Todd Miller – Roar Magazine
รายงานชิ้นใหม่ชี้ให้เห็นถึงการที่ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ 7 รายของโลกทุ่มเงินไปกับชายแดนมากกว่าเงินทุนด้านสภาพภูมิอากาศถึงสองเท่า
ในการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติเมื่อเดือนกันยายน แอนโธนี บลิงเคน (Anthony Blinken) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “กำลังถาโถมใส่ประชากรกลุ่มเปราะบางและมีรายได้น้อย” เขากล่าวต่ออีกว่า “และผลกระทบดังกล่าวก็ทำให้สภาพความเป็นอยู่ย่ำแย่ลง นอกจากนั้นยังซ้ำเติมความทุกข์ทรมานของผู้คนในพื้นที่ที่เดิมทีถูกรุมเร้าเร้าไปด้วยความขัดแย้ง ความรุนแรงในระดับสูง ความไม่มั่นคง อยู่แล้ว” เขาย้ำกับเพื่อนร่วมงานของเขาว่า วิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็น “องค์ประกอบหลักของนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ” และ “ทุก ๆ การมีส่วนร่วมระดับทวิภาคีและพหุภาคีที่เราร่วม ทุก ๆ การตัดสินใจด้านนโยบายที่เราตัดสินใจทำ จะส่งผลต่อเป้าหมายของเรา นั่นคือ เป้าหมายที่จะทำให้โลกอยู่ในครรลองที่มั่นคงปลอดภัยและยั่งยืนยิ่งขึ้น ”
ทัศนคติของบลิงเคนสะท้อนให้เห็นในรายงานจากทำเนียบขาวเมื่อต้นเดือนนี้ เป็นรายงานเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการอพยพ โดยเป็นหนึ่งในรายงานจำนวนหนึ่งที่สหรัฐฯ ได้จัดเตรียมไว้สำหรับการประชุมสุดยอดเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ ซึ่งเริ่มขึ้นในกลาสโกว์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ตามรายงานระบุว่า “สถานการณ์การอพยพย้ายถิ่นฐานในปัจจุบันที่ขยายจากชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโกไปยังอเมริกากลาง เป็นโอกาสของสหรัฐอเมริกาที่จะสร้างแบบจำลองแนวปฏิบัติที่ดีและหารือเรื่องการจัดการการย้ายถิ่นฐานอย่างมีมนุษยธรรมด้วยความเปิดเผย และเน้นถึงบทบาทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการอพยพดังกล่าว”
โดยสมมุติฐานแล้ว ถ้อยคำเหล่านี้น่าจะสร้างความมั่นใจให้กับชาวฮอนดูรัสและชาวกัวเตมาลากว่า 1.3 ล้านคนที่ถูกพลัดถิ่นฐานในปี ค.ศ. 2020 โดยภัยพิบัติที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศ เช่น ภัยแล้ง พายุเฮอริเคน และน้ำท่วม แต่โวหารอันเลิศหรูดังกล่าวกลับขัดแย้งกับอีกเรื่องหนึ่ง นั่นก็คือ เรื่องงบประมาณของรัฐบาลสหรัฐฯ เอง
ในรายงานชื่อ กำแพงภูมิอากาศรอบโลก (The Global Climate Wall) ซึ่งฉันเขียนร่วมกันกับสถาบันข้ามชาติในอัมสเตอร์ดัม เราได้สรุปตัวเลขงบประมาณของเจ็ดประเทศที่มีส่วนในการรับผิดชอบต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศมากที่สุด ประเทศเหล่านี้รวมกันแล้วปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งหมดตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ประเทศเหล่านี้ได้แก่ แคนาดา ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา (ซึ่งนำโด่ในเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตัวเลขอยู่ที่ 30.1%) เมื่อรวมกันแล้ว ประเทศที่ร่ำรวยและเต็มไปด้วยมลพิษเหล่านี้ใช้งบประมาณในการบังคับใช้ (กฎหมาย) เกี่ยวกับชายแดนและการตรวจคนเข้าเมืองมากเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับ “งบด้านสภาพภูมิอากาศ” ที่เป็นการช่วยเหลือประเทศที่อ่อนแอในการปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด
แม้รายงานจากทำเนียบขาวจะเน้นความสำคัญของความช่วยเหลือจากต่างประเทศ (โปรดทราบว่า ผู้สนับสนุนอ้างถึงรายงานดังกล่าวว่า “น่าผิดหวัง”) แต่ก็ไม่ได้เอ่ยถึงเรื่องที่สหรัฐฯ ทุ่มงบประมาณมากถึง 11 เท่าของงบด้านสภาพภูมิอากาศไปกับการตรึงกำลังทหารที่ชายแดนและสร้างระบบกฎหมายที่สุดจะเข้มงวดในการตรวจคนเข้าเมือง และในขณะที่สหรัฐอเมริกามีงบประมาณด้านชายแดนที่มากที่สุดในโลก (เฉลี่ย 19 พันล้านดอลลาร์ต่อปีในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2013-2018 และสัดส่วนงบด้านชายแดนต่องบสภาพภูมิอากาศก็อยู่ที่ราว ๆ 11 ต่อ 1) แคนาดา (15:1) และออสเตรเลีย (13.5:1) ก็ยิ่งมีสัดส่วนที่สูงกว่า สหรัฐอเมริกาหรือประเทศอื่น ๆ ส่วนมากไม่ได้ “จัดการ” การอพยพย้ายถิ่นฐาน “อย่างมีมนุษยธรรม” แม้แต่นิดเดียว แถมยังทำตรงกันข้ามด้วยซ้ำไป
รวมทั้งหมดนี้ ผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ที่สุดในโลกกำลังคลุกรวมหายนะที่มนุษย์สร้างขึ้นสองอย่างเข้าด้วยกัน พวกเขากำลังสร้างโลกที่มีกำแพงชายแดนมากกว่า 63 แห่งโดยมีเจ้าหน้าที่รักษาชายแดนหลายหมื่นนาย และพวกเขากำลังใช้เงินหลายพันล้านไปกับเทคโนโลยีที่ปิดล้อมและทำให้ผู้คนตกเป็นอาชญากรภายใต้สถานการณ์ที่เข้าตาจนแทนที่จะช่วยเหลือพวกเขา นักวิจัยขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการย้ายถิ่นฐาน (International Organisation on Migration) ระบุว่า มีผู้คนมากกว่า 44,000 คน (ซึ่งเป็นการนับต่ำกว่าจำนวนจริงมาก) เสียชีวิตจากการข้ามพรมแดนระหว่างปี ค.ศ. 2014 ถึง 2020 ไม่ว่าจะเป็นกลางทะเลทรายหรือกลางทะเล และผู้คนอีกหลายหมื่นคนถูกจองจำในเครือข่ายของสถานกักกันที่มีอยู่ทั่วโลกมากกว่า 2,000 แห่ง ในขณะที่บริษัทในอุตสาหกรรมชายแดนคาดการณ์ไว้ว่าจะมีสัญญาเพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ตัวอย่างเช่น บริษัท G4S บอกกับโครงการ Climate Disclosure Project ในปี 2014 ว่า สหประชาชาติ “คาดการณ์ว่า เรา (โลก) จะมีผู้ลี้ภัยอันเป็นผลมาจากสิ่งแวดล้อมกว่า 50 ล้านคน” ซึ่งอาจเปิดโอกาสในการลงทุนต่าง ๆ
ตามที่ G4S ได้คาดคะเนเอาไว้ ตอนนี้กำลังเกิดการพลัดถิ่นฐานและการอพยพย้ายถิ่นอันเนื่องมาจากสภาพอากาศและคาดว่าจะมากยิ่งขึ้นไปอีก นอกจากจะมีพายุกับน้ำท่วมที่ถี่และรุนแรงขึ้นซึ่งมาไวไปไว ยังมีภัยพิบัติที่ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นมาช้า ๆ ด้วย เช่น การกลายสภาพเป็นทะเลทราย (desertification) และระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายที่ไม่อาจเยียวยาได้และทำให้สถานที่ต่าง ๆ อยู่ในสภาพที่ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ ศูนย์เฝ้าติดตามการพลัดถิ่นภายในประมาณการว่า ผู้คนเกือบ 25 ล้านคนพลัดถิ่นฐานทุกปีนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2008 ตัวเลขเหล่านี้ยิ่งจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ “ตามปกติ” นี่เป็นสถานการณ์ที่พื้นผิวโลก 19 เปอร์เซ็น ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของคนราว ๆ หนึ่งในสามของโลก จะกลายมาเป็น “พื้นที่ที่ร้อนจนแทบอยู่ไม่ได้” ภายในปี ค.ศ. 2070
ทศวรรษที่ผ่านมา รายงานอีกฉบับหนึ่งชื่อ In Search of Shelter หนึ่งในงานศึกษาเชิงประจักษ์ชิ้นแรก ๆ ที่เชื่อมโยงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ากับการพลัดถิ่นฐาน รายงานนี้เตือนว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน “ผู้คนที่กำลังเคลื่อนตัวไปข้างหน้าอาจจะโซซัดโซเซและแซงหน้าทุกสิ่งที่เคยมีมาในอดีต” ทศวรรษต่อมา ดูเหมือนว่า ผู้คนจะไม่สนใจคำเตือนนี้
การโต้ตอบสถานการณ์ดังกล่าวด้วยการเสริมกำลังชายแดนคือการสร้างหายนะดิสโทเปีย เช่นเดียวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เราต้องลดกำแพงขวางกั้น โดรนสอดแนม และกล้องไฮเทค การทำเช่นนี้วิธีหนึ่งก็คือ ย้ายงบที่ทุ่มไปกับชายแดนและการบังคับใช้กฎหมายตรวจคนเข้าเมืองไปที่สู่การทุ่มงบด้านสภาพภูมิอากาศแทน
ประเทศเจ็ดแห่งที่ระบุไว้ใน กำแพงภูมิอากาศรอบโลก (The Global Climate Wall) อยู่ในบรรดาประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก เป็นกลุ่มประเทศที่มุ่งมั่นบริจาคเงิน 1 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี ค.ศ. 2020 เพื่อเป็นเงินทุนด้านสภาพภูมิอากาศในการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ ซึ่งจัดขึ้นโคเปนเฮเกนเมื่อปี ค.ศ. 2009 ทว่า นับตั้งแต่นั้นมาเงินก็ไม่ถึงเป้าที่วางไว้ ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม หลายฝ่ายซึ่งรวมไปถึง Group of 77 (G77) ก็ได้โต้แย้งว่า เงิน 1 แสนล้านดอลลาร์ที่ตั้งเป้าเอาไว้นั้นไม่เพียงพอที่จะเผชิญหน้ากับวิกฤตขนาดใหญ่เช่นนี้ได้ ยิ่งไปกว่านั้น การจัดหาเงินทุนด้านสภาพภูมิอากาศส่วนใหญ่มักจะทุ่มเทไปกับการสร้างความทนทานด้านสถานที่ เช่น กำแพงทะเล พืชพันธุ์ใหม่ที่ยืดหยุ่น เพื่อให้ทนต่อความแห้งแล้ง และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรับมือกับน้ำท่วม
อย่างไรก็ตาม ต้องมีการจัดหาเงินทุนด้านสภาพภูมิอากาศเพิ่มมากขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้พลัดถิ่นฐานและผู้ที่ถูกบังคับให้ย้ายถิ่นฐานท่ามกลางภัยพิบัติทางธรรมชาติที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นนี้ กล่าวอีกอย่างก็คือ ต้องทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับการสร้างกำแพงชายแดนที่ว่านี้ การเงินสามารถถูกจัดสรรมาช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้าย (อพยพถิ่น) หรือนำมาช่วยสร้างโครงสร้างพื้นฐานในสถานที่ที่ผู้คนใช้เคลื่อนย้าย (อพยพย้ายถิ่น) ซึ่งส่วนใหญ่มักจะอยู่ในเมืองภายในประเทศนั้น ๆ แม้แต่รายงานของทำเนียบขาวที่อ้อมหน้าอ้อมหลังก็ยังกล่าวว่า “การย้ายถิ่นฐานเป็นรูปแบบหนึ่งที่สำคัญในการปรับตัวเข้ากับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และในบางกรณี เป็นการตอบสนองต่อภัยคุกคามด้านสภาพภูมิอากาศที่กำลังคุกคามการดำรงชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี”
ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ 7 รายของโลกใช้งบไปกับชายแดนโดยเพิ่มขึ้นถึง 29% ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2013 ถึง 2018
การเลิกทุ่มเงินไปกับการทหารชายแดนสามารถทำให้สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นเป็นไปได้ ในรายงานดังกล่าว เราเขียนไว้ว่า “การถอนการลงทุนและการลงทุนนี้สามารถบรรเทาความทุกข์ยากและความตายอันยากที่จะเชื่อซึ่งเกิดจากระบบชายแดนในปัจจุบัน และสามารถทำให้ผู้คนอาศัยอยู่ใกล้บ้านได้ง่ายดายยิ่งขึ้น” แน่นอนว่า นี่จะเป็นก้าว ๆ หนึ่งในการสร้างโลกที่มั่นคงปลอดภัยและยั่งยืนยิ่งขึ้นดังที่บลิงเคนกล่าวเอาไว้
กระนั้นเอง กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (The Department of Homeland Security-DHS) ก็มีแผนอื่น ในรายงานเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กระทรวงฯ เผยแพร่ออกมาเดือนนี้ DHS ได้วางกรอบยุทธศาสตร์ไว้ว่า “ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเลยเถิดไปไกลกว่าการละลายของน้ำแข็งในทะเล โดยส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อความมั่นคงปลอดภัยของพรมแดน ต่อความมั่นคงของระเบียบอันมีกฎกติกาเป็นรากฐาน และต่อวิถีชีวิตแบบอเมริกัน”
รายงานดังกล่าวระบุต่อว่า “ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีศักยภาพที่จะปรับโฉมภารกิจของ DHS ในอนาคตอันใกล้” รวมถึง “การดำเนินการเชิงรุกเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ชายแดนในอนาคต”
รัฐบาลสหรัฐฯ จึงย้อนแย้งในตัวเอง ทำเนียบขาวกล่าวโวหารอันสูงส่งเกี่ยวกับความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม ทว่า งบประมาณจากรัฐสภาก็เลี้ยงไข้สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ และก็ไม่ประหลาดใจนักที่ตำรวจชายแดนกับอุตสาหกรรมชายแดนจะตะโกนหาสรรหากันแต่เม็ดเงิน ขณะที่ขบวนการด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกเตรียมพร้อมจับตาดูการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติที่จะจัดขึ้นในกลาสโกว์ คำถามก็ยังคงมีอยู่ว่า พวกเขาจะยอมรับฟังข้อเรียกร้องของประชาชนหรือไม่? ข้อเรียกร้องในความยุติธรรม ข้อเรียกร้องให้ถอนทุนออกจากชายแดน และข้อเรียกร้องให้ระดมทุนไปจัดการกับปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Roar Magazine