ผู้เขียน: รัตนาภร เหล่าลิ้ม/การัณยภาส ภู่ยงยุทธ์
ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2563 มีกิจกรรมจัดกลุ่มอ่านหนังสือขึ้นที่(อดีต)ร้านหนังสือ Being in the Book จังหวัดเชียงใหม่ จุดประสงค์ในการจัดกิจกรรมนี้ก็คือการเชิญชวนให้ผู้ที่รักการอ่านได้มาพบปะพูดคุยกันเกี่ยวกับหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่ง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประเด็นต่างๆ ที่แต่ละคนอาจจะมองเห็นต่างกัน โดยกิจกรรมครั้งล่าสุดนี้ก็ดำเนินมาถึงครั้งที่ 5 แล้ว
เนื่องจากมีการถกเถียงกันทางโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับประเด็นของเฟมินิสม์มาระยะเวลาหนึ่ง จึงทำให้เกิดการจัด reading group ในครั้งนี้ โดยหนังสือที่ถูกเลือกมาอ่านและพูดคุยกันก็คือ Why I Am Not a Feminist: A Feminist Manifesto ของ Jessa Crispin ที่คาดว่าน่าจะให้มุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับแนวคิดเฟมินิสม์ โดยเฉพาะการวิพากษ์ลักษณะบางอย่างของขบวนการเฟมินิสต์ในปัจจุบัน จึงเป็นโอกาสที่ดีในการเปิดวงสนทนาให้กับผู้ที่สนใจเข้ามาแลกเปลี่ยนกัน
ก่อนอื่น เราอยากแนะนำผู้เขียนให้ทุกคนรู้จักกันเสียก่อน
Jessa Crispin
แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่า Jessa Crispin โด่งดังขึ้นมาจากหนังสือที่ (ดูเหมือนจะ?) ต่อต้านสตรีนิยมของเธอเล่มนี้ แต่อันที่จริงเธอโลดแล่นอยู่ในวงการหนังสือและงานเขียนมานับ 20 ปีแล้ว เพราะเธอเริ่มเขียนบล็อกวิจารณ์วรรณกรรมเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2002 ในชื่อ Bookslut.com ซึ่งหลังจากเขียนบทวิจารณ์อย่างแข็งขันมาอย่างยาวนาน เธอก็ตัดสินใจหยุด bookslut ไปในปี 2016 แต่ตอนนี้เว็บไซต์สามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ตามปกติ
Crispin เป็นนักเขียนที่มีความแหลมคม และวิจารณ์สิ่งต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา หนังสือ Why I Am Not a Feminist คือตัวอย่างที่ดี เพราะมันแสดงให้เห็นถึงการผูกประเด็นที่เยี่ยมยอด แต่ก็ไม่ละทิ้งอารมณ์ขันแบบตลกร้าย การอ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้เรารู้สึกเหมือนโดนจิกกัดตลอดเวลา ไม่ว่าคุณจะเป็นเฟมินิสต์หรือไม่เป็น ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย
Crispin เติบโตมาในหมู่บ้านที่ค่อนข้างเป็นอนุรักษ์นิยม นั่นทำให้เธอรู้สึกว่าตนเองไม่อินกับกระแสสตรีนิยมในยุค 90s เธอมองว่าการเคลื่อนไหวเหล่านั้นไม่ได้ช่วยปลดปล่อยผู้หญิงอย่างแท้จริง อย่างน้อยก็ผู้หญิงแบบในหมู่บ้านที่เธอเติบโตมา ผู้หญิงที่ถูกวางบทบาทให้เป็นแม่ เป็นแม่บ้าน หรือพูดง่ายๆ คือผู้หญิงที่ไม่อาจก้าวไปสู่ self empowerment แบบที่เฟมินิสต์กระแสหลักทำได้
นอกจากการเขียนบล็อกและหนังสือ เธอยังเป็นคอลัมนิสต์ให้กับนิตยสารและหนังสือพิมพ์หลายหัว อีกทั้งก็ยังเป็นคนที่คลั่งไคล้ไพ่ทาโรต์ด้วย ทุกวันนี้ถ้าเข้าทวิตเตอร์ของเธอก็จะเจอเธอโพสต์เรื่องไพ่ทาโรต์ถี่ๆ และในปี 2018 Crispin แต่งงานกับ Nicolás Rodríguez Melo ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานของเธอ ทั้งที่เธอเคยบอกว่าการแต่งงานคือการทำให้ผู้หญิงเป็นเหมือนทรัพย์สมบัติของผู้ชาย แต่เธอก็ให้เหตุผลว่าการแต่งงานของเธอนั้นเป็นเรื่องการเมือง คือการมอบสิทธิพลเมืองให้กับคู่รักของเธอนั่นเอง
ทำไมฉันถึงไม่เป็นเฟมินิสต์ แล้วคุณล่ะเป็นเฟมินิสต์หรือเปล่า
พวกเราเริ่มจากการแจกไฟล์หนังสือให้กับทุกคนที่สนใจอ่านหนังสือเล่มนี้ ซึ่งพวกเราตกลงกับผู้ที่สนใจอ่านหรือพูดคุยเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ว่าจะใช้ระยะเวลาในการอ่านประมาณหนึ่งเดือน ที่ต้องเป็นระยะเวลาหนึ่งเดือนก็เพราะว่าพวกเราไม่อยากให้เพื่อนๆ ต้องเร่งรีบในการอ่านมากนัก และอยากให้มีกระบวนการอ่านไปทบทวนเพื่อตกผลึกทางความคิด เมื่อครบหนึ่งเดือนตามที่กำหนดแล้ว ก็ถึงเวลาที่พวกเราจะนัดเจอกันเพื่อพูดคุยและถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นในหนังสือ หรืออาจจะเชื่อมโยงไปยังประเด็นนอกเหนือจากหนังสือก็ได้
เมื่อถึงวันเวลาที่นัดกันไว้ พวกเราเริ่มต้นการสนทนาด้วยคำถามง่ายๆ ว่า แต่ละคนมีความรู้สึกอย่างไรต่อหนังสือเล่มนี้เมื่อรู้จักมันครั้งแรก อาจหมายถึงชื่อของหนังสือเล่มนี้ก็ได้ เสียงส่วนใหญ่ให้คำตอบที่คาดเดาไม่ยาก ก็คือคิดว่าหนังสือเล่มนี้ต้องเป็นหนังสือต่อต้านเฟมินิสม์แน่ๆ หรือไม่ก็เป็นหนังสือของพวกอนุรักษ์นิยมที่ต้องการวิพากษ์เฟมินิสม์ แน่นอนว่ามุมมองดังกล่าวไม่ใช่สิ่งที่น่าแปลกใจ เพราะจากชื่อหนังสือก็ชวนให้คิดไปทางนั้น ต่อให้จะมีคำว่า A Feminist Manifesto ต่อท้ายก็ตาม
บทสนทนาดำเนินต่อไปด้วยคำถามง่ายๆ อีกเช่นกัน คุณคิดว่าเฟมินิสต์คืออะไร? คราวนี้อาจจะมีความเห็นที่แตกต่างกันบ้าง อาจเป็นเพราะว่าประสบการณ์ส่วนตัวที่แต่ละคนมีไม่เหมือนกัน ซึ่งก็ไม่ได้น่าตื่นตระหนกใดๆ เพราะทุกคนต่างพูดคุยกันอย่างเป็นมิตรและมีท่าทีที่รับฟังความเห็นของคนอื่นอย่างน่าประทับใจ บางคนนิยามว่าตนเองเป็นเฟมินิสต์ เพราะอยากเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ และเคยพบเจอกับประสบการณ์แย่ๆ ที่มีสาเหตุมาจากโครงสร้างแบบชายเป็นใหญ่ บางคนเป็นผู้ชายก็ให้คำตอบที่น่าสนใจเหมือนกัน เขาบอกว่าตนเองไม่ได้สนใจเฟมินิสม์มาก่อน (แต่ก็ไม่ได้ต่อต้าน) แต่ภายหลังจากนิยามตนเองว่าเป็นนักอนาธิปัตย์ (anarchist) ก็ทำให้เขาหันมาทบทวนเรื่องเพศมากขึ้น สำหรับเขาแล้ว ถ้าคุณเป็นนักอนาธิปัตย์ที่เชื่อในความเท่าเทียมทางเสรีภาพของมนุษย์ทุกคน นั่นหมายความว่าเขาก็จะต้องเชื่อว่าแต่ละเพศ (ในฐานะมนุษย์) ก็ต้องเท่าเทียมกันไปโดยปริยาย เราจะเห็นได้ว่าต่อให้คุณจะเป็นเพศอะไรก็ตาม ก็สามารถคิดแบบเฟมินิสต์ที่เรียกร้องความเท่าเทียมระหว่างมนุษย์ทุกคนได้เหมือนกัน
จากนั้นพวกเราก็เริ่มพูดถึงประเด็นต่างๆ ในหนังสือเล่มดังกล่าว ซึ่งการสนทนาครั้งนี้จะมีจุดเน้นไปที่การวิพากษ์เฟมินิสต์สากลนิยม (Universal Feminism) เป็นหลัก ซึ่งทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่ามันเป็นข้อเสนอของหนังสือเล่มนี้ และอาจเป็นจุดที่ทำให้ Crispin ถูกโจมตีว่าเป็นพวกต่อต้านเฟมินิสม์ แต่ทุกคนในวงสนทนาเห็นด้วยกับ Crispin ในแง่ที่ว่า เฟมินิสต์แบบสากลนิยมนั้นไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงสักเท่าไหร่ เพราะพวกเขายังคงติดอยู่ในวิธีคิดแบบปัจเจกที่เน้นการเพิ่มอำนาจของผู้หญิงให้เท่าเทียมกับผู้ชาย และผลิตซ้ำโครงสร้างชายเป็นใหญ่ไปเรื่อยๆ หรือพูดง่ายๆ คือ พวกเขาต้องการมีอำนาจเพื่อก้าวไปสู่การเป็นผู้กดขี่เสียเอง ทำให้สุดท้ายแล้ว ระบบที่ไม่เป็นธรรมยังคงดำรงอยู่ และนี่คือเหตุผลว่าทำไม Crispin จึงไม่นิยามตนเองว่าเป็นเฟมินิสต์ เพราะถ้าเฟมินิสต์นั้นหมายถึงสิ่งที่เธอวิพากษ์ เธอก็ไม่เป็นเสียดีกว่า
งานบ้านที่ไม่ใช่แค่งานบ้านๆ
หลังจากนั้นก็เป็นการถามความเห็นว่าเพื่อนๆ แต่ละคน มีความเห็นอย่างไรต่อการวิพากษ์วิจารณ์ของ Crispin ซึ่งก็มีคนที่เห็นด้วยกับ Crispin ว่าแนวคิดแบบเฟมินิสต์นั้นจะต้องรวมเอาผู้หญิงรากหญ้าเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการด้วย อย่างเช่น การถกเถียงว่า งานบ้านที่ผู้หญิง(ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงรากหญ้า)ทำนั้น มันเป็นสัญลักษณ์แห่งการกดขี่ผู้หญิงจริงๆ หรือเปล่า ประเด็นนี้มักถูกเอ่ยถึงบ่อยครั้งแต่น่าเสียดายที่มันมักไม่ถูกถกเถียงอย่างจริงจัง อีกทั้งเหล่าเฟมินิสต์สากลนิยมก็มักโจมตีไปที่งานบ้านอย่างฉาบฉวย ด้วยการเสนอว่าผู้หญิงควรออกไปทำงานนอกบ้านเพื่อที่จะปลดแอกตัวเองออกจากการกดขี่ของผู้ชายแทน
สำหรับ Crispin แล้ว เธอกลับมองประเด็นเรื่องงานบ้านว่า สุดท้ายแล้วมันก็ต้องมีคนที่มาทำงานบ้านอยู่ดี และนั่นจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากผู้หญิงรากหญ้าที่ไม่มีทางเลือก สิ่งนี้ทำให้เราเห็นได้ชัดเจนว่า เฟมินิสต์สากลนิยมไม่ได้ต้องการเห็นโลกที่เท่าเทียม พวกเขาต้องการแค่เพียงหาโอกาสให้ตัวเองเข้าไปอยู่ในระบบของอำนาจที่จะมากดขี่คนอื่นต่อไป
ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงการที่ผู้หญิงบางคนซึ่งรักในการทำงานบ้าน พวกเธอก็มักจะโดนเหมารวมไปด้วยว่าเป็นคนไม่ก้าวหน้า ติดอยู่ในระบอบชายเป็นใหญ่ แต่อย่าลืมว่าการทำงานบ้านของแต่ละคนอาจจะมีความหมายที่แตกต่างกัน บางคนอาจจะเกลียดการทำงานบ้าน แต่บางคนอาจจะมองว่ามันเป็นกิจกรรมที่ช่วยคลายเครียด หรือเยียวยาจิตใจ ดังนั้นปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวงานบ้าน แต่อยู่ที่การมองว่ามันมีคุณค่าอย่างไรมากกว่า ซึ่งแน่นอนว่าในระบบทุนนิยม (ซึ่งเป็นโครงสร้างอำนาจหลักในสังคม) งานบ้านย่อมเป็นงานที่ไร้คุณค่า เพราะมันไม่ได้สร้างผลผลิตอะไรขึ้นมา ผู้เข้าร่วมคนหนึ่งเสริมขึ้นมาว่า ถ้าปราศจากสังคมแบบทุนนิยม งานบ้านก็เป็นอีกงานหนึ่งที่ให้คุณค่าไม่แพ้งานอื่นๆ หรือมันอาจจะไม่ใช่งาน แต่เป็นกิจกรรมทางศิลปะชนิดหนึ่งก็ได้
ดังนั้นทุกคนในวงสนทนาจึงมองว่า สิ่งที่เราควรจะเน้นก็คือการเปลี่ยนแปลงที่ตัวระบบ โครงสร้าง หรือสังคม แทนที่จะมองว่าผู้หญิงต้องเพิ่มอำนาจให้กับตนเอง ต้องมีตำแหน่งสูงๆ เงินเดือนเท่ากับผู้ชาย เพราะว่าสุดท้ายมันก็จะนำไปสู่การกดขี่ผู้หญิงคนอื่นๆ ที่ไม่มีอำนาจอยู่ดี แล้วเราจะสร้างสังคมที่เท่าเทียมได้อย่างไร ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ Crispin เน้นย้ำอยู่ตลอด
ไม่ใช่แค่พลังหญิง แต่ต้องเป็นพลังของทุกคน
สิ่งที่น่าสนใจคือ ผู้เข้าร่วมคนหนึ่งได้เล่าประสบการณ์อันเลวร้ายซึ่งเป็นการเผชิญหน้ากับอำนาจของผู้ชายอย่างตรงไปตรงมา เราทุกคนที่นั่งอยู่ตรงนั้นสังเกตได้ว่าเธอเจ็บปวดกับเหตุการณ์นั้นจริงๆ หลังจากที่เธอเล่าจบ ผู้เข้าร่วมอีกคนหนึ่งก็เสริมขึ้นมาว่า สิ่งที่เราควรเรียกร้องนั้นไม่ใช่การทำให้ผู้หญิงเข้าไปมีอำนาจเท่ากับผู้ชาย แต่คือการสร้างสังคมที่ทั้งผู้หญิงและผู้ชายสามารถอยู่ร่วมกันได้ เป็นสังคมที่จะไม่มีใครต้องพบเจอเหตุการณ์ร้ายๆ ข้างต้น ดังนั้นแล้ว จุดเน้นของ Crispin อีกประการก็คือ เราต้องหวนกลับมาให้ความสำคัญกับสังคมหรือการร่วมมือกัน แทนที่จะต่อสู้แบบปัจเจกที่ดูไร้เขี้ยวเล็บ และเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้
ระหว่างการสนทนาก็มีคนเดินทางมาเข้าร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ถือว่าเป็นการทำให้บทสนทนามีความหลากหลาย โดยเฉพาะประสบการณ์ที่แต่ละคนพบเจอมาและสามารถเชื่อมโยงกับหนังสือได้
อีกหนึ่งประเด็นที่มีการพูดคุยกันก็คือ ตกลงแล้วท่าทีของ Crispin ที่มีต่อผู้ชายนั้นเป็นอย่างไรกันแน่ เพราะมีหลายช่วงหลายตอนที่น้ำเสียงของ Crispin นั้นแสดงออกมาว่า เธอไม่อยากจะยุ่งกับผู้ชายสักเท่าไหร่ (อารมณ์ประมาณว่า ผู้ชายไม่ใช่ปัญหาก็จริง แต่ฉันก็ไม่ได้อยากจะสื่อสารกับผู้ชายมากนัก) จุดนี้เองที่ทำให้ Crispin โดนวิจารณ์ว่างานชิ้นนี้เป็นการกีดกันผู้ชายออกไป ซึ่งมันขัดแย้งกับสิ่งที่เธอพยายามเสนอให้สร้างสังคมที่คนทุกเพศอยู่ร่วมกันได้
ผู้เข้าร่วมคนหนึ่งเสนอว่า Crispin ไม่ได้กีดกันผู้ชายออกไปขนาดนั้น เพราะก็มีบางช่วงที่เธอเขียนเอาไว้ว่า ผู้ชายก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมแบบใหม่ได้ ส่วนอีกคนแสดงความเห็นว่า อาจเป็นเพราะสไตล์การเขียนของ Crispin ที่ค่อนข้างจะเสียดสี และพยายามยั่วยุ ก็มีผลให้คนอ่านรู้สึกแบบนั้นได้ ซึ่งผู้เข้าร่วมอีกคนที่เป็นผู้ชายก็เสริมว่า การเขียนของ Crispin ก็ทำให้บางช่วงของหนังสือมีความรู้สึกว่าเธอกีดกันผู้ชายจริงๆ เหมือนพยายามแทงใจดำผู้ชาย แต่เมื่ออ่านไปเรื่อยๆ ก็พบว่าเธอไม่ได้กีดกัน แต่เน้นย้ำให้ทั้งชายและหญิงร่วมใจกันด้วยซ้ำ
หากไร้จินตนาการ นั่นคือปัญหาใหญ่ของเรา
เราปิดท้ายด้วยการพูดถึงการจินตนาการถึงทางเลือกอื่นๆ ที่เป็นเหมือนข้อเสนอในตอนท้ายของหนังสือเล่มนี้ เพราะ Crispin กล่าวว่าถ้าเราไม่กล้าจินตนาการไปให้ไกลกว่านี้ สุดท้ายเราก็อาจจะต้องพบเจอกับทางตัน และการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความเท่าเทียมทางเพศนั้นไม่อาจกระทำได้แบบปัจเจก แต่ต้องการการร่วมมือร่วมใจกันในระดับสังคม เพื่อสร้างระบบหรือโครงสร้างใหม่ที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมขึ้นอย่างแท้จริง ผู้เข้าร่วมหลายคนบอกว่าเขาเห็นด้วยกับ Crispin ในเรื่องนี้ เพราะรู้สึกว่าในปัจจุบัน การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศกลับถูกโฟกัสไปที่การต่อล้อต่อเถียงกันในโซเชียลมีเดีย เหมือนเป็นการพยายามเอาชนะกันมากกว่า แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงการสร้างสังคมที่มนุษย์ทุกคนรู้สึกว่าสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสบายใจ ไม่ค่อยมีการพูดถึงการร่วมมือกันในฐานะ “เพื่อนมนุษย์” ที่อยากเห็นสังคมที่เท่าเทียมกันจริงๆ ในทุกมิติของชีวิต และนี่อาจเป็นสิ่งที่เราต้องคิดกันต่อไปในระยะยาว
หลังจากนั้นพวกเราก็ให้เวลาแก่ผู้เข้าร่วมแต่ละคนได้สนทนากันนอกรอบ เผื่อใครมีประเด็นอื่นๆ ที่อยากยกมาพูดคุยนอกเหนือจากนี้ ส่วนความพิเศษของ Reading Group ครั้งนี้ก็คือ มีชาวต่างชาติเข้าร่วมด้วย ก็เลยอาจจะมีบางช่วงที่ต้องพูดภาษาอังกฤษบ้าง หรือถ้าใครไม่ถนัดก็มีผู้เข้าร่วมบางคนอาสาเป็นสื่อกลางในการแปลภาษาให้อย่างเต็มใจและไม่มีการอิดออดใดๆ นับว่าเป็นการร่วมมือร่วมใจเล็กๆ ที่ทุกคนต่างยินดีให้การสื่อสารในครั้งนี้เป็นไปโดยไร้ขีดจำกัดและไม่มีอะไรสามารถขวางกั้นได้ และทำให้วงสนทนาครั้งนี้ของเราประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
สำหรับใครที่อยากเข้าใจเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้อย่างละเอียด ก็ลองไปหาอ่านกันได้ เพราะมีประเด็นอื่นๆ ที่อาจจะยังไม่ได้ถูกพูดถึงในบทความสรุปนี้ สุดท้ายนี้ถ้าใครสนใจและอยากเข้าร่วมกิจกรรม reading group กับพวกเรา ก็สามารถติดตามได้ที่ Facebook Page ของ Being in the Book ซึ่งเราจะพยายามจัดกิจกรรมนี้อย่างต่อเนื่องในอนาคต
อดีตร้านหนังสือมือสองในเชียงใหม่ ปัจจุบันผันตัวมาจัดกิจกรรมเกี่ยวกับหนังสือ เราเชื่อว่าคนชอบอ่านหนังสือไม่ใช่คนรักสันโดษเสมอไป เพียงแต่พวกเขายังไม่เจอคนที่คุยด้วยแล้วรู้สึกสนุกมากกว่า