ต้นฉบับ : สหายS!nk

สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน ขั้นแรกเลยผมอยากจะบอกก่อนว่า จุดประสงค์ของการเขียนบทความนี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อสั่งสอนว่าใครควรจะทำอะไร แต่ว่าเป็นการเสนอความคิดรวมไปถึงการทบทวนความเข้าใจต่อสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น สุดท้ายแล้วไม่ว่าท่านจะตัดสินใจกระทำการอะไร ถ้าหากเป็นไปเพื่อประชาธิปไตยทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย เราก็คือ สหาย กัน 

ในปัจจุบันฝ่ายมวลชนฝั่งประชาธิปไตย มีความขัดแย้งกันจนเป็นปรากฏการณ์กึ่งด่า กึ่งดีเบท กันในโลกออนไลน์ในประเด็นที่ว่า “อะไรเป็นสิ่งที่เราควรจะทำในตอนนี้?” สืบเนื่องมาจากกระแสการทำม็อบที่ซบเซาลง แม้จะจัดการเดินขบวน ตั้งเวที ชูป้าย ศิลปะแสดงสดหรือ performance arts ฯลฯ 

แต่ผลที่ตามมา เหล่าแกนนำกลับโดนจับ มีคดีติดตัวกันมากมาย ทางคฝ. เองก็ยังสามารถเบิกงบประมาณมาปราบม็อบได้ตลอดทั้งปีไม่มีหมด สามารถสลับทั้งตำรวจและทหารมาปราบปรามได้ 

เหตุการณ์นี้พิสูจน์แล้วว่าม็อบที่ไม่มีเส้น เหมือน ม็อบพันธมิตร กปปส. ไม่มีกองทัพ ไม่มีกลไกรัฐ ไม่มีวังหนุนหลัง ชุมนุมให้ตายยังไงก็โค่นรัฐบาลไม่ได้ แถมโดนสลายได้ง่ายเหมือนแกะถุงขนมอีก

 (1)

ประกอบกับที่ช่วงเวลานี้ก็ใกล้การเลือกตั้งเข้าทุกทีแล้ว ทำให้มวลชนที่สิ้นหวังกับการทำม็อบ หันไปหวังพึ่งพาการเลือกตั้งแทน เพราะเห็นว่าการเลือกตั้งสามารถเปลี่ยนตัวผู้บริหารได้จริง แต่การรอเลือกตั้งก็ใช่ว่าจะเป็นคำตอบที่ถูกต้องซะทีเดียว ทีนี้เรามาดูความเห็นของฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับการรอเลือกตั้งบ้าง พวกเขาเสนอว่า…

“เลือกตั้งไปแล้วก็ไม่ชนะ เพราะอีกฝ่ายคุมเกมหมด องค์กรอิสระเป็นของมัน ศาลเป็นของมัน กกต. ก็พวกมัน กติกาก็เข้าข้างมัน ต่อให้ชนะเลือกตั้งก็เป็นรัฐบาลไม่ได้ แพ้อยู่ดี”

นอกจากนี้จากกระแสของม็อบช่วงปี 63-64 ก็ทำให้หลายคนตาสว่างเกินกว่าจะกลับไปรอให้พรรคการเมืองใด พรรคการเมืองหนึ่ง มาช่วยปลดแอกประเทศไทย เนื่องจากพวกเขาได้รู้แล้วว่าปัญหาแท้จริงของการเมืองไทยนั้น ไม่ได้มาจากการที่แค่ “พวกทหารมันไม่รู้เรื่องการบริหาร ก็เลยบริหารประเทศได้ห่วย เราแค่ต้องเอาคนเก่ง คนดี มาปกครอง” เพราะปัญหาที่แท้จริงก็ คือ ปัญหาระดับโครงสร้างที่โยงใยไปถึงแกนหลักของการเมืองการปกครองไทย นั่นคือสถาบันกษัตริย์ การที่ศาล ทหาร ตำรวจ กลไกรัฐ ออกมากระทำการใดๆ เพื่อขัดขวางประชาธิปไตยก็เป็นไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ของสถาบันกษัตริย์ ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่เรื่องความเก่งกาจของผู้บริหาร เปรียบเสมือนต่อให้ มาร์ก มาร์เกซ ขี่จักรยานเก่าๆ มาแข่งในงาน Motogp ในขณะที่ผู้เข้าแข่งขันคนอื่นขี่มอเตอร์ไซค์ ความเก่งกาจของ มาร์ก มาร์เกซ ก็ไม่อาจช่วยอะไรได้  

ทั้งนี้ผมไม่ได้จะบอกว่าที่ผ่านมาการจัดม๊อบปี 63-64 เป็นเรื่องล้มเหลว กลับกันผมมองว่าถ้าหากมาหักลบผลได้ผลเสียแล้ว มันนับว่าเป็นความสำเร็จเสียด้วยซ้ำ ถ้าหากเราย้อนกลับไปดูสมัยก่อนการมีม็อบ 63-64 การพูดคุยในประเด็นสถาบันกษัตริย์นั้นเป็นเรื่องต้องห้าม แม้เป็นการคุยเล่นกับเพื่อนฝูงหรือครอบครัว แต่ในปัจจุบันแม้ว่าจะยังมีผู้ถูกเอาผิดจากกฏหมาย 112 อยู่ แต่บรรยากาศบทสนทนาในภาคประชาชนได้ไปไกลกว่าเดิมมาก จริงอยู่ที่ว่าลำพังแค่การตาสว่างมันไม่เพียงพอสำหรับการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง แต่ปัญหาทุกปัญหาจะพึงแก้ล้วนแต่ต้องเริ่มด้วยการตระหนักรู้ว่ามีปัญหาก่อน และ ยิ่งมีจำนวนคนที่ตระหนักรู้ว่ามีปัญหามากก็ย่อมมีความคิดและกำลังคนสำหรับการจัดการกับปัญหานั้นๆ มากขึ้นไปด้วย การตระหนักรู้ปัญหาก็เหมือนกับเป็นการหว่านเมล็ดลงดิน ซึ่งเป็นเพียงจุดเริ่มต้น และ ยังต้องมีกระบวนการอื่นๆ ตามมาอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการพรวนดิน ใส่ปุ๋ย เพื่อให้ต้นประชาธิปไตยไทยได้เติบโตขึ้น 

แม้ว่าจะมีความขัดแย้งระหว่างสองความคิดนี้ แต่ผมว่าก็ยังมีส่วนที่ทั้งสองแนวคิดสามารถร่วมมือกันทำได้โดยไม่ได้ขัดต่อหลักการประชาธิปไตย นั่นคือ ารสร้างรากฐานอำนาจกันตั้งแต่วันนี้ ตัวอย่าง เช่น ทำกลุ่มศึกษา เข้าร่วมสหภาพแรงงาน รวมตัวจัดตั้งชุมชน สร้างเครือข่าย ฯลฯ ถ้ามีโอกาสเข้าร่วมได้ก็เข้า ถ้าไม่มีก็จัดตั้งสาขาขึ้น เริ่มจากเล็กๆ ก่อนก็ยังดี 

เพราะการสร้างรากฐานอำนาจนั้นเป็นวิธีการที่แม้จะเห็นผลได้ช้า แต่มีความยั่งยืนต่อประชาธิปไตยในระยะยาว นับว่าเป็นโอกาสที่ดีแล้วที่ปัจจุบันมีคนตาสว่างเพิ่มขึ้นกันมาก แต่เราต้องไม่ลืมว่า ในโลกยุคปัจจุบันที่ข้อมูลข่าวสารไหลผ่านสายตาของเราอย่างถล่มทลาย การต่อสู้กับงานและการเรียนในชีวิตแต่ละวัน สภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่และกดดัน อาจทำให้แสงสว่างในดวงตาของเรานั้น ถูกทับถมและหลงลืมไปได้ในที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จิตใจที่ยังมีไฟต่อสู้เพื่อให้ปากท้องขอตัวเองและเพื่อนร่วมชาติดีขึ้น 

การทำกลุ่มศึกษา-รวมตัวจัดตั้ง-สร้างเครือข่าย จะช่วยให้เราได้พบปะกับผู้คนที่มีพลังใจดังกล่าวเหมือนกันเรา ช่วยให้เราได้ไอเดียและมุมมองใหม่ๆ ในการทำความเข้าใจปัญหาทางการเมือง ทำให้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวสิ้นหวัง ทำให้มวลชนฝั่งประชาธิปไตยมีความเป็นปึกแผ่น มีอำนาจต่อรองมากขึ้น เช่น ถ้าจะจัดกิจกรรมนัดหยุดงาน ถ้าหากว่าเป็นการกระทำโดยพร้อมเพรียง ย่อมมีพลังกว่าการกระทำโดยปัจเจกหรือกลุ่มที่มีมวลชนเล็กน้อย

นอกจากนี้กิจกรรมดังกล่าว ยังช่วยให้ไม่หลงลืมความรู้ความเข้าใจของเราที่มีระบบการเมืองไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพราะถ้าหากเราหลงลืมสิ่งเหล่านั้นแล้ว เราก็จะถดถอยไปอยู่กับวิธีการเดิมๆ ที่สังคมและตัวเราเคยชิน หรือไม่ก็ถดถอยไปสู่ความซึมเศร้าและสิ้นหวัง 

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าสถานการณ์ที่เราชาวไทยกำลังเผชิญอยู่นี้เรียกได้ว่าเป็น Interregnum คือ สภาวะที่ สิ่งเก่าตายแล้ว แต่สิ่งใหม่ยังไม่เกิด สัญลักษณ์ของศูนย์รวมใจของคนไทยทั้งชาติไม่ได้ตายไปพร้อมกับร่างของใครบางคน แต่ค่อยๆ ตายลงไปนับตั้งแต่การรัฐประหารปี 49 หรือการสังหารหมู่คนเสื้อแดงปี 53 เป็นต้นมา

ไม่มีประเทศใดจะอยู่ได้โดยไม่มีความเป็นชุมชนจินตกรรมหรือคุณค่าที่คนในประเทศให้ไว้ร่วมกัน ในขณะนี้นับว่าเป็นห้วงเวลาที่สมควร ที่เราจะสถาปนาให้คุณค่าของความเป็นชาติเรา คือ การร่วมมือร่วมใจกันต่อสู้กับระบบเผด็จการที่ครั้งหนึ่งเคยสถาปนาว่าเป็นสัญลักษณ์หนึ่งเดียวแห่งประเทศเรา 

ในการทำกิจกรรมดังกล่าวนี้ สามารถทำควบคู่กันไปได้ทั้งสำหรับคนที่เห็นด้วยกับการทำม็อบ และ คนที่อยากรอเลือกตั้ง เพราะการสร้างฐานอำนาจของประชาชน ไม่ได้ไปสกัดขัดขวางไม่ให้มีการเลือกตั้งหรือทำให้การจัดม็อบทำไม่ได้ 

แน่นอนว่าถ้าหากดูในรายละเอียด ก็เข้าใจได้ว่าทำไมจะมีการขัดแย้งกันเพราะว่าทางฝั่งคนที่ต้องการทำม็อบก็จะมองว่า แนวคิด “การรอเลือกตั้ง” ก็จะทำให้คนมาม็อบน้อยลง แต่ในส่วนของคนรอเลือกตั้ง อันนี้ผมก็ยังไม่ค่อยเข้าใจว่าจะต้องไปโจมตีคนทำม็อบทำไม ในเมื่อพวกเขาไม่ได้ใช้วิธีการยกพวกไปปิดคูหาเลือกตั้งแบบที่ม็อบกปปส.ทำ อาจเป็นได้ว่ากลุ่มที่ “เสียงดัง” ในฝั่งของคนรอเลือกตั้ง อาจมีจุดประสงค์จริงๆ อยู่ที่การสนับสนุนพรรคการเมืองที่ตัวเองชอบ มากกว่าการรักษาเอกภาพของฝ่ายประชาธิปไตยก็เป็นได้ 

ซึ่งการที่ใครสักคนจะชอบพรรคการเมืองไหนเป็นพิเศษย่อมเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่ถ้าหากจะพูดถึงในระดับมหภาคเพื่อเปลี่ยนแปลงทางสังคมแล้ว การจะอ้างเอา Free Speech โดยปัจเจก มาให้ความชอบธรรมตัวเองในการสร้างความแตกแยกในฝ่ายประชาธิปไตย ผมว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควร

ดังนั้นปัญหาเรื่องนี้มันเลยย้อนกลับไปที่การทำ กลุ่มศึกษา-รวมตัวจัดตั้ง-สร้างเครือข่าย เพราะ

  1. กลุ่มศึกษา จะช่วยยกระดับการโต้เถียงให้มีความลึกซึ้งมากขึ้น บทสนทนาเกี่ยวกับเรื่องทฤษฎี เหตุผล ความเข้าใจ มากกว่าอารมณ์ของการบูชาตัวบุคคล หรือ เอาอารมณ์ของตนเองเป็นใหญ่ นอกจากนี้อาจทำให้เห็นทางออกร่วม ที่มีมากกว่าทางออก A และทางออก B ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

 

  1. การรวมตัวจัดตั้ง จะช่วยเพิ่มจำนวนมวลชน คนที่มีความรู้ความเข้าใจไปในทิศทางใกล้เคียงกัน เป็นการได้ประยุกต์เอาภาคทฤษฎีล้วนๆ ที่ได้จากกลุ่มศึกษานำมาย่อยให้เข้าใจง่าย เข้าถึงมวลชนได้ในภาคปฏิบัติ นอกจากนี้การจัดตั้งหลายครั้งยังต้องอาศัยการลงพื้นที่ ซึ่งทำให้ได้สัมผัสกับชีวิตของผู้คนที่มาจากหลากหลายตำแหน่งแห่งที่ทางสังคม

 

  1. การสร้างเครือข่าย จะช่วยเพิ่มความเป็นมิตรต่อกันมากขึ้น หลายครั้งพื้นที่ในโลกออนไลน์ก็ไม่ได้อำนวยให้เกิดบทสนทนาที่เป็นประโยชน์ ผู้คนไม่จำเป็นต้องควบคุมตัวเองในการแสดงความเห็น หรือ คำนึงถึงประโยชน์ที่ได้จากการสนทนาเทียบเท่ากับบทสนทนาที่เกิดขึ้นในโลกออฟไลน์ การได้มาพบปะผู้คนจริงๆ ใช้เวลาร่วมกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ก็จะช่วยให้เกิดความเป็นมิตรต่อคนที่เห็นต่างกันมากขึ้น เราจะเห็นคนที่คิดต่างเป็นมนุษย์มากขึ้น ต่างกันกับโลกออนไลน์ที่เรามักจะมองเป็นกลุ่มก้อนความคิดเห็นต่างที่เป็นศัตรู

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ฝ่ายประชาธิปไตยหลายคนนำเอาความเกลียดชัง ความแค้นเคือง ที่ถูกกระทำต่อระบบไปเกรี้ยวกราดใส่สามัญชนคนธรรมดาด้วยกันในโลกออนไลน์มากเสียยิ่งกว่านำไปเกรี้ยวกราดใส่ชนชั้นปกครอง ผู้กดขี่มีอำนาจ 

ซึ่งในสามส่วนนี้ ไม่ได้หมายความว่าท่านจะต้องทำทั้งหมดในตัวคนคนเดียว ผมเสนอว่าใครที่ถนัดอะไรในสามอย่างนี้ ก็ทำไปเพราะแต่ละคนย่อมมีความถนัด,ความสนใจ,ความสะดวก แตกต่างกันไป หลายครั้งผมสังเกตว่าความขัดแย้งเกิดจากที่ กลุ่มนึงไม่เข้าใจว่าอีกกลุ่มนึง ทำกิจกรรมนั้นๆ ไปทำไม ทำไมไม่ทำแบบที่กลุ่มตัวเองทำ แม้เราจะเคยได้ยินโควท “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” กันมาแล้ว แต่ยังขาดในภาคปฏิบัติการซึ่งก็ คือ การสร้างเครือข่ายที่เชื่อมต่อระหว่างกลุ่มที่มีความถนัดแตกต่างกัน 

ปัญหาเหล่านี้ผมไม่โทษว่าเป็นความผิดของผู้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่มองว่าเป็นผลมาจากการที่มนุษย์เรายังปรับตัวตามไม่ทันเทคโนโลยีการสื่อสารมากกว่า กล่าวคือ การเห็นต่างในสังคมเป็นเรื่องที่ปกติอยู่แล้ว คนที่ไม่คิดก่อนพูด หรือ ชอบสร้างความแตกแยกก็ใช่ว่าจะไม่เคยมี เมื่อก่อนเราจะสรุปว่าความเห็นใดเป็นตัวแทนของกลุ่มแนวคิดนั้นๆ จะทราบได้จากการที่โฆษก หรือ หัวหน้าของกลุ่มนั้นๆ ออกแถลงการณ์ เราไม่อาจรู้ได้ว่าแถลงการณ์นั้นๆ เป็นไปโดยมติประชาธิปไตยภายใน 100% หรือไม่ แต่อย่างน้อยแถลงการณ์นั้นๆ ก็ผ่านการไตร่ตรองมาประมาณนึงแล้ว 

แต่เมื่อเกิดโซเชียลมีเดียขึ้น ผู้ที่เป็นโฆษกในภาคปฏิบัติ ของกลุ่มแนวคิดแต่ละกลุ่มไม่ใช่ผู้ได้รับการแต่งตั้ง-เลือกตั้ง-ไตร่ตรอง ให้ออมาแสดงความเห็น แต่ระบบอัลกอริทึมจะจัดให้ความเห็นที่มีคนรีแอคชั่นมากที่สุด ได้รับความสำคัญและโผล่ขึ้นในหน้าฟีดมากเป็นพิเศษ ซึ่งก็เป็นอย่างที่เราเห็น ก็คือส่วนใหญ่ของโพสต์-คอมเมนท์ ที่ได้รับความสำคัญเหล่านี้ มักจะเป็นความเห็นที่มีลักษณะรุนแรง โผงผาง เสียดสี โดนใจวัยโจ๋ กลับกลายเป็นคนเหล่านี้ที่ได้รับสปอตไลท์และกลายเป็นภาพตัวแทนของกลุ่มแนวคิดนั้นๆ ไปโดยปริยาย ยิ่งมาประกอบกับการสร้างเครือข่ายที่ยังไม่ค่อยแข็งแรงแล้ว ก็ยิ่งเป็นการเสริมย้ำให้เกิดความแตกแยก ทะเลาะเบาะแว้ง ที่ไปไกลกว่าแค่การแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจไปมากโข 

ซึ่งในประเทศเราเองที่การมีเสรีภาพในการพูดเป็นสิ่งที่โดนกดมาแสนนาน เมื่อได้รับการคลายผนึกด้วยโซเชียลมีเดียก็ย่อมเป็นการยากที่จะห้ามปรามให้หันมามองเห็นความสำคัญของประโยชน์ส่วนรวม-เอกภาพของฝ่ายประชาธิปไตย มีความสำคัญเหนือความต้องการที่จะระบายอารมณ์ส่วนตน แม้กระทั่งความเข้าใจว่า “แม้เราจะใช้แอคเคาท์ส่วนตัวในโลกออนไลน์ แต่เมื่อได้โพสต์ออกไปแล้ว ก็เป็นการกระทำสู่สาธารณะที่ส่งผลกระทบต่อส่วนรวม” 

ดังนั้นปัญหาเรื่องนี้จึงไม่ใช่ปัญหาเชิงจริยธรรมส่วนบุคคล หากแต่เป็นปัญหาทางสังคม ที่พวกเราต้องคิดค้นเครื่องมือในการแก้มัน เหมือนที่จิลล์ เดอเลิซเคยกล่าวไว้ว่า “ไม่จำเป็นต้องกลัวหรือหวังไปหรอก เราแค่ต้องมองหาเครื่องมือใหม่เท่านั้น” (There’s no need to fear or hope, but only to look for new weapons.)

โดยสรุปแล้ว ใจความที่ผมต้องการจะสื่อในบทความนี้ก็ คือ มันไม่ใช่เรื่องผิดที่เราจะเลือกกระทำการเมืองในแบบที่เราถนัด แต่เราต้องไม่ลืม

1.การสร้างฐานอำนาจในระยะยาว เพราะแต่ละคนมีความถนัดไม่เหมือนกัน และ ปัจเจกบุคคลไม่สามารถจะกระทำการทุกอย่างเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเองได้ เพราะเช่นนั้น เราจึงจำเป็นต้องช่วยเหลือแลกเปลี่ยนกันผ่านเครือข่าย 

2.คิดค้นเครื่องมือใหม่เพื่อมาจัดการปัญหาของความขาดเอกภาพในฝ่ายประชาธิปไตย 

credits:

  1. ถอดความมาจากโพสต์ของ บอล ภาคิไนย์