ผู้เขียน Brian Hioe
ผู้แปล Peam Pooyongyut
บรรณาธิการ Editorial Team

หมายเหตุ: บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่ New Bloom Mag
บทแปลนี้ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนก้าวหน้า โดย Common School


“การต่อสู้เพื่อตั้งสหภาพของพวกเขานั้นสะท้อนให้เห็นถึงขบวนการเคลื่อนไหวที่กำลังเติบโตของพนักงานส่งอาหารทั่วโลก”

เบื้องหลังความสะดวกสบายของผู้บริโภคและ “ดิจิทัลโซลูชัน” ของแอพพลิเคชันสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่นั้นซุกซ่อนไว้ซึ่งคนงานนับหมื่นที่ต้องทำงานอย่างหนักและได้ค่าแรงต่ำกว่ามาตรฐาน ขบวนการแรงงานในไต้หวันที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ กำลังผลักดันให้เกิดสหภาพแรงงานระดับชาติ

บันทึกจากบรรณาธิการ Progressive International: ความไม่มั่นคง การบริหารงานด้วยวิทยาศาสตร์แบบดิจิทัล (digital Taylorism) การขูดรีดที่อยู่ในคราบของนวัตกรรมเทคโนโลยี สิ่งเหล่านี้เป็นคำนิยามความเฟื่องฟูของบริการส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ที่กำลังเป็นปรากฏการณ์ไปทั่วโลก บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของซีรีย์เกี่ยวกับการต่อสู้ของพนักงานส่งอาหารทั่วโลก

source: Progressive International

ในปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา พนักงานส่งอาหารจากแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Uber Eats, Foodpanda, GOGOX และ LaLaMove  ได้ออกมารวมตัวประท้วงที่หน้ากระทรวงแรงงานไต้หวัน เพื่อเรียกร้องให้มีการจัดตั้งสหภาพคนทำงานส่งอาหารขึ้นมาในระดับชาติ รายงานกล่าวว่าตอนนี้กลุ่มสหภาพมีสมาชิกมากกว่าหนึ่งร้อยคน และต้องการให้จัดตั้งสหภาพอย่างเป็นทางการขึ้นภายในสามเดือน

ประมาณการกันว่าพนักงานส่งอาหารในไต้หวันตอนนี้มีจำนวนมากกว่า 80,000 คน  เหล่าคนงานออกมาประท้วงเพื่อตอบโต้การคำนวณค่าตอบแทนแบบใหม่ที่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Uber Eats และ Foodpanda ประกาศออกมา ซึ่งจะทำให้พวกเขาสูญเสียรายได้จากเดิมไป 10 ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ปีก่อนพวกเขาได้ค่ารอบต่อครั้งอยู่ที่ราวๆ 65 -75 ไต้หวันดอลลาร์  (ประมาณ 75-85 บาท) แตปีนี้กลับตกลงมาเหลือ 43 -50 ไต้หวันดอลลาร์ (ประมาณ 50-57 บาท) แม้จะเป็นงานลักษณะเดียวกัน ดังนั้นพวกเขาต้องทำงานหนักขึ้นแต่ได้ค่าแรงที่ต่ำลง หนึ่งในผู้นำการชุมนุมบอกว่าเขาเคยได้ค่าแรง 9,600 ไต้หวันดอลลาร์ (11,000 บาท) จากการส่ง 110 ออเดอร์ในหนึ่งสัปดาห์ แต่พอมีการคำนวณค่าแรงใหม่ เขากลับทำเงินได้เพียง 9,000 ไต้หวันดอลลาร์ (10,300 บาท) จากการส่ง 164 ออเดอร์

เหล่าพนักงานต่างวิจารณ์กันว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวกระทบต่อความเป็นอยู่ของพวกเขาอย่างรุนแรง แถมในความเป็นจริงนั้น บริษัทก็ประกาศออกมาโดยที่ไม่เคยปรึกษาพนักงานเลย พวกเขาจึงมองว่าสูตรการคำนวณค่าแรงแบบใหม่นั้นถูกตัดสินใจผ่าน “กล่องดำ” ซึ่งไม่มีใครรู้ได้

นอกจากนั้นเหล่าพนักงานส่งอาหารยังวิจารณ์อีกว่าบริษัทพยายามรณรงค์ให้พนักงานขับขี่อย่างปลอดภัย แต่เวลาที่พนักงานคนใดคนหนึ่งไม่สามารส่งอาหารได้ตามกำหนดเวลา ก็จะมีการโยนงานนั้นให้พนักงานคนอื่นทันที ดังนั้นแล้วการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จึงกระตุ้นให้พวกเขาต้องเร่งความเร็วในการส่งให้มากขึ้น ผู้จัดการชุมนุมคนหนึ่งบอกว่า อัตราการเกิดอุบัติเหตุของพนักงานในเขตภาคกลางของไต้หวันเพิ่มขึ้นจาก 1.4 ครั้งต่อเดือน เป็น 4 ครั้งต่อเดือน หลังจากที่บังคับใช้การคำนวณค่าแรงแบบใหม่ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นทั้งหมด 17 ครั้ง แต่เพียงแค่ 22 วันหลังจากปรับการคำนวณค่าแรง ก็มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นไปแล้วทั้งหมด 4 ครั้ง พนักงานจึงเรียกร้องให้มีการเพิ่มสินไหมทดแทนจากอุบัติเหตุเป็น 100,000  ไต้หวันดอลลาร์ (ประมาณ 115,000 บาท)

ตอนนี้กลุ่มสหภาพคนงานส่งอาหารในระดับท้องถิ่นกระจายอยู่ตามเมืองและเทศบาลต่างๆ ทั่วไต้หวัน แต่ยังไม่มีสหภาพในระดับชาติ ซึ่งถ้าทำได้มันก็จะนำมาซึ่งพลังต่อรองของคนงานกับบริษัทแพลตฟอร์มส่งอาหาร เช่น Uber Eats และ Foodpanda ในระดับชาติ ดังที่เดือนตุลาคม 2019 พนักงานส่งอาหารถึง 3 คนเสียชีวิตจากการทำงาน ซึ่งนำไปสู่การเรียกร้องให้บริษัทส่งเสริมความปลอดภัยของพนักงานให้มากยิ่งขึ้น

ในขณะเดียวกันก็มีความคาดหวังว่ารัฐบาลและกลุ่มอุตสาหกรรมจะออกมาโต้ตอบกับนโยบายใหม่นี้ แพลตฟอร์มส่งอาหารอย่างเช่น Uber Eats และ Foodpanda นั้นเป็นส่วนหนึ่งของ “gig economy” ซึ่งมักจะอ้างว่ามีการจ้างงานที่เป็นอิสระและยืดหยุ่นในด้านของชั่วโมงการทำงานและการจัดสรรเวลาทำงาน แต่รูปแบบการจ้างงานแบบนี้มองว่าพนักงานนั้นอยู่ในสัญญาจ้างชั่วคราว ไม่ใช่สัญญาจ้างแบบเป็นทางการ ดังนั้นบริษัทจึงมีสิทธิ์ปฏิเสธผลประโยชน์ที่พนักงานควรจะได้รับ

source: Rest of World

การที่ Uber เข้ามาทำธุรกิจในไต้หวันในฐานะแพลตฟอร์มแชร์การเดินทางนั้นถูกท้าทายในทางกฎหมาย เนื่องจาก Uber จดทะเบียนเป็นบริษัทซอฟต์แวร์แทนที่จะเป็นบริษัทแท็กซี่เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกควบคุม และสุดท้ายก็โดนปรับจากการปฏิเสธที่จะหยุดดำเนินธุรกิจ นั่นจึงนำไปสู่การปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจเป็นการส่งอาหาร เพื่อให้พนักงานเก่าสามารถทำงานต่อไปได้อย่างถูกกฎหมาย จนในที่สุดก็สามารถจดทะเบียนเป็นบริษัทรถแท็กซี่ได้

ยิ่งกว่านั้นเมื่อ Uber ถูกต่อต้านจากแท็กซี่ท้องถิ่น พวกเขาจึงบอกว่านี่เป็นปัญหาของรัฐบาลไต้หวันที่ไม่ปรับตัวตามกระแสโลก ซึ่งเห็นได้จากความล้มเหลวในการสนับสนุน Uber ดังนั้น Uber จึงวาดภาพให้สหภาพคนขับแท็กซี่ของไต้หวันว่าเป็นพวกอนุรักษ์นิยมที่ไม่เปิดใจรับนวัตกรรมใหม่ๆ โดยพยายามควบคุม Uber ให้อยู่ในระบบการจ้างงานแบบเดิมๆ เป็นไปได้ว่าทั้ง Uber Eats และ Foodpanda  จะใช้กลยุทธ์เดียวกันนี้เพื่อต่อต้านสหภาพแรงงานระดับชาติที่กำลังจะเกิดขึ้น

ในอีกทางหนึ่งเราจะเห็นว่า การพยายามก่อตั้งสหภาพแรงงานของพนักงานส่งอาหารในทุกประเทศ ตั้งแต่สหรัฐฯ จนถึงจีนนั้นเป็นตัวอย่างว่าพนักงานเหล่านี้พยายามรวมตัวกันเพื่อโต้กลับความพยายามของบริษัทที่จะขูดรีดแรงงานจากพวกเขามากขึ้น ในขณะที่ความปลอดภัยในการทำงานกลับต่ำลง  ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลไต้หวันก็มักจะอ่อนไหวกับข้อถกเถียงที่ว่าแพลตฟอร์มเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องใช้ระบบการจ้างงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมันเป็นลักษณะเฉพาะทางธุรกิจ ดูเหมือนว่าทั้ง Uber Eats และ Foodpanda ก็จะใช้ข้อเสนอนี้ในการโต้ตอบกับข้อเรียกร้องของพนักงานเช่นกัน