บทความต้นฉบับ The Problem Isn’t Classism, It’s Class.
(โดยแก้ไขเพิ่มเติมให้เข้ากับบริบทไทย)
ผู้แปล สหายคำผาน


คำว่าการเหยียดชนชั้น (classism) มีข้อเสียหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือการเน้นไปที่การดูถูกเหยียดหยามมากกว่าความเสียหายจริง (injury) อย่างดีที่สุดมันก็เป็นเหมือนคำย่อของการกดขี่ทางสังคมนั่นเอง อย่างแย่ที่สุด “การเหยียดชนชั้น” (classism) ปกปิดความเป็นจริงของระบบทุนนิยมที่คอยข่มเหงและทำให้เกิดการลบภาพชนชั้นนำทางเศรษฐกิจออกไปโดยไม่เข้าไปกีดขวางกระบวนการขูดรีดซึ่งเป็นแหล่งอำนาจของพวกชนชั้นนำ เช่นในกรณี #ClubhouseToxic ที่คนกรุงเทพฯ เยาะเย้ยคนอีสาน

การเหยียดชนชั้นส่วนมากมักจะถูกพูดถึงจากพวกเสรีนิยมผู้มีมโนธรรมสูงส่งและรับคำหยาบไม่ได้ (เช่น คำว่าไอ้คนบ้านนอก ควายแดง ดั้งแหมบ อะไรก็แล้วแต่) และอยากให้ทัศนคติแบ่งแยก เหมารวม ทุกรูปแบบหมดไป พวกเขามักจะเพิ่ม “ชนชั้นแรงงาน” ลงไปในรายการอัตลักษณ์ ดังเช่นกลุ่มชาติพันธุ์ที่สมควรได้รับ “ความเคารพยกย่อง”

แต่หลักๆ แล้ว ชนชั้นไม่ใช่อัตลักษณ์ แม้สังคมทุนนิยมจะโอ้อวดวัฒนธรรมทางชนชั้นที่แตกต่างหลากหลาย ทว่าสิ่งเหล่านี้ก็ตั้งอยู่บนรากฐานทางวัตถุ ไม่ใช่ทางอุดมการณ์ เราพับเรื่องความหยิ่งจองหอง ความละอาย และการดูหมิ่นเอาไว้ก่อน ความจริงก็คือ คนเพียงหยิบมือเดียวเป็นเจ้าของสินทรัพย์ทางการผลิตเกือบทั้งหมดของสังคม สถานการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันอย่างมากระหว่างคนส่วนน้อยกับทุกๆ คนที่ต้องขายแรงงานให้กับนายทุนเพื่อความอยู่รอด ซึ่งมักจะไม่ได้ค่าตอบแทนเท่าที่ควร และส่วนต่างจะถูกนายทุนเก็บไว้เป็นกำไร 

นอกเหนือไปจากการเอารัดเอาเปรียบโดยตรงดังกล่าวนี้แล้ว นายทุนหลายคนแสวงหาผลกำไรโดยการทำร้ายคนงาน โดยใช้ประโยชน์จากผลกระทบที่เกิดจากพลวัตพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงเจ้าที่ดินบรรษัท ผู้ให้บริการประกันสุขภาพ และผู้จัดจำหน่ายยา เช่น AmerisourceBergen ที่จงใจวางขายผลิตภัณฑ์ในภูมิภาคที่มีปัญหาอยู่แล้วจากการจ้างบุคลากรหรือองค์กรภายนอก (outsourcing) และมาตรการรัดเข็มขัด (austerity) ที่ซึ่งชนชั้นแรงงานมีความเสี่ยงต่อการใช้ยาในทางที่ผิดเป็นพิเศษ

อคติทางชนชั้นเกิดจากการขูดรีดซึ่งเป็นหัวใจของทุนนิยมและความเหลื่อมล้ำทางวัตถุที่เป็นผลพวงจากระบบ ไม่ใช่ในอีกทางหนึ่ง เนื่องด้วยเหตุผลทางการเมืองและจิตวิทยาที่หลากหลาย คนร่ำรวยจำนวนเพียงหยิบมือแสวงหาการยืนยันระดับบุคคลและการได้รับความชอบธรรมจากสาธารณะเพื่อการครอบงำคนส่วนมากที่เป็นชนชั้นแรงงาน ซึ่งก่อเกิดเป็นความคิดอันน่าสะอิดสะเอียนที่ว่าพวกเขาเหนือกว่าโดยธรรมชาติ แต่นี่เป็นเพียงการหาเหตุผลเข้าข้างตัวเอง การครอบงำทางชนชั้นเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาภายใต้ระบบทุนนิยมไม่ว่าคนจะคิดเห็นต่อกันอย่างไร

ในทางทฤษฎี เราสามารถแสดงออกในสิ่งต้องห้ามที่เป็นอคติทางชนชั้นได้ทั้งหมด แต่คนร่ำรวยจำนวนมากยังคงเก็บอคติส่วนตัวนี้เอาไว้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ให้ความชอบธรรมแก่ผลประโยชน์ของพวกเขา แม้เราจะสามารถปลูกฝังชนชั้นนำทุกคนให้เคารพผู้อื่นอย่างแท้จริงได้ แต่คุณค่าอันสูงส่งเช่นนี้ก็ไม่มีวันเกิดขึ้นได้ตราบใดที่กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลยังคงเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจของเรา

ต่อให้คนมองชนชั้นแรงงานไปในทางที่ดีขึ้น แต่เศรษฐกิจยังคงเหมือนเดิม (แม้จะมีการด่าทอกันน้อยลง) ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับคนงานก็จะไม่ได้เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นอยู่ดี นั่นก็เพราะโครงสร้างสังคมของเราไม่เอื้อต่อการฟูมฟักคุณค่าทางวัฒนธรรม มันเป็นโครงสร้างที่มุ่งจะแสวงหาผลกำไรอย่างเดียว

ความเคารพให้เกียรติเป็นสิ่งที่น่าพึงปรารถนาเสมอ แต่ก็ยังไม่น่าปรารถนาเท่ากับความเท่าเทียม เราไม่ควรหยุดความมุ่งมั่นของเราไว้แค่การเป็นคนดีมีมารยาทท่ามกลางความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น ในทางกลับกัน เราต้องมองว่า ชนชั้นคือรูปแบบหนึ่งของความเหลื่อมล้ำและการกดขี่ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ด้วยซ้ำไป