ว่าด้วยสภาวะทางวัตถุ

“วัตถุนิยม หรือ จิตนิยม?” คือคำถามพื้นฐาน และข้อถกเถียงที่เป็นรากฐานของวงการปรัชญาในทุกยุคทุกสมัย ข้อถกเถียงดังกล่าวตั้งอยู่บนคำถามที่ว่า ระหว่างวัตถุกับจิตใจนั้น สิ่งใดที่มีความสำคัญมากกว่ากัน หรือสิ่งใดที่กำหนดความเป็นไปของอีกสิ่งหนึ่ง และเมื่อเป็นเช่นนั้น สภาวะที่เราเผชิญอยู่นั้นเป็น “ความจริง” หรือไม่ หรือความจริงที่ว่านี้ขึ้นอยู่กับการตีความของเรากันแน่?

ข้อถกเถียงทางปรัชญาที่ว่านี้ยังขยายไปสู่ฐานความคิดในการมองโลกของทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา แนวคิดฝ่ายซ้ายส่วนใหญ่มักถูกจัดให้อยู่ในแนวคิดวัตถุนิยม ในขณะที่แนวคิดของฝ่ายขวามักจะอยู่ในแนวคิดแบบจิตนิยม

เช่นนั้นแล้ว สภาวะทางวัตถุเป็นสิ่งที่กำหนดความคิด หรือความคิดเป็นตัวกำหนดสภาวะทางวัตถุกันแน่?

หลักคิดแบบวัตถุนิยมเชื่อว่า โลกเชิง วัตถุวิสัย ดำรงอยู่ได้โดยไม่ขึ้นต่อความหมายที่จิตใจเป็นผู้ตีความมันใด ๆ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อต้นไม้ในป่าหักลงกระทบพื้น และไม่มีคนคนใดอยู่ในป่า การหักลงของต้นไม้ยังคงส่งเสียง แม้จะไม่มีใครได้ยินมัน ในขณะที่นักจิตนิยมจะโต้แย้งว่า เราไม่มีทางแน่ใจได้ว่าต้นไม้ที่หักลงกระทบพื้นที่เกิดเสียงหรือไม่ หากเราไม่ได้ยินมันด้วยตัวเอง

การให้เหตุผลของสองหลักคิดสามารถอธิบายได้ผ่านสมการ ดังนี้

วัตถุนิยม

ต้นไม้หัก + กระทบพื้น = เกิดเสียง

สิ่งหนึ่ง + สิ่งหนึ่ง = อีกสิ่งหนึ่ง

X+y=z

จิตนิยม

ต้นไม้หัก + กระทบพื้น =  ฉันไม่รู้ เพราะ *ฉัน* ไม่ได้ได้ยินมันด้วยตัวเอง

สิ่งหนึ่ง + สิ่งหนึ่ง = อีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งขึ้นอยู่กับการตีความของ *ฉัน* เอง

?+?=?

เพื่อจะเข้าใจหลักคิดแบบจิตนิยมให้มากขึ้น เรามาพูดถึงประโยคพื้นฐานอย่าง “ฉันคิดฉันจึงมีอยู่ (I think therefore I am)” กันดีกว่า ประโยคดังกล่าววางอยู่บนแนวคิดที่ว่า สิ่งที่เราประสบและพบเห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่มันเป็นจริง ๆ เพราะสิ่งเหล่านั้นล้วนแต่เป็นสิ่งที่ถูกรับรู้ผ่านประสบการณ์ของปัจเจกบุคคล การดำรงอยู่ของสิ่งสิ่งหนึ่งจึงขึ้นตรงกับการรับรู้ที่ปัจเจกมีต่อสิ่งสิ่งนั้น ตัวอย่างเช่น เมื่อต้นไม้ในป่าหักลงกระทบพื้น และไม่มีใครในบริเวณนั้น มันอาจจะไม่ได้เกิดเสียงก็ได้ เราเองก็ไม่มีทางรู้ เพราะเราไม่ได้รับรู้มันด้วยตัวเอง แต่กล่าวถึงประโยค “ฉันคิดฉันจึงมีอยู่” นั้น ฝั่งนักคิดสายวัตถุนิยมก็จะโต้กลับว่า ในเมื่อคุณกำลังคิด ร่างกายของคุณก็ต้องดำเนินการเพื่อให้คุณสามารถที่จะคิดได้ ดังนั้นคุณเองก็ดำรงอยู่ด้วยไม่ใช่แค่ในเชิงความคิด แต่เป็นเชิงกายภาพหรือวัตถุด้วย ดังนั้น ไม่เพียงแต่ “คุณ” ที่คิด แล้วคุณจึงดำรงอยู่ แต่ยังรวมถึงฉัน ผู้เขียน และคนอื่น ๆ ที่อยู่รอบกายคุณด้วย พวกเขาเหล่านี้ล้วนเป็นสรรพสิ่งที่คิดเป็นทั้งสิ้น แต่ในทางกลับกัน จิตนิยมจะกล่าวว่าเรา ไม่สามารถ รู้ได้ว่าคนอื่นดำรงอยู่จริงหรือไม่ มีเพียงแต่ ฉัน เท่านั้นที่รู้ว่า ฉัน ดำรงอยู่

แนวคิดจิตนิยมมักที่โปรดปรานในกลุ่มพลังฝ่ายขวา เนื่องด้วยความที่แนวคิดจิตนิยมนั้นต้องพึ่งพาความสามารถของปัจเจกในการให้ความหมายต่อสภาวะแวดล้อมที่ตนเผชิญอยู่ และเปลี่ยนแปลงมันให้ดียิ่งขึ้น ดังเช่นวลีที่ว่า แม้ว่าคุณจะยากจน แต่คุณก็สามารถมีความสุขได้ เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความยากจน แต่อยู่ที่มุมมองต่อความยากจนของคุณต่างหาก ดังที่กล่าวไปข้างต้น แนวคิดเชิงปรัชญาแบบจิตนิยมนั้นฝังลึกอยู่ในหลักคิดของแทบทุกศาสนาในทุกยุคสมัยอย่างแยกกันไม่ออก ในขณะที่แนวคิดวัถตุนิยมใช้เวลากว่าศตวรรษในการพัฒนาเพื่อเอาชนะแนวคิดจิตนิยมและหรือหลักปรัชญาอื่น ๆ ที่สนับสนุนแนวคิดที่ว่า มุมมองของพวกเรา คือฐานรากอันก่อรูปความจริงที่พวกเรารับรู้

จากวัตถุนิยม สู่อวัตถุนิยม

โดยทั่วไปแล้ว คำว่า ‘เงื่อนไขทางวัตถุ’ มักหมายความถึง เงื่อนไขทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นค่าแรง ความปลอดภัยของที่อยู่อาศัย ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และอื่น ๆ หรือสิ่งที่กำหนดความเป็นอยู่ทางกายภาพของชีวิตประจำวันของพวกเรา ส่วนเงื่อนไขทางอวัตถุมักจะถูกหมายความถึง มิตรภาพ ความรัก ความสุข ความเศร้า และอื่น ๆ ดังนั้น มันจึงพาเรามาสู่คำถามพื้นฐานสำคัญคำถามหนึ่ง นั่นก็คือ เงื่อนไขทางวัตถุกำหนดเงื่อนไขทางอวัตถุ หรือเงื่อนไขทางอวัตถุกำหนดเงื่อนไขทางวัตถุกันแน่?

มุมมองแบบวัตถุนิยมจะเสนอว่าที่เงื่อนไขทางอวัตถุของคุณ ไม่ว่าจะเป็นความสุข มิตรภาพและอื่น ๆ ดำเนินไปอย่างที่เป็นนั้น ก็เพราะเงื่อนไขทางอวัตถุของคุณ อย่างเงินเดือน สถานการณ์ค่าอยู่อาศัย หรืออื่น ๆ ทั้งสิ้น

ตัวอย่างเช่น เงื่อนไขทางวัตถุจะเป็นสิ่งกำหนดว่าคุณจะเป็นเพื่อนกับใครบ้าง กลุ่มเพื่อนของคุณเป็นไปได้สูงที่จะมาจากสถานะสังคมเดียวกันกับคุณ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกันกับคุณด้วย ดังนั้น หากคุณเรียนโรงเรียนชนชั้นสูงที่เต็มไปด้วยลูกหลานของคนมีเงิน ใช้ชีวิตที่แสนจะสุขสบาย คุณจะก็ถูกวางเงื่อนไขทางสังคมด้วยประสบการณ์ชีวิตเช่นนั้น รวมทั้งอาจมีโอกาสที่จะสร้างบทสนทนาที่มีคุณค่ากับคนที่มีชนชั้นต่ำกว่า เพราะการทำความรู้จักกับคนที่ไม่มีประสบการณ์ใดตรงกันเลยอาจจะยากกว่าสำหรับคุณ แน่นอนว่าเงื่อนไขดังกล่าวไม่ใช่กฎสากล ในบางครั้งผลลัพท์ที่เกิดขึ้นอาจไม่เป็นไปตามเงื่อนไข แต่ตามปัจจัยทางวัตถุแล้ว วงล้อมทางสังคมของคุณก็มีแนวโน้มที่จะถูกกำหนดโดยเงื่อนไขทางวัตถุอยู่ดี

เมื่อเรานำเอาหลักคิดเชิงปรัชญาทั้งสองไปประยุกต์ใช้ในทางการเมืองแล้ว คำถามของเราก็มักจะวางอยู่บนกรอบคิดดังนี้

การเมืองเป็นผลพวงจากวัฒนธรรม

หรือ

วัฒนธรรมเป็นผลพวงจากการเมือง

การเมืองในบริบทที่กล่าวถึง คือการเมืองที่มีความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจ เราลองอธิบายโดยใช้เพลงสตริงอีสานในฐานะของวัฒนธรรมกันดีกว่า ทำไมเพลงสตริงอีสานถึงมักจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับการสูญเสียคนรักและความคิดถึงบ้านเกิดกันล่ะ คำตอบก็คือ เพราะอีสานเป็นภูมิภาคที่ยากจนที่สุดในประเทศไทย ซึ่งผลักให้ผู้คนต้องจากลาบ้านเกิดเพื่อนมาหางานในกรุงเทพ หรือเมืองใหญ่อื่น ๆ บทเพลง วัฒนธรรมอย่างหนึ่งของอีสาน ก็เป็นภาพสะท้อนของเงื่อนไขทางวัตถุที่เป็นผลมาจากการกำหนดของรัฐและทุน กล่าวโดยคร่าวแล้ว การเมืองและเงื่อนไขทางวัตถุเป็นสิ่งที่สร้างวัฒนธรรมขึ้นมา บทเพลงอาจไม่ได้ทำให้คนรู้สึกปวดร้าว หรือคิดถึงบ้าน เพราะผู้คนต่างรู้สึกเช่นนั้นอยู่แล้ว และบทเพลงเป็นผู้สะท้อนมันต่างหาก ดังเช่นวลีเด็ดของ Ice Cube แร็ปเปอร์จากกลุ่ม NWA ที่กล่าวว่า “ศิลปะของพวกเรา คือสภาพสะท้อนของความจริงของพวกเรา”

ในทางตรงกันข้าม ข้อสันนิษฐานที่ว่าการเมืองเป็นผลพวงของวัฒนธรรมก็นำพาพวกเราไปสู่แนวคิดจิตนิยมแบบขวาจัดได้ หากเราใช้สตริงอีสานเป็นตัวอย่างแล้ว นักจิตนิยมอาจกล่าวว่า นักร้องพวกนั้นกำลังทำให้ผู้คนรู้สึกหดหู่กับความจนที่พวกเขาเผชิญ ทั้งทั้งที่พวกเขาสามารถมองชีวิตของตนอีกแบบเพื่อให้รู้สึกดีขึ้นก็ได้ มุมมองของพวกเขาอาจจะฟังดูน่าขบขัน แต่ในประเทศไทย พวกเราก็เห็นมุมมองเช่นนี้ได้ทั่วประเทศ ดังเช่นกระแสชุมชนพอเพียง และหลักการพึ่งพาตนเองที่ถูกยกย่องในเชิงวัฒนธรรมเป็นอย่างยิ่ง ชาวนาชาวไร่ที่ยากจนควรจะภูมิใจในความ สมฐานะ ของตน มากกว่าจมปลักอยู่กับ ความยากจน ของเขาเอง

การต่อสู้ทางวัฒนธรรม

ดังที่กล่าวไปข้างต้น เมื่อเราสังเกตการณ์และมีส่วนร่วมทางการเมืองแล้ว เราก็ควรจะมองมันด้วยมุมมองวัตถุนิยมที่วิพากษ์ และไม่ถูกประเด็นเชิงวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกลับการเมืองทำให้ไขว้เขว ตัวอย่างเช่น แม้ว่านักการเมืองคนหนึ่งมีอายุไล่เลี่ยกับคุณ หรือเป็นเพศเดียวกันกับคุณ ชื่นชอบวัฒนธรรมเดียวกันกับคุณ หรือมีวัฒนธรรมใกล้เคียงกันกับคุณ ก็ไม่ได้แปลว่าเขาจะอยู่ฝั่งเดียวกันกับคุณในทางเศรษฐกิจ และยิ่งในปัจจุบัน การเมืองกระแสหลักก็มุ่งให้ความสนใจ การต่อสู้ทางวัฒนธรรม มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีความเห็นแย้งทางสังคมทั่วไป และการแบ่งขั้วของคุณค่าทางสังคม

นิยัตินิยม (Determinism) และโอกาส

อย่างไรก็ดี แนวคิดวัตถุนิยมมักจะถูกใช้อย่างแข็งทื่ออยู่บ่อยครั้ง และในกรณีนี้ เราจะเรียกการใช้งานอย่างแข็งทื่อว่า นิยัตินิยมล้นเกิน (Overly Deterministic)

เช่น หากใช้ตัวอย่างไม้หักลงกระทบพื้นอีกครั้งในอีกบริบทหนึ่ง

ต้นไม้หัก + ตกกระทบพื้น = เกิดเสียง

แต่ถ้าเป็นตัวอย่างนี้หล่ะ:

คนป่วย + ยา = หายป่วย (จริงหรือไม่?)

ในกรณีนี้ ผู้ป่วยอาจจะหายป่วย หรืออาจจะไม่ก็ได้ ยังไม่มีทางรู้ได้ การสันนิษฐานว่าเขาจะหายป่วยเป็นการนิยัตินิยมล้นเกินเนื่องจากเรานำสมการมาใช้อย่างแข็งทื่อเกินไป ฝั่งนักวัตถุนิยมสายวิพากษ์ก็อาจโต้เถียงได้ว่า อย่างน้อยยาก็ยังทำให้ผู้ป่วย มีโอกาส หายป่วยได้ แต่ถ้าผู้ป่วยไม่กินยา โอกาสที่จะหายป่วยก็แทบไม่มีเลย

เช่นเดียวกัน สิ่งที่ฝ่ายซ้ายหลายคนมักจะทำพลาดไป คือการนำหลักวัตุนิยมที่แข็งทื่อนี้ไปใช้กับการปฏิวัติ ตัวอย่างเช่น เมื่อเงื่อนไขทางวัตถุที่ชนชั้นแรงงานเผชิญคือสภาวะของความอดยากและยากจน ดังนั้นแล้วเงื่อนไขดังกล่าวจึงนำไปสู่ การก่อกบฎเพื่อล้มรัฐบาลและยึดครองปัจจัยการผลิตกลับคืนมา แน่นอนว่าตัวอย่างที่ยกขึ้นมานี้ยากที่จะพิสูจน์ว่ามันเป็นจริง เนื่องด้วยมันเป็นตัวอย่างที่ นิยัตินิยมล้นเกิน

แทนที่เราจะมองแนวคิดวัตถถุนิยมผ่านวิธีการแบบคณิตศาสตร์ การหาสาเหตุและผลลัพท์แบบวิทยาศาสตร์แล้ว เราต้องมองหาโอกาสต่าง ๆ ที่มันมอบให้เรา ในเมื่อยาอาจ เพิ่มโอกาส ให้คนที่ป่วยกลับมาหายดี ในเงื่อนไขทางวัตถุที่ชนชั้นแรงงานเผชิญ ก็ยังมีโอกาสที่ทำให้แรงงานเกิดความตระหนักรู้เรื่องชนชั้น และโค่นล้มระบบทุนนิยมได้เช่นกัน