ผู้เขียน Moiz Abdul Majid
ผู้แปล Pathompong Kwangtong
บรรณาธิการ Sarutanon Prabute

ขบวนการกองโจรชาวนา Mukti Bahini ใช้ความรู้อันลึกซึ้งเกี่ยวกับทางน้ำของบังคลาเทศในการต่อสู้เพื่ออิสรภาพ

ภาพประกอบที่ 1: เหล่านักสู้ Mukti Bahini ใช้เส้นทางน้ำในการเดินทางระหว่างสงครามปี 1971  ที่มาของภาพ: Prothomalo

ในนวนิยายของ Salman Rushdie เรื่อง Midnight’s Children ตัวเอกอย่าง Saleem Sinai ถูกสั่งให้ไปประจำการตามชนบทของบังคลาเทศร่วมกับทหารปากีสถานในสงครามเพื่ออิสรภาพเมื่อปี 1971 หน้าที่ของพวกเขาคือจัดการกับกลุ่มกบฎบังคลาเทศ แต่เหล่าทหารกลับพบว่าตัวเองหลงทางทันทีที่เข้าไปในสมรภูมิ  ระหว่างการเดินทางตามเส้นทางน้ำภายใต้มรสุมอันโหดร้าย ธรรมชาติจู่โจมพวกเขา กระทั่งทำให้เหล่าทหารสติแตก

บทบรรยายที่ฉายภาพประสบการณ์ของทหารปากีสถานระหว่างสงครามออกมาได้อย่างชัดเจนผ่านปลายปากกาของ Rushdie นั้น สะท้อนความเป็นจริงของระบบนิเวศน์อันโหดร้ายที่พวกเขาต้องสู้รบในสงครามกองโจรเพื่ออิสรภาพของบังคลาเทศได้เป็นอย่างดี

นักสู้เพื่ออิสรภาพที่ต่อสู้กับกองทัพอันเกรียงไกรของปากีสถานเหล่านี้เป็นที่รู้จักกันในนาม Mukti Bahini  พวกเขาประกอบไปด้วยคนสองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นชนชั้นนำในเมือง ส่วนใหญ่มาจากสมาชิกสันนิบาต Awami คนกลุ่มนี้คือผู้ที่มีตำแหน่งระดับสูงใน Mukti Bahini

กลุ่มที่สองเป็นชาวนาชนบทซึ่งส่วนมากได้รับการฝึกโดยชนชั้นนำในเมืองให้เป็นกองกำลังติดอาวุธแนวหน้าของ Bahini  พวกเขาดำรงชีพและทำงานท่ามกลางเครือข่ายสายธารลำน้ำที่ซับซ้อนของบังคลาเทศมาตลอดชั่วชีวิต ทำให้ชาวนาเหล่านี้รู้จักมักคุ้นกับสายน้ำเป็นอย่างดี  พวกเขายังรู้จักป่าวงกตและหนองบึงที่ล้อมรอบเส้นทางน้ำและทางตันของมันเป็นอย่างอีกดีด้วย  การรบแบบกองโจรของเหล่าชาวนาโดยใช้ความรู้ด้านนิเวศวิทยาอันลึกซึ้งเหล่านี้ในการซุ่มโจมตีกองทัพของปากีสถานในยุทธภูมิต่างๆ ส่งผลให้การต่อสู้เพื่ออิสรภาพสำเร็จได้ในท้ายที่สุด

ขบวนการ Mukti Bahini เปลี่ยนระบบนิเวศน์เหล่านี้ให้เป็นพื้นที่เพื่อการปลดแอก และเป็นเขาวงกตวกวนงุนงงสำหรับกองทัพปากีสถานไปพร้อมๆ กันในระหว่างการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของพวกเขา

ภาพประกอบที่ 2: เหล่านักสู้ Mukti Bahini เดินทัพท่ามกลางมหาอุทกภัยจากมรสุมในปี 1971  ที่มาของภาพ: Londoni.co

เส้นทางน้ำ

พื้นที่กว่าสองในสามของบังคลาเทศอยู่ในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ Ganges อันเป็นสามเหลี่ยมปากแม่น้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก  สามเหลี่ยมปากแม่น้ำนี้ประกอบไปด้วยหนองบึงและป่ารวมถึงเครือข่ายลำธารและสายน้ำที่ซับซ้อนกว้างใหญ่ไพศาล  อันที่จริงบังคลาเทศมีเส้นทางน้ำมากกว่าถนนเสียอีก  นั่นหมายความว่าประชากรส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาเครือข่ายลำธารเพื่อสัญจรในชีวิตประจำวัน  ผู้คนใช้ทางน้ำเพื่อกลับบ้าน ไปโรงเรียน และไปทำงาน

ภาพประกอบที่ 3: แผนที่แสดงขอบเขตความกว้างใหญ่ไพศาลของสามเหลี่ยมแม่น้ำ Ganges สีแดงที่เห็นอยู่คือเส้นทางน้ำ ทางน้ำเหล่านี้ทำให้เกิดระบบซับซ้อนยากยิ่งที่คนนอกจะสัญจรได้ ดังที่ภาพประกอบได้แสดงให้เห็น

ภาพยนตร์หลายๆ เรื่องได้แสดงให้เราเห็นว่าการสัญจรของคนชนบทภายใต้ภูมิประเทศแบบนี้ต้องพึ่งพิงเส้นทางน้ำขนาดไหน  ภาพยนตร์เรื่อง Jago Hua Savera (1959) ของ A. J. Kardar เป็นตัวอย่างที่ดีว่าทางน้ำเป็นหนทางเดียวที่ผู้คนใช้สัญจรไปตลาด  หลายครั้งครั้งเส้นทางน้ำเป็นสิ่งเดียวที่เชื่อมโยงผู้คนในชนบทเข้ากับเมือง การเป็นเจ้าของเรือจึงเป็นหัวใจสำคัญในการเดินทางและดำรงชีพของผู้คน ดังที่ภาพยนตร์ได้แสดงให้เห็น

นอกจากนี้ ภาพยนตร์ยังทำให้เราเห็นถึงความซับซ้อนในการสัญจรไปในระบบลำธารเหล่านี้อีกด้วย  ภาพยนตร์เรื่อง Matir Moina (2002) ของ Tareque Masud เป็นอีกตัวอย่างที่ดี  เราได้เห็นว่านักท่องเที่ยวจำเป็นต้องเปลี่ยนเรือจากคลองระดับปฐมภูมิไปสู่คลองระดับทุติยภูมิอย่างไร เพื่อไปให้ถึงที่หมายของพวกเขา

เมื่อสงครามปะทุขึ้นในปี 1971 กองทัพปากีสถานเริ่มการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวบังคลาเทศ  เส้นทางน้ำและป่าโดยรอบเหล่านี้นี่แหละที่กลายเป็นพื้นที่หลบซ่อนและพักพิงสำหรับชาวนาที่หนีความรุนแรงจากกองทัพปากีสถาน

แต่ในขณะเดียวกัน ชาวนาก็ได้ใช้พื้นที่แห่งนี้ในการต่อสู้โต้กลับด้วย

ขบวนการกองโจร

ความซับซ้อนของเส้นทางน้ำมีประโยชน์ในการต่อต้านขัดขืนอย่างมาก  ชาวนาในขบวนการ Mukti Bahini นำเอาความรู้เรื่องเส้นทางน้ำอันซับซ้อนเหล่านี้มาใช้เป็นความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ในการต่อสู้กับทหารชาวปากีสถาน  ความรู้อันลึกซึ้งเหล่านี้นี่แหละที่เป็นหัวใจสำคัญในชัยชนะของสงครามปี 1971

ภาพประกอบที่ 4: ขบวนการกองโจร Mukti Bahini กำลังจะเดินทางข้ามแม่น้ำ  ที่มาของภาพ: Raghu Rai via Daily Star

ขบวนการกองโจรใช้ความได้เปรียบทางยุทธภูมิทุกอย่างที่มี พวกเขาใช้เส้นทางน้ำและป่าโดยรอบเพื่อหลบเลี่ยงกองทัพปากีสถาน และจู่โจมสร้างความหวาดกลัวจากแหล่งกบดานอย่างฉับพลัน

ฉากต่างๆ ในภาพยนตร์เรื่อง Guerrilla (2011) ทำให้เราเห็นสิ่งเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน เราเห็นการซุ่มซ่อนของเหล่านักสู้ในป่าเพื่ออำพรางตัวแล้วเข้าจู่โจมฐานที่มั่นฝ่ายปากีสถานอย่างมีประสิทธิภาพ และบางครั้งยังสามารถขโมยอาวุธออกมาได้ ไม่เพียงเท่านั้น เรายังได้เห็นว่าขบวนการ Mukti Bahini ใช้เส้นทางน้ำในการเคลื่อนย้ายอาวุธยุทโธปกรณ์และทำลายสะพานเพื่อสกัดกั้นการเข้ามาของกองทัพปากีสถานได้อย่างไร ขบวนการกองโจรเหล่านี้ยังมีกองกำลังนักประดาน้ำหรือนักว่ายน้ำติดอาวุธผู้ใช้เส้นทางน้ำเข้าจู่โจมข้าศึกอีกด้วย

เรื่องเล่ากระแสหลักเกี่ยวกับสงครามปี 1971 แทบไม่ให้ความสนใจบทบาทของนิเวศวิทยาและความรู้เหล่านี้ของชาวนาในการสร้างชาติบังคลาเทศเลย ชาวนาใช้ยุทธภูมินิเวศวิทยา (ecological landscape) ที่พวกเขารู้และรักเป็นหัวใจสำคัญในการต่อสู้เพื่อการปลดแอก ความรู้กระแสรองของชาวนาสามัญนี่แหละที่ช่วยปลดปล่อยบังคลาเทศ มากว่าความรู้ของชนชั้นนำหรือพวกกระฎุมพีเสียอีก


บทความนี้แปลโดยได้รับอนุญาตจาก ‘Ecologies of Emancipation: The Mukti Bahini, Rivers and the Unravelling of Pakistan’, Jamhoor <https://www.jamhoor.org/read/2020/5/2/ecologies-of-emancipation-the-mukti-bahini-rivers-and-the-unravelling-of-pakistan>.