ผู้เขียน Luna Oi
ผู้แปล Napakorn Phoothamma (TUMS)
กล่าวนำโดยผู้แปล
ลูน่าเป็น Youtuber ชาวเวียดนามที่มีชื่อเสียงในเรื่องสังคมนิยมแบบเวียดนาม โดยเนื้อหาบนช่องของเธอมักจะเป็นเรื่องการท่องเที่ยว การทำอาหาร และการพูดคุยเรื่องสังคมนิยม ซึ่งในบทความนี้เธอจะเล่าถึงความเป็นสังคมนิยมในเวียดนามตามแบบฉบับของเธอ พร้อมกับพาทุกท่านเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเวียดนามไปพร้อมกัน เนื่องด้วยบทความชิ้นนี้ถูกเขียนโดยลูน่า ซึ่งดัดแปลงมาจากวีดีโอในช่องของเธอในชื่อเดียวกัน ทุกอย่างที่เธอเสนอมาอาจไม่ใช่ข้อมูลในเชิงวิชาการแต่เป็นสิ่งที่เธออยากถ่ายทอดให้ทุกท่านได้รับรู้
เวียดนามเป็นประเทศสังคมนิยมหรือไม่ (Is Vietnam Socialist?)
ก็เพราะว่าฉันเป็นคนเวียดนาม ผู้คนเลยมักจะถามคำถามฉันว่ารัฐบาลในประเทศของฉันเป็นอย่างไร ซึ่งการที่พวกเขาถามฉันแบบนั้นมันก็เป็นอะไรที่เข้าใจได้ ฉันเองรู้ดีว่าชาวต่างชาติหลาย ๆ คนก็คงไม่รู้ว่าการใช้ชีวิตในเวียดนามนั้นเป็นอย่างไร ประเทศที่มีการปฏิวัติโดยคอมมิวนิสต์แถมยังมีสัญลักษณ์ค้อนเคียวอยู่ทุกหนทุกแห่ง และสื่อนานาชาติก็มักสื่อไปในทางที่ไม่ดีแทบจะทุกครั้ง มันก็ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ถ้าคนจะสงสัยและถามถึงความเป็นมาเป็นไปของรัฐบาลประเทศฉัน
อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งฝ่ายซ้ายจากต่างประเทศมักจะพูดกันทำนองว่า “เออ…นี่พวกคุณยังจะคอยใช้คำว่าสังคมนิยมอยู่หรือนี่” ซึ่งฉันก็ไม่แน่ใจนักว่าพวกเขาจะสื่ออะไรกันแน่? แต่ฉันบอกได้เลยว่า เวียดนามคือสังคมนิยมเว้ย!
ฝ่ายซ้ายจากที่อื่นๆ มักจะพร่ำสอนฉันเกี่ยวกับประเทศของฉัน นี่ไม่ได้จะบอกว่าความคิดฉันถูกต้องเพราะฉันเป็นคนเวียดนาม แต่จะบอกว่าฉันรู้สิ่งต่าง ๆ มากมายที่พวกเขาไม่รู้เพราะฉันพูดเวียดนามได้จ้าาา!
แต่ก็น่าเสียดายที่ข้อมูลเกี่ยวกับประเทศเวียดนามมักจะไม่ค่อยถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษ ดังนั้นเองฉันจึงต้องพยายามตอบคำถามเหล่านี้ที่ผู้คนมักจะถามเข้ามายังช่องของฉัน
เวียดนามเป็นสังคมนิยมอยู่ไหม?
คำตอบคือเป็นสิ!
ฉันเองก็รู้ดี คุณก็คงจะสงสัยกับความเป็นสังคมนิยมของเวียดนามสินะ ฝ่ายซ้ายมักจะพูดถึงเวียดนามว่า ไม่ใช่ประเทศสังคมนิยมจริงๆ แต่เรียกเวียดนามว่าเป็น “รัฐทุนนิยม (state capitalist)” ซึ่งไม่ได้ต่างอะไรไปจากประเทศทุนนิยมอื่น พวกที่เป็นฝ่ายขวาก็มักจะบอกว่าที่เวียดนามมีดีได้เป็นเพราะทุนนิยม แต่สิ่งที่เลวร้ายสำหรับเวียดนามก็คือคอมมิวนิสต์ ซึ่งฉันก็ต้องรับมือกับความเห็นแบบนี้แทบทุกวันเลย
แล้วสังคมนิยมคืออะไรกัน
เรื่องนี้มันค่อนข้างซับซ้อน ต่างคนต่างอุดมการณ์ก็นิยามสังคมนิยมแตกต่างกันไป แม้แต่นักสังคมนิยมที่เรารู้จักดีอย่าง มาร์กซ์ เลนิน และโฮจิมินห์ ต่างมีคำเรียกสังคมนิยมในแต่และยุคของพวกเขา ที่ต่างก็มีความหมายแตกต่างกันไป เรามาดูกันที่ความคิดของ ‘มาร์กซ์’ เป็นคนแรก แนวคิดสังคมนิยมในแบบของมาร์กซ์ค่อนข้างจะมีความซับซ้อน และผู้คนต่างถกเถียงกันถึงความหมายของสังคมนิยมที่เขาให้คำนิยามเป็นเวลากว่าร้อยปี ซึ่งความคิดพื้นฐานของมาร์กซ์เชื่อว่า หากสังคมนิยมล่มสลายลงเราไม่สามารถไปสู่สังคมไร้รัฐ ไร้ชนชั้น แบบคอมมิวนิสต์ได้โดยทันที
มาร์กซ์เชื่อว่ามันควรจะมีช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อที่ชนชั้นแรงงานจะนำสังคมที่มีรัฐไปสู่สังคมไร้รัฐ ซึ่งไม่ใช่แค่รัฐแบบเดิมที่เพียงแต่เปลี่ยนผู้นำเป็นชนชั้นแรงงาน โดยมันควรจะเป็นรัฐที่มีรัฐบาลแบบใหม่ กฎกติกาแบบใหม่ และหลักการใหม่ ซึ่งบางครั้งมาร์กซ์ได้พูดถึง “เผด็จการชนชั้นกรรมชีพ” โดยแนวคิดนี้เองถูกเข้าใจผิดเป็นอย่างมาก สิ่งนี้เองทำให้พวกโปรทุนนิยมมักจะพูดถึงสังคมนิยมว่าเป็นเผด็จการ แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่มาร์กซ์หมายถึงคือ แทนที่เราจะมีชนชั้นนายทุนซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยที่คอยเป็นเผด็จการอยู่เหนือคนหมู่มากที่เป็นชนชั้นแรงงาน เราควรจะให้ชนชั้นแรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่เป็นผู้ควบคุมสังคมจนกว่าระบบบชนชั้นจะสลายไปในที่สุด ระบบสังคมที่จะนำไปสู่สังคมไร้รัฐนี่เองคือสิ่งที่มาร์กซ์เรียกมันว่าสังคมนิยม เรื่องนี้ค่อนข้างซับซ้อน แต่นี่ก็คือสิ่งที่ฉันพยายามย่อยให้เข้าใจง่ายที่สุด เพราะถึงมันจะฟังดูซับซ้อนแต่นี่ก็คือพื้นฐานของแนวคิดมาร์กซิสต์
คราวนี้เรามาพูดถึงเลนินกันบ้าง โดยงานเขียนของเลนินก็มีอิทธิพลต่อการพัฒนาแนวคิดในเวียดนามเช่นกัน เลนินเองก็บอกเช่นเดียวกับมาร์กซ์ว่าสังคมนิยมคือรูปแบบรัฐที่เปลี่ยนผ่านมาจากรัฐแบบทุนนิยม ซึ่งเขาเคยเขียนไว้ด้วยว่าระบบสังคมนิยมจะชนะทุนนิยมอย่างแน่นอนเพราะว่าสังคมนิยมได้สร้างความเป็นประชาธิปไตยที่มากกว่าประชาธิปไตยลวงหลอกตามแบบชนชั้นนายทุนเป็นล้านๆ เท่า
เลนินยังได้เขียนอีกว่าเขาอยากให้สหภาพโซเวียตเป็นรัฐสังคมนิยมเพื่อที่จะได้เอาชนะระบบทุนนิยม ถึงตอนนี้เอง คุณจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ได้ว่าสหภาพโซเวียตได้ทำตามเป้าหมายนั้นสำเร็จแล้วหรือไม่ ซึ่งมันไม่ใช่ประเด็นที่เราจะพูดถึงกัน แต่นี่เรากำลังพูดถึงเวียดนาม และเมื่อเราพูดถึงสังคมนิยมเวียดนามเราจะขาดสหายโฮจิมินห์ไปไม่ได้!
โฮจิมินห์ได้ศึกษางานเขียนของมาร์กซ์ เลนิน และนักสังคมนิยมคนอื่นๆ อย่างกว้างขว้าง และนำแนวคิดเหล่านั้นมาต่อยอดเป็นแนวคิดสังคมนิยมในแบบเวียดนาม ด้วยเหตุนี้เองการทำความเข้าใจนิยามแนวคิดสังคมนิยมเฉพาะแบบเวียดนาม ตามแนวคิดของโฮจิมินห์จึงเป็นสิ่งสำคัญ
ท่านได้กล่าวถึงสังคมนิยมไว้ว่า “กระผมจะอธิบายความหมายของมันเพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ สังคมนิยมคือสังคมที่ยกระดับผู้คนทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเหล่าชนชั้นแรงงาน”
ท่านยังได้กล่าวอีกว่า การเปลี่ยนสังคมแบบเวียดนามให้ไปสู่สังคมนิยมนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และปัจจัยที่สำคัญคือการเปลี่ยนชนชั้นแรงงานให้เป็นนักสังคมนิยม (socialist people) ที่มีทั้ง อุดมการณ์ คุณค่า และวิถีชีวิตในแบบสังคมนิยม แนวคิดนี้เองคือหนึ่งในแนวคิดสำคัญบนเส้นทางการปฏิวัติเวียดนามของโฮจิมิน
ยุคหลังสงครามกับอเมริกา
ก็เหมือนที่คุณรู้กันดี เวียดนามชนะอเมริกาในปี 1975 และหลังจากที่อเมริกาถอนกำลังจากเวียดนาม อเมริกาก็ได้ห้ามไม่ให้ประเทศต่างๆ ค้าขายกับเวียดนาม ทำให้เวียดนามถึงกับฉิบหายในเวลานั้น
ช่วงสงครามเวียดนาม อเมริกาและประเทศพันธมิตรร่วมรบ “ได้ระดมทิ้งระเบิดใส่พวกเราจนต้องกลับไปใช้ชีวิตแบบยุคหิน” และในช่วงที่พวกเราได้อิสรภาพ อเมริกายังบังคับให้นานาประเทศหันหลังใส่เรา สหภาพโซเวียตคือประเทศเดียวในโลกที่พยามช่วยเราในตอนนั้น ด้วยการส่งอาหาร ปุ๋ย และการสนับสนุนอื่นๆ อีกมากมาย โซเวียตยังช่วยฝึกวิศวกรของเราด้วย เนื่องจากระบบการศึกษาของเวียดนามในช่วงนั้นเองได้ถูกทำลายจนไม่เหลือซาก เราแทบจะไม่เหลือโรงเรียนเลย ซึ่งพ่อของฉันเป็นหนึ่งในสองร้อยชาวเวียดนามผู้โชคดีที่ได้เป็นวิศวกร และได้โอกาสไปฝึกหัดในสหภาพโซเวียตระหว่างปี 1975 ถึง 1978
ฉันเคยสัมภาษณ์พ่อของฉันเกี่ยวกับประสบการณ์ของเขาบนช่องฉันด้วย
อย่างไรก็ตาม ฉันรู้ดีว่าหลายคนก็วิพากษ์วิจารณ์สหภาพโซเวียต ฉันเองก็มีข้อวิพากษ์วิจารณ์สหภาพโซเวียตด้วยเช่นกัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสหาภาพโซเวียตก็เป็นประเทศมหาอำนาจเดียวที่ช่วยเราในขณะนั้นจนถึงช่วงยุค 1980 สิบปีหลังจากที่เราได้เอกราช เราจึงเริ่มสร้างสังคมคอมมิวนิสต์ที่สมบูรณ์แบบ
พวกเราพยายามให้รัฐคอยกำกับกลุ่มธุรกิจทั้งหมด หลีกเลี่ยงการใช้เงินสด ณ ช่วงเวลานั้นแม่ของฉันมีอายุ 20 ปี เธอได้เล่าถึงวิถีชีวิตในช่วงนั้นไว้ว่า ผู้คนในหมู่บ้านของเธอทำงานร่วมกันและแบ่งปันทรัพยากรกันโดยไม่ได้รับค่าจ้าง แต่สิ่งที่เธอจะได้ก็คือแสตมป์ในทุกๆ เดือน ซึ่งเธอนำแสตมป์นี้เองไปใช้แลกอาหาร เสื้อผ้า ปุ๋ย และสิ่งจำเป็นอื่นๆ ในร้านสะดวกซื้อ
เธอได้พูดไว้ว่าทุกๆ คนต่างก็ยากจน แต่มันก็เป็นช่วงชีวิตที่ไม่มีความเครียดหรือความกังวล แถมยังสนุกอีกด้วย ในความเห็นของฉันแล้วระบบสังคมดังกล่าวคงสำเร็จได้ถ้าหากว่าเรามีทรัพยากรธรรมชาติที่เพียงพอ มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี และถ้าผู้คนได้เข้าถึงการศึกษาในระดับสูง และสิ่งที่สำคัญที่สุดเลยคือ หากนานาประเทศยอมค้าขายกับเราเหมือนประเทศอื่นๆ แต่ก็น่าเศร้าว่าเวียดนามในตอนนั้นไม่ได้เป็นอย่างที่ฉันบอก
จริงๆ แล้วสิ่งที่ประเทศเวียดนามได้เผชิญมาในช่วงทศวรรษ1970 และ 1980 นี่เอง เป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศเวียดนามตัดสินใจสร้างสังคมคอมมิวนิสต์แบบสมบูรณ์ด้วยตัวเอง ซึ่งในโลกที่มีการพึ่งพากันอย่างเป็นองค์รวมก็เหมือนว่าจะเป็นสิ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เนื่องด้วยเราแทบไม่มีทรัพยากรธรรมชาติหลงเหลืออยู่ โดยเฉพาะในช่วงที่มีฝนเหลือง (agent orange สารเคมีที่ทางสหรัฐใช้ในช่วงสงครามเวียดนาม) กระจายตัวไปทั่วเวียดนามใต้ ซึ่งมันได้ทำลายอาหาร น้ำ และป่าไม้ รวมทั้งพืชผลของเราด้วย
สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่าที่ฉันพูดหมายถึงอะไร ฉันจะอธิบายให้ฟัง สหรัฐอเมริกาได้พ่นสารพิษจำนวนถึง 80 ล้านตันเข้าไปในประเทศเวียดนาม โดย 60% ของสารพิษคือฝนเหลือง ในจำนวนนี้ยังรวมถึงไดอ๊อกซิน (Dioxin) หนึ่งในสารพิษที่มีความอันตรายที่สุดเท่าที่มนุษยชาติเคยรู้จัก โดยคุณสามารถฆ่าคนจำนวน 8 ล้านคนได้ โดยใช้ไดอ๊อกซินแค่ 85 กรัมเท่านั้น
ในเวลาเดียวกันสหรัฐก็ ‘ระดมทิ้งระเบิดใส่พวกเราจนต้องกลับไปใช้ชีวิตแบบยุคหิน’ ซึ่งผลที่ตามมาก็คือเมืองต่างๆ ซึ่งรวมถึงบ้านเกิดของฉันด้วยที่ต้องมีการรื้อสร้างทุกสิ่งทุกอย่างใหม่ ซึ่งบ้านเกิดของฉันที่ทัญฮว้า (Thanh Hóa) สิ่งปลูกสร้างแทบจะทั้งหมดมีความใหม่มากเมื่อเทียบกับที่อื่นในเวียดนาม
ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะว่าบ้านเกิดของฉันถูกระเบิดของสหรัฐ จึงเป็นสาเหตุที่การสร้างสังคมคอมมิวนิสต์ที่สมบูรณ์เป็นสิ่งที่ยากลำบากภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว รัฐบาลของเราเองก็ยอมรับด้วยเช่นกันว่าในขณะนั้นพวกเขาอ่อนประสบการณ์ และรีบเกินไปในการสร้างสังคมที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งเป็นเรื่องที่เพ้อฝันเมื่อดูจากปัจจัยทางวัตถุของประเทศเรา
ยังไม่พอหลังจากสงครามกับสหรัฐจบลง เราก็ทำสงครามกับเขมรแดง ซึ่งเขมรแดงมีผู้นำที่โหดเหี้ยมชื่อ พลพต เขาสังหารชาวกัมพูชาและเวียดนามตลอดระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 1975 ถึง 1978 พลพตได้รุกราน ทรมาน และเข่นฆ่าชาวเวียดนามไปกว่าพันคนโดยไม่มีเหตุผล
ผู้นำเวียดนามต่างพยายามอย่างมากในการประนีประนอมโดยสันติ แต่กัมพูชาก็ปฏิเสธที่จะฟังในปี 1979 พลพตส่งทหารกว่า 190,000 คน บุกเข้ามายังเวียดนามใต้ ซึ่งเราไม่มีทางเลือกนอกจากจะต้องสู้กลับ ซึ่ง 6 ปีให้หลัง เขมรแดงก็ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ไทย และจีน
ในยุคแห่งความโหดร้ายของเขมรแดง ซึ่งคร่าชีวิตคนนับล้านทั้งชาวเขมรและเวียดนาม เวียดนามจากที่พึ่งน่วมมาจากสงครามกับอเมริกา ยังต้องส่งทหารกว่าพันคนเพื่อต่อสู้กับกองกำลังของพลพต
ในช่วงนั้นเองถือได้ว่าเป็นยุคมืดเลยก็ว่าได้และเวียดนามยังถูกปฏิบัติอย่างไร้เยื่อใย ซึ่งก็เป็นอีกครั้งที่เหล่าประเทศมหาอำนาจได้รวมตัวกันเพื่อที่จะเล่นงานเวียดนาม แต่กลับกลายเป็นว่าจริงๆ แล้วเวียดนามเป็นเพียงประเทศเดียวที่ช่วยกอบกู้กัมพูชาในช่วงนั้น
เป็นอะไรที่ตลกดีเหมือนกันที่ทั่วโลกต่างพากันลงโทษและปฏิบัติกับเวียดนามแย่ๆ เพราะว่าหลายประเทศอยากที่จะให้เขมรแดงชนะและให้เวียดนามแพ้ เพื่อที่จะไม่ให้สังคมคอมมิวนิสต์ที่สมบูรณ์แบบนั้นเกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ดีเวียดนามเป็นฝ่ายชนะ ส่วนเขมรก็พ่ายแพ้ไปและผู้นำเขมรหลายคนยังขึ้นศาลโลกอีกด้วย
หากเล่าย่อๆ ในช่วงทศวรรษ 1980 ประเทศต่างๆ อย่า จีน ประเทศฝั่งตะวันตก และประเทศต่างๆ ในเอเชียใช้เหตุผลดังกล่าวในการโจมตีประเทศเวียดนาม พร้อมปิดกันการค้าไม่ให้ต่างประเทศค้าขายกับประเทศเวียดนาม ซึ่งถ้านั่นยังฟังดูไม่โหดร้ายพอ ฉันอยากจะเพิ่มเติมว่า หลังจากที่เราชนะพลพตในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ต่อมาในต้นทศวรรษ 1990 โซเวียตก็ดันล่มสลายไปเสียอย่างนั้น
กลับกลายเป็นว่าสหายหนึ่งเดียวของเรากลับไม่สามารถช่วยเราได้ ขนาดโซเวียตยังเอาตัวเองไม่รอดเลย
เพื่อที่จะให้เรารอดพ้นภยันตรายจากอเมริกา เราจึงจำเป็นต้องปฏิรูปประเทศของเรา ซึ่งนำมาสู่การปฏิรูปโด๋ยเม้ย (Đổi Mới) ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ถึงแม้ว่าเราจะเอาชนะประเทศทุนนิยมได้ในสงคราม แต่ประเทศเหล่านั้นก็ยังต่อสู้กับเราผ่านสงครามการเงิน และเนื่องจากเราไม่มีพันธมิตร มันก็เป็นเรื่องยากที่เราจะเอาชนะได้ แน่นอนสถาบันการเงินต่างๆ ทั่วโลก ยังตงสนับสนุนการต่อต้านสังคมนิยมแบบเวียดนามด้วย
สถาบันทางการเงินอย่างธนาคารโลกซึ่งเป็นสถาบันจักรวรรดินิยมที่พยายามยัดเยียดความเป็นทุนนิยมใส่เหล่าประเทศที่ประกาศเอกราชจากเจ้าอาณานิคม แน่นอนพวกเขาให้การสนับสนุนทางด้านการเงินแก่ประเทศกำลังพัฒนา แต่มันก็มาพร้อมกับเงื่อนไขที่ว่าพวกเราต้องมีการผ่อนผันกฎระเบียบในตลาดและปล่อยให้นายทุนเข้ามายังประเทศกำลังพัฒนานั้น ๆ
เพื่อที่จะให้ประเทศอยู่รอด เราจึงเปลี่ยนระบบจากเศรษฐกิจเดิมที่พึ่งพาการเกษตรแบบครอบครัว เป็นการเปิดการค้าข้าวเสรีภายในประเทศ ลดงบประมาณในการบริหารประเทศที่ไม่จำเป็นลง เช่น ลดค่าใช้จ่ายในทางราชการ ทำลายข้อจำกัดในทางการค้า ที่สำคัญเลยคือการให้โควตาการค้าต่างประเทศแก่เอกชน ทำให้เอกชนสามารถทำการค้าขายกับต่างประเทศได้โดยตรง
ซึ่งมันคือการที่ธนาคารโลกบีบให้รัฐบาลเวียดนามมอบอำนาจแก่บริษัทนายทุน โดยเฉพาะบริษัทต่างชาติ หรือจะให้พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ พวกเขาพยายามเพิ่มอำนาจแก่ประเทศที่ร่ำรวยเพื่อครอบงำเวียดนามในแบบจักรวรรดินิยม ถ้าหากเวียดนามปฏิเสธแล้วล่ะก็ เวียดนามจะไม่ได้รับการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจใดๆ เลย ทำให้เวียดนามจำเป็นต้องทำทุกอย่างตามที่ธนาคารโลกบอก นั่นเพราะว่าพวกเราจนตรอกไม่มีทางเลือก
พวกเขาบอกเราว่าเราต้องปรับปรุงโครงสร้างนโยบายสาธารณะ มันฟังดูดีไปเลยใช่ไหมล่ะ แน่นอนว่าทุกประเทศต้องมีการลงทุนกับนโยบายสาธารณะ แต่! ก็มาพร้อมข้อแม้ด้วย อยย่างเช่น
“แต่ในขณะเดียวกันนี้ ข้อกฎหมายอันเป็นการให้นักลงทุนต้องเสียประโยชน์ในกิจการใด ที่นักลงทุนหรือนักลงทุนต่างชาติได้ทำภายในประเทศ ข้อกฎหมายนั้นเป็นอันต้องยกเลิกไป”
เห็นแล้วใช่ไหมล่ะว่าทุนนิยมไม่ได้ให้อะไรฟรี ทุกอย่างจำเป็นต้องจ่าย นักลงทุนต่างชาติและพวกจักรวรรดินิยมมักจะได้ผลประโยชน์ที่ดีกว่า ไม่ใช่แค่นั้น IMF หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ยังมีการเสนอให้เวียดนามลดงบประมาณในส่วนการจัดการความเป็นอยู่ของประชาชน
ทั้งการลดงบประมาณค่าใช้จ่ายของรัฐบาล ลดเงินที่ใช้อุดหนุนเยียวยา ลดค่าแรง ลดบำนาญราชการ และลดการใช้จ่ายสาธารณะ
คนจำนวนมากทั่วโลกล้มตายก็เพราะกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดนี้และจากพวกกองทุนหน้าเลือด ในปี 2007 เราได้เป็นสมาชิกของ WTO หรือองค์กรการค้าโลก ฟังดูเป็นก้าวสำคัญใช่ไหม แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่เราต้องทำในฐานะสมาชิกก็คือ เราต้องลดภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าที่มีความจำเป็น อย่างเช่น เครื่องจักร จักรยานยนต์ เหล้า เนื้อ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และอื่นๆ บางครั้งถึงกับลดภาษีลงเหลือศูนย์เปอร์เซ็นต์
ใน 5 นาทีแรกที่คุณได้อ่านบทความนี้ คุณคงจะรู้สึกว่ามันก็เป็นเรื่องดีนี่ เพราะว่าการนำเข้าก็คงจะถูกลงเช่นกันและผู้บริโภคก็คงจะมีตัวเลือกมากขึ้น กลไกแบบตลาดเสรีเจ๋งไปเลยใช่ไหมล่ะ
จริงๆ ไม่เลย ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ฉันจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพ การลดภาษีนำเข้าของรถอาจจะทำให้ราคารถถูกลงและคนสามารถซื้อรถได้มากขึ้น แต่จริงๆ แล้วโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเราไม่ได้ก้าวหน้าพอที่จะรองรับรถที่มีจำนวนมากขนาดนั้น การออกแบบถนนในเมืองฮานอยและเมืองโฮจิมินห์ซิตี้ก็ออกแบบมาเพื่อรถไม่กี่คันเท่านั้น ไม่ใช่เป็นหลักล้าน การที่รัฐบาลของเรากำหนดภาษีรถที่สูง จะทำให้การนำเข้ารถเหมาะสมกับโครงสร้างพื้นฐานของรัฐและเพื่อความสะดวกในการจัดการ
การมีรถจำนวนมากในขณะที่เรายังมีโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เข้มแข็งพอ ทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ในเวียดนามโดยเฉพาะฮานอยและโฮจิมินห์ซิตี้ แต่เดิมเวียดนามมีระบบขนส่งสาธารณะที่ดีอยู่แล้ว เรายังเป็นประเทศที่ขับรถจักรยานยนต์กันเป็นส่วนใหญ่ และถนนในประเทศเราก็ออกแบบมาเพื่อจักรยานยนต์เป็นการเฉพาะ
ถนนในเวียดนามมันไม่ได้กว้างพอให้รถเป็นพันคันมาเบียดกันในท้องถนน คงจะดีถ้ามีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน แต่นั่นก็ใช้เวลาและเงินทุน ซึ่งการเก็บภาษีรถในจำนวนมหาศาลของรัฐบาลเวียดนามก็เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน แต่เราไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ มันจึงเป็นเรื่องยากที่จะจัดการหรือพัฒนาโครงสร้างเหล่านี้
ภาษีนำเข้าที่ถูกลงทำให้ผู้คนนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้น ทำให้เกิดการขาดดุลทางการค้า ซึ่งนั่นหมายความว่าเศรษฐกิจของเราต้องพึ่งพาประเทศอื่นเป็นหลัก
นี่คือองค์ประกอบสำคัญของจักรวรรดินิยม นั่นคือการบังคับให้เราส่งออกสินค้าไปทั่วโลกในราคาที่ถูกที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งในขณะเดียวกันก็บีบบังคับให้เราต้องพึ่งพาประเทศร่ำรวยอย่างประเทศทุนนิยม
ประเทศทุนนิยมเรียกสิ่งนี้ว่า “การแข่งขัน ” แต่พวกเขาก็ลืมไปที่จะบอกว่าการแข่งขันเป็นไปเพื่อประโยชน์ของพวกเขาเอง ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 พวกเขารู้ว่าเราไม่สามารถมีสังคมคอมมิวนิสต์ที่สมบูรณ์ได้ภายใต้สถานการณ์แบบนี้
โครงสร้างพื้นฐานของเรายังไม่ได้รับการเยียวยานับแต่ภัยสงคราม ซึ่งไล่มาตั้งแต่สงครามกับฝรั่งเศส ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา กัมพูชา และการรุกรานจากจีนในปี 1979 ทั้งยังต้องอยู่ในสภาวะที่แร้นแค้นสุดๆ และเรายังอยู่โดยตัวคนเดียว เราไม่มีทรัพยากรในการสร้างสังคมที่เราต้องการขณะเดียวกันเราก็ไม่อยากอยู่ในสังคมทุนนิยม
การปฏิรูปโด๋ยเม้ยจึงเป็นหนทางเดียวที่เราเลือกได้ในการต่อต้านทุนนิยม เราต้องเปลี่ยนสังคมไปสู่สังคมที่มีหลักการแบบสังคมนิยมโดยการปฏิรูปแบบทุนนิยม เราจะต้องอยู่อย่างทุนนิยมเสียบ้างเพื่อให้อยู่รอดและเพื่อให้ทั่วทั้งโลกยอมทำการค้ากับเรา
ความมั่นคงในแบบสังคมนิยม
เวียดนามยังไม่ยอมแพ้กับเป้าหมายในการนำประเทศไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์ที่แท้จริง แต่เท่าที่อ่านมาคุณคงเข้าใจแล้วว่าการปฏิรูปโด๋ยเม้ยนั้นสำคัญอย่างไร ไม่ใช่เพราะว่าเรายอมก้มหัวต่อทุนนิยม แต่ถ้าหากเราไม่ทำในสิ่งที่ประเทศทุนนิยมบังคับ เวียดนามก็คงถูกทำลายไปแล้ว ซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ว่าทำไมหลายคนจึงเห็นเวียดนามเป็นภาพผสมของสังคมนิยม คอมมิวนิสต์ และทุนนิยม
เลนินได้เคยมองเห็นถึงสถานการณ์แบบนี้ไว้แล้ว และได้กล่าวถึงมันในหนังสือของเขาว่าการที่เราจะไปสู่เป้าหมายหรือสังคมคอมมิวนิสต์ เราต้องมีช่วงเปลี่ยนผ่านซึ่งเป็นช่วงที่เรียกว่าสังคมนิยม การปฏิรูปโด๋ยเม้ยจึงอยู่บนฐานของนโยบายเศรษฐกิจใหม่ของเลนินหรือที่เรียกว่า NEP
แล้วก็ด้วยเหตุผลนี้เอง เราต้องปล่อยให้ทุนนิยมเข้ามาเพื่อให้เราอยู่รอด อ้างจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเวียดนาม เรากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์ มาร์กซ์เรียกช่วงเวลานี้ว่าช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน นี่จึงเป็นเหตุผลที่เวียดนามมีชื่อทางการว่า ‘สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม’ ซึ่งมันไม่ได้มาแค่ชื่อ
เราพยายามอย่างหนักเพื่อให้สังคมมีความเป็นสังคมนิยม รัฐบาลของเราเชื่อมั่นมาโดยตลอดว่าได้ต่อสู้เพื่อสังคอมมิวนิสต์ อุดมการณ์หลักของชาติเวียดนามยังคงยึดถือตามแบบมาร์กซิสต์ เลนินนิสต์ และแนวคิดของโฮจิมินห์ แต่ที่ว่ามานั้นจริงๆ แล้วหมายความว่าอย่างไร
รัฐบาลเวียดนามมีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับทิศทางของสังคม 8 ประการ ที่พรรคคอมมิวนิสต์เชื่อว่าหนทางนี้จะนำพาไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์ คือ
- ต้องมีเศรษฐกิจที่ทันสมัยและผู้คนที่มีการศึกษา รักษาทรัพยากรธรรมชาติและปกป้องสิ่งแวดล้อม
- พัฒนาระบบตลาดในปริทัศน์แบบเศรษฐกิจสังคมนิยม
- สร้างวัฒนธรรมของชาวเวียดนามที่ดีงาม ช่วยเหลือเกื้อกูล และเสริมสร้างความเป็นธรรมในสังคม
- สร้างความเชื่อมั่นในสาธารณะ ประเทศชาติ และความสงบเรียบร้อยของสังคม
- สร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศอย่างสงบสุข เป็นประชาธิปไตย และสมานฉันท์
- สร้างประชาธิปไตยแบบสังคมนิยมด้วยความเป็นหนึ่งเดียวของชาติ
- สร้างรัฐบาลสังคมนิยมที่เป็นธรรมตามกฎหมายที่เหมาะสมกับประชาชนตามหลักมาร์กซิสต์
- สร้างพรรคคอมมิวนิสต์ที่สมบูรณ์และแข็งแรง
เราสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสิ่งเหล่านี้ แต่ก็น่าเสียดาย เพราะเราเป็นประเทศกำลังพัฒนาซึ่งต้องใช้เวลาอย่างมากในการสร้างสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้น เป้าหมายของพวกเราคือบรรลุวิสัยทัศน์ดังกล่าวให้ได้ภายในปี 2050 และหลังจากนั้น เราก็จะเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมแบบรัฐไร้ชนชั้นและเป็นสังคมคอมมิวนิสต์
นี่คือหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าเรากำลังต่อสู้เพื่อสังคมนิยม และนี่คือนโยบายสังคมนิยมที่ใช้ได้ในเวียดนาม เรามีการจัดการราคาของอาหารและเครื่องใช้ที่จำเป็นได้อย่างมีเสถียรภาพ
เรามีการรักษาพยาบาลและการศึกษาที่จับต้องได้ เรามีสหกรณ์กว่า 25,000 แห่งทั่วเวียดนาม ทั้งสหกรณ์การเกษตร สหกรณ์การขนส่ง และสหกรณ์ในบริษัทเล็กๆ
ไร่นาในเวียดนามกว่า 50% ถือครองเป็นแบบสหกรณ์ ด้วยจำนวนสมาชิกสหกรณ์ชาวนากว่าหกล้านคน ในส่วนของรัฐบาล รัฐถือครองความเป็นเจ้าของบริษัทประมาณ 700 แห่ง ซึ่งอยู่ในภาคการผลิตที่สำคัญเช่น อินเทอร์เน็ต ไฟฟ้า ประปา แก๊สหุงต้ม โยธา และอื่นๆ ที่สำคัญ นี่คือเหตุผลที่ทำไมสาธารณูปโภคอข่างเช่น อินเตอร์เน็ต ประปา ไฟฟ้า แก๊สหุงต้ม จึงมีราคาถูกในเวียดนาม
มีสิทธิประโยชน์มากมายหากคุณเข้าร่วมสหกรณ์ และรัฐบาลก็สนับสนุนการตั้งสหกรณ์ด้วย ประชาชนก็รวมกลุ่มเพื่อตั้งสหกรณ์ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณต้องการสร้างบริษัทขนส่งด้วยตัวเอง มันก็จะมีความยุ่งยากในการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจและเอกสารประกอบอื่นๆ มากมายตามมา ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก
แต่ถ้าหากคุณเข้าร่วมสหกรณ์การขนส่ง คุณจะได้รับการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ รัฐบาลจะเข้ามาช่วยจัดการงานด้านเอกสารต่างๆ ช่วยคุณในการบริหารการเงิน ให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ ฯลฯ ซึ่งนั่นก็เป็นวิธีการที่รัฐบาลเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมสหกรณ์ ด้วยการทำให้งานเอกสารนั้นเป็นเรื่องง่ายสำหรับสมาชิกสหกรณ์
อีกตัวอย่างหนึ่ง แม่ของฉันเธอเป็นชาวนาและเธอยังเข้าร่วมสหกรณ์ในหมู่บ้านของเธอด้วย ดังนั้นเองทุกครั้งที่มีโรคระบาดเกิดขึ้นกับผลผลิตของเธอ เธอจะได้รับคำแนะนำและข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการในการจัดการกับโรคเหล่านี้ และถ้าเธอไม่มีเงินพอที่จะซื้อปุ๋ยหรือเมล็ดพันธุ์เพื่อที่จะปลูกข้าว เธอก็สามารถไปยังสหกรณ์และขอเงินช่วยเหลือ และการเข้าร่วมสหกรณ์ยังทำให้เธอได้รับสิทธิประโยชน์จากนโยบายการรักษาเสถียรภาพของราคาข้าวที่ช่วยเหลือทั้งผู้บริโภคและชาวนาในเวียดนาม
ก่อนหน้านี้ในวีดีโอ “เวียดนามเป็นสังคมนิยมหรือไม่” ของฉัน ฉันได้กล่าวถึงสิ่งที่โฮจิมินห์เชื่อว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการสร้างสังคมแบบสังคมนิยม มันคือการสร้างประชาชนที่มีความเป็นสังคมนิยมเพื่อสรรสร้างสังคม จนกระทั่งทุกวันนี้เวียดนามยังคงพยายามอย่างหนักในการพัฒนาคุณค่าแบบสังคมนิยมในสังคม ทุกโรงเรียนในเวียดนามมีการสอนแนวคิดมาร์กซิสต์ เลนินนิสต์ และแนวคิดของโฮจิมินห์ ทั้งในโรงเรียนประถม โรงเรียนมัธยม หรือแม้กระทั่งในคณะบริหารธุรกิจ ทุกที่จะต้องมีการสอดแทรกแนวคิดทฤษฎีและปรัชญาแบบสังคมนิยมเอาไว้
ฉันศึกษาแนวคิดสังคมนิยมตั้งแต่ฉันอายุ 6 ขวบจนกระทั่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย การปูพื้นฐานแนวคิดสังคมนิยมเริ่มด้วยการสร้างเรื่องราวที่เล่าความหมายของสังคมนิยมให้เด็กๆ เข้าใจและพัฒนาต่อไปเป็นการศึกษาเรื่องอุดมการณ์แนวคิดมาร์กซิสต์ เลนินนิสต์ และโฮจิมินห์ ในมหาวิทยาลัยวิชาเหล่านี้เป็นวิชาที่สำคัญซึ่งจำเป็นต่อการศึกษาหากนักเรียนนักศึกษาต้องการจบการศึกษา
สิ่งนี้เองทำให้คนเวียดนามทุกคนถูกฝึกให้คิดในแบบมาร์กซิสต์ เลนินนิสต์ และโฮจิมินห์ ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน ก็ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมในสภาของเวียดนามถึงมีการยกเอาแนวคิดมาร์กซิสต์ เลนินนิสต์ และโฮจิมินห์ รวมทั้งโซเวียตขึ้นมาในทุกๆ การประชุม
ก็ใช่ เรามีผู้นำหัวทุนนิยมในเวียดนามอยู่บ้างในบางครั้ง แต่ส่วนใหญ่แล้วผู้นำของเรามักจะเป็นหัวมาร์กซิสต์และเลนินนิสต์ สำหรับชาวเวียดนามแล้ว คุณค่าแบบสังคมนิยมถือว่าเป็นส่วนสำคัญในตัวเรามาตลอดระยะเวลากว่า 4,000 ปีในประวัติศาสตร์ของเวียดนาม
ฉันพูดได้เลยว่าชาวเวียดนามมีความเป็นสังคมนิยมโดยธรรมชาติ เรามีรากของความเป็นสังคมนิยมในวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ เราเป็นสังคมนิยมมาก่อนที่คำว่าสังคมนิยมจะถูกนิยามขึ้นเสียอีก ชาวเวียดนามมีความเป็นส่วนรวม (collectivist) เรามีวัฒนธรรมของการช่วยเหลือกันและกัน เห็นใจซึ่งกันและกัน และให้ประโยชน์ของกลุ่มมาก่อนใครคนใดคนหนึ่ง
เราชาวเวียดนามถูกสอนว่าความเห็นแก่ตัวและความเป็นปัจเจกคือสิ่งที่แย่ และเราต้องทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น โฮจิมินห์ ถึงขั้นมีคำพูดถึงเรื่องนี้ว่า
“ชาติ ประชาชน ปัจเจกชน อาจจะมีวันวานที่ดี แต่ในวันนี้ พวกเขาอาจจะไม่ถูกรักและเทิดทูน ถ้าหัวใจพวกเขาไม่บริสุทธิ์อีกต่อไป หรือถ้าพวกเขาตกอยู่ภายใต้ความเป็นปัจเจกนิยม”
ฉันเห็นด้วยกับโฮจิมินห์
แน่นอนฉันคิดว่าทุกคนควรจะมีเสรีภาพ และเราควรจะเลือกสิ่งต่างๆ ได้อย่างเสรี แสดงความเป็นตัวของตัวเองและใช้ชีวิตอยู่ตามแบบที่เราต้องการ ตราบเท่าที่เราไม่ได้ไประรานผู้อื่น แนวคิดว่าปัจเจกนิยมไม่ควรเป็นแนวคิดหลักในการจัดการสังคมมันเป็นสิ่งที่ชาวเวียดนามส่วนใหญ่เห็นพ้องตรงกัน
และนี่ก็เป็นคำพูดของโฮจิมินห์อีกอัน
“ความเป็นปัจเจกสนใจเพียงผลประโยชน์ส่วนตนไม่ว่าผลประโยชน์นั้นจะกระทบต่อสังคมแค่ไหนก็ตาม”
“ก็เหมือนกับคำว่าฉันรวยดังนั้นฉันไม่ต้องไปแคร์คนจน”
“ความเป็นปัจเจกทำให้คนขี้เกียจ มีการเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น มีความเย่อหยิ่ง อิจฉาริษยา และการคอรัปชั่น”
“มันคือศัตรูตัวร้ายต่อการปฏิวัติในแบบสังคมนิยม”
ปัจเจกนิยมไม่ใช่ธรรมชาติของมนุษย์ มันถูกสร้างขึ้นมาในสังคมที่คนส่วนน้อยเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตซึ่งเป็นกลุ่มที่กุมอำนาจทั้งหมดในสังคม ในสังคมที่ผู้คนทำให้คนอื่นเป็นทาส และในสังคมที่ผู้คนสนใจแต่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ต่อผู้อื่น
กิจกรรมถามตอบ Q&A กับสหายนักปฏิวัติจากต่างแดนกับ “ลูน่า” โดย TUMS
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/Tumarxisms/photos/a.127128865638519/371790461172357/