Images: Pierre-Christophe Gam
บทความโดย Nathi Mthethwa
แปลโดย สหายเข็มหมุด กับ สิริสิริ
จากผู้แปล: โทมัส ซังคาร่า (Thomas Sankara) เป็นผู้นำเสนอแนวคิดการปลดปล่อยผู้หญิงได้อย่างน่าสนใจ และชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของแนวทางดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ซึ่งได้อธิบายเอาไว้แล้วในบทความ
อย่างไรก็ตาม ในสังคมปัจจุบันนั้น การเสนอว่าเราอยู่ในสังคมชายเป็นใหญ่อาจเป็นเรื่องที่ชี้แจงได้ยากในสังคมไทย ที่ซึ่งผู้คนมักจะเสนอกันว่า “ผู้หญิงต้องเรียบร้อย” “ผู้หญิงฟุ่มเฟือย” “ผู้หญิงไม่มีเหตุผล” ทัศนคติเหล่านี้วางรากฐานอยู่บนความสัมพันธ์ทางสังคมที่ยินยอมให้ผู้หญิงเป็นใหญ่ได้ก็ต่อเมื่อผ่านความเป็นชาย มากกว่าที่จะเป็นความเสมอภาค (ในที่นี้หมายถึงความสามารถเปลี่ยนแปลงได้ภายใต้การรับรู้ผ่านการสื่อสารและความต้องการที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ไม่ใช่หลักปฎิบัติที่ดีที่สุดและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดไป)
คำเตือนบทความต่อไปนี้มีการแสดงถึงความนิยมในตัวบุคคลในระดับปานกลางถึงระดับสูง ผู้ที่มีอคติต่อการนิยมตัวบุคคล อาจได้รับความไม่สบายใจจนถึงขัดใจได้ แต่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต
บทนำ
“…พวกเรา ผู้ได้ก้าวย่างไปพร้อมกับผู้ยิ่งใหญ่ล้วนรู้ว่า โมเสส มาบีดา ก็เป็นพวกพ้องเราด้วย.” (O.R. Tambo กล่าวในพิธีศพของ Mabhida)
ผมมั่นใจว่า ใครที่รู้จักและสู้เคียงบ่าเคียงไหล่มากับซังคาร่าจะต้องแสดงความรู้สึกอันหวานอมขมกลืนแบบเดียวกันออกมาในงานศพของเขา ซังคาร่าตระหนักถึงบทบาทสำคัญของการต่อสู้ปลดปล่อยชาติควบคู่ไปกับสรรค์สร้างสังคมนิยม เขามองว่า การจะทำเช่นนั้นได้ต้องอาศัยแรงขับทางสังคมและแนวปฏิวัติจากหลายภาคส่วน เช่น ชนชั้นแรงงาน คนหนุ่มสาว เกษตรกร นักศึกษานักวิชาการ และสตรี ฯลฯ
วันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 1983 เป็นวันสักขีพยานของการลุกฮือของประชาชน เป็นการลุกฮือที่เกิดขึ้นในประเทศทางแอฟริกาตะวันตกที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ทางตอนบนของโวลตา เหตุการณ์ดังกล่าวอาจถือได้ว่าเป็นหนึ่งในการปฎิวัติที่สัมฤทธิ์ผลมากที่สุดในประวัติศาสตร์แอฟริกัน ผู้นำการปฎิวัตินี้ก็คือ โทมัส ซังคาร่า ซึ่งเขากลายมาเป็นประธานาธิบดีของรัฐบาลที่มีแนวคิดปฎิวัติในวัยเพียง 33 ปี เมื่อปฎิวัติสำเร็จ ประเทศถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Burkina Faso หรือ ดินแดนแห่งภราดรภาพ
4 ปีถัดมา หลังจากการปฎิวัติเบอกิน่า ได้มีการริเริ่มโครงการอันทะเยอทะยานหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น การปฎิรูปที่ดิน การปราบปรามการทุจริต การฟื้นฟูพื้นที่ป่าเพื่อลดการขยายตัวของทะเลทราย ยุติปัญหาความอดอยาก รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับการศึกษาและสุขภาพ เพื่อให้โครงการเหล่านี้สำเร็จเสร็จสิ้นไปด้วยดี รัฐบาลจึงผลักดันร่วมกับองค์กรต่าง ๆ และรวบรวมกลุ่มต่าง ๆ เข้ามาด้วยกัน ตลอดจนถึงผลักดันการศึกษาทางการเมืองเป็นการเฉพาะให้แก่ชนชั้นแรงงาน คนหนุ่มสาว เกษตกร และเหล่าสตรี เช่นเดียวกัน รัฐบาลก็ให้ความสำคัญกับความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันร่วมกับขบวนการต่อสู้เพื่ออิสรภาพทั่วโลก ไม่ว่าจะกับการต่อสู้การแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้ ไปจนถึงมิตรภาพที่มีต่อขบวนการปฏิวัติในคิวบา นิการากัว ปาเลสไตน์ ซาฮาร่าตะวันตก และอื่น ๆ อีกมากมาย
ในวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 1987 ซังคาร่าถูกลอบสังหารในการรัฐประหารต่อต้านการปฎิวัติซึ่งได้ทำลายรัฐบาลปฎิวัติและขัดขวางการพัฒนาโครงการเพื่อการเปลี่ยนแปลงก่อนหน้านี้ทั้งหมด เป็นเรื่องตลกร้ายที่ในช่วงสัปดาห์ก่อนเขาตาย ซังคาร่ากล่าวกับประชาชนถึงเหตุการณ์การสังหารนักปฎิวัติชาวคิวบา เชกัวล่า ว่า “แม้นนักปฏิวัติในฐานะบุคคลอาจถูกฆ่า แต่อุดมการณ์ไม่”
ซังคาร่ากลายมาเป็นสัญลักษณ์ให้กับผู้คนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการปฎิวัติเบอกินาบีและผู้ที่อุทิศตนให้กับการปลดปล่อยแอฟริกาทั้งปวง และแน่นอนว่ารวมไปถึงมนุษย์ชาติทั่วทั้งโลกด้วย
แนวคิดของซังคาร่าว่าด้วยการปลดปล่อยสตรี
ในมุมมองของผู้นำการปฎิวัติ เขาได้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของแนวคิดมาร์กซิสต์ นั่นคือ การทำความเข้าใจสังคมมนุษย์ผ่านมุมมองเลนินนิสต์ ซังคาร่าชี้ให้เห็นถึงรากกำเนิดของการกดขี่สตรีและอธิบายถึงความสำคัญของการทำลายสิ่งดังกล่าวทิ้งเสีย
โดโรที วิลสัน (Dorotea Wilson) ซึ่งในขณะนั้นเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติของนิการากัวและผู้นำชาวซันดานิตา ได้กล่าวยกย่องสุนทรพจน์ของซังการาที่มีเนื้อความต่อต้านการกดขี่สตรีว่า “การปราศรัยนี้ไม่ใช่แค่การป่าวประกาศหลักการ แต่ยังแสดงถึงความเข้าใจอันลึกซึ้งว่า การสามัคคีกันอย่างเข็มแข็งในการต่อสู้ของสตรีนั้น แท้จริงแล้วเกี่ยวโยงและเป็นรากฐานของมนุษยชาติทั้งสิ้น” (อ้างอิงถึงการปราศัยของโดโรที วิลสัน ในเหตุการณ์เคลื่อนมวลชนเข้าสู่เมืองหลวงของเบอกิน่า ฟาโซ เมืองหลวงชื่อ “โอกาดูกู” เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1987 เนื่องในวันสตรีสากล)
โทมัส ซังคาร่า กล่าวสนับสนุนสตรีนับพันว่า การปฎิวัติจะสำเร็จไม่ได้หากปราศจากการปลดแอกสตรี แม้ในค่ำคืนเดือนสิงหาคมเราจะประสบความสำเร็จในการได้มาซึ่งอิสรภาพ เกียรติยศเกียรติภูมิ และความสำราญ ซังคาร่าแย้งว่า นั่นก็จะเป็นความสำราญที่เห็นแก่ตัวเพราะขาดสิ่งหนึ่งไป นั่นก็คือสตรี เหล่าสตรีถูกกีดกันออกจากขบวนแห่อันรื่นเริงของการปฏิวัติ (***เบอกิน่าประกาศตนว่าหลุดพ้นแล้วจากอำนาจครอบงำโดยฝรั่งเศสในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1960-ผู้แปล) ทั้งที่พวกผู้ชายเดินทางไปจนถึงสุดขอบของสวนสวรรค์แห่งการปฎิวัติ ผู้หญิงกลับถูกขังอยู่ในความมืดมนอนธการที่ไม่สามารถมีตัวตนในสังคมได้ เขาย้ำเตือนอีกว่า ไม่มีความหมายหรือแม้แต่ความสำเร็จใดเกิดขึ้นได้ในเบอกิน่าฟาโซ่ตราบใดที่ผู้หญิงยังถูกกดให้ต่ำลงด้วยกลไกการกดขี่นานาวิธีที่ถูกสร้างขึ้นมามายาวนานกว่าร้อยปี
ทั้งหญิงชายในเบอกิน่าฟาโซ่ต่างมีพันธะกิจที่จะต้องปฎิวัติตัวตนของพวกเขาเอง เนื่องจากเขาและเธอจะกลายเป็นผู้สร้างสรรค์สังคม ซึ่งไม่ใช่แค่การสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมอันใหม่ขึ้นมาเท่านั้น แต่รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม สั่นคลอนความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างหญิงกับชาย และกดดันให้ต่างฝ่ายต่างทบทวนความเป็นอยู่ของทั้งสองเสียใหม่ การจะทำภารกิจดังกล่าวให้สำเร็จ ซึ่งเป็นภารกิจที่เต็มไปด้วยความยากลำบากทว่าจำเป็น คุณจะต้องมีเครื่องมือที่เหมาะสมกับภารกิจที่ว่านี้
เขากล่าวว่า “มนุษย์ผู้เป็นการผสมผสานอันยิ่งใหญ่และซับซ้อนระหว่างความเจ็บปวดกับความปิติ ผู้ทั้งถูกทอดทิ้งให้จมอยู่ในความว้าเหว่เดียวดาย ทว่าเป็นทั้งผู้สรรค์สร้างมนุษยชาติทั้งปวง ทั้งความทุกข์ทรมาน ความผิดหวัง ความอัปยศอดสู กระนั้นก็เป็นความสุขของพวกเราแต่ละคนอย่างไม่มีสิ้นสุด ความผูกพันธ์อันสุดจะหาสิ่งใดมาเปรียบได้ มอบความกล้าหาญอันไม่คาดฝันให้กับเรา มนุษย์ผู้แม้จะถูกกล่าวหาว่าแสนอ่อนแอ ขณะเดียวกันก็สามารถที่จะดลบันดาลให้พวกเราฝันถึงชีวิตที่ดีกว่าและมุ่งหน้าไปสู่มันได้ มนุษย์ผู้มีเลือดมีเนื้อและความตั้งมั่นทางจิตวิญญาณ มนุษย์ผู้เป็นสตรี เป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของผองเรา นั่นก็คือ คุณ
เธอคือมารดร ผู้ร่วมสุขทุกข์ เป็นสหายในทุกสมรภูมิและด้วยข้อความจริงที่กล่าวมานี้ ชัยชนะของการปฎิวัติใด ๆ จึงหมายถึงการแน่ใจได้ว่า ทุกคนเสมอภาคกันภายใต้การต่อสู้แห่งชัยชนะนี้ เราต้องเติมเต็มความเป็นมนุษย์ด้วยการชุบคืนตัวตนที่แท้จริงของคุณกลับมา โดยการให้อิสรภาพและภราดรภาพเป็นใหญ่เหนือความแตกต่างใด ๆ จะต้องไม่มีความศรัทธาใดที่ทำให้เราเพิกเฉยต่อการกดเหยียดผู้หญิงอีกต่อไป”
ขั้นแรกคือความพยายามที่จะเข้าใจว่าอำนาจนี้ทำงานอย่างไร เข้าใจถึงความเป็นไปของอำนาจเล็กอำนาจน้อยและขุดรากถอนโคนการกดขี่ที่ซ่อนอยู่ เพื่อนำไปสู่การปลดแอกสตรีทั้งมวลในท้ายที่สุด
และเรื่องวิวัฒนาการของสังคมและสถานภาพของผู้หญิงทั้งโลกนั้น วัตถุนิยมประวัติศาสตร์ก็ได้ชี้ทางสว่างในเรื่องปัญหาและสภาพที่ผู้หญิงเผชิญอยู่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบการขูดรีดโดยทั่วไป วิธีการแบบวิภาษวิธี (dialectics) นิยามสังคมมนุษย์ว่าไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่เป็นสิ่งที่ตั้งอยู่บนธรรมชาติอีกทีหนึ่ง มนุษยชาติไม่ได้จำยอมแต่โดยดีต่ออำนาจของธรรมชาติ แต่พวกเขาควบคุมธรรมชาติ
กระบวนการที่ว่านี้ไม่สามารถกระทำผ่านตัวตนของบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ เดิมทีเรือนร่างของผู้หญิงมักถูกทำให้เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตทางเพศ ผู้หญิงแค่เป็นผู้หญิงเช่นนั้นหรือ? เราจะต้องมองให้ไกลกว่าเดิม มองเข้าไปลึกกว่ากลไกหน้าที่ทางชีววิทยาและตระหนักถึงความสำคัญของผู้หญิงในฐานะแรงขับทางสังคมอันแข็งขัน ความจริงแล้ว ความแตกต่างระหว่างชายกับหญิงตั้งอยู่บนกลไกหน้าที่ทางชีวิวิทยาที่ซึ่งร่างของผู้หญิงมีกลไกหน้าที่มากกว่าผู้ชายเสียอีก
วิธีการแบบวิภาษวิธีจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะพาเราหลุดพ้นไปจากกรอบจำกัดทางชีววิทยาและทฤษฎีมักง่ายที่มักจะมองว่า พวกเรานั้นเป็นทาสต่ำต้อยกว่าธรรมชาติ และมุ่งหาความจริงภายในบริบททางสังคมและเศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์มนุษย์แรกเริ่มเดิมทีนั้น มนุษย์เราได้เรียนรู้ที่จะใช้งาน ดัดแปลง และพึ่งพิงธรรมชาติ มากกว่าการใช้แค่มือเปล่า ๆ หรือการใช้แค่ร่างกายตัวเอง เราใช้มือของพวกเราหยิบจับเครื่องมือขึ้นมา ซึ่งทำให้มือของพวกเรามีพละกำลังมากขึ้น ฉะนั้น ไม่ได้มีแค่คุณสมบัติทางกายภาพ โครงสร้างกล้ามเนื้อ หรือความสามารถที่จะคลอดลูกเท่านั้น ที่มากำหนดสถานะไม่เท่าเทียมกันระหว่างชายกับหญิง และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแบบข้างต้นก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำให้ความไม่เท่าเทียมดังกล่าวกลายเป็นเรื่องปกติด้วย หากแต่เป็นการเปลี่ยนผ่านจากพัฒนาการทางสังคมรูปแบบหนึ่งไปสู่อีกรูปแบบที่ซึ่งความไม่เท่าเทียมได้กลายมาเป็นสถาบันหลักที่ผลิตซ้ำการกดขี่ขูดรีดผู้หญิงโดยผู้ชาย ตั้งแต่ระบบทาส ศักดินา ไปจนถึงทุนนิยม ฯลฯ ล้วนมีจุดร่วมเดียวกันคือการกดขี่ข่มเหงผู้หญิง
เฟร็ดเดอริค เองเกลส์ (Frederick Engels) ชี้ให้เห็นว่า หลายพันปีตั้งแต่ยุคหินเก่า (Paleolithic) ไปจนถึงยุคโลหะสัมฤทธิ์ (Bronze age) ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองเพศอยู่ในสถานะที่ดีกว่าปัจจุบันและเคารพซึ่งกันและกัน เองเกลส์ชี้ให้เห็นต่อไปอีกว่า ความสัมพันธ์ดังกล่าวตั้งอยู่บนความร่วมมือร่วมใจและการมีปฏิสัมพันธ์กัน ซึ่งต่างกันอย่างมากกับระบบปิตาธิปไตย ที่ซึ่งการกีดกันสตรีนั้นเป็นลักษณะที่พบเห็นได้ทั่วไปในยุคสมัย
เองเกลส์ได้แกะร่องรอยทางประวัติศาสตร์ของการกดผู้หญิงลงเป็นทาส ซึ่งสืบย้อนกลับไปจนถึงการปรากฏขึ้นของกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล เมื่อวิถีการผลิตรูปแบบหนึ่งหลีกทางให้กับวิถีการผลิตอีกรูปแบบหนึ่ง และเมื่อการจัดการสังคมรูปแบบหนึ่งเข้ามาแทนที่ของเก่า กล่าวคือ เป็นเวลายาวนานถึง 8,000 ปีที่สมบัติของผู้หญิงนั้นตกทอดสู่ตระกูล (clan) ของเธอเอง ไม่เหมือนปัจจุบันที่สมบัติของพ่อตกสู่มือลูกชาย ซึ่งเป็นระบบปิตาธิปไตยที่มีมายาวนานจวบจนทุกวันนี้
มนุษยชาติเริ่มรู้จักกับระบอบทาสพร้อม ๆ กับการมาถึงของกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล ชายผู้เป็นเจ้าของทาส ที่ดิน ปศุสัตว์ ได้ขยับขยายไปสู่การเป็นเจ้านายของผู้หญิง นี่คือความพ่ายแพ้ระดับประวัติศาสตร์ของสตรีเพศ สิ่งนี้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการแบ่งงานกันทำ (division of labour) ซึ่งเป็นผลพวงของวิถีการผลิตแบบใหม่และการปฎิวัติปัจจัยการผลิต
สถาบันครอบครัวแบบปิตาธิปไตยถือกำเนิดมาโดยมีพ่อเป็นหัวหน้า ในครอบครัวเช่นนี้ผู้หญิงเป็นฝ่ายถูกกดขี่ ครอบครัวถูกสถาปนาขึ้นมาบนกรรมสิทธิ์ซึ่งเป็นของผู้ชายแต่เพียงหนึ่งเดียว เมื่อขึ้นเป็นใหญ่ผู้ชายก็สนองความปรารถนาทางเพศของตนโดยการจับคู่กับทาส ผู้หญิงจึงกลายเป็นเพียงสินสงครามที่เขาครอบครองไว้ค้าขายแลกเปลี่ยน เขาพรากทั้งแรงงาน ความคิด ความสุข และเสรีภาพมากมายไปจากเธอ ในส่วนของเหล่าทาส ทันทีที่เหล่าเจ้านายเผยโอกาส เหล่าผู้หญิงก็จะแก้แค้นด้วยการนอกใจคบชู้ การผิดประเวณีและการสมรสจึงกลายมาเป็นของคู่กัน “อย่างเป็นไปเอง” มันเป็นหนทางเดียวที่ผู้หญิงใช้ปกป้องตัวเองจากระบบทาสภายในบ้านที่กดขี่เธออยู่ การกดขี่ทางสังคมของเธอสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการกดขี่ทางเศรษฐกิจของเธอ
ไม่มีหนทางอื่นที่สถานภาพของสตรีเพศจะถูกฟื้นฟูได้นอกจากการทำลายระบบอันซับซ้อนที่กักขังพวกเธอไว้ ทั้งตระหนักว่า ทุกขั้นทุกตอนที่ปิตาธิปไตยได้ก้าวขึ้นมาล้วนมีสายสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างการกดขี่ทางเพศ การกดขี่ทางชนชั้น และการกดขี่ทางเชื้อชาติ
สถานภาพของพวกเธอถูกพลิกกลับโดยระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล ไม่มีที่ทางสำหรับตัวตนของเธออีกต่อไป พวกเธอถูกผลักให้กลายเป็นทาสรับใช้หรือเครื่องเลี้ยงเด็ก ถูกลบออกจากประวัติศาสตร์โดยปรัชญาและศาสนาที่เรืองอำนาจ ถูกพรากคุณค่าไปเสียจนหมดโดยเรื่องเล่ามายาตติ ผู้หญิงและทาสไม่ต่างอะไรจากสัตว์อสูรที่มีโฉมหน้าเป็นมนุษย์
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ว่า ในช่วงที่ระบบทุนนิยมขยายตัว มันน่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจที่กดขี่ขูดรีดผู้หญิงอย่างออกนอกหน้าและในขณะเดียวกันก็ซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากที่สุด ผู้หญิงนั้น ไม่ว่าเธอจะอยู่ในลำดับขั้นไหนของสังคม เธอก็จะถูกบดขยี้ไม่เพียงแต่ภายในชนชั้นของเธอเอง แต่จากชนชั้นอื่น ๆ ด้วย ไม่เว้นแม้แต่สตรีที่อยู่ในชนชั้นผู้กดขี่เอง
ลักษณะเฉพาะของการกดขี่สตรี
ชะตากรรมของผู้หญิงนั้นถูกล่ามไว้กับผู้ชายที่ถูกกดขี่ อย่างไรก็ตาม เราต้องไม่ปล่อยให้ความเป็นอันหนึ่งเดียวกันดังกล่าวมาบังตาจนเรามองไม่เห็นสถานการณ์เฉพาะที่เหล่าผู้หญิงต้องประสบพบเจอในสังคมของพวกเรา
จริงอยู่ที่ว่า ทั้งแรงงานชายและแรงงานหญิงต่างถูกกดขี่ขูดรีดในทางเศรษฐกิจเหมือนกัน แต่แรงงานฝ่ายแม่บ้านก็ถูกแรงงานฝ่ายพ่อบ้านกดขี่ข่มเหงจนกลายเป็นผู้ไร้เสียงด้วย ซึ่งนี่ก็เป็นวิธีเดียวกันกับที่ผู้ชายใช้เพื่อข่มผู้ชายด้วยกันเอง โดยความคิดดังกล่าวถูกหล่อหลอมขึ้นมาว่า ผู้ชายเหนือกว่าผู้อื่นด้วยต้นตระกูลและด้วยชาติกำเนิด หรือด้วยเทวสิทธิ์ (divine rights)
พวกเราต้องให้ความสนใจอย่างจริงจังต่อสถานกาณ์ของผู้หญิง เพราะมันผลักผู้หญิงไปสู่การก่อสงครามทางเพศอย่างจริงจัง ซึ่งทั้งที่จริงแล้วเราจำเป็นต้องต่อสู้ระหว่างชนชั้น ต่อต้านการกดขี่ทางเพศและการครอบงำทางเชื้อชาติไปพร้อม ๆ กัน นี่คือสงครามที่เราสามารถชนะ และเราจะชนะถ้าเราเข้าใจว่า เราต้องมีกันและกัน เราต่างเป็นส่วนเติมเต็มของกันและกัน และที่สำคัญคือพวกเรามีชะตากรรมร่วมกัน ซึ่งโดยแท้จริงแล้ว เราต่างถูกสร้างมาให้พึ่งพาอาศัยกัน การจะชนะศึกนี้ได้ สตรีจะต้องเห็นตัวเธอเป็นส่วนหนึ่งในรยางค์การต่อต้านความเสื่อมถอยทั้งหมดในสังคม ไม่ใช่ปัจเจกชนที่ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวในการต่อสู้ของตัวเองคนเดียว
ไม่ว่าชายจะถูกย่ำยีกดขี่สักเพียงไหน เขาก็ยังมีเพื่อนมนุษย์ให้กดขี่ต่อไปอีกทอด นั่นก็คือ ภรรยาของเขาเอง แน่นอนว่า การกล่าวเช่นนี้คือการย้ำเตือนความจริงที่น่าหวาดหวั่น ตัวอย่างเช่น เมื่อเราพูดถึงระบบการแบ่งแยกผิวสีอันเลวทราม ความคิดและความรู้สึกของเราก็เต็มไปด้วยความรู้สึกของคนผิวสีที่ถูกกดขี่ขูดรีด แต่เราคงไม่เคยนึกว่า ผู้หญิงผิวสีก็ต้องอดทนต่อสามีของเธอเองเช่นกัน
ตัวอย่างผู้ชายนั้นมีอีกมาก เช่นพวกหัวก้าวหน้าที่ใช้ชีวิตเพลิดเพลินกับการผิดประเวณี แต่ก็พร้อมที่จะฆ่าภรรยาของตนทันทีหากสงสัยว่าเธอคบชู้ กระนั้นก็ไม่มีอะไรนอกจากการปลอบประโลมในอ้อมกอดของโสเภณี
นี่ยังไม่รวมถึงพวกนักปฎิวัติคลั่งความรุนแรงที่มักจะรับไม่ได้ที่ภรรยาของตนจะมีความตื่นตัวทางการเมืองบ้าง พวกเขายินยอมให้พวกเธอมีกิจกรรมทางสังคมในตอนเช้าและซ้อมพวกเธอในตอนกลางคืนเพราะพวกเธอไปเข้าสังคมหรือเข้าร่วมประท้วง
ซังคาร่ากล่าวว่า โอ้! ผู้ชายขี้หึงพวกนี้นี่! จะใจแคบไปไหน! และจะหมกมุ่นอยู่แต่เรื่องของตัวเองไปถึงไหนที่คิดว่า มีแค่ตอนกลางคืนเท่านั้นที่หญิงผู้เอือมระอาและหนักแน่นจะสามารถนอกใจสามีของเธอได้? คนพวกนี้ยังเรียกตัวเองว่านักปฎิวัติได้อย่างไรทั้งที่เค้ายึดติดกับภาพจำที่ว่าผู้หญิงทุกคนจะต้องบ้าเงิน ต้องเป็นจอมบงการ ต้องเป็นพวกขี้นินทา งี่เง่า ขี้หึง และอีกสารพัด ผู้หญิงอาจเป็นเช่นนั้นจริง แต่ผู้ชายก็เป็นอย่างนั้นไม่แพ้กัน เมื่อคุณถูกว่าขาน ดังเช่นผู้หญิง ให้ต้องรอขุนนางและเจ้านายกลับมาถึงบ้านเพื่อที่จะได้หาอาหารให้แก่พวกเขาและรอคอยการอนุญาตให้พูดหรือมีชีวิตอยู่ได้ จะมีอย่างอื่นอีกหรือที่จะมาฉุดคุณลงอยู่กับที่และอย่างน้อยก็หลอกลวงว่าคุณยังมีประโยชน์อยู่? ผู้ชายที่ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับข้างต้นก็มีทัศนติไม่ต่างกัน
อภิสิทธิ์ชนเพศ : อีกหนึ่งอุปสรรคของการปลดปล่อยผู้หญิง
การกดขี่ผู้หญิงอย่างต่อเนื่องอาจถูกซ้ำเติมโดยผู้หญิงคนอื่น ๆ ที่กดขี่ผู้หญิงด้วยกันเองเพื่อไต่เต้าสถานะทางสังคม พวกเธอได้ใช้ตั๋วอภิสิทธิ์ทางเพศเพื่อผลประโยชน์ทางวัตถุเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งไม่ได้ยึดโยงอยู่กับการต่อสู้เพื่อการปลดแอกผู้หญิงเลยแม้แต่น้อย ซังคาร่าได้ชี้ให้เห็นว่า ระบอบจักรวรรดินิยมใหม่ที่มีอำนาจอยู่ในเบอกิน่าขณะนี้ไม่ได้ดีไปกว่าแนวทางการปลดแอกสตรีแบบกระฎุมพีเลย นั่นคือ นำมาซึ่งอิสรภาพและเกียรติภูมิปลอม ๆ เท่านั้น มันจะยังเป็นเช่นนี้ต่อไปตราบใดที่สตรีชนชั้นกระฎุมพีน้อยในเมืองกรุงไม่ให้ความสำคัญต่อการเมืองสตรีนิยม หรือก็คือ คนเหล่านี้เป็นนักสตรีนิยมยุคดึกดำบรรพ์ที่เรียกร้องสิทธิในความเป็นชาย
การจัดตั้งกระทรวงสตรีที่นำโดยผู้หญิงจึงถูกสรรเสริญเยินยอว่าเป็นชัยชนะ คำถามของซังคาร่าคือ พวกเราเข้าใจสถานการณ์ที่ผู้หญิงเผชิญหรือเปล่า? พวกเราตระหนักหรือเปล่าว่า พวกเรากำลังพูดสภาพความเป็นอยู่ของประชากรเบอกินาเบ 52% จากทั้งหมด ห่างจากเมืองใหญ่เข้าไปในชนบท? ดังนั้นชีวิตที่ล้ำหน้าและรวดเร็วของเมืองจะต้องถูกขยายออกไปให้ครอบคลุมถึงผู้หญิงทุกคนที่กำลังต่อสู้กับความหิวโหย โรคภัยไข้เจ็บ และอื่น ๆ อีกนาณัปการ
สรุป
สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การต่อต้านการกดขี่ผู้หญิงเป็นการต่อสู้ของมวลมนุษยชาติ นี่จึงเป็นการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งโยงใยอยู่กับปัญหาเรื่องชนชั้นและเรื่องชาติ ยุคสมัยของผู้ยิ่งใหญ่อย่าง โทมัส ซังคาร่า ซาโมร่า มาเคิล (Samora Machel) และ โอ. อาร์. ทอมโบ ได้ชี้นำเราไปสู่หนทางที่ถูกต้อง กล่าวคือ การปลดปล่อยผู้หญิงไม่ใช่การกุศล (เพราะการกุศลไม่ได้ช่วยให้ปัญหาถูกแก้ไข เพียงแต่บรรเทาความรุนแรงลงเท่านั้น-ผู้แปล) แต่คือสิ่งที่จำเป็นในการบรรลุการปฏิวัติใดก็ตาม นี่คือพันธกิจของ ANC ที่จะต้องต่อสู้เพื่อสังคมอันไร้ซึ่งการกดขี่ทางเพศโดยเป็นความมุ่งมั่นแบบเดียวกันกับตอนที่พวกเราต่อสู้กับระบบแบ่งแยกสีผิว
อนาคตคือการปฎิวัติ!
อนาคตเป็นของทุกคนที่ร่วมต่อสู้!
จงมุ่งสู่สังคมที่ไร้ซึ่งการกดขี่ทางเพศ!