ต้นฉบับ : สหายS!nk
ก่อนอื่นเลยผมต้องขอชื่นชมในความตั้งใจของเพื่อน ๆ ที่ตั้งปณิธานไว้ว่าต้องการจะลงมือเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจการเมืองของสังคมด้วยมือของตัวเอง นั่นแปลว่าในทางจิตใจพวกคุณมาถูกทางแล้ว ที่ได้เห็นความวิปริตในระบบ และตระหนักได้ว่าถ้าหากเราไม่ทำอะไรสักอย่างเลย ก็ไม่มีทางที่จะมีอะไรดีขึ้น ผมเคยได้ยินหลายคนบอกว่า จะเข้าไปฝังตัวในระบบราชการหน่วยต่าง ๆ ตามแต่ที่ตนสนใจและมีความถนัด บ้างก็จะสะสมทุนเพื่อวันนึงพอมีเงินแล้ว ก็จะใช้จ่ายเงินนั้นในการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง บ้างก็ตั้งใจจะเป็นนักการเมืองเองไปเลย สิ่งเหล่านี้เป็นความตั้งใจที่ควรหวงแหนรักษาเอาไว้
แต่ถึงอย่างนั้นในฐานะที่เป็นผู้ร่วมอุดมการณ์ฝั่งก้าวหน้า ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงขนบเดิม ๆ ระบบเดิม ๆเหมือนกัน ผมเห็นความจำเป็นที่จะต้องมาชวนคิดทบทวนถึงวิถีปฏิบัตินี้กันสักเล็กน้อย
ขั้นแรกก็ คือ หากเราพิจารณาถึงปัญหาทางเศรษฐกิจการเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ถ้าหากเราไปดูในเชิงรายละเอียดเราก็จะพบว่ามาจากการตัดสินใจผิดพลาดของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในแต่ละเคส แต่ถ้าหากเราสังเกตถึงจุดร่วมของปัญหาดังกล่าว ก็จะเห็นได้ว่าแท้จริงแล้ว หลายปัญหาที่เหมือนเป็น “ปัญหาเชิงเทคนิค/การบริหาร” เบื้องหลังของมัน คือ ปัญหาทางการเมือง นั่นคือการขาดประชาธิปไตย และ การรวมศูนย์อำนาจ
เราไม่จำเป็นต้องยกเคสตัวอย่างให้มากก็เข้าใจได้ผ่านตรรกะว่า หากผู้ทำหน้าที่แก้ปัญหา ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ได้มีความใกล้ชิดกับสถานที่ ผู้คน การแก้ปัญหาก็มักจะเป็นไปแบบไม่ตรงจุด นอกจากนี้ยังมีปัญหาการคอรัปชั่นเชิงอำนาจ อันเป็นผลมาจากความเป็นศักดินาเล่นเส้นเล่นสาย ซึ่งก็นำไปสู่ความไม่โปร่งใส การคอรัปชั่นเชิงนโยบาย-เชิงเศรษฐกิจตามมา สุดท้ายเงินภาษีประชาชนที่เสียไปก็ไปเข้ากระเป๋า นายทุน-ขุนศึก-ศักดินาตามระเบียบ
ซึ่งถ้าหากเราไม่พิจารณาอย่างถี่ถ้วนก็ง่ายที่เราจะสรุปไปว่า ปัญหาอย่างเรื่องถนนหนทางชำรุดไม่มีคนซ่อม, ปัญหาโรงพยาบาลรัฐไร้ประสิทธิภาพ ขาดแคลนอุปกรณ์ คนไข้นอนกันแออัดอนาถา, ปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนที่มีการปราบปรามอย่างโหดร้ายทารุณ ฯลฯ ทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นเพราะ
“ผู้มีอำนาจโง่เกินกว่าจะคิดได้” ว่าวิธีการแก้ปัญหาดี ๆ มันควรเป็นยังไง การขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาลเผด็จการทหารโดยมีนายประยุทธ์เป็นหน้าฉากยิ่งตอกย้ำแนวคิดแบบนี้เป็นอย่างดี
คนเป็นทหารจะไปรู้อะไรเรื่องการบริหารประเทศ!
ซึ่งมันก็จริง …
แต่เราต้องไม่ลืมว่าประยุทธ์เป็นเพียงแค่หน้าฉาก เป็นแค่หุ่นเชิด ขององคาพยพแห่งชนชั้นนำที่อยู่เบื้องหลัง อันประกอบไปด้วยลูกท่านหลานเธอผู้มีการศึกษา เรียนจบมหาลัยชั้นนำระดับโลก มีคอนเนคชั่นกับนักวิชาการ ปัญญาชนฝ่ายขวาในระดับสากล มีบุคลากรที่ “ไม่โง่” มากมาย
“สมคิด จาตรุศรีพิทักษ์” เป็นตัวอย่างที่ดีในการทำความเข้าใจเรื่องนี้ เขาเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และในปี 2558 สมคิดจึงได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลประยุทธ์
ถ้าหากว่าปัญหาเศรษฐกิจการเมืองสามารถแก้ได้ด้วยการเอาคนเก่งมาปกครอง รัฐบาลนายประยุทธ์คงสามารถนำพาความเจริญมั่งคั่งมาสู่ประเทศไทยได้เหมือนสมัยรัฐบาลทักษิณเป็นแน่แท้ แต่มันจะเป็นยังงั้นได้จริงหรือไม่
ท่านสามารถพิสูจน์ได้ด้วยการเข้าแอพธนาคารของตัวเองตอนนี้ แล้วเช็คดูจำนวนเงินในบัญชีของท่าน
ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนเก่ง และ คนไม่เก่ง
ไม่มีใครจะทำให้ทุกคนเป็นคนเก่งได้ทั้งหมด
การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย
จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนเก่ง
หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนเก่ง
ให้คนเก่งได้ปกครองบ้านเมือง
และควบคุมคนไม่เก่งไม่ให้มีอำนาจ
ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้
พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๑๒
ใช่แล้วครับ ทุกคนคงสังเกตได้ว่าโควทที่ผมยกมา ดูแปลกจากโควทเดิมที่ทุกคนเคยเห็นกัน นั่นเพราะผมแทนคำว่า “คนดี” ด้วยคำว่า “คนเก่ง” เข้าไป แต่เนื้อหาใจความของแนวคิดทางการเมืองในโควทนี้ก็ยังคงเดิม
นั่นคือการให้ค่ากับ “ยอดมนุษย์บางจำพวก” อยู่เหนือประชาธิปไตย ให้คนเหล่านี้ได้มีอำนาจ ส่วนประชาชนธรรมดาสามัญก็มีหน้าที่เพียงก้มหน้าก้มตาทำงานของตัวเองไป แล้วก็รอไปร่วมพิธีกรรมที่เรียกว่า “การไปเลือกตั้ง” ซึ่งก็ยังได้ผลทางจิตใจแก่คนบางจำพวก ให้สามารถบอกตัวเองได้ว่า “ได้มีส่วนร่วมทางการเมืองแล้วนะ ประเทศเรายังมีประชาธิปไตยอยู่”
สังคมไทยที่เราเติบโตขึ้นมานั้นเป็นสังคมอำนาจนิยมอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ พวกเราถูกครอบงำสั่งสอนความคิดแบบนี้มาตั้งแต่เด็กผ่านระบบการศึกษา… ไม่สิ ตั้งแต่ระบบครอบครัวเลยด้วยซ้ำ เราถูกทำให้เข้าใจว่า การเมืองเป็นเรื่องของผู้มีอำนาจ ดังนั้นถ้าเราอยากสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองล่ะก็ …
เราก็ต้องเป็นผู้มีอำนาจซะเอง!
ถ้าหากเรามีอำนาจแล้ว ใคร ๆ ก็ต้องฟังเรา
ถ้าหากเรามีอำนาจแล้ว ไอเดียของเราจะต้องถูกนำไปใช้
ถ้าหากเรามีอำนาจแล้ว เราจะกำจัดพวกล้าหลังออกไปให้หมด
ถ้าหากเรามีอำนาจแล้ว เราจะใช้อำนาจนั้นเพื่อประโยชน์ส่วนรวม!
แล้วอะไรทำให้เรามั่นใจได้ล่ะ ว่าไอเดียอันก้าวหน้าที่เราคิดได้
คนที่อยู่ในอำนาจตอนนี้ไม่สามารถจะคิดได้ ?
แล้วอะไรทำให้เรามั่นใจได้ล่ะ ว่าเราจะเข้าใจปัญหาของชุมชน ผู้คน ที่อยู่ห่างไกลไปจากชุมชนที่เราคุ้นเคย พิกัดทางชนชั้นที่ต่างจากเรา วัฒนธรรม ค่านิยม คุณค่าต่างๆ การมองเห็นปัญหา ที่แตกต่างไปจากเรา ?
และอะไรจะรับประกันได้ล่ะ ว่าจะไม่มี “คนที่มีอำนาจยิ่งกว่า” ที่พร้อมจะทำการปลดเราออกจากสถานะทางอำนาจ เพราะเราตัดสินใจที่จะเป็น “ผู้มีอำนาจที่สวนกระแส” ?
และถ้าหากเราร่วงหล่นจากอำนาจนั้นแล้ว เราจะยังประโยชน์ใดให้แก่ขบวนการประชาธิปไตยได้หรือไม่ ภายใต้แนวคิด “อำนาจนิยมของคนก้าวหน้า”
ประเทศไทยเราถูกครอบงำด้วยวิธีคิดแบบอำนาจนิยมอย่างถึงราก ปกครองลงไปในระดับจิตใต้สำนึก แม้แต่ขบวนการต่อสู้ฝ่ายประชาธิปไตยที่ผ่านมา โดยมากก็เป็นการโทนของการ “เรียกร้องต่อผู้มีอำนาจ” มากกว่าจะเป็นโทนของการ “ต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจมาไว้ในมือประชาชน”
ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเงื่อนไขทางวัตถุ และ ประวัติศาสตร์ ผมไม่ได้มีเจตนาเขียนบทความนี้มาเพื่อสื่อแค่ว่า ขบวนการใดๆ หรือ ปัจเจกคนไหนนั้น “ก้าวหน้าไม่พอ” โดยโจมตีไปในลักษณะแบบจิตนิยม หรือ โจมตีอัตบุคคล
เราต้องใช้เวลาพอสมควรในการค่อย ๆ กระเถิบออกจากหลุมโคลนดูดของแนวคิด-แนวเชื่อแบบอำนาจนิยม เพื่อออกไปสู่แนวคิดแบบประชาธิปไตย การหมั่นตรวจสอบร่องรอยของแนวคิดอำนาจนิยมในตัวเอง รวมไปถึงการชวนเพื่อนร่วมอุดมการณ์ทบทวนจึงเป็นสิ่งสำคัญ
แล้วในภาคปฏิบัติล่ะ ผมจะเสนออะไร ?
ในแง่ของการทำงานหาเลี้ยงชีพ ผมว่าควรคิดแยกส่วนกันกับปฏิบัติการทางการเมือง ถ้าหากคุณมีความถนัดในการทำงานราชการ ก็สามารถทำได้ มีความถนัดในการสะสมทุนทำธุรกิจ ลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ก็ทำได้ มีความถนัดในการเป็นนักการเมืองก็ทำได้
แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจว่า
มันไม่ใช่เรื่องเดียวกับกับการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
การกระทำที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ อาจเริ่มต้นในระดับปัจเจก แต่ไม่เคย และ จะไม่มีวันจบลงได้ด้วยการกระทำของปัจเจก เราอาจใช้สถานะทางอำนาจ ทางอาชีพ ทางตำแหน่ง ในการให้ข้อมูลเชิงลึกกับขบวนการฝ่ายประชาธิปไตย หรือ สนับสนุนเงินทุน เพื่อให้ขบวนการนั้น ๆ ชักนำมวลชนไปสู่การเปลี่ยนแปลง ทำให้ประชาชนตระหนักถึงอำนาจที่พวกเขามีมากขึ้น
สร้างความตระหนักรู้
ไปสู่ขั้นที่ไม่อาจย้อนคืนสู่ความล้าหลัง
ปัญหาเชิงบริหารภายในองค์กรไม่อาจแยกจากปัญหาเชิงนโยบาย
ปัญหาเชิงนโยบายไม่อาจแยกจากปัญหาเศรษฐกิจ
ปัญหาเศรษฐกิจไม่อาจแยกจากปัญหาการเมือง
และ
ปัญหาการเมือง
ไม่อาจแยกได้
“จากการยึดอำนาจกลับสู่มือของประชาชน”