เมื่อไรก็ตามที่วันแม่หวนกลับมา เรามักจะนึกถึงกิจกรรมสมัยประถมที่เราต้องกราบแม่ เพลงค่าน้ำนม อิ่มอุ่น ทำให้เรานึกถึงความรักความอบอุ่นที่แม่มีให้เรา บุญคุณของแม่ที่อุ้มท้องและเลี้ยงดู และครอบครัวที่มีแม่รักใคร่กลมเกลียวกัน แต่หากมองโดยปราศจากอุดมการณ์ที่รัฐพยายามสร้างขึ้นให้บทบาทความเป็นแม่และความสัมพันธ์แบบครอบครัวดู หอมหวาน แม่นั้นก็คือแม่งานหญิงที่โดนระบบเศรษฐกิจแบบครอบครัวขูดรีดและต้องรู้สึกแปลกแยกออกจากความเป็นมนุษย์นี่เอง
ในความสัมพันธ์ทางการผลิตของครอบครัวแบบดั้งเดิม ผู้หญิงที่แต่งงานกับผู้ชายจะกลายเป็นแรงงานของครอบครัวนั้น ซึ่งนอกจากจะเป็นแม่บ้านแล้ว ยังกลายเป็นแม่ ซึ่งเป็นแรงงานที่อุ้มท้อง คลอด และดูแลบุตร ซึ่งเป็นผลผลิตสืบสกุลของตระกูลผู้เป็นพ่อ
ความเป็นแม่ทำให้ผู้หญิงแปลกแยกจากแรงงาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเป็นมนุษย์ เพราะเมื่อผู้หญิงเป็นแม่แล้ว ในหลายกรณี ผู้หญิงต้องทิ้งชีวิตด้านอื่นๆ ซึ่งเป็นด้านที่เธอปรารถนาจะมี เพื่อทำหน้าที่แม่ ให้ดีที่สุด นั่นคือการทุ่มเทความสนใจทุกอย่างไปที่ลูก ทุ่มเทวันเวลา เหงื่อเลือดและน้ำตาเพื่อเลี้ยงดูลูก ให้ออกมาเป็นแบบใดแบบหนึ่งเพื่อตอบสนองสถานะของครอบครัว หรือให้ลูกเป็นสินค้า(1)ของครอบครัว นอกจากนี้การเป็นแม่นี้ทำลายชีวิตผู้หญิงในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านสุขภาพกาย ที่ผู้หญิงต้องสุขภาพลดถอยลงจากการมีลูก กระดูกเปราะง่ายขึ้น สุขภาพจิต จากอาการซึมเศร้าหลังตั้งครรภ์ และความเหนื่อย ความเครียด และ ความกดดันในการเลี้ยงลูก และอื่นๆ พูดอีกอย่างก็คือ ชีวิตที่มีอิสระของผู้หญิงจบลงเมื่อเป็นแม่ ฉะนั้นแล้ว วาทกรรมสนับสนุนความเป็นแม่ก็ถือเป็นความรุนแรงต่อผู้หญิงอย่างหนึ่ง
แม้ว่าผู้หญิงจะถูกทำให้รู้สึกแปลกแยก ถูกขูดรีดแรงงาน เวลา ร่างกายและจิตใจจากความเป็นแม่ ก็ยังคงมีอำนาจนำรองรับความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบครอบครัว ที่ทำให้ผู้หญิงรู้สึกว่าลูกนั้นเป็นผลผลิตของตัวเอง ซึ่งแนวคิดนี้ทำให้ผู้เป็นแม่นั้นสามารถใช้อำนาจในการควบคุมดูแลลูก และขัดเกลาลูกให้เป็นในสิ่งที่ตัวเองต้องการ รวมถึงการให้ลูกแสดงความกตัญญูรู้คุณต่อแม่ ในฐานะผู้ให้กำเนิดและผู้เลี้ยงดู ซึ่งอำนาจนำแบบนี้นำไปสู่การแปลกแยกลูกออกจากความเป็นมนุษย์อีกที เพราะลูกจะไม่ได้เป็นในสิ่งที่ตัวเองอยากเป็น แต่ต้องเป็นในสิ่งที่พ่อแม่อยากให้เป็นแทน
รัฐมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้ผู้หญิงอยู่ในบทบาทของแม่ เพราะรัฐต้องการให้ครอบครัวผลิตเด็กที่เป็นประชากรที่ดีของประเทศชาติ แต่รัฐเองกลับสนับสนุนแม่น้อยมาก สวัสดิการวันลาคลอดที่น้อย ทั้งเงินค่าเลี้ยงดูบุตรที่น้อย และการรักษาพยาบาลที่เข้าถึงยากสำหรับแม่ สวัสดิการเด็กที่แทบไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น เช่น โครงการของกระทรวงสาธารณะสุขที่สนับสนุนให้ผู้หญิงตั้งครรภ์ด้วยการมอบวิตามิน ธาตุเหล็ก และ โปแตสเซียมให้แก่ผู้ตั้งครรภ์ (2) ทำให้แม่เองนั้นยิ่งต้องรับภาระจากการขูดรีดนี้ที่มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม รัฐกลับสนับสนุนอำนาจนำว่าด้วยการเป็นเจ้าของลูก ผ่านวันแม่ที่มีกิจกรรมให้ลูกกราบแม่ ผ่านการการศึกษา รวมถึงศาสนาพุทธ ที่มีการบังคับเปิดคลิปวีดิโอที่แม่คลอดลูกให้นักเรียนดู รวมกับว่ามันเป็นหน้าที่ แสดงให้เห็นว่า รัฐไม่คิดจะสนับสนุนแม่เรื่องการเลี้ยงดูบุตร แต่กลับทำให้แม่ชื่นใจที่บุตรมีความกตัญญูต่อแม่ ซึ่งเป็นภาพหลอกให้แม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้มีอำนาจ แทนที่จะเป็นผู้ถูกกดขี่จากสังคม
ปัจจุบัน ระบบทุนนิยมทำให้แม่เองเปลี่ยนจากผู้หญิงที่ต้องอยู่บ้านดูแลลูกอย่างเดียว เป็นผู้หญิงที่ต้องออกไปทำงานหาเงิน และต้องเลี้ยงลูกด้วย เนื่องจากเงินจากพ่อฝ่ายเดียวนั้นไม่พอสำหรับการหาเลี้ยงครอบครัว แม้จะดูเหมือนว่าผู้หญิงมีอิสระมากขึ้นเพราะสามารถหาเงินได้ด้วยตัวเอง แต่ความเป็นจริงผู้หญิงกลับถูกแปลกแยกและขูดรีดจากการทำงานและการเป็นแม่ ซึ่งสองระบบนี้ก็เรียกร้องในสิ่งที่ขัดแย้งกัน หากคุณต้องการทำงาน คุณต้องเสียเวลาในการดูแลลูก หรือการคุณต้องการดูแลลูก คุณก็ต้องเสียเวลาในการทำงาน ทำให้ผู้หญิงบางส่วนที่สามีสามารถหาเงินเลี้ยงครอบครัวได้ เลือกที่จะกลับไปทำหน้าที่แม่บ้านอย่างเดียว และผู้หญิงอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีเวลาและความมั่นคง เลือกที่จะไม่มีลูก หรือทำแท้งลูก เพื่อที่จะทำงานหาเลี้ยงตนเองและครอบครัว แต่การทำแท้งนั้นกลับเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรม และผู้หญิงที่ทำแท้งนั้นก็โดนหาว่าเป็นผู้หญิงที่ไม่ดี ไม่มีความรับผิดชอบ ทั้งที่ความจริงแล้วระบบเศรษฐกิจทั้งทุนนิยมและครอบครัวทำให้ผู้หญิงต้องรับผิดชอบอะไรต่างๆ มากเกินไปด้วยซ้ำ
ดังนั้น ในวันแม่ปีนี้ กลุ่มดินแดงอยากชวนมองภาพของแม่ใหม่ ในฐานะแรงงานที่ถูกกดขี่จากความสัมพันธ์การผลิตแบบครอบครัวและทุนนิยม ไม่อย่างนั้นผู้เป็นแม่ก็ต้องรวมตัวกันเพื่อปฏิวัติไปสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ไม่กดขี่ผู้เป็นแม่ต่อไป
1 การทำให้ลูกกลายเป็นสินค้า (commodity) คือผลิตลูกให้เป็นแรงงานในระบบทุนนิยม เพื่อให้สะสมทุน สร้างความมั่นคง หรือดำรงไว้ซึ่งสถานะของครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปลูกฝังเชิงกดดันให้ลูกทำอาชีพใดอาชีพหนึ่งที่มีความมั่นคงหรือมีสถานะที่ดีเป็นพิเศษ เช่น การกดดันให้ลูกสอบเข้าคณะดัง หรือทำอาชีพราชการ
2 อ่านต่อได้ที่ https://www.hfocus.org/content/2017/02/13420