ผู้เขียน Quixote Joe
ผู้แปล Nalanda Maleeya Buatong
บรรณาธิการ Editorial Team

หมายเหตุ บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนก้าวหน้า โดย Common School


คอมมิวนิสม์อันมีชีวิตจากสำนึกของรากหญ้า (Abahlali baseMjondolo)

ในวันที่ 10 มีนาคมปี 2005 สหายชาวแอฟริกาใต้จากสลัมเคเนดี้โรด (Kennedy road) (เดอร์บัน, แอฟริกาใต้) ต้องตกตะลึงเมื่อพวกเขาเผชิญกับฝูงรถแทร็กเตอร์ดันดินเริ่มเข้าเคลียร์พื้นที่จัดสรรติดกับแหล่งที่อยู่อาศัยของพวกเขา แม้ว่ารัฐให้คำมั่นสัญญาว่าที่ดินนี้จะถูกใช้สำหรับการเคหะ แต่ไม่นานพวกเขาก็ค้นพบว่าแท้จริงพื้นที่นั้นจะถูกใช้เพื่อสร้างโรงอิฐ และเมื่อไม่เป็นไปตามคำมั่นสัญญา ผู้อยู่อาศัยในกระต๊อบทั้ง 750 คน ก็ทำการปิดทางหลวงหลักหกเลนใกล้ย่านธุรกิจหลักของเมือง ยื้อหยุดตำรวจไว้ได้สี่ชั่วโมงกว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ “คนยากจนสุดๆ ในหมู่คนจน” ท้าทายความชอบธรรมตามกฎหมายของรัฐบาลสมัชชาแห่งชาติแอฟริกา (ANC) ซึ่งถูกรู้จักกันว่าเป็นพรรคสังคมนิยม การเผชิญหน้าส่งผลให้ผู้อาศัยในสลัมถูกปราบและ 14 รายถูกจับกุม ในเดือนต่อมาการขับไล่และมาตรการกดดันได้เริ่มขึ้น แต่ก็ได้รับการต่อต้านอย่างแข็งขันจากชุมชนสลัมอื่นๆ ที่เริ่มตัดขาดการพึ่งพาจากรัฐบาลแอฟริกาใต้ และสร้างรูปแบบการปกครองของตนเองขึ้นมา เดือนตุลาคมในปีเดียวกันนั้นเอง 12 แหล่งชุมชนได้ร่วมจัดตั้งสมัชชาอิสระ โดยเลือกชาย 17 คนและหญิง 15 คนขึ่นมาเป็นผู้แทน และจัดตั้งขบวนการอิสระของตัวเอง ขบวนการนี้ถูกรู้จักในนาม “Abahlali baseMjondolo (AbM)” (ภาษาซูลูแปลว่า “ขบวนการชาวกระต๊อบ”) ซึ่งไม่นานก็พัฒนากลายเป็นชุมชนสมาพันธรัฐอิสระที่เน้นย้ำ ‘การเมืองแบบทำมือ (homemade politics)’ ที่ใครๆ ก็สามารถเข้าใจและสามารถค้นพบบ้านของตนเอง 

ขบวนการชาวกระต๊อบในแอฟริกาใต้เป็นกรณียกเว้น ที่มักพิสูจน์ให้เห็นถึงขบวนการอันมีชื่อว่าต่อต้านอาณานิคม หรือเป็นขบวนการสังคมนิยม/มาร์กซิสม์ นำโดยผู้นำไม่ธรรมดาประมาณเนลสัน แมนเดลา ที่ให้คำมั่นสัญญาต่อการปฏิวัติเปลี่ยนผ่าน แต่สุดท้ายก็เห็นสิ่งที่พยายามและใฝ่ฝันมาค่อยๆ เลือนหายไป เนื่องจากระบบรัฐการ (bureaucrats) ในอนาคตที่เน่าเฟะ และทุนนิยมที่ค่อยๆ แทรกซึมสู่ขบวนการ นี่ไม่ใช่ความผิดพลาดจากแนวคิดบันดาลใจของเหล่านักปฏิวัติ แต่มาจากแนวคิดที่ว่า การปฏิวัติต้องดำเนินงานจากพวกแนวหน้า ซึ่งจะเข้าไปมีอำนาจรัฐและดำเนินนโยบายหลังจากนั้น ในกรณีนี้เอง เราจะเห็นคนที่ยังผลักดันการปฏิวัติ ค่อยๆ มีชนชั้นรัฐการ (bureaucratic class) ของตนเองขึ้นมา และไม่นานก็โอบรับนโยบายแบบเสรีนิยมด้วยอำนาจนำของทุนนิยมจากตะวันตก สุดท้ายทิศทางก็เป็นไปตรงข้ามกับแนวคิดปฏิวัติสังคมนิยมนั้นเสียเอง

แล้วเราก็เห็นผลที่ตามมาจากการเกิดขึ้นขององค์กรที่เหมือนกับอนาคิสต์ระดับรากหญ้า ก่อร่างจากผู้คนที่ก่อนเคยสนับสนุนขบวนการปฏิวัติสังคมนิยม แต่ภายหลังกลับกลายเป็นว่าฟ่อนเฟะไม่ต่างจากเจ้าอาณานิคมก่อนหน้านั้น ทำนองเดียวกับซาปาติสตา (EZLN) และโรยาวา (Rojava) ขบวนการ AbM ได้ตกลงกันว่าจะร่วมมือและมีโครงสร้างการปกครองแบบกระจายอำนาจ (การปกครองส่วนท้องถิ่นแบบเสรี) ซึ่งเป็นอิสระจาก ‘เงื้อมเงาที่ฟ่อนเฟะ’ ของรัฐบาลแห่งชาติและระบบทุนโลก มันเป็นความร่วมมือที่ทุกหัวข้อปัญหาจะถูกสนทนาอย่างเป็นทางการในการประชุมแบบเปิดทุกๆ สัปดาห์ บางหัวข้อพิจารณากันยาวจนบางครั้งต้องประชุมกันหลายครั้ง จนผู้เข้าร่วมแสวงหาฉันทามติกันได้ ผู้แทนก็จะส่งไปถามความเห็นแต่ละชุมชนตามลำดับ หากไม่สามารถแสวงหาฉันทามติได้ หัวข้อปัญหานั้นจะต้องโหวต พวกเขาเน้นย้ำการทลายอำนาจรวมศูนย์ ผู้แทนเทศบาลจะถูกเลือกมากจากแต่ละชุมชนถิ่นฐาน และทำหน้าที่เป็นผู้ประสานเชื่อมต่อแต่ละชุมชน พวกเขารับคำสั่งให้ตัดสินใจตามที่ตัดสินใจร่วมกันมาแล้ว มากกว่าจะตัดสินใจในนามขบวนการใดขบวนการหนึ่งหรือชุมชนใดชุมชนหนึ่ง พวกเขาเน้นย้ำการกระจายอำนาจเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่แต่ละชุมชนจะมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจทั้งในลักษณะที่อิสระและรวมกลุ่ม ซึ่งกลยุทธ์ทั้งสองแบบของระบบองค์กรนี้เองจะช่วยตรวจจับผู้ที่มีส่วนร่วมอย่างเป็นทางการของพวกเขา ที่ว่าเมื่อมีเหตุกระทำการภายนอกเข้ามากำหนดบังคับชุมชน โครงสร้างการเอารัดเอาเปรียบและการครอบงำก็จะมีแนวโน้มจะพัฒนาตัวขึ้นมา อันนำไปสู่พฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์และยกตนว่าดีกว่าเหล่าผู้มีส่วนร่วมกันเอง ซึ่งเป็นไปในทางตรงกันข้ามกับประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมอย่างถึงรากเช่นนี้  

AbM ยังเน้นย้ำเรื่องการประชุมพบปะ ตั้งแต่สถาปนาตัวเองขึ้นมา การประชุมพบปะก็กลายเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการต่อสู้ของพวกเขา มันแทบจะเป็นแง่มุมเชิงพิธีกรรม มีกิจกรรมมากมายที่สานสามัคคีและรักษาความกล้าหาญในหมู่ชุมชน การประชุมพบปะมีทั้งดนตรี เต้นรำ และการระลึกถึงผู้ที่ตายไป เช่นเดียวกับการสนทนาตัดสินใจในทางเรื่องการเมือง เนื่องจากผู้อาศัยในสลัมส่วนใหญ่ยังคงนับถือศาสนา การประชุมพบปะจึงเริ่มขึ้นด้วยการสวดร้อง จากนั้นก็จะเป็นการอภิปรายอย่างจริงจังในหัวข้อปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ การสนทนาอภิปรายจะถูกขัดอยู่เนืองๆ ด้วยบทเพลงและจบลงด้วยการร้อง I am a Socialist โดยการประชุมพบปะนี้ได้กำหนดแนวทางที่เป็นภาระผูกพันสองประการหลัก นั่นคือจัดสร้าง “บ้านของคนจน” และความมุ่งมั่นต่อเรื่อง ‘การเมืองที่มีชีวิต’ ในด้านการจัดตั้งถิ่นฐาน “บ้านของคนจน” จะต้องคำนึงถึงความต้องการสร้างพื้นที่ที่ทุกคนได้รับความเคารพ จะไม่มีการโกหกและกินแหนงแคลงใจกัน ทุกชาติพันธุ์ เพศ กลุ่มคนอายุต่างๆ คนรวยและคนจน จะต้องรู้สึกปลอดภัยในพื้นที่นี้ เพื่อตนเองจะสามารถแสดงออกและความเห็นได้รับการเคารพ วิธีการนี้ช่วยผูกความคิดของคนในชุมชนเข้ากับหลักการที่ว่า ทุกคนล้วนสำคัญและควรค่าแก่การเคารพ ส่วน ‘การเมืองที่มีชิวิต’ อันเป็นข้อตกลงที่สองเป็นหัวใจหลักของ Abm เพื่อหลีกเลี่ยงการยึดติดรูปแบบและขจัดความเป็นลัทธิ ‘-นิยม’ (ภาษาทางวิชาการ) ที่ลอยตัวออกจากความเป็นจริง และส่วนใหญ่จะเป็นการให้อำนาจเพิ่มแก่พวกที่มีความรู้เฉพาะทางในโลกวิชาการ ข้อตกลงผูกพันในเรื่อง ‘การเมืองที่มีชีวิต’ คือการแสวงหาการพูดคุยและกระทำการที่มุ่งเน้นไปยังแนวคิดที่เป็นจริงและเป็นความต้องการของชุมชนเอง นี่ไม่ใช่การต่อต้านความรู้ แต่เป็นความรู้ที่ตอบโจทย์สถานการณ์จริง มากกว่าเพียงหลบอยู่ในภาษาที่ว่างเปล่า

Abahlali baseMjondolo

AbM ประสบความสำเร็จในการสร้างขบวนการและต่อต้านความพยายามของรัฐที่จะโยกย้ายชุมชนสลัมออกไป ในเดือนมิถุนายนปี 2021 ขบวนการมีสมาชิกมากขึ้นถึง 100,000 คน ขยับขยายเป็น 86 สาขาใน 5 จังหวัด พวกเขามีการประท้วงทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมายอยู่เป็นประจำ เช่นมีการกระทำซึ่งหน้า (direct actions) อย่างการยึดครองที่ดินและติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นอิสระจากรัฐ อย่างเช่นระบบน้ำและไฟฟ้า รวมถึงมาตรการกฎหมายในเชิงกลยุทธ์เมื่อต้องต่อสู้ในศาล ในปี 2007 พวกเขาได้รับชัยชนะเรื่องรัฐบัญญัติสลัมควาซูลู-นาทาล (KwaZulu-Natal Slums Act) ที่พยายามบังคับให้เทศบาลต้องขับไล่ผู้อาศัยอยู่ในสลัมเมื่อเจ้าของที่ไม่สามารถทำได้ พวกเขายังคงเผชิญกับการควบคุมปราบปรามที่รุนแรง หนึ่งในเหตุการณ์รุนแรงที่สุดคือปี 2009 มีการโจมตีที่อยู่อาศัยเขตถนนเคนเนดี้จากพวกอันธพาลที่ถูกจ้างวานโดยตำรวจท้องถิ่น อันธพาลปล้นบ้าน ข่มขู่ผู้อยู่อาศัย และทำให้คนนับพันไร้ที่อยู่ และอีกสองคนที่ถูกฆ่าตาย เร็วๆ นี้พวกเขายังคงเผชิญหน้ากับการขับไล่และกระสุนจริง แม้ว่าจะมีการระงับการขับไล่เนื่องจากโรคระบาดโควิด-19 อย่างไรก็ตาม พันธกิจของพวกเขายังคงต้องสานต่อ มุ่งมั่นในการเมืองของผู้คนที่แสวงหาการอยู่ใต้อำนาจรัฐไปสู่ภาคประชาสังคม และด้วยบริบทที่เฉพาะตัวของแต่ละแหล่งอาศัย เอาชนะในการเข้าถึงบริการของรัฐเช่นเรื่องน้ำ ไฟฟ้า ห้องน้ำ การกำจัดขยะ การศึกษา และสาธารณสุข    

“ทุกคนย่อมรู้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์แบบสตาลินทั่วโลกนั้นทำหน้าที่ปกป้องรัฐที่ต่อต้านการต่อสู้ของประชาชน นี่เป็นเรื่องจริงในบูดาเปสต์ปี 1968 ในปารีสปี 1968 และเป็นจริงในตอนนี้ที่กัลกัตตา เราไม่ได้ต่อต้านคอมมิวนิสต์ เราอยู่เพื่อคอมมิวนิสต์ที่มีเลือดเนื้อและชีวิต เราอยู่เพื่อคอมมิวนิสต์ที่เกิดขึ้นมาจากการต่อสู้ของคนธรรมดา ก่อเป็นรูปเป็นร่าง และเป็นของคนธรรมดาสามัญชน เราอยู่เพื่อคอมมิวนิสต์ที่สร้างมาจากรากฐานของชนชั้นล่าง เราอยู่เพื่อคอมมิวนิสต์ซึ่งที่ดินและความมั่งคั่งถูกแบ่งปันและจัดการอย่างเป็นประชาธิปไตย ไม่ว่าจะพรรคหรือกลุ่มหรือเอ็นจีโอใดๆ ที่ประกาศจากด้านบนว่าเป็นกองหน้าของการต่อสู้ของประชาชน ประชาชนต้องยอมรับอำนาจตามหน้าที่ของตนนั้น ก็ล้วนแต่เป็นศัตรูของการต่อสู้ของเหล่าประชาชนเอง ความเป็นผู้นำนั้นคือสิ่งที่ได้รับมาและไม่มีทางอยู่ได้ถาวรมันไม่สามารถประกาศจากเบื้องบนได้ มันจะคงอยู่ตราบเท่าที่การต่อสู้ของชุมชนได้เลือกที่จะฝากความหวังไว้กับโครงสร้างใดโครงสร้างหนึ่ง บ่อยครั้งก็มีอยู่มากมายที่ความชอบธรรมและโครงสร้างประชาธิปไตยได้รวมอยู่ในขบวนการการต่อสู้เดียวกัน แหละนั่นคือเหตุผลที่ทำไมเรายังคงยืนยันว่า ความเป็นอิสระขององค์กรประชาธิปไตยของคนจนนั้นจะต้องได้รับการเคารพและยอมรับ”