ระบบทุนนิยมค่อย ๆ พรากชีวิตออกไปจากโลก มหาสมุทร และป่าเขา เรากำลังเผชิญกับภูมิประเทศรกร้างว่างเปล่าที่ไร้ซึ่งชีวิต โลกกำลังล่มสลายลงอย่างช้า ๆ จนเราแทบไม่ทันสังเกต
เกิดปรากฏการณ์ผิดธรรมชาติอันเป็นผลมาจากช่วงเวลาสั้น ๆ เพียงชั่วชีวิตเดียวของมนุษย์ นั่นคือ เรามองว่าโลกทุกวันนี้อยู่ในสภาวการณ์ “ปกติ” สิ่งนี้เรียกกันว่า “สภาวะเส้นฐานขยับ” (Shifting Baseline Syndrome) วิธีการหนึ่งในการทำความเข้าใจสภาวะเส้นฐานขยับ (shifting baseline) นี้ก็คือการทำความเข้าใจก่อนว่าสภาพแวดล้อมที่เราถือกันว่า “เป็นธรรมชาติ” ในปัจจุบันนั้นถูกดัดแปลงจากสิ่งที่เคยเป็นมาในอดีตอย่างไรบ้าง
ป่าไม้เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในบรรดาสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ในขณะที่พื้นที่ป่าปกคลุมเปลี่ยนไปเยอะมากในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมา แต่ก็มีการดัดแปลงพื้นที่ป่าอย่างเห็นได้ชัดมากกว่า ตัวอย่างเช่น ตั้งแต่ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยุโรปเดินทางมาถึงทวีปอเมริกา 90% ของป่าดิบที่เคยปกคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ในรัฐทางใต้ 48 รัฐก็ไม่มีอยู่อีกต่อไป อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการว่าป่าดิบมีหน้าตาเป็นอย่างไรเพราะมีข้อมูลอ้างอิงหลงเหลืออยู่เพียงเล็กน้อย ป่า เก่าแก่ (old-growth) หลายแห่งถูกแทนที่ด้วย “ป่า” ที่มนุษย์ปลูกขึ้นมาเอง ซึ่งเรียกว่า ฟาร์มต้นไม้ (tree farms) น่าจะถูกต้องกว่า กระทั่งป่าหลายแห่งที่ถูกจำแนกอย่างเป็นทางการว่าเป็น “ป่าเก่าแก่” ก็ยังถูกตัดลงเมื่อช่วงต้น ๆ ศตวรรษที่ 20 แม้ลักษณะบางอย่างของป่าจะใช้เวลาหลายพันปีถึงจะโตเต็มที่ก็ตาม
ด้วยความที่เรามองไบโอมบนบก (ชีวนิเวศบนบก) อย่างไม่เป็นกลาง มหาสมุทรที่ดีในความคิดของเราก็ยิ่งผิดเพี้ยนเข้าไปใหญ่ นับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา วาฬ ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา ก็ถูกฆ่าอย่างเป็นอุตสาหกรรม เหตุผลคือเพื่อตอบสนองความต้องการน้ำมันตะเกียง (lamp oil) ของชาวยุโรป โดยเป็นสิ่งที่นำออกมาจากส่วนที่เรียกว่า blubbler (เปลวไขมันระหว่างผิวหนังและกล้ามเนื้อของปลาวาฬ) ส่งผลให้ประชากรวาฬลดลงถึง 99% ภายในศตวรรษเดียว ถ้าเราไม่ได้เปลี่ยนไปใช้น้ำมันปิโตรเลียมในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 วาฬคงจะถูกล่าจนแทบสูญพันธุ์อย่างแน่นอน
ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าจำนวนประชากรวาฬที่ลดฮวบลงนั้นส่งผลกระทบโดยรวมอย่างไรบ้าง แต่เชื่อกันว่า การลดลงของมูลวาฬซึ่งเป็นปุ๋ยอาหารให้แก่สาหร่ายทะเลนั้นส่งผลให้ผลผลิตของสายใยอาหารในมหาสมุทรเสียหายอย่างถาวร และถึงขั้นทำให้สภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงไปเลย
สัตว์ทะเลชนิดอื่น ๆ ไม่ได้โชคดีเท่าไรนัก ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยุโรปได้บรรยายถึงฝูงปลาค็อด (cod stocks) ในแกรนด์แบงค์แห่งอเมริกาเหนือ (Grand Banks of North America) (บริเวณน้ำตื้นของไหล่ทวีปอเมริกาเหนือ ในมหาสมุทรแอตแลนติก อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะนิวฟันด์แลนด์ ประเทศแคนาดา-วิกิพีเดีย) โดยเล่าว่า แหล่งตกปลานั้นอุดมสมบูรณ์ไปด้วยปลาถึงขั้นที่พวกเขาสามารถเหยียบกรายลงไปได้ แต่หลังจากการเกิดขึ้นของการประมงเชิงพาณิชย์สมัยใหม่ในทศวรรษที่ 1960 อัตราการขูดรีดในแกรนด์แบงก์ก็เพิ่มสูงเกินกว่าที่ปลาค็อดจะรับได้ ทำให้ฝูงปลาที่ครั้งหนึ่งเชื่อกันว่ามีให้ใช้ไม่จำกัด หายไปอย่างรวดเร็ว
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายคนเริ่มสังเกตเห็นว่า แมลงที่บินมาติดกระจกหน้ารถของพวกเราจำนวนลดลงอย่างมากหลังการเดินทางไกลเมื่อเทียบกับปีที่ผ่าน ๆ มาซึ่งเรียกกันว่า “ปรากฏการณ์กระจกหน้ารถ” (windshield phenomenon) จากการศึกษาในเวลาต่อมาพบว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดจากระบบแอโรไดนามิกส์ (aerodynamics) ของรถยนต์สมัยใหม่ หรือการเลือกจำ (selective memory) ของคน แต่ปรากฏการณ์นี้เป็นหลักฐานที่ยืนยันจริง ๆ ว่า จำนวนแมลงทั่วโลกลดลงไปอย่างน่าตกใจ สาเหตุหลักก็คือการใช้ยาฆ่าแมลงอย่างแพร่หลาย รวมไปถึงการแทนที่ทุ่งดอกไม้ป่าด้วยถั่วเหลืองหรือข้าวโพด บางคนอาจดีใจที่สิ่งที่มักถูกมองว่าเป็นศัตรูพืชนั้นลดน้อยลง แต่หารู้ไม่ว่า แมลงเป็นรากฐานของสายใยอาหารซึ่งไม่มีสิ่งใดมาทดแทนได้ และยังผสมเกสรพืชจำนวนนับไม่ถ้วนอีกด้วย
สภาวะเส้นฐานขยับส่วนหนึ่งนั้นเป็นผลมาจากการที่เรามักจะไม่สังเกตเห็นสิ่งที่หายไปมากเท่ากับการสังเกตเห็นสิ่งใหม่ ๆ ตัวอย่างเช่น ในยุโรปช่วงทศวรรษที่ 1960 ผู้คนเริ่มพูดว่าไม่ได้ยินเสียงนกร้องเป็นเพลงในช่วงฤดูใบไม้ผลิซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกมาก ราเชล คาร์สัน (Rachel Carson) นักวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมได้เริ่มวิเคราะห์เรื่องนี้ โดยพิจารณาจากการฉีดสารกำจัดศัตรูพืชสุ่มสี่สุ่มห้า เช่น DDT ในพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อกำจัดยุงและพบว่ามันทำให้ประชากรนกป่าลดลงไปอย่างมาก
วิทยาศาสตร์ทำให้เราสามารถมองย้อนกลับไปได้ไกลยิ่งกว่า ตลอด 3.5 พันล้านปีนับตั้งแต่มีสิ่งมีชีวิตกำเนิดขึ้นมาบนโลกใบนี้ มีการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่อยู่ 5 ครั้งด้วยกัน และกิจกรรมของมนุษย์กำลังนำไปสู่การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่ 6 และแม้สิ่งมีชีวิตจะแสดงให้เห็นว่าฟื้นคืนสภาพได้ไวอย่างน่าเหลือเชื่อหลังเหตุการณ์สูญพันธุ์แต่ละครั้ง ความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลกกลับต้องใช้เวลาหลายล้านปีในการฟื้นตัว
การสูญพันธุ์ที่เกิดจากมนุษย์นี้ไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ในประวัติศาสตร์ แต่ *อัตรา* การสูญพันธุ์ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาได้เร่งเร็วขึ้นจนถึงจุดที่มันกลายเป็นภัยคุกคามในระดับเดียวกับสงครามนิวเคลียร์ต่อความอยู่รอดระยะยาวของเราเอง การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่หมายถึงการสูญเสียมากกว่า 70% ของสปีชีส์ที่ดำรงชีวิตอยู่ตลอดระยะเวลา 2 ล้านปี ดังนั้น ลองพิจารณาดูว่า อัตราการสูญพันธุ์ในปัจจุบันนั้น *เร็วกว่า* การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งล่าสุดถึง 20-100 เท่า ซึ่งเกิดจากการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อยที่ปิดฉาก “ยุคไดโนเสาร์” ลง พูดง่าย ๆ ก็คือ ตอนนี้เรากำลังประสบกับเหตุการณ์การสูญพันธุ์ที่เกิดขึ้นรวดเร็วยิ่งกว่าเหตุการณ์ที่ทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ เหตุการณ์การสูญพันธุ์ดังกล่าวและยุคใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นบนโลกนี้ได้รับการขนานนามจากหลาย ๆ คนว่าเป็น “Capitalocene”
ลักษณะพื้นฐานในการรับรู้ของมนุษย์อันมีข้อจำกัดอย่างหนึ่งก็คือ เรามักจะมองว่า สิ่งที่ปรากฏอยู่ตอนนี้คือสิ่งที่ดำรงมาตลอดอยู่แล้ว เรามองว่าโลกปัจจุบันของเราเป็นสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง แต่การมองว่าธรรมชาติคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงนี้ขัดแย้งกับธรรมชาติที่แท้จริงของโลกวัตถุ ซึ่งไม่มีสิ่งใดหยุดนิ่งและทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และความเปลี่ยนแปลงเชิงปริมาณเพียงเล็กน้อยตลอดเวลา ซึ่งมักจะไม่เป็นที่สังเกตเห็น สามารถนำไปสู่ช่วงของการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพได้อย่างรวดเร็ว
Capitalocene นำไปสู่การผงาดขึ้นของ “ลัทธิฟาสซิสต์สิ่งแวดล้อม” (“eco-fascism”) ซึ่งเป็นอุดมการณ์ที่สนับสนุนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยมองว่า มนุษยชาติส่วนมากเป็นหายนะที่ต้องกำจัดออกไป เพื่อจะได้รักษาโลกเอาไว้ดั่งสวนบริสุทธิ์ที่สงวนไว้สำหรับผู้ถูกเลือกให้มีชีวิตอยู่เพียงไม่กี่คนเท่านั้น
น่าเศร้าที่บ่อยครั้งปฏิกิริยาต่อลัทธิฟาสซิสต์สิ่งแวดล้อมกลับถลำลึกลงไปอีกทางแทน นั่นคือการมองโลกว่าเป็นกลไกเครื่องจักร ไม่ได้เป็นอะไรที่มากไปกว่าคลังที่เอาไว้รีดเค้นทรัพยากร เป็นมุมมองหยาบ ๆ ที่มองว่า มนุษย์แยกขาดออกจากหรือ ‘อยู่เหนือ’ สายใยแห่งชีวิตอันสลับซับซ้อนอันเป็นที่พึ่งของพวกเราเอง
นี่คือมุมมองของหลาย ๆ คนในขบวนการสังคมนิยมยุคศตวรรษที่ 20 ไม่ว่าจะเป็นสหภาพโซเวียตและคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งทุ่มหมดหน้าตักไปกับการเพิ่มการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยมองว่ามันจำเป็นอย่างอับจนหนทางที่จะต้องเร่งแซงหน้าจักรวรรดิทุนนิยมที่เป็นภัยคุกคามและป้องกันการรุกราน และคิดว่าความเสียหายต่อโลกถือเป็นเรื่องรอง ทว่าในศตวรรษนี้ เรากำลังเผชิญกับ Capitalocene เราจึงต้องจัดลำดับความสำคัญใหม่เมื่อมองไปยังอนาคตและสู้เพื่ออนาคต ทั้งนี้ก็เพื่อตัวเราเองและคนรุ่นต่อ ๆ ไป
แม้ว่าเหตุการณ์การสูญพันธุ์ในปัจจุบันจะค่อนข้างสั้นเมื่อมองจากเส้นทางประวัติศาสตร์โลกอันยาวนาน ทว่ามันส่งผลกระทบต่อเนื่องไปหลายชั่วอายุคน ดังนั้น ในชั่วชีวิตหนึ่งมันยากมากที่จะจินตนาการถึงการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆ ของสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ ยิ่ง 2-3 ปียิ่งไม่ต้องพูดถึง แต่เมื่อคุณตระหนักถึงสภาวะเส้นฐานขยับแล้ว ก็ยากที่จะมองผืนป่าในแบบเดิมได้อีก มีความรู้สึกน่าขนลุกบางอย่างที่คุณไม่สามารถสลัดมันออกไปได้เวลาเข้าไปในป่าหรือเวลาดำดิ่งลึกลงไปในมหาสมุทร มันคือความรู้สึกของการไม่ขยับเขยื้อนและ *ความว่างเปล่า* แบบที่เราสัมผัสได้ซึ่งกำลังคลืบคลานเข้ามาหาเราอยู่