รากกำเนิดและพัฒนาการของระบบทุนนิยม

ถ้าเราเข้าใจอย่างคร่าว ๆ ว่า ระบบทุนนิยมคือระบบที่รีดเค้นความมั่งคั่งผ่านแรงงาน ในกรณีดังกล่าวเราก็จะเข้าใจได้ว่าระบบนี้เติบโตขึ้นมาอย่างไร และเราก็จะสามารถสืบสาวต้นกำเนิดและวิเคราะห์พัฒนาการอันต่อเนื่องของระบบทุนนิยมในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้ การวิเคราะห์เช่นนี้จำเป็นต่อการทำความเข้าใจว่าเราจะตอบโต้ระบบทุนนิยมได้อย่างไรบ้าง โดยการดูว่า ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา การโต้กลับแบบใดบ้างที่ใช้ได้ผล เพื่อให้สามารถเตรียมพร้อมโต้กลับในวิถีทางใหม่ ๆ ได้ในอนาคต

พรมแดน

ระบบทุนนิยมไม่ใช่ระบบที่หยุดนิ่ง ลักษณะที่เป็นนิยามของระบบทุนนิยมคือการเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและการขูดรีดความมั่งคั่งผ่านแรงงาน อย่างไรก็ตาม แนวทางการเป็นเจ้าของและการขูดรีดนั้นต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงตามเวลากับสถานที่ ทุนมองหาพรมแดนใหม่ ๆ ในการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ทุนจะต้องเติบโตตลอดเวลาเพื่อเอาตัวรอด ดังนั้น หากเราดูพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของระบบทุนนิยม เราจะเห็นกระบวนการเสาะหาพรมแดนใหม่ ๆ และแหล่งทรัพยากรใหม่ ๆ ไว้เป็นแหล่งรีดเค้นผลกำไรใหม่ ๆ ตั้งแต่การเปลี่ยนทำที่ดินทำกินของชาวนาให้กลายมาเป็นของเอกชน (privatisation) ในศตวรรษที่ 18 ไปจนถึงการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลใน (cryptocurrencies) ในศตวรรษที่ 21

การล้อมรั้ว

ระบบทุนนิยมในอังกฤษเมื่อศตวรรษที่ 19 แตกต่างอย่างมากกับระบบทุนนิยมในกัมพูชาเมื่อศตวรรษที่ 21 เมื่อวิเคราะห์การขยายตัวของระบบทุนนิยมโลก เราจะเห็นได้ว่า เป็นเพราะอำนาจและการขยายตัวของจักรวรรดิอังกฤษในศตวรรษที่ 19 หลาย ๆ ลักษณะที่เป็นนิยามของของระบบทุนนิยมจึงสามารถสืบย้อนกลับไปได้ที่อังกฤษ

นักประวัติศาสตร์ฝ่ายซ้ายหลายคนเสนอว่า รากเหง้าของระบบทุนนิยมในปัจจุบันสามารถสืบรากย้อนกลับไปได้ถึงอังกฤษเมื่อช่วงกลางศตวรรษที่ 18 ในช่วงเวลาดังกล่าว เจ้าที่ดินศักดินาเริ่มริเริ่มปฏิบัติการ “ล้อมรั้วสิ่งที่เป็นส่วนรวม” (enclosure of the commons) ของส่วนรวม (commons) ในที่นี้หมายถึง ที่ดินส่วนรวม/ทั่วไป (common) ที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ โดยปกติแล้วแล้ว ที่ดินเหล่านี้เป็นที่ ๆ ชาวนาในชนบทอาศัยอยู่ และที่ดินเหล่านี้ถูกใช้เพื่อการปลูกพืชยังชีพและปศุสัตว์ และเมื่อนั้นเอง เจ้าที่ดินก็เริ่มอ้างสิทธิ์ในที่ดินเหล่านี้ว่าเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล (private property) ของพวกเขาเอง โดยคิดค่าเช่าที่ดินที่ชาวนาอาศัยอยู่มาหลายชั่วอายุคน กลายเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล (ในแบบที่เป็นทุนคงที่ fixed capital/passive-ผู้แปล) และปัจจัยการผลิตในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

พ่อค้า จักรวรรดิ และทุนนิยมอาณานิคม

ในช่วงยุคดังกล่าว เรายังสามารถเห็นได้ถึงการเติบโตของ ลัทธิพาณิชนิยม (Mercantilism) นี่คือกระบวนการรวมการค้า รัฐ และพ่อค้าเอกชน เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นรากฐานให้กับจักรวรรดิอาณานิคม กล่าวอย่างง่ายคือ ระบบดังกล่าวดำเนินไปในวิถีทางเช่นนี้:

คนงานผลิตสินค้าให้กระฎุมพี →

พ่อค้า (ซึ่งเป็นกระฎุมพีด้วย) ซื้อสินค้าเหล่านั้นจากกระฎุมพีด้วยกันเอง →

พ่อค้าขนส่งสินค้าและขายสินค้าในสถานที่อื่นเพื่อหากำไร →

รัฐหักภาษีส่วนหนึ่งจากกำไรเหล่านี้ →

พ่อค้านำผลกำไรเหล่านั้นกลับมาลงทุนโดยซื้อสินค้าเยอะขึ้นกว่าเดิม

เราจะแสดงให้เห็นตัวอย่าง โดยเน้นชนชั้นกระฎุมพีเป็นตัวหนา:

คนงานในไร่องุ่นผลิตไวน์ให้ เจ้าที่ดิน

เจ้าที่ดิน ขายไวน์ให้ พ่อค้า

จากนั้น พ่อค้า ก็นำไวน์ไปขายที่อื่นเพื่อหากำไร →

รัฐหักภาษีจาก พ่อค้า ในส่วนของกำไร →

จากนั้น พ่อค้า ก็จะนำกำไรที่เหลือไปลงทุนซื้อไวน์เพิ่มจาก เจ้าที่ดิน

การดำเนินและการทำงานของระบบนี้เป็นไปอย่างราบลื่นโดยการดูแลควบคุมของรัฐ นี่หมายความว่า รัฐขยายและปกป้องเส้นทางการค้าของตนจากกลุ่มอำนาจที่เป็นปฏิปักษ์ เช่น ผู้ค้าของประเทศอื่น ๆ และในขณะเดียวกันก็ออกกฎหมายรองรับ (enforce) กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลให้แก่ชนชั้นนายทุนซึ่งเป็นชนชั้นใหม่นี้โดยแลกกับการเก็บภาษี

นอกจากนั้น รัฐยังทำตามตามเป้าประสงค์ของทุน นั่นคือการเปิดพรมแดนใหม่ ๆ ให้กับทุน ตรงนี้เราก็จะเห็นได้ว่าลัทธิล่าอาณานิคมเกิดออกมาจากระบบทุนนิยมอย่างไร และรัฐก็จะยึดเขตแดนในนามของเหล่านายทุนเพื่อรีดเค้นกำไรจากระบบดังกล่าว

เราสามารถดูตัวอย่างได้จากการเติบโตของการล่าอาณานิคมในอินเดีย :

ขั้นที่ 1

คนงานชาวนาในอินเดียผลิตผ้าไหมให้กับเจ้าที่ดินศักดินาชาวอินเดีย →

พ่อค้าชาวอังกฤษเดินทางไปอินเดียเพื่อซื้อผ้าไหมจากเจ้าที่ดินศักดินาชาวอินเดีย→

พ่อค้าชาวอังกฤษนำผ้าไหมกลับไปขายที่อังกฤษ

* ใน ขั้นที่ 1 เจ้าที่ดินศักดินาชาวอินเดียก็รีดเค้นผลกำไรจากกระบวนการดังกล่าวเช่นกัน*

ขั้นที่ 2

รัฐอังกฤษริเริ่มขับไล่เจ้าที่ดินศักดินาชาวอินเดีย →

ที่ดินถูกนำมาแจกจ่าย ปล่อยเช่า หรือขายให้กับพ่อค้าชาวอังกฤษ →

ตอนนี้คนงานชาวนาในอินเดียผลิตผ้าไหมให้พ่อค้าชาวอังกฤษ →

พ่อค้าส่งออกผ้าไหมกลับไปยังอังกฤษเพื่อขาย →

ผลกำไรจากกระบวนการดังกล่าวจะถูกหักภาษีโดยรัฐอังกฤษ →

รัฐยังคงอำนวยการเสาะแสวงหาพรมแดนใหม่ ๆ ให้กับทุน

ในตัวอย่างนี้ เราจะเห็นการผสานรวมระหว่างอำนาจรัฐกับทุน ทั้งสองอย่างผูกโยงกันอย่างแนบแน่นเพื่อให้มีการขยายตัวเองอย่างต่อเนื่อง และควรตั้งข้อสังเกตด้วยว่า รัฐมักจะทำสงครามห้ำหั่นกันเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าของตน จักรวรรดิยุโรปริเริ่มการค้าทาสจำนวนมากในมหาสมุทรแอตแลนติก จับชาวแอฟริกันตะวันตกมาเป็นทาสและใช้กำลังบังคับพวกเขาไปยังอเมริกาเพื่อไปทำงานในไร่ทาส (plantations)

ทุนอุตสาหกรรม

เมื่อมีการก่อตั้งจักรวรรดิอาณานิคมยุโรปขึ้นมา เราก็จะเริ่มมองเห็นรกรากของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 19 เนื่องจากมีการปิดล้อมสิ่งที่เป็นของส่วนรวม ประชาชนชาวอังกฤษจึงไม่สามารถทำการเกษตรและทำการผลิตแบบยังชีพ (subsistence) ได้อีกต่อไป ตอนนี้พวกเขาจำต้องซื้อสินค้าพื้นฐานผ่านทางตลาด ในขณะเดียวกัน การสะสมทุนจำนวนมหาศาลภายใต้ระบบการค้าขายช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการลงทุนในการพัฒนาเครื่องจักร ซึ่งทำให้เกิดศักยภาพในการผลิตสำหรับตลาดใหม่นี้ขึ้นมา การบรรจบกันของเหตุการณ์เหล่านี้นำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมและเกิดระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมขึ้นในที่สุด

เริ่มมีโรงงานปรากฏขึ้นทั่วสหราชอาณาจักรและต่อมาก็ปรากฏขึ้นทั่วทั้งยุโรป โดยแปรรูปและผลิตวัตถุดิบที่นำเข้าจากประเทศใต้อาณานิคม ตัวอย่างโดยทั่วไปมีดังนี้:

ฝ้ายปลูกโดยทาสในอเมริกาในไร่ที่อังกฤษเป็นเจ้าของ →

จากนั้นเจ้าของไร่ทาสจะส่งออกฝ้ายไปทางตอนเหนือของอังกฤษ →

โรงงานในอังกฤษตอนเหนือจะทอผ้าฝ้ายเป็นเสื้อผ้า →

จากนั้นเสื้อผ้าจะถูกขายไปทั่วประเทศและส่งออกไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในจักรวรรดิ →

ผลกำไรจากขั้นตอนเหล่านี้จะถูกเก็บภาษีเพื่อให้รัฐสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและเพื่ออำนวยการเสาะแสวงหาพรมแดนใหม่ ๆ ให้ทุนได้ขยายตัวต่อไป

การเงิน

การเติบโตของอุตสาหกรรมของสหราชอาณาจักรนำไปสู่พัฒนาการครั้งใหญ่ของระบบการเงินและสินเชื่อในขณะที่ทุนเองก็เสาะแสวงหาพรมแดนใหม่ ๆ ในการพัฒนาระบบตัวเอง บริการต่าง ๆ ที่ธนาคารนำเสนอ เช่น การลงทุนด้านความปลอดภัย เช็ค แผนประกันภัยที่ซับซ้อน รวมไปถึงการคุ้มครองเงินเบิกเกินบัญชี ต่างถูกนำเข้ามาใช้ กระบวนการแยกทุนออกจากวัตถุจึงได้เริ่มต้นขึ้น

ตัวอย่างเช่น ในช่วงแรก ๆ ที่ทุนนิยมกำเนิดขึ้น ทุนของคุณก็คงจะเป็น :

พื้นที่เพาะปลูก โรงงาน หรือเรือ เป็นต้น

เมื่อวันเวลาผ่านไป ทุนนิยมก็ถูกทำให้กลายเป็นการเงิน (financialisation) ดังนั้นทุนของคุณก็อาจเป็น:

หุ้นในบริษัทที่เป็นหนี้ในที่ดินทำกินหลายแห่ง

การทดลองเหล่านี้ทั้งในด้านการเงินและการแยกความมั่งคั่งออกจากทุนวัตถุ ทำให้ระบบการเงินมีขนาดใหญ่เทอะทะและไม่อาจคาดเดาได้ นำไปสู่การล่มของตลาดหุ้นหลายครั้ง โดยเฉพาะการล่มของตลาดหุ้นในปี ค.ศ. 1929 ที่ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่

เศรษฐกิจแบบผสม เสรีนิยมใหม่ และโลกาภิวัตน์

ภายหลังภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ การผงาดขึ้นของสหภาพโซเวียต และความเสียหายจากสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศทุนนิยมจำนวนมากเลือกที่จะนำเศรษฐกิจแบบผสมเข้ามาใช้ โดยรัฐจะเป็นเจ้าของอุตสาหกรรมหลัก ๆ บางอย่าง เพื่อปกป้องตัวเองจากกลไกตลาดการเงินที่ผันผวน และจัดสรรรัฐสวัสดิการเป็นการสนับสนุนขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชน นี่เป็นแนวทางพยายามจำกัดทุน ควบคุม และจัดการทุน อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวนำไปสู่การใช้จ่ายอย่างมหาศาลของรัฐและนำไปสู่การใช้ระบบราชการมาจำกัดตลาด และในช่วงทศวรรษ 1970 ความล้มเหลวของตลาดได้สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจแบบผสมของตะวันตก

สหราชอาณาจักรซึ่งเป็นผู้ริเริ่มระบบทุนนิยมนี้เมื่อหลายศตวรรษก่อน เป็นผู้นำในการโต้กลับวิกฤตการณ์ดังกล่าว นโยบายเสรีนิยมใหม่ถูกนำมาใช้ แนวทางดังกล่าวพยายามกลับหัวกลับหางแนวทางเศรษฐกิจแบบผสมและทำให้ตลาดกลายเป็นระบบการเงินอย่างสุดขั้ว (hyper-financialise) โดยกีดกันรัฐออกจากวิสาหกิจและทำลายระบบสวัสดิการ

หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ลัทธิเสรีนิยมใหม่ได้ขยายตัวไปสู่ระดับนานาชาติอย่างเต็มกำลัง ทุนได้ค้นพบและเปิดพรมแดนใหม่ ๆ อีกครั้ง มีการลงนามข้อตกลงการค้าเสรีทั่วโลกเพื่อให้สินค้าและเงินทุนสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างอิสระเสรีไปทั่วโลก ตอนนี้เราสามารถปลูกสัปปะรดในประเทศไทย แพ็คใส่กระป๋องในอินเดียและขายในเยอรมนีได้โดยแทบไม่มีข้อจำกัดด้านภาษีหรือข้อจำกัดด้านพรมแดน เหล่านี้เป็นที่รู้จักกันในนามโลกาภิวัตน์ โลกที่ไร้พรมแดนสำหรับทุน

นี่อาจฟังดูคล้ายระบบทุนนิยมอาณานิคมในยุคแรก ๆ ซึ่งหลายแง่มุมมันก็เป็นเช่นนั้น แต่ที่ต่างก็คือ รัฐไม่จำเป็นต้องปกป้องและบังคับใช้ระบบนี้ในแบบเดิมอีกต่อไป ก่อนหน้านี้รัฐจะปกป้องผลประโยชน์ของทุนในประเทศของตนจากรัฐอื่น อย่างไรก็ตาม ในศตวรรษที่ 21 เราจะเห็นได้ถึงการอ้าแขนรับทุนที่ขยายตัวไปทั่วโลก หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตก็ไม่มีอำนาจแข็งข้อใด ๆ ที่จะมาต่อกรกับระบบทุนนี้อีก

เมื่อเป็นเช่นนี้ อุตสาหกรรมจักรกลในยุโรปและอเมริกาจึงเคลื่อนย้ายไปยังที่ ๆ ค่าแรงถูกกว่าและสร้างผลกำไรมากกว่าที่เดิม อุตสาหกรรมจำนวนมากในตะวันตกได้หายไปเรื่อย ๆ โดยบรรดาโรงงานและอุตสาหกรรมทั้งหมดหายไปภายในหนึ่งทศวรรษ และบทบาทของรัฐก็ลดน้อยถอยลงเรื่อย ๆ

พรมแดนใหม่

ทุกวันนี้ก็ดังเช่นที่แล้วมา ทุนนิยมกำลังเสาะแสวงหาพรมแดนใหม่ ๆ เรากำลังเข้าใกล้จุดที่นโยบายเสรีนิยมใหม่รีดเค้นความมั่งคั่งออกมาให้ได้มากที่สุดโดยไม่ล่มสลายและเคลื่อนไปสู่ระบบใหม่ดังที่เคยเกิดขึ้นมาในทุกขั้นตอนของประวัติศาสตร์ หลายคนตั้งทฤษฎีว่าอะไรคือขั้นถัดไปของทุนนิยม บางคนเสนอว่า ระบบทุนนิยมดิจิทัลหรือศักดินาเทคโน (techno-fuedalism) คืออนาคต อันเนื่องมาจากการเติบโตขึ้นของสกุลเงินดิจิทัลและบล็อกเชน (blockchain) ในขณะที่คนอื่น ๆ ชี้ว่า พรมแดนใหม่คือทุนนิยมจีนหรือสังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์แบบจีน ส่วนคนที่มองโลกในแง่ดีกว่านั้นอาจจะเสนอว่า ระบบทุนนิยมสีเขียวหรือทุนนิยมรักษ์โลกอาจกลายเป็นขั้นถัดไปที่จะถูกนำมาใช้โต้กลับวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่กำลังจะเกิดขึ้น

ท้ายที่สุดแล้ว ทุนนิยมก็เปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้เข้ากับเงื่อนไขของตัวเองได้อยู่เสมอ บางครั้งสิ่งนี้ก็เกิดขึ้นผ่านความเป็นผู้กระทำของมนุษย์ ผ่านรัฐ หรือตลาด แต่หลังจากยุคเสรีนิยมใหม่ อันเป็นยุคที่บทบาทของรัฐลดน้อยลงเรื่อย ๆ และมีการเปลี่ยนตลาดให้กลายมาเป็นระบบการเงินอย่างเต็มรูปแบบ ดูเหมือนว่า ความเป็นผู้กระทำของมนุษย์ต่อทุนทั้งหมดพ่ายแพ้ให้แก่อัลกอริทึมของตลาด เห็นได้ชัดจากการที่รัฐแทบไม่ได้แทรกแซงตลาดเลยในช่วงที่โควิด (Covid 19) แพร่ระบาด

จากการสืบรากเหง้าประวัติศาสตร์ของทุน เราสามารถวิเคราะห์การโต้กลับทุนได้ดียิ่งขึ้น นับตั้งแต่การปฏิวัติรัสเซียเมื่อปี ค.ศ. 1917 ขบวนการต่อต้านจักรวรรดินิยมเมื่อทศวรรษ 1950 ในประเทศใต้อาณานิคม การล่มสลายของพรรคสังคมนิยมในยุโรปเมื่อทศวรรษ 1970 ตลอดจนถึงการเติบโตของลัทธิเหมา (Maoism) ในประเทศจีนตลอดศตวรรษที่ผ่านมา ท้ายที่สุดแล้ว เป้าหมายของสังคมนิยมก็คือการล้มล้างทุนนิยม ดังนั้นเพื่อให้เข้าใจว่าเราจะทำให้ดีที่สุดได้อย่างไร เราต้องเข้าใจอย่างกระจ่างชัดก่อนว่า เรากำลังสู้อยู่กับอะไร และสิ่งที่เรากำลังสู้นั้นมันสามารถปรับตัวได้อย่างไร