ผู้เขียน:
Peranat Pruksarat
Sarid Siriteerathomrong
Rawipon Leemingsawat

หนึ่งในคำถามของพวกปฏิกิริยาที่มีต่อเราชาวคอมมิวนิสต์คือ เป็นคอมมิวนิสต์ใช้ของแบรนด์เนมได้ด้วยหรือ เมื่อพวกปฏิกิริยาเห็นว่าบรรดาสหายของพวกเราเดินเข้าห้างสรรพสินค้าและใช้ของแบรนด์เนม พวกเขาก็ต่างพากันเยาะเย้ยถากถางว่าพวกคอมมิวนิสต์เป็นพวกกลับกลอกหน้าไหว้หลังหลอกโดยแท้ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น เราขอเสนอว่ามูลเหตุสำคัญมี 2 ประการ กล่าวคือ หนึ่ง พวกปฏิกิริยาเข้าใจว่าพวกคอมมิวนิสต์ต้องการเสนอให้สังคมย้อนหลังกลับไปเป็นสู่สังคมบุพกาล พวกเขาเข้าใจว่าสังคมบุพกาลเป็นสังคมที่มีความเท่าเทียมจากการที่สังคมมีพลังการผลิตที่ต่ำและการแบ่งงานที่ไม่ชัดเจน ผู้คนในสังคมจึงมีวิถีชีวิตที่คล้ายคลึงรักใคร่กลมเกลียว คอมมิวนิสต์ตามความเข้าใจของพวกปฏิกิริยาจึงหมายถึง พวกต่อต้านเทคโนโลยี พวกบูชาความลำบาก และเป็นพวกไดโนเสาร์ สอง พวกปฏิกิริยาเข้าใจว่าผลิตผลใดๆ ในโลกล้วนมาจากระบบทุนนิยมราวกับว่าระบบทุนนิยมคือพระผู้ทรงมหิทธานุภาพที่สามารถบัลดาลสรรพสิ่งดั่งใจปรารถนา มันจึงเป็นเรื่องน่าเย้ยหยันเมื่อพวกคอมมิวนิสต์ต่างมุ่งหน้าไปสู่ห้างสรรพสินค้าแทนที่จะกลับไปทำไร่ไถนาอย่างสามัคคี

เราคิดว่าเหตุผลข้างต้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและสมควรได้รับการโต้แย้ง หากโลกทุนนิยมแบบที่เป็นอยู่มีปัญหาเราควรเปลี่ยนแปลงมัน แต่หากข้อสมมติฐาน (Hypothesis) เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงได้มุ่งเป้าพาเรากลับไปยังสังคมบุพกาลพวกเราจะต่อสู้ไปเพื่ออะไร หากข้อสมมติฐานเกี่ยวกับผลลัพธ์ของการต่อสู้คือการทำให้ตัวเองต้องลำบากพวกเราจะต่อสู้ไปเพื่ออะไร หากข้อสมมติฐานเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของพวกเราไม่ได้ดีขึ้นพวกเราจะต่อสู้ไปเพื่ออะไร สมมติฐานเกี่ยวกับสังคมคอมมิวนิสต์จึงหมายถึงสังคมที่ดีกว่าสังคมทุนนิยมและดีกว่าสังคมบุพกาล คอมมิวนิสต์ไม่ได้ต่อต้านเทคโนโลยี ไม่ได้บูชาความยากลำบาก เราเพียงต้องการชีวิตที่ดีกว่าเดิม ชีวิตที่ดีกว่าเดิมหมายถึงการที่เราทุกคนอยู่ในสังคมที่มีพลังการผลิตที่ก้าวหน้า และสิ่งที่สังคมทุนนิยมให้ไม่ได้แต่สังคมคอมมิวนิสต์ให้ได้ก็คือ ข้อสมมติฐานที่ว่าเราทุกคนจะได้เป็นเจ้าของความมั่งคั่งที่เกิดจากพลังการผลิตที่ก้าวหน้าภายในสังคมทั้งหมด พวกปฏิกิริยาอาจสงสัยว่าสังคมที่ก้าวหน้าขนาดนี้จะอุบัติขึ้นได้อย่างไร เราจึงขอฝากไปยังพวกปฏิกิริยาว่านี่ไม่ใช่สถานการณ์ที่เราทุกคนต้องเผชิญหรอกหรือ ยุคสมัยได้เชิญชวนให้ท่านทั้งหลายเข้าร่วมเป็นคอมมิวนิสต์และหาทางทำให้ข้อสมมติฐานดังกล่าวเป็นจริง

การมุ่งหน้าไปยังห้างสรรพสินค้าจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะพวกเราต่อต้านระบบทุนนิยมไม่ได้ต่อต้านผลิตผลของมนุษย์ ความคิดนี้วางอยู่บนฐานคิดที่ว่าผลิตผลต่างๆ ล้วนเกิดขึ้นมาจากการร่วมมือของแรงงาน วัตถุดิบ เครื่องมือในการผลิต องค์ความรู้ บรรดาปัจจัยการผลิตล้วนแต่เป็นการตกตะกอนของแรงงานทั้งสิ้น “ใครกันคือผู้สร้างโลกใบนี้ขึ้นมา คือพวกเราชนชั้นผู้ใช้แรงงาน” ความสัมพันธ์ทางการผลิตในระบบทุนนิยมทำให้นายทุนสามารถริบเอาดอกผลจากแรงงานไปเป็นของตัวเองได้ ทุนเป็นเพียงปรสิตคอยสูบเลือดสูบเนื้อเอาชีวิต ฐานคิดเช่นนี้ทุนไม่ได้ผลิตสร้างสิ่งใดเลย ทุนแค่เพียงฉกฉวยดอกผลจากแรงงาน ทุนฉีกกระชาก ประกอบสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาใหม่และนำออกขายเพื่อผลกำไร ทุนกล่าวว่ากำไรจงเจริญ! ข้อพิสูจน์ฐานคิดแบบนี้ที่ดีที่สุดคือการจินตนาการถึงกระบวนการใช้แรงงานที่ปราศจากระบบทุนนิยมและกระบวนการใช้แรงงานโดยปราศจากแรงงาน ในขณะที่จินตนาการแบบแรกเป็นสิ่งที่เป็นไปได้แต่ในกรณีหลังกลับเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเมื่อไม่มีแรงงานแล้วกระบวนการใช้แรงงานจะดำรงอยู่ได้อย่างไร เมื่อไม่มีกระบวนการใช้แรงงานสิ่งต่างๆ จะถูกผลิตขึ้นมาจากอะไร

สถานการณ์ในตอนนี้เราทุกคนอยู่ในระบบทุนนิยม ทุนนิยมเป็นโครงสร้างหลักของชีวิต ข้อเสนอนี้ไม่ได้กำลังจะกล่าวว่าเราไม่มีวันทำลายล้างระบบทุนนิยมหรือจงละทิ้งความหวังและจินตนาการถึงโลกที่ดีกว่าเสียเถิด ไม่ใช่แน่นอน เรากำลังจะกล่าวว่าหากเราไม่บริโภคแล้วเราจะมีชีวิตอยู่อย่างไร เมื่อทุกๆ การแลกเปลี่ยนและการบริโภคได้ถูกระบบทุนนิยมผนวกรวมเข้าสู่ตรรกะของมัน การเสนอให้ปฏิเสธไม่บริโภคสินค้าจึงเป็นเพียงความคิดอันไร้เดียงสาของพวกปฏิกิริยาตัวน้อยที่มุ่งหวังให้ชาวคอมมิวนิสต์เข้าไปอยู่ในโลกเศรษฐกิจพอเพียงอันไร้มลทินมัวหมองของพวกเขา พวกปฏิกิริยาตัวน้อยเหล่านี้นี่แหละที่จะคอยชี้หน้าไล่บี้สหายทั้งหลายที่เดินเข้าห้างสรรพสินค้าและใช้ของแบรนด์เนม พวกเขาอาจมอบความหวังดีจอมปลอมเล็กๆ น้อยๆ ให้กับสหายด้วยการเสนอให้เลิกใช้สินค้าจากทุนข้ามชาติแต่สนับสนุนให้หันมาบริโภคสินค้าของทุนในชาติแทน แน่นอนว่าผลลัพธ์ของมันคือชาตินิยมและการตอกย้ำมายาภาพเศรษฐกิจพอเพียงให้พวกกษัตริย์นิยม การปฏิเสธไม่บริโภคสินค้าด้วยการทำสิ่งต่างๆ เอง กลับไปใช้ควายไถนาเอง ซักผ้าเอง สร้างคอมพิวเตอร์เอง และการไม่สนับสนุนสินค้าต่างชาติต่างเป็นยุทธวิธีที่ผิดพลาดในการทำลายล้างระบบทุนนิยม เนื่องจากวิธีแรกปฏิเสธพลังการผลิตที่ก้าวหน้า วิธีที่สองเป็นเพียงการต่อต้านลักษณะการผูกขาดของทุนข้ามชาติไม่ใช่การต่อต้านทุนทั้งระบบ

ข้อเสนอของพวกเราคือปล่อยให้พวกปฏิกิริยาโอบกอดข้อวิจารณ์เชิงศีลธรรมดังกล่าวไว้ให้แน่น ส่วนพวกเราโอบกอดความเป็นจริง แต่ยังไม่เลิกล้มความตั้งใจที่จะแสวงหาโลกที่ดีกว่าทุนนิยม หากท่านเป็นผู้โอบกอดความเป็นจริงคำถามที่ตามมาคือ What is to be done ? นี่เป็นภารกิจเร่งด่วนที่ต้องช่วยกันขบคิด ศีลธรรมแบบใดที่เหมาะที่ควรแก่บรรดาผู้ต่อต้านทุนนิยม กลยุทธ์แบบไหนที่จะนำทางพวกเรา ยุทธวิธีแขนงใดจะสำเร็จผล หรือที่สำคัญที่สุดคือ เราจะใช้ชีวิตอยู่ในโลกทุนนิยมไปพร้อมกับต่อต้าน รื้อ ทำลายระบบทุนนิยมและสร้างโลกใหม่ไปพร้อมๆ กันอย่างไร

——–

เครดิตภาพปกจาก: https://wordlesstech.com/famous-logos-communist-regimes/

——–