ผู้เขียน ice_rockster
บรรณาธิการ Sarutanon Prabute

PC คืออะไร ทำไมเราต้อง PC เพราะมันเป็นพื้นฐานของการเป็นคนดีในสังคมอย่างนั้นหรือ? PC หรือ Political Correctness หรือที่อาจจะแปลเป็นไทยว่า “ความถูกต้องทางการเมือง” นั้น เป็นคุณค่าหนึ่งของอุดมการณ์ทางการเมืองหัวก้าวหน้า ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นพวกเสรีนิยมหรือไม่? ซึ่งคำคำนี้นั้น ถูกใช้มาเป็นเวลานานแล้ว แต่อาจจะต่างบริบทกัน เช่น politically correct หรืออาจแปลเป็นไทยได้ว่า ถูกต้องอย่างการเมือง1 อาจะฟังดูแปลก ๆ แต่ความหมายของมันก็คือ เป็นความถูกต้องที่อาจจะผิดในบริบทอื่น ๆ เช่น ในบริบทของประเพณี หรือจารีต แต่ถูกต้องในบริบทของการเมือง แม้ว่าในพจนานุกรม American Heritage Dictionary จะให้คำนิยามว่า “Conforming to a particular sociopolitical ideology or point of view, especially to a liberal point of view concerned with promoting tolerance and avoiding offense in matters of race, class, gender, and sexual orientation”2 หรือคือ “[ความถูกต้อง] ที่เป็นไปตามอุดมการณ์หรือทัศนคติเฉพาะหนึ่ง ๆ ทางสังคมการเมือง โดยเฉพาะทัศนคติแบบเสรีนิยม ที่มีความกังวลเรื่องความอดทนอดกลั้น และหลีกเลี่ยงการโจมตีกันในเรื่องของเชื้อชาติ ชนชั้น เพศ หรือรสนิยมทางเพศ” แต่แน่นอนว่า “ความอดทนอดกลั้น” นั้น มันก็ขึ้นอยู่กับว่า ใครอดทนได้แค่ไหน เพราะแต่ละคนก็มีความอดทนได้ไม่เท่ากัน อีกทั้ง “ความถูกต้อง” นั้น ยังเป็นความถูกต้องบนฐานของอุดมการณ์หนึ่ง ในบริบทสังคมการเมืองหนึ่ง ๆ ดังนั้นการ PC จึงเป็นเรื่องของคุณค่าที่สังคมกำหนด มากกว่าจะเป็นเรื่องสากลที่การเมืองควรจะเป็นหรือไม่?

แน่นอนว่าในสังคมการเมืองหนึ่ง ๆ ย่อมมีบริบทและบรรทัดฐานทางการเมืองที่แตกต่างกัน ซึ่งการจะบอกว่าอะไรถูกหรือผิด ก็ต้องต้องตามมาด้วยคำถามที่ว่า ผิดเพราะอะไร ถูกต้องเพราะอะไร หรือถ้ายิ่งไปกว่านั้น ก็ต้องถามว่าผิดบนฐานของอะไร ด้วยบรรทัดฐานอะไร ซึ่งหากเราเป็นมนุษย์ที่เคยมีประสบการณ์อยู่ในสังคมมากกว่าหนึ่งสังคม และสังคมเหล่านั้น มีบริบท คุณค่า และบรรทัดฐานทางสังคมที่แตกต่างกัน ก็ย่อมจะเข้าใจได้ไม่ยากว่ามันไม่มีสิ่งใดที่ถูกหรือผิดโดยจริงแท้หรอก หรือถ้าจะกล่าวในเชิงปรัชญา ก็ต้องบอกว่า มันไม่มีสิ่งใดที่เป็น “ความจริงสูงสุด” หรือ “Absolute Truth” หรือ “Ultimate Reality” ก็แล้วแต่จะศรัทธา แต่ก็คงยังจะมีคำถามที่ตามมาคือ การที่บอกว่า “ไม่มีมีสิ่งใดที่เป็นความจริงสูงสุด” นั้น ข้อความนี้เอง ก็พยายามจะสถาปนาความจริงสูงสุดขึ้นมาอีกหรือไม่! ซึ่งนั่นก็ทำให้เกิดความปวดเศียรเวียนเกล้ามากขึ้นไปอีก แต่อย่างไรก็ดี มันก็เป็นตัวอย่างได้ว่า แม้แต่คำถามของรากฐานทางปรัชญา อย่างไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน ก็ยังเป็นหลักฐานที่บ่งบอกได้ว่า การสร้างบรรทัดฐานขึ้นมาอย่างหนึ่ง แล้วเคลมว่านั่นคือความจริงหรือสิ่งที่ถูกต้องนั้น เป็นไปไม่ได้

แม้ว่าจะมีการใช้คำว่า PC ในหลากหลายรูปแบบในอดีต แต่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคที่คุณค่าของระบบการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตยนั้น ได้ครอบงำเป็นคุณค่าหลักของสังคมการเมืองโดยทั่วไปแล้ว สิ่งที่ PC หรือ ถูกต้องทางการเมือง จึงเป็นในลักษณะดังที่พจนานุกรม American Heritage Dictionary กล่าว คือ การไม่เข้าไปโจมตีหรือล่วงละเมิดอีกฝ่ายในเรื่องของเชื้อชาติ ชนชั้น เพศ หรือรสนิยมทางเพศ แน่นอนว่าทัศนะแบบนี้เป็นทัศนะของเสรีนิยมอย่างไม่ต้องสงสัย ที่มีหลักการคือ “เรามีเสรีภาพ ตราบเท่าที่เราไม่ไปละเมิดเสรีภาพของผู้อื่น” หลักการดังกล่าวปรากฏอยู่ในความคิดของบิดาแห่งเสรีนิยมอย่างอิมมานูเอล ค้านท์ (Immanuel Kant)3 และจอห์น ล็อค (John Locke)4 แต่คำถามก็เกิดขึ้นมาในเวลาต่อมา เพราะโลกมันไม่ได้ง่ายดาย สวยงามและโรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างนั้น เมื่อเราไม่รู้ว่าเมื่อใดเราจึงจะไปละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น? และการละเมิดนั้น ใครเป็นผู้ตัดสิน? ผู้ละเมิดเองหรือผู้ถูกละเมิด มันจึงอาจย้อนกลับไปที่โจทย์เก่าเมื่อสักครู่ของเราคือ ใช้บรรทัดฐานอะไรมากำหนดว่าคือละเมิด เช่น ประเด็นง่าย ๆ ในชีวิตประจำวันอย่างการยกเท้าขึ้นบนโต๊ะของคนอเมริกัน หากอยู่ในสังคมอเมริกันก็คงไม่ละเมิด แต่หากอยู่ในสังคมไทยก็คงใช่ หรือการทานอาหาร ในสังคมไทย หากจะอมมีดเข้าไปในปากก็คงจะไม่แปลกอะไร แต่ในสังคมอเมริกาก็คงจะเป็นการเสียมารยาท หรือในกรณีปัจจุบันเช่นการใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ หากไม่ใส่ จะเป็นการละเมิดผู้อื่นหรือไม่ เพราะจะกล่าวได้ว่าเป็นการจงใจแพร่เชื้อไวรัสก็ได้ หรืออีกมุมหนึ่ง ก็คือเป็นการละเมิดต่อเสรีภาพในการไม่ใส่หน้ากากของมนุษย์ได้เช่นกัน ยิ่งการบังคับใส่หน้ากากหากเป็นนโยบายของรัฐด้วยแล้ว5 ดีไม่ดี การใส่หน้ากากอาจจะเป็น PC ไปด้วยโดยไม่รู้ตัว

ปัญหาของการหาว่า การละเมิดนั้นใครควรเป็นผู้ตัดสิน ยังไม่จบ เพราะ ต่อให้หาข้อสรุปได้แล้วว่า ใครเป็นผู้ตัดสินว่าละเมิดได้แล้ว แล้วอย่างไรต่อ? จะจัดการกับการละเมิดนั้นอย่างไร? จะถึงขั้นจับติดคุกเลยหรือไม่ หรือจะจัดการกับผู้ละเมิดนั้นด้วยหลักการตาต่อตา ฟันต่อฟัน เช่น ด่ามา ด่ากลับ ตบมา ตบกลับ สิ่งที่เสรีนิยมทำ ก็คงไม่เป็นอย่างนั้นแน่ เพราะ หลักการขั้นพื้นฐานของเสรีนิยมก็คือ “เรามีเสรีภาพ ตราบเท่าที่เราไม่ไปละเมิดเสรีภาพของผู้อื่น” ถ้าเป็นอย่างนั้น จะทำตามสิ่งที่พระเจ้าสอนคือ “เมื่อเขาตบแก้มซ้าย ก็จงยื่นแก้มขวาให้เขาตบ” ก็คงจะเป็นไปไม่ได้ เพราะมันก็ยังไม่ถูกต้องและไม่จำเป็นที่จะต้องโดนละเมิดด้วยการตบถึงสองครั้ง หรือจะให้เลิกแล้วต่อกันไปแบบพุทธศาสนาอย่างนั้นหรือ? ก็ดูจะไม่ยุติธรรมสักเท่าใด สิ่งที่ทำได้ ก็คงจะเป็นการอดทนอดกลั้น (tolerance) อดทนอดกลั้นที่จะรอความยุติธรรม ความยุติธรรมจึงเป็นที่พึ่งเดียวของเสรีนิยม เหมือนกับที่จอห์น รอลส์ (John Rawls) กล่าวถึงกรอบคิด justice as fairness6 ซึ่งให้สิทธิขั้นพื้นฐานกับพลเมืองในเรื่องของเสรีภาพและความยุติธรรม นำไปสู่ความเข้าใจในกรอบคิดเรื่องอรรถประโยชน์นิยม (utilitarianism)7 ซึ่งก็เป็นกรอบคิดที่แสดงว่าผลประโยชน์สุทธิ กล่าวคือ เป็นการทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ที่พอใจ หรือ “บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น” ทำให้เกิดการตกลงที่พอใจกันได้ทุกฝ่าย มีฉันทามติต่อกัน ไม่เกิดความขัดแย้งที่ต้องทำให้เกิดการไม่ยอมรับกัน ความยุติธรรมของเสรีนิยม จึงเป็นความยุติธรรมที่ต้องใช้ความอดทนอดกลั้นรอจนกว่าจะเกิดอรรถประโยชน์ต่อกัน เช่น รอให้ตำรวจมาจับคนที่ลงมือก่อน หรือไปแจ้งความ ตลอดจนรอศาลตัดสินคดี และท้ายสุดแล้ว เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว หากฝ่ายที่คิดว่าถูกละเมิดนั้นยังไม่พอใจต่อคำตัดสิน หรือคิดว่าตนยังไม่ได้รับความยุติธรรมเพียงพอ ก็คงทำได้เพียง “ทำใจ” หรือ “อดทนอดกลั้น” ให้มากกว่าเดิมเท่านั้นเอง

ดังนั้น ท้ายที่สุดแล้ว การ PC จึงเป็นการเรียกร้องให้สังคมมีความอดทนอดกลั้นกับสิ่งที่ตนสถาปนาขึ้นให้เป็นความถูกต้อง เพราะอย่างไรก็ตาม ความอดทนอดกลั้นนั้น ก็เป็นสิ่งที่มีความสิ้นสุด มีความจำกัด ดังนั้นถึงที่สุดแล้ว มันก็จะเกิดสภาวะที่ทุกฝ่ายยอมรับกันเป็นฉันทามติ เป็นดั่งจุดสมมูลที่บวกลบคูณหารแล้วทุกคนพอใจ เป็นจุดที่กำหนดถึงความจำกัดว่าแต่ละคนจะมีเสรีภาพได้มากน้อยเท่าใด จุดจุดนี้จึงเป็นการสถาปนาสภาวะที่ถูกต้องทางการเมืองร่วม หรืออาจเรียกว่า collective political correctness condition ที่จำกัดเสรีภาพของคนในสังคมนั้น ๆ โดยฉันทามติของสังคมนั้นเอง อันเนื่องมาจากอรรถประโยชน์ของสังคม ด้วยเหตุนี้ ความอดทนอดกลั้นเอง จึงมีขีดจำกัดอยู่แค่นี้ หากมีการกระทำใดการกระทำหนึ่ง ที่เป็นการใช้เสรีภาพเลยขึ้นไปจากขีดจำกัดนี้ ก็จะไม่มีความอดทนอดกลั้นอีกต่อไป

เช่น การขึ้นศาล และศาลตัดสินแล้วก็เป็นอันสิ้นสุด ก็คือสิ้นสุดของการอดทนอดกลั้น เพราะศาลได้ทำหน้าที่ของการตัดสินข้อพิพาทตาม “สภาวะที่ถูกต้องทางการเมืองร่วม” แล้ว อย่างกรณีที่ศาลตัดสินปรับธุรกิจกาแฟ Starbucks Coffee เนื่องจากวาดรูปของคนเชื้อสายเอเชียบนแก้วกาแฟและเขาคิดว่าเป็นการเหยียดเชื้อชาติ8 ก็คือสิ้นสุดในกระบวนการ หากผู้เสียหายคิดว่ารับไม่ได้ ก็เป็นปัญหาของผู้เสียหาย หากบริษัท Starbucks รับไม่ได้ ก็เป็นปัญหาของบริษัท ไม่ได้เป็นปัญหาของสังคมหรือระบบ หรือแม้แต่อุดมการณ์เสรีนิยมแต่อย่างใด ในแง่นี้อุดมการณ์แบบเสรีนิยมที่อาจถูกกล่าวได้ว่าเป็น extreme centrism9 (ไม่ซ้าย ไม่ขวา แต่มีความสุดโต่งอย่างเฉพาะตัว เช่นการ PC การแบน การ woke จนเป็นที่มาของ cancel culture10 เป็นต้น) จึงลอยตัวอยู่เหนือปัญหาต่าง ๆ ในสังคม เพราะหากเกิดปัญหา หรือ ข้อพิพาทในแต่ละกรณีขึ้น ก็จะเป็นปัญหาของปัจเจกเอง หรือไม่ก็เป็นปัญหาเฉพาะของแต่ละกรณีไป ไม่เคยเป็นปัญหาของเสรีนิยม แต่เป็นเพราะ “เสรีชน” เอง ที่ปฏิบัติตัวไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมของความถูกต้องทางการเมืองของสังคมนั้น ๆ

หากอดทนอดกลั้นต่อไปไม่ได้ ก็อาจจะต้องทำเรื่องที่แหกกฎของความถูกต้อง เช่น การใช้ hate speech การด่าทอ ไปจนถึงการชุมนุมประท้วงที่เลยเถิดไปถึงการทำร้ายร่างกายหรือความรุนแรง ดังนั้นเมื่อความอดทนอดกลั้นไม่สามารถทำงานได้อีกต่อไป หลักการที่กล่าวมาทั้งหมดจึงใช้ไม่ได้ ไม่มีความ valid จริง ๆ ในสังคม ความอดกลั้นของเสรีนิยมจึงไม่ใช่ความอดกลั้นจริง ๆ หากแต่เป็นเพียงการรอผู้มีอาญาสิทธิ์ในสังคมจะตัดสินออกมาให้ตรงกับความต้องการของตนหรือไม่เท่านั้น เสรีนิยมจึงมีความอดกลั้นที่ไม่มีความอดกลั้นอยู่จริง ๆ11

แน่นอนว่านี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการ PC เท่านั้น แล้วการเป็นตำรวจคอยตรวจตราความถูกต้องทางการเมืองจึงเป็นหน้าที่ใคร? ใครคือผู้กำหนด discourse ของความถูกต้องทางการเมืองในบริบทสังคมหนึ่ง ๆ ? คำถามนี้จึงไม่ได้เป็นคำถามที่ตอบได้ง่าย ๆ เพราะ เมื่อสังคมที่มีความเป็นปึกแผ่น มีสำนึกร่วมอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การเป็นชาติ หรือการมีความเป็นสากลในกลุ่มของตัวเอง เป็นต้น การที่มีใครคนใดคนหนึ่ง ทำตัวแปลกแยก มีลักษณะแปลกแยก หรือทำผิดแผกไปจากความถูกต้องทางการเมืองเข้ามาในสังคม ก็จะถูกคนในสังคมตรวจสอบ ที่ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ตำแหน่งแห่งที่ไหนในสังคมนั้น ผู้ตรวจนั้นไม่จำเป็นต้องได้รับการแต่งตั้งให้พิทักษ์ความถูกต้องจากรัฐหรือสถาบันทางการเมืองใด ๆ คนที่แปลกแยกจึงถูกต่อต้านจากคนส่วนใหญ่ในกลุ่มที่มีสำนึกร่วมนั้น ๆ และค่อย ๆ ถูกสกัดออกจากกลุ่มนั้นออกมา เช่น ในกรณีของสื่อสังคมออนไลน์ เช่น ปรากฎการณ์ทัวร์ลง social bullying การขุดโพสเก่า ตั้งแต่กรณีพิมรี่พาย12 ไปจนถึง วัฒนธรรมทวิตเตอร์ (Twitter popular culture) เป็นต้น

เรื่องของความเป็นสากล (universality) จึงเป็นเรื่องสำคัญในการพิจารณาเรื่อง PC หรือความถูกต้องทางการเมือง เพราะความเป็นสากลนั้นคือการรวม (include) คนหรือปัจเจกที่เป็นหน่วยย่อยทางสังคมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม แต่การรวมนั้น มีจุดประสงค์อย่างไรนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า เพราะ การรวมกลุ่มนั้นจะสำเร็จหรือไม่นั้นสำคัญตั้งแต่จุดประสงค์และเหตุผลของการรวมกลุ่ม ดังนั้น “ความผิด” ของความถูกต้องทางการเมืองจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่ง (inclusive) ของกลุ่ม การพูดข้อความ (statement) หนึ่ง ๆ ขึ้นมา ซึ่งข้อความเดียวกันนี้ อาจเป็นสิ่งที่ผิดหากผู้พูดนั้นไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่มเดียวกันกับกลุ่มสังคมนั้น ๆ แต่ก็อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่ผิด หรือถูกต้องทางการเมืองแล้ว หากผู้พูดเป็นสมาชิกของกลุ่มสังคมนั้น ซึ่ง Slavoj Žižek นักปรัชญาชาวสโลเวเนี่ยน ก็ได้เคยยกตัวอย่างในเรื่องของการพูดเพื่อตลก เช่น teasing หรือ joke ว่าเราจะสามารถล้อเล่นด้วยสิ่งที่ดูจะไม่ถูกต้องได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะผิด หรือผู้ฟังจะโกรธ13 เพราะหากว่าผู้พูดอยู่ในกลุ่มเดียวกันแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องจริงจังอะไรกับกฎเกณฑ์ หรือความใกล้ชิด หรือการเว้นระยะห่างทางสังคมอีกต่อไป สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือแม้ว่าเราอยู่ในสภาวะของโรคติดต่ออย่างโควิด-19 เราออกไปข้างนอกไปเจอพนักงานส่งของ บุรุษไปรษณีย์ คนขายอาหาร เรากลับต้องรีบใส่หน้ากากเพราะกลัวว่าเขาจะมีโรคมาติดเรา แต่เมื่อเราเจอเพื่อน เจอคนรัก เจอคนในครอบครัว ไม่ว่าเขาจะเดินทางไปไหนมาทั่ว มีความเสี่ยงจะติดโรคมากแค่ไหน เราก็ถอดหน้ากากนั่งทานข้าวด้วยกันอย่างใกล้ชิดราวกับว่าโรคระบาดนั้นมันมีข้อยกเว้นการติดต่อระหว่างคนกลุ่มเดียวกันในสังคม ดังนั้น PC จึงไม่ใช่แค่เรื่องของวัฒนธรรม และโควิด-19 ในแง่นี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องของสาธารณสุข หากแต่เป็นเรื่องการเมืองโดยเนื้อแท้

ดังนั้น เมื่อมองย้อนกลับมาในความเป็นเสรีนิยมอันเป็นบ่อเกิดของการ PC โดยเสรีนิยมนั้น ได้สถาปนาความเท่าเทียมกันของทุกคุณค่าทางสังคม (value) ที่เป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายทางวัฒนธรรม (multiculturalism) ความเท่าเทียมกันหรือการนำเอาทุกคุณค่า หรือทุกวัฒนธรรมมาวางไว้อยู่บนระนาบเดียวกันก็เป็นไปเพื่อความเท่าเทียมและให้เกียรติทุก ๆ คุณค่า แต่ทว่า ปัญหาของเสรีนิยมเองก็กลับมาที่ความอดทนอดกลั้น ที่มีปัญหาเอง เพราะหากวัฒนธรรมหรือคุณค่าแต่ละอย่างนั้นมีความเท่าเทียมกันจริง ๆ จะต้องอดกลั้นไปทำไม ในเมื่อเรายอมรับมันได้อยู่แล้ว ดังนั้นธรรมชาติของความอดกลั้นคือการยอมรับแล้วว่าเราไม่ได้ชอบวัฒนธรรมหรือคุณค่าอื่น ๆ ที่แตกต่างไปจากคุณค่าของเราเอง14 การ PC หรือตรวจสอบความถูกต้องทางการเมืองนั้น จึงเกิดขึ้นมาจากความเหลืออด (intolerable) ที่ไม่สามารถทนต่อความแตกต่างได้อีกต่อไปแล้ว การ PC จึงเป็นข้ออ้างในการไม่ยอมรับความแตกต่างขั้นสุดท้าย (ก่อนจะเลยเถิด?) ของเสรีนิยม และเหล่าเสรีชน


4 Locke, J., & Yolton, J. W. (1993). An essay concerning human understanding. London: Dent.

6 Rawls, J. (1971). A theory of justice. Belknap Press/Harvard University Press.

7 https://plato.stanford.edu/entries/rawls/ (accessed 28th Jan 2021)

9 สรวิศ ชัยนาม ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการ In Their Views ของ สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ว่า เสรีนิยมเป็นอุดมการณ์ที่มีความสุดโต่ง แต่ไม่ได้เป็นซ้าย หรือ ขวา หากแต่สุดโต่งแบบกลางๆ โปรดดู https://www.youtube.com/watch?v=q158-WGVBSc&list=PLy0720OOZpxW8mtbuSxvs98hzXN8Cl6bK&index=4

10 เช่นในกรณีต่างๆ ส่วนมากจะเกิดในสหรัฐอเมริกา ดินแดนแห่งเสรีภาพ https://nypost.com/article/what-is-cancel-culture-breaking-down-the-toxic-online-trend/ หรือ https://www.vox.com/culture/2019/12/30/20879720/what-is-cancel-culture-explained-history-debate (accessed 29th Jan 2021)

11 โปรดดู “ความไม่อดกลั้นใน ‘ความอดกลั้นของเสรีนิยม’” ใน ธเนศ วงศ์ยานนาวา (2019), ว่าด้วยความไม่หลากหลายทางวัฒนธรรม, กรุงเทพ: สมมติ.

12 https://www.sanook.com/news/8335274/ (accessed 29th Jan 2021)

13 ดู Slavoj Žižek on Political Correctness: Why “Tolerance” Is Patronizing | Big Think ใน https://www.youtube.com/watch?v=IISMr5OMceg และสามารถดูข้อถกเถียงเรื่องความเป็นสากลได้ใน Butler, J., Laclau, E., & Žižek, S. (2000). Contingency, hegemony, universality: Contemporary dialogues on the left. London: Verso. ซึ่งเป็นข้อถกเถียงของความเป็นสากลที่มีความไม่ลงรอยกับการเมืองอัตลักษณ์ (Identity Politics) ที่ทำลายความเป็นสากลนิยมและความเป็นพวกเดียวกัน หรือ MCGOWAN, T. (2020). Universality and Identity Politics. New York: Columbia University Press. ที่กล่าวโดยตรงถึงการรวมกลุ่มที่มีปัญหาในการเอาความเหมือนกันมาเป็นจุดประสงค์หรือเหตุผลในการรวมกลุ่ม ซึ่ง McGowan ได้เสนอแนวทางแบบจิตวิเคราะห์ในการรวมกลุ่มคือ เอาความขาด (lack) เป็นตัวตั้งในการเกิดความเป็นสากล

14 ในแง่นี้ ดังที่ได้กล่าวไป ว่าการรวมกลุ่มใด ๆ ที่มีฐานมาจากความเหมือน หรือสิ่งที่มีร่วมกัน แม้แต่ “สำนึกร่วม” ก็ตามที มันจึงเป็นการตอกย้ำว่า เราไม่เหมือนกับคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มของเรา ฐานคิดแบบการรวมกลุ่มนี้ จึงมีปัญหาตั้งแต่แรก ดังนั้น การจะรวมกลุ่มหรือสร้างความเป็นสากลบางอย่าง จึงอาจต้องเริ่มด้วยการยอมรับว่า คนหรือปัจเจกนั้น มีความแตกต่างกัน McGowan จึงเสนอว่า การรวมกลุ่มหรือการสร้างความเป็นสากลจึงอาจเริ่มจากการที่ความขาดที่เหมือนกัน หรือรวมกลุ่มเพื่อแสวงหาสิ่งเดียวกัน มากกว่าจะรวมเพื่อ “แสดง” ว่าเรามีอะไรเหมือนกัน เพื่อที่จะแบ่งแยก และสกัดคนที่ไม่เหมือนกันออกไป เช่น ความคิดของความเป็นชาติ เป็นต้น ซึ่งสรุปแล้วก็หนีไม่พ้นแนวคิดแบบอัตลักษณ์