สงครามกลางเมืองซีเรียเป็นหนึ่งในกรณีพิพาทขัดแย้งที่ใหญ่และโหดร้ายที่สุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมา กรณีขัดแย้งครั้งนี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่าครึ่งล้านคน อีกทั้งยังทำให้เกิดผู้ลี้ภัยที่ต้องหนีออกจากประเทศมากถึง 6 ล้านคน และมีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศอีก 6 ล้านคน สงครามครั้งนี้ทำให้โลกได้เห็นถึงการการสถาปนาขึ้นมามีอำนาจและการล่มสลายลงของรัฐอิสลาม ISIS ซึ่งก็ยังเป็นชื่อที่สามารถสร้างความหวาดกลัววิตกกังวลให้กับคนทั่วโลก ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ปัจจุบันในซีเรียจะสามารถเรียกได้ว่าเป็นโศกนาฏกรรมด้านมนุษยธรรม  แต่ในระดับสากลนั้น คนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจหรือรับรู้เกี่ยวกับความขัดแย้งครั้งนี้

อันที่จริง เราเคยได้เกริ่นคร่าวๆ เกี่ยวกับความขัดแย้งในซีเรียไปแล้วในบทความของเราที่ได้พูดถึงดินแดนปกครองตนเองโรจาวา ดังนั้นวันนี้เราจะมาสำรวจสถานการณ์นี้ในวงกว้างมากขึ้น

ต้นฉบับภาษาอังกฤษโดย Anonymous
ผู้แปล Kong


ภาพรวมของสงครามกลางเมืองในซีเรีย

สงครามกลางเมืองในซีเรียนั้นเริ่มขึ้นในช่วงที่รุนแรงที่สุดของ “อาหรับสปริง” หรือการเคลื่อนไหวประท้วงต่อต้านรัฐบาลเผด็จการในประเทศอาหรับต่างๆ ในช่วงต้นปี 2011 โดยมีจุดเริ่มต้นที่ประเทศตูนีเซียและแพร่ไปยังประเทศซีเรีย ประชาชนที่โกรธแค้นประธานาธิบดี บัชชาร์ อัล-อัสซาด (Bashar al-Assad)  ผู้นำเผด็จการ ได้กล่าวหาว่าเขาทุจริตและไม่ดูแลประชาชนที่กำลังประสบกับปัญหาราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงภัยแล้งอย่างหนักในชนบทที่ทำให้เกษตรกรต้องย้ายไปอยู่ในเขตเมือง ประชาชนจึงได้ลุกฮือขึ้นประท้วงโดยเริ่มจากการเลียนแบบการประท้วงในตูนีเซียและบาห์เรน

รัฐบาลอัสซาดตอบโต้ผู้ประท้วงอย่างรุนแรงและออกคำสั่งให้ยิงกระสุนใส่พวกเขา จึงทำให้ประชาชนโกรธแค้นและมาเข้าร่วมกับการประท้วงมากขึ้น ต่อมากลุ่มผู้ประท้วงได้เริ่มรวมตัวกันเป็นกลุ่มติดอาวุธและทหารกองทัพซีเรียบางส่วนก็ได้ผันตัวมาอยู่ฝ่ายผู้ประท้วง ภายในเดือนมิถุนายนของปีนั้นได้ตั้งตนเป็นกลุ่มกบฏใหม่ซึ่งเรียกตัวเองว่ากองทัพซีเรียเสรี (Free Syrian Army – FSA)

ในปีถัดมาสงครามได้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้เกือบทั้งประเทศตกอยู่ในความขัดแย้ง กองทัพของอัสซาดมีความพร้อมมากกว่าฝ่ายกบฏมาก เช่นอาวุธหนัก เฮลิคอปเตอร์โจมตี และเครื่องบินรบ ในขณะที่กลุ่มกบฏส่วนใหญ่มีอาวุธเพียงปืนไรเฟิลและวัตถุระเบิดขนาดเล็กที่ได้ฝังไว้ใต้เมืองต่างๆ เพื่อรอระเบิดใส่กองกำลังของอัสซาด

การต่อสู้ระหว่างสองฝ่ายนั้นได้นำไปสู่เหตุการณ์โศกนาฏกรรมหลายครั้ง ที่พลเรือนในเมืองต่างๆ ได้รับความทุกข์ทรมานอย่างน่าสยดสยองจากการทิ้งระเบิดครั้งใหญ่โดยรัฐบาลอัสซาด ผู้ที่รอดชีวิตก็อพยพไปยังตุรกีและสู่ยุโรปในที่สุด

สงครามกลางเมืองในซีเรียได้รับการเรียกว่าเป็นสงครามตัวแทน หรือ proxy war นั่นคือสงครามที่มหาอำนาจจุดประกายให้เกิดขึ้นเพื่อผลประโยชน์ตัวเองโดยจะไม่ทำสงครามกันโดยตรง แต่จะสนับสนุนให้ประเทศพันธมิตรของตนเข้าทำสงคราม อันที่จริงแล้วอัสซาดและรัฐบาลของเขาไม่ได้เป็นมุสลิมหัวรุนแรงโดยสิ้นเชิง แต่พวกเขาเป็นศัตรูกับรัฐบาลสหรัฐอย่างแน่นอนเนื่องจากจักรวรรดินิยมของสหรัฐ เข้ามาแทรกแซงการเมืองของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ รวมไปถึงการสนับสนุนอิสราเอล นี่จึงเป็นสาเหตุของความตึงเครียดอย่างมากในโลกอาหรับเนื่องจากความทุกข์ทรมานของชาวปาเลสไตน์ ประเทศต่างๆ ในตะวันออกกลางนั้นมีการแบ่งแยกอย่างชัดเจนระหว่างผู้นำประเทศและกลุ่มต่างๆ ที่เป็นมิตรกับสหรัฐอเมริกาและผู้ที่เป็นศัตรู

เป็นมิตรกับสหรัฐฯ เป็นศัตรูกับสหรัฐฯ
ซาอุดิอาระเบีย

อิสราเอล

อียิปต์

จอร์แดน

สาธารณรัฐตุรกี

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

อิหร่าน

ซีเรีย

กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ 

กลุ่มฮูธิ 

ภราดรภาพมุสลิม หรือ มุสลิมบราเธอร์ฮูด 

 

ในช่วงต้นของความขัดแย้ง สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่จะปลดอัสซาดออกจากอำนาจ พวกเขาพร้อมกับพันธมิตรอาหรับโดยเฉพาะซาอุดิอาระเบียได้ทำการสนับสนุนกองทัพซีเรียเสรีด้วยอาวุธและความช่วยเหลือทางการเงิน รวมทั้งสนับสนุนการต่อต้านอัสซาดของกองทัพซีเรียอิสระในต่างประเทศ

ยิ่งไปกว่านั้น ฝ่ายพันธมิตรต่อต้านอัสซาดได้เริ่มนำกองกำลังต่างชาติเข้ามาในประเทศอย่างไม่เป็นทางการ ทหารเหล่านี้หลายคนเป็นกลุ่มหัวรุนแรงอิสลามและวะฮาบีย์ ที่เชื่อในการตีความศาสนาอิสลามแบบอนุรักษ์นิยมและเต็มใจที่จะตายเพื่ออุดมการณ์ การเกณฑ์นี้ได้รับการช่วยเหลืออย่างยิ่งโดยซาอุดิอาระเบียและตุรกี เนื่องจากพวกเขาเคยมีประวัติการใช้เทคนิคเดียวกันกับความขัดแย้งอื่น ๆ 

อันที่จริงกลุ่มหัวรุนแรงเหล่านี้เองก็เกลียดชังสหรัฐอเมริกาและอำนาจตะวันตกทั้งหมด แน่นอนว่าหนึ่งในกลุ่มหัวรุนแรงที่เกณฑ์มาคืออัลกออิดะห์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ปฏิบัติการโจมตีในเหตุการณ์ 9/11 

แสดงให้เห็นว่าสงครามกลางเมืองนั้นสามารถสร้างพันธมิตรที่แปลกประหลาดได้ เนื่องจากทุกฝ่ายในแนวร่วมต่อต้านอัสซาดเห็นพ้องกันว่าจุดมุ่งหมายหลักของพวกเขาคือการกำจัดอัสซาดไม่ว่าอย่างไรก็ตาม และค่อยตามยุติปัญหาอื่นๆ ในภายหลัง

ปรากฎว่ากลุ่มหัวรุนแรงทางศาสนาเหล่านี้มีทหารที่มีประสิทธิภาพมากกว่ากองทัพซีเรียเสรีเสียอีก ด้วยเหตุนี้ผู้บัญชาการกองทัพซีเรียอิสระหลายคนจึงส่งมอบอาวุธให้กับกลุ่มหัวรุนแรงและหลบหนีออกนอกประเทศ โดยที่สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรแสร้งทำเป็นไม่รู้เรื่อง กลุ่มหัวรุนแรงจึงใช้โอกาสนี้ในการสถาปนาการปกครองของตนเองในภูมิภาคที่อยู่ใต้การควบคุม และบังคับให้ชาวบ้านยอมรับศาสนาอิสลามอย่างรุนแรงและประหารชีวิตผู้ที่ปฏิเสธ

แต่ทว่ากลุ่มหัวรุนแรงทั้งหลายไม่ได้เป็นพันธมิตรกันเองเลย กลุ่มหัวรุนแรงต่างๆ ต่อสู้กันเองอยู่ตลอดเวลา สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรยังคงยืนยันว่ากลุ่มก่อการร้ายเหล่านี้เป็นทหารของกองทัพซีเรียเสรีและยังคงสนับสนุนพวกเขาอยู่เรื่อยๆ ในการต่อสู้กับอัสซาด อันที่จริงสงครามนี้เป็นสถานการณ์ที่แปลกประหลาดเหลือเกิน เพราะมีกำลังทหารจากหลายฝ่าย กระทั่งเกิดกรณีที่กองกำลังหัวรุนแรงติดอาวุธกลุ่มนึงที่สนับสนุนโดยเพนตากอนและอีกกลุ่มที่สนับสนุนโดย CIA ต่อสู้กันเองในซีเรีย

ในช่วงเวลานี้เอง รัฐบาลอัสซาดถอนกำลังเกือบทั้งหมดออกจากพื้นที่ที่มีชาวเคิร์ดอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่ จึงนำไปสู่การปฏิวัติโรจาวาในกลางปี ​​2012 โดยมีอุดมการณ์ใหม่ที่ถูกกลุ่มหัวรุนแรงต่อต้านเป็นอย่างมาก พวกเขาให้ความสำคัญกับสตรีนิยม พหุนิยมทางการเมือง สิทธิของประชาชนในการเลือกรูปแบบการปกครองและรัฐบาลของตน และความเท่าเทียม มากกว่านี้ชาวโรจาวายังได้สถาปนากองกำลังทหารป้องกันที่เรียกว่า หน่วยพิทักษ์ประชาชน (YPG / J)

ความคลั่งไคล้ทางศาสนาที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ส่วนที่เหลือของซีเรียนำไปสู่การก่อตั้งขึ้นอย่างรวดเร็วของกลุ่ม ISIS ในกลางปี ​​2013 ซึ่งได้บุกเข้ายึดครองพื้นที่ขนาดใหญ่ของประเทศซีเรียเอง รวมถึงพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศเพื่อนบ้านอิรัก กลุ่ม ISIS เป็นกลุ่มกบฏที่รุนแรงที่สุดและเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับนักรบจีฮัดต่างชาติ

กลุ่ม ISIS ทำให้ชีวิตสำหรับคนในท้องถิ่นในพื้นที่ที่ถูกยึดนั้นลำบากจนเหลือทน โดยได้บัญญัติกฎหมายใหม่ที่โหดเหี้ยม พร้อมการลงโทษอย่างรุนแรงสำหรับใครก็ตามที่ฝ่าฝืนกฎ ซ้ำร้ายยังทำการก่อการร้ายหลายครั้งทั่วโลก ข่าวของการก่อตั้งขึ้นมาของกลุ่ม ISIS ทำให้คนทั้งโลกตกใจและนำไปสู่การแทรกแซงทางทหารโดยการโจมตีทางอากาศของสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และรัสเซียเพื่อต่อต้าน ISIS (แม้ว่าอเมริกาเองยังคงสนับสนุนกลุ่มหัวรุนแรงอิสลามอื่นๆ ทั่วประเทศอยู่)

ในที่สุด หลังจากมีความทุกข์ทรมานและผู้เสียชีวิตจำนวนมาก กลุ่ม ISIS ก็ถูกกำจัดไปเกือบทั้งหมด โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการรุกรานของกองทัพ YPG จนภายในปี 2019 ก็ถูกขับใล่จนต้องหนีไปเป็นขบวนการใต้ดินอย่างสมบูรณ์

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสงครามที่เหลือก็ยังคงดำเนินต่อไป เมื่อถึงจุดหนึ่งดูเหมือนว่าความพ่ายแพ้ของอัสซาดกำลังจะใกล้เข้ามา แต่ด้วยความช่วยเหลือจากพันธมิตรของเขารวมถึงรัสเซีย (ผู้ให้การสนับสนุนทางเศรษฐกิจ การทหาร และทางอากาศ) อิหร่าน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกองกำลังอาสาสมัครเฮซบอลเลาะห์จากเลบานอนทำให้เขาสามารถยึดอำนาจเอาไว้กับตัวได้ต่อไป

ในช่วงต้นปี 2018 รัฐบาลตุรกียุยงให้มีการบุกรุกเข้าไปในดินแดนโรจาวา โดยมีทั้งกองกำลังของตุรกีเองและพันธมิตรหัวรุนแรง พวกเขาบุกเข้ายึดจังหวัดอัฟรินและสังหารพลเรือนผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก

ตั้งแต่นั้นมาสงครามก็เงียบลงในหลายๆ ประเทศ แต่อัสซาดก็ยังคงอยู่ในอำนาจ อย่างไรก็ตามยังคงมีกลุ่มกบฏจำนวนมากรอบๆ เมืองทางตะวันตกเฉียงเหนือของอะเลปโป ที่สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรยังคงให้การสนับสนุนพวกเขา และจนถึงทุกวันนี้ก็ยังยืนยันว่ากลุ่มกบฏเหล่านี้เป็นกบฏฝ่ายผู้ประท้วงที่ยึดถนนในปี 2011

เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ก็จะยังคงไม่มีผู้ชนะที่แท้จริงในความขัดแย้งครั้งนี้ แต่ผู้แพ้และผู้ได้รับผลกระทบนั้นมีจำนวนมาก มีคนจำนวนมากที่สูญเสียทั้งที่อยู่ ชุมชน สมาชิกในครอบครัว รวมทั้งชีวิตของพวกเขาเอง