รวมคำถามที่คนชอบถามเกี่ยวกับ ‘คอมมิวนิสต์’ ในเบื้องต้น
รวบรวมจากบทสนทนาสหายพลัง
คำถาม : ทุนนิยม สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ แตกต่างกันยังไง
ทุนนิยม (Capitalism) คือระบบเศรษฐกิจที่วางอยู่บนทรัพย์สินส่วนบุคคล (กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล/กรรมสิทธิ์เอกชน) ดังนั้นการกระจายความมั่งคั่งจึงไม่สมดุล มีคนรวยที่สุด และคนจนที่สุด ซึ่งทุนนิยมจะโฟกัสไปที่ความก้าวหน้าในชีวิตของแต่ละปัจเจกบุคคล (individual) การขยายตัวครั้งใหญ่ของทุนนิยมมีที่มาจากช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม (the industrial revolution) อันเป็นช่วงที่แต่ละโรงงานก็ต้องการครอบงำตลาดและยึดกุมวัตถุดิบ โดยทุนนิยมเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับตัวเมืองขนาดเล็กและใหญ่ การแลกเปลี่ยนสินค้าอย่างแพร่หลายทำให้ระบบเศรษฐกิจนี้พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ
หัวใจหลัก ๆ ของทุนนิยมมีสามอย่างคือ
- ทรัพย์สินทรัพย์สินเอกชน หรือ กรรมสิทธิ์เอกชน (private property) นั่นคือ ทรัพย์สินหรือเงินของแต่ละบุคคล ซึ่งเขาหรือเธอมีอิสระที่จะเอาไปใช้อย่างไรก็ได้
- แรงจูงใจด้านกำไร (profit motive) เมื่อมีความต้องการบางอย่าง ผู้ผลิตก็จะผลิตสิ่งนั้นเพราะพวกเขาต้องการกำไร
- ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด (market economy) มูลค่าเงินที่ใช้แลกเปลี่ยนทุกอย่างในตลาด เช่น ที่ดิน สินค้า เวลา และแรงงาน อีกอย่างคือผู้ซื้อและผู้ขายมีอิสระที่จะแลกเปลี่ยนสินค้าหรือการบริการตามแต่อุปสงค์ (demand) และอุปทาน (supply) ในระบบ
สังคมนิยม (Socialism) คือ การที่สังคม (ในรูปแบบของรัฐบาล) เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต และโครงสร้างพื้นฐานในสังคม เช่น ระบบขนส่ง ระบบระบายน้ำ และระบบบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น
มีหลักการ คือ “ความเสมอภาคถ้วนหน้า” และ “ความร่วมมือดีกว่าการแข่งขัน” ซึ่งเราจะได้รับเงินเพิ่มขึ้นจากจำนวนงานที่เราทำ คุณภาพงานเรา ฯลฯ ไม่ใช่จากการที่แรงงานมีทักษะได้รับเงินมากกว่าแรงงานไร้ทักษะ ผู้จัดการได้รับเงินมากกว่าแรงงาน และไม่สามารถใช้ความมั่งคั่งของตัวเองครอบครองปัจจัยการผลิตได้ เช่น สถานที่ เครื่องจักร หรือเครื่องมือที่ใช้ในการผลิตสินค้าบริการ เพราะปัจจัยการผลิตเป็นของส่วนรวม ไม่ได้มีไว้ซื้อขาย นอกจากนั้นรัฐก็มีหน้าที่ในการจัดหากิจการช่วยเหลือประชาชน เช่น สวัสดิการต่างๆ เพื่อประโยชน์อันดีของทุกคน
คอมมิวนิสต์ (Communism) คือ รูปแบบสังคมนิยมขั้นสุดที่ทุกคนเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตร่วมกัน ขณะที่รัฐถูกกำจัดไปจนหมดสิ้น และสร้างสังคมไร้ชนชั้นขึ้นมา ในทฤษฎีคอมมิวนิสต์ของคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) ประวัติศาสตร์ถูกหล่อหลอมให้เป็นอย่างที่มันเป็น ก็เนื่องจากอิทธิพลของระบบเศรษฐกิจ และการต่อสู้ทางชนชั้น (class struggles) จะยังคงมีอยู่เสมอหากสังคมยังมี ‘คนที่มี’ กับ ‘คนที่ไม่มี’ อยู่ กล่าวให้ชัดเจนก็คือ ในยุคอุตสาหกรรมนั้น คนที่มี ก็คือ ชนชั้นนายทุน (bourgeoisie) ส่วนคนที่ไม่มี ก็คือ ชนชั้นกรรมาชีพ (proletariat) หรือแรงงาน (laborer) นั่นเอง กล่าวอีกอย่างคือ คอมมิวนิสม์เป็น “สังคมที่ข้ามพ้นความขาดแคลนไปด้วยกัน” แม้ว่าจะมีปัญหาทางปฎิบัติ(practical) ที่โต้เถียงกันว่าสังคมคอมมิวนิสต์ทำได้จริงหรือไม่ได้จริง? แต่เป้าหมายของคอมมิวนิสต์คือ การก้าวข้ามความขาดแคลนจากปัจจัยพื้นฐาน (บ้านที่อยู่อาศัย อาหาร หลักประกันสุขภาพ ฯลฯ) ซึ่งสำหรับพวกคอมมิวนิสต์ สังคมคอมมิวนิสต์จึงเป็นเหมือนเป้าหมายที่จะต้องไปให้ถึง ซึ่งอาจจะยาวไกลเกินกว่าอายุขัยของเขาก็ได้ แต่สังคมนิยมนั้นสามารถเป็นวิถีปฎิบัติได้ตามที่เห็นในปัจจุบัน
ส่วนเสริม ความหมายของ คอมมิวนิสต์ ยังสามารถพิจารณาทางปรัชญาของคำต่อได้ กล่าวคือคำว่า communism มีที่มาจาก common หรือส่วนรวม ในจีนยังใช้คำว่า 共产主义 ซึ่งแปลตรงตัวว่า ลัทธิการแชร์ผลผลิต อาจสรุปได้อีกแบบว่าความหมายของคอมมิวนิสต์ คือ “Share + Production + Main + Right”
คำถาม : ลัทธิเหมา (Maoism) คืออะไร
ลัทธิเหมา (Maoism) คือ รูปแบบของคอมมิวนิสต์ที่ถูกพัฒนาโดยเหมาเจ๋อตง (Mao Tse Tung) เป็นหลักทฤษฎีที่เอาไว้ยึดอำนาจของรัฐโดยผ่านการใช้ยุทธศาสตร์สงครามประชาชน หรือสงครามประชาชนยืดเยื้อ (protracted people’s war) เช่น การลุกฮือของมวชนที่ติดอาวุธ การเคลื่อนไหวของมวลชนขนาดใหญ่ และพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ เช่นสหภาพแรงงาน นอกจากนั้นลัทธิเหมายังมีการใช้โฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) เพื่อต่อกรกับรัฐ ซึ่งยุทธศาสตร์นี้ของเหมาเจ๋อตงประสบความสำเร็จในหลายประเทศนอกจากจีน เช่น อัลแบเนีย และในภูมิภาคอินโดจีนบางส่วน
คำถาม : แล้วสังคมนิยมกับคอมมิวนิสต์ต่างกันยังไง?
ความแตกต่างระหว่างสังคมนิยม แบบสาธารณรัฐสหภาพโซเวียต (USSR) กับคอมมิวนิสต์ตามความหมายในทฤษฎีของมันคือ
“In socialism, from each according to his ability, to each according to his work”
“ในสังคมนิยม จากตามความสามารถของแต่ล่ะคน ให้แต่ละคนตามงานของเขา”
“In communism, from each according to his ability, to each according to his needs”
“ในสังคมคอมมิวนิสต์ จากตามความสามารถของแต่ล่ะคน ให้แต่ละคนตามความต้องการ”
หรือโควตของภาพยนตร์/ทีวีซีรีส์ The Alienist “นายรู้ข้อแตกต่างของทุนนิยมกับสังคมนิยมไหม? ทุนนิยมคือคนคนเดียวเอาปรียบคนหมู่มาก
ส่วนสังคมนิยมก็กลับกัน”
คำถาม : นักสังคมนิยม นักมาร์กซิส นักคอมมิวนิสต์คืออะไร แตกต่างกันอย่างไร ?
ตอบตามความหมายปัจจุบัน
– นักสังคมนิยม (Socialist) คือคนที่คิดถึงความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ความหมายแตกต่างหลากหลายที่สุดในสามคำนี้ แล้วแต่จะนิยาม บางคนพูดในลักษณะซ้ายอ่อน ๆ ที่เน้นรัฐแทรกแซงช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ ไปจนถึงผู้นิยมความคิดว่าด้วยเศรษฐกิจแบบวางแผนโดยรัฐ หรือประชาธิปไตยในที่ทำงาน บางอย่างไปด้วยกันได้ บางอย่างขัดแย้งกันในกลุ่มที่ใช้ชื่อเดียวกันนี้ แต่จุดร่วมตรงกันคือต่อต้านทุนนิยมแบบเต็มรูป ต่อต้านการแข่งขันอย่างบ้าคลั่ง
– มาร์กซิสต์ (Marxist) คือคนที่นิยมความคิดของคาร์ล มาร์กซ์ และความคิดที่ต่อยอดจากเขา โดยทั่วไปงานเขียนของเขาครอบคลุมด้านเศรษฐกิจการเมืองและปรัชญา อีกทั้งเขาเป็นหนึ่งในผู้นำขบวนการแรงงานผู้ยิ่งใหญ่ในสมัยศตวรรษที่ 19 ความคิดทางการเมืองของเขา อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘สังคมนิยมแบบวิทยาศาสตร์’ ก็ได้ เพราะเขาเป็นหนึ่งในคนที่จัดระบบความคิดทางทฤษฎีที่รวบยอดจิตวิญญาณแห่งศตวรรษที่ 19 นั่นคือปรัชญาเยอรมัน (จิตนิยมเยอรมัน) เศรษฐศาสตร์การเมืองอังกฤษ (เศรษฐศาสตร์คลาสสิก) และการเมืองฝรั่งเศส (สังคมนิยมเพ้อฝัน) เข้ามาเป็นระบบไว้ด้วยกัน
– คอมมิวนิสต์ (Communist) เป็นชื่อที่รุนแรงและมักใช้กันในคนที่นิยมชมชอบความเท่าเทียมอย่างถึงที่สุด เนื่องจากรากฐานของคำมันมาจากขบวนการแรงงานหัวรุนแรง มาร์กซ์เองเป็นคนที่ชอบคำนี้เพราะเป็นคำที่ไม่ประณีประนอมกับชนชั้นนายทุนแม้แต่น้อย ตั้งแต่สมัยที่มันเกิดขึ้นจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าใครต่อใครที่ใช้คำนี้ก็ย่อมสื่อถึงการต่อสู้ที่ไม่ถอยให้สักก้าวเดียว กระนั้น พอมีความคิดของมาร์กซ์และมาร์กซิสต์ทั้งหลายเข้ามาเป็นความคิดเด่นในขบวนการผู้ใช้แรงงาน ก็พลอยทำให้คำว่ามาร์กซิสต์กับคอมมิวนิสต์กลืนกันเข้ามา เพราะความคิด ‘สังคมนิยมแบบวิทยาศาสตร์’ เป็นความคิดหลักและมีอิทธิพลต่อการปฏิวัติปลดแอกประชาชาติทั้งหลายจากจักรวรรดินิยม อันเป็นขั้นสูงของทุนนิยมโลก ความคิดคอมมิวนิสต์แบบมาร์กซิสต์โดยเฉพาะสายธารความคิดที่เลนิน (Lenin) และเหมาสานต่อ กลายมาเป็นภาคปฏิบัติที่เกิดขึ้นในโลกจริง แต่กระนั้นก็โดนประโคมโจมตีโดยฝ่ายโลกทุนนิยมเสมอ ทั้งทางวาจาและอาวุธ กระนั้นก็ยังมีคนที่เรียกตัวเองว่าคอมมิวนิสต์อีกมากโดยที่ไม่นิยมชมชอบการปฏิวัติหลายๆ ครั้งที่เกิดขึ้น หรือกระทั่งประณามเพราะความไม่ถูกต้องทางทฤษฎีหรือภาคปฏิบัติ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว สังคมคอมมิวนิสม์ (communism) คือสังคมที่อยู่บนพื้นฐานของ ‘เอาจากแต่ละคนตามความสามารถ ให้แต่ละคนตามความต้องการ’ ซึ่งการที่จะเกิดขึ้นตามนั้นได้จริงต้องอาศัยความมั่งคั่งของสังคมพอสมควร ส่วนใหญ่คอมมิวนิสม์จึงเป็นเป้าหมายที่คอมมิวนิสต์ต้องการจะไปให้ถึง ซึ่งมีหนทางที่แตกต่างกัน แล้วแต่ความเชื่อทางทฤษฎีว่าจะเป็นสายไหน ไม่ว่าจะเป็นมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ มาร์กซิสต์-เลนินนิสต์-เหมาอิสต์ ทร็อตสกี้ยีสต์ หรือกระทั่งอนาคิสต์บางสายก็พูดถึงสังคมแบบคอมมิวนิสม์ ฯลฯ อย่างไรก็ดี พึงระลึกไว้ว่า แม้เราจะเข้าถึงสังคมคอมมิวนิสม์เข้าให้แล้ว สังคมก็ยังมีความขัดแย้งอื่นๆ อยู่อีก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรัก ปัญหาด้านความสัมพันธ์ หรือปัญหาต่างๆ เว้นเสียแต่ปัญหาความอยู่รอดพื้นฐานที่กดทับเราโดยเศรษฐกิจก็เท่านั้น สังคมคอมมิวนิสม์จึงเป็นสังคมที่ให้ชีวิตได้เกิดมีขึ้นจริงๆ มากกว่าที่จะมาดิ้นรนหนีความตาย หรือกดทับผู้อื่นผ่านความแตกต่างทางอำนาจเงินเท่านั้น
คำถาม : เงินไร้ค่าจริงๆเหรอในสังคมคอมมิวนิสต์?
ถ้าตามทฤษฎีคอมมิวนิสต์ก็เป็นเช่นนั้น เพราะไม่มีทรัพย์สินทรัพย์สินเอกชน หรือ กรรมสิทธิ์เอกชน (private property) ทุกอย่างเป็นของส่วนรวม เช่น อยากขับเรือเล่น ก็ไปยืมมา ทุกอย่างสามารถยืม และแชร์กันได้ เพราะงั้นระบบแลกเปลี่ยนเงินตราเลยไม่จำเป็น เป็นการลดคุณค่าของเงิน เพื่อให้คนในสังคมไปให้มูลค่ากับสิ่งอื่น เช่น ความสัมพันธ์กับคนในสังคม ศิลปะ วัฒนธรรม
คำถาม : การไม่มีทรัพย์สินทรัพย์สินเอกชน หรือ กรรมสิทธิ์เอกชน (private property) ในสังคมคอมมิวนิสต์ หมายความว่าเราจะไม่มีอะไรเป็นของตัวเองเลยใช่ไหม ไม่มีคอมพิวเตอร์ของตัวเอง กางเกงในก็ต้องแชร์กับคนอื่นเหรอ?
ต้องแยกก่อนว่าตอนนี้เรามี ทรัพย์สินส่วนบุคคล (personal property) กับ ทรัพย์สินเอกชน (private property)
ซึ่ง ทรัพย์สินส่วนบุคคล (personal property) นั้นมีอยู่ในสังคมคอมมิวนิสต์ เพราะไม่มีใครมาบอกหรอกนะว่า นี่ ๆ เราขอใช้คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ และกางเกงในร่วมกับคุณได้ไหม? มันประหลาด
ต่อมาคือ ทรัพย์สินเอกชน (private property) ซึ่งมันเลยไปไกลกว่าเรื่องการใช้ทรัพย์สินส่วนบุคคล ตัวอย่างเช่น เราสามารถมีบ้าน มีเรือ หรือมีรถสักสองคันไว้ใช้ในครอบครัวของเราได้ แต่เราไม่สามารถเป็นเจ้าของแมนชั่น 100 ห้อง หรือรถบรรทุกเป็นสิบได้
เพราะว่า ทรัพย์สินจำนวนมหาศาลพวกนี้มันเลยขอบเขตการใช้งานที่บุคคลจะสามารถใช้ได้ หรือ personal use มันไม่มีใครสามารถใช้ห้องเป็น 100 ห้องได้หมดหรือเปล่า และถ้ามันสามารถใช้งานได้มากมายขนาดนั้น มันก็เป็นสิ่งที่เราควรจะใช้ร่วมกัน เช่น ขนส่งสาธารณะ หรือหน่วยงานที่คนเป็นพัน ๆ สามารถใช้สอยได้ จึงไม่สามารถเป็น personal use
คำถาม : แต่คอมมิวนิสต์ ยังไงก็ต้องมีรัฐบาลเพื่อจัดสรรทรัพยากรแจกจ่ายคนอื่น ๆ หรือเปล่า?
ก็ขึ้นอยู่กับว่าเรานิยามความหมายของ ‘รัฐ’ ว่าอย่างไร เราสามารถจัดการสังคมในรูปแบบรัฐแบบอื่นได้หรือไม่ หรือจริงๆ แล้วมันมีรูปแบบการจัดการที่ไม่ต้องเป็นรัฐ?
ขยายความคือ เพราะว่ารัฐไม่ใช่รูปแบบเดียวของการบริหาร และรูปแบบรัฐเองก็ไม่ได้มีรูปแบบเดียวด้วย มันจึงออกแบบได้สองขา คืออย่างแรก ปฏิเสธรัฐแล้วหารูปแบบอื่นของการจัดการ หรือสอง จัดการรัฐในรูปแบบอื่นๆ
ตัวอย่างเช่น นครรัฐเอเธนส์ก็ไม่ใช่รัฐ เป็นระบบจัดการอีกแบบ คือไม่มี concept พื้นที่ แต่ยึดติดกับพลเมือง หรืออย่าง รัฐโบราณ/จารีตแบบกษัตริย์ รัฐแบบนี้ก็ไม่ได้สนใจพื้นที่ แต่ปกครองแบบหลวมๆ ไม่สนใจประชากรเท่าใดด้วย กล่าวคือ แค่มีไพร่ทาสทำงาน ทำเงินให้รัฐ ก็เพียงพอแล้ว โดยรัฐสมัยใหม่เป็นแค่รัฐในรูปแบบหนึ่งเท่านั้น ที่มีตำรวจ มีทหาร ซึ่งทหารอาชีพนั้นก็ใช่ว่าจะมีในรัฐโบราณ เป็นต้น เพราะงั้นเราอาจจะต้องค้นหาวิธีการสร้างรูปแบบการบริหารจัดการกันเองแบบใหม่ อย่างโรจาวา หรือประเทศสังคมนิยมต่าง ๆ ในอดีต ก็พยายามหาทางจัดการรัฐในรูปแบบอื่นๆ แต่มันอาจจะมีการแทรกแซงอำนาจของอเมริกา หรือเรื่องการเมืองระหว่างประเทศที่มีรายละเอียดยิบย่อยมากมาย
คำถาม : แล้วคอมมิวนิสต์แก้ปัญหาความหิวโหยกับคนไร้บ้านได้ไหม?
คอมมิวนิสต์เชื่อว่าโลกที่ข้ามพ้นความขาดแคลนทางวัตถุพื้นฐานนั้นเป็นไปได้ แต่เราก็จะเจอปัญหาทางปรัชญา ปัญหาการดำรงอยู่ของชีวิต ความสัมพันธ์ ฯลฯ ต่อไปอยู่ดี แต่ปัญหาความหิวโหย คนไร้บ้าน ปัจจัยพื้นฐาน ที่ไม่ควรมีอยู่แล้วนั้น สามารถแก้ได้ในโลกที่เรามีพลังการผลิตที่มากพอ
จริง ๆ แล้ว สังคมนิยมทั่วไปก็สามารถแก้ปัญหาคนไร้บ้านได้สบาย ๆ อยู่แล้ว แต่มันจะเกิดปัญหาด้านอื่นแทนตามที่กล่าวข้างต้น เช่น ในโซเวียตก็ไม่มีโฮมเลส แต่มีปัญหาด้านการผลิตแทน ซึ่งจริงๆ ปัญหาคนไร้บ้านนั้นเป็นปัญหาที่สามารถแก้ได้ทันทีเลย ไม่ได้ยากเย็นอะไร แต่ในระบบทุนนิยมมันไม่ยอมให้แก้เอง
เสริม คอนโดแบบครุชซอฟ (Khrushchev) ในโซเวียต ก็ออกแบบมาเพื่อสร้างให้บรรจุคนได้เยอะๆ ต้นทุนต่ำ ให้คนได้อยู่ มันก็เลยดูเทาๆ หม่น ๆ เหมือนกันหมด เทียบกับตึกสวยหรูที่เอาไว้ล่อตาเพื่อขายไม่ได้
คำถาม : แต่ในโลกนี้ยังไม่มีคอมมิวนิสต์จริงๆใช่ไหม มีแต่สังคมนิยม?
ไม่มีหรอก สังคมคอมมิวนิสต์นั้น เราเองมองว่ามันเป็นเส้นขอบฟ้าที่ต้องไปให้ถึง เป็นคำถามที่ต้องการคำตอบว่าจะทำอย่างไร เหมือนประชาธิปไตย มันก็ไม่มีจริงเช่นกัน แต่เราต้องไปให้ใกล้ที่สุดเท่าที่เราจะมุ่งไปได้ ซึ่งอาจจะอยู่ที่คนตัดเส้นอีกที เช่น หลายคนยังมองว่าโซเวียต(USSR) ก็เป็นคอมมิวนิสต์แบบนึง เพราะนิยามจากการทำลายระบบตลาดเป็นใหญ่จนหมดสิ้น เหลือแค่วางแผนมุ่งสู่คอมมิวนิสต์อย่างสมบูรณ์ ซึ่งปัญหาการนิยามตรงนี้เราต้องเข้าใจก่อนว่าภาษามันดิ้นได้ ไม่มีใครเป็นเจ้าของภาษา คำ ๆ นึงนิยามต่างกันหรือมีหลากหลายนิยาม ซึ่งสิ่งที่เราทำได้อาจจะพอจัดกลุ่มคร่าวๆ แต่สุดท้ายมันย่อมมีความกำกวม หรือความเหลื่อมที่ยังไงก็ไม่เท่ากันอยู่ดี ซึ่งมันก็เป็นปัญหาติดตัวของมนุษย์ คือไม่มีภาษาก็ไม่ได้ แต่พอมีภาษา ก็ไม่ตรงความหมายที่จะสื่อจริงๆอีก แล้วหลายครั้งพอจะสื่อออกมาก็ไม่ตรงกัน เรียกว่า “curse of speaking being”
ทว่า มันไม่ใช่การวิ่งไล่ตามสังคมยูโทเปีย เพราะว่าคอมมิวนิสต์นั้นอาจข้ามพ้นความขาดแคลนได้ แต่อาจไม่สามารถข้ามพ้นปัญหาอื่นๆบางประการ พูดง่ายๆก็คือ มันไม่มีสังคมไหนที่ไร้สิ้นปัญหา แต่มันมีสังคมที่ไม่มีปัญหาบางอย่างได้ อย่างเช่น ในปัจจุบันเราไม่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนไฟฟ้าในเมืองใหญ่ แต่ก็มีปัญหาความเหลื่อมล้ำมากมาย
คำถาม : จะรู้ได้ไงว่าอยู่ในสังคมคอมมิวนิสต์แล้ว?
สำหรับเรา มาตรวัดการไปถึงคอมมิวนิสต์ก็คือ ผู้คนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องทำงานเพื่อไม่ให้ตายอีกต่อไป หมายความว่ากิจกรรมต่าง ๆ ที่เคยเป็นงานก็ควรต้องเป็นงานอดิเรกแทน เช่น ทำเพื่อความสำราญ หรือให้มีระบบอัตโนมัติ AI มาจัดการแทนที่แรงงานให้มากที่สุด ซึ่งอาจจะเป็นไปไม่ได้ 100% แต่ก็เป็นไปได้ที่มันจะเหลือน้อยมาก ๆ เช่น ทำงาน 1 วันต่อเดือนแล้วอยู่ได้พอประมาณ เป็นต้น
คำถาม : สังคมเท่าเทียมแบบคอมมิวนิสต์จะทำให้คนขาดแรงจูงใจในการผลิต แต่สังคมทุนนิยมจะทำให้เราขยันแข่งขันกันผลิตไม่ใช่เหรอ?
มีงานวิจัยปี 2010 ศึกษาความพึงพอใจในอาชีพของคนอเมริกา พบว่าพึงพอใจในระดับต่ำสุด ๆ และยังชี้ว่าแม้เศรษฐกิจจะผันผวนขึ้นลง แต่ความพึงพอใจในอาชีพของคนอเมริกาก็ลดลงเรื่อย ๆ อยู่ดี แล้วคำถามคือ เราผลิตหรือทำงานกันไปทำไม? เพื่อสะสมความมั่งคั่ง? เพื่อให้อยู่รอดไม่อดตายในระบบ? ปัจจุบันทุนนิยมสร้าง ‘แรงจูงใจ’ ในการผลิตหรือสร้าง ‘ความหวาดกลัวต่อความตายหากไม่ผลิต’ ขึ้นมา เลยทำให้ทุกคนต้องผลิตเพื่อตลาด หรือเพื่อความอยู่รอด ไม่นับว่าคนบางกลุ่มหรือบริษัทสามารถกำจัดความหิวโหยบนโลกได้ กลับกันพวกเขานำอาหารที่ขายไม่ออกหรือไม่มีคนซื้อไปทิ้งแทน เพื่อรักษาสมดุลในกลไกตลาด ซึ่งแรงจูงใจหรือการผลิตเพื่อให้อยู่รอดในสังคมนั้นทำให้เกิดความป่วยไข้หลายอย่าง ความแปลกแยกจากงาน การเพิ่มขึ้นของโรคซึมเศร้าในทุนนิยมช่วงปลาย แต่ทุนนิยมก็กระซิบบอกพวกเราทุกวันว่า การทำงานภายใต้ระบบทุนนิยมนี้ ได้ผลตอบแทนเป็นเงินไปซื้อสิ่งที่เราต้องการ นั้นทำให้เรามีความสุขไงล่ะ…
อีกอย่าง ถ้ามนุษย์ต้องเป็นหนูปั่นจักรเพื่อผลิต ‘ความคิดสร้างสรรค์’ แล้วล่ะก็ ยอมไม่มีความคิดสร้างสรรค์เสียเถอะ เพราะประเด็นคือ คนเราจะมีความคิดสร้างสรรค์ผลิตอะไรก็แล้วแต่เขา ไม่ควรมาบีบบังคับคนอื่นหรือเปล่า สุดท้ายแล้วจุดหมายปลายทางของการแข่งขันในระบบทุนนิยม คือประโยชน์ของมนุษยชาติ หรือประโยชน์ของคนกลุ่มน้อยกันแน่?
ตัวอย่างเช่น สมัยก่อนบริษัทยาผลิตยาให้คน ก็ไม่ได้กำไรอะไร เขาก็ผลิตยากันอยู่ดี หรือทำไมวิชาการแพทย์ถึงอยู่มาได้ยาวนานตั้งแต่ก่อนหน้ายุคทุนนิยมแล้วล่ะ? ถ้ามีคนใกล้ตายอยู่ตรงหน้า แล้วคิดว่าจะไม่มีคนหาทางคิดยาเลยหรอ? หรือกระทั่งกระดาษสีขาวกระดานผ้าใบ คิดว่าจะไม่มีคนคันไม้คันมืออยากสาดสีสร้างสรรค์เลยหรือ? งานศิลปะที่สวยงามก่อนยุคทุนนิยมก็มีเยอะแยะ ศิลปะสร้างจากความศรัทธาก็ได้ วิทยาศาสตร์มาจากความอยากรู้ก็ได้ เอาเข้าจริงมันมีการผลิตหลายอย่างที่มากกว่าการได้กำไร หรือการดิ้นรนเพื่อให้ข้ามพ้นความอดตายนะ
เสริม เพิ่มเติมจากหนังสือความ (ไม่) เท่าเทียม ผู้เขียน Richard Wilkinson เล่มนี้ไม่ใช่มาร์กซิสต์ แต่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าประเทศที่มีเท่าเทียมมากกว่า ก็มีความคิดสร้างสรรค์มากกว่า ซึ่งเขาวัดจากการจดสิทธิบัตร
คำถาม : ทำไมถึงบอกว่าทุนนิยมสรรหาแต่การเติบโต กับความโลภ?
เพราะธรรมชาติของทุนนิยมนั้นโตไปไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีการหยุดโต เช่น GDP ที่จะต้องทำให้โตขึ้นๆทุกปี คำถามคือ โตทำไม? ไม่มีเป้าหมายหรอก แค่โตขึ้น ๆ ไว้ก็พอ ซึ่งมันไม่ใช่การวัดโดยอ้อม แต่มันคือใจกลางหลักของทุนเลย อีกอย่างคือ สังคมเรานั้นไม่จำเป็นต้องการการพัฒนาอย่างบ้าคลั่งเลย ระบบที่คนไม่ขยันทำงานก็แพ้ อดตาย หล่อเลี้ยงการมีอยู่ของชนชั้นล่าง เพื่อให้คนที่มีอยู่แล้วได้กอบโกยมากขึ้นไปอีก ก็อย่าถามหาถึงความเท่าเทียมเลยซะจะดีกว่า
คำถาม : อืม ถ้างั้นทุนนิยมก็ลดทอนความเป็นมนุษย์ด้วยนะสิ เพราะคิดแค่กำไร?
ใช่ หัวใจหลักของทุนนิยมไม่ใช่มนุษย์หรืออะไรทั้งสิ้น ไม่ใช่นายทุนด้วย แต่มันคือ M-C-M’ โดย M แรกคือเงิน(ทุน) C คือสินค้า (commodity) M’ คือเงิน(ทุน)ภายหลัง
M’-M = delta M delta M > 0 เสมอ กล่าวคือถ้าเงิน (ทุน) ไม่โต ก็ไม่ใช่ทุนนิยม ถ้าเงิน (ทุน) ไม่โต ก็ต้องทำให้ได้กำไร ถึงจะประสบความสำเร็จเท่านั้น
การแลกเปลี่ยนแบบตลาดก่อนหน้าทุนนิยมมันจะไปในอีกทางคือ ‘C-M-C’ >>> ‘สินค้า เงิน สินค้า’ แลกเพื่อเปลี่ยน แต่ทุนใช้สินค้าเป็นตัวกลางเพื่อการแลกไว้สะสมทุน ประเด็นคือ delta M มาจากไหน มันก็มาจากการแลกเปลี่ยนสินค้าชนิดพิเศษที่มีชื่อว่าแรงงาน แรงงานนี่แหละผลิตสร้างมูลค่าส่วนเกินให้ทุน
หรืออย่างที่เขาชอบพูดกันว่า “จ้างสามร้อย ให้กูทำหนึ่งพัน” เป็นสิ่งที่คุณไม่รู้ว่าคุณรู้อยู่แล้วถึงทฤษฎีมูลค่าส่วนเกินของมาร์กซ์ที่ว่า แรงงานสร้างมูลค่ามากกว่าค่าจ้างที่ได้ไป เพื่อให้มูลค่ามันเติบโต การหยุดยั้งกระบวนการนี้ก็มีแค่ต้องเอาตรรกะของตลาดออกไปทั้งหมดสิ้นเท่านั้น เพราะมันโยงกันหมดเลย
คำถาม : ในคอมมิวนิสต์ เรื่องลิขสิทธิ์จะมีไหม หรือไม่มีเลย เพราะไม่มีทรัพย์สินทรัพย์สินเอกชน หรือ กรรมสิทธิ์เอกชน (private property)?
ปัจจุบัน ลิขสิทธิ์นั้นจำเป็นในฐานะวิถีของมาเฟีย คือเป็นไปเพื่อปกป้องคนทำงานศิลป์ เพราะนายทุนได้ผลประโยชน์เยอะมาก ในขณะที่ศิลปินได้ผลประโยชน์จากลิขสิทธิ์น้อย แต่มันก็จำเป็น ไม่เช่นนั้นศิลปินจะอดตาย เปรียบเสมือนระบบมาเฟีย ที่มีมาเฟียเรียกค่าคุ้มครองมหาศาล เพื่อให้ปกป้องชุมชน แต่สังคมคอมมิวนิสต์ย่อมทำให้ทุกคนมีชีวิตขั้นพื้นฐาน อยู่ได้พอประมาณจนไม่ต้องดิ้นรนทำงานหนักเพื่อความอยู่รอด ฉะนั้นลิขสิทธิ์จึงไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะศิลปินไม่อดตายแล้ว
พูดอย่างเป็นรูปธรรมก็คือ ถ้าทุกคนมีรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (UBI) เอาไว้ใช้เป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนในการหาปัจจัยดำรงชีพ เราก็ไม่จำเป็นต้องดิ้นรนหาเงิน และการสะสมทุนย่อมเป็นเรื่องที่ไม่พึงประสงค์ และเราก็ไม่คิดว่าผิดเลยถ้าห้ามทำ ประเด็นคือต้องถามตัวเองก่อนว่า ลิขสิทธิ์มีไว้เพื่ออยู่รอดหรือมีไว้เพื่อขายฝันให้ศิลปินว่าเขาจะได้กลายเป็นคนรวยในอนาคต ถ้าแบบแรกเพื่อความอยู่รอดก็หมดความจำเป็นเพราะ UBI ถ้าแบบหลังเพื่อขายฝันให้ศิลปินแล้วล่ะก็เป็นอะไรที่แย่มาก เพราะคุณกำลังจำกัดการเข้าถึงงานของคุณเพื่อให้ตัวคุณรวย
การที่ต้องมีลิขสิทธิ์ก็เพราะการเก็บเงินจะทำให้ศิลปินไม่อดตาย แต่ถ้าศิลปินไม่อดตายก็ไม่มีอะไรมาให้ความชอบธรรมกับลิขสิทธิ์อีกต่อไป เพราะลิขสิทธิ์เป็นระบบที่ทำให้งานศิลป์มันอยู่ในตรรกะแบบตลาดได้
กล่าวคือ เมื่อตลาดเป็นใหญ่ การที่เราจะอยู่รอดในตลาดได้ เราก็ต้องทำให้ทุกอย่างไปได้กับตลาด ระบบตลาดจำเป็นต้องพึ่งพาความขาดแคลนและความล้นเกิน เช่น การขาดแคลนในเรื่องทรัพยากร เพื่อให้มีมูลค่าแลกเปลี่ยน หรือการล้นเกินในทรัพยากรบางอย่าง เพื่อไม่ให้มูลค่ามันมากเกินไป อย่างแรกคือสินค้าทั่วไป อย่างที่สองคือมนุษย์ และสินค้าที่เอาไว้เลี้ยงมนุษย์
ซึ่งศิลปะจำเป็นต้องเข้าไปเป็นสินค้าแบบแรก แต่จะทำไงให้มันขาดแคลนล่ะ วิธีทำก็คือสร้างความขาดแคลนเทียมขึ้นมา ผ่านการนำระบบลิขสิทธิ์ที่ปิดกั้นการใช้ การเข้าถึงไปใส่ในระบบ เพราะงั้นมันจึงเป็นความขัดแย้งมาก ๆ ระบบตลาดมันไปต่อด้วยความฝืดเคืองอย่างถึงที่สุด ขยับไปด้วยการสะดุดอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่การผลิตงานศิลป์นั้นต้องเสพงานศิลป์เยอะ ๆ แล้วการขายงานศิลป์นั้นต้องทำให้งานศิลป์มันมีน้อยที่สุด มันเลยฝืดเคืองแบบสุด ๆ
ความแตกต่างระหว่างความขาดแคลนแท้กับความขาดแคลนเทียมก็คือ ความขาดแคลนแท้เป็นสิ่งที่ใช้แล้วหมดไป ส่วนความขาดแคลนเทียมเป็นสิ่งที่ใช้แล้วไม่หมดไป ทำซ้ำได้ ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะหลาย ๆ อย่างเช่น ซอฟต์แวร์ งานดิจิทัลอาร์ต แต่ต้องทำให้มันขาดแคลนเทียม เพื่อให้มันขายได้ เพราะถ้ามันไม่ขาดแคลนมันก็ขายในระบบตลาดไม่ได้
ปัญหาจริง ๆ จึงไม่ใช่อะไรนอกเสียจากภาวะตลาดเป็นใหญ่ (demand and supply) ภาวะเช่นนี้คือทุนนิยมนั่นแหละ ปัจจุบันไม่ใช่ people rule แต่เป็น market rules ทุกอย่างต้องเดินตามตรรกะของตลาดทั้งหมด วิธีแก้ปัญหาจึงไม่มีหนทางอื่นนอกเสียจากล้มเลิกระบบตลาด ซึ่ง UBI ก็เป็นหนทางในการบั่นทอนตลาด เพราะตลาดต้องสร้างความอดตายขึ้นมา กล่าวคือ มันต้องบังคับให้ทุกคนอดตายหากไม่ทำงานเพื่อผลิตสร้างสินค้า นี่คือเงื่อนไขหลักของทุนนิยม ทุนนิยมคือการทำให้ทุกคนอดตายหากไม่ทำงาน ทำงานในระบบตลาดนะ ทำงานผ่านการผลิตสินค้า (เรื่องนี้อภิปรายอย่างละเอียดในหนังสือว่าด้วยทุนของมาร์กซ์ สินค้ามีความพิเศษก็คือ มันผลิตมาเพื่อขาย ซึ่งมันต่างกันนะ การผลิตสินค้ากับการผลิตก่อนยุคทุนนิยม เพราะการผลิตหรือการหาของป่า ฯลฯ ในยุคก่อนตลาดครองโลก หลายคนไม่ต้องผลิตตาม demand ของคนอื่น แค่เข้าป่าเก็บของมากิน แต่เงื่อนไขแรกของทุนนิยมคือ ปล่อยให้คนทำอย่างนี้ไม่ได้ จึงต้องมีปรากฎการณ์ล้อมรั้ว คือไม่ให้คนเข้าไปดำรงชีพอยู่ในป่า ต้องต้อนคนเข้ามาอยู่ในเมือง เพื่อทำงาน เช่าบ้าน มีหนี้ ฯลฯ เป็นเงื่อนไขแรก ซึ่งปรากฏการณ์ขับไล่ที่บางกลอยก็เป็นหนึ่งในนั้น รัฐและทุนไม่อาจปล่อยให้คนอยู่อย่างอิสระจากระบบตลาดได้อีกต่อไป นี่คือหัวใจของทุนนิยม แต่ถ้าเรามี UBI มนตราของการผลิตสินค้าก็จะเริ่มสั่นคลอน เพราะคนจะลังเลที่จะเข้าผลิตในสภาวะที่ไม่เป็นธรรม
เสริม เพิ่มเติมจากเรื่องสิทธิในการใช้งาน (the right of usage) ที่ Dardot & Laval กล่าวนั้น เราสามารถอ่านเจอสิทธิ์ในการใช้ได้ในรัฐธรรมนูญจีน โดยในประเทศจีน จนกระทั่งปัจจุบัน ที่ดินในเมืองยังเป็นของรัฐอยู่ แต่ที่ดินในชนบทส่วนใหญ่เป็นของชุมชน ซึ่งไม่มีเอกชนเจ้าไหนสามารถมีอภิสิทธิ์ถือครองที่ดินได้ แต่มีสิทธิ์ในการ ‘ใช้’ ได้ตามกฎหมาย เหมือนเล่นคำ แต่มันก็สำคัญเหมือนกัน ถ้าไม่ใช้รัฐก็ดึงที่ดินคืน
คำถาม : แต่ถึงตอนนี้เราจะเป็นพวกคอมมิวนิสต์ แต่เราก็ต้องใช้เงินเพื่อมีชีวิตรอดในระบบทุนนิยมอยู่ดี เกลียดทุนนิยมเเต่ก็อยู่ในทุนนิยมเหรอ?
ก็ไม่มีอะไรมาก เราก็ต้องมีชีวิตรอด ไม่งั้นก็ปฏิวัติไม่ได้ เหมือนนายทุนในระบอบเก่าก็ต้องใช้กลไกของระบอบกษัตริย์ศักดินาในการหาทางสะสมทุน คือพูดอย่างถึงที่สุดได้ว่า ตอนนี้มันไม่มีอาณาบริเวณนอกทุนนิยมอีกต่อไป รัฐชาติก็ครอบคลุมทั้งโลกแล้ว อาจจะยกเว้นขั้วโลกใต้ ม่านเหล็กของโซเวียต (USSR) ก็ปิดลงไปแล้ว
ตลาดกินพื้นที่ทั่วทั้งโลกแล้ว หรือกล่าวได้ว่า ทุนนิยมได้ครองโลกไปแล้ว อีกอย่างคือคอมมิวนิสต์ไม่ได้ชอบสังคมบุพกาลด้วย ไม่ได้ชอบสังคม ‘ก่อน’ ทุนนิยม ไม่เหมือนอนาคิสต์หลาย ๆ คน คอมมิวนิสต์มองถึงสังคมที่ยังไม่เกิดขึ้น แล้วคำถามคือ จะให้ไปอยู่ไหน ไปอนาคตเรอะ? ประหลาด
คำถาม : คอมมิวนิสต์ชอบให้ผลิตทุกอย่างเอง หรือย้อนไปแบบสังคมบุพกาลไม่ใช่เหรอ?
นั่นคือสังคม ‘ก่อน’ ทุนนิยม ซึ่งไม่ใช่ชาวคอมมิวนิสต์จะชอบใจ สิ่งที่ชาวคอมมิวนิสต์ชอบใจในทุนนิยมคือการผลิตที่มันเป็นไปทั้งสังคม แต่ต้องการผลิกมันนิดนึง คือให้มีการผลิตเพื่อเลี้ยงคนทั้งสังคมได้ (ไม่ใช่ให้ไปเก็บผักตามริมรั้วมาเคี้ยวเล่น) แต่ฝันของพวกคอมมิวนิสต์คือการให้ AI ทำงานแทน ซึ่งถ้าไม่ได้ ก็จำเป็นต้องใช้แรงงาน วิธีการก็คือ ให้มีประชาธิปไตยแรงงาน
ในเมื่อแรงงานเป็นคนทำ แรงงานก็ควรได้เป็นคนตัดสินใจ นี่คือความหมายของเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ กล่าวคือ การตัดสินใจจะเปลี่ยนจากนายทุน/ตลาด ไปสู่แรงงานในฐานะองค์ประธานของการตัดสินใจว่าจะผลิตและแจกจ่ายอย่างไร นั่นคือ คนที่เสียประโยชน์ต้องได้ตัดสินใจ ตรรกะไม่ต่างจากประชาธิปไตยและการกระจายอำนาจ เพราะคนที่เสียต้องได้รับผิดชอบการเสียเอง ไม่ใช่ให้คนอื่นมาบงการ จัดสรร ดังนั้นจึงไม่ต้องมีการขูดรีด ไม่ต้องวิ่งหนูปั่นจักรกันอีกต่อไป
เอาเข้าจริง Dardot & Laval เสนอว่า ความร่วมมือของกรรมกรต่างหากที่ทำให้เกิดมูลค่าได้จริง ๆ ไม่ได้เกิดจากการบังคับของทุน หลายคนทำงานเพราะแคร์คนอื่น สนใจองค์ความรู้ หรือที่เราเรียกกันว่า ‘สอนงาน’ ก็มาจากมันสมองของแรงงาน องค์ความรู้พวกนี้จำเป็นต้องฟรี จำต้องสอนอย่างไม่มีข้อจำกัด ไม่งั้นงานก็จะไม่เดิน มันจะมีงานที่เราก็ไม่ได้ทำเพราะอยากได้เงิน แต่อยากสร้างอะไรบางอย่าง
งานบางประเภทชื่อว่า Bullshit Job คืองานที่ไม่ได้สร้างอะไรจริง ๆ แต่ทำแล้วได้เงิน งานพวกนี้ทำให้คนเครียด เพราะมันเป็นงานที่ไม่ได้สร้างอะไรให้คนอื่นเลย เราได้เงินแล้วก็จะรู้สึกเศร้าลึก เพราะไม่มีประโยชน์อะไรให้สังคม David Graeber อ้างว่า หลายคนไม่ได้อยากทำงานแบบนี้ด้วยซ้ำ กลายเป็นว่างานที่หลายคนอยากทำ เช่น ครู ศิลปิน เพื่อไปสร้างองค์ความรู้ สุขภาพ ศิลปะให้คนอื่น ก็กลับทำไม่ได้เพราะได้เงินน้อย ต้องไปจัดประชุม ไปเป็นเลขา ฯลฯ เพราะได้เงินเยอะกว่า
หมายเหตุ อ่านรัฐธรรมนูญจีน หรือ Constitution of the People’s Republic of China ได้ที่ http://www.npc.gov.cn/englishnpc/constitution2019/201911/1f65146fb6104dd3a2793875d19b5b29.shtml?fbclid=IwAR24H0zlJcXD80GIWOdp-fv4DizSMlT1wQhlp1sEDIq4PZfvvZcg_Gr2Xus