกิจกรรมจาก Sindhiyani Tehreek ประท้วงการตัดสินประหารชีวิต Zulfikar Ali Bhutto ภาพ: Flickr
Sindhiyani Tehreek (ST) คือองค์กรทางการเมืองที่นำและก่อตั้งขึ้นจากหญิงสาวชาวชนบทในจังหวัด Sindh ทางตอนใต้ของปากีสถาน ขบวนการนี้ก่อตั้งขึ้นในช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 ในระหว่างการต่อสู้กับระบอบเผด็จการป่าเถื่อนของนายพล Zia-ul-Haq ภายใต้ร่มใบใหญ่ของขบวนการสนับสนุนประชาธิปไตย ภายหลังการลอบสังหารนายพล Zia ในปี 1988 องค์กร ST ได้ต่อสู้เพื่อการจัดสรรทรัพยากรน้ำในจังหวัด Sindh โดยต่อต้านขัดขืนการสร้างเขื่อนต่างๆ อันจะทำให้จังหวัดแห้งแล้ง ขบวนการต่อต้านเขื่อนดำเนินกิจกรรมยาวนานตลอดระบอบของ Benazir Bhutto, Nawaz Sharif และ นายพล Musharraf ผู้นำหญิงของ ST ยังคงต่อต้านขัดขืนอยู่เสมอ แม้ว่าเธอจะอายุอานามมากโขแล้วก็ตาม
แต่อะไรเล่าที่จุดประกายจิตวิญญาณการขบถครั้งนี้? ภายใต้สังคมศักดินาและปิตาธิปไตยที่ชายเป็นใหญ่ครองเมือง ที่ที่เกียรติยศยังคงได้มาจากการสังหารฆ่าฟัน ที่ที่อัตราการอ่านออกเขียนได้ในแถบชนบทนั้นแทบไม่ถึงหนึ่งในสี่ ความรุนแรงในครอบครัวไม่แม้แต่จะถูกจดจารลงบันทึกประจำวัน แล้วหญิงสาวชาวชนบทเหล่านี้สามารถนำการต่อต้านขัดขืนระบอบเผด็จการอันป่าเถื่อนที่สุดของปากีสถานได้อย่างไร? สิ่งไหนจะเป็นบทเรียนให้กับขบวนการสตรีนิยมปากีสถานที่ลุกขึ้นมาสู้ในสมัยนี้ได้บ้าง? ที่จริงแล้ว เราสามารถเรียก Sindhiyani Tehreek ว่า ‘สตรีนิยม’ ได้หรือไม่? นี่คือบางคำถามที่ผมหวังจะหาคำตอบให้ได้
รากฐานทางอุดมการณ์ของ Sindhiyani Tehreek
องค์กร ST ก่อตัวขึ้นจากผู้หญิงในพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายของ Sindhi ชื่อว่า Awami Tehreek พรรค Awami Tehreek เกิดจากสติปัญาของ Rasool Bux Palijo ปัญญาชนและนักการเมืองฝ่ายซ้ายมากประสบการณ์ ผู้มีความคิดทางการเมืองโดดเด่น Palijo มีจุดยืนที่แตกต่างจากพรรคคอมมิวนิสต์จารีตของปากีสถานในเรื่อง ‘ปมปัญหาของชาติ’ และต่างจากกลุ่มชาตินิยมทั่วๆ ไปใน Sindh เกี่ยวกับเรื่องปมปัญหาของการต่อสู้ทางชนชั้น
‘ภายใต้สังคมศักดินาและปิตาธิปไตยที่ชายเป็นใหญ่ครองเมืองนี้ ที่ที่เกียรติยศยังคงได้มาจากการสังหารฆ่าฟัน ที่ที่อัตราการอ่านออกเขียนได้ในแถบชนบทนั้นแทบไม่ถึงหนึ่งในสี่ และความรุนแรงในครอบครัวไม่แม้แต่จะถูกจดจารลงบันทึกประจำวัน แล้วหญิงสาวชาวชนบทเหล่านี้สามารถนำการต่อต้านขัดขืนระบอบเผด็จการอันป่าเถื่อนที่สุดของปากีสถานได้อย่างไร?’
การที่จังหวัด Sindh ถอยห่างจากโปรเจคใหญ่ว่าด้วยสหพันธ์ปากีสถาน ซึ่งเป็นสหพันธ์ที่ฝ่ายซ้ายของปากีสถานรุ่นก่อนๆ ได้ช่วยกันสร้างขึ้น คือรากฐานที่ทำให้ Palijo ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายซ้ายจารีตของปากีสถาน พรรคคอมมิวนิสต์อินเดียสนับสนุนความคิดเรื่องความเป็นชาติมุสลิม และช่วยให้สหายชาวมุสลิมได้ร่วมมือกับพรรคสันนิบาตมุสลิม ภายใต้ข้อเสนอของ Adhikari โดยทั่วไปคนมองว่าพรรคนี้มีแนวทางต่อต้านอาณานิคม และสิทธิในการแบ่งแยกดินแดนก็ได้รับการยอมรับภายใต้ฉากหน้าของสิทธิในการปกครองตนเอง ดังนั้นแล้ว เหล่าคอมมิวนิสต์จึงยอมรับทั้งไอเดียของปากีสถานและสันนิบาตมุสลิม พรรคที่นำโดยชนชั้นปกครองศักดินาแห่งสหรัฐอินเดีย (United India) ว่ากันแล้ว การยอมรับสิ่งเหล่านี้ก็ยังคงมีอยู่ในฝ่ายซ้ายปากีสถานหลังแบ่งแยกดินแดน ประเด็นปัญหาเรื่องภาษาและการจัดสรรน้ำในรูปแบบการกระจายอำนาจกลับไม่ได้รับการพูดถึงในวงอภิปรายฝ่ายซ้ายเลย
ในปี 1954 รัฐบาลปากีสถานแบนพรรคคอมมิวนิสต์ และบังคับใช้รูปแบบรัฐรวมศูนย์ (One Unit Scheme) ยกเลิกอำนาจปกครองตัวเองบางส่วนของจังหวัดต่างๆ ที่พวกเขาเคยสัญญาไว้ในข้อตกลง Lahore หลังจากนั้น ในปี 1955 ก็มีการสร้างเขื่อ Kotri ในบริเวณใกล้เคียง Hyderabed ตามด้วยเขื่อน Guddu ณ ตอนเหนือของจังหวัด Sindh เมื่อปี 1962 เขื่อนทั้งสองทำให้บางส่วนของจังหวัด Sindh อุดมสมบูรณ์ขึ้น แทนที่ชาวนาจะได้รับผืนดินบริเวณดังกล่าว มันกลับถูกแจกจายให้แก่พวกศักดินาและทหารชนชั้นนำชาวปากีสถาน ที่ไม่ใช่คนในจังหวัด Sindhi ปัญหาต่างๆ ของชาวนา Sindhi นั้นหนักหนาสาหัสมากขึ้น เมื่อมีการเซ็นสนธิสัญญา World Bank-brokered Indus Water ระหว่างปากีสถานกับอินเดียเมื่อปี 1960 สนธิสัญญานี้ก่อให้เกิดหายนะแก่จังหวัด Sindh และแถบชายฝั่งที่ราบลุ่มต่างๆ ผู้อยู่อาศัยแถบนั้นเผชิญหน้ากับความเป็นความตาย อันเนื่องมาจากความขาดแคลนน้ำในแถบชายฝั่ง หากนับรวมปัญหาทางภาษา ซึ่งมีต้นตอมาจากการประกาศของ Jinnah ให้ Urdu เป็นภาษาประจำชาติภาษาเดียว ทำให้ผู้คนสูญเสียอิสรภาพในตนเองแล้วไซร้ การแจกจ่ายที่ดินทำกินบริเวณเขื่อนให้แก่ชนชั้นนำที่ไม่ใช่ชาว Sindhi ก็ได้ฝังรากแก้วแห่งความคับแค้นให้กับชาวนาในพื้นที่ และโหมกระพือความคิดชาตินิยมใน Sindhi
ตลกร้ายก็คือ หากว่ากันด้วยประวัติศาสตร์แล้ว จังหวัด Sindh นี่แหละเป็นที่แรกที่รับรองข้อตกลงปากีสถาน ผู้นำสันนิบาตมุสลิมของ Sindh ที่ชื่อว่า G. M. Syed ได้ช่วยให้ข้อตกลงนี้ผ่านไปได้ เขาเชื่อว่าสันนิบาตมุสลิมจะเป็นยาถอนพิษแก่นโยบายรัฐรวมศูนย์ของคองเกรสได้ อย่างไรก็ตาม เพียงไม่ถึงหนึ่งทศวรรษตั้งแต่การเกิดขึ้นของปากีสถาน จังหวัด Sindh ก็ถูกริบอำนาจการปกครองตนเองไป G. M. Syed ถูกจับ จอมพล Ayub Khan ผู้นำเผด็จการทหารในเวลานั้น ใช้หลักการแข็งกร้าวในการปกครอง เขาลงนามในสนธิสัญญา Indus Water กับอินดียที่มีเนื้อหาเป็นปรปักษ์กับชาว Sindh และแจกจ่ายที่ดินทำกินของจังหวัด Sindh ให้แก่ชนชั้นนำที่ไม่ใช่ชาวบ้าน Sindh เขายังสนับสนุนกลุ่มฝ่ายซ้ายนิยมจีนในปากีสถานเพราะเขามีความสัมพันธ์อันหวานชื่นกับจีนอีกด้วย Palijo ซึ่งใช้มุมมองแบบมารฺกซิสต์เลนินนิสต์ ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายซ้ายเหล่านี้ที่มองว่าเรื่องการปกครองตนเองระดับจังหวัด การจัดสรรทรัพยากรน้ำ และอธิปไตยทางภาษาเป็นเรื่องชาตินิยมล้าหลัง เขาเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นผลมาจากนโยบายต่างประเทศของมอสโกว์และปักกิ่ง มากกว่าที่จะเป็นความคิดมารฺกซิสต์โดยแท้ พวกเขาควรทำให้บ้านเมืองเป็นระบบ จัดการกับปัญหากระฎุมพีในปากีสถานเองให้เรียบร้อย เรียกร้องสิทธิการปกครองตนเองของชนชาติต่างๆ ในประเทศของพวกเขา ก่อนที่จะเริ่มโครงการสร้างโลกที่เท่าเทียม
‘Palijo ซึ่งใช้มุมมองแบบมารฺกซิสต์เลนินนิสต์ ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายซ้ายเหล่านี้ที่มองว่าเรื่องการปกครองตนเองระดับจังหวัด การจัดสรรทรัพยากรน้ำ และอธิปไตยทางภาษาเป็นเรื่องชาตินิยมล้าหลัง’
แต่ Palijo ก็ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มชาตินิยมชาว Sindh G. M. Syed ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ เมื่อปี 1966 เขาคิดว่าตัวเองคงไม่สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างเปิดเผยในประเทศนี้ได้อีกแล้ว ดังนั้นเขาจึงก่อร่างสร้างแนวร่วมทางวัฒนธรรม เพื่อฟูมฟักจิตสำนึกทางการเมืองในชาว Sindh ขึ้นแทน ตัวอย่างองค์กรทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น คือ Bazm-e-Sufia-e-Sindh และสหพันธ์นักศึกษา Jeay Sindh Palijo ในวัยหนุ่มได้เป็นส่วนหนึ่งของ Bazm
ไม่นานนัก ฝ่ายรัฐก็มองแนวทางของ Syed ออก เขาจึงถูกจับอีกครั้ง ตลอดระยะเวลาของระบอบ Zulfikar Ali Bhutto ที่ยอมทำตามความต้องการของ Muhajir โดยการทำให้ Urdu เป็นภาษาทางการของ Sindh เคียงคู่ไปกับภาษา Sindhi และประกาศรัฐธรรมนูญใหม่ในปี 1973 ที่ไม่ยอมรับรองว่าจังหวัดเป็นส่วนประกอบหลักของรัฐทั้งหลาย แต่เป็นเพียงแค่ส่วนย่อยแห่งสหพันธ์ Syed จึงสูญสิ้นความหวังว่าชาว Sindh จะเป็นอิสระและรุ่งโรจน์ภายใต้ปากีสถาน เขาจึงก่อตั้ง Jeay Sindh Muttahida Mahaz ซึ่งดำเนินนโยบาย ‘Sindhudesh’ ซึ่งหมายถึงการแยกตัวจากปากีสถานอย่างสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม Palijo ไม่เห็นด้วยกับ Syed เขาเชื่อว่า หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากกรรมาชีพและมวลชนชาวนารากหญ้า หากไม่มียุทธศาสตร์ปฏิวัติผ่านพรรคที่ทำหน้าที่เป็นแนวหน้าแล้วไซร้ นโยบายนี้คงจบลงด้วยหายนะเป็นแน่ Palijo เชื่อว่าขบวนการทางวัฒนธรรมที่พึ่งพานักศึกษาเป็นหลักอย่างขบวนการของ Syed นั้นมีข้อจำกัด เพระหากไม่มีรากฐานมาจากมวลชนแล้วนั้น ขบวนการชาตินิยมอาจถูกพวกชนชั้นนำศักดินาทั้งหลายแทรกแซงแล้วยึดเอาไปใช้ และอาจถูกบดขยี้จากรัฐตั้งแต่ระยะตั้งไข่ก็เป็นได้
Rasool Bux Palijo ปราศัย ณ การเดินขบวนในจังหวัด Sindh Palijo เป็นที่นิยมในจังหวัดเนื่องด้วยความก้าวหน้าและนโยบายชาตินิยมของเขา ภาพ: Facebook
Palijo และพรรค Awami Tehreek ของเขานำเสนอแนวทาง ‘การปฏิวัติประชาธิปไตยของประชาชนแห่งชาติ’ ขึ้นเพื่อตอบสนองต่อบรรยากาศที่ปกคลุมไปด้วยแนวคิดแบบซ้ายและชาตินิยมในขณะนั้น แนวทางนี้เป็นชาตินิยม เพราะพวกเขาเชื่อเรื่องสิทธิในความเป็นชาติของประชาชนชาว Sindh เป็นสังคมนิยมและประชาธิปไตย เพราะรากฐานของพวกเขามาจากมวลชนกรรมาชีพ/ชาวนาและเข้าร่วมการต่อสู้ในสงครามชนชั้น อีกทั้งเป็นแนวทางปฏิวัติ เพราะพวกเขาไม่เชื่อในแนวทางรัฐสภานิยมหรือการปฏิรูปของกระฎุมพี แนวทางนี้เกิดขึ้นเพราะ Palijo ได้รับแรงบันดาลใจจากเหล่าคอมมิวนิสต์ในขบวนการต่อต้านอาณานิคมของจีน อัลจีเรีย และเวียตนาม หลังจากก่อตั้งพรรค Awami Tehreek ในเดือนมีนาคมปี 1970 Palijo ก็นำเสนอความคิดมารฺกซิสต์เลนินนิสต์ใน Sindh เขาเขียนหนังสือเกี่ยวกับโฮจิมินห์และเหมา กระทั่งแปลงานเขียนคอมมิวนิสต์ที่สำคัญๆ ในการสร้างองค์กรปฏิวัติชาตินิยมขึ้นด้วย เขาคิดว่า Sindh อยู่ในตำแหน่งอ่อนไหวทางประวัติศาสตร์ ที่ที่ประชาชนต้องต่อสู้กับทั้งอำนาจรัฐในแนวทางอาณานิคมใหม่ของปากีสถาน และพวกชนชั้นนำศักดินาคอรัปชั่นทั้งหลาย Palijo จึงเชื่อว่าการสร้างขบวนการที่มีทั้งแนวคิดชาตินิยมและสังคมนิยมปฏิวัตินั้นเป็นเรื่องจำเป็น
อีกทั้งยืนกรานว่าเราจำเป็นต้องมีผู้หญิงในขบวนการนี้ด้วย
ภายใต้แนวทางนี้ เขาเริ่มจัดตั้งสหายหญิงในบ้านของเขาและรอบๆ บริเวณ ณ Jungshahi ซึ่งเป็นเมืองชนบทเล็กๆ ในเขตของ Sindh ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการแสดงออกทางการเมือง การประท้วง และแนวนโยบายผ่านการจัดตั้งของพรรค Awami Tehreek โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มาจากชุมชนของเขา เมื่อนโยบาย One-Unit [นโยบายควบรวมจังหวัดของปากีสถาน ณ ขณะนั้น – ผู้แปล] จบสิ้นลง และการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้น Palijo ได้กดดันให้มีการตีพิมพ์รายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในภาษา Sindhi ด้วย เพราะรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งถูกตีพิมพ์เพียงแค่ในภาษา Urdu เท่านั้น นี่เป็นอีกหนึ่งในวิธีการสร้างความลำเอียงทางภาษาแบบเก่าๆ ที่หลอกหลอนจังหวัดเล็กๆ ตลอดเวลาตั้งแต่แรกเริ่มสถาปนาปากีสถาน ลูกเลี้ยงติดภรรยาของ Palijo อย่าง Akhtar Baloch เป็นหนึ่งในผู้นำคนสำคัญในการกดดันให้เกิดการตีพิมพ์รายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งดังกล่าว ตำรวจจับเธอเข้าคุก เมื่อไม่นานมานี้ก็ได้มีการแปลและตีพิมพ์ข้อเขียนจากสมุดบันทึกในคุกของเธอในชื่อเรื่องเล่าของนักโทษเป็นภาษาอังกฤษ Baloch เป็นหนึ่งในผู้หญิงหลายคนที่ได้รับการฝึกฝนทางอุดมการณ์และได้รับแรงบันดาลใจจาก Palijo กับพรรค Awami Tehreek ผู้หญิงเหล่านี้ ส่วนมากมาจากชนบทของ Sindh และจะได้กลายเป็นผู้ก่อตั้ง ST ในต้นทศวรรษ 1980 ต่อไป
ขบวนการ Sindhiyani ต่อต้านกฎอัยการศึก
ปี 1979 นายกรัฐมนตรี Zulfikar Ali Bhutto ถูกจับแขวนคอโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎอัยการศึกของนายพล Zia-ulHaq และปีเดียวกันนั้นเอง นายพล Zia ยังบังคับใช้กฎหมาย Hudood ซึ่งบรรจุข้อห้ามต่างๆ ของศาสนาอิสลามที่เรียกกันว่าชะรีอะฮ์ลงไปในประมวลกฎหมายอาญาด้วย หนึ่งในแง่มุมที่มีปัญหามากที่สุดในกฎหมายของนายพล Zia คือการทำให้เพศสัมพันธ์นอกการสมรสผิดกฎหมาย กฎหมายนี้เป็นอันตรายต่อผู้หญิงอย่างมาก เพราะมันทำให้พวกเธอสูญสิ้นความคุ้มกันทางกฎหมายจากการข่มขืนกระทำชำเราและการคุกคามทางเพศ ภายใต้ระบบกฎหมายใหม่นี้ ผู้หญิงที่ถูกคุกคามทางเพศต้องมีพยานอย่างน้อยสี่ปากในชั้นศาลเพื่อพิสูจน์ว่าการคุกคามนั้นเกิดขึ้นจริง หากไม่มีพยานรู้เห็นแล้วไซร้ พวกเธอเองก็จะถูกกล่าวหาว่ามีเพศสัมพันธ์นอกการสมรสและได้รับโทษจำคุก หรือกระทั่งถูกปาหินใส่จนถึงแก่ชีวิตแทน
ระบอบ Zia ยังคงดำเนินนโยบายแปลงทุกอย่างให้เป็นอิสลามอย่างต่อเนื่อง (โดยเฉพาะการต่อต้านผู้หญิง) ศาลพิเศษชะรีอะฮ์แห่งสหพันธ์ได้รับการก่อตั้งขึ้นเพื่อการตัดสินข้อกล่าวหาในกฎหมายชะรีอะฮ์โดยเฉพาะ ในปี 1984 คำสั่ง Qanun-e-SHahadat ถูกประกาศใช้ ซึ่งมีผลลดพยานของผู้หญิงในชั้นศาลลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของผู้ชาย นายพล Zia ยังมีคำสั่งห้ามมิให้ผู้หญิงปรากฎตัวในโทรทัศน์โดยไม่มีผ้าคลุมศีรษะด้วย
‘[Palijo] คิดว่า Sindh อยู่ในตำแหน่งอ่อนไหวทางประวัติศาสตร์ ที่ที่ประชาชนต้องต่อสู้กับทั้งอำนาจรัฐในแนวทางอาณานิคมใหม่ของปากีสถาน และพวกชนชั้นนำศักดินาคอรัปชั่นทั้งหลาย’
ขบวนการเคลื่อนไหวของผู้หญิงในเมืองก่อตั้งลานประชุมการเมืองสตรี (Women’s Action Forum) ขึ้นเพื่อต่อต้านแนวนโยบายเหยียดและกดทับผู้หญิงของนายพล Zia ขบวนการนี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กับขบวนการ ST อันเป็นขบวนการที่แตกต่าง เพราะมีรากฐานมาจากมวลชนผู้หญิงในชนบท หนึ่งปีให้หลังจากการก่อตั้ง ST เมื่อ 1982 ขบวนการต่อต้าน Zia เพื่อการฟื้นฟูประชาธิปไตย (MRD) ได้เริ่มต้นขึ้น แม้ว่าจะกระจายไปทั่วปากีสถาน ขบวนการนี้ก็ได้รับความนิยมสูงสุดใน Sindh พรรคประชาชนปากีสถานของ Zulfikar Ali Bhutto ซึ่งนำโดย Benazir Bhutto ร่วมกับพรรค Awami Tehreek และพรรคที่มีแนวทางประชาธิปไตยไม่อิงศาสนาได้รวมตัวกันขับเคลื่อนประชาชนทั่วทั้งจังหวัด Sindh องค์กรอย่าง ST มีส่วนร่วมในขบวนการนี้อย่างแข็งขัน ประชาชนจากชุมชนและหมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัด Sindh ออกมาประท้วงต่อต้านเผด็จการ ประชาชนใน Sindh เผชิญหน้ากับยานยนตร์ของกองทัพด้วยมือเปล่าไร้เกราะกำบังใดๆ ผู้ชุมนุมหลายคนถูกทุบตี ทรมาณ และจับขังคุก สมาชิกหลายคนของพรรค Awami Tehreek ทุกข์ทรมาณอยู่ในคุก ครอบครัวรอคอยวันคืนที่พวกเขาจะได้กลับบ้าน

นักกิจกรรมของ Sindhiyani Tehreek เดินขบวนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเพื่อการฟื้นฟูประชาธิปไตย (MRD) และพันธมิตรทางการเมืองฝ่ายซ้ายได้ก่อตัวขึ้นในช่วงหลังทศวรรษ 1980 เพื่อต่อต้านเผด็จการทหารของนายพล Zia-ul-Haq ภาพ: Sarmad Palijo จาก Twitter
ขบวนการ ST ยังคงถูกจัดตั้งอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการขับเคลื่อนผู้หญิงที่เกียวข้องกับผู้ถูกคุมขัง (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย) เป็นพิเศษ สหายหญิงอย่าง Shahnaz Rahu, ลูกสาวของผู้นำชาวนาแห่งพรรค Awami Tehreek อย่าง Fazil Rahu, และลูกสาวของ Falijo ทั้งสองคนอย่าง Ghulam Fatima กับ hoor un Nisa เริ่มเดินเคาะประตูบ้านของสหายผู้ถูกคุมขังและชักชวนครอบครัวของเขาเข้าร่วมการต่อสู้ ผู้หญิงที่ได้รับการฝึกฝนทางอุดมการณ์ของ ST ประสบผลสำเร็จในโครงการนี้แทบจะทันที ผู้หญิงหลายคนในพื้นที่ชนบทของ Sindh เข้าร่วม MRD ผ่านช่องทางของ ST
สมาชิกผู้ก่อตั้ง ST อย่าง Hoor Palijo ได้รับมอบหมายในพันธกิจการจัดตั้งผู้หญิงเพื่อการแสดงออกทางการเมือง เธอทำกระทั่งตระเตรียมสหายให้พร้อมรับมือการถูกจับกุมที่มักเกิดขึ้นจากการประท้วง Hoor ใช้ประโยชน์จากชั้นเรียนในการเคลื่อนไหวเป็นพิเศษ เธอเป็นอาจารย์วิทยาลัยในเขต Thatta หลังจากสอนหนังสือในชั้นเรียนเสร็จ เธอพานักศึกษาหญิงของเธอและคนอื่นๆ ไปฝึกที่ Hyderabed เพื่อเข้าร่วมการประท้วงในเมือง เพื่อการเตรียมพร้อมหากโดนจับกุม ผู้หญิงทั้งหลายจึงต้องพกกระทั่งถุงยังชีพสำหรับอยู่ในคุกไปด้วย อายุอานามของผู้ประท้วงหญิงนั้นหลากหลาย มีตั้งแต่เด็กสาวจนถึงแก่ชรา หลายคน อาทิ Kulsoom Palijo, Shabnam Palijo, และ Marvi เป็นเพียงแค่นักเรียนชั้นป.6 เท่านั้น
Hoor และสหายของเธอตระเตรียมสหายหญิงเพื่อการประท้วง ณ Hyderabed เป็นประจำจนเป็นกิจวัตรไปแล้ว มีสหายหญิงหลายคนเข้าร่วมกันต่อสู้ใน Hyderabad จากแถบชนบทที่หลากหลาย อาทิ Larkana, Sukkur, Badin, Sanghar, Khairpur, และ Dadu สหายในคุกทั้งหลายซึ่งถูกเรียกว่าชาว Sindhiyani นั้นไม่ได้อยู่ในภาวะเศร้าซึมหรือร้องห่มร้องไห้แต่อย่างใด พวกเขายังรักษาเชื้อไฟแห่งการปฏิวัติในจิตวิญญาณไว้ได้ พวกเขาร้องเพลงปฏิวัติ จัดตั้งกลุ่มศึกษา และป่าวประกาศสโลแกนต่อต้านนายพล ZIa ขบวนการ ST เปรียบดั่งสายฟ้าฟาดใส่สังคมศักดินา เพราะสังคมแบบนั้นมองผู้หญิงว่าต้อยต่ำกว่าชาย พวกเขามองว่าผู้หญิงต้องสยบยอมและสุภาพเรียบร้อย ขบวนการนี้ให้กำเนิดหญิงสาวนักปฏิวัติผู้มีความกล้าหาญในการมุ่งมั่นเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างถึงแก่น ความกล้าหาญชาญชัยและไม่เกรงกลัวที่ต้องเสี่ยงภัยของพวกเธอสามารถดูได้จากเหตุการณ์ที่เล่าโดย Hoor ดังนี้:
เรากลับสู่ Jungshahi จาก Hyderabed โดยรถไฟแทบจะเป็นเรื่องปกติไปแล้ว จนวันหนึ่งเราพบการเคลื่อนไหวของกองทัพอันน่าสงสัย ณ สถานีรถไฟ ฉันมีความคิดว่าพวกนั้นจะเข้ามาจับกุมเรา เราไม่ได้กลัวเลย ไม่เลยสักนิด แต่หากว่าเราโดนจับในตู้รถไฟอันมืดมิดโดยไม่มีพยานรู้เห็น และไม่มีใครต่อต้านขัดขืนหรือปลุกระดมในพื้นที่ มันก็จะขัดต่อนโยบายของพรรค เราจึงเดินไปทั่วขบวนรถไฟ และพวกเขาก็ตามเรามา จนเมื่อเราอยู่ในตู้โดยสารเดียวกัน และอยู่ ณ พื้นที่ระหว่าง Jungshahi กับ Hyderabad เราคิดว่าหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น เราจะลงจากขบวนรถ แล้วหาที่อยู่ไปพลางๆ ก่อน ระหว่างทางมีสถานี ‘Latif Chang’ เราอยู่ในภาวะที่ตัดสินใจไม่ได้เนื่องจากมีทหารอยู่ในตู้โดยสารเดียวกัน จนสุดท้ายก็คิดว่าต้องเป็นสถานีนี้แหละที่เราจะลง พวกเรากว่า 17-18 ชีวิตกระโดดออกจากตัวรถไฟ แล้ววิ่งแยกย้ายจากกันไป เราไปถึงหมู่บ้านพร้อมกับการบาดเจ็บตามแขนขา ชาวบ้านพยายามช่วยพวกเราอย่างสุดกำลังความสามารถ ด้วยความเมตตาปราณี แต่ความขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ทำให้ความกรุณาช่วยเหลือของพวกเขาเป็นไปอย่างยากลำบาก มีจักรยานคันเดียวเท่านั้นในหมู่บ้าน ที่จะนำพาผู้บาดเจ็บเข้าสู่ถนนหลักได้เพียงครั้งละหนึ่งคน และพระเจ้าเท่านั้นที่จะรู้ว่าเราควรทำอย่างไร

Sindhiyani Tehreek มีส่วนสำคัญที่ขับเคลื่อนหญิงสาวชาว Sindh ในขบวนการ MRD ภาพ: Twitter
Benazir Bhutto ลี้ภัยออกนอกประเทศในปี 1984 ส่วน Palijo และพันธมิตรของเขาอย่าง Fazil ถูกจับ จังหวะก้าวเดินของขบวนการจึงเชื่องช้าลง อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 1986 ขบวนการก็กลับมาคึกคักอีกครั้ง แม้ว่า Benazir Bhutto ซึ่งกลับมาในปี 1986 ประกาศว่าเธอไม่เชื่อในการเมืองของการแก้แค้น และต้องการฟื้นฟูประชาธิปไตยอย่างสันติก็ตาม แต่ความหัวเสียพารานอยด์ของระบอบทหารก็ยังไม่จบสิ้น หลายคนยังคงถูกจับ ชาว Sindhiyani หลายคนออกมาสู้ที่แนวหน้าอีกครั้ง พวกเขาเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคนอย่างปลอดภัย อันรวมไปถึงผู้นำของพวกเขาที่ถูกกุมขังในคุก Kot Lakhpat ของ Lahore ด้วย อำนาจของนายพล Zia อ่อนกำลังลงเรื่อยๆ แต่ก่อนที่เขาจะได้ลงจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ก็ดันเสียชีวิตจากเหตุการณ์เครื่องบินตกในเดือนสิงหาคมปี 1988 ไปเสียก่อน
‘[Sindhiyani Tehreek] ให้กำเนิดหญิงสาวนักปฏิวัติผู้มีความกล้าหาญในการมุ่งมั่นเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างถึงแก่น’
ขบวนการต่อต้านเขื่อน
ปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้ารัฐปากีสถานตั้งแต่แรกเริ่มสถาปนาแสดงให้เห็นในหลากหลายประเด็น ปัญหาเรื่องภาษายังคงดำรงอยู่จวบจนกระทั่งทุกวันนี้ และประเด็นด้านความอิสระของจังหวะยังคงอยู่ในกำมือของทั้งเผด็จการและรัฐบาลพลเรือนที่นิยมแนวทางรวมศูนย์ (เช่นรัฐบาลอิหม่ามของ Khan ในปัจจุบัน) เช่นเดียวกันนั้นเอง ปัญหาว่าด้วยเรื่องเขื่อนหรือการจัดสรรน้ำยังคงสร้างความร้าวฉานโกรธเคืองให้กับชาว Sindh หลายคน
ภายหลังการลงนามในสนธิสัญญา Indus Water กับอินเดียเมื่อปี 1960 ปากีสถานก็ขายแม่น้ำกว่าหกแห่งให้กับอินเดียและมีแผนจะสร้างเขื่อนและขุดคลองด้วยเงินที่ได้มานั้น เกิดปัญหากระแสน้ำอ่อนแรงลงในแม่น้ำที่เหลืออยู่ของปากีสถาน เนื่องจากน้ำถูกดึงไปใช้ในแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่อาทิ เขื่อน Tarbela ซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยอินเดีย และเขื่อน Mangla Dam ซึ่งถูกสร้างขึ้นในแม่น้ำ Jhelum เป็นต้น จังหวัด Sindh ยังได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากการลดลงของแหล่งน้ำเพียงหนึ่งเดียวโดยโครงการอย่างคลองเชื่อมต่อ Chashma-Jehlum คลองนี้แรกเริ่มเดิมที่มีไว้เพื่อป้องกันอุทกภัย แต่การณ์กลายเป็นว่ามันกักเก็บน้ำอยู่ตลอดเวลาแม้กระทั่งช่วงเวลาทั่วไป จนนำมาซึ่งความขาดแคลนน้ำอย่างถาวรของจังหวัด Sindh
ชาว Sindh ประท้วงการตัดกำลังน้ำในแม่น้ำ Indus อย่างต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจของพวกเขาพึ่งพาการเกษตรเสียเป็นส่วนใหญ่ ข้อเสนอเพื่อการสร้างเขื่อน Kalabagh อันเป็นโปรเจคที่จะสร้างขึ้นในแม่น้ำ Indus ณ เขต Mianwali ของ Punjab โดนต่อต้านอย่างแข็งกร้าวจากชาวบ้านในจังหวัด Sindh อย่างไรก็ตาม ขบวนการต่อต้านเขื่อนไม่ได้รับการเหลียวแลอยู่หลายปี พวกชนชั้นนำอ้างว่าเขื่อนจำเป็นในการดึงเอาไฟฟ้าพลังงานน้ำมาใช้เพื่อการพัฒนาในวงกว้าง อันเป็นวาทะกรรมที่สื่อระดับชาตินำไปโหมกระพือต่อ
วาทะกรรมสนับสนุนเขื่อน Kalabagh กลายเป็นกระแสหลักในช่วงท้ายทศวรรษ 1980 Palijo เริ่มทำการขับเคลื่อนผู้คนเข้าต่อต้านและชาว Sindhiyani ก็เข้าร่วมขบวนการเช่นเดียวกัน ชาว Sindhiyani เข้าร่วมเดินท้าวทางไกลภายใต้แดดแผดเผาแห่งฤดูร้อน พวกเขาเดินเท้าพร้อมๆ กับลูกหลานที่เกาะอยู่บริเวณเอว เปลวไฟแห่งการปฏิวัติดวงเดิมลุกโชนขึ้นอีกครั้ง ขบวนการนี้เติบโตจนกระทั่ง Benazir Bhutto (อดีตนายกรัฐมนตรีในตอนนั้น) ก็เข้าร่วมด้วย ในท้ายทศวรรษที่ 1990 เธอเข้าร่วมหนึ่งในการประท้วงที่เมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งใน Ghotki ชื่อว่า Obauro ในวาระอื่นๆ Benazir Bhutto ยังออกมาต้อนรับการเดินท้าวทางไกลใน Karachi ที่เริ่มเดินมาจาก Sukkur อีกด้วย ภรรยาคนหลังของ Palijo และผู้นำ ST อย่าง Zahida Shaikh ได้บันทึกไว้ว่า ‘Benazir Bhutto ถาม Palijo เมื่อเห็นกลุ่มผู้หญิงขนาดใหญ่เรียงแถวกันออกมาต่อต้านเขื่อน Kalabagh ในท้องถนนของ Karachi ว่า ‘มีแค่ผู้หญิงที่เดินขบวนหรอกหรือ?’ ซึ่ง Palijo ได้ตอบว่า ‘ขบวนการนี้นำโดยผู้หญิงน่ะ ตลอดทางไปสนามบิน คุณจะเห็นชาว Sindhi หลายร้อยหลายพันเรียงเถียวหลังพี่สาวและน้องสาวของพวกเธอ’
วาทะกรรมว่าด้วยเขื่อน Kalabagh แผ่ซ่านไปทั่วภายใต้ระบอบนายพล Mausharraf ในเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อปี 1999 ไม่นานหลังจากขับไล่ Nawaz Sharif นายพล Musharraf ประกาศโครงการ ‘มหาคลอง Thal’ ซึ่งเป็นโครงการสร้างคลองในทะเลทราย Thal โดยการผันน้ำจากแม่น้ำ Indus ชาว Sindh จึงตอบโต้ด้วยขบวนการต่อต้านเขื่อนอีกครั้ง ขบวนการนี้มีการเดินเท้าทางไกลและประท้วงมากมาย ชาว Sindiyani พร้อมโดนจับกุมอีกครั้ง คลื่นปฏิวัติถาโถมโหมกระหน่ำเต็มอัตรา ขณะที่ฤดูร้อนแผดเผาทุกสิ่งอย่าง พวกเขาท่องบทประพันธ์ของกวีมีชื่อแห่งจังหวัดอย่าง Shaikh Ayaz ที่มีเนื้่อความว่า:
Hurka halo, dheema halo,
pand paray ho, ker karay ho,
waat await, deel daray ho,
poe b piryeen jo, pand bhalo ho,
pandh bhalo miya, hurka halo
ก้าวเท้า ช้า, เร็ว
ก้าวย่างที่แสนยาวไกล, ผู้ใดเล่าจะกล้าก้าว?
ถนนแสนหน่ายเหนื่อย, ทุกข์ระทมอาจกัดกลืนกิน
กระนั้น, ก้าวย่างเพื่อคนรักนั้นคุ้มค่า,
ก้าวย่างนั้นคุ้มเสี่ยง, ก้าวไปให้ฉับไว!
‘Zahida Shaikh เขียนบันทึกจากความทรงจำไว้ว่า ST คือองค์กรสำหรับหญิงสาวชาวชนบทผู้ยากจน พวกเธอไม่ได้แหล่งทุนจากองค์กรสตรีนิยมอื่น รายรับที่พวกเธอได้ ส่วนใหญ่เป็นการบริจาคขององค์กรนอกภาครัฐ (NGO) ระหว่างยุค Musharraf’ ระหว่างที่ ST เข้าร่วมในการประชุมของชาวนาในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2004 พวกเธอได้รับแจ้งว่าจะมีการประชุมต่อต้าน Kalabagh อีก ชาว Sindhiyani ต้องการเข้าร่วม แต่ส่วนมากพวกเธอหมดสิ้นทุนทรัพย์ไปกับการเดินทางไกลเข้าร่วมประชุชาวนาไปแล้ว คนที่พอมีเหลือก็เข้าร่วม แต่หลายคนไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ผู้หญิงในกลุ่มหลังส่วนใหญ่มีพื้นหลังเป็นชาวนาและชนชั้นกลางระดับล่าง Zahida ยังบันทึกไว้ด้วยว่า ครั้งหนึ่ง ST เคยได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมสตรีนานาชาติในอินเดียด้วย สมาชิกหลายคนกังวลปัญหาเรื่องพาสปอร์ต เพราะหลายต่อหลายคนไม่มีมัน สุดท้ายแล้ว มีผู้หญิงเพียงหกถึงเจ็ดคนเท้านั้นใน ST ที่มีพาสปอร์ตสำหรับเดินทางท่องเที่ยว แม้ว่า ST จะเข้าร่วมการประชุมระดับนานาชาติเช่นนี้ รากฐานของพวกเธอก็ยังมาจากหญิงสาวชาวชนบทในจังหวัด Sindh นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมการดำรงอยู่ของพวกเธอทำให้กลุ่มผู้อยู่ในโครงสร้างอำนาจรัฐปากีสถานหวาดกลัว
‘Zahida Shaikh เขียนบันทึกจากความทรงจำไว้ว่า ST คือองค์กรสำหรับหญิงสาวชาวชนบทผู้ยากจน พวกเธอไม่ได้แหล่งทุนจากองค์กรสตรีนิยมอื่น รายรับที่พวกเธอได้ ส่วนใหญ่เป็นการบริจาคขององค์กรนอกภาครัฐ (NGO) ระหว่างยุค Musharraf’
และเพราะการต่อต้านขัดขืนขององค์กรอย่าง ST จึงทำให้นายพล Musharraf ต้องพับแผนการก่อสร้างเขื่อน Kalabagh ไปในที่สุด

นักกิจกรรมจาก Sindhiyani Tehreek ประท้วงโครงการก่อสร้างเขื่อน Kalabagh ข้อความที่เขียนบนป้ายคือ ‘เขื่อน Kalabagh เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้’ พรรค Awami Tehreek และองค์กร Sindhiyani Tehreek ได้หยุดยั้งไม่ให้โครงการนี้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ภาพ: Dawn
องค์กรของผู้หญิงหรือองค์กรสตรีนิยม?
ST มักได้รับการกล่าวหาว่าเป็นองค์กรของผู้หญิง แต่ไม่ใช่องค์กรสตรีนิยมที่แท้จริง พวกที่วิพากษ์วิจารณ์ยังอ้างว่า องค์กรนี้เพียงแค่ทำตามคำสั่งของพรรคใหญ่อย่าง Awami Tehreek เท่านั้น โดยไม่ได้มีอิสระใดๆ เลย ความขัดแย้งดังกล่าวนี้ทำให้เรานึกถึงวิวาทะเก่าแก่ว่าด้วยการที่กลุ่มสตรีผู้มีความคิดถึงราก ควรจัดตั้งองค์กรของตนแยกออกไป หรือควรอยู่ภายใต้ปีกของพรรคฝ่ายซ้ายที่มีอยู่แล้วกันแน่ แล้วองค์กรเหล่านี้ควรชูประเด็นด้านผู้หญิงอย่างเดียว หรือประเด็นต่างๆ ในสังคมภาพกว้างไปด้วย? ควรเปิดโอกาสให้ทุกคนหรือแค่คนที่มีอุดมการณ์บางอย่างเข้าเป็นสมาชิก? ลานประชุมการเมืองสตรีก็เผชิญปัญหาในลักษณะเดียวกันในช่วงปีแรกๆ ของการก่อตั้ง สุดท้ายแล้ว พวกเธอก็ตัดสินใจก่อตั้งองค์กรของผู้หญิงที่เป็นอิสระ และมีจุดมุ่งหมายในการชูประเด็นด้านที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง (แม้ในปัจจุบันจะขยายเข้าสู่ประเด็นชุมชนกลุ่มคนข้ามเพศแล้ว) สมาชิกภาพของกลุ่มก็จำกัดอยู่เพียงแค่ผู้หญิงที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย (ก่อนที่จะรวมเอามิตรสหายข้ามเพศเข้ามา)
หากเราวิเคราะห์ ST ภายใต้กรอบปัญหานี้ เราก็จะได้คำตอบชัดเจนว่า องค์กร์นี้ได้รับอิทธิพลมาจากเลนิน ในการให้สัมภาษณ์กับ Clara Zetkin เรื่อง ‘ประเด็นปัญหาเรื่องผู้หญิง’ เลนินตอบปัญหานี้โดยใช้วิภาษวิธี เขาไม่เชื่อว่าผู้หญิงควรก่อตั้งองค์กรแยกออกไปเป็นอิสระต่างหาก เพราะนี่เป็นการแบ่งแยกขบวนการปฏิวัติ (และลดความเข้มแข็งของขบวนการลง) ภายใต้เส้นแบ่งของเพศ แต่เขาก็ไม่เชื่อว่าพรรคควรควบคุมองค์กรภายใต้ปีกของผู้หญิงอย่างสมบูรณ์ เพราะนี่เป็นการลดอำนาจของผู้หญิงลงอย่างมหาศาล แทนที่จะทำเช่นนั้น เลนินเชื่อว่า พรรคควรให้มีองค์กรปีกของผู้หญิง ซึ่งมุ่งเน้นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของสตรี และนำมันเข้ามาเสนอในพรรคใหญ่อีกที เขามีมุมมองว่า ผู้หญิงคือคนส่วนที่ใหญ่มากของประชากรทั้งหมด การผัดผ่อนประเด็นปัญหาของพวกเธอให้รอจนกระทั่งการปฏิวัติสำเร็จลุล่วงนั้นเป็นการเข้าแผนลวงของศัตรู มากไปกว่านั้น เมื่อพวกเธอมุ่งเน้นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง เลนินก็ยังต้องการให้พวกเธอเข้าใจว่าพรรคปฏิวัติรับรู้การกดขี่ขูดรีดของพวกเธอด้วยเช่นกัน เขาเรียกร้องให้มีแนวหน้าสตรีภายในพรรค ซึ่งเป็นคนที่จะนำผู้หญิงเข้าสู่การต่อสู้คัดง้างด้านเพศภาวะและการกดขี่ทางชนชั้น

ภาพถ่ายเมื่อไม่นา่นมานี้แสดงให้เห็นการประท้วงจาก Sindhiyani Tehreek ซึ่งมีผู้ถือป้ายข้อความที่เขียนว่า ‘การยึดครอง Sindh ภายใต้นามของการพัฒนานั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้’ ภาพ: Sarmad Palijo จาก Twitter
โดยเนื้อแท้แล้ว ST ก่อตั้งขึ้นด้วยวิถีเลนินนิสต์ องค์กรนี้ไม่ได้เป็นอิสระอย่างสิ้นเชิงจากพรรค Awami Tehreek แต่เป็นองค์กรปีกหนึ่งของพรรคต่างหาก อย่างไรก็ดี องค์กรนี้มีกลไกการทำงานเป็นอิสระ มีธรรมนูญที่แยกต่างหาก และมีพื้นที่ปฏิบัติการที่เป็นเอกเทศ พรรค Awami Tehreek เอง แท้จริงแล้วก้มีแนวหน้าหลากหลาย อาที Sujag Baar Tehreek (ขบวนการเยาวชนตื่นรู้), Sindhi Shagird Tehreek (ขบวนการนักเรียนแห่ง Sindhi), และองค์กรนักเรียนหญิงแห่ง Sindhi องค์กรแนวหน้าทั้งหมด จะส่งผู้สังเกตการณ์เข้าไปในการประชุมขององค์กรอื่นๆ เพื่อดูว่ากิจกรรมของพวกเขาเป็นไปตามแนวทางการปฏิวัติของพรรคหรือไม่ ผู้สังเกตการณ์ทำได้เพียงแค่ให้คำแนะนำเท่านั้น การตัดสินใจในท้ายที่สุดย่อมเกิดขึ้นภายในองค์กรแนวหน้านั้นๆ เอง เราอาจเรียกได้ว่ามันคือ ‘ภาวะกึ่งอิสระ’ (relative autonomy) คณะกรรมการกลางแห่งพรรค Awami Tehreek ไม่มีอำนาจในการระงับสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดใน ST และ ST ก็ไม่ถูกผูกมัดให้ต้องเห็นด้วยกับการตัดสินใจที่เกิดขึ้นจากที่ประชุมใหญ่พรรค Awami Tehreek. อย่างไรก็ตาม ST และองค์กรแนวหน้าทั้งหลาย ไม่สามารถระงับการยึดโยงทางอุดมการณ์กับพรรค Awami Tehreek และต้องมีส่วนร่วมในการรณรงค์โครงการใหญ่ๆ ของพรรคเสมอ
‘โดยเนื้อแท้แล้ว ST ก่อตั้งขึ้นด้วยวิถีเลนินนิสต์’
ถึงอย่างนั้น มันก็ยังเป็นความจริงที่ ST ควรมีการขยับขยายโครงการไปสู่ประเด็นปัญหาจำเพาะของผู้หญิง เช่น การฆ่าเพื่อเกียรติยศ ความรุนแรงภายในครอบครัว การสาดน้ำกรด การแต่งงานวัยเด็ก และการบังคับผู้หญิงชนกลุ่มน้อยให้เข้ารีต ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1990 พวกเธอตีพิมพ์อุบัติการณ์การฆ่าเพื่อเกียรติยศและรณรงค์ต่อต้านการกระทำนั้น อย่างไรก็ดี พวกเธอควรทำได้มากกว่านี้ เราจำเป็นต้องพูดตามตรงว่า เหตุผลส่วนหนึ่งของการละเลยสิ่งเหล่านี้ก็คือเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรกับพรรค Awami Tehreek แม้ว่าสหายในกลุ่ม ST จะเข้าร่วมประชุมในคณะกรรมการกลางของ Tehreek ก็ตาม แต่ไม่มีใครเลยที่เป็นเจ้าหน้าที่ในตำแหน่งสำคัญของพรรค ประเด็นเช่นเรื่องเขื่อนและภาวะขาดแคลนน้ำได้รับการยกขึ้นเป็นเรื่องเร่งด่วนภายใต้การนำของผู้ชาย ดังนั้นชาว Sindhiyani จึงไม่สามารถทุ่มเทพลังของพวกเธอไปที่ประเด็นการสนับสนุนให้ผู้หญิงมีอำนาจเพิ่มขึ้นได้ แต่ก็นั่นแหละ เราต้องย้ำว่าอะไรคือความต้องการภายใต้ข้อเรียกร้องการจัดสรรทรัพยากรเช่นน้ำอย่างเป็นธรรม หากไม่ใช่ความต้องการที่จะทำให้ผู้หญิงมีอำนาจเพิ่มขึ้น? จากข้อเรียกร้องนี้ หญิงสาวชาวชนบทจาก Sindh จะได้ประโยชน์มากมายจากการต่อสู้ อันรวมไปถึงผู้ชายด้วยเช่นกัน
‘อะไรคือความต้องการภายใต้ข้อเรียกร้องการจัดสรรทรัพยากรเช่นน้ำอย่างเป็นธรรม หากไม่ใช่ความต้องการที่จะทำให้ผู้หญิงมีอำนาจเพิ่มขึ้น?’
Sindhiyani เพื่อชาวนา?
Jami Chandio นักวิพากษ์วิจารณ์การเมืองและผู้ใกล้ชิด Palijo เชื่อว่า ST ได้รับความเข้มแข็งจากการการที่มี Awami Tehreek เป็นฐานที่มั่น ความแตกแยกและการบริหารจัดการภายในที่ผิดพลาดของพรรคทำให้ Awami Tehreek ประสบกับความสูญเสียครั้งใหญ่ เมื่อ Palijo เสียชีวิตในปี 2018 พรรคก็สูญเสียทิศทางการนำไป แกนนำหลายคนในพรรคแยกย้ายแตกออกเป็นกลุ่มย่อยและพรรคการเมืองต่างๆ ขณะเดียวกัน ST ก็ค้นหาทิศทางการต่อสู้ภายใต้การถดถอยของพรรค Awami Tehreek

ผู้หญิงหลายคนเป็นแกนนำในพิธีกรรมรำลึกงานศพของ Rasool Bux Palijo แม้ว่าจะขัดกับวิถีปฏิบัติของมุสลิมในปากีสถานโดยทั่วไปก็ตาม พวกเธอนำร่างของเขาไปยังสถานที่ฝังศพ ภาพ: News Pakistan
เมื่อราวสองสามปีก่อนหน้า เกิด ‘การเดินขบวน Aurat’ (การเดินขบวนของผู้หญิง) ในปากีสถานขึ้น ในขณะที่การเดินขบวนของครั้งนี้มีผลกระทบต่อสังคมแน่ๆ… ชนชั้นกลางในเมืองกลับเป็นส่วนประกอบหลักของขบวนการ ไม่ค่อยมีผู้หญิงกรรมกร ชาวนา และชาวชนบทอยู่ในนั้น ในสถานการณ์เช่นว่านี้ องค์กรอย่าง ST สามารถนำชาวนาเข้าร่วมเป็นฐานสนับสนุนขบวนการสตรีนิยมปากีสถานที่กำลังเติบโตขึ้นได้ โดยการเชื่อมโยงขบวนการนี้เข้ากับการต่อสู้ทางเศรษฐกิจ-การเมืองเรื่องการจัดสรรทรัพยากรไปด้วยกันอย่างเปิดเผย
‘ในขณะที่การเดินขบวนของ [Aura] ครั้งนี้มีผลกระทบต่อสังคมแน่ๆ… ชนชั้นกลางในเมืองกลับเป็นส่วนประกอบหลักของขบวนการ ไม่ค่อยมีผู้หญิงกรรมกร ชาวนา และชาวชนบทอยู่ในนั้น’
ปัญหาที่สหายชาว ST อุทิศชีวิตของพวกเธออย่างต่อเนื่องในเรื่องที่หลอกหลอนบ้านเกิดของพวกเธอ ณ จังหวัด Sindh ก็ยังคงมีอยู่ แหล่งเก็บน้ำยังคงถูกสร้างขึ้นอย่างต่อเนื่องในแม่น้ำ Indus การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างไม่เท่าเทียม และอะไรก็ตามที่คลับคล้ายคลับคลาว่าจะเป็นความอิสระของ Sindh ก็ถูกบดขยี้เสียสิ้น โดยเฉพาะเรื่องที่พวกเธออาจเสีย Karachi อันเป็นเมืองหลวงไปให้กับรัฐบาลกลาง การฆ่าเพื่อเกียรติยศ ความรุนแรงภายในครอบครัว การบังคับแต่งงาน และการบังคับเข้ารีดนั้นโหดร้ายป่าเถื่อน เราต้องการขบวนการอย่างเช่น ST ในการตระเตรียมนักปฏิวัติสาวชาวชนบทรุ่นใหม่ ในทุกวันนี้ไม่ต่างจากเมื่อครั้งอดีต
บทความนี้แปลโดยได้รับอนุญาตจาก ‘The Sindhiyani Tehreek: Revolutionary Feminism in Sindh?’, Jamhoor <https://www.jamhoor.org/read/2020/11/25/the-sindhiyani-tehreek-revolutionary-feminism-in-sindh> [accessed 23 January 2021].