สัมภาษณ์โดย Afta
“แรงงานทุกคนในทุกประเทศ จงลุกขึ้น!”
หนึ่งในประโยคอมตะของคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) ในคำแถลงการณ์คอมมิวนิสต์ ที่ใช้ในการสร้างจิตสำนึกทางชนชั้นของแรงงานผู้ที่ถูกกดขี่โดยชนชั้นกระฎุมพี (Bourgeoisie) ถูกกระตุ้นให้แสดงออกผ่านการต่อสู้ทางชนชั้น เพื่อนำมาซึ่งอิสระภาพที่ปราศจากการขดขี่ นอกจากนี้ในความคิดของมาร์กซ์นั้น การต่อสู้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าปราศจากชนชั้นปฏิวัติ (Revolutionary class) ที่เป็นตัวแสดง และเครื่องมือขับเคลื่อนทางสังคงให้ไปสู่สังคมที่ใฝ่ฝัน สังคมคอมมิวนิสต์ที่ปราศจากการขูดของชนชั้นนายทุน
อย่างที่เราทราบกันว่า ในคำแถลงการณ์คอมมิวนิสต์ที่ถูกเขียนขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1847 เป็นเวลาเกือบ 200 ปี มีการเปลี่ยนแปลงสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจในระดับที่มาร์กซ์เองคาดไม่ถึง การเปลี่ยนโฉมหน้าของเทคโนโลยีที่เป็นเครื่องมือทางการผลิต (mean of production) มีวิวัฒนาการอย่างล้ำลึก และจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีนี้เอง ทำให้ความสัมพันธ์การผลิตระหว่างผู้คุมปัจจัยการผลิตและแรงงานการผลิตนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน
ในโลกเสรีนิยมใหม่ที่ได้คืบคลานครอบงำความคิดคนในเกือบทุกมุมโลก โลกแห่งเสรีนิยมที่ยึดโยงอยู่กับปัจเจกได้เติบโตขึ้นในฐานะรากฐานของระบบประชาธิปไตย 1 คน 1 เสียง เป็นความคิดที่เติบโตมาขึ้นมากับระบบประชาธิปไตยในยุคเสรีนิยมใหม่ แต่ทำไมระบบที่เชื่อว่าคนมีความเท่ากัน 1 คน 1 เสียง กลับไม่สามารถสร้างความเท่าเทียมกันภายในสังคมได้ หนำซ้ำ ตัวเลขความรุนแรงของความเหลื่อมล้ำกลับมีความชัดเจนขึ้น เมื่อผู้ร่ำรวย 1 เปอเซ็นต์ สามารถสะสมทุนได้อย่างต่อเนื่องภายใต้สภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ ที่แรงงานไม่แม้กระทั่งสามารถหางานที่มั่นคงให้กับชีวิตได้
เมื่อความอยุติธรรมเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจและสังคม การต่อสู้ก็ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ การต่อสู้ของผู้ที่ถูกกดขี่ซึ่งถูกกดทับด้วยระบบเศรษฐกิจ และจากการโดนขูดรีดจากชนชั้นนายทุน ที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ วันนี้พวกเขากลับมาอีกครั้งในรูปแบบที่แตกต่างจากเดิม ค้อน-เคียว ที่ถูกฝังในลึกลงไปในหลุมศพ ถูกพัฒนาขึ้นในรูปแบบใหม่ ผ่านทางเทคโนโลยีที่ถูกเปลี่ยนแปลงไป และในครั้งนี้พวกเขามาพร้อมกับโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ หรือแท็ปเล็ต ที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วยเครื่องมือเหล่านี้ และตอนนี้พวกเขาพร้อมแล้ว ที่จะเปิดเผยข้อมูลของการโดนกดขี่และแนวความคิดของการต่อสู้ในระบบ Gig economy ที่ผู้เขียนเชื่อว่าหลายคนคงต้องใช้บริการพวกเขา ยินดีต้อนรับ สหภาพไรเดอร์ (Freedom Rider Union)
แนะนำตัวได้เลยครับ
สวัสดีครับ ผมเรย์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งสหภาพไรเดอร์ ตอนนี้ดูแลทางฝ่ายเลขา และแน่นอนว่าเป็นไรเดอร์ด้วยครับ ตอนนี้ผมอายุ 31 ปี ก็ถือว่าผ่านโลกมาพอสมควร จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมปลาย และพยายามที่จะศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาทางด้านเอกดนตรี และ sound engineer แต่ด้วยประสบปัญหาทางการเงิน ครอบครัวไม่ร่ำรวย ทำให้ต้องหยุดการศึกษาลง และผมมีความชอบในเรื่องเครื่องยนต์เป็นพิเศษ สามารถซ่อมแซมและแก้ไขรถยนต์ยุโรปได้ ผ่านการเรียนรู้ด้วยตัวของผมเอง ซึ่งมันก็ไม่ง่ายเลยครับ
เริ่มขึ้นเป็นสหภาพได้อย่างไร
ผมตกงาน ในช่วงรัฐประหาร ปี พ.ศ. 2557 ผมเคยเปิดร้านอาหารเล็กๆ ของตัวเองในขณะนั้น และจากพิษของรัฐประหาร ร้านจึงถูกปิดลงด้วยพิษทางเศรษฐกิจ ผมเริ่มต้นหันมาเป็น ไรเดอร์กับ Lalamove ซึ่งในขณะนั้นทางบริษัท Food delivery ต่างๆ ต้องการไรเดอร์จำนวนมาก ในขณะที่เซ็นต์สัญญาไม่ได้มีการระบุในสัญญาว่าต้องมีการเสียค่าใช้จ่ายใดๆ แต่มีอยู่วันหนึ่งทางบริษัทเรียกเก็บเงินเป็นจำนวน 200 บาท ทางผมจึงไม่ยอม ซึ่งไม่ใช่แค่ผมคนเดียว ไรเดอร์เป็นร้อยเป็นพันคนก็ไม่ยอมด้วยเช่นกัน ในตอนนั้นผมจึงคิดหาวิธีว่าต้องทำอย่างไรดี จึงมีคนแนะนำให้ไปปรึกษากับทางสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (JELI) และได้รับการตอบกลับที่รวดเร็วมาก JELI ให้คำแนะนำในการตั้งสหภาพเพื่อสร้างอำนาจการต่อรอง เราจึงได้เริ่มต้นในวันนั้น มีชื่อเรียกครั้งแรกว่า สหภาพลาล่า ซึ่งในช่วงแรกของการจัดตั้ง เราได้ตั้งเพจ Facebook ซึ่งมีเพียงแค่ไรเดอร์ของ Lalamove เท่านั้นที่เข้าร่วม แต่เมื่อสถานการณ์ของไรเดอร์ที่ถูกบีบคั้นด้วยกฎของบริษัทต่างๆ ที่คล้ายกัน จึงไม่ใช่เพียงแค่ไรเดอร์ของ Lalamove เท่านั้นที่ประสบปัญหา แต่เป็นพวกพ้องจากบริษัทอื่นๆ ที่มีปัญหาแนวเดียวกัน เราจึงมีพรรคพวกหรือสหายที่เพิ่มขึ้น จนภายหลังเราได้เปลี่ยนเป็น Freedom Rider Union ที่ไม่ได้เจาะจงเพียงเฉพาะกลุ่มเราเท่านั้น และผลของการต่อสู้ในการจ่ายเงินในครั้งนั้น ทำให้เราสามารถจ่ายเงินให้กับบริษัทเป็นจำนวน 100 บาท จำนวน 2 งวด
สหภาพต้องการอะไรจากบริษัท Food delivery
ทุกครั้งพวกเขาพยายามอ้างว่า “เราเป็นพาร์ทเนอร์กับทางบริษัท เราไม่ใช่นายจ้าง-ลูกจ้าง” แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่แบบนั้นเลย พวกเขาเพียงแค่ต้องการผลักไสการจ่ายค่าจ้างอย่างเป็นธรรม และการจ่ายสวัสดิการให้กับแรงงานออกไปให้พ้นตัว พวกเขาไม่ต้องการให้เราเป็นลูกจ้างเพื่อเพิ่มภาระในการแบ่งกำไร ดังนั้นสิ่งที่เราต้องการคือสัญญาในการทำงานที่เป็นธรรม เหมือนกับแรงงานปกขาว เราต้องการสวัสดิการ รวมถึงประกันอุบัติเหตุที่เราต้องเจอเกือบทุกวันในชีวิตการทำงาน เราไม่เคยได้รับอะไรแบบนั้นเลย จนกระทั่งตอนนี้ พวกเขาก็แค่หาแรงงานใหม่เมื่อแรงงานเก่าไม่สามารถทำงานต่อไปได้ และแน่นอนถ้าเป็นเช่นนี้ การเปลี่ยนแปลงจะไม่เกิดขึ้น
สหภาพเติบโตขึ้นได้อย่างไร และเติบโตไปถึงไหนแล้ว
เราไม่สามารถจำกัดหรือบอกได้อย่างแน่ชัดว่าเติบโตขึ้นได้อย่างไร เพราะมันมีหลายปัจจัยที่เกิดขึ้นกับพวกเรา คนส่วนใหญ่รู้สึกถึงการโดนกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ และเริ่มตาสว่างจากคำหวานที่ทางบริษัทได้บอกเราอยู่เสมอๆ ดังนั้น ผู้ที่เข้าร่วมจึงเข้าร่วมจากความรู้สึกของพวกเขาเอง เราไม่มีการบังคับ ถ้าในความคิดของผมแล้ว ก็เพราะความอยุติธรรมที่ทำให้พวกเราเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้เรามีการสร้างแพลตฟอร์มใน Facebook เพื่อเปิดลงทะเบียนอย่างเป็นทางการให้กับไรเดอร์ ซึ่งตอนนี้เรามีสหายในสหภาพไรเดอร์จำนวน 300 คนแล้ว และไรเดอร์ที่ลงทะเบียนก็อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นส่วนใหญ่ มีต่างจังหวัดบ้าง ถ้าใครสนใจสมัครสมาชิก เรียนเชิญที่หน้าเพจได้เลยครับ
เมื่อไม่นานมานี้มี สหภาพเริ่มมีการเคลื่อนไหวทางการเมือง อะไรเป็นชนวนในการจุดประกาย
เราต้องการให้ทุกคนทราบว่าการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน ถ้าคุณไม่สนใจการเมือง คุณจะถูกผู้ที่สนใจนำคุณไปใช้ประโยชน์ ตัวอย่างเช่น เมื่อคุณออกจากบ้าน เราเห็นท้องถนน ทางเท้าที่เต็มไปด้วยหลุมเปรียบเสมือนอยู่บนดวงจันทร์ นั้นคือเรื่องการเมืองด้วยเช่นกัน และถ้าเราปฏิเสธที่สนใจ นั่นคือคุณปฏิเสธสิทธิของตัวเองและปล่อยให้คนอื่นเคลมสิทธิของคุณไป
เราจึงต้องการให้ไรเดอร์ตระหนักในสิทธิของเราเอง ไม่ใช่เพียงแค่ทำงานก้มหัวให้นายทุน แต่เรามีสิทธิในการเรียกร้องตามหลักของรัฐธรรมนูญ ตราบใดที่เราไม่ก้าวก่ายสิทธิของผู้อื่น เราสามารถทำได้ เพราะเราไม่ใช่ทาสที่ไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้
มาร่วมงานกับ Free youth และการต่อสู้ที่เชื่อมโยงกับระบบประชาธิปไตยได้อย่างไร
ครั้งหนึ่ง เราได้ประท้วงที่ตึก T-one ซึ่งเป็นตึกที่ทาง Line-man เช่าทำออฟฟิศ ทาง Free youth ได้ส่งหน่วยข่าวมาติดตามการเคลื่อนไหวของเรา และยังเผยแพร่การเคลื่อนไหวให้สังคมได้รับรู้ ซึ่งเราซาบซึ้งเป็นอย่างมาก และเนื่องจากที่ผมได้ติดตาม Free youth มานานแล้ว พร้อมกับการกระทำเช่นนี้ของพวกเขา มันสร้างความประทับใจให้กับสหภาพ เพราะเรารู้สึกว่ายังมีใครคนหนึ่งที่เห็นใจพวกเราอยู่
วันหนึ่งมีสายจาก Free youth ติดต่อเข้ามาขอสัมภาษณ์ผม แน่นอนว่าผมตัดสินใจรับปากทันที แต่ยังไม่ได้นัดวันในการสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการ จนกระทั่งหลังจากนั้นแอดมินคนหนึ่งของ เพจ พูด ติดต่อผมเข้ามา และเชิญชวนให้ผมขึ้นพูดปราศรัยในวันที่ Free youth จัดการชุมนุมขึ้น จากการที่เราปรึกษากับทางสหภาพไรเดอร์ก็สรุปได้ว่า ทางสหภาพต้องการให้ผมพูดในตัวแทนคนทั่วไปมากกว่าในนามของสหภาพ แต่ผลตอบรับที่ได้กลับดีเกินขาด พี่น้องประชาชนและสหายหลายคนเห็นด้วยกับคำปราศรัย ผมจึงเปิดเผยตัวว่าเราอยู่ในสหภาพไรเดอร์และได้รับผลตอบรับที่ดีมากๆ
การจัดตั้งสหภาพ ใช้หลักการคล้ายๆ กับหลักการในระบอบประชาธิปไตย เราเคารพในเสียงส่วนมาก และเราไม่ทิ้งเสียงส่วนน้อยไว้ข้างหลัง เรารับฟังปัญหาไรเดอร์ทุกคนและพร้อมที่จะแก้ไขปัญหา ดังนั้นผมจึงคิดว่าเรามีลักษณะที่คล้ายกับประชาธิปไตย เช่น เรามีการโหวต veto จากสมาชิกและผู้เข้าร่วมประชุม มันคือหนังเรื่องเดียวกัน
ในเพจของสหภาพไรเดอร์เริ่มมีการวิพากษณ์ทุนนิยมที่ค่อนข้างรุนแรง คุณสามารถบอกได้ไหมว่าคุณต่อต้านระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม
เราวิพากษ์ระบอบทุนนิยมรูปแบบ “ทุนนิยมสามานย์” ที่กดขี่แรงงาน ทุนนิยมที่ก้าวหน้าแต่กลับใช้ช่องว่างของกฎหมาย (ในบางประเทศ) ฉกฉวยผลประโยชน์นี้ จนกลายเป็นความทุกข์ของพี่น้องแรงงาน เราไม่ได้ปฏิเสธสังคมแบบทุนนิยม ถ้าจะเปรียบเทียบ
“ทุนนิยมก็เหมือนแรงงานที่ตายแล้วเป็นผีดิบ ทุนจะอยู่ได้ก็ต้องดูดเลือดแรงงานที่มีชิวิต”
สหภาพไรเดอร์ไม่ได้ปฏิเสธระบอบทุนนิยม แต่อยากใช้ชีวิตร่วมกับสังคมแบบทุนนิยมให้เกิดความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่ายมากที่สุดเราอยู่ในสังคมที่ทุกคนอยู่ในโลกของปัจเจกชน ที่ไม่ต้องการช่วยเหลือผู้อื่น “เอ็นดูเขา เอ็นเราเจ็บ” ทำไมเราไม่ช่วยเหลือผู้อื่นเท่าที่เราช่วยได้ล่ะ ทำไมเราต้องหลีกเหลี่ยงการช่วยเหลือผู้อื่นล่ะ นี่คือคอนเซ็ปทางความคิดของทุนนิยมที่พยายามปลูกฝังให้เราสนใจแต่เรื่องของตัวเอง จนเพิกเฉยปัญหาทางสังคม ซึ่งผมต้องการเปลี่ยนแปลงความคิดแบบนั้น เราต้องการช่วยเหลือสังคมในส่วนเล็กๆ การทำสหภาพไรเดอร์จึงเป็นการช่วยเหลือพี่น้อง ตราบเท่าที่เราทำได้
ทุกวันนี้พวกคุณสู้อยู่กับอะไร
ถ้าเปรียบคอมพิวเตอร์เป็นมนุษย์ Mindset ก็คือ ซอฟต์แวร์ เรากำลังต่อสู้กับ “ซอฟต์แวร์” ที่ฝั่งทุนนิยมพยามจะปลูกฝัง Mindset ที่ส่งเสริมให้แรงงานเป็นทาส ทำงานหนักบนค่าแรงที่แสนถูก ทำงานหนักแต่กลับไม่มีสวัสดิการในชีวิต เพราะการจะทำให้แรงงานทำงานหนักโดยไม่ปริปาก ก็ต้องปลูกฝั่ง Mindset ทาส ด้อยค่าแรงงาน ส่งเสริมไม่ให้แรงงานมองเห็นคุณค่าในตัวเอง ส่งเสริมไม่ให้แรงงานตั้งคำถามถึงค่าแรงที่ได้ลงแรงไป เราสู้กับสิ่งพวกนี้ครับ ถ้าวันนี้คุณเห็นภาพว่าเรากำลังต่อสู้กับแพลตฟอร์ม คุณกำลังเห็นภาพลวงตาครับ
คุณคิดว่าแรงงานใน gig economy เช่น งานฟรีแลนซ์ที่ไม่มีรูปแบบประจำจะสามารถนำแนวคิดของสหภาพไปใช้ได้หรือไม่ และสุดท้ายในอนาคตอันใกล้ พวกคุณหวังอะไร
แนวคิดสหภาพไม่มีลิขสิทธิ์ครับ No copyright ผมไม่ว่าเลยถ้าใครที่จะนำแนวทางของพวกเราไปใช้ มันเป็นประโยชน์ต่อสังคม พวกเราส่งเสริมด้วยซ้ำ การกระจายอำนาจเพื่อเป็นการต่อรองผลประโยชน์ในการต่อสู้กับนายทุน ตอนนี้มีทาง JELI ซึ่งผมพูดไปข้างต้น ที่เป็นองค์กรที่ช่วยสนับสนุนแรงงาน gig economy ถ้าต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อ JELI ได้เลยครับ
ผมอยากสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม การปลูกฝัง mindset ใหม่ที่สร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคม ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่สละทิ้งกับคำว่า การทำงาน คือ “บุญคุณ” โลกไม่ได้หมุนแบบนั้นแล้วครับ นายทุนต้องการเราทำงาน เราขายแรงงานให้พวกเขา เพื่อแลกกับเงินและสวัสดิการที่เราควรได้รับ การปลูกฝังเรื่องระบบอุปถัมถ์เป็นระบบที่เสริมสร้างการกดขี่ขึ้นในสังคมครับ และสุดท้ายผมขอฝากไว้ว่า “ไม่มีสวัสดิการแรงงานไหนเกิดจากการร้องขอ มันล้วนแล้วเกิดจากการต่อสู้ครับ”
ถึงแม้ว่า จำนวนที่แท้จริงของตามตัวเลขของการลงทะเบียนจะมีเพียงแค่ 300 คน แต่จากบทสัมภาษณ์ทำให้เราทราบว่า สหภาพจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าหากปราศจากการกดขี่ ดังนั้น การเกิดขึ้นของสหภาพก็เกิดขึ้นจากการกระทำของนายทุนที่เลือกกดขี่พนักงานของพวกเขาเอง และการกดขี่นี้จะยิ่งสร้างเป็นพลังและเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมต่อไป “Working Men of All Countries, Unite!”
อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐอยู่ข้างนายทุน เราจึงเห็นกลไกของรัฐและการกระทำต่างๆ ที่เอื้อต่อผลประโยชน์ต่อนายทุน โดยเพิกเฉยและมองไม่เห็นมูลค่าของแรงงานในรูปแบบของความเป็นมนุษย์ เมื่อทุกคนมองว่าแรงงานเป็นเพียงแค่ปัจจัยการผลิต โดยมองข้ามจิตวิญญาณที่อยู่ภายในตัวของพวกเขา มองคนเป็นเพียงเครื่องจักรที่เอาไว้ใช้งาน และโละทิ้งไปเมื่อเครื่องจักรได้พังลง แรงงานจึงได้คืนชีพเพื่อทวงถามคุณค่าของความเป็นคนอีกครั้งต่อ นายทุนและรัฐที่มีนายทุนเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง