ไม่มีการบริโภคที่เปี่ยมจริยธรรมภายใต้ระบบทุนนิยม

โวหารที่ตรงไปตรงมาดังกล่าวมักจะถูกฝ่ายซ้ายนำมาใช้สร้างความชอบธรรมให้กับการมีส่วนร่วมในโครงสร้างทางสังคมที่โหดร้ายและอยุติธรรม โวหารดังกล่าวโดยแท้แล้วมีความหมายว่า คุณไม่สามารถซื้อหรือบริโภคสิ่งใดได้อย่างมีจริยธรรมในสังคมทุนนิยม เป็นโวหารที่สามารถนำมาต่อยอด วิเคราะห์ และนำไปปรับใช้ได้กับทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ แรงงาน และรัฐบาล เพื่อช่วยให้เข้าใจถึงความอยุติธรรมที่เราทุกคนต่างก็มีส่วนอยู่ทุก ๆ วัน

ดังนั้น วลีนี้ จริง ๆ แล้วหมายความว่าอะไรกันแน่ ?

คำตอบที่สุดแสนจะน่าเบื่อก็คือ ต้องย้อนกลับไปดูที่การวิเคราะห์ส่วนเกินของมาร์กซ์:

มาร์กซ์สรุปรวบยอดระบบทุนนิยมเป็นหลักการพื้นฐานดังนี้ นายทุนเริ่มจาก M ก็คือเงินที่จะเอามาลงทุนในการผลิต C ก็คือสินค้า จากนั้นก็ขายสินค้าเหล่านั้นเป็น M’ อีกทีโดยมี เพิ่มเข้ามา ซึ่งเป็นเงินที่มากขึ้น (ส่วนเกิน) และทุนนิยมก็คือ ซึ่งหมายถึงการหามูลค่าเพิ่มเพื่อเปลี่ยนเป็นเงินมากขึ้นเรื่อย ๆ

เงิน (Money) – สินค้า (Commodities) – เงิน’ (Money’)

สมมติว่าคุณทำงานที่ Starbucks และบริษัทจ่ายเงินให้คุณ 400 บาทต่อการทำงานแปดชั่วโมง แต่คุณสามารถทำกาแฟสุดปังมูลค่า 400 บาทได้ภายในหนึ่งชั่วโมง หลังคุณทำงานไปหนึ่งชั่วโมง คุณไม่สามารถพูดได้ว่า “ฉันคืนเงินที่คุณจ่ายให้ฉันไปแล้ว ทีนี้ฉันจะกลับบ้านแล้วนะ” คุณต้องอยู่ทำงานต่ออีกเจ็ดชั่วโมง และในระหว่างนั้น ซึ่งก็คือช่วงเวลาที่ถูกขโมยไป คุณผลิตแบบฟรี ๆ และคุณกำลังผลิตมูลค่าส่วนเกิน นั่นคือแก่นแกนหลักที่ซึ่งนายทุนได้ผลกำไรไป เมื่อมันเป็นเช่นนี้ 

จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะจ่ายค่าแรงให้กับคนงานอย่างยุติธรรมภายใต้ระบบทุนนิยม เนื่องจากแรงงานส่วนเกินนี่เองที่ทำให้ระบบทุนนิยมเดินหน้าต่อไปได้

ดังนั้น ถ้าเราอิงตามตัวอย่างข้างต้น เราจะเห็นว่า การซื้อกาแฟจากสตาร์บัคส์นั้นไร้จริยธรรม เพราะพวกเขาเอาเปรียบคนงานที่ทำกาแฟให้คุณ แน่นอนขั้นตอนต่อไปคือการขยายการวิเคราะห์นี้ไปดูที่ห่วงโซ่การผลิตทั้งหมด

ที่ดินของเอกชนที่ผลิตกาแฟ – ไร้จริยธรรม

การขูดรีดแรงงานจากคนงานที่ปลูกเมล็ดกาแฟ – ไร้จริยธรรม

ความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการทำฟาร์ม – ไร้จริยธรรม

การขูดรีดแรงงานจากคนงานที่ขนส่งเมล็ดกาแฟ – ไร้จริยธรรม

และอื่น ๆ อีกมากมาย

*แล้วสหกรณ์แรงงานล่ะ?*

บริษัทมักจะส่งเสริมสินค้าจากสหกรณ์แรงงานเพื่อทำให้ดูเหมือนว่า มีนโยบายแรงงานที่เปี่ยมไปด้วยจริยธรรม แม้ว่าสหกรณ์จะมีการขูดรีดน้อยกว่าธุรกิจเอกชนอยู่มาก แต่ภายใต้ระบบทุนนิยมโลกทุกวันนี้ สหกรณ์ยังคงดำเนินกิจการโดยพึ่งพาการขูดรีดแรงงานที่ไร้จริยธรรมอยู่

ยกตัวอย่างเช่น ร้านกาแฟที่เป็นของสหกรณ์แรงงานและดำเนินโดยสหกรณ์แรงงาน ยังคงพึ่งพาการขูดรีดเกษตรกรผู้ปลูกเมล็ดกาแฟที่จัดหากาแฟให้แก่พวกเขาอยู่

*จะเป็นอย่างไรถ้าเกษตรกรผู้ปลูกเมล็ดกาแฟอยู่ในสหกรณ์แรงงานด้วย?*

ร้านกาแฟก็จะยังคงพึ่งพาการขูดรีดในภาคส่วนอื่น ๆ ของเศรษฐกิจอยู่ดี ตั้งแต่ถ้วยกาแฟ ไปจนถึงไฟฟ้าที่ใช้ในการเปิดร้านกาแฟ… แม้แต่เงินเดือนที่ลูกค้าใช้ในการซื้อกาแฟก็มาจากการใช้แรงงานที่มีการขูดรีด

*จะเกิดอะไรขึ้นถ้าทุกธุรกิจเป็นสหกรณ์แรงงาน?*

นี่ก็จะเปลี่ยนสมมติฐานของข้อเสนอที่ว่า ไม่มีการบริโภคอย่างมีจริยธรรมภายใต้ระบบทุนนิยม เศรษฐกิจในกรณีนี้มักจะถูกอธิบายว่าเป็น “สังคมนิยมตลาด” (Market Socialism) และเราสามารถอภิปรายเกี่ยวกับการบริโภคอย่างมีจริยธรรมภายใต้สังคมนิยมตลาดได้ในภายหลัง

*แล้วถ้าฉันเพิ่งซื้อกระเป๋าผ้าจากธุรกิจหรือองค์กรการกุศลที่ไม่แสวงหาผลกำไรล่ะ?*

ข้อเสนอของฝ่ายซ้ายต่อกรณีแบบนี้คือ ธุรกิจที่ไม่แสวงหาผลกำไรเป็นคำที่มีความขัดแย้งในตัวเอง ธุรกิจไม่แสวงหาผลกำไรเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ในทุก ๆ ธุรกิจและแม้แต่องค์กรการกุศล จะมีคนที่รวยขึ้นและมีคนที่ถูกขูดรีดแรงงานเสมอ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดในระบบทุนนิยม

ยกตัวอย่างเช่น วารสารดินแดง (DinDeng) พวกเราเป็นสหกรณ์แรงงานที่ดำเนินการร่วมกัน โดยทำเป็นองค์กรการกุศล เราไม่ได้ขายอะไร เนื้อหาทั้งหมดของเราฟรี และเราจ่ายเงินให้คนงานของเราโดยพึ่งพาเงินบริจาคจากผู้อ่าน

แม้แต่เราเองก็มีส่วนร่วมในการขูดรีดเพราะการที่เราจะดำเนินการได้ เราต้องพึ่งพาสิ่งเหล่านี้:

แรงงานที่ขูดรีดมาจากคนงานที่เขียนโค้ด WordPress ที่ใช้ในการรันเว็บไซต์ของเรา

แรงงานที่ขูดรีดมาจากคนงานที่ผลิตแล็ปท็อปที่ข้าพเจ้ากำลังใช้เขียนอยู่ตอนนี้

ความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งมาจากพลังงานที่ใช้ในการเปิดคอมพิวเตอร์และเซิร์ฟเวอร์ของเรา

การพึ่งพาเงินบริจาคจากคนงานคนอื่น ๆ ที่ถูกขูดรีดโดยระบบทุนนิยมอยู่แล้ว

ไม่มีใครที่ไม่มีมลทินมัวหมองภายใต้ทุน มันทำให้เราทุกคนกลายเป็นเหยื่อและเป็นผู้กระทำผิดไปพร้อม ๆ กัน อย่างไรก็ตาม พวกเราส่วนใหญ่เป็นคนงานที่ ถูกบังคับ ให้ต้องสมรู้ร่วมคิดในระบบนี้ ในขณะที่คนส่วนน้อยคือกระฎุมพีผู้ เลือก ที่จะสมรู้ร่วมคิดในระบบนี้

ไร้หนทาง

ท้ายที่สุดแล้ว เราไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องมีส่วนร่วมในการบริโภคซึ่งมีการขูดรีดและไร้จริยธรรมภายใต้ระบบทุนนิยม มันเป็นความจริงที่เราต้องยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไขในปัจจุบัน คำถามต่อมาก็คือ เราจะอยู่ภายใต้ระบบทุนนิยมอย่างไรให้มีจริยธรรมมากที่สุด? สำหรับคำถามดังกล่าว ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน และเนื่องจากธรรมชาติของระบบทุนนิยมที่แบ่งแยกและระเบียบสังคมแบบเสรีนิยมปัจเจกนิยมที่แยกทุกคนออกจากกัน เราจึงถูกทิ้งให้อยู่กับตัวเองในฐานะปัจเจกที่จะต้องคิดหาทางออกเอง หรือไม่เช่นนั้นคุณก็อาจจะไปอยู่คนเดียวในป่าหรือบนเกาะเล็ก ๆ ที่ไหนสักแห่ง มันอาจจะดีสำหรับบางคนก็ได้

แต่โดยพื้นฐานแล้ว มีอยู่สองชนชั้นที่เป็นปรปักษ์กัน นั่นก็คือ ชนชั้นกรรมาชีพและชนชั้นกระฎุมพี ชนชั้นหนึ่งเป็นเจ้าของปัจเจกการขูดรีดอย่างไร้จริยธรรม และอีกชนชั้นหนึ่งไม่ได้เป็นเจ้าของอะไรเลย เป้าหมายของคนงานอย่างเราคือการพยายามจัดหาหนทางเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบที่ทั้งขูดรีดและไร้จริยธรรมนี้ และแทนที่มันด้วยระบบแบบอื่นที่มีความยุติธรรมและมีจริยธรรม